fbpx

เกรตา ธันเบิร์ก เมืองไทยอ่านความคิดหญิงสาวผู้จัดกิจกรรม Climate Strike Thailand

Reasons to Read

  • หากคุณรักดาวเคราะห์ดวงนี้ แต่รู้สึกท้อหมดหวังกับวิกฤตโลกร้อน มาเติมความหวัง และทำความรู้จักกับ ‘เกรตา ธันเบิร์ก เมืองไทย’ หญิงสาว ผู้ริเริ่มจัดกิจกรรม Climate Strike Thailand ชักชวนให้ผู้คนที่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม หยุดเรียน หยุดงาน กันออกมาเพื่อร่วมแสดงพลังรณรงค์วิกฤตโลกร้อน   

แม้ทุกวันนี้จะมีข่าวชวนหดหู่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ทำให้เรายังไม่หมดหวังก็คือการปลุก ‘กระแสรักษ์โลก’ ที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกันในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ กิจกรรม #ClimateStrike #FridaysForFuture ที่เริ่มต้นโดย เกรตา ธันเบิร์ก นักกิจกรรมเยาวชน อายุเพียง 16 ปี ผู้จุดประกายให้คนรุ่นใหม่ทั่วโลก รวมพลังกันจัดกิจกรรม ‘โดดเรียนเพื่อโลก’ ประท้วงให้ทั้งรัฐบาล ภาคธุรกิจ ตลอดจนถึงคนทั่วไปได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ‘วิกฤตโลกร้อน’  และเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับเมืองไทยของเรา ซึ่งไม่นานมานี้ได้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวขึ้นมาสองครั้งแล้วGM Live มีความภูมิใจที่จะแนะนำให้คุณรู้จักกับ ‘หลิง-นันทิชา โอเจริญชัย’หญิงสาววัย 21 ปี ผู้ริเริ่มจัดกิจกรรม Climate Strike Thailandชักชวนให้ผู้คนที่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม หยุดเรียน หยุดงาน กันออกมาเพื่อร่วมแสดงพลังรณรงค์วิกฤตโลกร้อน การที่ได้เห็นเด็กๆ ของไทยออกมาเรียกร้องในเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ทำให้เราเห็นว่าประเทศนี้ยังคงมีหวัง ยิ่งการที่ได้อ่านความคิดของหญิงสาวคนนี้ยิ่งทำให้เรารู้สึกมีความหวังต่อโลกใบนี้มากขึ้น

GM Live : รบกวนช่วยเล่าเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของกิจกรรม Climate Strike Thailand ให้ฟังหน่อย

นันทิชา : ช่วงฝึกงานอยู่ที่ Greenpeace หลิงเขียนข่าวเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องปัญหาสังคมกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะเป็นพิเศษค่ะ สาเหตุของการจัดกิจกรรม Climate Strike Thailand เริ่มมาจากวันหนึ่งหลิงอ่านเจอข่าวของ เกรตา ธันเบิร์ก แล้วก็คิดว่าเราเองก็รู้สึกอย่างนี้เหมือนกันเลย คือท้อว่าทำไมไม่มีใครสนใจปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิกฤตโลกร้อน ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากเกี่ยวกับอนาคตและชีวิตของเราทุกคน ก็เลยคิดว่า ถ้าเกรตา ซึ่งอายุเพียงแค่ 15-16 ปี เขาทำได้ เราก็น่าจะทำได้ ก็เลยสร้างอีเวนต์ในเฟซบุ๊กขึ้นมา เพื่อนัดให้คนขาดงานหรือโดดเรียนเพื่อที่จะมาชุมนุมสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม

Climate Strike Thailand จัดมาแล้วทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกมีคนมาประมาณ 30-50 คนค่ะ แต่ครั้งนั้นส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติกับเด็กนักเรียนนานาชาติมากกว่าค่ะ อาจจะด้วยเพราะในแวดวงคนที่หลิงรู้จักมีแค่คนกลุ่มนี้ จึงยังไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทยสักเท่าไหร่ ครั้งที่สองก็มีพี่คนหนึ่งมาร่วมเดินในการชุมนุม ซึ่งพี่เขาก็ทำเพจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมชื่อ ‘Too Young To Die’ อยู่แล้ว และมีคนติดตามค่อนข้างเยอะ ก็ได้เขาช่วยแชร์และทำให้มีคนเข้าร่วมเยอะขึ้นในครั้งที่สอง คราวนี้มากันเกือบร้อยคนได้ค่ะ ทั้งคนไทย และเด็กโรงเรียนนานาชาติ คนที่มาจากต่างจังหวัดเพื่อที่จะเข้าร่วมกับกิจกรรมนี้โดยเฉพาะ คนจากต่างประเทศที่เผอิญได้ยินข่าวเข้ามาร่วมเดินด้วยก็มี

GM Live : ที่บอกว่ารู้สึกอย่างเดียวกับเกรตา ช่วยขยายความให้ฟังที

นันทิชา : คือเกรตาจะย้ำอยู่เสมอว่า เราไม่ได้อยากให้คุณมีกำลังใจ เราอยากให้คุณกลัว… กลัวตาย กลัวว่าอนาคตของเราจะไม่มีแล้ว ซึ่งหลิงสนใจและทำกิจกรรมเรื่องนี้มาตั้งแต่เรียนปีหนึ่ง แล้วก็อ่านข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทุกวันก็จะมีแต่ข่าวแย่ๆ คือเราก็รู้อยู่นะว่าข่าวส่วนมากเขาจะรายงานข่าวกันในแง่ลบมากกว่าแง่บวก และถึงจะมีข่าวในแง่บวกแต่ผลกระทบของมันก็ไม่ได้กว้างมาก ก็จะอ่านเจอเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่แย่ลงทุกวันจนรู้สึกท้อไปเรื่อยๆ

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา หลิงพยายามเขียนเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมให้คนอ่านอยู่เรื่อยๆ ซึ่งคนที่อ่านส่วนมากก็จะเป็นคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอยู่แล้ว แต่คนที่เราพยายามเข้าถึงจริงๆ คือคนที่เขาไม่สนใจเรื่องนี้ เราอยากให้คนที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หันมาสนใจและรักมัน ปกป้องมัน แต่ธรรมดาแล้วถ้าคนเราไม่สนใจเรื่องอะไรเราก็คงไม่ไปกดอ่านอยู่แล้ว ยิ่งถ้าสมมติเป็นบทความที่ค่อนข้างยาว เราก็คงไม่อยากอ่าน ก็เลยรู้สึกว่า เราเป็นแค่คนส่วนน้อย

เมื่อเจอกับอะไรแบบนี้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลิงพยายามชักชวนให้คนหันมามองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ คือขนาดอย่างคนรอบตัวของหลิงเห็นเราทำแบบนี้มาตลอดเขายังไม่สนใจเลย ก็เลยคิดว่าแล้วมันจะเปลี่ยนความคิดของคนส่วนใหญ่ได้ยังไง ก็เลยรู้สึกท้อมาตลอด คือเอาจริงๆ ก็เข้าใจนะคะว่าบางคนเขาเองก็อาจจะท้อในเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จนในที่สุดก็เลยไม่แคร์ว่ามันจะมีปัญหาอย่างไรแล้ว

ส่วนตัวหลิงเองก็รู้สึกท้อมาตลอดจนมาเมื่อปีที่แล้วเองค่ะ ที่ความคิดของเราเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะมีปัญหาพลาสติก เผาถ่านหิน หรืออะไรก็ตาท เราก็ไม่สนใจอีกต่อไปแล้ว คือหลิงคิดแค่ว่าเราแค่รักสิ่งนี้ เราแค่รักธรรมชาติ และรักชีวิตของตัวเอง เราอยากมีชีวิตต่อไป เรารู้แค่นี้ว่า นี่คือเป้าหมายของเรา เราอยากจะปกป้องสิ่งนี้

GM Live : คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่โดยทั่วไปมีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน

นันทิชา : คิดว่าคนไทยก็น่าจะมีความรู้และตระหนักในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นจากสมัยก่อนนะคะ เพราะว่าในกรุงเทพฯ เองก็เริ่มจะมีร้านขายอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คือส่วนตัวแล้วหลิงคิดว่ามันเป็นเรื่องของการศึกษา ที่ทั้งครอบครัวและโรงเรียนเองก็ไม่ได้สอนและปลูกจิตสำนึกกันตั้งแต่เด็กว่าต้นไม้ต้นหนึ่งมันมีความสำคัญกับเรายังไง หรือว่าเราต้องรักมันยังไง สิ่งต่างๆ มันมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างไร ว่าชีวิตคนเราต้องพึ่งพาสิ่งสิ่งแวดล้อมนะ คนโดยทั่วไปก็เลยโตขึ้นมา โดยไม่ได้เห็นความสำคัญว่า แต่ละอย่างที่เราใช้บริโภคในชีวิตประจำวันมันมีผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อมและต่อเราอย่างไรบ้าง

อย่างถุงพลาสติกใบหนึ่ง คนหลายคนอาจจะคิดว่าเราใช้ถุงพลาสสิกแค่ถุงหนึ่งมันคงไม่เป็นไรหรอก เพราะว่ามันมีคนบนโลกนี้อยู่ตั้งพันล้านคน ถึงเราจะใช้แค่คนเดียวมันก็คงไม่เกิดอะไรขึ้น แต่เราอย่าลืมว่าก่อนที่ถุงพลาสติกใบนั้น มันจะมาอยู่ในมือเราได้ มันต้องมาจากไหน มันต้องขุดน้ำมันมาข้ามโลกเพื่อมาผลิตเป็นถุงพลาสติก ใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อทำให้โรงงานอยู่ได้ ผลิตเป็นถุงพลาสติกก็ต้องส่งข้ามแดนมาเมืองไทย ส่งไปเรื่อยๆ ขับรถ เครื่องบิน เรือ อะไรก็แล้วแต่จนมาถึงมือเราซึ่งใช้ประมาณ 5 นาที กินอะไรเสร็จแล้วทิ้ง แล้วมันก็ไม่ได้จบอยู่แค่นั้นนะคะ ไม่ได้จบแค่ที่ถังขยะที่เราทิ้งลงไป มันไปต่อว่าการจัดการบริหารขยะของเรา ประเทศเราหรือเมืองเรามันดีแค่ไหน มีประสิทธิภาพเท่าไหน ถ้าดีก็อาจจะลงที่กลบฝังขยะ แต่ถ้าแย่ก็ลงทะเล ประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศของโลกที่ผลิตขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก แล้วปริมาณส่วนใหญ่ก็เป็นพลาสติก

สำหรับหลายๆ คน หลิงพยายามคิดว่าเขาไม่ได้ใส่ใจ เขาแค่ไม่รู้ แล้วถ้ารู้ก็แค่อาจจะไม่มีทางเลือกหรือเปล่า ซึ่งอันนั้นเป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดันว่า สมมติคนคนหนึ่งอยากเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแต่เขาไม่มีทางเลือก ถ้าอยู่ดีๆ หิวข้าว อาจจะซื้อลูกชิ้นก็ต้องใส่ถุงพลาสติก หิวน้ำก็ต้องใช้ขวดพลาสติก อย่างเช่นตัวหลิงเองก็จะถือขวดน้ำตลอดเวลา เรากรอกน้ำมาจากที่บ้าน แต่มันก็อยู่ได้ไม่ตลอดทั้งวัน ถ้าเราเอาขวดน้ำมาเองแต่ไม่มีที่เติมน้ำให้เลย ไม่ว่าจะในห้างหรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็ยาก คือมันเป็นหน้าที่ของภาครัฐบาลและเอกชนที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพราะถึงคนคนเดียวจะเปลี่ยน แต่มันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยรวมได้ยาก มันจะไม่มีผลกระทบมากขนาดนั้น

GM Live : แล้ว Climate Strike Thailand ต้องการเรียกร้องอะไร  

นันทิชา : Climate Strike ครั้งนี้เป็นการผลักดันรัฐบาลกับภาคเอกชน ให้ทำสิ่งนี้ เราไม่ได้เป็นแค่กลุ่มคนประมาณร้อยคนที่มาเรียกร้องสิ่งนี้ เราเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทั่วโลก เราเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเคลื่อนไหวนี้ ว่ารัฐบาลกับภาคเอกชนควรรับฟังเรา มีคนออกมาเรียกร้องแล้วว่า เราต้องการเศรษฐกิจหรือระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ เราต้องการให้ปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน หยุดเผาพลังงานฟอสซิล คือการที่มีคำเรียกร้องเหล่านี้ มันเป็นแรงกดดันจากนานาชาติ ซึ่งถ้าทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ทำก็เป็นภาพลักษณ์ที่แย่สำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ ประเทศอื่นเขาอาจจะไม่อยากทำการค้ากับเรา ถ้าคุณไม่หยุดทำการประมงที่ไม่ยั่งยืน ทำลายล้างมหาสมุทรของโลก ของทุกคน ประเทศอื่นเขาอาจจะไม่อยากทำธุรกิจกับคุณ หรือเป็นเรื่องการเมือง รัฐบาลอื่นก็ไม่อยากมีข้อตกลงกับคุณ ถ้าคุณไม่ยอมตอบรับคำเรียกร้องของประชาชน

ในประเด็นนี้ถ้าจะให้พูดถึงนักการเมืองหรือนักธุรกิจมากขึ้น ก็คือ… เขาอาจจะเห็นความสำคัญของเรื่องเงินเป็นหลักหรือเปล่า แล้วนักการเมืองที่สนับสนุนการขุดน้ำมันเผาถ่านหินล่ะ เขาไม่นึกถึงลูกหลานเขาเหรอ

GM Live : จากการทำกิจกรรม Climate Strike ที่ผ่านมาสองครั้งคุณค้นพบหรือคิดว่ามีอะไรที่น่าพูดถึงบ้าง

นันทิชา : ตอนจัด Climate Strike ครั้งที่สอง มีพี่นักข่าวคนหนึ่งเล่าให้หลิงฟังว่าเขาทำสารคดีเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วเมืองไทย และเล่าให้ฟังว่าอันที่จริงคนต่างจังหวัดตอนนี้เขาก็เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้กันแล้วนะคะ มีคนจำนวนไม่น้อยที่หันไปดำเนินชีวิตกันอย่างยั่งยืน ซึ่งมันอาจจะเป็นเพราะว่าเขาได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรง

น่าแปลกที่คนกรุงเทพฯ อย่างเราซึ่งบริโภคเยอะที่สุด สร้างมลพิษเยอะที่สุด แต่กลับไม่ตระหนักถึงมัน อาจเป็นเพราะว่าเราไม่ได้รับผลกระทบนั้นโดยตรง ทุกคนอยู่กรุงเทพฯ ขับรถสบายๆ ร้อนก็นั่งห้องแอร์ แต่คนต่างจังหวัดบางคนอาจจะอยู่ใกล้ริมฝั่งที่ตอนนี้น้ำทะเลก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือว่าชาวนาที่ตอนนี้ฤดูกาลสำหรับการปลูกข้าว หน้าแล้ง หรือหน้าฝนมาไม่ตรงเวลา เขาก็จะรับผลกระทบโดยตรง ซึ่งเราคนกรุงเทพฯ อาจจะไม่ค่อยรู้สึกกันเท่าไหร่ คือจริงๆ ภาวะโลกร้อนมันเกิดขึ้นตั้งนานแล้ว ทุกวันนี้มีภัยพิบัติธรรมชาติ แต่ปีที่ผ่านๆ มามันรุนแรงขึ้น โลกร้อนมันเกิดขึ้นมานานแล้วค่ะ แค่เราไม่รู้ตัว

ไม่ต้องคิดถึงคนอื่นก็ได้ค่ะคิดว่าชีวิตเรา เราอยากให้เป็นอย่างไรตายเพราะว่าโลกร้อนหรือเปล่าหรือตายเพราะมลพิษทางอากาศที่แย่

GM Live : อยากบอกอะไรกับคนที่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญของปัญหาโลกร้อน

นันทิชา : ไม่ต้องคิดถึงคนอื่นก็ได้ค่ะ คิดว่าชีวิตเรา เราอยากให้เป็นอย่างไร ตายเพราะว่าโลกร้อนหรือเปล่า หรือตายเพราะมลพิษทางอากาศที่แย่ เพราะตอนนี้มลพิษทางอากาศก็เป็นโรคที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของการพรากชีวิตคนไป มันไม่ใช่ว่าวันหนึ่งโลกจะระเบิดน้ำท่วมแล้วทุกคนก็จะตายหมดพร้อมกัน ไม่ใช่นะ คือมันจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ไปเรื่อยๆ จากสิ่งที่อาจจะไม่ใช่เป็นสาเหตุโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ อุณภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งในตอนนี้ก็อยู่ในอาหารของเราทุกอย่าง สุดท้ายมันวนเวียนกลับมาหาเราหมด คือคิดถึงตัวเองแล้วกันว่าตอนนี้เราอยากได้ชีวิตแบบไหน อยากได้เมืองแบบไหน เราอยากได้กรุงเทพฯ ที่มีอากาศแย่ไหม หรือที่รถติด หรือที่ไม่มีต้นไม้

GM Live : อยากจะให้พูดถึงพลังของคนรุ่นใหม่ กับการสร้างความเปลี่ยนแปลง

นันทิชา : ตอนนี้การเคลื่อนไหว Climate Strike ทั่วโลกน่าจะมีเด็กออกมาประมาณ 1 ล้าน 3 แสนคนแล้วค่ะ ของเมืองไทยก็ยังแค่ประมาณร้อยคนอยู่ แต่อาจจะมีเพิ่มขึ้น… ก็ไม่แน่ Climate Strike ของทั่วโลกจริงๆ แล้วเริ่มมาจากเกรตา เขาออกมาผลักดันให้เยาวชนออกมาเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ แต่ว่า Climate Strike Thailand ของหลิง จริงๆ แล้วไม่ได้ยึดติดกับว่าให้เยาวชนออกมาเท่านั้น คือหลิงอยากจะเชิญชวนทุกคนให้เข้าร่วมด้วย เพราะว่ามันเป็นอนาคตของเรา

คือมันก็จริงที่ว่าโลกร้อนขึ้นแล้วก็อาจจะไม่มีอนาคตสำหรับคนวัยเด็กๆ แต่หลิงคิดว่ามันเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้แล้วค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ หรือจะเป็นเด็ก มันเกิดขึ้นทุกวันอยู่แล้ว และเราต้องหยุดมันตอนนี้ ต้องทำอะไรตอนนี้เพื่อที่จะแก้มัน ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ตอนนี้สามารถที่จะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้ สำหรับผู้ใหญ่เข้าใจว่าเมื่อก่อนอาจจะไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่จะมารองรับเรื่องนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหมุนเวียนพลังงานทดแทน หรือวัสดุที่จะมาใช้แทนพลาสติก แต่พลาสติกมันก็เป็นสิ่งที่คิดค้นใหม่นะคะ เมื่อก่อนยังใช้ชีวิตกันได้เลยตอนที่ยังไม่มีพลาสติก เราพึ่งพาความสะดวกกับมันเกินไป โดยที่เราไม่คิดว่ามันมีผลกระทบอะไรบ้าง แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามันมีผลกระทบอะไรบ้าง แล้วตอนนี้เรามีทางแก้แล้วทำไมถึงไม่ทำ

ลองคิดดูนะคะว่าถ้าเราแค่คนเดียว
แพร่ข้อความนี้ออกไปรอบตัว
แล้วคนอื่นก็ส่งข้อความนั้นต่อๆ ไป
สุดท้ายมันจะสามารถสร้างเป็นวงใหญ่ขึ้นมาได้ค่ะ

GM Live : คุณเชื่อไหมว่าตัวเองจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้  

นันทิชา : หลิงคิดว่าทุกคนมีพลังพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะทุกคนมีอำนาจของการตัดสินใจต่อสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน Climate Strike Thailand ไม่ได้เจาะจงแค่ว่าจะรณรงค์ให้คนลดการใช้ถุงพลาสติก หรือเปิดไฟน้อยลง คือถ้ามองดูในความเป็นจริง คนคนเดียวมันเปลี่ยนอะไรไม่ได้เยอะหรอกค่ะ ถ้าหลิงหยุดใช้พลาสติกแค่คนเดียวมันไม่น่าจะทำอะไรได้มาก แต่ถ้าคนหลายคนมาร่วมกันทำ สมมติว่าคนทุกคนในประเทศไทย 70 ล้านคน หยุดใช้ถุงพลาสติกวันเดียวก็ลดไปได้ 70 ล้านใบต่อวัน แต่คนไทยไม่ได้ใช้ถุงพลาสติกแค่คนละใบต่อวันนะคะ คนกรุงเทพฯ น่าจะใช้เฉลี่ยประมาณวันละ 8 ใบ  

คือการที่เราหยุดใช้ อย่างหนึ่งมันกดดันให้คนรอบข้างเราหยุดใช้ไปด้วย ถ้าเราบอกเหตุผลไปว่าเพื่อที่จะลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก หรือลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าอะไรแบบนี้ ก็เป็นการกดดันคนรอบข้างหรือผลักดันเขา ให้มาทำเหมือนเรา แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือการที่เราสร้างความต้องการ มันเป็นกฎของอุปสงค์และอุปทาน ถ้ามีความต้องการสิ่งนี้น้อยลง ก็ต้องมี supply ของมันน้อยลง ถ้าคนซื้อถุงพลาสติกน้อยลง ผู้ผลิตก็ผลิตไม่ได้แล้ว เพราะเขาอยู่ไม่รอด เขาก็ต้องปรับเปลี่ยนไปขายอย่างอื่นแทน อย่างเช่นถุงผ้าหรือกล่องกระดาษอะไรก็แล้วแต่ เช่นเดียวกับเรื่องการบริโภคในด้านอื่นๆ ถ้าเราสนับสนุนวิถีชีวิตหรือธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน เศรษฐกิจของเราก็จะย้ายตัวไปเรื่อยๆ ในหนทางที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

GM Live : หลายคนที่คิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ก็หมดหวัง อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณยังคงมีกำลังใจอยู่เช่นนี้ได้

นันทิชา : เวลาที่หลิงได้เจอกับคนที่เขาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และพยายามทำในสิ่งนี้เหมือนกัน เขาไม่ท้อกับมันเขาทำไปเรื่อยๆ มันทำให้หลังเองรู้สึกมีกำลังใจค่ะ ว่า เขาทำได้เราเองก็ต้องทำได้ และเราไม่ได้อยู่ในปัญหานี้คนเดียว ไม่ได้ทำอยู่เพียงลำพังคนเดียว มันก็เลยมีกำลังใจขึ้น ยิ่งจัด Climate Strike ครั้งที่ 2 แล้วก็มีคนมาร่วมเพิ่มขึ้นอีก คนที่รู้จักเขาก็จะเชียร์ให้ทำเรื่องนี้ไปต่อ ให้กำลังใจกันว่าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้นะ ลองคิดดูนะคะว่าถ้าเราแค่คนเดียวแพร่ข้อความนี้ออกไปรอบตัว ไปยัง เพื่อน พ่อ แม่ พี่ น้อง ฯลฯ แล้วเขาก็ส่งข้อความนั้นต่อๆ ไป สุดท้ายมันจะสามารถสร้างเป็นวงใหญ่ขึ้นมา แล้วก็จะปลุกผู้คนขึ้นมาให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้เรื่อยๆ ค่ะ

FYI :

  • ติดตามความเคลื่อนไหวและนัดชุมนุมครั้งต่อไปของ Climate Strike Thailand ได้ทาง https://www.facebook.com/climatestrikethailand/
  • ร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทาง change.org ที่ https://bit.ly/2Rgps4z
Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ