‘Blind Trust’ เครื่องมือแยกอำนาจการเมือง-ธุรกิจ
การบริหารทรัพย์สินแบบ Blind Trust คืออะไรเงื่อนไขในการโอนทรัพย์สินในกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแบบไหนนักการเมืองคนไหนเคยใช้บริการบริษัทจัดการหุ้นบ้าง
‘Blind Trust’ อาจจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยจำนวนมาก กระทั่งวันนี้ (18 มีนาคม) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงข่าวถึงการจัดการทรัพย์สินของตนโดยการโอนทรัพย์สินให้ ‘บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ.ภัทร)’ จัดการแบบ Blind Trust เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำทางกฎหมาย และสร้างมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น
เงื่อนไขในการโอนทรัพย์สินครั้งนี้มีอยู่ว่า 1.นายธนาธรจะไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองได้ 2.เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้นายธนาธรหรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด และ 3.บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐใดๆ
นอกจากนี้นายธนาธรยังได้ระบุถึงบางส่วนของเงื่อนไขที่อยู่ใน MOU ระหว่างตนกับ บลจ.ภัทร คือจะต้องไม่ซื้อหุ้นไทยทุกตัว และถ้าจะลงในหุ้น ต้องลงทุนในหุ้นต่างประเทศอย่างเดียว เพื่อจำกัดข้อครหาทุกกรณีว่านโยบายที่ออกไปนั้นจะเอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตน พร้อมระบุเงื่อนไขการได้กรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินกลับมาเป็นของตัวเองไว้ว่าจะต้องผ่านไปแล้ว 3 ปีหลังจากพ้นตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น
สำหรับความหมายของการบริหารทรัพย์สินแบบ Blind Trust ก็คือการมอบให้นิติบุคคลหรือบริษัทจัดการทรัพย์สินที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ ซื้อขายหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินที่ทำรายได้ใดๆ แทน ซึ่งนิติบุคคลหรือบริษัทจัดการทรัพย์สินมีอำนาจอิสระในการบริหารและตัดสินใจซื้อและขายทรัพย์สินอย่างแท้จริง โดยปราศจากการรับรู้และอิทธิพลแทรกแซง
วิธีการดังกล่าวเหมาะกับนักการเมืองที่ผัวตัวมาจากนักธุรกิจ หรือบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญที่มีความอ่อนไหวด้านผลประโยชน์ บุคคลเหล่านี้จึงมักจะโอนทรัพย์สินส่วนตัวเข้ากองทุนแบบ Blind Trust ที่เปรียบเสมือนเครื่องมือแยกอำนาจทางการเมืองออกจากอำนาจทางธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเดิมของตนได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราว
นอกจากทำให้ปลอดภัยจากคำครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ประโยชน์ต่อนักการเมืองอีกข้อหนึ่งของ Blind Trust ก็คือ นักการเมืองไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดโดยละเอียด สามารถแสดงแค่เป็น ‘ยอดรวมในกองทุน’ ก็พอ
สำหรับกฎหมายไทยไม่มีการห้ามให้รัฐมนตรีถือหุ้นใดๆ แต่ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ 2543 กำหนดไว้ว่า นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดที่ถือครองหุ้นเกิน 5 % ของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น จะต้องโอนให้ผู้อื่นดูแล ซึ่งต้องแจ้งต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
หรือกรณีที่รัฐมนตรี ต้องการที่จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน ให้จัดทำสัญญากับบริษัทนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุน ส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยดำเนินการตามสัญญาที่ ป.ป.ช. กำหนด
เหตุผลสำคัญที่ พ.ร.บ. จัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี มอบอำนาจให้บริษัทจัดการหุ้นหรือ Blind Trust บริหารหุ้นที่เกิน 5 % และห้ามโอนให้ภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เนื่องจากต้องการให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ตัดขาดจากผลประโยชน์ทับซ้อนโดยเด็ดขาด
และเมื่อสำรวจย้อนหลังกลับไปนับตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 ซึ่งตรงกับสมัยของรัฐบาล ‘ชวน หลีกภัย’ พบว่าสมัยนั้นมีรัฐมนตรี 3 คนที่ประเดิมใช้บริการบริษัทจัดการหุ้น ได้แก่ นายสาวิตต์ โพธิวิหค อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีต รมว.คลัง และและนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีต รมช.พาณิชย์ โดยทั้ง 3 ท่าน ได้มอบอำนาจให้กองทุนรวมไทยพาณิชย์ เป็นผู้บริหารหุ้นแทน
ต่อมาในรัฐบาล ‘พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร’ ไล่มาถึงรัฐบาล ‘พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์’ ไม่มีรัฐมนตรีคนใด มอบอำนาจให้บริษัทนิติบุคคลบริหารหุ้นให้เลย กระทั่งมาถึงรัฐบาล ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ พบว่ามีรัฐมนตรีหลายคนที่มอบอำนาจให้บริษัทนิติบุคคลบริหารหุ้นแทน ได้แก่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย นายวีระชัย วีระเมธีกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.พ.พฤติชัย ดำรงรัตน์ อดีต รมช.คลัง นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต รมช.พาณิชย์ 5. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง
ส่วนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีรัฐมนตรี 3 คน ที่ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทจัดการเข้ามาบริหารจัดการเงินลงทุนของตนเองและคู่สมรส ได้แก่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รอง นายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ อดีต รมว.สาธารณสุข และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์
และปัจจุบันในคณะรัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ มีรัฐมนตรี 3 ท่านที่จ้างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ได้แก่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รองนายกฯ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อดีต รมว.พาณิชย์