fbpx

Burnout Syndrome ภัยเงียบ 2020 เมื่อคนรุ่นใหม่ไฟ (ไม่) แรง

เรื่อง: The Last Dinosaur

ปลายปีก่อน มีผลสำรวจที่กระตุกความคิดผู้คนในสังคมออกมาชิ้นหนึ่ง เป็นการจำแนกกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะ ‘หมดไฟ’ จัดทำโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ความน่าตกใจอยู่ที่ว่า จากการสุ่มสำรวจคนวัยทำงานกว่า 1,280 คน พบว่า ภาวะของการหมดไฟของกลุ่มคนทำงาน Gen Z หรือช่วงอายุต่ำกว่า 22 ปี มีมากที่สุดถึง 17% ตามมาด้วยกลุ่ม Gen Y หรือข่วงอายุ 23-38 ปี อยู่ที่ 13% ส่วนกลุ่ม Gen X ช่วงอายุตั้งแต่ 38-55 ปี อยู่ที่ 16% และที่น่าสนใจก็คือ คนทำงานในกลุ่ม Baby Boomer หรืออายุ 55-73 ปี ประสบกับภาวะเหล่านี้เพียง 2 เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขที่กลับตาลปัตรเช่นนี้ กลายเป็นว่า กลุ่มคนที่ควรจะหมดไฟ สมควรจะใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์แบบใกล้เกษียณ อย่างกลุ่ม Baby Boomer  กลับประสบพบกับภาวะไฟมอด ‘น้อยกว่า’ กลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยที่ (ควร) เต็มไปด้วยพลังงาน แต่กลับมีพลังไฟในชีวิตริบหรี่ หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘คนแก่มีไฟมากกว่าเด็ก’

จะบอกว่า เป็นตลกร้าย ก็ชักจะขำไม่ออก เพราะเรื่องนี้มีผลต่อการพัฒนาสังคมประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยว่ากันว่า สาเหตุของปัญหานี้เกิดขึ้นจากความซับซ้อนของสังคม ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ลงทุกขณะ มีผลทำให้สภาวะความคิดและจิตใจของคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันแย่ลงไปด้วย ตัวเลข 12% นี่คือที่หมดไฟไปแล้ว ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีกว่า 57% ที่กำลังสุ่มเสี่ยงต่อสภาวะหมดไฟ คิดเล่นๆ หากนำตัวเลขนี้มาบวกกัน จะได้ผลลัพธ์ 69% นั่นแปลความหมายได้ว่า ทั้งหมดคือโลกของคนที่ไฟริบหรี่เหลือจะทน

กล่าวถึง ‘ภาวะหมดไฟ’ ภาษาอังกฤษเรียกว่า เป็นภาวะ Burnout Syndrome ไม่ใช่ภาวะความขี้เกียจทำงาน อันนั้นอาจเป็นกันชั่วครั้งชั่วคราว และเป็นกันได้หมดทุกคน (โดยเฉพาะเวลางานเข้ามาประเดประดัง) แต่อาการนี้เป็นความเครียดสะสม และอาจพัฒนาไปถึงขั้นการเป็นโรคซึมเศร้าได้ในระยะยาว

ตัวเลขประมาณการข้างต้น อาจเป็นเพียงแค่ ‘กลุ่มตัวอย่าง’ นะครับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหากว่า ประชากรของประเทศกว่า 69% โดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นใหม่-วัยทำงาน เกิดอาการซึมเศร้าเหงาเจ็บ หมดพลังงานที่จะสร้างสรรค์งาน หรือสร้างผลิตผลให้กับสังคมประเทศ ลูกโซ่นี้จะกระแทกไปสู่ความเจริญของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการขับเคลื่อนแบบวิ่งเร็วจี๋ ก็จะกลายเป็นเดิน และจากที่เดิน ก็กลายเป็นเดินช้าๆ และจากเดินช้าๆ อาจถึงขั้นค่อยๆ คลาน!

ซึ่งประเทศที่ไร้ศักยภาพของพลเมือง ก็ไม่ต่างอะไรกับวิหารร้างๆ จะให้ใครมาชื่นชมความงดงามในวันที่หยากไย่ขึ้น มันคงไม่มีประโยชน์อันใด

คงเป็นการยาก หากจะไปควานหาตัวการปัญหา อย่างเรื่องความซับซ้อนของสังคมทุกวันนี้ ของมันจะวุ่นวาย ใครจะไปต้านทานได้ เราพลังเดียว จะไปสร้างแรงกระเพื่อมอย่างไร ทางที่ดี แก้ที่ตัวเองง่ายกว่า เบสิคพื้นฐานของปัญหา เกิดตรงไหน แก้ตรงนั้น ถ้าคิดว่าหมดไฟ ก็แก้ที่การจุดไฟให้กับตัวเอง ไม่ต้องไปมองหาปั๊มเชลล์แก๊ส หรือไม้ขีดไฟแช็กที่ไหน เอา ‘ความคิดเชิงบวก’ เข้าจุดนี่ล่ะ หัดมองโลกในมุมบวก และควรรู้จักมองหลายๆ มุม ในความสับสน ซับซ้อน ตลอดจนความยุ่งยากต่างๆ หากค่อยๆ มอง ลองให้เวลากับมันดูสักนิด เราอาจเห็นมิติอื่นๆ ที่ไม่ทันได้เฉลียวดู ซึ่งนั่น…อาจหมายถึง ‘ทางออกที่ดี’

ทิ้งท้ายด้วยข้อมูลเพิ่มเติมจากการสำรวจครั้งนี้ รายงานว่า เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ ‘คนหนุ่มสาว’ หมดไฟในการทำงาน มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องใหญ่ๆ นั่นคือ 1. งานที่เยอะเกินไป ไม่สมดุลกับปริมาณคนทำ 2. ไม่ใช้เครื่องมือหรือระบบมาช่วยลดกระบวนการทำงาน และ 3. โครงสร้างองค์กรไม่ยืดหยุ่น แถมยังเบื่อเจ้านายห่วยๆ (อืม…)  

ที่เห็นมีแค่ 3 แต่เอาเข้าจริง อาจจะมีมากกว่านั้น แต่ต่อให้มีอีกมากมายเท่าไร ถ้าเชื่อว่า ‘ทุกปัญหามีทางออก’ ไฟที่เคยมอด อาจจุดติดขึ้นมาอีกครั้ง ก็เป็นได้…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ