เรื่อง : วิทยากร โสวัตร
วิถีของเด็กผู้ชายบ้านนอกเมื่อ 30 ปีก่อน เราจะถูกพวกวัยรุ่นรุ่นพี่ๆ จับมาเผชิญหน้ากัน พูดยุยงให้เราต่อยกันเพื่อแสดงความเป็นชายชาตินักรบ แต่ถ้ายังไม่ได้ผล พวกเขาจะขีดวงกลมล้อมรอบเราไว้คนละวง แล้วบอกกับเราว่านั่นคือหัวของพ่อหรือแม่ของเรา จากนั้นพวกเขาก็จะพูดท้าทายให้เราเหยียบวงกลมของอีกฝ่าย บางทีถึงกับจับขาเราให้ไปเหยียบ เมื่อคนที่ถูกเหยียบยังไม่ตอบโต้ พวกเขาก็จะสบถคำดูถูกเหยียดหยาม บรรยากาศตึงเครียด แรงกดดันอัดแน่นเข้ามา เหมือนลูกโป่งที่กำลังจะแตก…
ผมไม่ได้ติดต่อกับพี่จืด กลุ่มเด็กรักป่าสุรินทร์มาตั้งแต่ปี 2557 ทั้งที่รู้จักมักคุ้นกันมาตั้งแต่ปี 2540 และความเป็นแอ็คทิวิสต์ของผมและเพื่อนๆ ที่เรียนมหาวิทยาลัยในเขตอีสานใต้ตั้งแต่โคราชถึงอุบลก็ได้เบ้าหลอมจากกลุ่มเด็กรักป่าซึ่งมีพี่จืดเป็นแกนกลาง จิตวิญญาณเรื่องธรรมชาติ การต่อต้านอำนาจรัฐ เผด็จการ จิตวิญญาณรักประชาธิปไตยและการมีจิตใจเพื่อผู้อื่นก็ถูกบ่มเพาะขึ้นที่นี่
ทุกๆ เย็นวันศุกร์ ตลอดการเป็นนักศึกษา พวกเราจะนั่งรถไฟไปเจอกันที่โรงเรียนเด็กรักป่า ถ้าไม่มีค่าย เราก็ไปนอนอ่านหนังสือที่ห้องสมุดกลางน้ำ ตั้งวงพูดคุยสัมมนากันเอง เย็นวันอาทิตย์ก็โดยสารรถไฟกลับสถาบันของใครของมัน
ผมคุยกับพี่จืดน้อยลงเมื่อรู้ว่าแกสนับสนุนกปปส. แต่ผมโอเค ไม่มีปัญหาเพราะความต่างทางความคิดทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่หลังจากรัฐประหาร ในช่วงแรกๆ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดนคุกคาม และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น แล้วพี่จืดขึ้นสะเตตัสในเฟสบุ๊คเชียร์ทหาร ผมก็อันเฟรนด์แก และไม่ร่วมกิจกรรมใดใดกับแกอีกเลย
แม้แต่วาระสำคัญของกลุ่มเด็กรักป่า (ผมไม่แน่ใจว่าครบรอบ 25 หรือ 30 ปี) พี่จืดก็โทรมาขอให้ไป แต่ผมปฏิเสธ เพราะผมรับไม่ได้ที่จะร่วมกินข้าวกับคนที่ให้ความคิดหล่อหลอมเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย ต้านอำนาจเผด็จการ แล้ววันหนึ่งมาสนับสนุนการรัฐประหาร
แต่ที่เลวร้ายที่สุดในความรู้สึกของผม ขณะที่ผมและเพื่อนอีกหลายคนถูกคุกคาม ถูกไล่ล่า พี่จืดกลับชูป้ายเชียร์คนที่ตามล่าคุกคาม ทำราวกับว่าผมไม่ใช่น้อง ไม่ใช่คนรู้จักคุ้นเคย และเป็นใครหรืออะไรก็ได้ที่ถ้าถูกกำจัดไปก็เหมือนไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ในบรรยากาศที่เท้าเราเกร็งเหยียบแน่นรักษาวงกลมสมมติว่าเป็นหัวพ่อ/แม่ แขนที่ยกขึ้นมาตั้งการ์ด มือที่กำแน่นรอตอบโต้หรือช่วงชิงลงมืออีกฝ่าย ในบรรยากาศแบบนั้นบางทีก็มีเสียงเรียกร้องหนึ่งกึกก้องขึ้นในหัวใจ เราอยากได้ยินเสียงพ่อหรือแม่หรือพี่เราเรียกกลับบ้าน…
เมื่อมีข่าวว่าช้าง 11 ตัวที่เขาใหญ่ตกเหวตรงน้ำตกเหวนรก แล้วพี่จืดเดินทางไปอดข้าวประท้วงเพื่อเรียกร้องทางเดินคืนให้ช้าง ด้วยการยื่นเรื่องของให้ผู้รับผิดชอบรับเรื่องเพื่อพิจารณารื้ออาคารบริการนักท่องเที่ยวตรงจุดนั้นที่สร้างบนเนินเขาทับทางเดินช้างทำให้ช้างต้องเดินเบี่ยงไปทางเลียบน้ำตกเหวนรก
แรกๆ ผมแทบไม่สนใจข่าวเลย ไม่แม้แต่จะแชร์ด้วยซ้ำ แต่ภาพพี่จืดในหน้าเฟสข่าวกลับติดอยู่ในหัวของผมตลอดเวลา ซึ่งผมไม่รู้ว่าเพราะอะไร คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ว่าผมได้ยินเสียงในภาพนั้น เป็นเสียงร้องของช้าง
ตรงปากเหวนั้นมีเพนียด และช้างโขลงนั้นมี 14 ตัว ทางมันค่อนข้างแคบ และช้างเด็กน้ำหนักราวๆ 300 กิโลกรัมที่กำลังซุกซนคงหลุดออกจากแนวโขลงแล้วหลุดช่องเพนียด หัวหน้าโขลงซึ่งเป็นตัวเมียและตัวอื่นๆ จึงต้องเข้าไปช่วย แล้วก็พลัดตกเหว
ผมได้ยินเสียงอากาศที่ถูกแหวกออกตอนที่ช้างทั้ง 11 ตัวตกลงไปยังก้นเหว มันฟังดูหวีดหวิวน่ากลัว
พอช้างทุกตัวตกถึงก้นเหว ทุกอย่างก็เงียบสงัด
ตลอดการเป็นแอ็คทิวิสต์ พี่จืดใช้เขาใหญ่เป็นห้องเรียนธรรมชาติศึกษาให้พวกเรา เขาใหญ่เป็นยิ่งกว่าบ้านหลังหนึ่งของแก ช้างทยอยตกเหวนี้มาตั้งแต่ปี 2526 นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็น่าจะร่วม 30 กว่าตัว แล้ว เคยมีการตกเหวครั้งใหญ่คือปี 2535 แต่จำนวนไม่มากเท่าครั้งนี้ และปีนั้นเองที่พี่จืดเริ่มทำกิจกรรมเพื่อช้างที่เขาใหญ่ และทุกๆ ปี พี่จืดจะเดินทางมาไว้อาลัยดวงวิญญาณช้างเหล่านี้เงียบๆ เพียงลำพัง ประหนึ่งการเดินทางมาเคารพดวงวิญญาณบรรพบุรุษในวันครบรอบการตาย
และครั้งนี้แกก็มาเพียงลำพัง !
ผมนึกถึงฉากหนึ่งในหนังเรื่องเมาคลีลูกหมาป่าเวอร์ชั่นล่าสุดที่เข้าฉายเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วซึ่งผมพาลูกๆ ไปดู มันเป็นฉากไฟป่า สัตว์ทุกตัวกำลังแตกตื่นขวัญกระเจิงด้วยความกลัวสุดขีดและทุกอย่างกำลังจะมอดไหม้ แล้วสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่มหึมาซึ่งมีบุคลิกเงียบสำรวม เยื้องย่างด้วยท่วงท่าลีลาสงบและสง่างามก็มาดับไฟ เมื่อโขลงช้างเดินผ่าน หมีใหญ่และเสือดำก็พาเมาคลีนั่งก้มลงค้อมหัวให้แก่จิตวิญญาณของป่า
ผมรู้สึกเย็นที่รูจมูก มันเป็นความเย็นเดียวกับเวลานั่งรถขึ้นหรือเดินอยู่ในผืนป่าเขาใหญ่
แล้วผมก็ได้ยินเสียงเรียก…
ไม่มีความลังเลใดใดเมื่อตัดสินใจที่จะเดินทางไปร่วมอดข้าวประท้วงกับพี่จืด แม้อาการท้องร่วงและบิดจะยังไม่หายขาดผมก็ไม่รู้สึกเป็นกังวล สิ่งเดียวที่ผมกังวลคือภาระเรื่องลูกและคำอนุญาตของหญิงสาวคู่ชีวิต เมื่อเธอบอกอยากให้ไป ผมก็พักฟื้นหนึ่งวันแล้วก็ออกเดินทางด้วยรถไฟชั้นสาม
เช้าวันนั้น พี่จืดที่ผ่านการอดอาหารมาแล้ว 9 วัน (กำหนด 11 วันเพื่อไว้อาลัยช้าง 11 ตัว และอดน้ำสองวันเพื่อยกระดับการเรียกร้อง เมื่อทางกรมอุทยานรับเรื่องแล้วก็กลับมาดื่มน้ำ) นอนอยู่ในราวเชือกสีขาวที่ติดกระดาษที่เขียนถึงสิ่งที่ทำเพื่อสื่อสารกับผู้คน
ผมนั่งลงอีกฝั่งของเชือกเพื่อไหว้สวัสดี แกโย้ตัวขึ้นมารับไหว้ แล้วถามว่าผมมาอะไร (ความหมายคือมาเที่ยวเหรอ)
“ไม่ ผมมาร่วมอดข้าวกับพี่”
เมื่อได้ยินคำตอบพี่จืดก็โน้มตัวข้ามเชือกมากอด
“แต่ผมไม่ได้มาเพื่อพี่นะครับ”
“กูเข้าใจ”
ผมรู้ว่าแกเข้าใจจริงๆ ว่าผมไม่ได้พูดถึงจุดยืนหรือความคิดทางการเมือง
แล้วผมก็ก้าวข้ามเชือกเส้นนั้น เข้าไปนั่งอยู่ข้างๆ แก
เมื่อย้อนคิดไปถึงวัยเด็กที่ถูกพวกผู้ใหญ่วัยรุ่นขีดวงสมมติคุณค่าให้เหยียบยึดเพื่อปกป้องราวกับดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจะแตะต้องไม่ได้ในวัยนี้ ผมกลับไม่เห็นถึงคุณค่าอะไรในวงกลมที่ถูกขีดขึ้น ความหมายของเส้นวงกลมนั้นมันหายไปจริงๆ แต่ผมรู้สึกได้ถึงแรงเกร็งของขาและแขน เสียงเต้นของหัวใจ มันทำให้รู้สึกถึงการมีอยู่ของชีวิต มันเป็นเช่นเดียวกับคู่ตรงข้ามของผม
ผมกลับจากอดข้าวร่วมกับพี่จืดมาหลายวันแล้ว แต่ฉากที่พี่จืดหันมามองผมหลังจากผ่านครึ่งทางของวันแรก แล้วบอกว่า
“เอ็งกินน้ำเยอะๆ นะ กินเยอะๆ”
มันอยู่ในใจผมตลอดตั้งแต่ลงจากเขาใหญ่.