fbpx

Beauty and Wonder of the ‘Watches’: สัมผัสเรือนเวลา ที่รังสรรค์มาเพื่องาน Watches and Wonders 2023

เผยโฉมเรือนเวลาคอลเลคชั่นใหม่ที่งาน Watches and Wonders 2023 ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์   รังสรรค์เรือนเวลาไม่รู้จบด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์ จากอดีตสู่อนาคต

สำหรับคาร์เทียร์ เวลานั้นหมุนเวียนเป็นวัฏจักร มิใช่เดินเป็นเส้นตรงอย่างที่นำเสนอทั่วไป วิสัยทัศน์นี้จึงเป็นหนึ่งในคำอธิบายว่าทำไมเมซงคอยพัฒนาปรับเปลี่ยนนาฬิกาและรังสรรค์ทั้งดีไซน์และกลไกขึ้นใหม่อย่างไม่รู้จบ เพื่อนำพาผู้ที่หลงใหลในเรือนเวลาไปสู่อนาคต เรือนเวลาของคาร์เทียร์ประสบความสำเร็จจากการเดินทางด้วยพลังแห่งจินตนาการจากอดีตไปสู่อนาคต ตราบเท่าที่วิวัฒนาการยังดำเนินไปไม่สิ้นสุด ไร้ขีดจำกัดของกาลเวลา ความคิดสร้างสรรค์เป็นอนันต์และในปีนี้คอลเลคชั่นใหม่ของคาร์เทียร์ได้สะท้อนสิ่งนี้ ผ่านเรือนเวลาที่พรั่งพร้อมทั้งรูปทรงและคาแรกเตอร์ ปรับโฉมใหม่ผ่านการสร้างสรรค์อันทรงคุณค่า

Tank คือไอเดียแรกที่หลุยส์ คาร์เทียร์ทำนายว่าจะประสบความสำเร็จ และในปีนี้มีตัวแทนคือ Tank Normale รุ่นใหม่ที่อ้างอิงเรือนแรกสุดจากปี 1917 กับTank Américaine อันภูมิฐาน สองเอกลักษณ์การรังสรรค์เรือนเวลาของคาร์เทียร์ มาเคียงคู่เรือนเวลาที่ได้รับการตีความขึ้นใหม่ อันได้แก่ Pasha, Baignoire, Panthère และ Santos de Cartier รวมถึง Clash [Un]Limited เรือนเวลาที่หลอมรวมมรดกเชิงสุนทรียะของคอลเลคชั่น Clash อย่างสร้างสรรค์และและสร้างวิวัฒนาการให้ก้าวไกลกว่าเดิมจากปัจจุบันที่มุ่งหน้าสู่อนาคต

TANK NORMALE

แต่ละปีเรือนเวลาหายากหนึ่งรุ่นจะได้รับเลือกเข้าสู่คอลเลคชั่น Cartier Privé จุดนัดพบของนักสะสม ซึ่งเฉลิมฉลองและสำรวจเรือนเวลารุ่นตำนานของเมซงผ่านเรือนเวลารุ่นลิมิเต็ดโดยสลักหมายเลขกำกับไว้ วันนี้ Cartier Privé เปิดตัว Tank Normale ผลงานชิ้นที่ 7 ซึ่งเป็นผลงานเดียวซึ่งหลุยส์ คาร์เทียร์ เคยรังสรรค์ขึ้นเมื่อปี 1917 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 2 ปีต่อมา กล่าวได้ว่า Tank คือผลงานที่โดดเด่นที่สุดรุ่นหนึ่งของเมซงและอยู่ในทำเนียบสุดยอดมาสเตอร์พีซในประวัติศาสตร์วงการนาฬิกา

ในปีนี้คาร์เทียร์เนรมิต Tank รุ่น hour/minute ที่หยิบยืมสัดส่วนและหน้าปัดแซฟไฟร์ทรงโดม (beveled) จากเรือนวลาต้นฉบับ โดยใช้วัสดุทั้งตัวเรือนทอง สายหนังอัลลิเกเตอร์สีน้ำตาล และตัวเรือนแพลทินัม สายหนังอัลลิเกเตอร์สีดำ  และยังสามารถเลือกสายแบบกำไลเยลโลว์โกลด์หรือแพลทินัม ขัดแต่งซาตินหรือขัดเงา ให้อารมณ์ยุค 70

คาร์เทียร์ใส่กลไกสเกเลตัน พร้อมกลไกคอมพลิเคชั่น 24 ชั่วโมง ประดับเครื่องหมายพระอาทิตย์และพระจันทร์เสี้ยวแบบสเกเลตันเช่นกัน โดยเข็มนาทีจะหมุนรอบหน้าปัดใน 1 ชั่วโมง ส่วนเข็มชั่วโมงจะหมุนรอบหน้าปัดใน 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ 12 ชั่วโมงเช่นนาฬิกาทั่วไป

ด้วยเหตุนี้การบอกเวลาช่วงกลางวันจึงอยู่บริเวณหน้าปัดครึ่งบน ขณะที่การบอกเวลาช่วงกลางคืนจะปรากฏบริเวณหน้าปัดครึ่งล่าง  เพื่อแสดงการเปลี่ยนผ่านจากกลางวันเป็นกลางคืนช่างนาฬิกาได้เคลือบสีสะพานจักรสเกเลตันแบบไล่น้ำหนัก ด้วยเฉดสีเดียวกับที่ใช้ตกแต่งหน้าปัดทั้งสองส่วน Tank รุ่นสเกเลตัน ผลิตเพียง 50 เรือน พร้อมสลักหมายเลขกำกับทุกเรือน สามารถเลือกทั้งแบบตัวเรือน     เยลโลว์โกลด์ สายหนังอัลลิเกเตอร์สีน้ำตาลอมเขียว ปุ่มไขลานประดับแซฟไฟร์คาโบชงสีน้ำเงิน หรือตัวเรือนแพลทินัม สายหนังอัลลิเกเตอร์สีแดงเบอร์กันดีสลับเทา เม็ดมะยมฝังทับทิมคาร์โบชง และแบบสุดท้ายที่ผลิตเพียง 20 เรือนพร้อมสลักหมายเลขประจำตัว ตัวเรือนฝังเพชรทรงกลมเหลี่ยมเกสร สายหนังอัลลิเกเตอร์สีฟ้าอมน้ำเงิน เม็ดมะยมฝังเพชรเหลี่ยมเกสร

เรือนเวลาเหล่านี้มีรหัสด้านดีไซน์ของ Tank รุ่นดั้งเดิมอยู่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเข็มบอกเวลาสีน้ำเงิน เม็ดมะยมคาโบชง และแบบไม่ฝังเพชร จะมาพร้อมเส้นบอกนาทีรูปรางรถไฟและลายเซ็นลับ

TANK AMÉRICAINE

เปิดตัวเมื่อปี 1989 โดยได้แรงบันดาลใจ ตลอดจนตัวเรือนทรงโค้งมนมาจาก Tank Cintrée แต่ขณะเดียวกันก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะเป็นเรือนเวลารุ่นแรกที่มาพร้อมสายแบบปรับความยาวได้ ที่สอดรับกับหัวบัคเกิลแบบพับได้อันโด่งดัง ซึ่งคาร์เทียร์ได้ยื่นจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 1910

ในปี 2023 สตูดิโอออกแบบของเมซงได้เน้นย้ำดีไซน์ต้นฉบับและรูปทรงโค้งมนของ Tank Cintrée ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยการสลักเส้นสายที่ละเอียดยิ่งกว่าเดิมและดูปราดเปรียวดุจนักกายกรรม ความบริสุทธิ์ของรูปทรงได้รับการเน้นให้เด่นชัดขึ้นอีกด้วยสไตล์ของหน้าปัด และการบูรณาการกรอบข้างตัวเรือนให้เชื่อมกับสายนาฬิกาอย่างไร้ที่ติ

กลไกภายในคือรุ่น 1899 MC ที่ปรับขนาดให้สอดคล้องกับตัวเรือนที่บางลง Tank Américaine 2023 มีให้เลือกในแบบตัวเรือนและสายทองคำ (all gold) แบบตัวเรือนสตีลสายหนัง ตัวเรือนโรสโกลด์ฝังเพชรสายหนัง และตัวเรือนไวท์โกลด์และโรสโกลด์ฝังเพชร บนสายโลหะที่ออกแบบมาสำหรับ Tank Américaine โดยเฉพาะ ข้อสายขัดเงาทุกด้าน เมื่อแสงตกกระทบจึงเปล่งประกายแวววาว

SANTOS-DUMONT

การยกระดับรูปทรงเรียบบางเป็นเอกลักษณ์ของ Santos-Dumont นับเป็นความท้าทายครั้งใหม่สำหรับ Cartier Manufacture ซึ่งนำกลไกจักรกลอัตโนมัติ 9629 MC แบบสเกเลตันที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษออกเปิดตัวในปี 2023

คาร์เทียร์ยังคงมรดกดั้งเดิมและความภูมิฐานของต้นฉบับปี 1904 ไว้อย่างครบถ้วน เรือนเวลา Santos-Dumont รุ่นล่าสุด ผ่านการตีความใหม่ในปี 2019 ในแบบตัวเรือนโกลด์และตัวเรือนสตีล อวดสกรูว์บนตัวเรือน พร้อมเม็ดมะยม beaded crown ทำด้วยคาโบชง     สีน้ำเงิน ภายในบรรจุกลไกสเกเลตันที่ทุกรายละเอียดเชิงโครงสร้างล้วนรังสรรค์ขึ้นเพื่อคารวะนักบินผู้ยิ่งใหญ่ กลไกที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และเรื่องราวนี้ประกอบด้วยจานเหวี่ยง (functional oscillating weight)ขนาดจิ๋วรูปเครื่องบิน Demoiselle (เดอมัวแซลล์) อากาศยานรุ่นบุกเบิกที่ซานโตสดูมงต์ออกแบบไว้เมื่อปี 1907 สัญลักษณ์นี้ยิ่งมองก็ยิ่งทรงพลัง เพราะดูราวกับมันทะยานขึ้นเหนือลูกโลก

ผลงานเชิงสุนทรียะและเทคนิคที่ทำขึ้นเพื่อคารวะอัลแบร์โต ซานโตสดูมงต์ชิ้นนี้เป็นความสำเร็จที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่นักบินผู้ยิ่งใหญ่เคยจารึกไว้ ซานโตสดูมงต์เป็นบุรุษที่ตั้งเป้าสูงกว่าเดิมเสมอ เขาออกแบบอากาศยานกว่า 22 ลำ จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแล้วชิ้นเล่า ทั้งยังเสี่ยงชีวิตทุกครั้งที่นำเครื่องขึ้นทดลองบิน สำหรับกลไกไมโคร-โรเตอร์ (micro-rotor) แบบใหม่เป็นผลงานที่ Cartier Manufacture    ที่ La Chaux-de-Fonds (ลา โช เดอ ฟง) โดยใช้เวลาพัฒนาเกือบ 2 ปี และนำมาประกอบชิ้นส่วนขึ้นทั้งหมด 212 ชิ้น

เรือนเวลา Santos-Dumont กลไกสเกเลตัน ในแบบตัวเรือนโรสโกลด์และตัวเรือนสตีล ยกระดับความภูมิฐานขึ้นอีกขั้น และยังมีรุ่นลิมิเต็ด ตัวเรือนเยลโลว์โกลด์เคลือบแลคเกอร์สีกรมท่า ที่รายละเอียดทุกส่วน รวมถึงขอบหน้าปัดและตัวเรือนล้วนเคลือบแลคเกอร์ โดยสะพานจักรแบบสเกเลตันนั้นเคลือบแลคเกอร์ด้วยมืออย่างประณีต

THE NEW BAIGNOIRE WATCH เสน่ห์ในรูปแบบการวางซ้อนกันของสองวงรี

Baignoire ได้รับการรังสรรค์ขึ้นเมื่อปี 1912 และผ่านการปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง ดุจความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุดผ่านรูปทรง อันทรงคุณค่า เรือนเวลา Baignoire ดำเนินรอยตามแบบแผนความต่อเนื่อง โดยคงรูปลักษณ์ของตัวเองไว้เสมอ  

ในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนทั้งในแง่ขนาดและการทำงาน การปรับสัดส่วนส่งผลให้ขอบทอง เหนือหน้าปัดและตัวเลขโรมันมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และคาร์เทียร์ยังนำรูปทรงของหน้าปัดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Baignoire มาใช้กับขอบตัวเรือน เพื่อให้แนบสนิทกับข้อมือ นับเป็นการให้กำเนิดลูกผสมที่ล้ำค่าของนาฬิกากับจิวเวลรี่

แนวคิดใหม่เพิ่มความเย้ายวนให้คาแรกเตอร์ของนาฬิกาที่รับประกันความใส่สบายด้วยตัวเรือนโค้งมน เรือนเวลา Baignoire รุ่นล่าสุด ทั้งแบบตัวเรือนโรสโกลด์ เยลโลว์โกลด์ และฝังเพชรทั้งเรือน ล้วนยกย่องเชิดชูนาฬิกาเรือนทองต้นฉบับที่เปล่งประกายงดงามในแสงอาทิตย์ ความบริสุทธิ์ของเส้นสาย ความแม่นยำของรูปทรง สัดส่วนที่เฉียบคม และรายละเอียดล้ำค่า คือสิ่งที่ทำให้ Baignoire เป็นเรือนเวลาสำคัญที่ขาดไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการออกแบบของคาร์เทียร์ และยังสามารถนำไปใส่คู่ผลงานระดับไอคอนชิ้นอื่นๆ ของเมซง สลับสับเปลี่ยนได้ไม่รู้จบ  

ด้วยขนาดที่บอบบาง Baignoire ดูมีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวบนสายหนังสีดำเคลือบเงา ความเป็นกูตูร์และอาจรวมถึงความประณีตยิ่งกว่าเดิม ทำให้เรือนเวลารุ่นนี้แสดงความโดดเด่นเฉพาะตัวอย่างแม่นยำไม่ต่างจากเดิม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยยังคงไว้ซึ่งตัวตนที่แท้จริง

THE CLASH [UN]LIMITED

ลักษณะเรือนเวลา ของ Clash [Un]Limited คือกลไกที่ภูมิฐานและงดงามโดดเด่น เป็นจิวเวลรี่วอทช์ที่ผสานชั้นเชิงกับพลังอำนาจด้วยเม็ดมะยม หมุดปิโกต์ คลู คาร์เร (clou carrés) และความยืดหยุ่น รหัสของ Clash de Cartier หลั่งไหลดุจสายน้ำ สอดประสาน สร้างวิถี และเผยตัวตนในรูปเรือนเวลาล้ำค่า

รูปทรงเรขาคณิตปรากฏให้เห็นอย่างสม่ำเสมอตามสไตล์ของเมซง ไม่ว่าจะเป็นเหลี่ยมมุมตัวเรือน หน้าปัดทรงโดม การใช้พื้นที่และการทิ้งช่องว่าง ตลอดจนองค์ประกอบทรงกลมและทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นวัฒนธรรมการออกแบบที่คานกันอย่างสมดุลกับความแม่นยำเชิงเรขศิลป์ของคาร์เทียร์โดยผ่านการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการกลอกกลิ้งทับกันของลูกปัด หรือบานพับสายนาฬิกา ที่ล้วนทำขึ้นเพื่อสร้างสัมผัสนุ่มนวลบนผิว

ความทะเยอทะยานที่จะเนรมิตโครงสร้างให้นาฬิกา และรังสรรค์มุมมองเชิงลึก จากรูปทรงของสายนาฬิกาทุกข้อ จนถึงตัวเรือนขนาดมินิ พร้อมกระจกเจียระไน 16 เหลี่ยม ที่ขับเน้นเส้นสายให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

เรือนเวลาเรือนนี้ทำให้นึกถึงมรดกของฌานน์ ตูแซงต์ (Jeanne Toussaint) รวมถึงการสัมผัสได้ของความรู้สึกแห่งพลังอันแรงกล้าที่จะสร้างการปะทะอันแพรวพราว ระหว่างความล้ำค่ากับสุนทรียะแนวอุตสาหกรรมของลูกปืน ความเชื่อมโยงตามธรรมชาติระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ที่เห็นได้ใน Clash [Un]Limited ใช้ความตัดกันของสีเป็นตัวเน้นแม่แบบเรขาคณิต โดยวิธีแรกคือใช้ทองขัดลายสลับกับทองขัดซาติน จากนั้นจึงผสานทองเยลโลว์โกลด์หรือโรสโกลด์กับทองเฉดสีใหม่ประกายเหลือบม่วงไวโอเล็ต ที่พัฒนาขึ้นเพื่อคาร์เทียร์โดยเฉพาะ ทองเฉดนี้ปรากฏทั้งบนคลู คาร์เร่ และตุ่มบนสายนาฬิกา Clash [Un]Limited รุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น นำเสนอธีมเดียวแต่หลากหลายในรายละเอียด ด้วยวัสดุทองเยลโลว์โกลด์ โรสโกลด์ หรือไวท์โกลด์ ฝังเพชร ทั้งยังจับคู่นาฬิกาเรือนเด่นกับอัญมณีที่ขับเน้นดีไซน์ให้สะดุดตายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทนสีขาวดำของออนิกซ์ แบล็กสปิเนล ออบซิเดียน และเพชร หรือโทนหลากสีจากคอรัล แบล็กสปิเนล คริสโซเพรส    ซาโวไรต์ และเพชร เรือนเวลา Clash [Un]limited จากสตูดิโอออกแบบคาร์เทียร์ คือหนึ่งในผลงานจิวเวลรี่วอทช์สุดสร้างสรรค์ของเมซง

LA PANTHÈRE DE CARTIER

เสือแพนเตอร์สัญลักษณ์ของคาร์เทียร์สร้างเสน่ห์ดุดันให้จิวเวลรี่วอทช์รุ่นล่าสุดของคาร์เทียร์ ที่กรามของเสือขบหน้าปัดเคลือบแลคเกอร์  สีดำ สีเดียวกับลายจุดที่สร้างชื่อให้สัตว์สัญลักษณ์ของเมซง ความดุดันและสัญชาตญาณแห่งป่าทำให้เรือนเวลารุ่นนี้เป็นน้องใหม่ที่เปี่ยมด้วยชั้นเชิงในคอลเลคชั่นล้ำค่า La Panthère และเป็นผลงานชิ้นเอกที่ได้ความสง่างามมีชีวิตชีวาจากความเชี่ยวชาญการทำเครื่องประดับ การตกแต่งขั้นสุดท้ายด้วยมือ การสร้างลายจุดด้วยงานแลคเกอร์และขัดเงา รวมทั้งการทำเซ็ตติ้ง ความท้าทายและความเข้มแข็งที่ฉายชัดสื่อถึงคาแรกเตอร์ที่แข็งแกร่งของนาฬิกาประดับประติมากรรมหัวเสือแพนเตอร์ที่ออกแบบมาให้ทุกส่วนเป็นสามมิติ     ไม่ว่าจะเป็นจมูก แก้ม ดวงตา หรือใบหูแหลมตั้ง แนวทางสถาปัตยกรรมที่ใช้กับเสือแพนเตอร์นี้สืบทอดโดยตรงจากเครื่องประดับที่เปิดตัวในปี 2005 และใช้การเจาะเป็นรูปทรงเรขาคณิตร่วมกับมุมแหลม ดีไซน์ที่แม่นยำพรั่งพร้อม สอดคล้องกับสายนาฬิกาที่พัฒนาโดยสตูดิโอสร้างสรรค์และ Manufactureของเมซง เชื่อมด้วยบานพับที่ซ่อนไว้อย่างแนบเนียน ให้ความยืดหยุ่นสูงสุดตลอดเส้น ยามสวมใส่จึงแนบสนิทไปกับข้อมือ เปี่ยมเสน่ห์อย่างแนบสนิทไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือนเยลโลว์โกลด์หรือโรสโกลด์แต้มแลคเกอร์สีดำ ฝังพลอยซาโวไรต์ที่ดวงตา หรือตัวเรือนไวท์โกลด์ฝังเพชรและฝังมรกตที่ดวงตา ก็มีเสน่ห์ดึงดูดจนไม่อาจละสายตา

PIAGET EXTRALEGANZA

สำหรับ Watches and Wonders 2023 เพียเจต์ยังคงขีดเขียนตำนานบทใหม่ไม่หยุดยั้ง โดยหยิบเอาความขบถที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการนาฬิกาและจิวเวลรี่ช่วงยุค 1960s และ 1980s มาผสานลงบนแก่นกลางของการรังสรรค์เรือนเวลาชิ้นใหม่ สะท้อนจิตวิญญาณของแบรนด์อย่าง bold, distinctive, original ให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างทรงพลัง

“To always do better than necessary” คือ ปรัชญาที่เมซงยึดมั่นมาจนถึงปัจจุบัน ชิ้นงานในแต่ละคอลเลกชั่นจึงสอดแทรกไปด้วยหัตถศิลป์อันละเมียดละไมไม่ว่าจะเป็น goldsmithing ทักษะของช่างทองในอเตลิเยร์ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ออกมานอกกรอบและเป็นที่น่าจดจำ, ornamental stones ที่ท้าทายตั้งแต่การแสวงหาหินสี ไปจนถึงรูปแบบการเจียระไนเพื่อรักษามู้ดแอนด์โทนของชิ้นงานให้ไล่เรียงเฉดกันอย่างกลมกลืน, high jewellery gem-setting ขึ้นชื่อว่าอัญมณี แต่ละชนิดก็ใช้เทคนิคที่ต่างกัน นอกจากคำนึงถึงฟังก์ชั่นและสุนทรียศาสตร์ในการออกแบบแล้ว องค์ประกอบอย่าง ความเปราะบาง ความโปร่งใส ขนาด ก็ต้องอาศัยชั้นเชิงของช่างไม่แพ้กัน

เพียเจต์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1874 ณ หมู่บ้าน La Côte-aux-Fées ซึ่งแทรกตัวอยู่ในเขตเทือกเขา Jura แม้ขณะนั้นจะเป็นเพียงโรงงานผลิตชิ้นส่วนกลไก แต่ทุกชิ้นส่วนคุณภาพสูงกลับถูกกว้านซื้อโดยบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำเพื่อนำไปรังสรรค์เรือนเวลาของตนเองทั้งสิ้น – ปี 1957 หน้าประวัติศาสตร์สำคัญของเพียเจต์ที่ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบอกเวลาชั้นสูง คือ การเปิดตัวกลไกจักรกลที่บางที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น อย่าง Caliber 9P ด้วยความหนาเพียง 2 มิลลิเมตร ผลงานซิกเนเจอร์นี้กลายเป็นลายเซ็นที่สร้างชื่อให้เพียเจต์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะของผู้ผลิตนวัตกรรมเรือนเวลาที่สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยความเพรียวบางอย่างคาดไม่ถึง นอกจากนี้เพื่อแสดงความเคารพต่อหัตถศิลป์ชั้นยอด เมซงยังหยิบเอาวัสดุล้ำค่า อย่าง ทองคำ หรือ แพลทินัม มาประกอบเป็นตัวเรือนเข้ากับ Caliber 9P อีกด้วย ซึ่งหลังจากแบรนด์ประกาศทิศทางการทำงานโดยมุ่งเน้นไปที่การใช้โลหะมีค่า หรือ precious metal มาผลิตนาฬิกาเท่านั้น น้อยคนนักที่จะอ่านเกมได้ว่าทักษะความเชี่ยวชาญของช่างทองในเมซงจะถ่ายทอดชิ้นงานออกมาได้ตราตรึงมากน้อยเพียงใด จนกระทั่งในปี 1969 ก่อนก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพียเจต์ได้เผยโฉมคอลเลกชั่นที่เต็มไปด้วยความล้ำสมัย กับผลงานการออกแบบที่หลอมรวมคอนเซ็ปต์ และกลิ่นอายของความเป็นกูตูร์จากรันเวย์ที่ปารีสได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาสไตล์ Cuff watch และ นาฬิกาที่มาในดีไซน์สร้อยเส้นยาวแบบ sautoir ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็คือ Valentin Piaget โดยเขาได้ส่งทีมดีไซเนอร์เข้าร่วมชมโชว์โอตกูตูร์ ก่อนนำแรงบันดาลใจกลับมายังสตูดิโอที่    สวิตเซอร์แลนด์

สำหรับปี 2023 นี้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อศาสตร์ด้านการทำทองที่บ่มเพาะมาอย่างยาวนานของเมซง
คอลเลกชั่นใหม่ที่นำเสนอจึงผนวกทักษะอันเป็นเลิศของช่างฝีมือไว้ครบครัน อย่างเช่น

High Jewellery Swinging Sautoir

ที่เน้นการเอาทองคำบิดเกลียวมารังสรรค์ ซึ่งกว่าจะได้ดีไซน์แบบบิดเกลียวที่พอเหมาะกับชิ้นงาน ต้องใช้เวลาในการขึ้นรูปแต่ละเส้นไม่น้อยกว่า 130 ชั่วโมง โดยช่างฝีมือจะเริ่มต้นจากนำเส้นลวดทองคำมาพันรอบ mandrel เพื่อให้ได้ลักษณะเป็นขด จากนั้นนำมาบิดต่อด้วยมือทีละเส้น ก่อนถักทอและประกอบเข้าด้วยกัน และนี่คืองานคราฟต์ชั้นครูทั้ง 2 ชิ้น ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของ sautoir watch ปี 1969

G0A48060 – มาในสไตล์ tassel โดดเด่นด้วยมรกตเจียระไนทรงคาโบชงจากแซมเบีย ขนาด 25.38 กะรัต ที่ถูกออกแบบให้รับกับดีไซน์หน้าปัดรูปไข่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซิกเนเจอร์ดั้งเดิมของเมซงตั้งแต่ยุค 1960s

G0A48061 – ถือเป็นอีกไฮไลต์ที่ต้องพูดถึง มาพร้อมตัวเรือนโอบล้อมด้วยทองคำบิดเกลียว รับกับหน้าปัดที่แกะสลักลวดลายแบบ Palace Décor หนึ่งในเทคนิคหัตถศิลป์เก่าแก่ของเมซง

Limelight High Jewellery Cuff watch

นาฬิกาทรงกำไลเป็นที่นิยมอย่างมาก นับตั้งแต่เพียเจต์เปิดตัวครั้งแรกในปี 1969 ซึ่งนอกจากจะประดับด้วยฮาร์ดสโตน
หลากสีสันแล้ว ยังหลอมรวมศาสตร์แห่งทองคำไว้ด้วยเช่นกัน อาทิ

Palace Décor ถือเป็นหนึ่งในเทคนิคหัตถศิลป์เก่าแก่ของเมซงที่มีมาตั้งแต่ยุค 1960s และได้รับแรงบันดาลใจจากเทคนิคการแกะสลักลวดลายกิโยเช่ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกา โดยช่างฝีมือจะใช้อุปกรณ์เฉพาะทางที่มีปลายแหลม ในการสร้างลวดลายลงบนสายนาฬิกาเพื่อให้ดูมีมิติสมจริงและมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก

G0A48255 – Cuff watch ที่นำเสนอประกายของทองคำผ่านเทคนิค Palace Décor มาพร้อมหน้าปัดประดับด้วยอัญมณีเทอร์ควอยซ์เฉดสีหายากอย่าง สีเปลือกไข่นกโรบิน หรือ robin-egg blue ขอบตัวเรือนประดับแซฟไฟร์ไล่เฉดสีโทนเดียวกับหน้าปัด

นอกจาก Palace Décor ที่เป็นซิกเนเจอร์แล้ว ยังต่อยอดแรงบันดาลใจเป็นแพทเทิร์นต่างๆ ที่มักถ่ายทอดต้นแบบมาจากธรรมชาติ ตลอดจนความมหัศจรรย์อื่นๆ อีกมากมาย อาทิ 

G0A48254 – Cuff watch มาพร้อมตัวเรือนและสายนาฬิกาที่ชวนให้นึกถึงเท็กซ์เจอร์ของเปลือกไม้และลายของเนื้อไม้ ประดับหน้าปัดด้วยโอปอลสีขาว

G0A48256 – Cuff watch นาฬิกาทรงกำไลที่จำลองความมหัศจรรย์ของน้ำค้างแข็ง หรือ frost ในฤดูหนาวมาไว้บนตัวเรือนได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่หน้าปัดประดับด้วยแบล็คโอปอลและมรกตไล่เฉดสีบริเวณขอบตัวเรือน

ความแปลกตาอีกอย่างที่ช่วยส่งให้ Cuff watch ทั้ง 3 ดีไซน์นี้ไม่เหมือนใคร คือ การออกแบบในสไตล์อสมมาตร ราวกับว่าองค์ประกอบของหน้าปัดค่อย ๆ แทรกตัวออกมาจากนาฬิกาทรงกำไลอย่างสง่างาม

Piaget Polo Perpetual Calendar Obsidian

หลังเมซงปล่อย Piaget Polo Perpetual Calendar พื้นหน้าปัดสีเขียวตกแต่งลาย godrons ที่ผนวกคอมพลิเคชั่นมูนเฟสเข้ามาในคอลเลกชั่นเพียเจต์ โปโล ได้สำเร็จ ล่าสุดได้ปลดล็อกความท้าทายอีกขั้น ด้วยการหยิบเอาหินสีมาสร้างสรรค์หน้าปัด โดยแบรนด์เลือกใช้ออบซิเดียนเฉดสีน้ำเงินเพื่อสื่อถึงท้องฟ้าที่มีชีวิตชีวายามค่ำคืน ขณะที่ประกายเหลือบสีเงินบนหน้าปัด เป็นความแวววาวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากมนทินของผลึกแร่ หรือ ของเหลวซัลไฟด์ที่อุดมด้วยแร่ธาตุเกิดการแข็งตัวในเนื้อออบซิเดียน ซึ่งแม้จะเป็นหินสีชนิดเดียวกันแต่เสน่ห์ของเรือนเวลาชิ้นนี้ย่อมมีความเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ยังเลือกตกแต่งขอบตัวเรือนด้วยแซฟไฟร์เฉดสีเดียวกันอีกด้วย

Aura High Jewellery watch

หากเอ่ยถึงเรือนเวลาและเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูง เพียเจต์คือหนึ่งในไม่กี่เมซงที่มีความเชี่ยวชาญในทั้งสองศาสตร์
อย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่ปี 1957 โดยหนึ่งในผลงานที่กลายเป็นไอคอนิกชั่วพริบตาเมื่อครั้งเปิดตัวในปี 1989 ก็คือ นาฬิกา
ไฮจิวเวลรี่ Aura ซึ่งตั้งชื่อตามการส่องประกายของอัญมณีที่ชวนให้ลุ่มหลงและไม่ว่าใครก็ต่างหยุดมอง

นอกจากนำเสนอความท้าทายในเชิงเทคนิคของสายนาฬิกาและตัวเรือนที่ผสานเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว การฝังเพชรแต่ละเม็ดให้เรียงตัวอย่างประณีตและเชื่อมต่อกันอย่างแนบสนิทไร้รอยต่อถือเป็นอีกหนึ่งไมล์สโตนที่แบรนด์พัฒนาดีไซน์และก้าวผ่านขีดจำกัดดั้งเดิมได้อย่างไร้ที่ติ

ล่าสุดเพียเจต์ได้หยิบความสง่างามของ Aura มาถ่ายทอดอีกครั้งโดยเรียงร้อยความงดงามของเพชรและแซฟไฟร์เข้าด้วยกัน ซึ่งเมซงใช้เวลากว่า 8 เดือนในการแสวงหาแซฟไฟร์เพื่อให้ได้โทนสีน้ำเงินที่ไล่เฉดตามต้องการ โดยแต่ละเม็ดฝังแบบ ultra-thin claw ซึ่งเทคนิคนี้นอกจากจะไม่ปรากฏหนามเตยให้เห็นแล้ว ยังช่วยให้แสงส่องผ่านอัญมณีมากขึ้น จึงส่งมอบชิ้นงานที่ส่องประกายระยิบระยับได้อย่างไร้ที่ติ ขณะที่หน้าปัดตกแต่งด้วยเพชรทรงบาแก็ตต์ที่เรียงตัวเป็นลายรัศมีดวงอาทิตย์ ซึ่งขั้นตอนการฝังอัญมณีทั้งหมดใช้เวลากว่า 260 ชั่วโมง มีให้เลือกทั้งหมด 2 ขนาด และขับเคลื่อนโดยกลไก 430P แบบไขลานด้วยมือที่บางเฉียบเป็นพิเศษของเมซง

…ช่างฝีมือของเพียเจต์ผ่านการบ่มเพาะหัตถศิลป์ต่าง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นเหมือนสัญชาตญานที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการทำทองที่สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานที่พลิ้วไหวราวกับเสื้อผ้าโอต์กูตูร์, เทคนิคการแกะสลักที่เสริมประกายงามของวัสดุแต่ละชิ้นให้เจิดจรัส, การสรรหาหินสี ตลอดจนรูปแบบการฝังอัญมณี กล่าวได้ว่า เพียเจต์ยังคงรักษาความประณีตบรรจงในทุกรายละเอียด ขณะเดียวกันก็กล้าที่จะเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ และค้นหาแรงบันดาลใจที่สร้างสรรค์ เพราะทุกชิ้นงานเปรียบดั่งผลงานทางศิลปะอันล้ำค่านั่นเอง…

Hamilton Jazzmaster Performer ซีรีส์ใหม่ ดีไซน์ที่จะพาคุณก้าวไปอีกระดับของความสปอร์ตร่วมสมัย

Hamilton แบรนด์นาฬิกาสไตล์อเมริกัน สัญชาติสวิสฯ เปิดตัวเรือนเวลาซีรีส์ใหม่ Hamilton Jazzmaster Performer ผสมผสานดีไซน์คลาสสิคแบบสปอร์ตอย่างลงตัว อีกหนึ่งคอลเลกชั่นแห่งความภาคภูมิใจ ของแบรนด์แฮมิลตัน ด้วยการออกแบบที่ตั้งใจให้ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน ก้าวข้ามขีดจํากัดเหนือกาลเวลา พร้อม รับทุกไลฟ์สไตล์ เพื่อเป็นนาฬิกาคู่ใจที่พร้อมลุยไปในทุกที่ มาพร้อมขนาดหน้าปัด 42 มม. 38 มม. และ 34 มม.

คอลเลกชั่น Jazzmaster (แจสมาสเตอร์) ถือเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นยอดนิยมของ Hamilton มาอย่าง ยาวนาน ด้วยความคลาสสิคและดีไซน์ที่โดดเด่นทําให้นาฬิการุ่นนี้เป็นที่รู้จักกันดีในด้านของรูปลักษณ์อันโฉบเฉี่ยว สามารถเข้าได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย และยังใส่ใจในเรื่องของประสิทธิภาพ โดยซีรีส์ใหม่ Hamilton Jazzmaster Performer ได้เน้นชูความสปอร์ตแบบคลาสสิค ซึ่งในครั้งนี้ได้เปิดตัวมา ทั้งหมด 3 ขนาดหน้าปัด ตัวเรือนทําจากสแตนเลสสตีล ขับเคลื่อนด้วยกลไกมาตรฐานพิเศษจากแฮมิลตัน พร้อม พลังงานสํารองยาวนาน ดีไซน์มาเพื่อตอบโจทยท์ างด้านรูปลักษณ์และฟังก์ชันการใช้งาน

Hamilton Jazzmaster Performer รุ่น Automatic Chronograph นาฬิการุ่นใหญ่ของซีรีส์นี้ ที่มา พร้อมหน้าปัดสแตนเลสสตีลขนาด 42 มม. ขับเคลื่อนด้วยกลไกโครโนกราฟอัตโนมัติ H-31 ที่มีคุณภาพจากแบรนด์ แฮมิลตัน พร้อมพลังงานสํารอง 60 ชั่วโมง สายใยนวัตกรรม NivachronTM สามารถต้านทานแรงจากสนามแม่เหล็ก เสถียรและทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ รวมถึงสามารถทนแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี เลือกสไตล์ที่ ตอบโจทย์ด้วยหน้าปัดสีดํา น้ําเงินและขาว

Hamilton Jazzmaster Performer รุ่น Automatic ขนาดหน้าปัด 38 มม. และ 34 มม. รุ่นขนาดกลาง และขนากเล็กของซีรีส์ ที่มากับหน้าปัดสแตนเลสสตีล และพลังงานสํารองถึง 80 ชั่วโมง ด้วยกลไกระบบไขลาน อัตโนมัติ H-10 และสายใยนาฬิกานวัตกรรม NivachronTM เหมือนกับรุ่นโคโนกราฟ ดีไซน์เรียบหรูแต่ยังคงไว้ซึ่ง ความสไตล์สปอร์ตสุดคลาสสิค กันน้ําได้ 100 เมตร คสาคสิคอย่างสไตล์ @hamiltonwatch Jazzmaster Performer นาฬิกาสไลต์สปอร์ตร่วมสมัยที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อ ทุกความท้าทาย ด้วยดีไซน์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากกีฬาและเสน่ห์เหนือกาลเวลา

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ