fbpx

อายุ 16 และออทิสติก เกรตา ธุนเบิร์ก นักรณรงค์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิง รางวัลโนเบลสันติภาพ

เกรตา ธุนเบิร์ก นักรณรงค์ภาวะโลกร้อนวัย 16 ปี ผู้มีอาการกลุ่มออทิสติก และผู้ทำให้วัยรุ่นหลายหมื่นคนจาก 119 ประเทศยอมหยุดเรียนเพื่อเดินขบวนประท้วงภาวะโลกร้อนเหมือนกับเธอ ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ภาวะโลกร้อนอาจเป็นคำที่หลายคนได้ยินกันบ่อยจนกลายเป็นเรื่องเดือดร้อนที่ฟังดูธรรมดา และอยู่ห่างจากความสนใจของหลายคนไปไกล แต่สำหรับ เกรตา ธุนเบิร์ก มองว่าปัญหานี้ต้องได้รับความสนใจและเร่งแก้ไข เพราะคนรุ่นต่อไปที่ต้องใช้ชีวิตบนโลกที่ถูกละเลยจากผู้ใหญ่ก็คือเด็กในวัยเดียวกันกับเธอนั่นเอง การประท้วงของเกรตาจุดประกายให้วัยรุ่นหลายหมื่นคนในหลายประเทศหันมาสนใจปัญหานี้และออกมาเดินขบวนรณรงค์เช่นเดียวกับเธอ สมาชิกรัฐสภานอร์เวย์จึงตัดสินใจเสนอชื่อเกรตาเข้าชิงรางวัลโนเบลสันติภาพ 

เกนตา ธุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เป็นนักรณรงค์ภาวะโลกร้อนวัย 16 ปี เริ่มสนใจเกี่ยวกับปัญหานี้เมื่อได้เรียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อตอน 9 ขวบ เกรตาบอกว่ามันเป็นเรื่องแปลกดีที่มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ ทว่าไม่เห็นใครลงมือทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเลย เกรตาจึงเริ่มศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อนอยู่นานถึง 6 ปี ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่เด็กอายุเพียงเท่านั้นจะสนใจสิ่งหนึ่งอย่างจริงจังและอยู่กับมันได้นานเช่นนี้ เกรตาบอกว่า นี่อาจเป็นข้อดีของการเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม หนึ่งในอาการกลุ่มออทิสติก ที่ทำให้เธอสามารถจดจ่อกับสิ่งหนึ่งได้นานหลายชั่วโมง และหลังจากศึกษาปัญหาโลกร้อนแล้ว เกรตาก็เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของตัวเองไปโดยสิ้นเชิง ด้วยการเลิกกินเนื้อสัตว์ ไม่ซื้อสิ่งของไม่จำเป็น เลิกขึ้นเครื่องบิน รวมถึงครอบครัวของเกรตาก็เปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โดยหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขี่จักรยาน และปลูกพืชผักไว้กินเอง 

ความพยายามของเกรตาไม่หยุดเพียงเท่านั้น เพราะเธอพยายามทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ด้วยการโดดเรียนเพื่อไปนั่งประท้วงอย่างเงียบๆ เพียงคนเดียวบริเวณรัฐสภาช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไปของประเทศสวีเดนเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักการเมืองรับรู้ถึงปัญหาโลกร้อนเข้าขั้นวิกฤตและควรได้รับการแก้ไข

ช่วงแรกเกรตาโดดเรียนหลายวันเพื่อมานั่งประท้วงเงียบหน้ารัฐสภา ก่อนต้องยอมลดเหลือเพียงวันศุกร์เท่านั้น ทว่าการเคลื่อนไหวนี้ก็ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นทั้งในและนอกประเทศได้ รวมถึงการได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีระดับโลก ณ การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คำพูดของเกรตาสะกิดให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโลกร้อนมากขึ้น จนเกิดการเคลื่อนไหวโดยเยาวชนในหลายประเทศ ด้วยการนัดหยุดโรงเรียนเพื่อเดินขบวนรณรงค์ปัญหาสิ่งแวดล้อมกันทุกวันศุกร์ โดยใช้แฮชแท็กว่า #FridaysforFuture

และเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาก็ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เนื่องจากนักเรียนหลักหมื่นคนจาก 119 ประเทศทั่วโลก พร้อมใจกันหยุดเรียนเพื่อออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ถูกมองข้าม ความตั้งใจของ เกรตา ธุนเบิร์ก ในการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ทำให้สมาชิกรัฐสภาประเทศนอร์เวย์ตัดสินใจเสนอชื่อเกรตาให้เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และหากเกรตาชนะรางวัลนี้ก็จะกลายเป็นผู้รับรางวัลที่อายุน้อยที่สุดในวัยเพียง 16 ปี

เป็นเรื่องน่าดีใจที่เยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและออกมาเคลื่อนไหวกันอย่างจริงจัง และคงเป็นเรื่องที่ดีขึ้นไปอีกหากผู้ใหญ่ในหลายประเทศจะสนับสนุนและช่วยหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ไปด้วยกัน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ