fbpx

‘สุขภาพ ความปลอดภัย ให้ห่างไกลความเจ็บป่วยของ ‘หัวใจสตรี”

ผมต้องจำใจยอมรับว่า ใจหญิง” นั้นรวนเร ใจหญิงนั้น บทจะป่วยขึ้นมา ‘วินิจฉัยไม่ง่าย รักษาได้แต่ก็ไม่ง่ายอีกเหมือนกัน’

หมอหัวใจทั่วโลกต่างยอมรับในข้อเท็จจริงนี้เช่นเดียวกับผม

ตัวอย่าง ความแตกต่าง (หรือช่องว่าง) ระหว่างหัวใจชาย-หัวใจหญิงที่จะพูดถึงนั้นเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด  ซึ่งในที่นี้หมายถึง โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ผมไม่อยากจะบอกให้เสียใจ แต่ก็ต้องบอกว่า ล่าสุดเฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีผู้หญิงเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าปีละ 5 แสนคน ซึ่งนั้นมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ อีก 7 สาเหตุรวมกันเสียอีก

และแน่นอนว่าจำนวนการเสียชีวิตมากกว่าผู้ชายอีกด้วย  ผมหาเรื่องคำนวณตัวเลขออกมาให้ใจเสียมากยิ่งขึ้นไปอีกคือ มีผู้หญิงเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ตกประมาณนาทีละ 1 คน ผู้หญิงอาจจะแก่ง่ายก็จริง แต่ไม่ได้อยากตายอย่างที่คุณพ่อบ้านทั้งหลาย (แอบ) คิดนะครับ  และแม้ว่าทางการแพทย์สมัยใหม่จะส่งผลให้การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็ตาม

พูดง่ายๆ คือ รักษาแล้วหายมากขึ้น เสียชีวิตน้อยลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ผู้ที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นผู้ชาย ในขณะที่แม้จะได้รับการรักษาแบบเดียวกัน  อัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผู้หญิงมีข้อเสียเปรียบที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากความเชื่อยุคการแพทย์แผนโบราณที่ว่า โรคหลอดเหลือดหัวใจเป็นโรคของผู้ชาย ไม่ใช่ของผู้หญิง ที่ผ่านมาผู้หญิงที่ทำท่าจะมีอาการของโรคหัวใจจึงมักถูกมองว่า

“โอ๊ย…ผู้หญิงเขาไม่เป็นกันหรอก โรค (หลอดเลือด) หัวใจน่ะ สำออยละไม่ว่า”

โชคดีที่ความเชื่อนี้ค่อยๆจางลงตามกาลเวลา  แต่ก็ยังส่งผลระยะยาวเหตุเพราะข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโรคดังกล่าว ได้มาจากคนไข้ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่  ขณะที่ยังมีข้อมูลลึกลับทางชีวภาพที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกมากมายในคนไข้ผู้หญิง ทฤษฏีการรักษาที่ใช้กันมาจึงได้ผลสูงสุดสำหรับเจ้าของข้อมูล คือผู้ชาย แต่พอมาใช้กับผู้หญิงก็คล้ายเป็นการเกาวนเวียนอยู่รอบๆ ที่คัน ยิ่งเกายิ่งมันแต่เฉียดซ้ายทีขวาทีไม่ตรงจุด ไม่หายคัน (หัวใจ) เสียทีนะซิครับ

จุดอ่อนอีกจุดหนึ่งอยู่ที่อาการซึ่งนำคนไข้มาหาหมอ อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือเรียกว่า Angina นั้น พบได้ชัดเจนกว่าคนไข้ผู้ชาย แต่สำหรับคุณผู้หญิงทั้งหลายจะแตกต่างกัน แทนที่จะรู้สึกแน่นกลางหน้าอกแบบหนักๆ ร้าวไปถึงแขนหรือกรามขณะออกแรงตามตำราว่าไว้ ซึ่งหมอจะรู้ได้โดยง่ายว่าเข้าข่ายโรคหัวใจ แต่คนไข้สาวน้อยสาวใหญ่ส่วนหนึ่งที่มาหาผมแล้วได้รับการวินิจฉัยในตอนท้ายว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น บางคนมาด้วยอาการปวดไหล่ ปวดคอ ร้อนในอก เหนื่อยหัวใจ เสียดลิ้นปี่ อยู่เฉยๆ ก็เป็น ออกแรงก็เป็น เป็น ตอนเช้าก็มี เป็นตอนเย็นก็บ่อย บางทีเป็นตอนเครียด บางทีไม่เครียดก็เป็น ฯลฯ ยากไปกว่านั้น คนไข้อีกส่วนหนึ่งมักจะมี อาการเจ็บอกก่อกวน หมายถึง เจ็บหน้าอกแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคหัวใจ เข้ามาป่วนชวนให้   (หมอ) สับสน

 เห็นไหมครับว่า ความไม่แน่นอนของสาวๆ สร้างความยากลำบากให้กับผมขนาดไหน ถึงแม้ว่ากายของทั้งชายและหญิงจะประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศเหมือนๆ กัน แต่สัดส่วนของธาตุนั้นต่างกันจึงทำให้เกิด   “จุดต่างระหว่างชายหญิง” เช่น

  • ฮอร์โมนเพศหญิงมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้หญิงที่ยังมีฮอร์โมนเพียงพอ นั่นคือ ยังไม่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจึงมีโอกาสเป็นโรคน้อยกว่าผู้ชายวัยเดียวกัน (ซึ่งถือว่าอยู่อย่างได้เปรียบมาค่อนชีวิตแล้วละครับ) แต่ทันทีที่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน คุณผู้หญิงทั้งหลายจะได้รับความเท่าเทียมทางเพศอย่างที่เรียกร้องกันสมใจทุกท่านทันที เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีตัวช่วยแล้ว ทั้งหญิงและชายจึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคพอๆ กัน

เคยมีงานวิจัยขนาดใหญ่ทดลองให้ฮอร์โมนเอสโตรเจสตินในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หวังว่าจะช่วยให้ผู้หญิงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยลง สรุปสุดท้ายผลกลับกลายเป็นตรงกันข้าม กลุ่มผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนกลับเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีแรกด้วยซ้ำ

  • กระบวนการทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตันในผู้หญิง  จัดอยู่ในประเภทไปทางมากเกินพอดี เช่น เกล็ดเลือดและระบบการแข็งตัวของเลือดก็มีแนวโน้มที่จะขยันทำหน้าที่มากเกินไป กระบวนการอักเสบ (Inflammation) ของหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบก็มากกว่าผู้ชายถึง 5-7 เท่า
  • สภาวะทางจิตใจและสังคม รวมทั้งระบบควบคุมอารมณ์และความคิดที่ซับซ้อนแตกต่าง มีรายงานว่า ภาวะซึมเศร้าในผู้ปป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพศหญิงส่งผลเสียต่อการรักษาและการฟื้นตัวจากโรคโดยตรง ซึ่งภาวะนี้พบได้น้อยกว่าในผู้ป่วยเพศชาย

“เอาแต่ค่อนแต่แคะกันตั้งแต่ต้นจนใกล้จะจบขนาดนี้แล้ว ใจคอจะปล่อยให้ฉันเป็นโรคหัวใจตายไปไวๆ หรือยังไง จะไม่แนะนำวิธีป้องกันบ้างเลยเหรอพ่อคุณ”

(อันนี้ผมชิงถามให้ก่อน เพราะอย่างไรก็ต้องมีใครสักคนท้วงอยู่แล้ว)

 มีครับ…ไม่ใช่คำแนะนำแต่เป็นคำขอร้องจากผม  และจากสมาคมหมอโรคหัวใจของสหรัฐอเมริก ที่กำหนดเป็นแนวทางมาตราฐานให้ใช้กันทั่วโลก โดยขอร้องให้สาวน้อยสาวใหญ่ทั้งหลายที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจช่วยกันดูแลรักษาเนื้อรักษาตัวจะได้ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือที่เป็นอยู่แล้วก็ไม่ให้เป็นมากขึ้น ที่ผมจะขอร้องนั้นเป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้น (แต่สำคัญระดับสูงสุด)  นั่นคือ ขอให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (Life Style Modification) เพื่อป้องกันโรคหัวใจนั่นเอง

ขอร้อง 1 อย่าสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่อบอวลไปด้วยควันบุหรี่ เช่น ถ้าคุณรู้ว่าสามี (ที่สูบบุหรี่) และควันบุหรี่ (ที่สามีสูบ) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ก็ต้องหลีกเหลี่ยงทั้งควันบุหรี่และสามี

ขอร้อง 2 ออกกำลังกายให้เหนื่อยระดับปานกลาง นับนิ้วรวมเวลาที่เหนื่อยให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หลายๆ วันใน 1 สัปดาห์ (ได้ทุกวันนับว่าประเสริฐ)

ขอร้อง 3 กิน “อาหารเสริมสุขภาพใจ” (Heart-Healthy Diet) ซึ่งก็คือ ผักผลไม้ที่หลากหลาย เมล็ดธัญพืช  ปลาทะเล ถ้าเป็นนมหรือผลิตภัณฑ์นมต้องเป็นนมที่มีไขมันต่ำ/ไร้ไขมัน โปรตีนที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ (เนื้อสัตว์ ไม่ติดหนัง/ไม่ติดมัน หรือโปรตีนจากพืช) และไม่กินเค็ม

ขอร้อง 4 ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์พอรับได้ นั่นคือ ดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 18-23 กิโลกรัม/เมตร2 และลดรอบเอวให้อยู่ในเกณฑ์ คือ น้อยกว่า 32 นิ้ว โดยใช้มาตราการกินอาหารตามข้อขอร้อง 3 ควบคู่กับออกกำลังกายตามข้อขอร้อง 2

ขอร้อง 5 ถ้าคนรอบข้างสงสัยหรือข้อสงสัยตัวเองว่าจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อหาสาเหตุและให้การรักษา

ขอร้อง 6 ตรวจสุขภาพประจำปี หรือประจำครึ่งปี จับผู้ก่อการร้ายที่เป็นเหตุของโรคหัวใจให้ได้เสียตั้งแต่เนิ่นๆจะได้รีบดำเนินการปราบปราม เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ สำหรับคนที่พบว่าเป็นอยู่แล้วก็ขยันกินยา หาหมอ และแน่วแน่ปฏิบัติในสิ่งที่ผมขอร้องทั้งห้าข้อ

สำหรับผมแล้ว ใจของคุณๆ ผู้หญิงจะรวนเรแค่ไหนผมไม่ว่า ขอแต่อย่าทำร้ายหัวใจตัวเองเท่านั้นเป็นพอครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ