fbpx

เมื่อไทยขาดทัวร์จีนไม่ได้ ทิศทางการท่องเที่ยวไทยจะเอาแบบไหนดี

ในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวการชะลอตัวลงของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยตั้งแต่ปี 2012 และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่ผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็น ‘ชาติมหาอำนาจ’ 1 ใน 10 ของชาติที่มีผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก เกิดอะไรขึ้นกับนักท่องเที่ยวจีน? แล้วการท่องเที่ยวไทยจะทำอย่างไร?

เมื่อเร็วๆ นี้ผมมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนชาวจีน ถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวในไทยของชาวจีน รวมถึงข่าวการจัดงานเลี้ยงต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนพร้อมทำสถิติโลกข้าวเหนียวมะม่วง เพื่อนชาวจีนกลับให้คำตอบที่น่าสนใจ นั่นคือ ‘มันเป็นเทรนด์’ อย่างหนึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมาที่คนจีนเริ่มท่องเที่ยวออกนอกประเทศมากขึ้น เรียกว่า อยากไปเปิดหูเปิดตาต่างประเทศมากขึ้นโดยอันดับต้นๆ คือ ‘ประเทศไทย’ และที่มาแรงมากๆ ในจีนช่วงนี้ คือ ‘ประเทศญี่ปุ่น’ เรียกได้ว่า ‘กลายเป็นแฟชั่นสุดเก๋หากได้ไปญี่ปุ่น’

จากข้อมูลของ Japan National Tourism Organization ระบุว่า นักท่องเที่ยวจากจีน ขึ้นแท่นเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในญี่ปุ่นโดยในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวจากจีนถึง 7.36 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 2.4 ล้านคนในปี 2014 เรียกว่าก้าวกระโดดเป็นเท่าตัวภายใน 3 ปี ถือว่าไม่ธรรมดา

และเมื่อตรวจสอบข้อมูลจาก Korea Tourism Organization พบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่ไปเยือนเกาหลีใต้ในปี 2017 ลดลงจาก 6.9 ล้านคน เหลือเพียง 3.1 ล้านคน และเป็นไปตามคาด จำนวนที่เพิ่มไหลไปยังญี่ปุ่น หากจำกันได้ในช่วง 5 ปีก่อน คนไทยเราแห่ไปเกาหลีเช่นกัน ภายหลังรัฐบาลญี่ปุ่นจึงยกเว้นวีซ่าให้กับคนไทย จำนวนนักท่องเที่ยวไทยในญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว และแน่นอนว่า ตัวเลือกระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่นสำหรับคนไทย มักจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น ตัวเลขนักท่องเที่ยวอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามภาวการณ์แข่งขันของแต่ละประเทศ  ซึ่งการท่องเที่ยวไทยจะชะล่าใจไม่ได้เด็ดขาด เพราะการท่องเที่ยวคือการแสวงหาประสบการณ์ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในแง่มุมของการตลาด ที่คนมักจะแสวงหาประสบการณ์ใหม่จากแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในแต่ละปี

“แล้วไทยควรทำอย่างไร” ผมมักพูดเสมอในเฟซบุ๊กเพจว่า “ปัญหาคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตามแนวคิด Growth Mindset” เราจึงต้องมองไปข้างหน้าและมองอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นแรงผลักดันต่อไป จากรายงานของ The Travel and Tourism Competitiveness Report 2015 ซึ่งตีพิมพ์โดย World Economic Forum จัดอันดับให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 35 จาก 141 ชาติ โดยไทยได้คะแนนค่อนข้างดีในด้าน ทรัพยากรธรรมชาติ (16) สาธารณูปโภคภาคการท่องเที่ยว (21) และคะแนนค่อนข้างต่ำ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน (116) และด้านความปลอดภัย (132) (ที่มา : Bangkok Post. 2015-05-07) เพราะการท่องเที่ยวก็คือตลาดการค้าแบบหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับหลายๆ ชาติ มันจึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับปรุงบริการด้านการท่องเที่ยวของเรา เพื่อดึงนักท่องเที่ยวไม่เพียงเฉพาะจีนให้กลับมาอีก รวมทั้งท่องเที่ยวไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสเดินทางไปหลายเมืองในเอเชีย ทั้งสิงคโปร์ ไทเป และเกียวโต เห็นรูปแบบการจัดการหลายๆ อย่างที่ไทยน่าจะเอามาปรับใช้ เพราะผลดีจะได้ทั้งการท่องเที่ยวและคนไทยที่อาศัยในประเทศ จึงขอหยิบยกมานำเสนอเป็นแนวทางในการพัฒนาดังต่อไปครับ  

  1. การจัดการเมือง ทั้งสิงคโปร์ ไทเป และเกียวโต ทั้งสามเมืองมีการสร้างเมืองให้ร่มรื่นน่าเดิน เราจะเจอมุมสวยๆ ให้อยากถ่ายรูป อยากหยุดแวะชมพันธุ์ไม้แปลกๆ ริมท้องถนน ทางเท้าเรียบเสมอกัน ทำให้เดินง่าย สะอาด และไม่มีรถเข็นขายของสร้างภาระให้คนเดินเท้าเหมือนกรุงเทพฯ อย่างที่เกียวโต ซึ่งเป็นเมืองเก่า แต่สามารถอนุรักษ์ตลาดโบราณที่ขายของมากมาย ที่มาพร้อมบรรยากาศดั้งเดิมและความเป็นระเบียบเรียบร้อยสไตล์ญี่ปุ่น ความปลอดภัยเป็นอีกองค์ประกอบหลักที่ไทยต้องเร่งปรับปรุง ประโยชน์ไม่ได้มีแค่ต่อนักท่องเที่ยว หากแต่คนไทยทุกคนก็จะได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน เช่นระบบไฟสำหรับคนเดินข้าม ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะแท็กซี่ ที่ต้องสะดวกปลอดภัย ไม่ต้องลุ้นว่าจะเจอคนรถแบบไหน กฎระเบียบด้านความปลอดภัยต่างๆ ควรเคร่งครัดมากกว่านี้
  2. สถานที่ใหม่ๆ ก็ถูกนำเสนอเข้ามาเป็นจุดหมายปลายทางให้กับนักท่องเที่ยว และประเด็นนี้น่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยวไทย ในการหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยว นั่นคือ ‘สถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นใหม่’ เราพบว่าสิงคโปร์มี Marina Bay Sands, Gardens by the Bay, Night Safari และ Universal Studio ช่วยดึงนักท่องเที่ยวให้มาเยือนสิงคโปร์ได้ไม่น้อย ขณะที่เกียวโต ผมได้ไปเยือน Miho Museum ซึ่งรวบรวมงานศิลปะและโบราณวัตถุมากมาย ด้วยบัตรค่าเข้าชมเพียง 1,000 เยน แต่ประทับใจทั้งการจัดนิทรรศการและคุณค่าของวัตถุแต่ละชิ้น โดย 95% ของอาคารอยู่ใต้พื้นดินและภูเขา และได้ขึ้นกระเช้าลอยฟ้าเพื่อชมทะเลสาบบิวะ เหนือเมือง Otsu และเท่าที่ทราบข่าวมาการท่องเที่ยวญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเรื่องการเปิดคาสิโน ซึ่งเป็นอีกไฮไลต์ของสถานที่ท่องเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้น ต่อยอดจากกลุ่มสวนสนุกที่มีอยู่มากมายแล้ว
  3. วัฒนธรรมและวิถีชีวิต จริงอยู่ไทยเรามีสินค้าโอทอปมากมาย แต่มันสามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้นอีก ตามสถานีรถไฟในเกียวโตจะพบกับร้านค้าที่ขายของที่เป็นสัญลักษณ์ของเกียวโต ทั้งขนม อาหาร และของที่ระลึก ใครไปเกียวโตแม้จะมาจากโตเกียวก็อดที่จะปลาบปลื้มกับคนเกียวโตไม่ได้ ในขณะที่เมืองไทย เราสามารถจะซื้อของแบบเดียวกันได้ที่ สำเพ็ง เชียงใหม่ และพัทยา เราไม่รู้สึกต่างเมื่อไปเยือนพัทยากับหาดป่าตอง เราควรทำอย่างไรให้วัฒนธรรมของล้านนามาเป็นจุดขายให้ทั้งภาคเหนือมีความต่างจากภาคอื่นๆ หรือฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสานใต้ให้สามารถดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวให้ไหลไปอุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ และใกล้เคียง แม้กระทั่งคนไทยจากภาคอื่นๆ ก็ใฝ่ฝันที่จะไปเที่ยวเช่นกัน  

การท่องเที่ยวไทยต้องทำงานไปพร้อมๆ กับผู้ว่าราชการและนายกเทศมนตรีเมืองต่างๆ รวมทั้งคนไทยทุกๆ คน ในการสร้างเมืองให้น่าอยู่และน่าเที่ยว ต้องดึงศักยภาพของตัวเองออกมาให้มากที่สุด สร้างความแตกต่างให้ชัดเจน สร้างบรรยากาศของเมืองให้เอื้อกับการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทั้งคนที่อาศัยอยู่และคนที่มาเยือนต่างมีความสุขและประทับใจ ด้วยศักยภาพของไทย ผมเชื่อว่า ไทยยังมีจุดขายใหม่ๆ รองรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เคยมาแล้วหรือมาเป็นครั้งแรก ตลาดนักท่องเที่ยวจีนจะยังคงเติบโต  และไทยก็ยังมีนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ อีกมากมายรอให้เราได้ต้อนรับ  

การท่องเที่ยวไทยยังสดใสอีกยาวนานครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ