Reasons To Read
- ความรู้สึกโกรธไม่ได้ช่วยให้ปัญหาคลี่คลาย ทั้งจะทำให้เราเครียดกว่าเดิม และการโมโหกับการไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกินเอื้อมและยืดยาวได้ก็มีแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ด้วยการเกิดความผิดปกติหรือการเจ็บป่วยทางร่างกาย
- ผู้ที่เกิดอารมณ์โกรธบ่อยจะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆ ได้อีกหลากหลาย
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ อาจเป็นวิธีที่หลายคนนิยมใช้เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่พอใจกับอะไรสักอย่าง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสภาพอากาศ บ้านเมือง งาน หรืออาจรวมถึงคนด้วยก็ได้ ทว่าหลังจากนี้เราอาจต้องลดอาการหงุดหงิด โมโห หัวฟัดหัวเหวี่ยงลงกันหน่อย เพราะมีงานวิจัยพบว่าอาจส่งผลให้เกิดโรคหรืออาการเรื้อรังที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
งานศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารจิตวิทยาและผู้สูงอายุ โดยนักจิตวิทยาผู้ทำการศึกษามีสมมติฐานคือ อารมณ์และความรู้สึกทุกรูปแบบมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์ ก่อนลงมือหาคำตอบด้วยการสังเกตติดตามอารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงวัย อายุ 59-93 ปี จำนวน 226 คน เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการวินิจฉัยสุขภาพและมีการตรวจเลือดเพื่อหาการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายด้วย
ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้ทราบว่า อารมณ์โกรธส่งผลต่อสุขภาพได้มากกว่าความรู้สึกอื่น โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เนื่องจากพบว่าผู้ที่เกิดอารมณ์โกรธบ่อยกว่า จะมีโอกาสเกิดการอักเสบเรื้อรังซึ่งสามารถนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆ ได้อีกหลากหลาย ในขณะที่ผู้ไม่รู้สึกโกรธบ่อยนั้นกลับพบโอกาสเกิดโรคเรื้อรังอย่างน้อย 1 ชนิดเท่านั้น ซึ่งสาเหตุเชื่อว่าอาจเนื่องมาจากความรู้สึกโกรธทำให้ระดับฮอโมนส์ความเครียดในร่างกายเพิ่มขึ้นสูง
โดยผู้ศึกษายังระบุอีกว่า ความรู้สึกโกรธไม่ได้ช่วยให้ปัญหาคลี่คลาย ทั้งจะทำให้เราเครียดยิ่งไปกว่าเดิม และการโมโหกับการไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกินเอื้อมและยืดยาวได้ก็มีแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ด้วยการเกิดความผิดปกติหรือการเจ็บป่วยทางร่างกาย จึงแนะนำให้ทุกคนลดความโกรธลง หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด ฝึกใช้คำพูดที่ดีและมีเหตุผล และอยู่ให้ห่างจากความเครียดให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้
แม้ในชีวิตประจำวันอาจเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เราไม่พอใจ ทว่าการใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล และมองโลกอย่างเปิดกว้างขึ้นก็อาจช่วยให้เราลดความรู้สึกไม่พอใจกับหลายๆ สิ่งลงได้