Reason to read:
- Arthdal Chronicles : อาธดัล สงครามสยบบัลลังก์ ซีรีส์เกาหลีกระแสแรงทาง Netflix ทันทีที่ลงฉายก็ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Game of Thrones นำแสดงโดย ซง จุง-กิ และ คิม จี-วอน จาก Descendants of the Sun และยังมีสมาชิกจากวง BLACKPINK และ 2PM มาร่วมแสดงด้วย
ถ้าพูดถึงซีรีส์ Arthdal Chronicles หรือในชื่อไทยคือ ‘อาธดัล สงครามสยบบัลลังก์’ มั่นใจว่าคอซีรีส์เกาหลีอาจจะคุ้นหูคุ้นตามาบ้าง หรืออาจจะกำลังติดตามความเข้มข้นของซีรีส์เรื่องนี้อย่างใจจดใจจ่ออยู่ก็เป็นได้ ที่มั่นใจอย่างนั้นก็เพราะเรื่องนี้กระแสค่อนข้างแรง ทั้งในส่วนของนักแสดงนำระดับแม่เหล็กของแดนโสมขาวอย่าง ซง จุง-กิ (Song Joong-ki) จาง ดง กอน (Jang Don Gun) คิม จี-วอน (Kim Ji-won) และ คิม อ๊ก-บิน (Kim Ok-bin) และยังมีกระแสที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับซีรีส์ดังระดับโลกอย่าง Game of Thrones มหาศึกชิงบัลลังก์ อีก

แต่ก่อนจะไปถึงสองประเด็นนั้น ขอพูดถึงเนื้อเรื่องก่อนดีกว่า Arthdal Chronicles ว่าด้วยเรื่องของตำนานการสร้างชาติ การแย่งชิงอำนาจในยุคแรกเริ่มของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ (มนุษย์สายพันธุ์เดียวที่อยู่รอดมาจนปัจจุบัน) หรือยุคที่มนุษย์เพิ่งเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้ไฟ ประดิษฐ์ใบมีด ประดิษฐ์ล้อและเริ่มปูลาดทาง เริ่มรู้จักการเกษตร และเริ่มลงหลักปักฐาน แต่ยังไม่มีชาติหรือกษัตริย์และยังอยู่แยกกันเป็นเผ่าพันธุ์ต่างๆ โดยมีความเชื่อเรื่องการบูชาเทพเจ้าอย่างแรงกล้า
แนวคิดการสร้างชาติริเริ่มจากเผ่าพันธุ์ที่อาจจะเรียกได้ว่า ‘หัวก้าวหน้า’ ที่สุดในยุคนั้น นั่นก็คือ ‘มนุษย์’ โฮโมเซเปียนส์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนอาธดัล ชาวอาธดัลได้เริ่มเจรจากับเผ่าพันธุ์ ‘นีแอนทัล’ ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ทุกประการ ผิดแค่มีสะเก็ดสีน้ำเงินบนแผ่นหลัง มีเลือดสีน้ำเงิน เปี่ยมไปด้วยพลังกาย ว่องไวและแข็งแกร่งเหนือมนุษย์ธรรมดา ชาวอาธดัลได้เจรจาขอให้นำความแข็งแกร่งของนีแอนทัลมารวมกับสติปัญญาและอารยธรรมของชาวอาธดัลเพื่อสร้างชาติและปกครองเผ่าพันธุ์อื่นร่วมกัน แต่กลับถูกนีแอนทัลปฏิเสธ สุดท้ายเมื่อการเจรจาไม่เป็นผลก็นำไปสู่สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เรื่องราวค่อยๆ พัฒนาขึ้นเมื่อมี ‘อีกึด’ หรือลูกครึ่งของทั้งสองเผ่าพันธุ์ เหลือรอดมาได้ แม้จะล้างบางนีแอนทัลไปได้หมดแล้ว แต่มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ก็ยังแยกกันเป็นกลุ่มและชนเผ่าตามความเชื่อและอารยธรรมที่แตกต่าง ตามมาด้วยการล่าอาณานิคม จับเผ่าพันธุ์อื่นมาเป็นเชลยและใช้งานเยี่ยงทาสเพื่อก่อกำเนิดคำว่า ‘ชาติ’ ให้มีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้นมา และนั่นคือหลักใหญ่ใจความและจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด
ใครเป็นใครใน Arthdal Chronicles
นักแสดงนำของเรื่องนี้เปรียบเสมือนแม่เหล็กแรงสูงที่ดึงดูดให้หลายๆ คนเข้ามาดูเพราะอยากรู้ว่าใครจะรับบทอะไรบ้าง เริ่มจาก ซง จุง-กิ การกลับมาอีกครั้งของสามีแห่งชาติจากซีรีส์ยอดนิยม Descendants of the Sun ครั้งนี้มาในบทอึนซอม หนุ่มเลือดผสมระหว่างมนุษย์และนีแอนทัล หรือที่ในเรื่องเรียกว่า อีกึต มีเลือดในกายเป็นสีม่วงและถูกมองว่าเป็นตัวกาลกิณีจะนำมาซึ่งความหายนะ พบเห็นที่ไหนต้องฆ่าทิ้งให้หมด

ทว่าอึนซอมกลับไม่ใช่อีกึตเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้ และโชคชะตาก็พาให้มาอยู่รวมกับชนเผ่าวาฮัน (หนึ่งในชนเผ่าที่ถูกไล่ล่าอย่างโหดเหี้ยมทารุณในเวลาต่อมา) หากตั้งแต่เด็กจนโตเป็นหนุ่ม เขาก็ไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีนักเพราะพฤติกรรม ความคิดแปลกแยกจากคนอื่นในเผ่า
ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันตัวละครนี้ก็เทียบได้กับชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย หรืออะไรทำนองนั้น ค่อนข้างเป็นคนตัวเล็ก แต่เมื่อถูกอำนาจคุกคามก็พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อทวงคืนชีวิตปกติของตัวเองและชนเผ่ากลับมา เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้อึนซอมถือว่าเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักเลยก็ว่าได้

ส่วน คิม จี-วอน ที่หลายคนน่าจะจำเธอได้จาก Descendants of the Sun เช่นกัน เรื่องนี้เธอมารับบทเป็นทันยา หญิงสาวผู้เกิดมาพร้อมกับคำทำนายของชนเผ่าวาฮัน และเป็นแม่ใหญ่ (หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ) คนต่อไปของชนเผ่า แต่ดันไม่มีคุณสมบัติ (ตามความเชื่อ) ที่เหมาะสมเลยสักข้อ นอกจากการที่เธอเกิดในวันที่ดาวหางสีครามสุกสว่างบนท้องฟ้าและจิตวิญญาณความเป็นผู้นำเผ่าที่เธอถูกปลูกฝังมาตลอดชีวิต เมื่อถึงคราวทุกข์ยากเธอก็พร้อมที่จะลุกขึ้นปกป้องชาววาฮันด้วยชีวิต และที่สำคัญเธอแทบจะเป็นคนเดียวในเผ่าวาฮันที่เป็นมิตรกับอึนซอม

จาง ดง กอน รับบททากน บุตรชายของนีร์ฮาซานุง หัวหน้าเผ่าแซนยอก ซึ่งเป็นเผ่าพันธมิตรของอาธดัล ควบตำแหน่งผู้นำแห่งทัพแทคาน กองทัพที่ออกล่าอาณานิคมและจับชนเผ่าต่างๆ มาเป็นเชลยอาธดัล วัยเด็กเคยถูกพ่อแท้ๆ พยายามฆ่าครั้งหนึ่งด้วยเหตุผลความลับบางอย่าง แต่สุดท้ายพ่อก็ทำไม่ลง ทากนจึงรอดชีวิตมาได้จนเติบโตและมีอำนาจยิ่งใหญ่จนผู้เป็นพ่อเริ่มหวั่นว่าความใจอ่อนยอมให้ลูกชายมีชีวิตรอดในครั้งนั้นจะเป็นการคิดผิดหรือไม่
ทากน เป็นตัวละครที่มีทั้งด้านที่เข้มแข็งและเปราะบาง ในฐานะผู้นำกองทัพ เขาเป็นผู้นำที่มีอำนาจ แข็งแกร่ง มีความเชี่ยวชาญในการต่อสู้ชนิดที่ไม่มีใครเทียบได้ แถมยังมีความฉลาดหลักแหลมในการวางกลยุทธ์ ทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็นวีรบุรุษ ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปกปิดความจริงบางอย่างที่เป็นจุดอ่อนของวีรบุรุษ หากความจริงนี้แพร่งพรายออกไปจะไม่มีใครในอาธดัลยอมรับในตัวเขาเลย

และ คิม อ๊ก-บิน กับบทบาทแทอารา หญิงสาวที่งดงามที่สุดแห่งอาธดัล บุตรีแห่งผู้นำเผ่าแฮ หนึ่งในเผ่าพันธมิตรของอาธดัล ด้วยความงามเหนือใครจึงถูกพ่อส่งตัวไปเป็นสายลับล้วงข้อมูลจากทากนและนีร์ฮาซานุง เพราะหวังให้อำนาจอยู่ในมือ แต่หารู้ไม่ว่าเหมือนส่งน้ำมันไปอยู่ใกล้ไฟ และเมื่อเธอได้ใกล้ชิดกับทากนหน้าที่ก็ไม่อาจอยู่เหนือความต้องการ เป็นตัวละครที่เลือกที่จะอยู่ข้างอำนาจ เช่นเดียวกับมีฮล พ่อของเธอที่มีความกระหายในอำนาจ เก่งเรื่องปลุกปั่นยุแยง ถ้าไม่มีตัวละครฝ่ายนี้เรื่องราวคงขาดความสนุกไปเยอะเลย และที่สำคัญมันคงไม่สมจริง!
มุมมองในช่วงครึ่งทางซีซันแรก
สำหรับซีซันแรกมีทั้งหมด 12 ตอน ทยอยปล่อยออกมาให้ติดตามสัปดาห์ละ 2 ตอน ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ตอนนี้ปล่อยออกมาแล้ว 6 ตอน เป็นช่วงครึ่งทางพอดี เนื้อเรื่องก็ไล่ระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ความลับและเหตุผลของตัวละครถูกเปิดเผยสู่คนดูมากขึ้น และในตอนจบของตอนที่ 6 ก็ได้มีการเปิดเผยโฉมหน้าของตัวละครใหม่ที่ชวนให้คนดูเกิดอาการคันเพราะอยากดูตอนต่อไปแทบทนไม่ไหวแล้ว แบบที่ซีรีส์หลายๆ เรื่องชอบทำกับคนดู
ระหว่างที่รอตอนต่อไป ขอพาผู้อ่านที่เป็นคนดูของซีรีส์เรื่องนี้ (หรือกำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจว่าจะดูดีไหม) มาย้อนดูประเด็นที่น่าสนใจหลังจากที่เนื้อเรื่องดำเนินมาครึ่งซีซันแล้ว
ถ้ามองที่ธีมหลักของเรื่องที่ว่าด้วยการสร้างชาติ การล่าดินแดน ประเด็นแรกที่น่าสนใจก็คือสังคมมนุษย์ที่ขับเคลื่อนด้วยความโลภมาตั้งแต่รุ่นดึกดำบรรพ์ แม้ทุกวันนี้จะมีชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และเช่นเคยมนุษย์ก็ยังคงมีความโลภอยู่ และนั่นก็เป็นชนวนผลักดันของความโหดเหี้ยมและสงครามเพื่อการสะสมครอบครองทรัพยากรให้มากที่สุด
ส่วนประเด็นที่สองก็คือการปกครองและการจัดระเบียบควบคุมสังคม ที่นอกจากจะต้องมีอำนาจทางกำลังพล ซึ่งสามารถสยบผู้อื่นได้อย่างราบคาบแล้ว ยังมีเครื่องมืออื่นๆ เช่น ประเพณี วัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งได้รับการ ‘ผลิต’ ขึ้นมาเพื่อใช้ควบคุมผู้คน ดังเช่นความเชื่อในการเป็นตัวแทนในการติดต่อกับเทพเจ้าของกลุ่ม ‘อาซาน’ หรือนักบวช แต่เพียงฝ่ายเดียวในอาธดัล หากภายหลังกลับถูกช่วงชิงโดยทากน

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือบทบาทการเป็นผู้นำของสตรี โดยตัวละครหญิงสองคนในเรื่องนี้ที่มีส่วนอย่างมากในการถ่ายทอดมุมนี้ก็คือทันยาที่รับบทโดยคิม จี-วอน ทันยาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งแม่ใหญ่ของเผ่าวาฮัน (คนก่อนหน้าเธอก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน) เมื่อเผ่าวาฮันถูกจับไปเป็นเชลย ทันยาก็แสดงความเป็นผู้นำในการปกป้องเผ่าด้วยความกล้าหาญอยู่หลายครั้ง

อีกคนคือแทอารา รับบทโดยคิม อ๊ก-บิน แทอาราคือผู้หญิงจากฝั่งอาธดัลที่มีบทบาทอย่างมากในการควบคุมอำนาจที่อยู่ในมือบุรุษเพศ และคิม อ๊ก-บิน ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ชนเผ่าของแทอารา จะไม่มีการแบ่งแยกเพศ แต่ผู้สืบสายเลือดคนใดก็ตามที่พิสูจน์ให้เห็นว่ามีความเป็นผู้นำก็สามารถขึ้นปกครองเผ่าได้”
นอกจากนี้คนดูยังจะได้เห็นการวางกลยุทธ์เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามในสงครามในยุคที่ยังไม่มีปืน ไม่มีระเบิด ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ หรือ ม.44 มีเพียงไฟ ธนู หอก และมีดดาบเท่านั้น ได้เห็นการใช้กลยุทธ์ที่ผ่านการคิดของตัวละคร เช่นการใช้โรคระบาดโจมตีเพื่อตัดกำลังคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งกว่าจนสามารถเอาชนะได้ รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามที่ฝ่ายตนเองต้องการ
ในแง่ของความบันเทิง Arthdal Chronicles ใช้การเล่าเรื่องจากหนึ่งไปสิบ เล่าไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน-หลัง ข้อดีก็คือไม่ซับซ้อน คนดูไม่ต้องนั่งงง (มีเล่าเรื่องสลับเหตุการณ์บ้างนิดหน่อยในช่วงแรก) ในขณะที่ซีรีส์หรือหนังหลายๆ เรื่องจะเปิดเรื่องด้วยช่วงพีกเป็นการเอาคนดูให้อยู่ในหมัดแรก จากนั้นก็ค่อยๆ เล่าเรื่องคลายปมไป เป็นวิธีเล่าเรื่องยอดนิยมในการดึงความสนใจจากคนดูก็ว่าได้ ซึ่ง Arthdal Chronicles อาจจะเสียคะแนนตรงนี้ รวมถึงการดำเนินเรื่องบางตอนที่ค่อนข้างช้า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนดูอีกนั่นแหละว่าจะชอบแบบไหน จึงต้องขอจบย่อหน้านี้ว่านี่เป็นเพียง คหสต. หรือความเห็นส่วนตัว เท่านั้น
Game of Thrones เวอร์ชันเกาหลี?
กระแสนี้มาแรงมากจริงๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ออกอากาศไป 2 ตอนแรกในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยพบว่ามีภาพของตัวละครถูกนำไปเทียบกับตัวละครจาก Game of Thrones ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฉากหลังของเรื่องที่ว่าด้วยการต่อสู้กันระหว่างมนุษย์กับเผ่าพันธุ์อื่น ความขัดแย้งระหว่างอำนาจอธิปไตยและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ การแบ่งแยกสองดินแดน ไปจนถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น คอสตูม และบัลลังก์ที่ปรากฏใน Arthdal Chronicles
ทำภาพเปรียบเทียบกัน


เพื่อความเป็นธรรมเราจะตัดสินว่าเหมือนแค่ตรงนี้ก็คงไม่ได้ เพราะธีมของทั้งสองเรื่องแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันนั่นคือเกมการเมือง แย่งชิงอำนาจในยุคโบราณ ถ้าองค์ประกอบเหล่านี้จะดูคล้ายคลึงกันบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก และก็ต้องยอมรับว่าองค์ประกอบเหล่านี้มีผลอย่างยิ่งที่ทำให้คนที่เคยดู Game of Thrones มาก่อน ไม่ว่าจะดู Arthdal Chronicles ยังไง ก็ต้องได้กลิ่นความเป็น Game of Thrones อย่างแน่นอน แต่เรื่องของแต่มูดแอนด์โทนและรายละเอียด Arthdal Chronicles จะดูซอฟต์กว่า บางฉากสวยฟุ้งชวนฝันไปเลยด้วยซ้ำ และ (ยัง) ไม่มีการหักอกคนดูด้วยการยัดเยียดความตายให้ตัวละคร
และเพื่อความกระจ่างแจ้งว่าตกลงก๊อบปี้หรือแค่ได้รับแรงบันดาลใจเล็กๆ น้อยๆ หรือแค่บังเอิญเหมือน สื่อเกาหลีก็ได้จ่อไมค์ถาม คิม ยอง ฮยอน (ผู้เขียนบท แดจังกึม) และ พัค ซัง ยอน สองผู้เขียนบท Arthdal Chronicles ซึ่งทั้งสองก็ตอบแบบถ่อมตัวทำนองว่า “เราไม่กล้าไปเปรียบเทียบกับฮอลลีวูดหรอก”
สุดท้ายขออนุญาตสรุปด้วยความเห็นส่วนตัวอีกครั้งว่า ไม่แปลกที่ Arthdal Chronicles จะถูกเปรียบเทียบกับ Game of Thrones เพราะด้วยธีมหลักที่แทบจะเป็นเรื่องเดียวกันจึงยากที่จะทำให้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจนคน ‘จับผิด’ ไม่ได้ และเชื่อว่ามีอีกหลายเรื่องๆ ที่ทำออกมาคล้ายๆ กัน
แต่ด้วยความที่ Game of Thrones ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ในขณะที่ Arthdal Chronicles เป็นซีรีส์สัญชาติเกาหลีที่ต้องยอมรับว่าเกาหลีก็ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มาก พอสองยักษ์ที่หน้าตาคล้ายกันมาเจอกันก็เลยถูกนำไปเปรียบเทียบและผู้ที่มาก่อนก็มักจะมีภาษีดีกว่าเสมอ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ Arthdal Chronicles อาจจะผิดที่มาทีหลังแค่นั้นเอง อย่างไรก็ตามนี่เป็นซีรีส์อีกเรื่องที่อยากจะแนะนำให้ดูกัน
FYI:
- Arthdal Chronicles ใช้ทุนสร้างมากกว่า 4 หมื่นล้านวอน หรือราว 1.06 พันล้านบาท
- ชื่อเดิมของซีรีส์เรื่องนี้คือ Asadal Chronicles โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเมือง Asadal เมืองหลวงของราชอาณาจักรเก่าแก่บนคาบสมุทรเกาหลี แต่ผู้เขียนตัดสินใจที่จะตั้งชื่อทวีปในจินตนาการแทน โดยใช้คำว่า Arth เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับ Earth ที่แปลว่าโลก ส่วนคำว่า Dal ในภาษาเกาหลีหมายถึงโลก ทุ่ง และที่ราบ จึงเป็นที่มาของชื่อใหม่ว่า Arthdal Chronicles
- คิม จีซู (Kim Jisoo) หรือ จีซู BLACKPINK และ นิชคุณ หรเวชกุล หรือ นิชคุณ 2PM เป็นส่วนหนึ่งของนักแสดง เพียงแต่ยังไม่ปรากฏตัวในซีรีส์
- สถานที่ถ่ายทำหลักอยู่ที่เมืองโอซาน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดคย็องกีของเกาหลีใต้ แต่มีบางฉากที่ไปถ่ายทำถึงบรูไน
- ช่วงที่ถ่ายทำที่บรูไน ทำให้สตูดิโอมีปัญหากับทีมงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานต่อเนื่องยาวนานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสตูดิโออธิบายกับสื่อว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน แต่ยอมรับว่ามีการถ่ายทำเป็นเวลานาน 113 ชั่วโมงจริง เนื่องจากเป็นการถ่ายทำในต่างประเทศจึงอยากอยากใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด

