fbpx

‘การแยกตัวครั้งใหญ่’ ระเบียบโลกใหม่ในวันที่จีน-สหรัฐฯ ไม่เหมือนเดิม

เ รื่ อ ง : พ ช ร สู ง เ ด่ น ภ า พ : อ นุ วั ต น์ เ ด ช ธำ ร ง วั ฒ น์

นับจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง โลกก็ดูจะเข้าสู่ระเบียบโลกครั้งใหม่เปลี่ยนจากสนามรบไปเป็นสนามการค้า หลายทฤษฎีเชื่อว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจที่กุมกลไกตลาดโลกอย่างจีน-สหรัฐอเมริกาจะเป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้ความสัมพันธ์ด้านอื่นนั้นดีขึ้นตามมา โลกกำลังเดินหน้าเข้าหากันสู่ความเป็นเสรี

หากในวันนี้ที่ต่างฝ่ายต่างมีโจทย์สำคัญ สหรัฐอเมริกาต้องการกลับมา ‘ยิ่งใหญ่อีกครั้ง’ ส่วนจีนเองก็มีโจทย์สำคัญในการดำรงไว้ซึ่ง พรรคคอมมิวนิสต์เช่นกัน ความสัมพันธ์เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงสองยักษ์ใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน เคยป้องกันความขัดแย้ง กลับเป็นปมที่มัดแน่นจนต้องเล่นเกมชักเย่อระหว่างกันไปมา สงครามการค้า

ที่ค้างคาตั้งแต่ปีที่แล้ว สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าหรือไม่ จีนจะส่งแร่แรร์เอิร์ธ วัตถุดิบสำคัญในการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อยู่ไหม คำถามอีกมากมายที่ไร้ข้อยุติในปีที่ผ่านมา ที่ไม่ได้ส่งผลแค่ว่าเราจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีของประเทศใด แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบโลกใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อขั้วอำนาจทั้งสองฝ่ายเลือกที่จะแยกตัวออกจากกัน ‘อาจารย์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร’ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับจีนทั้ง ‘China 5.0: สี จิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI’ และ ‘จีน-เมริกา: จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0’ ได้อธิบายผ่าน ‘ทฤษฎีหมูสามชั้น’ ว่าด้วยความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ที่การค้าไม่ได้เป็นเพียงไขมันชั้นบน หากยังมีมิติทางเทคโนโลยี และความมั่นคงที่แทรกอยู่เป็นชั้นด้านล่าง และชี้ให้เห็นว่านี่เป็นก้าวแรกในการเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ ที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจะไม่ได้เชื่อมโลกเข้าไว้ด้วยกันอีกต่อไป หากกำลังแตกตัวเป็นโลกสองใบ ภายใต้เทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า ‘The Great Decoupling’

มองจีนจากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านสายตาอดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในจีน และกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในสหรัฐอเมริกา

สมัยไปเรียน (ค.ศ. 2004) ประเทศจีนมีความพยายามที่จะปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจและกฎหมายการค้าตามแบบสากลมากขึ้น คือมีสหรัฐอเมริกาเป็นโมเดล เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียนทฤษฎีกฎหมายสหรัฐฯ เยอะ พอไปเรียนสหรัฐฯ (ค.ศ. 2010) ก็อยู่ช่วงหลังวิกฤติการเงิน ก็เลยได้เห็นว่าสหรัฐฯ เองก็มีความพยายามที่จะทบทวนบทเรียนตัวเองด้านเศรษฐกิจเหมือนกันจีนเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 10% อย่างต่อเนื่อง เท่ากับว่าทุก 7 ปี GDP จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว แปลว่าสปีดของการเปลี่ยนแปลงนั้นรวดเร็วมาก ตอนที่ผมอยู่จีน เทคโนโลยีก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ยังไม่ได้เป็นสังคมไร้เงินสด ยุคที่ผมอยู่จีนก็เรียกว่าจีนพัฒนาไปในทิศทางเสรีนิยมมากขึ้น ในขณะที่ยุคปัจจุบันจีนก็กลับมาในทิศทางตรงกันข้าม คือมีความเป็นอนุรักษนิยมและชาตินิยมมากขึ้นเยอะ จีนเป็นสังคมที่มีพลวัตสูงมาก

‘The Great Decoupling’ ระเบียบโลกใหม่ที่โลกต้องใคร่ครวญ

ทั้งช่วงที่ผมเรียนที่จีนและสหรัฐฯ ยังไม่มีสงครามการค้าอย่างในปัจจุบัน อย่างช่วงที่ไปเรียนสหรัฐฯ คนในสหรัฐฯ ก็มีความสนใจเรื่องจีนมาก อยากทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าเป็นมหัศจรรย์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน เพื่อเป้าหมายสำคัญในการร่วมมือกับจีน ดึงจีนมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก ขณะที่เราดูเทรนด์ในปัจจุบันกลับเป็นเทรนด์ตรงกันข้าม คือเป็นความหวาดกลัว มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม ต้องการแยกเศรษฐกิจจีนออกจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตอนนี้เทรนด์ใหญ่ที่เรียกว่า ‘The Great Decoupling’ หรือการแยกเศรษฐกิจสองประเทศนี้ออกจากกันมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกและกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงอันที่หนึ่งคือสหรัฐฯ เปลี่ยนจากยุคที่เน้นเรื่อง Engagement กับจีนมาเป็นยุคที่สหรัฐฯ ต้องการโดดเดี่ยวจีนหรือแยกเศรษฐกิจออกมาจากจีน อันที่สองก็คือ จีนเองก็เป็นระบบกฎหมายการเมือง ค่านิยมที่แตกต่างอย่างมากจากแนวทางตะวันตก และ สี จิ้นผิง ก็ไม่มีท่าทีว่าจะปฏิรูปตามแนวทางตะวันตก แต่ว่าเป็นท่าทีที่ตรงกันข้ามคือ ยืนหยัดในแนวทางของตนเอง มันก็ทำให้เกิดคำถามว่าการแข่งขันระหว่างสองอำนาจ รวมทั้งการที่จีนมีโมเดลแตกต่างจะส่งผลต่อระเบียบโลกและพัฒนาการของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่อย่างไร

แน่นอนว่ามันจะกระทบกับคนทั่วไปด้วย ปกติแล้วเราพูดถึง Disruption คนพูดกันเยอะเรื่องเทคโนโลยี สังคมผู้สูงอายุ หรือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร แต่จริงๆ แล้วมันมี Disruption อันที่สามที่สำคัญมากที่จะส่งผลกระทบต่อทุกคนแน่นอนก็คือการเปลี่ยนแปลงของภูมิ-รัฐศาสตร์โลกทางด้าน Geopolitics ก็คือภาพการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันของมหาอำนาจ ซึ่งในตอนนี้ก็คือสหรัฐฯ กับจีน

การแข่งขันในสนามโลก เพื่อความอยู่รอดในสนามแต่ละบ้าน

5-6 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ย้อนกลับไปในอดีต 20 ปีก่อน ช่วงความพยายามของสหรัฐฯ ในการมี Engagement กับจีน ตอนนั้นก็เป็นเทรนด์ใหญ่ของประวัติศาสตร์หลังสงครามเย็น ช่วงที่คนในสหรัฐฯ มีความคิดร่วมกัน ไม่ต้องการให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกแล้ว ความคิดตอนนั้นคือโลกสมัยใหม่เป็นยุคของการค้า มันไม่ใช่ยุคแห่งการช่วงชิงเรื่องความมั่นคงแล้ว ถ้าสหรัฐฯ สามารถดึงจีนเข้ามาร่วมเศรษฐกิจโลกได้ ก็จะทำให้จีนเปลี่ยนไปในแนวทางเสรีนิยมเป็นตะวันตกมากขึ้น ประวัติศาสตร์ก็มีชัดเจนว่าหลายๆ ที่มันก็เป็นแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น หลายฝ่ายมองว่าความร่วมมือกันนั้นจะเป็น Win-Win คือชนชั้นนำสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากการได้ค่าแรงราคาถูก ย้ายฐานการผลิตไปจีนและผลิตสินค้าส่งไปตลาดโลก ฉะนั้นจึงส่งผลดีต่อบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ แน่นอน ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดสันติภาพ เพราะความร่วมมือทางเศรษฐกิจคงทำให้คนไม่รบกัน และในระยะยาวก็มีความเชื่อว่า ความร่วมมือกับจีนจะทำให้จีนเปลี่ยนมาเป็นเสรีนิยมและสอดคล้องกับตะวันตกมากขึ้น

แต่ในรอบสองปีที่ผ่านมาก็ชัดเจนแล้วว่ากำลังเกิดเทรนด์ใหม่ของประวัติศาสตร์ที่จะเป็นเทรนด์ใหญ่แน่นอน ก็คือการแยกเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ ออกจากกัน ปัจจัยแรกคือความไม่พอใจในโลกาภิวัตน์ การค้าเสรีของผู้คนในสหรัฐฯ เพราะการค้าเสรีให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนในสหรัฐฯ และคนจนในจีน แต่ชนชั้นกลางของสหรัฐฯ รายได้ไม่เพิ่มมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว ถ้าเราดูจากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ สมัยที่แล้ว ผู้สมัครทั้งสองพรรคจะต่อต้านกรอบความร่วมมือ TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership) มีแนวโน้มที่จะต่อต้านการค้าเสรี และได้รับการสนับสนุนจากมวลชนของสหรัฐฯ
ปัจจัยที่สองคือทรัมป์มีนโยบาย ‘America First’ และทรัมป์ก็มีทิศทางเรื่องนี้ต่างจากโอบามาโดยสิ้นเชิง โดยโอบามาจะใช้ TPP ในการปิดล้อมจีน ส่วนทรัมป์จะทำสงครามการค้าด้วยวิธีการเจรจาทางธุรกิจเพื่อทำให้ความตึงเครียดนั้นเพิ่มขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ทรัมป์คนเดียวที่ทำได้ คนอเมริกันเองก็สนับสนุน การต่อสู้กับจีนจึงเป็นการปลุกกระแสชาตินิยมซึ่งดีต่อทรัมป์ ในขณะเดียวกันชนชั้นนำก็คือกลุ่มที่ปรึกษาทรัมป์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองก็สนับสนุนส่งเสริมแนวทางนี้ เพราะเขามองกันว่าจีนนับวันยิ่งเป็นภัยคุกคาม ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือเทคโนโลยี แต่เป็นเทคโนโลยีที่ควบไปกับระบบการเมืองที่แตกต่างจากตะวันตก

ทฤษฎีหมูสามชั้น : มองให้ลึกกว่าเศรษฐกิจ คือแนวคิดเรื่องความมั่นคง

จีนมีนโยบาย Made in China 2025 นโยบายนี้ของ สี จิ้นผิง มีจุดสำคัญเรื่องหนึ่งคือมีความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจ พูดถึงเทคโนโลยียุคใหม่ในสิบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตว่าต้องมีสัดส่วนของบริษัทจีนเป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ ของไฮเทคทุกอย่างต้องมีชิ้นส่วนจากจีน หรือบริษัทจีนต้องเป็นผู้นำ ตัวอย่างที่เราเห็นชัดก็เช่น Huawei ที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาก พัฒนา 5G รวดเร็วมาก สำหรับสหรัฐฯ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาการค้าหรือเทคโนโลยี แต่เป็นปัญหาความมั่นคง เพราะเทคโนโลยียุคใหม่ก็มีมิติเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล การนำไปใช้ทางการทหาร ดังนั้นก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่า ระบบการเมืองจีนและระบบเศรษฐกิจจีนเป็นระบบที่นำโดยรัฐ ขณะเดียวกันรัฐก็มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยี รัฐบาลจีนมองว่าเทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยทำให้ระบบการเมืองเขาเป็นแบบนี้ต่อไปได้ ที่เราเคยพูดกันว่าได้มีการใช้เทคโนโลยีอย่างมากในการควบคุมสังคม การใช้ Social Credit Score การใช้ Big Data ประมวลผลข้อมูลเศรษฐกิจ ฉะนั้นทฤษฎีการเมืองสมัยก่อนที่มองว่าเป็นไปไม่ได้ที่ระบบเผด็จการจะอยู่ได้ เพราะรัฐบาลที่ไม่มีการเลือกตั้งจะไม่มีทางทราบข้อมูลข้างล่างได้ ก็กลายเป็นสมมุติฐานที่ถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มี ฉะนั้นสำหรับจีนแล้วเทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ตอบโจทย์ทุกอย่าง

ส่วนในมุมสหรัฐฯ เทคโนโลยีเป็นเรื่องน่ากลัวมากในเรื่องความมั่นคง ความคิดเดิมๆ เลยถูกตั้งคำถาม เช่นเราเคยมองว่าเศรษฐกิจเชื่อมโยงดีต่อทั้งคู่ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้ามันแยกกันไม่ได้ แปลว่าต่อไปสหรัฐฯ อาจต้องใช้เทคโนโลยีจาก Huawei หรือส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ ต้องมาจากจีน ถ้ามองในมุมนี้ก็เป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงสำหรับสหรัฐฯ ด้วย ขณะเดียวกันก็มีมุมที่ว่าจีนค้าขายไม่เป็นธรรมในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ ฉะนั้นสิ่งทั้งหมดนี้ก็เลยมีส่วนผสมที่ครบทุกเรื่อง คือมีทั้งฐานมวลชนที่ต่อต้านการค้าเสรี ความคิดชาตินิยม ความคิดที่ว่าสองประเทศนี้ต่างกันทั้งในระบบการเมืองและเศรษฐกิจและไม่มีทางจะไปด้วยกันได้ ก็กลับไปคล้ายยุคความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต เลยเกิดเป็นเทรนด์ใหม่ที่มองว่าจะต้องแยกตัวสหรัฐฯ และจีนออกจากกัน ที่เรียกว่า ‘The Great Decoupling’ แน่นอนว่าคงไม่เกิดขึ้นทันที แต่คงค่อยๆ เกิดขึ้น และจะกลายเป็นเทรนด์ใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่จะเปลี่ยนจากความร่วมมือเป็นการแข่งขันระหว่างกัน

เสรีภาพ หรือเสถียรภาพ

ถ้าเกิดเราย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไม่มีใครคิดว่าสี จิ้นผิง จะเดินมาถึงตรงนี้ได้ คนคิดว่าจีนกำลังมุ่งเข้าสู่ความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ถ้าได้สัมผัสคนรุ่นใหม่จีนก็จะเห็นว่าเขามีความคิดในทิศทางเป็นเสรีนิยมมากขึ้นแต่เท่าที่ผมสัมผัสส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าเสรีนิยมเท่ากับประชาธิปไตย คนไม่ได้คิดว่าจะเลิกพรรคคอมมิวนิสต์แล้วไปเลือกตั้ง แต่มีคนคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์ควรจะเปิดพื้นที่ให้มีเสรีภาพมากกว่านี้ ในสังคมจีนยังมี Consensus ที่สูงมากในการสนับสนุนพรรคอมมิวนิสต์ ในขณะที่คนจีนให้คุณค่าเรื่องเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็มีคุณค่าที่เขาให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือเสถียรภาพ และเผลอๆ จะให้ความสำคัญมากกว่าเสรีภาพอีก คือถ้าจะให้มีการเลือกตั้ง แล้ววุ่นวาย หรือเลือกจะเป็นแบบนี้ต่อไป คนจีนส่วนใหญ่ก็คงเลือกว่าเป็นแบบนี้ต่อไปดีกว่าข้อสังเกตที่สองคือ เราไม่ได้มองแค่จีน แต่เป็นเทรนด์โลกที่ชวนให้วิเคราะห์ การที่ประเทศเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามกับเสรีนิยมไม่ใช่แค่ที่จีน แต่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยุโรป หรือแม้แต่ไทย เป็นเรื่องประหลาด เพราะเราพูดกันมานานว่าโลกกำลังเดินหน้าไปสู่เสรีนิยม แต่ตอนนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง มีกระแสการโต้กลับในทิศทางตรงกันข้าม

คำถามคือปัจจัยอะไรทำให้เป็นเช่นนั้น ปัจจัยหนึ่งก็คือความเหลื่อมล้ำ ความผันผวน ความไม่แน่นอน ประเด็นสำคัญคือนี่ไม่ใช่เทรนด์แค่ในจีน แต่เป็นเทรนด์โลกแล้ว ทีนี้ก็ต้องดูว่าจะเป็นเทรนด์สั้นหรือยาว อีกปัจจัยคือเทคโนโลยี ที่เป็นปัจจัยใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เลยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้กับจีนในการจะพัฒนาอีกโมเดลหนึ่ง ก่อนหน้านี้คนอาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยปัจจัยทางเทคโนโลยีจีนเลยเริ่มมองว่าเป็นไปได้ที่เขาจะคงระบบของเขาไว้ อันนี้เลยน่าสนใจว่าสุดท้ายแล้วจะพัฒนาไปอย่างไร

ความฝันวันฉลองครบรอบพรรคคอมมิวนิสต์ครบ 100 ปี ค.ศ. 2021 จีนจะกินดีอยู่ดี ไม่มีความยากจน

ความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ที่การกำจัดความยากจน หรือการทำให้ชีวิตคนดีขึ้น เรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่พูดกันมากในสิบปีก่อน แต่ตอนนี้ไม่ขนาดนั้น เป็นประเด็นที่พูดกันมากในตะวันตกมากกว่า แต่ความยากจนถือว่าคุกคามความอยู่รอดของพรรค เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลจีนคือความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์ เขาก็ตอบเลยว่าจะเน้นแก้ปัญหาความยากจน สอง, คือคอร์รัปชั่น สี จิ้นผิงก็เร่งปราบปราม และสาม, ปัญหาสิ่แวดล้อม ความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นเป็นสิ่งที่พรรคคิดอยู่ตลอดเวลา

ทีนี้สงครามการค้า อยู่ที่ว่าแต่ละฝ่ายจะสามารถปรับตัวได้ดีแค่ไหน ในมุมสหรัฐฯ มองว่าทุบจีนแบบนี้พรรคคอมมิวนิต์จะอยู่ได้ยากมาก เพราะเรื่องเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องหลัก อย่างไรต้องส่งผลกระทบต่อจีนอยู่แล้ว แต่พอมีสงครามการค้า ผลกลับเป็นไปอีกทิศทางหนึ่ง กลายเป็นว่าทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้คะแนนความนิยมที่สูงขึ้น เพราะคนมองว่าสถานการณ์ภายนอกผันผวนเหลือเกิน เราจึงต้องการผู้นำเข้มแข็ง ความสามัคคี เสถียรภาพ และที่เศรษฐกิจจีนแย่เป็นเพราะถูกต่างชาติรังแก ไม่ใช่เพราะความอ่อนหัดของรัฐบาลจีน อีกอันที่ต่างชาติคิดและรอคำตอบอยู่คือ เทคโนโลยีจีนนั้นเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีตะวันตกอย่างยิ่ง

เมื่อ Decoupling แล้วจีนอยู่ไม่ได้หรอก แต่ตอนนี้กลับดีดให้จีนต้องรีบพัฒนาให้ยืนอยู่บนลำแข้งตนเองให้ได้ แต่ก่อนจีนคิดว่าก็พึ่งเทคโนโลยีต่างชาตินี่แหละ แต่มาวันนี้ถ้าจะเลิก
กันแล้ว จีนก็ต้องเร่งทำเทคโนโลยีของตนเอง ก็เกิดคำถามใหญ่ที่ชวนติดตามว่าสุดท้ายจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

The Great Decoupling โอกาสในวิกฤติถ้าคิดให้เป็นเห็นรอบด้าน

ภาพใหญ่เศรษฐกิจโลกต่อไปนี้จะผันผวนมาก เติบโตได้ช้าลง แต่ก่อนค้าขายได้ทั้งโลก ตอนนี้ต้องดูว่าใครขายใครได้บ้าง ตลาดก็จะเล็กลง ทำให้เกิดการจัด Supply Chain ใหม่ โรงงานย้ายออกจากจีน จีนบุกตลาดต่างประเทศหาตลาดใหม่ เราจะเห็นทั้งโอกาสและวิกฤติเราจะเห็นบริษัทเทคโนโลยีจีนบุกไทยมากขึ้น ทั้งในการใช้เป็นฐานการผลิต และเป็นตลาดอื่นแทนที่ตลาดสหรัฐฯ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็ต้องการสร้างห่วงโซ่ตนเองเหมือนกัน ไม่ได้แปลว่าเราต้องเลือกห่วงโซ่ไหน เราอาจจะไปเชื่อมโยงกับทั้งสองห่วงก็ได้ ในบาอุตสาหกรรมห่วงหนึ่งอาจเป็นประโยชน์มากกว่า แต่เราต้องเปลี่ยนคำถามการวิเคราะห์ใหม่ ในอดีตคำถามคือเราจะทำอย่างไรให้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่โลกที่มีแกนหลักเป็นสหรัฐฯ กับจีน แต่ตอนนี้แกนหลักนั้นแยกกันแล้ว คำถามใหม่ที่เราควรถามคือถ้าเรามองภาพนี้ออก เราจะเห็นโอกาสอะไรบ้าง จริงๆ การแข่งขันกันระหว่างสองอำนาจก็ทำให้เรามีโอกาส ถ้าเราเข้าใจการเจรจา และเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนของเรา อำนาจต่อรองเราอยู่ที่ไหน พูดง่ายๆ คือความผันผวนทางการค้ามีทั้งวิกฤติและโอกาสใหม่ข้อน่ากังวลคือต้องมีคนตาย ธุรกิจที่แต่เดิมส่งออกไปจีนเพื่อประกอบต่อที่จีนส่งไปสหรัฐฯ ก็จะกระทบหนักมาก เศรษฐกิจที่ช้าลง ต้องมีการ Downsize สิ่งที่ต้องถามคือในตลาดที่เล็กลงนั้นมีโอกาสใหม่อะไรบ้าง เพื่อที่จะรีบปรับไปหาห่วงโซ่ใหม่ การเข้าใจภาพใหญ่และทิศทางของ Geopolitics จึงสำคัญ ไม่อย่างนั้นคุณจะมองว่าเป็นการทะเลาะกันระยะสั้น ในขณะที่จริงๆ แล้วเทรนด์โลกในระยะยาวกำลังจะเปลี่ยนอย่างมหาศาล

ระเบียบโลกที่เปลี่ยนไป สถาบันใหญ่ระดับโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลง

ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ เป็นพื้นที่เสรีนิยมสูงในจีน ตอนเรียนจึงคุ้นเคยกับการตั้งคำถาม มองกฎหมายในภาพกว้าง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการปฏิรูปประเทศจีนในตอนนั้น ตอนที่เรียนในจีนเป็นช่วงที่วงวิชาการเปิดกว้างพอไปเรียนที่สหรัฐฯ ก็เป็นช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้เห็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการทบทวนทฤษฎีของตนเอง ทั้งสองประเทศคอยทบทวนตัวเองอยู่ตลอดว่าอะไรทำได้ดี อะไรยังทำไม่ได้ดี แต่ถ้าเป็นตอนนี้ บรรยากาศทางวิชาการในจีนดูจะแย่ลง มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง ไม่ได้เสรีทางความคิดมากแบบในสมัยที่ผมเรียนที่จีน

แต่ที่สำคัญที่สุดคือโลกกำลังเปลี่ยนครั้งมโหฬาร ประเด็นสำคัญคือตอนที่เราเรียนเมื่อ 10 ปีก่อน เราหลงเข้าใจว่าระเบียบโลกเสถียรแล้ว ตอนที่เรียนเราก็เข้าใจว่าโลกาภิวัตน์เป็นยุคของการค้าโลกเป็นยุคของความร่วมมือ ไม่มีอีกแล้วสงครามเย็น การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ทุกอย่างเป็นสนามการค้า ไม่ใช่สนามรบ กฎเกณฑ์ของ WTO ก็เป็นกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ทุกคนต้องเดินตาม แต่ 5-6 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนอย่างมโหฬาร เช่น โอบามาต้องการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศใหม่โดยใช้การร่างข้อตกลง TPP ทั้งกฎเกณฑ์เรื่องการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ การเก็บข้อมูลดิจิทัล เป็นเรื่องที่ดูจะกำหนดขึ้นมาเพื่อรับมือกับจีน แม้ว่า TPP จะไม่มีจีนเป็นสมาชิกอยู่แล้ว แต่สหรัฐฯ มองว่าในอนาคตจีนก็จะอยากเข้ามาร่วม TPP ด้วย ถึงตอนนั้น TPP ก็จะเป็นกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศชุดใหม่ โอบามาที่เป็นนักกฎหมายพยายามจะสร้างกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศชุดใหม่ ทำให้ WTO มีบทบาทลดลงตั้งแต่ตอนนั้น แต่ทรัมป์ยิ่งกว่านั้นอีก ทรัมป์แทบจะไม่สนใจ WTO เลย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา องค์กรอุทธรณ์ของ WTO จะเหลือแค่ 1 คน (จากเดิม 7 คน) คือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว คดีทั้งหมดของ WTO จะไม่สามารถมีกระบวนการระงับข้อพิพาทในชั้นสุดท้ายได้แล้ว เพราะสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธที่จะรับรององค์กรอุทธรณ์คนใหม่

ฉะนั้นระเบียบโลกที่เราเคยมองว่าเสถียรแล้วในสมัยก่อน ทั้ง WTO IMF World Bank 5-6 ปีที่แล้วเรายังมองว่าจีนผงาดขึ้นมาภายใต้ระเบียบโลกเดิม ไม่ได้สร้างกฎหมายใหม่ แต่ตอนนี้ซับซ้อนกว่านั้นเยอะ ระเบียบโลกเดิมแม้กระทั่งคนเขียนระเบียบขึ้นมาคือสหรัฐฯ ยังฉีกระเบียบตัวเองทิ้ง เพราะคิดว่าระเบียบเดิมไม่สามารถจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการผงาดของจีนและจากเศรษฐกิจจีนที่มีระบบพิเศษได้ สหรัฐฯ มองว่า WTO จัดการเรื่องจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อุดหนุนรัฐวิสาหกิจและเอกชน ทั้งเทคโนโลยีจีนที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วก็ทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ มากมาย มีมิติเรื่องความมั่นคงด้วยดังที่ได้กล่าวไปจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มียุทธศาสตร์ต่างประเทศของตนเอง ที่ชื่อว่า Belt and Road (BRI: Belt and Road Initiative) ที่ตอนนี้ยังไม่ได้มีระเบียบกฎเกณฑ์ออกมามากเท่าไร แต่ไม่แน่ว่าอนาคตอาจจะมี เช่น กลไกการระงับข้อพิพาทของ BRI จะเป็นอย่างไร ประเด็นของผมคือการผงาดขึ้นมาของจีนจะมีผลกระทบต่อระเบียบโลกและกฎหมายระหว่างประเทศสมัยก่อนจากเดิมทุกคนเคยพูดว่า WTO เป็นกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีคดีเข้าไปสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทสูงมาก และอัตราที่ทุกคนปฏิบัติตามคำตัดสินนั้นสูงมาก ไม่เหมือนกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ตัดสินแล้วหลายประเทศก็ยังไม่เชื่อฟัง คนอาจจะคิดว่าระบบการค้าโลกเป็นระบบที่เสถียรแล้ว ตอนนั้นทุกคนคิดแบบนี้ แต่ตอนนี้ก็ชัดแล้วว่าไม่ใช่ อย่าง WTO ก็ถูกตั้งคำถามว่าอะไรกำลังจะมาแทนที่ โอบามาอาจคิดถึง TPP แต่สำหรับทรัมป์ก็ไม่ใช่ นอกเสียจากว่าพรรคเดโมแครตจะกลับมาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง เพราะชนชั้นนำสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยก็สนับสนุนการใช้ TPP เพื่อปิดล้อมหรือจัดการจีน แม้แต่ในพรรคริพับลิกันเองก็มีการคุยกันว่าควรนำ TPP กลับมาเจรจาใหม่หรือไม่

พลวัตพร้อมปรับตัว คือปัจจัยสำคัญในการผลักดันวิสัยทัศน์ยาวไกล

จีนเป็นประเทศที่ลื่นไหลอยู่แล้ว ไม่ได้ติดว่าต้องขาวหรือดำเท่าไร วัฒนธรรมจีนก็หยิน-หยางทั้งขาวและดำสลับกันไป คำพูดของ เติ้ง เสี่ยวผิง ที่ว่าไม่ว่าแมวขาวแมวดำขอให้จับหนูได้ ตรงกับวัฒนธรรมวิธีคิดของคนจีน คือจีนไม่ได้แคร์หรอกเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองน้อยมากที่จะเห็นคนจีนที่บ้าอุดมการณ์ว่าต้องเป็นสังคมนิยม ทุนนิยม ประชาธิปไตย โดยทั่วไปจีนเป็น Pragmatism เป็นปฏิบัตินิยม เห็นประโยชน์เฉพาะหน้า ในศาสนาก็ไม่มีชาติหน้าอยู่แล้วตามลัทธิขงจื๊อ จีนหมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเฉพาะตัวที่ทำให้อยู่ได้ Driving Force สำคัญคือโจทย์ว่าทำอย่างไรให้พรรคคอมมิวนิสต์อยู่ได้กับสังคมที่เปลี่ยนไปตลอดปัญหาคือวิธีการของ สี จิ้นผิง เป็นวิธีการที่ทำให้ต่างชาติมองว่าจีนจะเป็นภัยคุกคาม ทำให้ฝรั่งกลัว มีเหตุผลว่าต้องเลิกร่วมมือกับจีน แต่ถ้าถามว่าจะเปลี่ยนไปได้อีกไหม มันก็มีโอกาสเปลี่ยนไปได้เสมอ เพราะก่อน สี จิ้นผิง จะขึ้นมา ไม่มีใครคิดว่าจีนจะมาในรูปแบบนี้ ทุกคนคิดว่าจีนจะมาแบบเสรีมากขึ้น ดังนั้นผู้นำคนใหม่ต่อจาก สี จิ้นผิง ถ้าจะขึ้นมาอาจมีเซอร์ไพรส์อีกก็ได้ จีนมีพลวัตสูง พร้อมเปลี่ยนมาก ก็คงไม่แปลกใจถ้าลูกตุ้มจะสวิงกลับมาในทางเสรีนิยมอีกครั้ง เพียงแค่ในตอนนี้ความเป็นไปได้ต่ำมากว่าจีนสุดท้ายจะเดินไปสู่การเลือกตั้งหรืออะไรแบบนั้น แต่ถ้าเสรีนิยมมากขึ้นภายใต้พรรคเดียวก็อาจยังมีความเป็นไปได้

จะดีหรือจะร้าย จะซ้ายหรือจะขวา คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ

บางคนพยายามจะเลือกว่าตกลงจีนเป็นคนดี เป็นผู้ร้าย เป็นประชาธิปไตย เป็นโมเดลที่ถูกต้องหรือล้มเหลว แต่จีนก็เหมือนทุกประเทศคือเขาก็เผชิญปัญหาของเขา ผมคิดว่านักวิชาการทุกคนก็ยอมรับกันได้ว่า จีนไม่ใช่เผด็จการแบบทั่วไป ไม่ใช่เผด็จการทหาร จีนเป็นพรรคการเมืองเดียว แต่ว่าจีนเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจสูงมาก คล้ายรัฐระบบราชการขนาดใหญ่ แต่ถามว่าเป็นประชาธิปไตยไหม ก็คงไม่ใช่ เพราะไม่มีการเลือกตั้งอย่างเสรี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังถูกควบคุม แต่ถึงขั้นเกาหลีเหนือไหม ก็ไม่ ถ้าถามคนจีน คนจีนก็ไม่รู้สึกหรอกว่าถูกควบคุม แต่ข้อห้ามคือห้ามโพสต์ด่า สี จิ้นผิง หรือถ้าโพสต์ข้อความที่คุณโพสต์ก็อาจจะหายไป แต่ถ้าคุณไม่ใช่ศัตรูทางการเมือง เขาก็จะไม่ทำอะไร แต่ถ้าเขามองว่าคุณเป็นภัยคุกคามพรรคเขา คุณก็อาจจะโดน ฉะนั้นจึงบอกได้ว่าจีนไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกแน่ๆ ไม่ใช่เสรีนิยมแน่ๆ แต่ก็ไม่ใช่เผด็จการแบบเกาหลีเหนือ ไม่ใช่เผด็จการที่เราเข้าใจแบบในอดีต การศึกษาเรื่องระบบของจีนจึงมีความซับซ้อนและท้าทายความเชื่อ ทฤษฎี สมมุติฐานหลายอย่างที่เคยเชื่อกัน

โมเดลทางเลือกใหม่ในรูปแบบจีน

ปัจจัยหนึ่งก็คือเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยใหม่ เลยชวนคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง ฟรานซิสฟูกูยามา (Francis Fukuyama) นักวิชาการสแตนฟอร์ดที่เป็นคนที่ดังมาจากการคิดและเขียนหนังสือเรื่อง ‘The End of History’ เพิ่งมีบทความออกมา ยอมรับว่าตอนนี้ไม่มีใครเชื่อแล้วว่าโลกกำลังเดินไปในทางเสรีนิยม ความน่าสนใจคือแต่ก่อนเราไม่ได้คิดว่ามันมีทางเลือกอื่น (Alternative Model) นอกจากประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่ Francis Fukuyama ยอมรับว่าจีนเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่อยู่รอดได้ และคนส่วนใหญ่ในประเทศเขายังยอมรับ แต่ Francis Fukuyama ก็พูดประโยคต่อมาว่าจีนเป็นโมเดลใหม่ที่อาจมาสู้กับโมเดลตะวันตก แต่ความรู้สึกเขาก็คือเขาคงไม่แฮปปี้เท่าไร ถ้าสุดท้ายนี่จะกลายเป็นโมเดลโลกที่แพร่หลาย เพราะคุณค่าของเขาก็ยังเป็นเสรีนิยม

เสรีภาพ หรือเสถียรภาพ ขึ้นอยู่กับว่าคุณค่าใดถูกให้ความสำคัญ

กลับมาเรื่องคุณค่า ว่าคุณให้คุณค่ากับอะไรที่สำคัญ ถ้าคนที่คิดว่าเรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องพื้นฐานก็คงจะรับไม่ได้กับสังคมแบบจีน แต่ถ้าคนที่คิดว่า สละเสรีภาพได้เพื่อเสถียรภาพ เขาก็อาจจะแฮปปี้กับสังคมแบบนั้น วันก่อนมีนักวิชาการมีชื่อเสียงของจีนมาบรรยายที่ไทยว่าวันนี้เราไปเซี่ยงไฮ้ เราพูดได้ 100% ว่าปลอดภัย เรียกว่าปลอดภัยกว่านิวยอร์กแน่นอน เซี่ยงไฮ้มีกล้องวงจรปิดทั่วทุกมุมเมือง โจรผู้ร้ายไม่มีทางหนีรอด คำถามคือแบบนี้เสถียรภาพสูงไหม แต่ก็จะมีคนอเมริกันหลายคนที่จะบอกว่ายังไงเขาก็ไม่เลือกจะมาอยู่เซี่ยงไฮ้ มันจึงเป็นเรื่องคุณค่าว่าคุณให้ความสำคัญกับอะไร จีนฮ่องกงก็บอกว่าไม่อยากจะเป็นแบบจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ตอนนี้ไม่เห็นความเป็นไปได้เลยว่าการประท้วงของฮ่องกง หรือไต้หวันจะมีโอกาสลุกลามไปในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ในตอนนี้ เราไม่เห็นคนจีนที่ไม่พอใจขนาดนั้น คนจีนรุ่นใหม่เป็นเสรีนิยมมากขึ้นก็จริง แต่ก็เป็นเสรีนิยมภายใต้ระบบเดิม หลายคนจินตนาการไม่ได้ว่าจะมีระบบอื่น เพราะระบบพรรคคอมมิวนิสต์แข็งแกร่งและฝังรากลึกมาก

มองคุณค่าเขา ย้อนกลับดูคุณค่าเรา

เรามีทั้งสองขั้วการเมือง เรื่องตลกตอนนี้คือขั้วหนึ่งเอาจีนเป็น Proxy อีกขั้วเอาฮ่องกงเป็น Proxy ผมว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศก็มีสองขั้วการเมือง แต่สิ่งสำคัญคือสองขั้วนี้ควรต้องมีจุดยืนร่วมกัน (Consensus) บางอย่าง เช่นสหรัฐฯ ก็มีทั้งสองขั้ว แต่ก็มี Consensus ร่วมกันคือไม่มีใครจะให้ยกเลิกการเลือกตั้ง จีนเองก็เหมือนกัน มีสองขั้วทั้งอนุรักษนิยมและหัวก้าวหน้า ขั้วอนุรักษนิยมก็จะโปรโมตการควบคุม ส่วนพวกหัวก้าวหน้าก็โปรโมตสิทธิ เสรีภาพ เสรีนิยม แต่ก็มี Consensus ร่วมกันระดับหนึ่ง คือไม่คิดจะยกเลิกระบบพรรคเดียวไทยเองก็มีสองขั้ว แต่สิ่งที่เราต้องพยายามตกลงกันให้ได้คือเรามี Consensus อะไรร่วมกันได้บ้าง อันนี้ต้องไปถามทั้งสองขั้วการเมือง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ