fbpx

‘เที่ยววัดร้าง กลางใจเมือง’

เรื่อง: อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

ท่านผู้อ่านครับ…การเดินทางเพื่อเที่ยววัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของผม ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนถึงวันนี้ เพราะเป็นความเพลิดเพลินใหม่ของคนที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ แล้วต้องห่างหายจากการเดินทางไปแบบผมเพิ่งจะค้นพบ

วันนี้ขอเขียนถึงวัดร้างต่างๆ ที่ได้พบระหว่างการปั่นจักรยานตามเส้นทางทั้งในกรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งแต่ละแห่งมีความสนุกที่ได้สัมผัสแตกต่างกันออกไป

วัดแรกที่จะชวนให้ทำความรู้จัก คือ วัดสักน้อย ซึ่งที่นี่เหลือแต่วิหารเก่าชำรุด ทว่ายังคงมีความงาม และมีเสน่ห์ตรงที่มีเถาวัลย์ปกคลุมทั่ววิหาร วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาวิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีแผนผังเป็น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอาคารเป็นฐานบัวแอ่นโค้งเล็กน้อย ผนังด้านหน้าเจาะช่องประตูรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 บาน ผนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านละ 5 บาน ผนังด้านหลังก่อทึบโครงหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดิน ย้ำว่าแม้ความทรุดโทรมอาจจะทำให้ไม่มีรูปแบบศิลปกรรมหลงเหลือให้พินิจอยู่มากนัก แต่การที่บนหลังคานั้น มีต้นไทรและเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมไปทั่ว เป็นความสวยงามแปลกตา ซึ่งหากใครได้เข้ามาเห็นจะหวนนึกถึงอดีตแทบทุกคน ผมเองก็เช่นกัน

วัดที่ 2 วัดสุวรรณคีรี เป็นวัดร้างที่เหลือความเป็นวัดไม่กี่ตารางเมตร ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนสุธรรมศึกษา ใกล้ๆ กับบ้านศิลปินริมคลองบางหลวง ที่หลายคนอาจจะเคยมาเที่ยวก่อนหน้านี้ ตัวอาคารได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ ซึ่งหากไม่สังเกตอาจจะนึกว่าที่นี่เป็นเพียงศาลเจ้าจีนในโรงเรียน ทั้งนี้ จากหลักฐานที่มีอยู่ สันนิษฐานว่าวัดสุวรรณคีรีสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการสำรวจวัดครั้งใหญ่ในเมืองเพื่อทำการบูรณะ จึงได้ยุบรวมวัดสุวรรณคีรีเข้ากับวัดคูหาสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดใหญ่กว่า ซึ่งแม้ว่าวัดนี้จะอยู่ในพื้นที่โรงเรียน แต่ก็ยังเปิดให้ประชาชนไดเข้าไปกราบไหว้สักการะโดยเฉพาะขอพรในเรื่องสุขภาพ ซึ่งถ้าหากท่านผู้อ่านสนใจผมแนะนำให้ตั้งต้นมาที่วัดกำแพงบางจากหรือ วัดคูหาสวรรค์ แล้วถามทางไปโรงเรียนสุธรรมศึกษา ก่อนขอเข้าไปสักการะที่ด้านในได้เลยครับ

สำหรับวัดที่ 3 มีชื่อว่า วัดน้อยทองอยู่ ถือว่าเป็นหนึ่งของวัดในดวงใจผม เพราะอยู่ใกล้ถนนใหญ่มากๆ แต่ทว่าหลายคนไม่เคยรู้ว่ามีวัดนี้ หรืออาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตรงนี้ยังมีสิ่งปลูกสร้างของวัดที่งดงามอย่างมาก เพราะมีเพียงแค่ซากมณฑปที่หลงเหลือมาจากการทิ้งระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก่อนที่ผมจะหาพบต้องสอบถามผู้คนแถวนี้นานพอสมควร ก่อนมีคนบอกได้ว่าที่ตั้งของวัดนี้อยู่บริเวณไหน เชื่อไหมครับอยู่ใกล้มากๆ จนหลายคนไม่รู้ว่ามีอยู่ ซากมณฑปที่กล่าวถึงนั้นตั้งอยู่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี บริเวณท่ารถเมล์สาย 81 ครับ พอได้เข้าไปผมอยากจะบอกว่าเห็นร้านค้าที่มีต้นไม่รกทึบปิดทางเข้าด้านหน้าแล้วเสียดายมาก ขณะที่อาคารด้านข้างซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่นั้น แทนที่จะเปิดช่องให้ได้เห็นความสวยงามของโบราณสถานชัดๆกลับสร้างข่ม จนทำให้ที่นี่ไม่ได้โชว์ความงดงามของตัวเองได้เลย

สำหรับวัดสุดท้าย วัดที่ 4 ที่ขอแนะนำ คือ วัดภุมรินทร์ราชปักษี ซึ่งตามนิยามแม้จะเรียกได้ว่าเป็นวัดร้าง เพราะไม่มีภิกษุจำพรรษา และได้ถูกยุบรวมกับ วัดดุสิตาราม แต่ทว่าวัดภุมรินทร์ราชปักษีนั้นถือเป็นวัดร้าง ที่มีความเป็นอยุธยาที่ละเอียดมากๆ เช่น อาคารท้องแอ่นรูปเรือสำเภา และปูนปั้นที่สมบูรณ์ซึ่งยังคงรายละเอียดความพลิ้วไหวได้อย่างงดงาม ขณะที่ด้านในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระปรางมารวิชัยสมัยอยุธยาด้ายซ้าย-ขวามีพระอัครสาวกซึ่งเป็นงานปั้นนูนต่ำออกมาจากกำแพง พร้อมจิตรกรรมฝาผนังรูปนกยูงกับกระต่าย ตัวแทนของพระอาทิตย์ (นกยูง) กับพระจันทร์ (กระต่าย) และด้านข้างของผนัง คือภาพเมขลากับรามสูร ถึงแม้ที่นี่จะไม่มีพระภิกษุจำพรรษาแต่ในวันสำคัญทางศาสนายังคงมีคนในชุมชนมาประกอบพิธีต่างๆ ตามศรัทธาครับ

สำหรับ 4 วัดที่ผมแนะนำนี้ ได้ชื่อว่าเป็น ‘วัดร้าง’ แต่ทว่าความงดงามและความศรัทธาไม่ได้ร้างราไปตามกาลเวลา เพียงแต่ว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังมีสถานที่เหล่านี้ซ่อนตัวอยู่และรอให้เราไปค้นพบครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ