fbpx

Business Trends Change Overnight: ส่องเทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนไปของปี 2022

และแล้ว โลกก็ได้ก้าวเข้าสู่ปี 2022 มาได้หนึ่งเดือน หลังผ่านความยากลำบากทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สุขภาพ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากมาย ซึ่งสาเหตุหลักนั้นเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 2 ปี และดูเหมือนว่าจะยังต่อเนื่องไปอีกสักระยะ แต่สิ่งที่น่าสนใจและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และดูเหมือนว่าช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงจะยังไม่จบสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของการทำธุรกิจ ที่ขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง 

แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำได้อย่างง่ายดายนัก มีหลายธุรกิจ ล้มหายตายจากไประหว่างทาง มีหลายภาคส่วนที่ไม่สามารถแบกรับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาได้ และจำต้องถอดใจปิดประตูก่อนเวลาที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2022 ที่ปัญหาจากปีก่อนหน้า ยังคงไม่คลี่คลายทั้งหมด แต่ตามมาด้วยความเคลื่อนไหวทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะกลายเป็นบททดสอบที่เข้มข้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และผู้ที่อยู่ในวงจรจำต้องปรับตัว เพื่อเตรียมรับกับสภาวการณ์และกติกาใหม่ๆ หากมุ่งหมายจะอยู่รอดในสนามการแข่งขันที่กำลังเข้ามาในเวลาข้างหน้านี้

โดยเฉพาะเรื่องของเทรนด์ทางธุรกิจ’ ซึ่งเข้ามามีบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการขับเคลื่อนธุรกิจของเส้นทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก บางการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มหยั่งรากไปก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในขณะที่บ่างส่วนเป็นแนวคิดที่อาจต้องใช้เวลาก่อนจะก่อเกิดดอกผล…แต่เชื่อว่า คงไม่นานนัก… 

แต่ก็เป็นเรื่องที่สมควรต้องทำความเข้าใจแต่เนิ่นๆ เพื่อพร้อมรับกับคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามากระทบ เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย และเพื่อปรับสร้างความได้เปรียบที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้อย่างเท่าทัน 

การเติบโตอย่างยั่งยืนจะไม่ใช่แค่คำสวยอีกต่อไป

ที่ผ่านมา คำว่า ‘ความยั่งยืน (Sustainability)’ ถูกใช้อย่างกว้างขวางในหลายๆ ภาคธุรกิจ ไม่ว่าระดับย่อยรากหญ้า จนถึงระดับองค์กรใหญ่ และกิจกรรมเพื่อสะท้อนถึงการตระหนักต่อความยั่งยืน ก็ถูกนำมาปฏิบัติให้เห็นอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเรื่องการประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ จนถึงการทำ CSR ขนาดใหญ่อย่างการปลูกป่า การสร้างฝาย การทำความร่วมมือด้านการจัดการขยะ ฯลฯ 

แต่สำหรับในปี 2022 ที่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติได้กลายเป็น ‘ความเป็นจริง’ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น คำว่าความยั่งยืน จะต้องได้รับการพิจารณา ใส่ใจ และทบทวนแนวทางใหม่อย่างจริงจัง 

นั่นเพราะคำว่า ‘ความยั่งยืน’ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป แต่ยังรวมถึงการเจาะลึกตั้งแต่เสาหลักขององค์กร จนถึงแนวคิดที่ปลูกฝังลงไปในบุคลากร ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและ ‘เป็นปกติวิสัย’ 

นั่นหมายถึง ความยั่งยืนที่ว่า จะไม่ได้เป็นเพียงการประหยัดทรัพยากรที่ใช้ และการสร้างมลภาวะในองค์กรให้น้อยที่สุด แต่รวมถึงการลดขั้นตอนปฏิบัติขององค์กรให้กระชับที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด และมี ความยืดหยุ่น’ ที่พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ องค์กรที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องผ่านลำดับขั้นจะค่อยๆ ถูกตัดทอนหรือ ‘Lean’ ส่วนเกิน และ/หรือ แตกย่อยเป็นองค์กรขนาดเล็กที่เป็นหัวหอกนำร่องเพื่อทดสอบแนวทางใหม่ๆ 

และแน่นอน ภาคธุรกิจหรือองค์กรใดที่ไม่สามารถทำความเข้าใจกับความ ‘ยั่งยืน’ อย่างจริงจังที่ไม่ได้มีแค่กิจกรรม CSR จะได้พบกับความจริงที่น่าเจ็บปวดที่ว่า ราคาที่ต้องจ่ายนั้น แพงกว่าการปรับเปลี่ยนในแรกเริ่มหลายเท่านัก 

‘Blockchain’ คืออนาคต (ที่ต้องเข้าหาด้วยความระวัง)

เทรนด์การมาถึงของเทคโนโลยี Blockchain ที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั้ง Cryptocurrency, NFT และธุรกรรมดิจิตัลต่างๆ นั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ ‘ใหม่’ นักในทางทฤษฏี เพราะถ้าวัดจากช่วงเวลาที่สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ก็นับร่วมเวลาได้ทศวรรษแล้ว จากสิ่งที่ทุกคนเคยทำหน้างุนงงสงสัยเวลาได้ยินคำนี้  มาสู่ความเข้าใจและสามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน และ ‘ขุดเหรียญ’ จากโลกดิจิตัล ซึ่งเรียกว่ามาได้ไกลพอสมควร 

แต่แม้ว่าเทคโนโลยี Blockchain นั้นจะผ่าน้นมาสิบปี  ก็ต้องขอบอกว่ายังอยู่ในระยะที่เรียกกันว่าตั้งไข่ และยืนอยู่บนทางแยกสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการนำไปใช้และเดินไปต่อนับจากนี้เก็ว่าได้ 

นั่นเพราะ Blockchain, อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ Cryptocurrency (ความเข้าใจของผู้คนทั่วไป ต่อสกุลเงินดิจิตัลที่ได้ยินบ่อยที่สุด) แต่คุณประโยชน์ของ Blockchain ในด้านอื่นๆ นั้น ยังไม่ถูกนำมาปรับใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะการแปลงสินทรัพย์สร้างสรรค์ให้อยู่ในรูปดิจิตัลหรือ Non-Fungible Tokens (NFT) หรือการทำธุรกรรมดิจิตัลที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม 

แต่ถึงอย่างไรการเปิดกว้างของระบบ Blockchain นั้นก็เติบโตภายใต้แนวคิดของการไม่รวมศูนย์ (Decentralized) ที่ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินการโดยไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ มากำหนด แต่เป็นไปภายใต้กฎของ Blockchain ที่ฝังลายเซ็นดิจิตัลเอาไว้ในแก่นกลางของระบบ ซึ่งยังไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ในทางปฏิบัติมากนัก 

อย่างไรก็ตาม… เพราะถ้ามองย้อนกลับไปภายใต้ธุรกรรมหรือกิจกรรมภาคธุรกิจที่ผ่านๆ มาจะพบว่า ทางหนึ่ง มีความเปิดกว้างอิสระภายใต้กติกาของการแลกเปลี่ยนอย่างเสรี แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็มีกฎหมายหรือองค์กรที่คอยกำกับควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ปลอดภัย และอยู่ในกติกากลางที่สามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้อย่างผิดวิธี 

แต่ Blockchain ก็ยังได้ชื่อว่าอยู่ในทางสองแพร่งของการเลือกระหว่าง ‘การปล่อยเสรี’ หรือ ‘การมีกติกากำกับ’ ซึ่งเป็นสภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง 

นั่นเพราะโลกแห่ง Blockchain นั้น ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และอาจจะ ‘เร็วเกินไป’ ที่กฎหมายหรือการกำกับควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐจะตามได้ทัน อีกทั้งการบัญญัติกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ใช้งาน และการกำกับจากภาครัฐ ก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากังขา ว่าระดับใด จึงจะเรียกว่า พอดี ไม่ตึง และไม่หย่อนจนเกินไป 

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ไม่อาจปฏิเสธความเป็นจริงข้อหนึ่งที่ว่า โลกแห่ง Blockchain นั้น คืออนาคตที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในภาคธุรกิจในเวลาภายภาคหน้าอย่างแน่นอน และการเตรียมพร้อมเพื่อรับกับการปรับใช้ สนับสนุน และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้ คือสิ่งที่องค์กรและธุรกิจขนาดต่างๆ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป 

แท้’ จากไส้ใน ไม่ ปลอมแบบ ‘จกตา’ 

ในการทำธุรกิจยุคก่อนหน้านั้น ทฤษฏีของ ‘ความภักดีต่อแบรนด์’ คือสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนาน มั่นคง และเป็นประกาศิตที่ยากจะหาสิ่งใดมาลบล้าง ผู้คนเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ตนสนับสนุน เพื่อบ่งบอกสถานะ ความมั่งคั่ง รสนิยม และประกาศ ‘ตัวตน’ ผ่านวัตถุที่ใช้เงินจับจ่ายเลือกหาซื้อมา 

แน่นอนว่า แนวคิดเรื่องการมีสิ่งของเพื่อสนองต่อตัวตน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีนักในทางจิตวิทยา (เพราะวัตถุไม่สามารถชดเชยความขาดพร่องในจิตใจได้ ไม่ว่าจะมากเพียงใดก็ตาม….) แต่นั่นก็ยังเป็นสิ่งที่ได้รับการปฏิบัติในโลกแห่งธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน 

หากแต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในแง่ของ ‘แบรนด์’ ต่างหาก ที่พลิกทุกตำรา และอาจจะ ‘ฉีก’ ตำราเศรษฐศาสตร์แบบเก่าจนไม่เหลือชิ้นดี

อาจจะด้วยความทั่วถึงของการติดต่อสื่อสาร ความสะดวกในการซื้อหาผ่านระบบออนไลน์ และการตระหนักรู้ในเชิงคุณค่าความยั่งยืน (ที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้านั้น) ผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่ได้มี ‘ความภักดี’ ต่อแบรนด์อย่างเหนียวแน่นดังเช่นในอดีตเคยเป็นมา หรืออาจจะเรียกได้ว่า ความภักดีนั้น ถูกลบล้างสลายหายไปแทบจะทันควัน 

แล้วสิ่งใดที่ผู้บริโภคมองหา? การตอบสนองต่อตัวตน แนวคิด จุดยืน ผ่านสิ่งของเครื่องใช้และสินค้า คือแก่นหลักสำคัญ ซึ่งจะต่อยอดมาสู่การพิจารณาแบรนด์สินค้าที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อเลือกใช้ การพินิจก่อนการซื้อสินค้าสักชิ้นของผู้บริโภค มีมิติที่หลากหลายมากไปกว่าวัสดุที่ใช้ดีพอหรือไม่ หรือแบรนด์ถูกใช้โดยคนดังหรือบุคคลสำคัญ 

แต่ยังรวมถึงจุดยืนขององค์กร แนวคิดของผู้นำ และประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่ควบคู่กันอย่างเหนียวแน่นหนักหน่วง แบรนด์ที่ประกาศแนวคิดอย่างหนึ่ง แต่กระทำในทางตรงกันข้าม จะไม่สามารถดึงดูดผู้บริโภค หรือในทางเลวร้ายที่สุดคือ ถูกต่อต้าน จนอาจจะทำให้เกิดผลเสียในระดับที่เกินกว่าจะรับได้ 

โดยสรุปคือ ผู้บริโภคกำลังจ้องมองผู้ผลิตและภาคธุรกิจของสินค้าที่จะเลือกใช้อย่างเข้มข้น ว่าสินค้านั้นๆ มีความ ‘แท้ (Authenticity)’ และ ‘ไม่จกตา’ หรือปลอมมากน้อยเพียงใด 

และอย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นข้อจำกัดเพียงเล็กน้อย เพราะหลายแบรนด์ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความเคลื่อนไหว หรือตระหนักต่อความเป็นไปของปัจจัยด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการทำธุรกิจ ต่างได้รับบทเรียนอย่างเจ็บปวดสาหัสมาแล้วแทบทั้งสิ้น (ไม่ว่าจะด้วยประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ การไม่ตระหนักในคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม การปฏิเสธเรื่องความเสมอภาคของการใช้แรงงาน…) 

อย่างไรก็ตาม ความ ‘แท้’ ที่แบรนด์หรือธุรกิจหนึ่งแสดงออกมา ก็ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจังมากยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะในโลกที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน การแต่งหน้าทาปาก ปั้นแต่งให้ทุกสิ่งดูดีจากภายนอก ถ้าไม่ผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หรือถูก ‘ชักจูง’ ให้เกิดความเคลื่อนไหวตามความต้องการของแบรนด์ และ/หรือ กลุ่มคน ก็อาจจะกลายเป็นผลเสียที่ตามมาได้ 

แต่นั่นเป็นเรื่องที่ทั้งผู้บริโภค และภาคธุรกิจจะต้องจับมือร่วมกัน เพื่อให้เกิดความต้องการที่สอดคล้องทั้งสองทาง และเกิดวงจรทางธุรกิจที่ยั่งยืน 

คนจรแห่งโลกดิจิตัล

ในชีวิตการทำงาน แบบที่มักจะคุ้นเคยสำหรับคนปกติธรรมดาทั่วไป ก็คงหนีไม่พ้นการตอกบัตรตามเวลางาน ทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนด ตอกบัตรเมื่อจบสิ้นวัน และรับเงินค่าจ้างเมื่อถึงระยะเวลาสิ้นเดือน นี่คือ ‘ฟอร์ม’ การทำงานที่ไม่น่าจะเป็นของแปลกประหลาดใจ หรือยากแก่การจินตนาการมากนัก

แน่นอน เมื่อเวลาผ่านไป ความยืดหยุ่นได้ถูกนำมาปรับใช้กับรูปแบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาเข้าและออกงานที่ไม่ได้เฉพาะตายตัว ขอเพียงจำนวนชั่วโมงครบถ้วน, สถานที่ทำงานที่ไม่ได้กำหนดเป็นกรอบคอกขังสี่เหลี่ยม, ลำดับสายงานที่กระจายออกทาง ‘แนวราบ’ และลดลำดับชั้นแนวดิ่ง เปิดให้พนักงานสามารถมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจที่สำคัญได้ 

และเมื่อเทคโนโลยีถึงพร้อม รวมกับสภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การทำงานแบบเดิมๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างที่เคยเป็น การว่าจ้าง ‘พนักงานชั่วคราว’ เป็นรายโปรเจ็กต์ จึงกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นมากขึ้น

ก่อให้เกิดกลุ่มแรงงานที่เรียกตนเองว่า ‘คนจรแห่งโลกดิจิตัล (Digital Nomad)’ 

Digital Nomad แตกต่างจากคนทำงานปกติตรงที่ พวกเขา/เธอ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือ ‘งานใดงานหนึ่ง’ กล่าวคือ พวกเขา/เธอ จะรู้ชัดถึงสิ่งที่ตนเองถนัด สนใจ และสามารถทำได้อย่างดี และนำเสนอสิ่งนั้นเพื่อเป็น ‘จุดขาย’ ที่อาจจะมีมากกว่าหนึ่ง และอาจจะข้ามสายงานกันไปมา ไม่ว่าจะงานด้านออกแบบกราฟิก การตัดต่อวิดีโอ หรืองานเขียน เป็นต้น

อีกทั้งเหล่า Digital Nomad จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อลดกระบวนการที่ยุ่งยากให้เหลือน้อยที่สุด ให้ทุกอย่างสั้น กระชับ และมีเวลาในการที่จะสามารถทำสิ่งที่ต้องการ เดินทางไปในที่ที่อยากไป พักอาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง และสะสมความมั่งคั่งในรูปแบบสินทรัพย์แนวทางใหม่ เช่น สินทรัพย์ดิจิตอล การลงทุนในหุ้นที่มีคุณค่า หรือการซื้อขายกองทุน แทนที่จะอิงแอบกับเงินเดือนที่ตายตัว 

นี่เป็นทิศทางที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะ ‘ความมั่นคง’ ในนิยามแบบเก่า ที่ต้องมีงานประจำที่ชัดเจน มีเงินเดือนที่ได้ทุกครบรอบสามสิบวัน อาจจะกลายเป็นอดีตที่ทำได้ยากขึ้นทุกขณะ ท่ามกลางการถาโถมทางภาคธุรกิจที่ต้องกระชับ ฉับไว และเท่าทันต่อทุกความเปลี่ยนแปลง การมีกลุ่มแรงงาน ‘ตายตัว’ จะถูกมองว่าเป็นภาระมากขึ้น และการว่าจ้างกลุ่มแรงงานชั่วคราว ที่มีความถนัดเฉพาะชัดเจน วัดประสิทธิผลได้ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงานสายคนจรดิจิตัลนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับสวัสดิการทางสังคมที่เพียงพอ ไม่ว่าจะด้วยการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ประกันสังคม และกองทุนสำรองที่พอประกันความอยู่รอดจากทางนายจ้าง เพราะไม่ใช่ทุกคน และทุกสถานการณ์ ที่เหล่าแรงงานชั่วคราว จะได้รับความเป็นธรรม และการไม่ถูกจัดเข้าอยู่ในระบบ ก็ยิ่งทำให้การดำเนินการทางกฎหมาย ทวีความยากขึ้นไปอีกหลายเท่า 

นี่คือสิ่งที่ภาคธุรกิจจะต้องพิจารณาอย่างจริงจัง และภาครัฐควรมองให้เห็นถึงศักยภาพที่กลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวม แน่นอนว่า เหล่าคนจรดิจิตัล คงไม่ได้มาแทนที่แรงงานหรือคนทำงานประจำแบบเต็มร้อยล้างกระดาน แต่นี่ก็ถือเป็นแนวทางแห่งอนาคต ที่ปัจจัยแวดล้อม และบริบททางสังคม จะหลอมให้คนรุ่นใหม่ เลือกเดินทางสายนี้ มากยิ่งขึ้น 

ย่างก้าวใหม่แห่งโลกธุรกิจ ที่ยังคงหมุนไป

โลกแห่งการทำธุรกิจ ไม่เคยมีคำว่าง่าย หลายคนที่ประสบความสำเร็จ ต่างมีเรื่องราว ปัจจัย และบริบทที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็มีเงินทุนและสายป่านที่แน่นหนา พร้อมสำหรับความผิดพลาดล้มเหลวได้หลายครั้ง บ้างก็ต้องกัดฟันสู้ยิบตา เพราะถ้าพลาดขึ้นมา คือการต้อง ‘ออกจากสนามแข่ง’ แล้วไม่หวนกลับมาอีก 

เราไม่ออกตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ เพราะนี่คือโลกที่ต้องเผชิญและพบเจอด้วยตนเอง คำแนะนำใดๆ เป็นเพียง ‘แนวทาง’ ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น มากหรือน้อย ยังคงมีตัวแปรที่เกินกว่าจะคาดเดารอคอยอยู่ 

แต่การเตรียมพร้อมคือสิ่งที่จำเป็น 

เพราะไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงจะหนักหรือเบา หากได้รู้เท่าทัน เตรียมตัวพร้อมรับกับความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่จะเข้ามา เทรนด์ที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาที่มาจริงๆ ผู้ประกอบธุรกิจก็มีอาวุธติดตัวรับกับสถานการณ์ไว้พร้อม 

ไม่ว่าจะด้วยความพร้อมที่จะฝ่าคลื่นลมมีชีวิตรอด หรือโต้กระแสคลื่นเพื่อเติบโตอย่างมั่นคงและมั่งคั่ง 

ปี 2022 คือจุดเริ่มต้นอันท้าทายอย่างยิ่งในทุกบริบท และภาคธุรกิจ ที่อาจต้องพบเจอกับบททดสอบอย่างเข้มข้นอีกครั้ง การเตรียมตัวให้พร้อมรับกับทุกความเปลี่ยนแปลง ก็เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นได้เดินทางมาถึง ผู้ประกอบการจะสามารถรับมือได้อย่างเต็มความสามารถ และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่  เพื่อก้าวต่อไปที่ยั่งยืน และแข็งแกร่ง จนกว่าจะถึงปีถัดไปที่ความท้าทายใหม่จะเดินทางเข้ามาทักทาย อีกครั้ง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ