ยาแก้แพ้…เสี่ยงอัลไซเมอร์จริงหรือ ?
สุขภาพสำคัญ

เชื่อว่าช่วงนี้หลายคนตื่นนอนมาพร้อมอาการจาม มีน้ำมูกไหล แสบจมูก ฯลฯ หรือที่เรียกกันว่า โรคภูมิแพ้ นั่นเองโดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาหรือแม้แต่ในช่วงนี้รวมทั้งอนาคตที่คาดการณ์กันว่าค่า PM2.5และค่า AQI (ดัชชนีคุณภาพอากาศ) จะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมากหากไม่ได้รับการแก้ไข
ในสถานะการณ์ดังกล่าว GM Live เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านแก้ปัญหาอาการภูมิแพ้ด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ เพราะช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ให้ดีขึ้นได้ แต่การรับประทานย่อมส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวเช่นกัน โดยเฉพาะกับประเด็น ยาแก้แพ้…เสี่ยงอัลไซเมอร์จริงหรือ ?

และเพื่อให้คลายข้อสงสัย GM Live มีบทความดีๆ จาก นายแพทย์พงศ์ภากร ศรธนะรัตน์ Integrative Medicine สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก กับประเด็นดังกล่าว มานำเสนอ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจและละเลยไม่ได้
ยาแก้แพ้…เรื่องนี้สำคัญอย่างไร

ยาทุกชนิดล้วนมีผลข้างเคียงไม่มากก็น้อย ยาแก้แพ้ หรือ “แอนติฮิสตามีน” เป็นยาที่หลายคนคุ้นเคย และใช้กันเป็นประจำ ใช้บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไปจนถึงอาการแพ้ต่างๆ แต่ทราบหรือไม่ว่า ยาแก้แพ้บางชนิด โดยเฉพาะ “รุ่นเก่า” อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ได้ เรื่องนี้สำคัญอย่างไร และเราควรทำอย่างไร? ไปหาคำตอบกัน
ยาแก้แพ้ “รุ่นเก่า” คืออะไร? ทำไมต้องระวัง?

ยาแก้แพ้มีหลายรุ่น (Generation) แต่ที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือ ยาแก้แพ้รุ่นแรก (first-generation antihistamines) เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ยาเหล่านี้มักทำให้ง่วงซึม เป็นผลมาจากการออกฤทธิ์ที่เรียกว่า “แอนติโคลิเนอร์จิก” (anticholinergic) นั่นเอง
ฤทธิ์ “แอนติโคลิเนอร์จิก” เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์อย่างไร?
สมองของคนมีสารสื่อประสาทชื่อ “อะเซทิลโคลีน” (acetylcholine) ซึ่งสำคัญต่อการทำงานของสมอง ความจำและการเรียนรู้ ยาแอนติโคลิเนอร์จิก จะไปขัดขวางการทำงานของอะเซทิลโคลีน ซึ่งเป็นที่มาของผลข้างเคียง เช่น สับสน ง่วงซึม และมีอาการหลงลืม ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้เป็นระยะเวลานานย่อมอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง และ “อาจ” เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้
หาคำตอบจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเรื่องนี้ และพบความเชื่อมโยงที่น่าสนใจ
เกรย์และคณะ (JAMA Internal Medicine, 2015) ติดตามผู้สูงอายุกว่า 3,000 คน พบว่า การใช้ยาแอนติโคลิเนอร์จิกต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม เมื่อยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งเสี่ยงมาก
คูปแลนด์และคณะ (JAMA Internal Medicine, 2019) วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยกว่า 50,000 คน พบว่า การใช้ยาแอนติโคลิเนอร์จิก สัมพันธ์กับความเสี่ยงสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้น และให้ข้อสรุปว่าควรใช้ยากลุ่มนี้อย่างระมัดระวังในผู้ที่อายุมาก
จูและคณะ (Age and Ageing, 2021) วิเคราะห์งานวิจัย 34 ชิ้น (ผู้เข้าร่วมกว่า 875,110 คน) พบว่ายาแอนติโคลิเนอร์จิกสัมพันธ์กับความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการยืนยันผลการศึกษาก่อนหน้า
โดยงานวิจัยเหล่านี้แสดงถึง “ความเชื่อมโยง” แต่ ไม่ได้พิสูจน์ว่ายาแก้แพ้รุ่นเก่า “เป็นสาเหตุ” ของอัลไซเมอร์โดยตรง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงและควรใช้อย่างระมัดระวัง
บ่อยแค่ไหน ถึงจะเพิ่มความเสี่ยง ?
- ปริมาณสะสม งานวิจัยเน้นที่ “ปริมาณสะสม” คือ การใช้ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน ไม่ใช่ครั้งคราว
- ยิ่งมาก ยิ่งเสี่ยง ปริมาณยาและระยะเวลาที่ใช้นานขึ้น สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้น
ดังนั้นหากจำเป็นก็สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการเป็นครั้งคราวได้ แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้แพ้รุ่นเก่า
ยาแก้แพ้รุ่นใหม่ ตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่า
ยาแก้แพ้รุ่นใหม่ (second and third-generation) เช่น ลอราทาดีน (Loratadine), เซทิริซีน (Cetirizine), เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เดสลอราทาดีน (Desloratadine) และเลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) มีฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิกน้อยมาก จึงปลอดภัยกว่า มีผลข้างเคียงเรื่องง่วงซึม และความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมน้อยกว่า
ที่สำคัญสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ อย่าลืมเรื่องของการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้, ล้างจมูก, ใช้เครื่องฟอกอากาศ, จัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้ลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ให้ได้มากที่สุด และหากมีอาการภูมิแพ้มาก ควรได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น
ทิ้งท้าย
ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์เกิดจากหลายปัจจัยทั้งอายุ, พันธุกรรม, โรคประจำตัว, การใช้ชีวิต
การใช้ยาแก้แพ้ “รุ่นเก่า”เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยเสี่ยง การจัดการปัจจัยเสี่ยโรคหลอดเลือด รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายอยู่เสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสุราและบุหรี่ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอยู่บ่อย ๆ จะช่วยให้ลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้
อ้างอิง:
Coupland CAC, Hill T, Dening T, Morriss R, Moore M, Hippisley-Cox J. Anticholinergic Drug Exposure and the Risk of Dementia: A Nested Case-Control Study. JAMA Intern Med. 2019;179(8):1084-1093. doi:10.1001/jamainternmed.2019.0677
Gray SL, Anderson ML, Dublin S, et al. Cumulative use of strong anticholinergics and incident dementia: a prospective cohort study. JAMA Intern Med. 2015;175(3):401-407. doi:10.1001/jamainternmed.2014.7663
Zhu, C., Cosman, J., Dening, T. et al. Association between exposure to anticholinergic medication and the risk of cognitive decline: a systematic review and meta-analysis. Age Ageing 50, 1533–1544 (2021).
ภาพ : https://www.pexels.com
