fbpx

8 กษัตริย์จากทั่วโลกที่ขึ้นครองราชย์ในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

การปกครองโดยพระมหากษัตริย์ หรือราชาธิปไตย (Monarchy) เป็นหนึ่งในระบอบการปกครองที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งสืบทอดมาจากระบบการปกครองแบบมีหัวหน้าเผ่า ปัจจุบันมี 43 ประเทศที่ยังคงมีระบอบกษัตริย์ จากทั้งหมด 196 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์

Reasons to Read

  • การปกครองโดยพระมหากษัตริย์ หรือราชาธิปไตย (Monarchy) เป็นหนึ่งในระบอบการปกครองที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งสืบทอดมาจากระบบการปกครองแบบมีหัวหน้าเผ่า ปัจจุบันมี 43 ประเทศที่ยังคงมีระบอบกษัตริย์ จากทั้งหมด 196 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์
  • และนี่คือรายพระนามพระมหากษัตริย์จากทั่วโลกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

การปกครองโดยพระมหากษัตริย์ หรือราชาธิปไตย (Monarchy) เป็นหนึ่งในระบอบการปกครองที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งสืบทอดมาจากระบบการปกครองแบบมีหัวหน้าเผ่า ปัจจุบันมี 43 ประเทศที่ยังคงมีระบอบกษัตริย์ จากทั้งหมด 196 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์

ในบรรดาประเทศเหล่านี้ อำนาจของพระมหากษัตริย์ก็จะแตกต่างกันไป โดยแบ่งเป็น 4 ลักษณะคือ ประเทศที่กษัตริย์ปกครองแบบมีอำนาจเต็มที่, ประเทศที่กษัตริย์ปกครองแบบมีอำนาจกึ่งหนึ่ง, ประเทศที่กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของรัฐ และประเทศในเครือจักรภพ

แม้จะมีอำนาจในลักษณะที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือทุกๆ ราชวงศ์จะมีการสละอำนาจให้กับกษัตริย์องค์ใหม่เมื่อถึงคราวอันควร และนี่คือรายพระนามพระมหากษัตริย์จากทั่วโลกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปแห่งเบลเยียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2503 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม หลังจากที่สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 พระบรมราชชนก ทรงประกาศสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการ โดยทรงพระราชปรารภเรื่องเกี่ยวกับปัญหาทางพระพลานมัย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โดยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นวันชาติเบลเยียม สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 ทรงลงพระปรมาภิไธยสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการให้แก่เจ้าชายฟีลิป ดยุกแห่งบราบันต์ และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งเบลเยียม และสาบานพระองค์หน้าพระราชบัลลังก์ต่อหน้าคณะองคมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา ณ รัฐสภาในกรุงบรัสเซลส์

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด พระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2478 ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อิบน์ ซะอูดพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของซาอุดีอาระเบีย กับสมเด็จพระราชินีฮุสซะฮ์ บินต์ อะห์มัด อัสซุดัยรี

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานฯ ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ซาอุดีอาระเบียองค์ปัจจุบัน หลังจากสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอห์ พระเชษฐา (พี่ชาย) เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558 ด้วยพระอาการพระปัปผาสะบวม (ปอดบวม)

เชคตะมีม บิน ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี  พระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เป็นเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์พระองค์ปัจจุบัน นับตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ต่อจากเชคฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี (บิดาและเป็นเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์องค์ที่ 7)

เชคตะมีม บิน ฮะมัด อัษษานี ทรงอภิเษกสมรส 2 ครั้ง ครั้งแรกกับเชคญะวาฮิร บินต์ ฮะมัด ซุฮัยม์ อัษษานี มีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยกัน 4 พระองค์ และได้อภิเษกสมรสครั้งที่สองกับเชคอะนูด บินต์ มานะอ์ อัลฮาจญ์รี พระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยกัน 2 พระองค์

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เป็นพระสันตะปาปาพระองค์ที่ 266 เริ่มดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 และได้เปิดทางให้มีการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่

หลังจากการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 5 โดยพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวน 115 ท่าน ผลปรากฏว่าพระคาร์ดินัลคอร์เค เบร์โกเกลียว อัครมุขนายกแห่งบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้รับเลือก และทรงเลือกพระนาม ‘Franciscus’ ซึ่งหมายถึง ‘นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี’ นับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกจากทวีปอเมริกาและคณะเยสุอิต

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก ทรงได้รับการยกย่องจากชาวภูฏานรวมถึงชาวไทยส่วนใหญ่ว่ามีพระจริยวัตรที่งดงาม และเป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวภูฏาน จากการที่ทรงวางพระองค์อย่างเป็นกันเองในหมู่ประชาชน

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมชุก พระบรมชนกนาถ ทรงสละราชสมบัติพระราชทานให้แก่เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก รัชทายาท พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2549 โดยมีพระราชดำริในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างแรกด้วยการพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันชาติของภูฎาน หลังจากนั้นประมาณสองปี ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พระองค์ได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังในกรุงทิมพู

สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศสเปน เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2511 เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน

ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557 สมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน พระบรมราชชนก ทรงประกาศสละราชสมบัติแก่พระองค์ โดยทรงลงพระปรมาภิไธยสละราชสมบัติ ซึ่งมีผลในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกและสาบานพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในช่วงสายของวันเดียวกัน ณ อาคารรัฐสภาในกรุงมาดริด

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2510 เป็นพระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์และเจ้าชายเคลาส์แห่งเนเธอร์แลนด์ พระสวามี

หลังจากพระราชมารดาสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556 พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนเธอร์แลนด์’ พระองค์แรกนับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าวิลเลมที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2433 เป็นอันสิ้นสุดการครองราชย์โดยพระมหากษัตริย์ที่ยาวนานถึง 123 ปี

สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านอับดุลละฮ์ รีอายาตุดดิน อัล-มุสตาฟา บิลละฮ์ ชะฮ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 ทรงเป็นสุลต่านแห่งรัฐปะหังและยังดีเปอร์ตวนอากง (ในภาษามลายู หมายถึง ผู้ปกครองสูงสุด) แห่งประเทศมาเลเซียพระองค์ปัจจุบัน

สภาผู้ปกครองแห่งมาเลเซีย ได้มีมติเลือกสุลต่านแห่งรัฐปะหังขึ้นเถลิงราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2562 สืบต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านมูฮัมมัดที่ 5 แห่งกลันตัน ที่ทรงสละราชบัลลังก์อย่างกะทันหัน

FYI :

  • วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างเป็นทางการในชื่อยุค ‘เรวะ’ (Reiwa) หลัง ‘สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ’ จะทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ 30 เมษายน 2562 และเป็นอันสิ้นสุดยุค ‘เฮเซ’ ที่พระองค์ทรงครองราชย์มานานกว่า 30 ปี นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รอบ 200 ปีของราชวงศ์ญี่ปุ่น ที่ได้เปลี่ยนราชบัลลังก์ด้วยการสละราชย์ของพระจักรพรรดิองค์ก่อนหน้า ซึ่งยุคเรวะ มีความหมายถึงวัฒนธรรมที่ก่อกำเนิด และเติบโต เมื่อผู้คนมารวมกัน และดูแลซึ่งกันและกันอย่างสวยงาม จะเริ่มต้นในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้
  • พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และนับเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการถ่ายทอดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ โดยทุกสถานีจะทำการเชื่อมสัญญาณการถ่ายทอดสดจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ