fbpx

Brexit มหากาพย์สังเวย 2 นายกผู้ดี และการมาของ ‘บอริส จอห์นสัน’ ชายผู้หวังพาอังกฤษไปสู่ ‘รุ่งอรุณใหม่’

เรื่อง : ชัชวาล อุดมเมฆ

บทสรุปของ Brexit หรือการคิดที่จะออกจากสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักร (UK) หรืออังกฤษที่แสนยาวนานนั้น สุดท้ายก็จบที่อังกฤษเลือกออกจาก EU อย่างเป็นทางการ

ปิดฉากอังกฤษกับการเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการ หลังจากที่เป็นสมาชิก EU มานาน 47 ปี ในเวลา 23.00 น.ของวันศุกร์ที่ 31 ม.ค. 2563 ตามเวลาอังกฤษ 

แน่นอนว่าหลายคน โดยเฉพาะคนในอังกฤษต่อจากนี้ คงรอดูอนาคตของประเทศ หลังจากมีคำประกาศกร้าวจาก ‘บอริส จอห์นสัน’ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนล่าสุด ผู้ที่ข้ามผ่านการเป็นเหยื่อสังเวย Brexit ต่างจาก ‘เดวิด คาเมรอน’ และ ‘เทเรซ่า เมย์’ 2 อดีตนายกฯ ที่ต้องลาเก้าอี้นายกผู้ดีไปเพราะปมปัญหานี้

บอริส จอห์นสัน กลายเป็นผู้ชายที่ถูกจับจ้องโดยทันที หลังจากนำอังกฤษออกจาก EU สำเร็จ โดยเขากล่าวว่า การสิ้นสุดสถานภาพ EU ในครั้งนี้ คือ “การเริ่มต้นรุ่งอรุณใหม่ของอังกฤษ” เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและการเริ่มต้นใหม่ พร้อมทั้งยืนยันว่านี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของสหราชอาณาจักรอย่างแท้จริงของอังกฤษ

จริงๆ แล้วมหากาพย์ Brexit นี้ หากจะว่าไปก็น่าเห็นใจ 2 นายกอังกฤษก่อนหน้าที่ต้องสังเวยเก้าผู้นำของตนไปเพราะ Brexit เนื่องจากการเลือกตัดสินใจเกี่ยวกับการออกหรือไม่ออกจาก EU ในช่วงเวลานั้น มีหลายปัจจัยให้ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน

…ทำไม Brexit จึงมีพลังทำลายล้างถึงขนาดต้องสังเวยนายกฯ อังกฤษไปถึง 2 ราย?

ย้อนไปในปี 1990 ฝรั่งเศส และเยอรมัน มีข้อเสนอให้จัดตั้งสหภาพยุโรป เพื่อช่วยเหลือกันเรื่องนโยบายต่างประเทศ และนโยบายความมั่นคง เพราะการรวมหลายประเทศในยุโรปด้วยกัน จะมีความเป็นปึกแผ่น และมีอำนาจในการต่อรองกับมหาอำนาจในทวีปอื่นๆ ทั้งอเมริกาเหนือ และเอเชีย

มี 12 ชาติสมาชิก ตอบตกลง รวมอยู่ในสหภาพยุโรป (EU) ในปี 1992 โดยสหราชอาณาจักร (UK) หรืออังกฤษ เป็นหนึ่งในนั้น ก่อนที่ในเวลาต่อมา EU จะเพิ่มชาติสมาชิกสูงสุดถึง 28 ประเทศ

สิ่งที่ประโยชน์ของชาติที่อยู่ในสมาชิกของ EU คือ สามารถเคลื่อนย้ายแรงงาน เงินทุน บริการ และสินค้าได้อย่างอิสระ โดยไม่มีกรอบของเชื้อชาติมาขวางไว้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีพาสปอร์ตชาติใน EU คุณสามารถไปทำงานที่ไหนในยุโรปก็ได้ ไม่ต้องขอ Work Permit

นั่นหมายความว่าประชาชนในชาติ EU ก็มีโอกาสได้งานมากขึ้น จากเดิมมีโอกาสหางานแค่ในประเทศตัวเอง

เช่นเดียวกันกับ ตัวสินค้า ไม่ว่าจะผลิตที่ไหน ก็สามารถส่งไปขายในชาติสมาชิก EU ได้หมด โดยไม่มีกำแพงภาษีมากั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าประเทศอังกฤษผลิตสินค้าแล้วขายได้แค่คนในประเทศตัวเอง 60 ล้านคน แต่เมื่อเข้าร่วมกับ EU สินค้าชิ้นเดียวกัน สามารถถูกส่งไปขายให้คนทั้ง EU กว่า 500 ล้านคนได้ โดยไม่โดนเก็บภาษี

…ดูแบบนี้แล้ว ไม่น่าที่จะมีอะไรให้อังกฤษต้องออกจาก EU เลย?

แต่อย่างว่าในประโยชน์ มันมีโทษซ่อนอยู่เสมอ

ประเด็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ UK ต้องการออกจาก EU คือ ‘เรื่องของผู้อพยพ’

การข้ามไปทำงานใน EU ได้อย่างอิสระนั้น ข้อดี คือ คนในประเทศสามารถออกไปหางานที่อื่นได้ แต่ข้อเสียคือ คนต่างชาติก็สามารถเข้ามาแย่งงานคนในอังกฤษได้เช่นกัน

เพราะในอังกฤษนั้นมีภาษาที่คนชาติไหนก็เรียนรู้ได้ง่าย ทำให้มีแรงงานแห่เข้ามาในประเทศกันมาก แถมระยะหลัง EU ยังมีแผนให้ความช่วยเหลือ รับผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง ซึ่งคนอังกฤษส่วนหนึ่งกังวลใจว่า จะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ อีกเพียบ ทั้งการแย่งงานคนท้องถิ่น และการก่อการร้าย นี่คือประเด็นหนึ่ง

ประเด็นต่อมา คือ หลายๆ คนในอังกฤษเริ่มสงสัย EU โดยเฉพาะข้อเสียของอังกฤษกับการเป็นสมาชิก EU มากมาย เช่น ทำไมอังกฤษต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกมากกว่า 8,500 ล้านปอนด์ต่อปี (ราว 3.5 แสนล้านบาท) ซึ่งไม่รู้ว่าได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน เพราะเงิน 8,500 ล้านปอนด์นี้ น่าจะนำมาพัฒนาสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ให้คนในประเทศได้มากเสียกว่า เป็นต้น

ประชาชนแบ่ง 2 ขั้ว ‘ออก – ไม่ออก’

จากตรงนี้ทำให้ประชาชนในอังกฤษ เริ่มแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือพวกต้องการออกจาก EU (Leave) และ พวกต้องการอยู่ต่อ (Remain)

โดย Leave ต้องการให้อังกฤษแยกตัวออกมายืนเป็นเอกเทศ เพราะมองว่าจะไม่โดนรุกล้ำอธิปไตย และไม่เปิดรับผู้ลี้ภัยมากไปกว่านี้ เพื่อรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศเอาไว้

ส่วน Remain คือ พวกที่ยังต้องการอยู่ต่อใน EU ต่อ เพราะเชื่อว่าการมีสหภาพยุโรปหรือ EU คอยหนุนหลัง จะทำให้การต่อรองทางการค้าของอังกฤษ กับชาติอื่นๆ ในโลกยังคงเข้มแข็ง ขณะที่สินค้า และแรงงานอังกฤษ ก็ยังไปตีตลาดในยุโรปได้เช่นเดิม

ปี 2016 การประชามติเกิดขึ้น และเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เลือกจะ Leave หรือเลือกที่จะออก แต่ก็เป็นผลที่เฉียดฉิวอย่างมาก โดยประชาชน 51.9% เลือก Leave และ 48.1 เลือก Remain

แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน คือ เอาประเทศ UK ออกจาก EU ให้ได้

แต่ในมุมของผู้บริหารสูงสุดของประเทศตอนนั้น ดูจะมีความกังวลในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น โดยหลังจากผลประชามติออกมา นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ต้องวนเวียนอยู่กับปัญหา Brexit อย่าง ‘เดวิด คาเมรอน’ ก็ตัดสินใจลาออกทันที เพราะเดิมดูเหมือนเขาจะเลือกเป็นฝ่ายสนับสนุนฝ่ายให้อังกฤษอยู่ต่อใน EU

เผือกร้อนตกมาสู่ ‘เทเรซ่า เมย์’ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในตอนนั้น ให้ขึ้นมารับตำแหน่งแทนนายกอังกฤษคนต่อไปแทน

…อย่างที่บอกว่า ต่อให้ผลโหวตออกมาว่าคนอังกฤษส่วนใหญ่จะอยากให้ประเทศของตนออกจาก EU แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบที่เสียหลายด้าน เช่น

  • ดิ้นรนอย่างลำพัง ต้องไปเจรจากับ EU เพื่อนำสินค้าเข้าไปขายในยุโรป
  • ต้องจัดการเรื่องแรงงานผู้อพยพ อาจมีการส่งตัวกลับประเทศเป็นจำนวนมาก
  • แรงงานที่หายไป เท่ากับตำแหน่งงานที่ว่างลง จะมีใครทำแทน
  • มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษถดถอย ลูกค้าจะลังเลในการเข้ามาซื้อ หากอังกฤษออกจาก EU เนื่องจากเดิมมีฐานลูกค้าทั่วยุโรป
  • และที่หนักสุด คือ กระทรวงการคลังของอังกฤษ วิเคราะห์ว่าถ้าอังกฤษถอนตัวจาก EU แล้ว เศรษฐกิจจะถดถอย และประเทศจะยากจนลงเป็นเวลาขั้นต่ำ 15 ปี

คนที่เผือกร้อนต่ออย่าง เทเรซ่า เมย์ จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับเรื่องนี้อย่างมาก ความพยายามหาทางออกแบบครึ่งๆ กลางๆ ของเธอ หรือเรียกดีๆ หน่อยก็คือการออกจาก EU แบบ ‘นุ่มนวล’ ที่สุด ซึ่งเป็นการหาข้อตกลงบางอย่างที่เอื้อให้ประโยชน์ให้กับอังกฤษ ไม่ใช่หักดิบออกจาก EU มาดื้อๆ จึงมีออกมาเป็นระยะๆ

แรงเสียดทาน 2 ฝั่ง ทำ เมย์ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

นั่นก็เพราะเสียงนักวิชาการทั่วโลก และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ยืนยันว่าถ้าอังกฤษออกจาก EU ประเทศจะสูญเสียอย่างมหาศาล และถ้าเมย์เลือกจะออก แล้วประเทศล่มจมขึ้นมา เธอและพรรคอนุรักษนิยมของเธอจะต้องถูกตราหน้าว่าเป็นคนสร้างความตกต่ำให้กับประเทศ

แต่ถ้าหากเธอไม่ยอมออก เธอก็จะกลายเป็นคนที่ไม่ยอมเคารพเสียงของประชาชนเกินครึ่งประเทศ ที่ผ่านการทำประชามติมาแล้ว ซึ่งอังกฤษถือเป็นประเทศที่ภูมิใจในประชาธิปไตย ที่เคารพเสียงของประชาชนมากเหลือเกิน

เทเรซ่า เมย์ จึงมีการปรับแก้ข้อตกลง Brexit ไปราว 4 ครั้ง เพราะยังหวังที่จะให้การออกนี้แฮปปี้กับทุกฝ่าย ทั้งเคารพเสียงของประชาชน และยังคงระบบเศรษฐกิจที่เจรจากับ EU ไว้ได้ แต่สุดท้ายสภาอังกฤษก็กลับโหวตปัดตกหมดทั้ง 4 รอบ

ความนิยมในตัวเทเรซ่า เมย์ จึงตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะข้อเสนอ Brexit ที่นุ่มนวลไม่ดีพอจะชนะใจรัฐสภาได้ เมื่ออยู่ไปก็แก้ปัญหาไม่ได้ แถมอาจจะทำให้คะแนนนิยมของพรรคอนุรักษนิยมตกต่ำลงเรื่อยๆ เธอจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 มิถุนายน 2019 เป็นการสังเวยเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้กับ Brexit เป็นรายที่ 2

… ‘บอริส จอห์นสัน’ ชายผู้ปักธงชัดว่าอังกฤษต้อง ‘ออก’ จาก EU เท่านั้น

หลังจากนางเทเรซ่า เมย์ ลาออก ก็ถึงเวลาของ‘บอริส จอห์นสัน’ จะเป็นคนที่เอนเอียงมาทางฝั่งสนับสนุนให้ออกจาก EU อยู่แล้ว ซึ่งในช่วงนั้นเป็นเลขาธิการรัฐด้านกิจการต่างประเทศ และก็ได้ประกาศลาออกจากรัฐบาลในยุคของเมย์ เพราะเขามองว่าแผนการของนายกฯ เมย์จะทำให้อังกฤษกลายเป็นอาณานิคมของ EU อย่างแท้จริง

จอห์นสัน เอาชนะคู่แข่งในพรรคอนุรักษนิยม และก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ของอังกฤษ โดยเขาแสดงความแข็งกร้าวและประกาศจุดยืนนำอังกฤษออกจาก EU ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2019 แบบ “ไม่มีคำว่าถ้า ไม่มีคำว่าแต่” 

ตอนนั้น จอห์นสัน เชื่อว่าอังกฤษภายใต้การบริหารของเขาจะสามารถออกจาก EU โดยดีลข้อตกลงได้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม เขาจะเตรียมตัวสำหรับการออกแบบ No-deal Brexit ไว้ด้วย

ฉะนั้นเพื่อให้การเสนอแผน Brexit อย่างเป็นทางการกับ EU ผ่านฉลุยในสภาของประเทศและใน EU เขาจึงพยายามผลักดันการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่เร็วกว่ากำหนดในเดือนธันวาคม 2019 เพื่อหวังล้างไพ่ให้เสียงในสภาเข้าข้างเขา เนื่องจากตัวเขาค่อนข้างเชื่อมั่นในนโยบายด้าน Brexit ที่จะชนะใจคนอังกฤษ

และในเดือนธันวาคม 2019 จอห์นสันก็ชนะได้ท่วมท้นจริง จนเป็นที่มาของการปลดล็อก Brexit สำเร็จ จากการชูนโยบาย ‘ทำ Brexit ให้สำเร็จ’ 

ในวันที่ 31 มกราคม 2020 เวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นอังกฤษ และสหราชอาณาจักร ได้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ และเข้าสู่ ‘ช่วงการเปลี่ยนผ่าน’ เป็นเวลา 11 เดือน

หมายความว่าตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2020 จะเป็นช่วงเปลี่ยนที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมของการ Brexit ตั้งแต่ชื่อและธงชาติอังกฤษจะถูกปลดออกจากสหภาพยุโรป รวมถึงจะไม่มีผู้แทนของ UK เข้าร่วมกับสหภาพยุโรปอีกต่อไป แต่ระหว่างนี้นั้น…

  • การค้าระหว่างอังกฤษ และ อียู ยังคงเดิม ไม่มีการปรับอัตราใด
  • ชาวอังกฤษยังคงมีสิทธิทำงานประเทศใน EU
  • ชาวอังกฤษยังคงเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ใน EU ได้ตามระเบียบเดิม

ตอนนี้อังกฤษและ UK ได้ออกจาก EU ไปแล้วแบบไม่มีทางหันหลังกลับ แต่ทางเดินนี้ยังไม่สิ้นสุดเท่านี้ เพราะ 11 เดือนต่อจากนี้ นายกฯ บอริส จอห์นสันจะต้องหาบทสรุปในดีลข้อตกลงต่างๆ กับ EU ให้ได้ โดยเฉพาะข้อตกลงทางการค้า

เพราะคงไม่ดีแน่ถ้า!! อังกฤษจะต้องออกจาก EU แบบ No-deal Brexit…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ