fbpx

วันนี้ จะเกิดวิกฤตโควิด-19 หรือไม่ ….กสิกรไทยก็ถึงเวลามีซีอีโอใหม่

เ รื่ อ ง  :  Moon Noon

คุณบัณฑูร ล่ำซำ ไลฟ์สดฉายเดี่ยวกับสื่อมวลชนรวมถึงพนักงานในเครือกสิกรไทย  ผ่านช่องทางออนไลน์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่ออำลาอาชีพนายธนาคารที่ทำมานาน 40 ปี พร้อมสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ธนาคารกสิกรไทย จากการแต่งตั้งซีอีโอใหม่ครั้งแรกที่เป็นทั้งผู้หญิงและไม่ได้มาจากนามสกุลล่ำซำ   

เรื่องนี้สะท้อนแนวคิดการบริหารธนาคารกสิกรไทยในรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้ยึดติดอยู่กับรูปเดิม ๆ ของธนาคารไทย ที่การบริหารขึ้นอยู่กับนามสกุลและความเป็นเจ้าของเดิม แต่พร้อมที่ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของการแข่งขันในเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ซึ่งต้องการความพร้อมของทีมและผู้นำที่เหมาะสมอย่างแท้จริง  

บางคนอาจจะมองว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้  การเปลี่ยนผู้นำในช่วงนี้เหมาะสมแล้วหรือ แต่คุณบัณฑูร ยืนยันว่า นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะยิ่งมีวิกฤต นั่นก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ทีมผู้บริหารใหม่ไปในตัวได้อย่างดี หากผู้นำบริหารผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ต่อไปก็คงจะรับมือเรื่องต่าง ๆ ได้ดีเช่นกัน

ในอีกมุมหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของธนาคาร ที่ยังสามารถดำเนินงานต่างๆ ไปได้ตามเป้าหมาย โดยไม่ให้วิกฤตซึ่งดูหนักหนาสาหัสในระดับโลกมามีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะนั่นจะยิ่งส่งผลผลต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของธุรกิจธนาคารอีกด้วย 

บัณฑูร ล่ำซำ ลาออกล่วงหน้ามาแล้วครึ่งปี 

 จริง ๆ แล้วการลาออกล่วงหน้าของคุณบัณฑูร ล่ำซำ มีการแจ้งต่อคณะกรรมการบริหารมาตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 หรือประมาณ 6 เดือนก่อนหน้านี้ ทุกอย่างจึงดำเนินงานไปตามกำหนดการเดิม และนำมาซึ่งปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงผู้นำของธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ 

ทำไมต้องเป็นผู้หญิงที่ชื่อ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร และ ขัตติยา  อินทรวิชัย 

คำถามสำคัญที่อดีตซีอีโอเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตอบก่อนการวางมือและหยุดชีวิตงานธนาคารในครั้งนี้คือ ทำไมเลือกผู้หญิงสองคนอย่าง กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการ และเลือก ขัตติยา อินทรวิชัย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) 

การเลือกผู้หญิงขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญถึงสองตำแหน่งพร้อมกันมีเหตุผลอะไร

คุณบัณฑูรตอบง่าย ๆ  สรุปรวมได้ว่า ผู้หญิงสองคนนี้ “เก่ง” เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่เหมือนกัน 

สำหรับคุณกอบกาญจน์นั้น เป็นที่รู้จักกันดีจากที่เคยทำงานการเมืองในยุคคสช.ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งได้รับการพิสูจน์ฝีมือด้านการบริหารมาแล้วจากการทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตมากขึ้นอย่างมีทิศทาง ขณะที่ธุรกิจส่วนตัวอย่างการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์โตชิบา ก็สามารถฝ่าคลื่นลมธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กล่าวกันว่าเป็นธุรกิจขาลงให้ยืนหยัดอยู่ได้  ที่สำคัญ ไม่เพียงนำพาให้บริษัทอยู่รอด แต่ยังสามารถทำให้คู่ค้าและตัวแทนจำหน่าย โดยเฉพาะร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าดั้งเดิมประเภท papa mama store  ส่งต่อกิจการให้คนรุ่นใหม่สานต่อการเติบโตต่อไปได้อีกด้วย

 พร้อมด้วยคุณสมบัติที่คุณบัณฑูร เพิ่มเติมให้อีกในวันเปิดใจเกษียณจากงานธนาคารของเขาก็คือ

“คุณกอบกาญจน์ทำงานกับคณะกรรมการของธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นที่รวมตัวของบุคคลคุณภาพจากหลายแวดวงด้วยกันได้ดี ทั้งยังเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับในความมีคุณธรรม จริยธรรม ถึงมั่นใจว่าเธอจะเป็นประธานกรรมการคนต่อไปของกสิกรไทยได้”

มาถึงอีกหนึ่งหญิงคนสำคัญอย่าง ขัตติยา อินทรวิชัย ซึ่งเติบโตในสายบริหารของธนาคารกสิกรไทยมายาวนานและจะมีบทบาทในการบริหารธนาคารโดยตรง เป็นอีกคนที่คุณบัณฑูร เอ่ยปากว่า “คุณขัตติยาเป็นคนเก่งในแวดวงของการบริหาร” 

พร้อมกับย้ำถึงคุณสมบัติที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องความเก่ง ไม่ว่าจะเก่งเรื่องคน เก่งเรื่องบริหาร และเก่งเรื่องการเงินของผู้นำหญิงคนแรกแบบสั้นกระชับได้ใจความว่า

“คุณขัตติยาเป็นคนใจดี มีเมตตาต่อคนทั้งหลาย ผู้คนรัก มีความเฉียบคมในความรู้ทางเทคนิคด้านการเงินการจัดการ ก็เป็นเวลาของเธอที่จะทำด้านนี้ต่อไป”

โดยซีอีโอคนใหม่นี้ได้รับมอบหมายตำแหน่งสำคัญที่กสิกรไทย เริ่มจากขึ้นเป็น 1 ใน 4 กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวในกรรมการผู้จัดการทั้งหมด จนท้ายที่สุดถูกวางตัวให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างเป็นทางการแทนคุณบัณฑูร ลาออกเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา 

ถึงเวลามาทำความรู้จักกับซีอีโอคนใหม่แห่งแบงค์รวงข้าว

ขัตติยา อินทรวิชัย เริ่มทำงานกับกสิกรไทยมาตั้งแต่ปี 2530 ในฝ่ายสินเชื่อการเกษตรและการผลิต ก่อนจะขึ้นไปเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการวาณิชธนกิจในปี 2535 ทำได้ 3 ปี ต่อมาปี 2538 ได้เลื่อนเป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารการตลาดและเครดิต พอปี 2540 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ก่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการในลำดับถัดมา 

ในปี 2553 ขึ้นเป็น รองกรรมการผู้จัดการ และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสในปี 2557 ตามลำดับ 

ในปี 2559 เธอขึ้นเป็น กรรมการผู้จัดการ  ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่า เป็นหนึ่งในกรรมการผู้จัดการที่ถนัดด้านการตลาด และมีพื้นฐานความเก่งด้านการเงินการบัญชี จากสายอาชีพโดยตรง 

ในยุคที่ธนาคารเริ่มเข้าสู่ช่วง “คัสโตเมอร์เซ็นทริค” ที่ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง เธอเป็นคนสำคัญที่ผลักดันเรื่องการนำระบบบิ๊กดาต้า มาใช้ในองค์กรเพื่อใช้เป็นตัวขับเคลื่อน โดยมองว่าบิ๊กดาต้าจะเป็นเครื่องมือสำคัญโดยเฉพาะกับธนาคารในยุคดิจิทัล และการเติบโตของดิจิทัลแบงก์กิ้งในอนาคต ที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าแค่โมบายแบงก์กิ้งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่คุ้นเคยมากกว่า 

การนำข้อมูลมหาศาลมาผนวกเข้ากับแนวคิดด้านการตลาดที่เธอถนัด ทำให้ขัตติยาเป็นผู้บริหารที่โดดเด่นทั้งต่อทีมบริหารและรวมถึงในสายตาบุคคลภายนอก โดยเฉพาะกลุ่มสื่อทั้งสายการเงินและการตลาดที่มีโอกาสพบปะกับเธอ จนกระทั่งเธอได้รับมอบหมายให้เป็นซีอีโอ การขึ้นมาดำรงตำแหน่งในครั้งนี้จึงไม่มีข้อกังขาหรือข้อกังวลใด ๆ จากฝ่ายไหนเลย ไม่ว่าจะเป็นในด้านผู้บริหารหญิงคนแรกในตำแหน่งซีอีโอของธนาคาร รวมถึงการเป็นผู้บริหารคนแรกที่ไม่ได้นามสกุล “ล่ำซำ” 

แต่ในประเด็นหลังนี้ ดูเหมือนไม่เป็นประเด็นสำคัญอะไรเลยกับอดีตซีอีโออย่างคุณบัณฑูร เพราะแท้จริงแล้วเขาเปิดเผยตรง ๆ ว่า “ล่ำซำ นั้น ความเป็นเจ้าของโดยจำนวนหุ้นก็น้อย หายไปตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว (ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง) มีแต่ชื่อนามสกุลที่ทิ้งเอาไว้ทั้งนั้น”

ชีวิตหลังเกษียณของผู้ชายที่ชื่อ คุณบัณฑูร ล่ำซำ

ทั้งนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สำหรับคุณบัณฑูร ล่ำซำ แล้วตลอดช่วง 40 ปี ของการทำงานธนาคารและเป็นเหมือนไอคอนหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย เมื่อถึงเวลาก็สามารถเกษียณจากงานธนาคาร พร้อมทิ้งรอยทางที่น่าจดจำไว้เป็นบทเรียนให้คนเรียนรู้ แม้บางอย่างเขาจะบอกว่าเป็นความรู้เก่าก็ตามที อีกทั้งตัวเขาเองก็ยืนยันว่าจะต้องออกไปหาองค์ความรู้ใหม่ในบทบาทใหม่ของชีวิต 

แต่กระนั้น ความเป็นนายธนาคารมายาวนาน ก็ทำให้เขาตกผลึก และทิ้งคำแนะนำไว้ให้คนธนาคาร รวมทั้งแวดวงอื่น ๆ นำไปใช้ได้อย่างดี กับ คาถา 4 อย่า นั่นคือ 

อย่ามั่ว เพราะความมั่วก็คือความไม่ชัดเจน ตกลงอย่างทำอีกอย่างจะแก้ปัญหาไม่ได้ 

อย่าไม่คำนวณ ทุกอย่างมีตัวเลขกำกับ พูดลอยๆ ได้ทั้งนั้น แต่ตัวเลขไม่ถึงก็ไม่ได้ผล 

อย่าชุ่ย ทุกอย่างต้องมีความระมัดระวัง 

อย่าเหยียบตีนกัน เพื่อเป็นการรักษาสัมพันธภาพของคนในทีมงาน ทำให้ไม่ทะเลาะกัน

ชีวิตหลังเกษียณจากงานธนาคารของผู้ชายที่ชื่อบัณฑูร ล่ำซำ นั่นเจ้าตัวบอกว่า เขายังนั่งอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทย มีฉายาเป็น “ประธานกิตติคุณ” ที่คณะกรรมการตั้งให้เพื่อยกย่อง แต่ไม่ใช่ตำแหน่งเพราะไม่มีงาน 

“จริงๆ ผมไม่ได้ทำงานมานานแล้ว แต่ก็ยังอยู่ที่นี่ ถ้าจะพบก็มาเจอที่นี่ได้ เพราะยังต้องใช้ทรัพยากรบางส่วนของธนาคารในการทำงานหลังเกษียณ”

เมื่อเกษียณจากงานแบงก์มุ่งสู่ป่าต้นน้ำน่าน… 

งานหลังเกษียณที่ถือเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งของคุณบัณฑูรนั่นก็คือ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่จังหวัดน่าน ที่เขาได้รับความไว้วางใจจากรัฐในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยเริ่มทำงานนี้ตั้งแต่คุยกับแต่ละฝ่ายไม่รู้เรื่องเลย แต่ตอนนี้เริ่มจะคุยกับหลายฝ่ายได้แล้ว และจากนี้เป้าหมายสำคัญคือ การเฟ้นหาองค์ความรู้ใหม่ในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ 

“ที่ผมสนใจคือความรู้เกี่ยวกับการเกษตร เพราะเกี่ยวกับการรักษาป่าโดยตรง ในครรลองของความพยายามที่จะแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีที่ทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือ องค์ความรู้ใหม่ทางการเกษตรที่หากินได้ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นคนก็ไม่สามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้ อันนี้เป็นมิติใหม่สำหรับผมเป็นการส่วนตัวที่เป็นการเริ่มต้นอีกฉากของชีวิต”    

ส่วนความรู้สึกต่องานธนาคารที่หันหลังให้นั้น เขาย้ำว่า

“งานธนาคารทำเต็มที่แล้ว พูดได้เต็มปากว่าทำแบงก์มา 40 ปี ก็พอสมควรแก่เวลา และส่งต่อได้อย่างไม่กังขา นอกจากไม่กังวล ยังมีความสุขที่ไม่ต้องทำซ้ำเรื่องเดิม หาอะไรใหม่ทำ และมั่นใจในทีมงานที่รับช่วงต่อจากผมร้อยเปอร์เซ็นต์ จบฉากเดิมด้วยความสบายใจทีเดียว แต่อย่างไรก็ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในชีวิตผม”

ณ วันนี้ นอกจากถือบัตรประชาชนที่ออกโดยจังหวัดน่าน ซึ่งอดีตซีอีโอแห่งธนาคารกสิกรได้ทำการย้ายสำมะโนครัวมาอาศัยอยู่ นับจากหลงรักในวิถีเมืองน่าน ทั้งด้านวัฒนธรรม ผู้คน ธรรมชาติ ถึงขั้นซื้อโรงแรมเก่ามาฟื้นฟูจนโด่งดัง แต่งนิยายและมีแผนจะสร้างเป็นละคร รวมทั้งแผนการที่คาดว่าจะเขียนหนังสือเล่มต่อไปในรูปแบบสารดคีเรื่องการฟื้นฟูป่าในอนาคต หากโครงการที่ทำอยู่เห็นผลแล้ว วันที่จังหวัดน่านประกาศเปิดพื้นที่หลังพ้นวิกฤตโควิด-19 เมื่อไร ก็คงได้เห็น ผู้ชายที่ชื่อบัณฑูร ล่ำซำ  “กลับบ้าน” หรือ “กลับน่าน” ในทันที  

#GMLIVE #Vision #กสิกรไทย #บัณฑูรล่ำซำ #ซีอีโอ #ป่าเมืองน่าน #กอบกาญจน์วัฒนวรางกูร #ขัตติยาอินทรวิช

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ