fbpx

‘นอกใจ-หึงหวง’จำเป็นต้องจบลงที่ความรุนแรงเสมอไป?

เรื่อง: เมเจอร์ ทอม

“ความรักเป็นเรื่องของคน 2 คน” แม้ใครต่อใครมักจะพูดเช่นนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายๆ ครั้งก็ย่อมมีเรื่องของคนที่ 3 หรือ 4 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในบางสถานการณ์ ลามไปจนถึงกลายเป็นเรื่องราวของ ‘สาธารณะ’ ที่มีคนหมู่มากเข้ามาทำหน้าที่พิพากษา รวมถึงได้รับผลกระทบจากเรื่องราวความรักส่วนบุคคล

เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเหตุการณ์อุกอาจบุกยิงกลางห้างดัง โดยผู้ชายคนหนึ่งนำอาวุธปืนยิงอดีตภรรยาเสียชีวิต พร้อมขู่จะล่าปลิดชีพคนรักใหม่ของอดีตภรรยาเนื่องจากความหึงหวงอีกด้วย ซึ่งได้สร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชนในกรุงเทพฯ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น

ทำไมเรื่องราวของความรัก การหึงหวง และการนอกใจ ไม่ได้กลายเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่มักไปปรากฏบนพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหลายคนเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งประเด็นเหล่านี้สามารถอธิบายในเชิงจิตวิทยาได้

จากคดีอาชญากรรมเรื่องชู้สาวที่มักปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ต่างๆ หลายต่อหลายครั้งอาจสร้างความไม่เข้าใจต่อผู้คนในวงกว้างว่าทำไมพวกเขาต้องเลือกทำเช่นนั้นเพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์อันปวดร้าวใจ ลองย้อนกลับมาสำรวจความเป็นมนุษย์ผ่านเรื่องราวจิตวิทยาเพื่อทำให้เราตระหนักและเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น

GM ได้พูดคุยกับ ผศ. โมนิล เตชะวชิรกุล อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงมุมมองทางจิตวิทยาที่มีต่อเรื่องราวของความรักความสัมพันธ์ กับคำถามง่ายๆ แต่ซับซ้อนทางความรู้สึกอย่าง “ทำไมคนเราต้องนอกใจกัน?” และ “ความหึงหวงเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ไหม?” ซึ่งแน่นอนว่า 2 ประเด็นดังกล่าวมักนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงที่บางครั้งถึงขั้นเสียชีวิต!

เริ่มต้นด้วยการมีความสัมพันธ์ มนุษย์นั้นมีความสัมพันธ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น ต้องการได้รับความสนใจ ต้องการความรัก ต้องการการยอมรับ หรือแม้แต่ต้องการสิ่งตอบแทนในรูปแบบอื่น เช่น วัตถุที่จับต้องได้ เงินทอง และสิ่งของต่างๆ เป็นต้น  

แต่เมื่อใดก็ตามที่ความสัมพันธ์หรือ ‘Relationship’ ที่เรามีนั้น ไม่สามารถตอบสนองในแบบที่เราต้องการได้อีกต่อไป ทำให้ต้องออกไปหา ‘ตัวเลือกใหม่’ เช่นเดียวกันการหา ‘คนใหม่’ ที่ตอบสนองความต้องการของเราได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น วัยรุ่นที่ต้องการความตื่นเต้นตลอดเวลา ในระยะแรกความสัมพันธ์จึงค่อนข้างหวือหวา แต่เมื่อใช้เวลาคบกับคนเดิมไปนานๆ ความตื่นเต้นอาจหมดไป ทำให้พวกเขาอยากออกไปหาคนใหม่ที่ทำให้ตื่นเต้นได้มากกว่านั่นเอง

“ขณะเดียวกันเมื่อคนเราอายุมากขึ้น บางคนเริ่มอยากได้ ‘ความมั่นคง’ จากความสัมพันธ์ที่ตัวเองมี เมื่อคนรักไม่สามารถทำให้เรารู้สึกมั่นคงได้ ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะไปหาคนใหม่ที่สามารถให้ในสิ่งที่เราต้องการได้”ผศ. โมนิล เตชะวชิรกุล อธิบายให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นถึงสาเหตุพื้นฐานที่คู่รักเกิดการนอกใจกัน

นอกจากปัญหาการนอกใจแล้ว ปัญหาการหึงหวงกันดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกของคนมีความรัก บางคนแม้จะยืนยันอย่างมั่นอกมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนขี้หึง แต่รู้ตัวอีกทีในบางสถานการณ์ ไอ้เจ้าความรู้สึกหึงก็เข้ามาครอบงำเราแบบไม่รู้ตัว อาการหึงเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นเรื่องธรรมดาของคนรักกัน แต่การหึงแบบ ‘อาการหนัก’ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์ในความสัมพันธ์เลย เพราะบางครั้งการหึงจนเลือดขึ้นหน้าก็จบลงที่ความรุนแรงมานักต่อนักแล้ว

จากกรณีข่าวอาชญากรรมปัญหาชู้สาวที่เกิดจากความหึงหวงจนกระทั่งเอาคืนด้วยการแลกชีวิตนั้น ก็สามารถอธิบายในเชิงจิตวิทยาได้เช่นกัน แม้บางคู่เลิกรากันไปแล้ว ทว่าความสัมพันธ์ก็ไม่ได้ขาดจากกัน เมื่ออีกคนมีคนรักใหม่ แต่อีกคนยังตัดใจไม่ได้ แน่นอนว่าความรู้สึกหึงหวงจึงเกิดขึ้น สำหรับประเด็นนี้ในทางจิตวิทยามีการศึกษามานานแล้ว และพบว่าแต่ละคนก็มีวิธีจัดการกับความหึงหวงของตัวเองด้วยวิธีที่หลากหลายและแตกต่างกัน

ทั้งนี้ งานวิจัยทางจิตวิทยาระบุว่า หากนำรูปแบบพฤติกรรมที่คนเราตอบสนองเมื่อมีความหึงหวงมาวิเคราะห์รวมกันแล้ว หลักๆ จะทำไปเพื่อเป้าหมาย 2 ข้อ ได้แก่

  • เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเราและเขาเอาไว้
  • เพื่อทำให้เราเองไม่สูญเสียคุณค่าในตัวเอง

เมื่อการตอบสนองต่อเป้าหมายของคนเรามีความแตกต่างกัน ทำให้รูปแบบวิธีที่แสดงออกถึงความหึงหวง แบ่งออกเป็น 4 วิธีด้วยกัน ซึ่งแตกต่างออกไปตามระดับความรุนแรงทางอารมณ์ของแต่ละคน ได้แก่

1. ทำร้ายตัวเอง (วิธีนี้ไม่ได้เป็นการปกป้องตนเองและผู้อื่นเลย)
2. ทำร้ายคนอื่น (ทำให้รู้สึกว่าได้ปกป้องคุนค่าของตัวเอง แต่ไม่ได้เป็นวิธีที่รักษาความสัมพันธ์)
3. ยอมเปลี่ยนตัวเองเพื่อคนรัก
4. พูดคุยทำความเข้าใจกับคนรัก เพื่อหาวิธีการจัดการความรู้สึกต่อไป

“เพราะฉะนั้นการฆ่าหรือการทำร้ายกันจึงกลายเป็นรูปแบบหนึ่งที่พบได้ตามปกติเมื่อคนเราเกิดความหึงหวง แต่ระดับความรุนแรงที่แต่ละคนจะใช้นั้น ขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยว่าในขณะที่รับรู้แล้วว่ากำลังถูกนอกใจ อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเขานั้นคือ ความรัก ความโกรธ หรือความเสียใจ”

“ซึ่งวิธีการรับมือของแต่ละคนจะเป็นเช่นไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลว่าพื้นเพเดิมเป็นคนลักษณะอย่างไรด้วย เช่น หากพื้นเพเป็นคนที่มีความก้าวร้าว ไม่ค่อยที่จะควบคุมตัวเอง ก็เป็นไปได้ที่จะใช้ความรุนแรงหรือเข่นฆ่ากัน ในขณะที่บางคนรู้สึกเสียใจเจ็บปวดเมื่อรู้ว่าคนรักแอบมีคนอื่น อาจเลือกแสดงออกด้วยการทำร้ายร่างกายตัวเองแทนก็ได้เช่นกัน”

นอกจากนี้ GM ยังชวน ผศ. โมนิล เตชะวชิรกุล พูดคุยถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชุดความคิด ‘ชายเป็นใหญ่’ ในสังคมไทยในแง่ของความรักความสัมพันธ์ ในอดีตมักมีคำกล่าวว่า “ผู้ชายไม่เจ้าชู้ ก็เหมือนงูไม่มีพิษ” ปัญหาการนอกใจที่ตอกย้ำความคิดที่ว่าผู้ชายที่มีคารม นิสัยเจ้าชู้ มีคนรัก และมีกิ๊กหลายคน บ่งบอกถึงความมีอำนาจ ความเท่ ความคูล และไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ในขณะที่หากฝ่ายหญิงประพฤติตนในลักษณะเดียวกันมักจะถูกมองว่าไม่เหมาะสมและโดนสังคมประณาม

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชุดความคิดแบบเดิมอาจไม่เข้ากับสังคมปัจจุบันอีกต่อไป วาทกรรมดังกล่าวไม่สามารถรองรับการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เปิดโอกาสให้ ‘ผู้หญิง’ เข้าถึงระบบการศึกษาและอาชีพต่างๆ ในสังคมได้

“การที่ผู้ชายเจ้าชู้แล้วดูเท่ โดยส่วนตัวมองว่าเป็นชุดความคิดที่เก่าไปแล้วค่ะ เพราะผู้หญิงสมัยนี้มีตัวเลือกในชีวิตมากขึ้น เพราะมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าในอดีต ทำให้สามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ พึ่งพาผู้ชายน้อยลง ผู้หญิงจึงมีโอกาสในการเลือกคู่ครองของตัวเองได้เท่าเทียมกับผู้ชาย”

“ขณะเดียวกันสังคมปัจจุบันก็ค่อนข้างให้คุณค่ากับการรักเดียวใจเดียว สังเกตได้จากข่าวดาราสมัยนี้ คนมักชื่นชมหรือพูดถึงคู่ที่รักกันนานๆ มากกว่าคนที่เปลี่ยนแฟนบ่อย แม้กระทั่งเวลาที่ดารามีข่าวนอกใจหรือคบซ้อน เขารู้ตัวว่าไม่ดีจึงพยายามปิดข่าว ยิ่งเราอยู่ในยุคของสื่อออนไลน์ที่ทุกอย่างไวมาก ซึ่งไม่จำเป็นอีกต่อไปว่าคุณจะเป็นเพศไหน เพราะไม่ว่าชายหรือหญิง หากคุณนอกใจก็มีสิทธิ์โดนตำหนิได้เหมือนๆ กัน”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ