fbpx

อเมริกาจะเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2567 และครั้งนี้อาจไม่ใช่ โดยนาซ่า

รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้นาซ่ายกระดับกลวิธีและพานักบินอวกาศขึ้นสู่ดวงจันทร์ภายใน 5 ปี ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

Reasons to read

  • รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้นาซ่ายกระดับกลวิธีและพานักบินอวกาศขึ้นสู่ดวงจันทร์ภายใน 5 ปี ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
  • ถ้าจรวดเชิงพาณิชย์เป็นวิธีเดียวที่จะนำนักบินอวกาศชาวอเมริกันไปยังดวงจันทร์ในอีก 5 ปีข้างหน้าได้ก็จะใช้จรวดเชิงพาณิชย์

ฤดูร้อนที่จะถึงนี้จะครบรอบ 50 ปีของการลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของยานอวกาศบรรจุคน ที่นำโดย นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) และ บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) นักบินอวกาศประจำยานอะพอลโล 11 เมื่อปี พ.ศ. 2512 หลังจากนั้นโครงการอพอลโลที่มีเป้าหมายสำคัญคือนำมนุษย์ลงไปสำรวจดวงจันทร์ก็สามารถลงจอดที่ดวงจันทร์ได้อีกหลายครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายคือภารกิจ ‘อะพอลโล 17’ ที่พานักบินอวกาศขึ้นไปบนดวงจันทร์เมื่อปี พ.ศ. 2515 และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีประเทศไหนที่ส่งมนุษย์กลับขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้อีก

โอกาสนี้ สภาอวกาศแห่งชาติ นำโดย ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้จัดประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์อวกาศและจรวด ในเมืองฮันต์สวิลล์ รัฐแอละแบมา ของสหรัฐอเมริกา โดยมี บัซ อัลดริน ซึ่งปัจจุบันอายุ 89 ปี เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม (อาร์มสตรองเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2555 ด้วยวัย 82 ปี ส่วนนักบินอวกาศคนที่สามของยานอพอลโล 11 ไมเคิล คอลลินส์ ปัจจุบันอายุ 88 ปีแล้ว)

ในที่ประชุม รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้นาซ่ายกระดับกลวิธีและพานักบินอวกาศขึ้นสู่ดวงจันทร์ภายใน 5 ปี ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม พร้อมระบุว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะเพิ่มความพยายามของเราเป็นสองเท่า มันสามารถเกิดขึ้นได้ แต่มันจะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ว่าเราจะเร่งฝีเท้า”

ทั้งนี้ หากนาซ่าไม่สามารถพานักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ได้ภายในปี พ.ศ. 2567 เพนซ์ยังเตือนแกมขู่ว่า “เราต้องเปลี่ยนองค์กรไม่ใช่ภารกิจ เพราะองค์การอวกาศจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มิฉะนั้นจะถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมเอกชน

“เราไม่ได้ผูกขาดกับผู้รับจ้างรายเดียว หากผู้รับจ้างของเราไม่สามารถทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้ เราจะหาผู้ที่เหมาะสมกว่ามาทำ หากภาคอุตสาหกรรมอเมริกันสามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ที่สำคัญนี้ได้โดยไม่ต้องมีการพัฒนาจากภาครัฐ เราจะซื้ออุตสาหกรรมเหล่านี้ และถ้าจรวดเชิงพาณิชย์เป็นวิธีเดียวที่จะนำนักบินอวกาศชาวอเมริกันไปยังดวงจันทร์ในอีก 5 ปีข้างหน้าได้ เราก็จะซื้อจรวดเชิงพาณิชย์” เพนซ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพนซ์ไม่สามารถยอมรับได้ว่าการพัฒนา SLS หรือ Space Launch System ซึ่งเป็นระบบปล่อยยานอวกาศแบบใหม่ เกิดความล่าช้า โดยนับเป็นเวลานานเกือบสองทศวรรษแล้วหลังจากโปรแกรม SLS ได้เริ่มต้นขึ้น ในทางกลับกันนาซ่ากลับใช้เวลาเพียง 8 ปี ในการเดินทางไปดวงจันทร์เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2512

ขณะที่ จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้ดูแลระบบของนาซ่า ให้ความมั่นใจกับเพนซ์ว่า นาซ่าจะทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตรงตามกำหนดเวลา พร้อมแสดงความมั่นใจว่า SLS จะพร้อมสำหรับปฏิบัติการนี้

ด้าน อลัน สเติร์น (Alan Stern) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ แห่งสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ (Southwest Research Institute) กล่าวว่า การไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 2567 อาจจะเป็นไปได้ หากความพยายามเร่งด่วนนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม และระบบอวกาศเชิงพาณิชย์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกต่างก็สงสัยถึงความเป็นไปได้ของการบรรลุเป้าหมายนี้ โดย โจนาธาน แมคโดเวลล์ (Jonathan McDowell) จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน กล่าวว่า เขาจะอัศจรรย์ใจมากถ้ามันสำเร็จ พร้อมระบุว่า การลงจอดบนดวงจันทร์ยังคงต้องได้รับการออกแบบ การสร้าง และการทดสอบอยู่

อีกคนคือ คริส คาร์เบอร์รี (Chris Carberry) ซีอีโอของ Explore Mars องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายเพื่อส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารภายในสองทศวรรษข้างหน้า ที่เปิดเผยกับ Fox News ว่า “สภาอวกาศเสนอเป้าหมายที่ท้าทายซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงโครงการสำรวจอวกาศและปูทางไปสู่ดาวอังคารในช่วงปี พ.ศ. 2573 ได้

“คำถามสำคัญคือพวกเขาจะดำเนินการตามวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างไร จะมีเงินทุนและการสนับสนุนทางการเมืองที่เพียงพอหรือไม่ พวกเขาจะสามารถกดดันนาซ่าและพันธมิตรทางการค้าและระหว่างประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ภายในกรอบเวลาและงบประมาณที่กำหนดได้หรือไม่ ซึ่งหากพวกเขาทำได้ในที่สุด นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่เรารอคอย”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ