ควรหรือไม่ และขอบเขตอยู่ที่ใด เมื่อจะใช้ ‘ร่างสมองตาย’ เป็น ‘แม่อุ้มบุญ’ ?
ในทางการแพทย์สมัยใหม่นั้น การ ‘อุ้มบุญ’ หรือการรับฝากครรภ์ ที่สตรีจะทำการอุ้มท้องให้กับคู่รักที่มีปัญหาด้านการมีบุตร เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากล ตามการตกลงพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย และเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่า การยินยอม คือตัวแปรสำคัญในกระบวนการเหล่านี้ เพราะจะมากหรือน้อย ก็เป็นเวลาเก้าเดือน ที่สตรีผู้หนึ่ง จะต้องทำการตั้งครรภ์ และทำหน้าที่ ‘มารดาชั่วคราว’ ที่จะต้องดูแลความพร้อมทั้งด้านสภาพร่างกายและจิตใจ
แต่ถ้าหากสตรีผู้นั้นตกอยู่ภายใต้สภาวะ ‘สมองตาย’ ที่ร่างกายยังทำงาน แต่ไม่อยู่ในสภาพที่รับรู้ หรือรู้สึกตัวใดๆ อีก จะเหมาะสมสำหรับกระบวนการอุ้มบุญอยู่หรือไม่?
นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในนิยามของคำว่าสมองตายในแต่ละประเทศ แตกต่างกัน รวมถึงสภาวะการเสียชีวิตและการดำรงตัวตนในฐานะบุคคลสภาพ ก็ไม่ได้มีข้อกำหนดที่เป็นสากลร่วมกัน ว่าจะต้องอยู่ในระดับใด หรือระยะเวลากี่วัน จึงจะสามารถประกาศได้ว่าเป็นบุคคลผู้ถึงแก่ชีวิตไปแล้ว
จากข้อถกเถียงดังกล่าว Dr.Anna Samjdor ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้เสนอความเป็นไปได้ ที่จะใช้ร่างของสตรีที่อยู่ในภาวะสมองตาย ทำหน้าที่เป็น ‘มารดาอุ้มบุญ’ ด้วยองค์ประกอบของอวัยวะอื่นๆ ที่ยังสามารถใช้งานได้ เช่น ปอด หัวใจ เส้นเลือด และมดลูก เพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้มีบุตรยาก และมีประสิทธิภาพทางด้านการแพทย์
ข้อเสนอนี้ ถูกตีตกและต่อต้าน รวมถึงสร้างความไม่สบายใจให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงกลุ่มสตรีนิยม ว่าเป็นการมองสตรีเพียงวัตถุใช้แล้วทิ้ง รวมถึงเป็นการรุกรานสิทธิทางด้านตัวตน เพราะแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะไม่อยู่ในฐานะที่จะรับรู้สิ่งใด แต่ก็มีสิทธิสภาพเหนือร่างกายตนเองตราบเท่าที่ยังไม่ถูกประกาศว่าหมดสิ้นซึ่งสภาพของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ และใช้ร่างนั้นเป็นมารดาอุ้มบุญ ก็ถือเป็นการละเมิดในสิทธินั้น
ด้าน Dr.Anna Samjdor เล็งเห็นประเด็นดังกล่าว และเชื่อว่า สามารถหาจุดกลางที่ประนีประนอมลงตัว เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้ เช่น การลงนามบันทึกยินยอมล่วงหน้า เพื่อให้อนุญาตใช้ร่างกายสำหรับเป็นมารดาอุ้มบุญ เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องการ เช่นเดียวกับการบริจาคอวัยวะหลังการเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวทางการแพทย์และสิทธิมนุษยชนที่ต้องหาจุดร่วมที่เหมาะสม และพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะเมื่อถึงเวลาจริง เมื่อร่างที่นอนนิ่งอยู่บนเตียงปราศจากการรับรู้ มันอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของการยินยอมก่อนการเข้าสู่สภาวะดังกล่าว แต่รวมถึงกรณีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และผลกระทบด้านจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กที่เกิดจากกระบวนการดังกล่าวด้วย