โดนใจหรือเปล่า?ย้อนดู ‘อันดับโลก’ ของไทยในช่วงครึ่งทาง 2019
ครึ่งปีที่ผ่านมาเราถูกจัดอันดับในหลายๆ ด้าน ทั้งในระดับเอเชียและในระดับโลก ซึ่งมีทั้งร้ายและดี การจัดอันดับบางอย่างก็เหนือความคาดหมาย มาทบทวนกันว่าดูดีกว่าว่าเราโดดเด่นและด้อยในเรื่องไหนบ้าง
Reason to Read
- ครึ่งปีที่ผ่านมาเราถูกจัดอันดับในหลายๆ ด้าน ทั้งในระดับเอเชียและในระดับโลก ซึ่งมีทั้งร้ายและดี การจัดอันดับบางอย่างก็เหนือความคาดหมาย มาทบทวนกันว่าดูดีกว่าว่าเราโดดเด่นและด้อยในเรื่องไหนบ้าง
การจัดอันดับประเทศทั่วโลกในเรื่องต่างๆ อย่างที่มักจะนำเสนอข้อมูลออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศที่มีความสุขที่สุด ประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ประเทศที่ร่ำรวยยากจนที่สุด ฯลฯ นอกจากจะทำให้เรามองเห็นเรื่องที่เป็นนามธรรมได้ชัดเจนขึ้นแล้ว ถ้าเปิดใจกว้างก็มีประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในประเทศที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาข้อเสียได้อย่างตรงจุด และสามารถเปรียบเทียบความสำเร็จของผลงานได้จากการจัดอันดับในปีต่อๆ มา
ครึ่งปีที่เหลือจากนี้ไปไม่อาจรู้ได้ว่าประเทศไทยจะไปติดอันดับในเรื่องไหนบ้าง แต่ครึ่งปีที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจัดอันดับในหลายๆ ด้าน ทั้งในระดับเอเชียและในระดับโลก มาทบทวนกันว่าเราโดดเด่นและด้อยในเรื่องไหนบ้าง
มกราคม 2019
1. ติด Top 10 เมืองหลวงคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก
สำหรับปี 2019 นี้ คนไทยอาจจะเริ่มต้นด้วยสถิติที่ไม่ค่อยดี เนื่องจากวิกฤตการณ์ฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 จนถึงต้นปี 2019 ที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้คนไทยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนต้องมีตัวช่วยในการตรวจสอบคุณภาพอากาศติดตัวกันแทบทุกคน โดยที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน AirVisual ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศทั่วโลกและรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์
และเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2019 ข้อมูลจาก AirVisual ก็ได้เปิดเผยค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยซึ่งติดอยู่ในอันดับ 8 ของเมืองทั่วโลกที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุด และอันดับที่ 16 คือ จังหวัดเชียงใหม่
แต่เมื่อดูในภาพรวมจากรายงานการจัดอันดับคุณภาพอากาศโลกปี 2018 และการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษสูงสุดในโลกเชิงปฎิสัมพันธ์ โดย AirVisual กลับพบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก ในฐานะประเทศที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 มากที่สุด และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยมีค่าคุณภาพอากาศที่แย่เป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม รวมถึงมี 10 จังหวัดในไทยที่ติดอยู่ในการจัดอันดับ 15 เมืองที่มีมลพิษ PM 2.5 สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. 1 ใน 10 ประเทศน่าอยู่ที่สุดในโลกสำหรับวัยเกษียณ
นิตยสาร อินเทอร์เนชันนัล ลิฟวิง (International Living) จัดอันดับประเทศที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ จากการจัดทำดัชนีเกษียณโลกประจำปี ซึ่งผลการจัดอันดับในปี 2019 นี้ พบว่าประเทศน่าอยู่ในวัยเกษียณที่สุดในโลกอันดับ 1 เป็นของประเทศปานามา ตามด้วยคอสตาริกา เม็กซิโก เอกวาดอร์ มาเลเซีย โคลัมเบีย โปรตุเกส เปรู ไทย และสเปน
สำหรับประเทศไทย ทีมงานผู้จัดทำดัชนีเกษียณโลกได้วิเคราะห์ถึงความโดดเด่นที่ทำให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 9 และเป็น 1 ใน 2 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีชื่อติดอันดับในครั้งนี้ว่า เป็นเพราะไทยมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สปป. ลาว และกัมพูชา เดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวกสบาย มีพื้นที่ชายฝั่งที่สวยงามทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีความน่าสนใจในด้านประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด และยังมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่มีสีสัน ในแง่ของสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ก็มีความเพียบพร้อม เข้าถึงได้ง่าย ค่ารักษาพยาบาลก็อยู่ในระดับที่ไม่แพง
3. แชมป์เมืองท่องเที่ยวเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก
เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเชื่อว่าเป็นเรื่องคนไทยยืดอกและยิ้มได้กว้างที่สุดแล้ว เพราะเป็นจุดแข็งที่หาใครมาเทียบได้ยากเหลือเกิน ล่าสุดสามารถทำรายได้สูงสุดขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในเอเชียและทะยานขึ้นสู่อันดับ 4 ของโลก
โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomburg) รายงานว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยทำรายได้มากกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็น 1.82 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงสุดในทวีปเอเชีย แซงหน้ามาเก๊า ญี่ปุ่น ฮ่องกง และจีนแบบไม่เห็นฝุ่นเลย ส่วนในตลาดโลก รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยก็ทะยานไปข้างหน้าไม่หยุดยั้งเช่นกัน ทำให้ไทยสามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยอันดับ 1 คือสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยสเปน และฝรั่งเศส
สำหรับจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาลในแต่ละปีก็เพราะไทยมีทุกอย่างที่สามารถสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในทุกระดับชั้น ตั้งแต่เกาะส่วนตัวที่มีวิลล่า ขณะเดียวกันก็มีสตรีทฟู้ดราคาถูก รวมไปถึงความหลากหลายของอาหารและสินค้าต่างๆ ในตลาดแต่ละท้องที่
กุมภาพันธ์ 2019
4. ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก
เว็บไซต์ Numbeo ผู้รวบรวมฐานข้อมูลผู้ใช้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับเมืองและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในด้านสภาพความเป็นอยู่ในโลก รวมถึงค่าครองชีพ ตัวชี้วัดที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การจราจร อาชญากรรมและมลพิษ ได้เผยแพร่ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลกปี 2019 (Health Care Index for Country 2019) ปรากฏว่าประเทศไทยติดอันดับ 7 ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลก
ทั้งนี้ อันดับที่ 1-10 คือไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เบลเยียม เดนมาร์ก ออสเตรีย ไทย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสเปน ตามลำดับ
นอกจากนี้ ดร.ซอมญา สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวขณะมาเยี่ยมชมการดำเนินงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วว่า แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เพียงพอภายใต้งบประมาณที่จำกัด รวมถึงมีความร่วมมือในการดำเนินนโยบายจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง นับเป็นประเทศต้นแบบของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดี อย่างไรก็ตามหากมองในฐานะประชากรของประเทศไทยย่อมแน่นอนว่าอาจไม่ใช่เรื่องจริงสำหรับทุกคน
5. อันดับ 26 ประเทศที่ดีที่สุดในโลก
โรงเรียนธุรกิจวอร์ตัน (Wharton School) ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และ BAV Group ร่วมกับนิตยสาร ยู.เอส. นิวส์ แอนด์ เวิล์ด รีพอร์ต (U.S. News and World Report) ได้ทำการศึกษาและพัฒนาแบบจำลองสำหรับการให้คะแนนและจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลกจำนวน 80 อันดับ โดยในปี 2019 ได้มีการเผยแพร่ผลการจัดอันดับประเทศที่ได้ประมวลมาจากการสำรวจแบบสอบถามจำนวน 20,301 คน จาก 36 ประเทศ ใน 4 ภูมิภาคของโลก
โดยใช้เกณฑ์การวัดที่พิจารณาจากคุณลักษณะย่อย 9 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ประสบการณ์ที่น่าสนใจ สิทธิในความเป็นพลเมือง อิทธิพลทางวัฒนธรรม คุณสมบัติในการเป็นผู้ประกอบการ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศักยภาพในการเป็นผู้ขับเคลื่อน การเปิดกว้างทางธุรกิจ ความมีอำนาจ และคุณภาพชีวิต
ในแต่ละคุณลักษณะย่อยก็จะมีประเทศที่ติดอันดับมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยมีชื่อของประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 6 ของประเทศที่มีประสบการณ์ที่น่าสนใจ ด้านความเป็นมิตร สนุกสนาน น่าดึงดูดใจ และประเทศที่เป็นผู้ขับเคลื่อนที่น่าสนใจของโลก
ส่วนในภาพรวมประเทศที่ดีที่สุดของปี 2019 แชมป์ตกเป็นของสวิตเซอร์แลนด์ รองลงมาคือญี่ปุ่น แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร สวีเดน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สิงคโปร์ จีน เบลเยียม อีตาลี ลักเซมเบิร์ก สเปน ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย โปรตุเกส และประเทศไทยในอันดับที่ 26 ตามลำดับ ซึ่งไทยได้ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 27 ในปีที่ผ่านมา นำหน้ามาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 38 และเวียดนามซึ่งอยู่ในอันดับ 39
มีนาคม 2019
6. ความสุขของประชาชนร่วง 6 อันดับ
เครือข่ายทางออกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network) หรือ SDSN ภายใต้องค์การสหประชาชาติ รายงานความสุขโลก ปี 2019 ที่สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลช่วงปี 2016-2018 ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีดีพีต่อหัว สิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิต การเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน กระบวนการสาธารณสุข รวมถึงอัธยาศัยไมตรีของคนในสังคมและอัตราการคอร์รัปชันใน 156 ประเทศทั่วโลก
ผลที่ออกมาพบว่าฟินแลนด์ครองอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 2 ตามมาด้วยเดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรีย ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 52 ตกจากอันดับที่ 46 เมื่อปี 2018
สำหรับประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในโลก เรียงจากอันดับสุดท้ายที่ 156 ขึ้นมาได้แก่เซาท์ซูดาน แอฟริกากลาง อัฟกานิสถาน แทนซาเนีย รวันดา เยเมน มาลาวี ซีเรีย บอตสวานา และเฮติ
7. เชียงใหม่โค่นแชมป์เก่าคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่คุกคามสุขภาพคนไทยมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 และส่งผลให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดอันดับที่ 8 ของโลก จนถึงเดือนมีนาคมก็ยังไม่สร่างซาไป พอๆ กับสถานการณ์ทางภาคเหนือของไทยที่ประสบกับปัญหาฝุ่นพิษเช่นเดียวกันและเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ
จากข้อมูลของ AirVisual พบว่ากรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ผลัดกันขึ้นลง 5 อันดับแรกของเมืองที่มีมลพิษสูงสุดของโลก ในปี 2019 มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2019 ที่เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก อันดับ 1 แซงหน้าหลายเมืองใหญ่ที่เคยครองแชมป์อย่างยาวนานในประเทศไนจีเรียและปากีสถาน
8. เมืองหลวงคุณภาพชีวิตดีที่สุดอันดับที่ 133 ของโลก
เมอร์เซอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ทำการจัดอันดับเมืองคุณภาพชีวิตดีที่สุดประจำปี จากการเก็บข้อมูล 450 เมืองทั่วโลก ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาโดยกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้อันดับ 1 ไปครองเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน ตามมาด้วยเมืองซูริก ของสวิตเซอร์แลนด์ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี
ขณะที่เมืองหลวงในประเทศอาเซียนที่มีอันดับสูงสุดคือสิงคโปร์ ในอันดับที่ 25 ของโลก รองลงมาคือกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเมืองและเมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย เมืองบันดาร์เสรีเบกาวัน ของบรูไน ขณะที่กรุงเทพมหานครของไทยอยู่ที่อันดับที่ 133 ของโลกและเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน
การจัดอันดับเมืองคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลกนี้ มาจากการวิเคราะห์ปัจจัย 39 ปัจจัยภายใต้ 10 ประเด็น คือ ประเด็นการเมืองและสังคม เช่น การบังคับใช้กฎหมายและอัตราอาชญากรรม ประเด็นเศรษฐกิจ เช่น กฎการแลกเปลี่ยนเงินตราหรือบริการธุรกรรม ประเด็นสังคมวัฒนธรรม เช่น การกำจัดเสรีภาพของประชาชน ประเด็นสุขภาพและการแพทย์ ประเด็นการศึกษา ประเด็นบริการสาธารณะและการขนส่งมวลชน ประเด็นสันทนาการ ประเด็นสินค้าอุปโภคบริโภค ประเด็นที่อยู่อาศัย และสุดท้ายคือประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะต้องถามคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ว่านี่เป็นอันดับที่โดนใจหรือเปล่า
เมษายน 2019
9. ประเทศไทยทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก จัดอันดับดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ประจำปี 2019 พบว่าไทยรั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดด้วยค่าคะแนนความทุกข์ยากที่ระดับ 2.1 ต่ำสุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2018 และผลสำรวจคาดการณ์ดัชนีปี 2019 ของบลูมเบิร์ก พบว่าไทยยังคงรั้งอันดับ 1 ด้วยคะแนน 2.1 เช่นเดิม
หลายคนคงสงสัยจนถึงขั้นงงมากว่าตัวเลขนี้ได้มาจากไหน คำตอบก็คือดัชนีความทุกข์ยากดังกล่าวได้จากคำนวณจากตัวเลขเงินเฟ้อและอัตราว่างงานใน 62 ประเทศ ซึ่งสำหรับไทยพบว่าข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ไทยมีอัตราว่างงานที่ระดับต่ำเพียง 0.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 1.1 ในปี 2018 ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ของปีนี้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์เมื่อเดือนเมษายน เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว
สำหรับ 5 อันดับของประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุด คือ 1.ไทย 2. สวิตเซอร์แลนด์ 3. ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ซึ่งได้อันดับเท่ากัน 4. ไต้หวัน 5. มาเลเซีย
10. เสรีภาพสื่อไทยอันดับ 136 จาก 180 ประเทศทั่วโลก
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยภายใต้ควบคุมของรัฐบาล คสช. ทำให้สื่อมวลชนค่อนข้างถูกควบคุม ตรวจสอบ และจำกัดเสรีภาพ แต่เชื่อไหมว่าล่าสุดดัชนีเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วถึง 4 อันดับ โดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters sans frontières) หรือ RSF ได้เปิดเผยดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปี 2019 จากการสำรวจ 180 ประเทศทั่วโลก พบว่าดัชนีเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยปีนี้อยู่ในอับดับที่ 136 ด้วยคะแนน 44.10 ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 140 ในปี 2018
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียอย่างมาเลเซียนั้นเป็นประเทศที่มีคะแนนเสรีภาพสื่อมวลชนดีที่สุดในปีนี้ โดยอยู่ที่อันดับ 123 ของโลก ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เมียนมา กัมพูชา สิงคโปร์ บรูไน ลาว ในอันดับที่ไล่เลี่ยกันโดยมีเวียดนามอยู่ในอันดับรั้งท้ายสุดของอาเซียนที่ 176
มิถุนายน 2019
11. หนี้ครัวเรือนพุ่งติดอันดับ 10 ของโลก
เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสแรกของปีนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือหนี้สินครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยข้อมูลจากไตรมาส 4 ของปีที่แล้วพบว่า หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0 เปอร์เซ็นต์ และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 78.6 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน
เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวไปเทียบกับต่างประเทศพบว่า ไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย และยังมีแนวโน้มที่หนี้สินครัวเรือนไทยจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 10.1 สูงสุดในรอบ 5 ปี
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลพวงจากการเร่งก่อหนี้ก่อนการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา รวมถึงความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากคุณสมบัติของรถรุ่นใหม่ และมาตรการส่งเสริมการขายรถยนต์จากงานมอเตอร์โชว์ 2019 และการส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ
แน่นอนว่าการจัดอันดับทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นย่อมมีทั้งที่ตรงใจ และไม่ตรงใจบ้าง แต่หากเรามองอย่างเปิดกว้างและนำมาพิจารณา ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีในในการปรับปรุงแก้ไขให้ประเทศของเราดีขึ้นเป็นแน่