fbpx

Trash Lucky ความสำเร็จที่เริ่มต้นจากฟรีเทคโนโลยี

ใช้แค่ฟรีเทคโนโลยี ก็ขับเคลื่อนความสำเร็จให้สตาร์ทอัพได้ เป็นเรื่องไม่เกินจริง เพราะสิ่งสำคัญของธุรกิจสำหรับ บริษัท Trash Lucky จำกัด ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการรีไซเคิลขยะ อยู่ที่การเข้าใจลูกค้าที่เป็นศูนย์กลางทำให้ขยายขอบเขตไปสู่คำตอบในการสร้างสินค้าและบริการ จนนำไปสู่การเติบโตยิ่งกว่าก้าวกระโดด เพราะแค่เดือนแรกที่เริ่มต้นธุรกิจก็สามารถเติบโตเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ไปถึง 500% Trash Lucky ทำอะไร และทำได้อย่างไร

วรวิทย์ วงษ์เล็ก (กอล์ฟ) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท Trash Lucky จำกัด เล่าว่า ธุรกิจของบริษัทฯตั้งแต่วันแรกคือการคิดทำโครงการรีไซเคิลขยะลุ้นโชค โดยให้คนแยกขยะที่บ้านแล้วส่งมาบริจาคที่บริษัทเพื่อแลกกับคะแนนแล้วนำไปลุ้นโชค

“เทคโนโลยีที่เราใช้ง่ายมา เซ็ตแพลตฟอร์มให้ลูกค้าสมัครสมาชิก​ เพื่อเก็บข้อมูลดูคนที่สมัครเข้ามาเป็นใคร ไม่มีการโปรโมตเพราะทุกคนมีของ(ขยะ) เริ่มจากบอกเพื่อนและคนรอบตัวของทุกคนในบริษัทฯเป็นลูกค้าใกล้ตัว แพลตฟอร์มที่ว่าก็คือกูเกิลฟอร์ม ใช้ฟรีใคร ๆ ก็ใช้ได้​ การสื่อสารกับลูกค้าก็ใช้อีเมลเป็นข้อมูลจริงแค่ไม่เรียลไทม์ แค่เดือนแรกที่ทำทะลุเป้าไป 500% ถือว่าเอ็มวีพีที่ประสบความสำเร็จแล้ว (MVP-Most Viable Product คือ การสร้างฟีเจอร์น้อยที่สุดเพื่อทดสอบตลาด) จากนั้นก็ค่อยๆต่อยอดทำระบบของตัวเองเพื่อขยายไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่”

วรวิทย์ กล่าว่า ระบบหลังบ้านของ Trash Lucky จะเน้นประสิทธิภาพ​ เพราะต้องการลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดตามแนวทางการทำธุรกิจรีไซเคิล และทุกครั้งที่ทำอะไรใหม่จะทำเอ็มวีพีเสมอ เพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงมีคนใช้งาน ที่สำคัญต้องเช็คฟีดแบ็กจากลูกค้าจะใช้ความคิดความเชื่อจากแค่คนในทีมไม่ได้ และถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็ยกเลิกไป

“ธุรกิจจะขยายได้ลูกค้าเริ่มมาจากเราเข้าใจดีเอ็นเอของคนไทยที่ชอบลุ้นโชค จึงใช้วิธีแลกขยะกับแต้มให้เขาไปลุ้นโชค แจกทอง แจกรถ ที่ได้มาจากพันธมิตรแบรนด์ต่าง ๆ ที่อยากร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอีกปัจจัยที่มีผลต่อลูกค้าไม่น้อยกว่ากันคือความสะดวก เพราะถ้าจุดรับบริจาคไกลไปก็ไม่คุ้มที่เอามาแลกแม้จะมีให้ลุ้น ครั้งหนึ่งคิดทำถังแยกขยะให้ทิ้งแล้วไปรับที่บ้านแต่ต้องจ่ายค่าบริการเป็นพัน ปรากฏได้ผลกับแค่กลุ่มบน ถ้าเรายังฝืนทำระยะยาวจะกลายเป็นตลาดนิช ถ้าคนส่วนใหญ่รู้สึกไม่อยากใช้เราก็ยกเลิกไปทำอย่างอื่น ไม่ฝืน”

นอกจากได้ผลตอบรับน้อย วิธีนี้ยังไม่ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของบริษัทฯที่ตั้งไว้แต่แรกด้วยว่า ต้องการลดปริมาณขยะรีไซเคิลไม่ให้ไปอยู่ในหลุมฝังกลบและมหาสมุทรให้ได้มากที่สุด

“ย้อนไปปีแรก ๆ เราอาจจะทำอะไรตามใจตัวเอง พอคิดว่าสิ่งนี้ดีก็อยากจะให้กับลูกค้าเหมือนยัดเยียด เพราะเมื่อลูกค้าเป็นคนใช้งานเราก็ควรเรียนรู้จากเขา ฉะนั้นเราจะมีวิธีการเรียนรู้ลูกค้าเสมอเพื่อทำให้บริการและสินค้าตอบโจทย์เขามากที่สุด วิธีการของเราก็ง่ายมาก เริ่มโยนหินถามทางด้วยการทำเซอร์เวย์ก่อน จากนั้นก็ทำโฟกัสกรุ๊ปเชิญคนที่สนใจเข้ามาคุยเพื่อให้เข้าใจลูกค้ามากที่สุด ทำให้ได้คำตอบที่จริงที่ชัดเจนกว่า เหมือนตอนทำงานร่วมกับโค้ก เราคิดเองว่ารางวัลใหญ่คนจะร่วมเยอะ แต่ลูกค้ากับคิดว่าต่อให้รางวัลถ้าไม่สะดวกก็ไม่ร่วม ผลคือเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าจาก 20 จุดเป็น 100 กว่าจุดคนเข้าถึง่าย ก็ทำให้ผลลัพธ์โครงการดีขึ้นทันทีโตเกือบ 200% เทียบกับเดือนก่อนหน้า แล้วผลที่ได้จากคำว่าไม่สะดวกไปคิดพัฒนาบริการและสินค้าอื่นเพิ่มได้อีกไม่สิ้นสุด เพราะธุรกิจต้องโตทุกวัน”

ถ้าย้อนไปตอนเริ่มต้นที่ทำขยะรีไซเคิลลุ้นโชค ก็เป็นการได้แนวทางธุรกิจมาจากข้อมูลเช่นกัน ทั้งเรื่อง ขยะและการลุ้นโชค ในมุมของขยะ Trash Lucky ศึกษาข้อมูลพบว่าคนไทยไม่เข้าใจเรื่องขยะรีไซเคิลเยอะมาก และประมาณ 91% ทิ้งขยะไม่ถูกต้อง นั่นแสดงว่ามีขยะแค่ 9 ชิ้นจาก 100 ชิ้นเท่านั้นที่จัดการถูกวิธี ตอนที่ธุรกิจเราเริ่มต้นไทยติดอันดับ 5 ของโลกในฐานะประเทศที่ทิ้งขยะลงมหาสมุทรมากที่สุด ตอนนี้หลุดอันดับ 10 แล้วแต่ก็ยังอยู่ในลำดับต้น ๆ ยังมีช่องให้พัฒนาได้อีกมาก

ส่วนดีเอ็นเอเรื่องชอบลุ้นโชคเสี่ยงดวง ไม่ใช่แค่คนไทยในโลกนี้มีประวัติย้อนกลับไปได้ถึง 2,000 ปี ส่วนคนไทยมีสถิติคนซื้อลอตเตอรี่เป็นเปอร์เซ็นต์สูงและมีรวมมูลค่าต่อปีหลายแสนล้านบาทมากกว่าสถิติการออมผ่านกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีเพียงปีละ 4-5 หมื่นล้านเกินสิบเท่า

อย่างไรก็ตามแม้จะเริ่มจากฟรีเทคโนโลยี และเน้นวิธีการมากกว่าการใช้เทคโนโลยี แต่ วรวิทย์ กล่าวว่า Trach Lucky ก็ติดตามเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันอย่าง AI อยู่บ้างว่าจะสามารถนำมาใช้ในกระบวนการใดของธุรกิจได้บ้าง อาจจะไม่ใช่กระบวนการหลักแต่เป็นกระบวนการย่อย ๆ อื่น ๆ เพราะทุกธุรกิจในปัจจุบันหันมาใช้ AI และ IoT กันมากขึ้น

“เท่าที่ดู ๆ ตอนนี้จากการที่เราให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมาแยกใส่ตู้ตามประเภท อนาคตเป็นไปได้ไหมที่ตู้จะมี AI ที่ช่วยแยกให้ได้เลย ก็อยู่แค่ช่วยไอเดีย แต่ก็เปิดใจว่า AI อาจจะมีบบาทเข้ามาทำอะไรได้บ้าง เพราะในโรงงานแยกขยะบ้างทีก็มีการใช้ AI ในการขัดแยก และก็เก่งขนาดตรวจจับได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอย่างแมวอยู่ในถุงจนช่วยออกมาได้ และความสามารถอย่างหนึ่งที่ AI ดีกว่าคนแน่ ๆ คือการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง”

แต่ ณ ตอนนี้นับจากเริ่มต้นธุรกิจมาถึงปัจจุบัน สำหรับ Trash Lucky อาจจะเป็นสตาร์ทอัพเพียงไม่กี่รายที่ถือได้ว่า เทคโนโลยีไม่สำคัญเท่าวิธีการ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีได้อย่างหนึ่งว่า การทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่คิดว่าจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลักนั้น จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีอาจจะไม่มีความหมายเท่าไรนัก หากไม่สามารถมองธุรกิจที่จะได้ทะลุปรุโปร่ง หรือขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะพาธุรกิจเติบโตไปในอนาคตอย่างไร

 

เกี่ยวกับ Trash Lucky

เป็นบริษัท startup ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และได้รับเงินลงทุนเริ่มต้นและทุนสนับสนุนจาก DTAC Accelerate (Batch 7), ธนาคารออมสิน, depa, สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ WWF ประเทศไทย ทำธุรกิจบริการให้คนรีไซเคิลขยะ มีวิสัยทัศน์เพื่อให้มหาสมุทรไร้ขยะพลาสติก ด้วยเป้าหมายหลักสร้างแรงจูงใจให้คนหันมารีไซเคิลเพื่อเบนเส้นทางพลาสติกไม่ให้กลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบหรือมหาสมุทร

โดยมีรางวัลให้ลุ้นเป็นแรงจูงใจทุกเดือนสำหรับผู้บริจาค อาทิ ทองคำ รถ ฯลน เพียงแยกขยะรีไซเคิลแล้วบริจาคให้ Trash Lucky ผู้บริจาคตจะได้รับตั๋วลุ้นรางวัลตามปริมาณขยะที่รีไซเคิล โดย Trash Lucky รับขยะประเภท พลาสติก แก้ว กระดาษ และ โลหะ เพื่อนำไปรีไซเคิลโดยนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายขยะรีไซเคิลที่บริจาคมา มาเป็นทุนจับฉลากครั้งต่อไป

ร่วมสัมผัสและเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมไทย ผ่านงาน SITE 2023 – STARTUP THAILAND x INNOVATION THAILAND 2023 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เมื่อวันที่ 22-24 มิถุนายน​ 2023 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดูรายละเอียดย้อนหลัง​ได้ที่​ https://site.nia.or.th/

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ