fbpx

กระแสธารปรัชญาจีนในโลกยุคใหม่

เ รื่ อ ง : ณั ฐ พ ล ศ รี เ มื อ ง ภาพ : พิ ช ญุ ต ม์ ค ช า รั ก ษ์

เวลาพูดถึงปรัชญาจีน ถ้าไปถามคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เรียนวิชาปรัชญามาจะนึกถึงอะไร สุภาษิตจีน สามก๊ก ฮวงจุ้ย สารทจีน ฯลฯ อย่างนั้นหรือเปล่า? มากกว่านั้นก็อาจจะคุ้นเคยกับชื่อของขงจื๊อหรือเต๋าเราอาจจะแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมจีนหรือคติจีนเต็มไปหมด แต่เมื่อพูดถึงปรัชญาจีนในแง่วิชาการจริงๆ ที่ต้องมีการวิเคราะห์อธิบายอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่พูดคำคมก็เป็นปรัชญาแล้ว กลับเป็นอีกเรื่อง
เป็นอีกเรื่องชนิดที่ว่ามีคนเรียนคนสอนอยู่เพียงหยิบมือ และขาดแคลนความรู้ชนิดที่ว่าหนังสือ ‘กระแสธารปรัชญาจีน’ หนึ่งในผลงานจำนวนมากของ ศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ที่ตีพิมพ์เมื่อ 20 ปีก่อนยังได้รับการพิมพ์ซ้ำและขายได้เสมือนของใหม่ ทั้งที่จริงๆ ควรจะมีอะไรใหม่ๆ มาทดแทนได้แล้วอาจารย์สุวรรณาเล่าให้ฟังว่าเกษียณจากภาควิชาปรัชญา คณะอักษร-ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาหลายปีแล้ว แต่ยังต้องไปสอนอยู่ และมีงานมากกว่าเดิม นั่นก็เป็นเพราะเรื่องความขาดแคลนบุคลากรทีนี้ก็อาจจะต้องย้อนกลับมาสู่คำถามว่า แล้วปรัชญาจีนมันมีอะไรอย่างที่ทราบกันว่านี่เป็นโลกยุคที่จีนเติบโตก้าวหน้าอย่างน่าสะพรึงในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสายตาของอำนาจเก่าอย่างอเมริกาจนถึงกับต้องหาเรื่องทำสงครามการค้า บางทีคำถามที่ถามถึงความน่าสนใจของปรัชญาจีน ณ ตอนนี้อาจจะเริ่มจากจุดนี้ ว่าระบบวิธีคิดในเชิงเศรษฐกิจของจีนนั้นปรัชญาจีนมีบทบาทอย่างไร กระทั่งการศึกษาปรัชญาจีนในโลกถูกมองเปลี่ยนไปหรือไม่หลังจีนก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ และจีนใช้งานปรัชญาจีนในฐานะเครื่องมืออะไรอย่างไรบ้างเหล่านี้คือประเด็นต่างๆ ที่เราชวนอาจารย์สุวรรณามาพูดคุย

อาจารย์เกษียณแล้วแต่ยังต้องไปสอนปรัชญาจีนในมหาวิทยาลัย ซึ่งสอนเยอะกว่าเดิม เพราะว่าขาดแคลนบุคลากร อาจารย์ช่วยอธิบายให้ฟังได้ไหมว่าทำไมจึงเกิดความขาดแคลนตรงนี้ เรื่องคนเรียนคนสอนปรัชญาจีน

จริงๆ ดิฉันเกษียณจากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาประมาณ 5 ปีแล้ว แต่ว่าอันนั้นคือในทางการ ในทางปฏิบัติ ทางภาควิชาก็ขอให้ดิฉันไปช่วยสอนวิชาทางปรัชญาตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาจีน บางทีก็เป็นปรัชญาศาสนา หรือว่าเป็นประเด็นจริยศาสตร์กับร่วมสมัยก็ช่วยสอนอยู่ ทีนี้ในวงการปรัชญาตะวันออก เราอาจจะพูดใหญ่ๆ ก็คือ อินเดีย จีน แล้วก็พุทธ ของไทยนี่พุทธจะไม่ได้อยู่ในส่วนหนึ่งของปรัชญาตะวันออก เราแยกพุทธออกมา แต่ถ้าเราไปอยู่ในโลกตะวันตก เขาเห็นพุทธเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาตะวันออก คนที่เรียนจบทางสายนี้ ที่เรียนในแง่วิชาการจริงๆ ไม่นับสายที่เรียนทางพุทธศาสนา ในแง่ศาสนาก็จะน้อยมาก ทำให้วงการค่อนข้างเติบโตช้าแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ดิฉันพูดในส่วนที่เป็นปรัชญาตรงวิชาการนะ เราไม่ได้พูดถึงวัฒนธรรมจีน สุภาษิตจีน คติจีน หนังจีน คุณก็ทราบมันจะลอยล่องอยู่เต็มไปหมด ภาษาจีนที่ไหนๆ ก็มีเรียน แต่ว่าถ้าเรามองการเข้าใจปรัชญาจีน กับความแพร่หลายของการใช้ภาษาจีน วัฒนธรรมจีน อำนาจทางเศรษฐกิจจีน ดิฉันว่าไม่ได้สัดส่วนกันอย่างยิ่งหมายถึงว่าในสังคมไทยโดยรวม หรือแม้แต่ในสังคมวิชาการ การเข้าใจปรัชญาจีนจริงๆ น้อยมาก มันไม่ได้สัดส่วนกับสิ่งอื่นๆ ที่รายล้อมเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ วัฒนธรรมจีนผ่านภาพยนตร์ สื่อต่างๆ คนรู้ภาษาจีนก็เยอะ แต่รู้ปรัชญาจีนน้อยมากจริงๆ แต่ถ้ารู้วัฒนธรรมจีนอย่างเรื่องคติ ฮวงจุ้ย ขนมไหว้พระจันทร์ เรื่องสารทจีนอะไรอย่างนั้น ก็จะพอมี

เวลาพูดถึงปรัชญาจีน มันคืออะไรแน่

ดิฉันคิดว่า ทุกอารยธรรมมีปรัชญาของตัวเอง จะจีน จะญี่ปุ่น อินเดีย เมโสโปเตเมีย ละตินอเมริกา อะไรก็ว่าไป แต่ว่าเวลาเราพูดคำว่าปรัชญาจีนในความหมายทางวิชาการมันต้องมีวินัยในการค้นคว้าวิจัยและวิเคราะห์ ไม่ใช่คำพูดคำคมก็เป็นปรัชญาแล้ว คุณต้องอธิบายคำพูดนั้นได้อย่างเป็นระบบ
อย่างเช่นความกตัญญู ใครๆ ก็รู้คนจีนเน้นกตัญญู เน้นครอบครัว เราจะเห็นไปกินข้าวก็ต้องพ่อแม่ก่อน ต้องดูแลพ่อแม่ คือในทางปฏิบัติ เราเห็นพฤติกรรมแล้วเราเรียกสิ่งนั้นว่ากตัญญู เราบอกคนจีนถือคุณค่าความกตัญญู แต่ว่าถ้าเราจะอธิบายในทางปรัชญา ดิฉันยกตัวอย่าง เราต้องเข้าใจว่า ความกตัญญูมันวางอยู่ในระบบจริยศาสตร์ขงจื๊อตรงไหนอย่างไร ทำไมมันถึงสำคัญดิฉันจะอธิบายสมมุติตัวอย่างนะคะว่า เช่นเวลาเราบอกว่าความกตัญญูคือ ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญในการจัดการกับเสถียรภาพของสังคม สิ่งที่มีช่องว่างเสมอมันคือช่องว่างระหว่างรุ่นระหว่างวัย ยิ่งสมัยนี้มีดิจิทัล มีเทคโนโลยี คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นอย่างดิฉันที่ถือว่าอาวุโสแล้ว ก็จะมีช่องว่างมาก ขาดความเข้าใจร่วมกัน ทีนี้ในสังคมที่มีช่องว่างระหว่างวัย ไม่มีความผูกพันระหว่างวัย สังคมที่คนระหว่างวัย คนวัยเยาว์ไม่ชื่นชมยกย่อง ไม่เห็นคุณค่าของคนรุ่นเก่า หรือคนรุ่นเก่าไม่เข้าใจความต้องการสิ่งใหม่หรือความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ สังคมนั้นก็จะขาดเสถียรภาพทีนี้ขงจื๊อเป็นนักปรัชญาจีน ปัญญาชนคนแรกในประวัติศาสตร์จีน ที่ทำให้หมุดหมายของความเป็นมนุษย์ถูกนิยามโดยความสัมพันธ์พ่อ-แม่-ลูก สามี-ภรรยา เพื่อนกับเพื่อน พี่กับน้อง และก็ผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง และทั้งหมดนี้วางบรรทัดฐานของพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ และขงจื๊อเชื่อว่าชุดความสัมพันธ์อย่างน้อย 5 ความสัมพันธ์นี้ ถ้ามันไปด้วยกันได้ สังคมก็จะมีเสถียรภาพ นี่เป็นการอธิบายแบบปรัชญา คือทำให้เห็นว่า คุณค่า
หนึ่งๆ ที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันมาจากอะไร มันอธิบายอย่างเป็นระบบได้อย่างไร และมันพยายามแก้ปัญหาอะไร อันนี้คือความต่างระหว่างคติความเชื่อทั่วไปกับเวลาเราพูดว่าปรัชญาจีนเป็นอย่างไร พอพูดแบบนี้ก็คงเข้าใจแล้วว่าทำไมคนเรียนน้อย

สาเหตุหนึ่งก็คือ อาจจะเรียนแล้วไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรหรือเปล่า

คำถามนี้เป็นคำถามที่ทุกคนที่เรียนปรัชญาต้องเจอ ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไร ดิฉันกลับคิดว่า เวลาเราถามอย่างนั้น เราไม่ค่อยเข้าใจว่าโลกมัน Operate อย่างไร จริงๆ ของที่มีประโยชน์เฉพาะ ประโยชน์จะแคบกว่าของที่มีประโยชน์หลายอย่าง สมมุติว่าระหว่างผ้าขาวม้ากับผ้าเช็ดโต๊ะ ผ้าเช็ดโต๊ะมันใช้ได้เฉพาะที่ ผ้าขาวม้าใช้ไกวเปลก็ได้ อาบน้ำก็ได้ ปัดฝุ่นทุกสิ่งทุกอย่างได้ หรือว่ามีดทั่วไปก็ใช้ได้มากกว่ามีดตัดไข่ หรือว่าอะไรที่เดี๋ยวนี้เครื่องมือมันไปละเอียดเฉพาะทีนี้เวลาบอกปรัชญาประโยชน์คืออะไร เราถามจากประโยชน์เฉพาะ เช่น ไปประกอบอาชีพอะไรเหรอ สร้างนวัตกรรมใหม่ได้หรือเปล่า อย่างนี้เราไปถามจากมุมเฉพาะ เราไม่เห็นประโยชน์ที่กว้างกว่า ประโยชน์ที่กว้างกว่าก็คือดิฉันเชื่ออย่างนั้นนะคะ อันนี้เป็นความเห็นคือมันทำให้เราเห็นสิ่งหนึ่งในหลายแง่มุมได้ในเวลาเดียวกัน และทำให้เราเห็นว่าโลกที่เราเห็น มันถูกกำหนดโดยแว่นตาที่เรามอง คือปกติเวลาที่เราเห็นโลก เราเห็นผ่านแว่นตา เราไม่ได้เห็นแว่นที่ทำให้เราเห็นโลกแบบนั้น ปรัชญาคือกลับมาวิเคราะห์ว่า แว่นคุณแสงสีฟ้า คุณเห็นโลกเป็นสีฟ้า แว่นสีชมพูเห็นโลกเป็นสีชมพู ก็มาวิเคราะห์ว่าเราเห็นด้วยปัจจัยอะไรในแง่นี้ดูเหมือนไม่มีประโยชน์ในความหมายแคบๆ แต่จริงๆ มันคือพื้นฐานของการเข้าใจว่าโลกนี้คืออะไร ดิฉันว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่านี้แล้ว สำหรับดิฉันนะ ในทุกวันนี้ทะเลาะกันแทบตายก็เพราะไม่ได้กลับมาวิเคราะห์แว่นของตัวเองใช่มั้ย

อาจารย์มักจะพูดถึงปรัชญาของขงจื๊อ จริงๆ แล้วยังมีปรัชญาจีนอะไรอีกบ้าง

คือขงจื๊อนี่เป็นคนแรกและสำคัญที่สุด และเขาเป็นคนที่ตั้งสำนักขึ้นมาเป็นคนแรก เป็นครูเอกชนคนแรกในประวัติศาสตร์จีน ครูเอกชนคนแรกนี่สำคัญ เพราะว่ามันทำให้ความรู้หลุดออกจากครอบครัวและราชสำนัก เขาขายความรู้นะ เป็นคนแรกที่เอาความรู้มาขาย ในคัมภีร์หลุนอี่ว์หรือขงจื๊อบอกว่า ใครก็ได้ที่เอาเนื้อแห้งมาหนึ่งห่อก็มาแลกเป็นค่าเล่าเรียนได้ คือคุณต้องเอาอะไรมา ถ้าคุณไม่ยอมเสียอะไรคุณจะไม่ตั้งใจเรียน คุณต้องยอมเสียอะไรเพื่อได้อะไร คุณถึงอยากได้ถึงสิ่งที่คุณยอมจ่าย

ในแง่นี้ ถึงแม้ขงจื๊อจะมีแนวคิดในแง่อนุรักษนิยม แล้วก็เชื่อในสังคมเป็นช่วงชั้นเป็น Hierarchy อันนี้ต้องยอมรับ เขาไม่ได้เชื่อว่าคนเสมอภาคกัน แต่การที่เขาทำให้ความรู้เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ มันทำให้โอกาสที่คนจะเข้าไปอยู่ในระบบที่มีความลดหลั่นเป็นช่วงชั้น โอกาสเท่ากัน คือเขาไม่ได้เห็นสังคมเท่ากัน แต่โอกาสที่คนจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เท่า โอกาสเหล่านั้นเท่ากัน ด้วยผ่านความรู้ การศึกษาดิฉันชอบพูดเล่นๆ ก็ถูกเขาว่าบ้าง กระแนะกระแหนบ้าง หาว่าเข้าข้างขงจื๊อ คุณนึกสองพันกว่าปีก่อน คนคิดอันนี้ออกมาเขาก็มีลักษณะประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เขาไม่ใช่ประชาธิปไตยในความหมายว่าทุกคนเสมอภาคกัน พูดแบบแฟร์ที่สุดนะนอกจากขงจื๊อแล้ว ที่คนไทยคุ้นชินก็จะมีเต๋า แล้วก็มีอีกสำนักหนึ่งที่คนไทยอาจจะคุ้นชินน้อยกว่า ก็คือหานเฟยซึ่งเป็นสำนักคิดที่เรียกว่า Legalism นิตินิยมดิฉันอธิบายง่ายๆ แบบนี้แล้วกันว่า ขงจื๊อเป็นระบบที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เอาครอบครัวความสัมพันธ์ระหว่างคน 5 ชุด แล้วก็คนกับรัฐเป็นศูนย์กลาง เต๋าเอาจักรวาลวิทยาหรือธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง แล้วเอามนุษย์วางลงไปในแผนที่ของจักรวาลวิทยานั้น หานเฟยเป็นการเอารัฐเป็นศูนย์กลาง ระเบียบของรัฐสำคัญที่สุด อำนาจรัฐสำคัญที่สุด เต๋านี่ระเบียบจักรวาลสำคัญที่สุด มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ขงจื๊อ จารีต-ประเพณีประวัติศาสตร์สำคัญที่สุด และมีมนุษย์เป็นผู้บัญญัติขึ้นมา อันนี้ก็คือ 3 กระแสธารปรัชญาจีนหลักๆจริงๆ มีย่อยกว่านี้ ประเด็นคือพวกย่อยๆ ตัวคัมภีร์มันไม่เหลือตกทอดมาอย่างครบถ้วน เลยศึกษาได้ไม่มาก เช่น สำนักภาษา พวก Logician หรือพวกตรรกวิทยา มีคนหนึ่งชื่อคุนซุนลุน แต่ว่าเท็กซ์มันเหลือกะปริดกะปรอย ไม่รู้จะศึกษาลึกซึ้งอย่างไร และก็ยังมีพวกมั่วจื่อ มั่วจื่อนี่เป็นเหมือนสายชนชั้นกรรมาชีพ พวกนี้ก็จะวิพากษ์วิจารณ์ขงจื๊ออย่างหนัก บังเอิญคำภีร์มั่วจื่อมี แต่เขียนด้วยภาษาที่ไม่สละสลวย ไม่ลึกซึ้ง คนก็เลยไม่ตื่นเต้นกับมันเท่ากับพวกเต๋า ขงจื๊อ หานเฟย ซึ่งคัมภีร์มันลึกซึ้งและมีคนเขียนต่อมา มันเลยมีพลังมากกว่า

ทำไมปรัชญาจีนยังน่าสนใจอยู่ ในศตวรรษที่ 21 ทำไมยังต้องเรียนอีก และมันจะให้คำตอบอะไรกับโลก

ยุคปัจจุบันได้บ้างใช่, สองพันกว่าปีแล้ว ทำไม อันนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ คือทุกคนบอกว่าโลกมันเปลี่ยนไปเยอะ คนรุ่นดิฉันอาวุโสแล้วเห็นคนรุ่นใหม่ เห็นเขาก็รู้สึกว่าเขาแปลกๆ เขาเห็นเราก็รู้สึกแปลกๆ คล้ายๆ โลกมันเปลี่ยน ตึกรามบ้านช่อง เคยเป็นทุ่งนา เดี๋ยวนี้กลายเป็นเมืองไปหมด เทคโนโลยีเปลี่ยน เครื่องบิน ดิจิทัลอะไรต่างๆ เปลี่ยนแต่พวกปรัชญา ไม่ใช่ว่าเขาไม่เห็นความเปลี่ยนนะ แต่เขาถามคำถามที่เบสิกมากจนกระทั่งมันคงอยู่กับความเป็นมนุษย์ของเรา เช่นมนุษย์เมื่อสองพันปีก่อน สามพันปีก่อน กับมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ยังไงเราก็มีพ่อแม่ มันก็มีความอบอุ่น ความรัก และความตึงเครียดกับพ่อแม่ คำถามพวกนี้ปรัชญาเขาจะตอบดิฉันจินตนาการว่ามนุษย์ในศตวรรษที่ 22 เขาก็ยังต้องมีพ่อแม่ใช่มั้ย และพ่อแม่ก็เลี้ยงดูเขาตราบใดที่ชีววิทยาเราเป็นอย่างนี้ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องโตนอกท้องแม่นานที่สุด แปลว่าความเป็นเรามันถูกสังคม วัฒนธรรมหล่อหลอม คือผ่านพ่อแม่เรามากที่สุดในสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ถ้าเราเกิดมาปุ๊บเราช่วยตัวเองได้เลยภายใน 3 เดือนหรือ 6 เดือน ดิฉันไม่คิดว่ามนุษย์จะสร้างอารยธรรมได้ซับซ้อนแบบนี้ หรือเราจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมากขนาดนี้ แต่เราอายุ 20 บางทียังทำมาหากินเลี้ยงตัวเองไม่ค่อยได้เลย แปลว่าเราอยู่ในพลังของการกล่อมเกลาดูแลนานมาก กว่าเราจะไปช่วยตัวเองได้ เอาตัวรอดได้ในโลกในแง่นี้สังคมวัฒนธรรมก็เลยสำคัญ ในแง่นี้คำถามทางปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับภาวะความเป็นมนุษย์มันก็จะเป็นคำถามที่ต้องถูกถามแล้วถามอีก ถึงแม้คำตอบอาจจะเปลี่ยน เราเป็นมนุษย์เมื่อไหร่ เราเป็นมนุษย์เมื่อเราใช้เหตุผล เราเป็นมนุษย์เมื่อเราใช้เครื่องมือ เราเป็นมนุษย์เมื่อเราใช้ภาษา เราเป็นมนุษย์เมื่อเรามีจิตวิญญาณที่พระเจ้าสร้าง ขงจื๊อบอกเราเป็นมนุษย์เมื่อเรารักมนุษย์ด้วยกันคำถามพวกนี้ ดิฉันเชื่อว่ามันก็อยู่กับเราไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากถามคำถามนี้ในทุกยุคสมัย แต่คุณถามว่าทำไมยังมีคุณค่า ทำไมเรายังควรเรียน เราถามคำถามพวกนี้มั้ยล่ะ เรายังถามมั้ยว่าเราควรจะรักพ่อแม่เราหรือเปล่า ทำไมเราจะต้องตอบแทนบุญคุณ สมัยนี้ยังสำคัญอยู่หรือเปล่า คำถามพวกนี้เป็นคำถามพื้นฐาน เราจะคบเพื่อนอย่างไร เราจะสัมพันธ์กับรัฐอย่างไร รัฐมีอำนาจเหนือเราแค่ไหน

อาจารย์บอกว่าปรัชญาตอบคำถามพื้นฐานของมนุษย์ ปรัชญาจีนตอบคำถามอะไร น่าสนใจกว่าปรัชญาตะวันตกไหม หรือว่ามันแตกต่างกันอย่างไร

คำถามนี้ควรจะตอบใช้เวลาสัก 3 เดือน แต่ว่าเอาแบบเป็นน้ำจิ้มแล้วกัน มีนักปรัชญาจีนคนสำคัญคนหนึ่งชื่อ A.C. Graham เขาบอกว่าปรัชญาตะวันตก ถามว่า What is the truth. อะไรคือความจริงในความหมายสูงสุด ไม่ใช่แค่ความจริงว่าในห้องนี้มีกี่คน ตรงนี้มีเก้าอี้กี่ตัว แต่ทั้งหมดนี้มันจริงได้อย่างไร ทำไมเราถึงคิดว่ามันจริง โดยประสาทสัมผัส หรือโดยการใช้เหตุผล หรือโดยการสร้างของพระเจ้า หรือว่าเป็นมายา เราเห็นเท่าที่เราเห็นได้ จริงๆอาจจะไม่ใช่อย่างนี้ก็ได้ ถ้าเราเป็นมนุษย์ต่างดาว เราจะเห็นโลกอีกแบบ เราเป็นมดเราเป็นช้าง โลกอาจจะไม่ใช่อย่างที่มนุษย์เห็นก็ได้ ความจริงขึ้นอยู่กับเครื่องมือการรับรู้ของเรา อันนี้ก็ What is the truth. ตะวันตกมักจะถามแบบนี้ โดยเฉพาะตะวันตกในความหมายที่สืบมาจากปรัชญากรีกโบราณแล้วปรัชญาจีนถามอะไร A.C. Graham อธิบายว่า What is the way. อะไรคือเต๋า อะไรคือวิถีที่จักรวาลมันอยู่ด้วยกันได้เป็นระบบอย่างที่มันเป็น ทำไมมันอยู่ด้วยกันได้ ทำไมมันดำเนินต่อไปได้ ทำไมฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ฤดูร้อนฤดูหนาวฤดูฝน ทำไมฤดูร้อนฤดูหนาวแล้วกลับมาอีก และแต่ละเวลามีหน้าที่ของมัน ฤดูหนาวมันก็จะหนาว ฤดูฝนฝนก็จะตก ฤดูร้อนแดดก็จะจ้า ฤดูแห้งแล้งก็จะแห้ง อะไรทำให้ทั้งหมดนี้เป็นแบบนี้ แล้วมนุษย์ที่ต้องอยู่กับฤดูกาลแบบนี้ อยู่กับกาลเวลาแบบนี้ เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ที่ฤดูต่างกัน แต่ละฤดูก็ร่วมกันทำให้เป็นระบบเดียวกัน และมี Harmony คือมีความสมดุล มีความร่มรื่น มีความบรรสานสอดคล้อง ปรัชญาจีนถามแบบนี้
ความแตกต่างทั้งหลาย การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทำอย่างไรถึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล ร่มรื่น และรื่นรมย์ ก็คือคำถามเรื่องเขอ คือความบรรสานสอดคล้องความกลม-เกลียว เพราะว่าในบางที่อย่างในทะเลทรายคือที่ที่ความแห้งแล้งมันมากเกินไป ชีวิตก็ดำเนินต่อไปไม่ได้ ในบางที่น้ำท่วมก็แปลว่าน้ำเยอะเกินไป แปลว่าไม่สมดุล คำถามของปรัชญาจีนถามว่าทำไมความหลากหลายการเปลี่ยนแปลงมันอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ความกลมเกลียวสมดุลคือมันงามมันพอดี ต้นไม้ดอกไม้ที่เราเห็นมันงาม เพราะว่ามันมีน้ำพอดี แดดพอดี ถ้าแดดมากไปน้ำไม่พอมันก็เหี่ยวเฉาตาย ถ้าน้ำเยอะไป แดดไม่พอ มันก็เน่าตายคำถามจีนปรัชญาจีนเป็นแบบนี้ และเอามนุษย์เข้าไปถามด้วย เราต่างกันคนละเชื้อชาติคนละวัย ความต้องการต่างกันแล้วเราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร คำถามแบบนี้ เพราะฉะนั้นบางคนก็จะมองว่าปรัชญาจีนส่วนใหญ่สนใจคำถามทางจริยศาสตร์ในความหมายว่า ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ และความสัมพันธ์ของมนุษย์อยู่ด้วยกันได้อย่างไร แต่ปรัชญาตะวันตกถ้าสืบสายมาจากกรีกเป็นคำถามว่า ความจริงสูงสุดมันคืออะไร มันอยู่อย่างไรเป็นโลกแบบของเพลโต หรือว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างหรืออะไร เพราะฉะนั้นคำถามมันคืออีกแบบหนึ่ง

เพราะฉะนั้นในทัศนะของอาจารย์คิดว่าปรัชญาจีนน่าจะตอบโจทย์กว่า

ตอบโจทย์ในทางปฏิบัติ ดิฉันเข้าใจว่าอย่างนี้ ดิฉันคิดว่าถ้าพูดปรัชญาจีนในความหมายของปรัชญาขงจื๊อเป็นหลักนะ สมมุติเอาขงจื๊อเป็นตัวแทนปรัชญาจีนซึ่งอาจจะแทนไม่ได้หมด ดิฉันคิดว่าคำถามของทุกยุคทุกสมัยก็คือมนุษย์เราจะสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร ลูกจะสัมพันธ์กับพ่อแม่อย่างไร เพื่อนจะสัมพันธ์กันอย่างไรเราถึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างเขอ ประชาชนกับรัฐจะสัมพันธ์กันอย่างไรถึงจะมีความมั่นคงถึงจะมีความร่มรื่น อุยเกอร์ ฮ่องกง เซินเจิ้น ปักกิ่ง กับที่เหลือของโลกนี้จะอยู่ด้วยกันอย่างไร เป็นคำถามประเภทแบบนี้

ตอนนี้คนที่ศึกษาปรัชญาจีน สนใจอะไรเกี่ยวกับปรัชญาจีน

เขาในสังคมไหน ในสังคมไทยก็พวกหนึ่ง ในสังคมตะวันตกบางแห่งก็อีกพวก คนละแบบ คุณทราบใช่มั้ย หลานสาวของประธานาธิบดีทรัมป์ ตอนที่ สี จิ้นผิง มาเจอที่ฟลอริดาปีที่แล้ว เขาให้หลานสาวเขาร้องเพลงจีนให้ฟัง คือตอนนี้ศตวรรษที่ 21 คือศตวรรษของเอเชีย แล้วพลังสำคัญที่สุดในเอเชียก็คือจีน ตอนนี้โลกตะวันตกเป็นขาลง อเมริกายุโรปอะไรต่างๆ ทีนี้ดิฉันเข้าใจว่าในโลกตะวันตกเขามีความกลัว ทั้งไม่เชื่อว่าจีนจะมีอะไรดี ก็มีกระแสเท่าที่ทราบนะ ก็สนใจภาษาจีน ปรัชญาจีน วัฒนธรรมจีนมากขึ้น
สมัยก่อนจีนเป็น Exotic เวลาบอกไม่รู้เรื่องก็บอก Chinese แปลว่าไม่รู้เรื่อง เหมือนกรีกคำว่า Barbarian กรีกบอกว่าพวก Barba พูดอะไรไม่รู้เรื่องกลายเป็นพวก Barbarian คือพวกอนารยชน ในภาษาอังกฤษสมัยก่อนพูดไม่รู้เรื่องคือ Chinese เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ละ เดี๋ยวนี้ต้องเรียนรู้ภาษาจีนเพื่อรู้ว่าจีนคิดอย่างไร เราจะต่อกรกับจีนอย่างไรจีนมีอารยธรรมยาวนาน แต่ว่าศตวรรษที่ 19 เขาเรียกว่า Century of National Humiliation ถูกข่มขู่ เสียดินแดน จีนซึ่งเคยมีความภาคภูมิใจในอารยธรรมของตัวเอง แพ้ญี่ปุ่น แพ้ฝรั่ง เสียหายหลายแสน ตอนนี้จีนกลับมาผงาด ฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจจีนผ่านมิติทางประวัติศาสตร์และการนิยามตนเองของจีนดิฉันทราบมาว่ามีเน็ตเวิร์กอันหนึ่งในอเมริกาชื่อ Asian Studies Development Program (ASDP) เขาเคยเชิญดิฉันไปร่วม เป็นการริเริ่มโดยโปรเฟสเซอร์ Roger T. Ames, University of Hawaii ร่วมกับ East-West Center ที่ Honolulu พยายามเอาปรัชญาจีนวัฒนธรรมจีนคติจีนเข้าไปอยู่ในหลักสูตรของ College ทั่วไปในอเมริกา ไม่ใช่มหาวิทยาลัย Top Ten แบบ Harvard, Berkeley พวกนี้เขามีจีนอยู่แล้ว แต่ว่าพวกมหาวิทยาลัยทั่วไปเล็กๆ กระจายทั่วอเมริกา คนกลุ่มนี้สร้างเน็ตเวิร์กแล้วก็เอาเข้าไปสอน เพื่อทำให้พลเมืองอเมริกาโดยทั่วไปไม่ Ignorant ไม่ใช่ว่าไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับจีนเลย ไม่รู้ก็คือไม่รู้จริงๆ นะ คืออเมริกามันใหญ่จนไม่รู้จักสิ่งที่อยู่นอกตัวมันเอง ขณะที่ยุโรปเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย เป็นไปไม่ได้ที่อังกฤษจะไม่รู้จักฝรั่งเศส หรือเยอรมนีจะไม่รู้จักฝรั่งเศส แล้วเขามีประวัติศาสตร์อาณานิคม เขาเลยรู้จักโลก แต่อเมริกากลับไม่ค่อยรู้ ตอนนี้ประเด็นท้าทายใหญ่ของอเมริกาก็คือจีน อย่างที่เรารู้ในเรื่องการค้าในเรื่องการแข่งขันทางเทคโนโลยี และอันนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้อเมริกากลายเป็นต้องมาศึกษาเรื่องภาษาและวัฒนธรรมจีนมากขึ้น รวมทั้งปรัชญาจีนด้วย

เพราะฉะนั้นมันก็ตอบคำถามได้ว่า มุมมองเรื่องการศึกษาปรัชญาจีนเปลี่ยนไปเลย หลังจากที่จีนก้าวขึ้นมา

ใช่ๆ ถ้าเขาไม่มีอำนาจเราไม่ต้องรู้จักเขาก็ได้ แต่ถ้าเกิดเขามีอำนาจขึ้นมามีอิทธิพลกับเรา
เราต้องรู้เท่าทันเขา ปล่อยให้เขามีอำนาจเหนือเราไม่ได้

ซึ่งรวมถึงในบ้านเราด้วยไหม เด็กๆ ที่เรียนจีนตอนนี้ก็เป็นผลมาจากเรื่องนี้เหมือนกัน

อันนี้เป็นคำถามที่ดี ดิฉันสงสัยนะ อาจจะผิด ดิฉันสงสัยว่าที่เราอยากรู้เรื่องจีน เราอยากรู้ในเชิงผลประโยชน์ในการค้า การลงทุน ท่องเที่ยว เราไม่ได้คิดภาพใหญ่ว่าเราจะมาต่อกรกับจีน แล้วเราต้องรู้จักเขาเพื่อเราจะได้ต่อรองกับเขาเหมือนอเมริกา ดิฉันรู้สึกว่าของเรานี่เป็นคนเล็กๆ ที่รู้ว่าคนนี้ต้องรู้จักเขา เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยน ไม่ได้คิดในเชิงว่า ฉันต้องรู้จักคนนี้ให้ดี เพราะว่าเราจะต้องเจอเจรจา ในขณะที่อเมริกายุโรปเวลาเข้าใจ เขาไม่ได้คิดแบบแค่รู้ภาษาจีนเพื่อท่องเที่ยว แต่เขาดูวิธีที่จีนคิดในเชิงยุทธศาสตร์ จีนมองโลกทั้งโลกอย่างไร

คือเขาก็ศึกษาปรัชญาจีนในอย่างที่เราคุยกัน ไม่ใช่แค่สุภาษิตคำคมอะไรผิวเผิน

ใช่, ดิฉันเข้าใจว่าอย่างนั้น ดิฉันคิดว่าคนในอเมริกาเนื่องจากสังคมมันใหญ่ การลงทุนเรื่อง
การศึกษาความรู้เขาเยอะกว่าเรา เขาก็จะมีการขุดลึกเป็นเรื่องๆ พวกวัฒนธรรมเขาไปลึก ปรัชญาเขาไปลึก เช่นเดียวกับภาษา ของเราอย่างที่บอก มีคนเรียนอยู่ไม่กี่คน หนังสือของสุวรรณาขายมา 20 ปีก็ยังขายอยู่

อาจารย์เคยบอกว่าหนังสือ ‘กระแสธารปรัชญาจีน’ ของอาจารย์ควรจะเชยไปนานแล้ว แต่ยังได้รับความสนใจอยู่ มันอธิบายอะไรในสังคมเราได้บ้าง

มันเหงาและเศร้าน่ะสิ (หัวเราะ) ก็คือว่าหนังสือกระแสปรัชญาจีน เขียนตอนที่ดิฉันจบกลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ พิมพ์มาก็ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ยี่สิบกว่าปีแล้ว ก็ยังขายได้ค่อนข้างดี ซึ่งดิฉันก็แปลกใจ แปลว่าหนังสือที่เขียนจากการค้นคว้าวิจัยทางปรัชญาจริงๆ น้อยมาก แปลว่ามันยังใช้ได้อยู่ หรือพูดในทางเศร้าน่าจะมีอะไรที่ใหม่กว่านี้ดีกว่านี้ แต่พูดในทางเข้าข้างตัวเองก็คือแปลว่าเราทำงานไว้ดีพอสมควร คล้ายๆ ว่ารากฐานเราแน่น ในที่สุดก็ต้องอ้างกลับมาแถวๆ นั้น แต่แน่นอนมันมีอะไรใหม่ๆ เยอะ ซึ่งดิฉันก็คงจะต้องทำงานต่อไปจริงๆ อยากจะเพิ่มตรงนี้นิดหนึ่ง ไม่ได้จะโฆษณาให้ openbooks นะ แต่คุณทราบใช่ไหม เขาทำซีรีส์ปรัชญาจีนคลาสสิกออกมา 6 เล่มแล้ว ทำให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะสร้างระบบความรู้ในภาษาไทยโดยการแปล ก็จะมีเล่มขงจื๊อ หลุนอี่ว์ ของเรา แล้วก็จะมีเต๋าของคุณพจนา มีเมิ่งจื่อของอาจารย์ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ ที่ธรรมศาสตร์ แล้วก็มีจวงจื่อแปลดีมาก แล้วก็หานเฟย อาจารย์ปกรณ์ก็กำลังแปลอยู่ น่าจะเสร็จในไม่ช้า เหลือเล่มที่ 7 ที่ดิฉันยังไม่มีเวลาทำคือสวินจื่อสวินจื่อคือหน้าดุของขงจื๊อ เขาเป็นหลานศิษย์ คือขงจื๊อเป็นพ่อ มีลูกศิษย์ใหญ่ แต่ไม่ใช่ลูกศิษย์ในยุคเดียวกัน ก็จะมีเมิ่งจื่อคือเชื่อว่ามนุษย์โดยธรรมชาติดี เป็นสายอ่อนโยนของขงจื๊อ แล้วสายดุก็คือสวินจื่อ คือคิดว่ามนุษย์ชั่วร้าย ต้องหาอะไรมาควบคุม อันนี้ดิฉันกำลังสนใจ ถ้าคนนี้ออกมามันจะครบปรัชญาจีนคลาสสิก 7 เล่ม ก็คือขงจื๊อ หลุนอี่ว์ เมิ่งจื่อ เต๋าเต๋อจิง จวงจื่อ หานเฟย แล้วก็สวินจื่อสวินจื่อเห็นว่ามนุษย์ชั่วร้าย เพราะฉะนั้นต้องเอาขนบจารีตมาควบคุมคน ไม่งั้นคนจะเอาแต่สิ่งที่ตัวเองอยากได้ คนจะแก่งแย่ง คนจะฆ่ากัน ถ้าไม่มีกติกาของจารีตที่มากำกับ เช่น เขาสนใจเรื่องพิธีศพ คนที่เป็นกษัตริย์ก็จะมีเสื้อผ้าได้กี่ชั้น คนต้องไว้ทุกข์กี่วัน รถม้าไกลแค่ไหน ศพวางกี่วัน วางออกมาละเอียดเลยนะ และที่สำคัญใครเป็นอาชญากรห้ามคนไว้ทุกข์ให้ เวลาเคลื่อนศพห้ามเคลื่อนตอนกลางวัน เพราะอะไร เดี๋ยวคนเห็นแล้วคนจะสงสาร เดี๋ยวคนจะแสดงความเคารพ เราจะต้องใช้จารีตเพื่อทำให้คนประณามอาชญากรแม้ว่าเขาตายแล้ว แล้วก็ห้ามใครร้องไห้ยกเว้นครอบครัว ครอบครัวให้ร้องไห้ได้ไม่เกินกี่วัน นี่คือสวินจื่อ คือเราปล่อยให้มนุษย์ทำตามธรรมชาติเขาไม่ได้ ต้องเอาไม้บรรทัดจับเขาใส่กรง มนุษย์ถึงจะอยู่ด้วยกันได้

ทำไมตอนนี้อาจารย์ถึงสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ มีเหตุผลไหม

ก็คุณดูสังคมสมัยนี้ ดูวิธีคนขับรถ มัน Assume ว่าทุกคนชั่วร้าย สมัยก่อนเวลาขับรถเรา Assumeว่าคนดี เราจะขับแบบหนึ่ง เช่นการให้ทาง หรือการชะลอ หรือการหยุดเวลาหน้าฝน เวลาเราขับแล้วเราเห็นน้ำอยู่บนถนนแล้วมีเด็กเดินอยู่บนฟุตปาธ เราจะรีบชะลอเพื่อไม่ให้น้ำกระเด็นใส่เขา คือเรามีใจเป็นหนึ่งเดียวกับคนอื่นที่เราไม่รู้จัก นี่คือเรา Assume ว่าสังคมดี General Public เรา Assume เขาว่าอย่างไร เราก็ร่วมมือตามความเข้าใจว่าเราคิดว่าเขาดีแค่ไหน สมัยนี้ถ้าเจอน้ำขับเลย กูจะรีบไป เวลายึกยักสมัยก่อนก็จะถ้อยทีถ้อยอาศัย เดี๋ยวนี้ไม่สนใจ กูจะไป จอดรถ กูรถหรู กูจะจอดใครจะทำไม ข่าวตามทีวีต้องยกตัวอย่างไหม เพราะฉะนั้นถ้าเรา Assume ว่าโลกมันเลว มนุษย์มันแย่ เราก็ต้องเอาปรัชญาชนิดที่หาคำตอบเชิงวางอยู่บน Assumption ว่ามนุษย์ชั่วร้ายมานำเสนอ สวินจื่อนี่ก็กำลังเหมาะ

ที่อาจารย์อยากนำเสนอสวินจื่อนี่คิดว่าคนจะได้รับรู้อะไร อย่างไร

ยกตัวอย่างอันหนึ่งก็แล้วกัน ว่าทำไมสวินจื่อถึงเหมาะกับสมัยนี้ เวลาเราขับรถไปถนนเพชรบุรี ดิฉันขับไปจุฬาฯ ทุกวัน คนที่โบกขอทางจากตึกใหญ่ๆ ที่แทรก เขาไม่ขอทางก่อน เขาเอาธงสีแดงมาหยุดเราก่อน ถ้าเราให้แล้วเขาถึงไหว้ ตึกที่เทรนมาดีเขาจะขอบคุณ การที่เขาทำท่าขอบคุณ แปลว่าเขารู้ว่าเราเป็นคนให้ แปลว่าสิทธิเอกเป็นของเรา แต่จริงๆ ถ้าคิดแบบสวินจื่อ การที่เขาบังคับให้เราหยุดก่อนนี่ไม่ถูก เขาต้องขอเราก่อน เพราะโดยกฎของจราจร เราเป็นผู้มีสิทธิ เพราะเราเป็นผู้ใช้ถนนใหญ่ เขาเป็นส่วนย่อย เราประนีประนอมกัน จารีตก็คือท่าทางที่ขอทาง จริงๆ ดิฉันอยากจะจับเทรนนะ ให้ขอทาง แล้วก็ให้ไป แล้วก็ขอบคุณ ดิฉันคิดว่าสังคมจะน่าอยู่ขึ้นเยอะ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ บางตึกเขาก็มัวแต่ขอ เดี๋ยวคนไม่ให้ ก็คือ Assume ว่าสังคมมันเลว ดังนั้นเราต้องยึดมาก่อน คือยึดสิทธิมาก่อน แล้วค่อยขอบคุณ นี่คือสวินจื่อเป็นคำตอบเพราะเหตุนี้

สวินจื่อคิดว่าคนชั่วร้ายแล้วต้องถูกควบคุม ถ้าคนสมัยนี้อ่านมันจะยิ่งไม่รู้สึกว่าทุกคนชั่วร้ายหรือ

อันนี้พูดดี อันนี้เป็นปัญหา เพราะว่ายิ่งเรา Assume ว่าเขาชั่วร้าย มันก็ยิ่งยืนยันความจริงของความชั่วร้ายของเขา แล้วเขาก็จะชั่วร้ายมากขึ้น คือ เอาอย่างนี้แล้วกัน คือสวินจื่อสิ่งที่เขาจะป้องกัน คือป้องกันไม่ให้ไปถึงระดับกฎหมาย เพราะกฎหมายในที่สุดจะต้องถูกลงโทษ และการลงโทษของจีนโบราณนี่รุนแรง ก่อนที่คนจะไปละเมิดเช่นละเมิดภรรยาเขา หรือละเมิดเรื่องอื่น สวินจื่อคิดว่าเอาจารีตที่หนักมากันไว้ก่อนด้วยความเมตตาว่าจะได้ไม่ต้องถูกรัฐฆ่าตาย หรือถูกตัดมือหรือถูกตัดคอ เป็นความเมตตาของเขา แต่เขาคิดจากสเต็ปต่อไปใช้หลักจารีตเข้ามาใช้หลักจารีตคุมเอาไว้ก่อน เพราะถ้าจารีตอ่อน อย่างในสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่มีจำนวนทนายความต่อพลเมืองมากที่สุดในโลก เพราะสังคมอเมริกันไม่ใช่สังคมที่จารีตเข้มแข็ง ในยุโรปเท่าที่ดิฉันทราบ ฝรั่งเศสเป็นสังคมที่คนด่ากันมากที่สุด ทะเลาะกันมากที่สุด แต่เป็นสังคมที่คนฆ่ากันตายต่ำที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด

ในสังคมไทยไม่ค่อยมีความรู้ที่เปรียบเทียบแง่มุมที่ควรเปรียบ เราเลยไม่ค่อยรู้จักตัวเอง ดิฉันคิดว่าบางทีเวลาเราเรียนรู้ เราเรียนรู้ว่า ไอติมตรงไหนอร่อย ช็อกโกแลตใครอร่อย คือเราสนใจเป็น Consumer ในเชิงเปรียบเทียบ เราไม่สนใจจะเรียนรู้ว่า วิธีที่เขาจัดการการดำรงอยู่ด้วยกันเขาใช้วิธีไหนแล้วจะทำให้ชีวิตการอยู่ด้วยกันของเราดีขึ้น ดิฉันรู้สึกว่าเราสนใจที่จะเปรียบเทียบหรือมีความรู้ตรงนี้น้อยไป พูดอย่างนั้นแล้วกัน แล้วปรัชญาจีนเป็นพื้นที่หนึ่งที่จะศึกษาของพวกนี้ได้ในวัฒนธรรมที่มันลอยอยู่ในวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว ที่อาจจะไม่ใช่พุทธ แต่มันก็อยู่อย่างนี้ ถ้าเรามองมันดีๆ มันก็น่าสนุก แล้วดิฉันเชื่อว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

ปรัชญาจีนมีอิทธิพลและบทบาทกับวิธีคิดในเชิงเศรษฐกิจจีนมั้ย

ถามนี้มันใหญ่ มันมีอยู่แล้ว สมัยก่อนก็จะเป็นเชิงว่าเก็บหอมรอมริบให้ลูกหลาน สมัยนี้ก็เป็นระบบที่…พูดยาก อย่าพูดเลยเดี๋ยวพูดผิด เอาแค่ว่ามันเกี่ยวอยู่แล้วล่ะ คล้ายๆ การตัดสินเชิงคุณค่ากับมิติทางเศรษฐกิจมันไปด้วยกัน

ในอีกแง่หนึ่งปรัชญาจีนก็ถูกนำเสนอออกมาสู่โลกในฐานะ Soft Power

ก็แน่อยู่แล้ว ขงจื๊อเป็นพรีเซ็นเตอร์สถาบันขงจื๊อทั่วโลก รู้ใช่ไหมประเทศไทยมีสถาบันขงจื๊อ
ต่อประชากรมากที่สุดในโลก ก็เป็น Soft Power มานานแล้วล่ะ เพราะว่าไม่มีอำนาจแข็งอะไรที่อยู่ด้วยตัวของมันเองได้ ถ้าจะอยู่นาน จะค้าขายอะไรก็ต้องใช้ Soft Power

จีนเองใช้ปรัชญาจีนสื่อสารอะไรกับคนรุ่นใหม่ของตัวเองบ้างไหม ในแง่ไหน

อันนี้ต้องมีความรู้มากกว่านี้นะ เช่นต้องไปดูว่าปรัชญาจีนอะไรบ้างที่สอนในโรงเรียนจีนตอนนี้ ดิฉันไม่มีข้อมูล ไม่อยากจะพูด อยากจะยกตัวอย่างเดียวว่า สมมุติเอาตัวขงจื๊อเป็นตัวตั้ง ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีนช่วง 50 กว่าปีก่อน หนังสือขงจื๊อถูกเผา รู้ใช่ไหม ขงจื๊อนี่ได้รับเกียรติ 2 ครั้งที่ถูกเผา ครั้งแรกคือจิ๋นซีฮ่องเต้ ครั้งที่สอง ก็คือสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมจีน สมัยนั้นคือขงจื๊อเป็นศักดินา คอมมิวนิสต์ต้องจัดการกับของเก่า ต้องเผาทิ้งเมื่อประมาณปี 1989 หลังเทียนอันเหมิน รัฐบาลจีนกลับไปสนับสนุนให้คนมาศึกษาขงจื๊อ ทุ่มเทงบประมาณไปบูรณะบ้านเกิดขงจื๊อ เริ่มเอาคัมภีร์หลุนอี่ว์มาให้นักเรียนเรียน มีการเขียนเปลี่ยนภาษาให้ง่ายขึ้น เมื่อ 3-4 ปีก่อน เขาเอารูปปั้นขงจื๊อไปวางไว้ที่เทียนอันเหมิน ตลกมาก คุณรู้เทียนอันเหมินมีหน้าเหมา เจ๋อตุง ใช่ไหม แล้วเขาเอาขงจื๊อไปวาง แล้วเอา 2 คนนี้หันหน้าเข้าหากัน (หัวเราะ) คืออยากจะเรียกขงจื๊อกลับมา แต่ตั้งอยู่ได้ไม่กี่เดือนโดนเอากลับเข้าไปในพิพิธภัณฑ์
อันนี้ดิฉันคิดว่าเป็นตัวชี้วัดวิธีที่จีนสัมพันธ์กับรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตัวเอง คือผีเข้าผีออก ในส่วนหนึ่งมีคนบอกว่าที่เซี่ยงไฮ้มีตึกระฟ้ามากกว่าแมนฮัตตัน ในแง่หนึ่งจีนก็พัฒนาเร็วมากจนกระทั่งถ้าคุณเห็นแต่ตึก คุณรู้ไหมว่าเป็นจีนถ้าไม่เห็นตัวอักษรจีน มันจะเหมือนกันไปหมด ในแง่นี้การพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีน จีนก็ต้องกลับมาถามว่า แล้วความเป็นจีนนั้นอยู่ตรงไหน หาไปหามาก็เจอขงจื๊อ แต่ว่าขงจื๊อนี้จะไม่ขงจื๊อง่ายๆ ละเพราะว่ามันผ่านคอมมิวนิสต์ ผ่านอะไรหลายอย่าง เพราะฉะนั้นดิฉันถึงเรียกว่าผีเข้าผีออก ในแง่หนึ่งก็อยากจะหาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตัวเองที่ฉันแตกต่างจากตะวันตก ในอีกทางหนึ่งขงจื๊อแบบเก่าๆ ที่ศักดินา เชย อนุรักษนิยม ก็ไม่ไหว ดิฉันเข้าใจว่าอยู่ในสภาพนี้นะ

มันพัฒนาเร็วจนต้องหาอะไรยึด

ที่เป็นตัวเรา เพราะฉะนั้นพลังการเปลี่ยนกับพลังอนุรักษ์มันจะไปด้วยกัน ที่ยากที่สุดก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าของเก่าเราอะไรที่ดีที่เราควรเก็บ แล้วของใหม่อะไรที่เราควรจะเอามาใหม่ ยากที่สุดเป็นคำถามคลาสสิก เราทิ้งหมดก็ไม่ได้ เราเอามาหมดก็ไม่ได้

สุดท้ายอาจารย์มองว่าจริงๆ แล้วโลกยุคใหม่มันถูกขับเคลื่อนไปด้วยปรัชญาแบบไหน

คุณก็รู้อยู่แล้วใช่ไหม ทุนนิยม เสรีนิยม ทุกอย่างต้องคำนวณเป็นตัวเลข ขายได้ ความรู้ก็ต้องขายได้ ไม่มีอณูในชีวิตเหลือแล้วนะที่ไม่ต้องถูกขาย สมัยก่อน คุณดูวิธีพัฒนานะ สิ่งที่เรียกว่าพัฒนาสมัยก่อนก็สร้างเขื่อน สร้างถนน โรงไฟฟ้า สร้างตึก เป็นโลกข้างนอก ต่อมาก็ค่อยๆ กระเถิบเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นเป็นโรงพยาบาล การศึกษา คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ทำหน้า โบท็อกซ์ ทุกอย่างตั้งแต่อายุน้อย สมัยก่อนเรื่องศัลยกรรมความงามก็เป็นผู้หญิงแก่ๆ อยากดึงหน้าให้ตึง เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ คน 10 กว่าคางกว้างเกินไป อยากจะคางเรียวก็ไปผ่าตัด คือเดี๋ยวนี้สิ่งที่มันบ่งว่าเราคือใคร ตัวเทคโนโลยีมันเข้ามาในเนื้อตัวร่างกายเรา มันไม่ใช่จัดการแต่โลกภายนอก ซึ่งแปลต่อไปว่าความเป็นมนุษย์ของเรามันเปลี่ยนอย่างแรง
ตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ก็คือ ความเป็นมนุษย์อยู่ที่ไหน เส้นแบ่งมันยากขึ้น มี Cyborg มี AI ดิฉันมีข้อสังเกตว่ามนุษย์ใกล้เครื่องจักรมากขึ้น เราพยายามทำเครื่องจักรให้เหมือนมนุษย์ พยายามทำให้ยิ้มได้เต้นรำได้ใกล้มนุษย์มากขึ้น เหมือนมนุษย์มากขึ้น แต่ตัวมนุษย์กลับเหมือนเครื่องจักรมากขึ้น เพราะว่ามิติมนุษยศาสตร์ เรื่องคุณค่า เรื่องสุนทรีย์ เรื่องความละเมียดละไม ความละเอียดอ่อนทางจริยธรรม เรื่องจินตนาการ ความรื่นรมย์ อ่อนกำลังถามว่าปรัชญาแบบไหน ก็คือปรัชญาที่ทำให้ทุกอย่างต้องขายได้ นับได้ ถูกทำเป็นเทคนิค ฝรั่งเรียก Instrumental Rationality ทุกอย่างเป็นการใช้เหตุผลเชิงกลไกหมด และความเป็นมนุษย์ก็จะถดถอย ก็ต้องหานิยามใหม่

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ