พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญยิ่งของโลก บันทึกคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภาษาบาลี สืบทอดมานานกว่า 2,500 ปี มีเนื้อหามากกว่า 20 ล้านคำ
หากปราศจากพระไตรปิฎก ก็ไม่รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า
หากปราศจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีศาสนาพุทธ
ดังนั้น การปกป้อง รักษา และสืบสานคำสอนนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง สารคดีชุดนี้ จะพาผู้ชมท่องไปในดินแดนต่างๆ เพื่อดูว่าชาวพุทธในแต่ละหนแห่ง ปกป้องและรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้อย่างไร โดยมีรายละเอียดในแต่ละตอน ดังนั้น

1. คำสอนมีชีวิต : อินเดีย
อินเดียคืออู่อารยธรรมที่เป็นต้นกำเนิดศาสนาและความเชื่อมากมายหลายแขนง สารคดีในตอนนี้ จะพาไปสำรวจความเคลื่อนไหวของการฟื้นฟูศาสนาพุทธให้กลับมารุ่งเรืองในดินแดนต้นกำเนิดอีกครั้ง ด้วยแรงสนับสนุนและแรงศรัทธาจากชุมชนชาวพุทธทั่วโลก ทั้งการกลับมาของวัฒนธรรมการสอนพุทธแบบนาลันทา ของมหาวิทยาลัยพุทธโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในโลก การเดินตามรอย ดร.อัมเบ็ดการ์ของชุมชนชาวพุทธใหม่ (Neo-Buddhist) ในอินเดีย ชุมชนพระทิเบตในอินเดีย และวัฒนธรรมการโต้วาทีปริศนาธรรม รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของมหาโพธิสมาคมในเวทีโลก และการปรับตัวของศาสนาพุทธในประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ที่โลกกำลังให้ความสนใจ เพื่อให้ศาสนาพุทธก้าวเดินต่อไปพร้อมกับความเจริญเติบโตของสังคมในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างกลมกลืน

2. มนตราหิมาลัย : ภูฐาน
ภูฏานคือดินแดนใต้เงาหิมาลัยที่สัจธรรมแห่งชีวิตซ่อนอยู่ทุกที่ โดยมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพาน เชื่อมโลกของวัดกับชุมชนเข้าด้วยกัน เขาคือ ลัมมานิป ชายลักษณะครึ่งพระครึ่งฆราวาส ผู้แบกวิหารไม้เคลื่อนที่ ออกตระเวนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจชีวิต เข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยหลักมนตราแห่งความเมตตา กรุณา

3. วิถีพุทธที่ไร้คัมภีร์ : ญี่ปุ่น
ถ่ายทอดผ่านชีวิตของ อิโต ไทจุน พระหนุ่มผู้ตัดสินใจมาขอเข้ารับการฝึกยังวัดรินไซจิ สำนักปฏิบัติธรรมของพระเซ็น นิกายรินไซ สถานที่ซึ่งถูกขนานนามว่ามีหลักปฏิบัติเคร่งครัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดและพยายามเคี่ยวกรำตนเองอย่างหนัก ไม่อาศัยคำพูด ไม่อิงตัวอักษร ชี้ตรงสู่จิตเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติแท้จริงของตัวเองโดยมีจุดหมายคือ ‘ซาโตริหรือสภาวะรู้แจ้ง’

4. ธรรมบุตรแห่งลังกา : ศรีลังกา
นี่คือแผ่นดินที่เสียงแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการจดบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรเป็นครั้งแรก ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดในสังคม ฆราวาส และพระสงฆ์ศรีลังกา ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้องรักษาพุทธศาสนาไม่ให้สูญหายไปจากแผ่นดินลังกา ความเคารพศรัทธาต่อพระภิกษุผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาของชาวศรีลังกา ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน ถ่ายทอดผ่านวิถีของเด็กชายในแต่ละครอบครัว ที่อาสาบวชเป็นพระสงฆ์ตลอดชีวิต เด็กชายหญิงทุกคนได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้การปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนแต่วัยเยาว์ในโรงเรียนสอนศาสนา สืบทอดความเป็นธรรมบุตรแห่งลังกาอย่างเข้มแข็ง

5. อาหารแห่งการหยั่งรู้ : เกาหลี
อยากรู้จักตัวตนของชนชาติไหน ให้ลองเรียนรู้ผ่าน ‘อาหาร’ แม้อาหารจะเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความปรารถนาในชีวิตของมนุษย์ แต่สำหรับชาวเกาหลี การทำอาหารและการกินอาหาร คือวิถีปฏิบัติแห่งจิตวิญญาณสู่การฝึกใจให้กลับสงบนิ่ง และย้ำสัจธรรมความจริงว่าเราเป็นเพียงหนึ่งในสรรพชีวิตเล็ก ๆ ที่ล้วนอิงอาศัยกันอยู่ในห่วงโซ่แห่งธรรมชาติ อาหารยังเป็นเครื่องส่งต่อความสุขและความปรารถนาดีไปยังเพื่อนร่วมโลก คำสอนของพระพุทธเจ้า จึงยังคงมีลมหายใจอยู่ในทุกมื้ออาหารอันแสนธรรมดาและเรียบง่าย

6. เดินทางไกลในความใกล้ : ไทย
ชีวิตพระป่าสายกรรมฐานทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กับเส้นทางการแสวงหาความหมายของชีวิตว่า ‘เราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างไร’ เรื่องราวนำเสนอผ่านกิจวัตรของ พระหนุ่มผู้ปรารถนาจะออกธุงดงค์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต โดยวาดหวังว่าการออกธุดงค์ครั้งนี้จะทำให้เขาค้นพบทางสงบอย่างสมบูรณ์เฉกเช่นพระพุทธเจ้าเมื่อ 2,500 ปีก่อน สุดท้ายเขาได้อะไรจากการเดินทางไกลครั้งนี้ แท้จริงการค้นพบนั้นอยู่ที่ใดกันแน่

7. บรุษแห่งคันธาระ : ปากีสถาน / เอเชียกลาง
แคว้นคันธาระมีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ปัจจุบันอยู่ในดินแดนบางส่วนของอัฟกานิสถานและปากีสถาน ในตอนนี้ จะพาผู้ชมเดินทางค้นหาร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และข้อค้นพบใหม่ทางโบราณคดีของพุทธศาสนาในแคว้นคันธาระ จุดกำเนิดของพระพุทธรูป จากเมืองตักสิลา ถึงหุบเขาสวัติในปากีสถาน รวมถึงแหล่งโบราณคดีสำคัญในเอเชียกลางคือ ประเทศทาจิกิสถานและคีร์กีสถาน ประวัติศาสตร์พุทธที่เงียบงันไปพร้อมกับการต่อสู้และสงคราม รอยต่อสำคัญของพุทธมหายานก่อนเข้าสู่แผ่นดินจีน

8. ศิลปะแห่งความตาย : ทิเบต
“ตายแล้ว เกิดใหม่” เมื่อนักแสวงบุญเดินทางไปยังเขาไกรลาส เพื่อก้าวข้ามสู่ชีวิตใหม่บนความสูงกว่า 5,000 เมตร ค้นหาจุดหมายสูงสุดแห่งชีวิต แท้จริง อะไรคือความตายและการเกิดใหม่ ท่ามกลางสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง ผู้แสวงบุญชาวทิเบตในธรรมศาลา ยังมุ่งหน้าค้นหาสัจธรรมอย่างมุ่งมั่น ไม่เพียงการจาริกสู่ไกรลาสเท่านั้น แต่เป็นการเดินทางไปสู่จุดหมายภายในจิตใจ ไม่ว่าพวกเขาอยู่ที่ใด

9. พุทธที่เท่าเทียม : ไต้หวัน
การสร้างเครือข่ายพุทธที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยเหลือและยกระดับสังคมไปด้วยกัน โดยการก้าวข้ามเส้นแบ่งทางศาสนา เชื้อชาติ ฐานะ เพศสภาพ ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมในโลกสมัยใหม่ แนวคิดและการทำงานของภิกษุณีจาวฮุ่ย กับแนวทางในการเรียนรู้อย่างหนักทั้งทางธรรมและการศึกษาทางโลกของภิกษุณีไต้หวัน เพื่อพิสูจน์ศักยภาพตนเองก่อนที่จะออกไปช่วยเหลือผู้อื่น จนกลายเป็นกำลังหลักของพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพระภิกษุ

10. ลมหายใจแห่งพุทธศาสนา : เมียนมา
ขณะที่พระสงฆ์เมียนมาร์นับพันนับหมื่นรูปเข้าสอบพระไตรปิฎกธร ท่องจำพระไตรปิฏกได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อสืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไม่ให้สูญหาย ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ในชีวิต พระสงฆ์อีกส่วนหนึ่งก็มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคม ด้วยหลักปฏิบัติที่ทำมานับพันปี วัดทำหน้าที่เสมือนโรงเรียน พระสงฆ์ทำหน้าที่เสมือนครู ดังที่อาจารย์ใหญ่ U Nayaka โรงเรียนวัดพอดออู เมืองมัณฑเลย์ เชื่อว่าการทำงานเพื่อช่วยเหลือคนยากจน ก็เสมือนได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นกัน

11. พุทธของผู้อพยพ : บังกลาเทศ / อินเดีย
เรื่องราวของชาวจักม่า กลุ่มชนเผ่าชาวพุทธเถรวาทที่ฝังรกรากอยู่บริเวณแคว้นเบงกอลตะวันออก ก่อนที่สถาบันพุทธจะล่มสลายจากชมพูทวีป ทว่าภายหลังการเกิดขึ้นของพรมแดนรัฐชาติสมัยใหม่บนแคว้นเบงกอล พวกเขาก็กลายเป็นชนกลุ่มน้อยใน อินเดีย พม่า และบังคลาเทศ

12. ดอกบัวแห่งลุ่มแม่น้ำแยงซี : จีน
พระภิกษุ และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่มณฑลชานตุง ได้ช่วยกันสร้างวัดพุทธให้คืนกลับมาสู่หมู่บ้านอีกครั้ง พร้อมแนวคิด Eco Temple ที่มุ่งการอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของคน กับสิ่งแวดล้อม หรือจิตที่บริสุทธิ์อยู่ในร่างกายที่แข็งแรง พระภิกษุที่วัดเจิ่งจั๋ว แห่งภูเขาดอกบัว หันมาสร้างสิ่งแวดล้อมสะอาดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และสอนวิถีอาหารปลอดภัยให้แก่ชุมชน ไปพร้อมกับการปฏิบัติชาสมาธิ เพื่อมุ่งชำระจิตให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นความยึดติด สู่ความว่าง ตามวิถีพุทธมหายานนิกายฌาน หรือ เซน

13. การกลับมาของเสียงพระพุทธเจ้า : ไทย / ลาว
การทำงานของกลุ่มฆราวาส เพื่อศึกษา และ พยายามเผยแพร่พระไตรปิฎกบาลี ในโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งการแปล การสื่อความหมายในพระไตรปิฎก สู่การปฏิบัติใช้ในชีวิตของคนในลุ่มแม่น้ำโขง และการกลับมาของเสียงพระพุทธเจ้า กับการทำงานของคนไทย ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักดุริยางคศาสตร์ และนักปราชญ์ราชบัณทิต เพื่อค้นหา การออกเสียงสวด ที่ถูกต้องใกล้เคียงกับเสียงสังคายนาครั้งแรก เป็นการสร้างมาตรฐานในการออกเสียงด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการดำรงอยู่ของพระพุทธธรรมตลอดไป


สามารถส่ังจอง Box Set ทรงคุณค่านี้ได้ที่ :
บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จากัด (มหาชน)
: 02 241 8000 ต่อ 455 : 02 241 4133
: 084 413 3559
: editor@gmlive.com
โอนเงินเข้าบัญชี :
บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ สาขาศรีย่าน
เลขที่บัญชี 110 0 67890 1
ฟรีค่าจัดส่งทั่วประเทศ / จะได้รับ Box Set ปลายเดือนตุลาคม 2562