กระบวนพยุหยาตราสถลมารค พระราชพิธีอันยิ่งใหญ่และงดงาม สืบสานมาแต่สมัยสุโขทัย
กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นโบราณพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามหลักฐานโบราณกล่าวว่า การจัดกระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างมโหฬาร เพียบพร้อมด้วยกำลังทหารเหล่าต่างๆ กระบวนพระบรมราชอิสริยยศอึงมี่ด้วยเสียงประโคม กลองชนะ แตร และสังข์ พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินทั้งไปจนกว่าจะรอบมณฑลราชธานี เพื่อบำรุงสวามิภักดิ์และแสดงพระเดชานุภาพ
กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นอีกหนึ่งพระราชพิธีสำคัญในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นโบราณพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สืบทอดต่อกันจนสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน โดยเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางบกของพระมหากษัตริย์ กระทำโดยเสด็จเลียบพระนครเพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าชมพระบารมีและแสดงความจงรักภักดีแด่พระมหากษัตริย์องค์ใหม่
แต่เดิม การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค นอกจากเพื่อให้ราษฎรมีโอกาสเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ก็กระทำเพื่อเป็นการแสดงพระเดชานุภาพให้ผู้ใดคิดร้ายได้หวั่นเกรง โดยตามหลักฐานโบราณกล่าวว่า การจัดกระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างมโหฬาร เพียบพร้อมด้วยกำลังทหารเหล่าต่างๆ แห่นำและตามเสด็จองค์พระมหากษัตริย์ กระบวนพระบรมราชอิสริยยศอึงมี่ด้วยเสียงประโคม กลองชนะ แตร และสังข์ พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางชลมารค (ทางน้ำ) และสถลมารค (ทางบก) ไปจนกว่าจะรอบมณฑลราชธานีเพื่อบำรุงสวามิภักดิ์และแสดงพระเดชานุภาพแก่พสกนิกรทั้งปวง
ทว่ากาลสมัยที่เปลี่ยนไป จุดมุ่งหมายของพิธีนี้ก็เปลี่ยนเหลือเพียงเพื่อให้พระราชพิธีเป็นไปโดยถูกต้องตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น อีกทั้งทรงเห็นว่าเป็นการลำบากโดยไม่จำเป็น จึงมีการย่นระยะทางเหลือเพียงเลียบพระนครราชธานี และต่อมาก็ย่อลงอีก เหลือเพียงเสด็จเลียบพระนครทางเรือ ส่วนทางบกนั้นแห่เสด็จเพียงรอบพระบรมมหาราชวัง
กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ตามพระราชพงศาวดารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยนี้ ได้มีการแห่กระบวนพยุหยาตราสถลมารคเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วทั้งสิ้น 7 ครั้งด้วยกัน ดังนี้
สมัยรัชกาลที่ 1 บันทึกการเสด็จเลียบพระนครไว้ เมื่อ พ.ศ. 2328 ครั้งที่ทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตำรา การเสด็จฯ ครั้งนั้นทรงให้ยาตรากระบวนแห่ทักษิณาวัตรรอบพระบรมมหาราชวัง มิได้หยุดกระบวน ณ ที่ใด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการกระทำเช่นเดียวกับที่เคยในสมัยอยุธยาจริงๆ
สมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงให้มีการเสด็จเลียบพระนคร โดยทรงเสด็จฯ ออกทางประตูวิเศษไชยศรี ทำประทักษิณพระบรมมหาราชวัง เลี้ยวที่ป้อมเผด็จดัสกร แล้วตรงไปจนถึงสะพานข้ามคลองตลาด เลี้ยวกลับขึ้นทางกำแพงพระนคร เข้าถนนหน้าวังที่ท่าพระ เลี้ยวกลับเข้าพระบรมมหาราช วังทางประตูเดิม ไม่ได้หยุดที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกระบวนแห่เลียบพระนครเมื่อ พ.ศ. 2367 แต่ไม่มีรายละเอียดของพระราชพิธี
สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เทียบกระบวนหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนนมัสการและถวายดอกไม้เงิน-ทอง บูชาพระรัตนตรัย เมื่อถึงรัชกาลนี้ การจัดกระบวนพยุหยาตราสถลมารคก็ได้เน้นไปทางโบราณราชประเพณีมากกว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพ เนื่องจากในขณะนั้น ประเทศสยามตกอยู่ในวงล้อมของลัทธิจักรวรรดินิยม การศึกสงครามได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการรบสมัยใหม่มากขึ้น
สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครเช่นเดียวกับในรัชกาลที่ผ่านมา
สมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเส้นทางยาตรากระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารคเลียบพระนครใหม่ เป็นออกจากพระบรมมหาราชวังไปตามถนนหน้าพระธาตุ ถนนราชินี หยุดกระบวน ณ พลับพลาท้องสนามหลวง เสด็จขึ้นประทับพลับพลาให้พ่อค้า ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล แล้วเสด็จขึ้นประทับพระราชยานพุดตานทอง ยาตรากระบวนข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา เลี้ยวไปตามถนนจักรพงศ์ เลี้ยวขวาถนนพระสุเมรุ เทียบพระราชยานที่เกยพลับพลาหน้าวัดบวรนิเวศ เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงธูปเทียนเครื่องนมัสการ และถวายต้นไม้เงิน-ทองเป็นพุทธบูชาพระพุทธชินสีห์และถวายดอกธูปเทียนสักการะสมเด็จพระราชอุปัชฌาย์
จากนั้นเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราไปทรงนมัสการพระพุทธปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ โดยยาตรากระบวน
ไปตามถนนพระสุเมรุ เลี้ยวขวาไปตามถนนราชดำเนินกลางและถนนสนามไชย ระหว่างทางได้หยุดกระบวน แล้วเสด็จขึ้นประทับพลับพลาที่ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อให้บรรดาชาวยุโรปที่ได้ทำการค้าขายอยู่ในพระนครถวายพระพรชัยมงคล
เมื่อเสร็จพิธีที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนแล้ว เสด็จฯ ยาตรากระบวนไปตามถนนพระเชตุพน ถนนมหาราช คืนสู่พระบรมมหาราชวัง ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้มีการเปลี่ยนเส้นทางเสด็จเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
สมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารคไปยังวัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามโดยสถลวิถี เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในรัชกาลก่อนหน้า เพียงแต่ไม่ได้ให้หยุดเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลที่ท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนินกลาง และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้มีการวางหลักเกณฑ์การจัดกระบวนสำหรับเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็น 9 กระบวนคือ กระบวนพยุหยาตราสถลมารค 4 กระบวน และกระบวนพยุหยาตราชลมารค 5 กระบวน
กระบวนพยุหยาตราสถลมารค 4 กระบวน ประกอบด้วย กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารค กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) สถลมารค กระบวนราบใหญ่ และกระบวนราบน้อย ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารค 5 กระบวน ประกอบด้วยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ชลมารค กระบวนพยุหยาตราน้อยชลมารค กระบวนราบใหญ่ทางเรือ กระบวนราบน้อยทางเรือ และกระบวนราบย่อ
สมัยรัชกาลที่ 8 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรอานันทมหิดล ไม่มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชไม่มีการเสด็จเลียบพระนครคราวบรมราชาภิเษก มีแต่จัดเป็นกระบวนราบใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินจากเกยหน้าพระทวารเทเวศร์รักษา พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายบังคมพระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร
กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เนื่องในการพิธีบรมราชาภิเษกปี 2562
ประชาชนชาวไทยจะมีโอกาสได้ชมริ้วกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคอีกครั้ง หลังจากครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2506 โดยจะกระทำการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เวลา 16.30 น. โดยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เริ่มจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ก่อนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 7 กิโลเมตร
อ้างอิงภาพ
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร www.finearts.go.th
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดยคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด https://oer.learn.in.th/