ผู้หญิง ผู้นำ
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
‘ถึงชายได้กวัดแกว่งแผลงจากอาสน์
ซึ่งอำนาจกำแหงแรงยิ่งกว่า
อันมือไกวเปลไซร้แต่ไรมา
คือหัตถาครองพิภพจบสากล’
…
What Rules the World?
‘But a mightier power and stronger
Man from his throne has hurled
And the hand that rocks the cradle
Is the hand that rules the world.’
จากบทกลอนชื่อว่า ‘What Rules The World’ หนึ่งในบทประพันธ์ ‘The Hand That Rocks the Cradle is the Hand That Rules the World’ ของ William Rose Wallace กวีชาวอเมริกันเพื่อยกย่องสรรเสริญ ‘อำนาจ’ ของความเป็นแม่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนโลกได้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1865 ซึ่งพระราชธรรมนิเทศถอดความเป็นภาษาไทย ‘อะไรครองโลก’
แม้ว่าบทประพันธ์นี้จะมีอายุราว 155 ปี นั่นแสดงให้เห็นว่าความเป็นอิสตรีนั้นมีอำนาจเงียบและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของวีรบุรุษนักรบในอดีตกาลมากมาย หากแต่ความเชื่อที่ถูกปลูกฝัง บวกกับสรีระ ผู้หญิงนั้นเหมาะสมที่จะเป็นช้างเท้าหลังของบุรุษมากกว่า
ปัจจุบันการเรียกร้องสิทธิสตรีมีมาอย่างยาวนาน หรืออาจพูดว่าเท่าชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งเลยก็ไม่ผิดนัก ยากเหลือเกินที่จะมีผู้หญิงลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศชาติของตนให้เข้าสู่บทบาทใหม่ที่มีพวกเธอเป็นคนคิดและนำทาง โดยปราศจากอาวุธที่จ้องทำลายล้าง แต่ใช้อาวุธที่สร้างสรรค์ นั่นคือ ‘สมอง’ … พวกเธอเหล่านี้ทำได้
Sanna Marin ซันนา มารีน / นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์
‘ซันนา มารีน’ กลายเป็นนักการเมืองหญิงที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคนหนึ่งของโลกในขณะนี้ เพราะเธอคือ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของฟินแลนด์ ผู้สร้างสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในโลก ด้วยวัยเพียง 34 ปี
ด้วยประวัติครอบครัวที่น่าสนใจ มารีนเติบโตขึ้นมาในครอบครัวสีรุ้ง เธออาศัยอยู่กับแม่ที่มีคู่รักเพศเดียวกันในห้องเช่าเล็กๆ เธอเล่าว่า แม่คือคนที่คอยให้การสนับสนุนและทำให้เชื่อว่าคนเราสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา เธอจึงเป็นคนแรกในครอบครัวที่ได้โอกาสศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
ในส่วนของอาชีพทางการเมือง มารีนเติบโตอย่างรวดเร็วในพรรคโซเชียล เดโมแครต และก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารเมืองตัมเปเร ทางภาคใต้ของประเทศ ตอนอายุเพียง 27 ปี และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2015 อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมและการสื่อสารของฟินแลนด์
ก่อนได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคโซเชียลเดโมแครตคนใหม่ ต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรีอันต์ตี รินเน ด้วยอายุเพียง 34 ปี กับการก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำหญิงคนหนึ่งของโลก แน่นอน, ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความสามารถและประสบการณ์ เสียงนกเสียงกาเหล่านั้นไม่ได้ทำให้เธอสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นจากประชาชน
มารีนกล่าวว่า…อายุและเพศไม่ใช่เรื่องที่เธอต้องมานั่งคิด แต่เหตุผลสำคัญที่ลงสู่สนามการเมืองนั่นคือความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง แม้ว่าหนทางข้างหน้าของรัฐบาลจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบก็ตาม
Jacinda Ardern จาซินดา อาร์เดิร์น / นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
ผู้นำหญิงจากนิวซีแลนด์ที่อายุน้อยที่สุด และเป็นแบบอย่างของผู้หญิงแกร่งบนเวทีโลก ในวัยเพียง 37 ปี ‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของนิวซีแลนด์ สร้างปรากฏการณ์โดดเด่นจากบรรดาผู้นำชาติอื่นๆ บนเวทีการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 ในปีนี้ ณ นครดานัง ประเทศเวียดนาม
ใครจะรู้ว่าอาร์เดิร์นเคยเป็นดีเจมาก่อน ชอบถ่ายรูปเซลฟี่ และร่วมขบวนประท้วงของกลุ่มสตรี (Women’s Marches) เมื่อเธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ จึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับผู้นำคนอื่นๆ ด้วยอายุน้อยที่สุดบนเวทีเอเปค โดยมีอายุห่างจากผู้นำที่มีอายุมากที่สุดถึง 42 ปี โดยผู้นำคนดังกล่าวคือ ประธานาธิบดีเปโดร ปาโบล คุซซีนสกี ของเปรู ซึ่งปัจจุบันอายุ 79 ปี
ชัยชนะทางการเมืองของเธอในนิวซีแลนด์ ทำให้อาร์เดิร์นกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของประเทศ ในอดีตเธอยอมละทิ้งศรัทธาที่มีต่อความเชื่อทางคริสต์ศาสนานิกายมอรมอน เพื่อสนับสนุนแนวความคิดเกี่ยวกับเพศทางเลือกหรือ LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual and Transgender) ด้วยการเป็นผู้ร่วมผลักดัน และลงคะแนนเสียงสนับสนุนกฎหมายความเท่าเทียมกันในการสมรส
บนเวทีการประชุมเอเปค อาร์เดิร์นแสดงจุดยืนต่อสังคมโลก และชัดเจนในความแตกต่างจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และไม่มีแนวคิดจะสร้างกำแพงกั้นประเทศ หรือไม่สนับสนุนการออกคำสั่งห้ามเดินทางเหมือนกับทรัมป์ แต่เธอต้องการตัดลดจำนวนการอพยพย้ายถิ่นฐานประจำปี โดยไม่ให้เกิน 3 หมื่นคนต่อปี ซึ่งเป็นนโยบายที่ตกทอดมาจากผู้นำประเทศคนก่อน
Tsai Ing-wen ไช่ อิงเหวิน / ประธานาธิบดีไต้หวัน สมัยที่ 2
ไม่แน่ – การมีท่าทีต่อต้านรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ อาจทำให้ ‘ไช่ อิงเหวิน’ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา และก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเป็นสมัยที่ 2 ท่ามกลางความขัดแย้งในภูมิภาค โดยทางการจีนประกาศว่า จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อไต้หวันในฐานะส่วนหนึ่งของจีน
ปัจจุบันประธานาธิบดีไช่ อายุ 63 ปี เป็นลูกสาวคนเล็กสุดในบรรดาพี่น้อง 11 คน ทั้งที่เกิดจากมารดาเดียวกันและต่างมารดา เธอศึกษาด้านวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และวิทยาลัยกฎหมายคอร์แนล สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จปริญญาเอก
ด้านกฎหมายจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน หลังจากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่ไต้หวันอยู่พักหนึ่ง จึงเริ่มเดินเข้าสู่ถนนสายการเมืองในปี 1993 ในสมัยพรรคก๊กมินตั๋งเป็นรัฐบาล จนได้รับความไว้วางใจให้รับราชการหลายตำแหน่ง และยังเป็นหนึ่งในหัวหน้าทีมร่างกฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมัยประธานาธิบดีหลี่ เติงฮุย
นอกจากนี้เธอยังเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าคนปัจจุบัน และเป็นตัวแทนของพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ซึ่งเธอสามารถก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันได้เป็นสมัยที่ 2 ท่ามกลางความขัดแย้งในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไช่กล่าวขอบคุณชาวไต้หวันหลังทราบผลการเลือกตั้งว่า “จะนำคุณค่าประชาธิปไตยมาสู่การปฏิบัติจริง”
Janet Yellen เจเน็ต เยลเลน / ประธานผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐ
ประธานผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐ นอกจากจะเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลตำแหน่งหนึ่งในวงการเศรษฐกิจโลก ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสถาบันที่มีผู้หญิงเข้ารับหน้าที่เมื่อปี 2013
เธอคือนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เมื่อปี 1967 และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยเยล ในปี 1971 ด้านชีวิตครอบครัว เธอสมรสกับ จอร์จ อาเคอร์ลอฟ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และมีบุตรชาย 1 คนคือ โรเบิร์ต อาเคอร์ลอฟ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์เช่นกันการเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ขรมว่าเป็นจุดขายสำหรับสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ยื่นชื่อและสนับสนุน มีเสียงจากวุฒิสมาชิกท่านหนึ่งเน้นย้ำคุณสมบัติและกรอบความคิดของเยลเลนว่าเธอสมควรได้รับตำแหน่งประธานผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ (ในปี 2013) หลังรับตำแหน่ง เยลเลนมุ่งมั่นทำงานเพื่อปกป้องประชาชนจากระบบการเงินของประเทศที่แทบจะควบคุมไม่ได้ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา
Saara Kuugongelwa -Amadhila ซาร่า คูกองเกลวา-อะมาดิละ / นายกรัฐมนตรีนามิเบีย
จากเด็กสาวพลัดถิ่นเมื่อตอนอายุ 13 ปี หนีไปอยู่ประเทศเซียร์ราลีโอน เธอกลับมานามิเบียหลังสำเร็จการศึกษา และกระโดดเข้าสู่ถนนการเมืองเมื่ออายุ 27 ปี คราวนั้นซาร่าได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการวางแผนแห่งชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บทบาทของเธอเริ่มต้นขึ้นในปี 2003
หน้าที่สำคัญคือ กอบกู้สถานะทางเศรษฐกิจของนามิเบีย ภายใต้เป้าหมายการมีวินัยทางการคลังที่รุนแรง ซึ่งส่งผลให้ ผ่านงบประมาณเกินดุลครั้งแรกของประเทศ จากนั้นเธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2015 (ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาเป็นสมัยที่ 2 ถึงปัจจุบัน)
Christine Lagarde คริสทีน ลาการ์ด / กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
สุภาพสตรีชาวฝรั่งเศสผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งนิตยสารฟอร์บส์ยกย่องให้ ‘ลาการ์ด’ ติดโผอันดับ 6 ของผู้หญิงที่ทรงพลังที่สุดในโลก เมื่อปี 2009 ว่ากันว่า เธอนี่แหละคือผู้หญิงที่สวมหมวกหลายใบที่แท้จริง
ลาการ์ดได้รับการยกย่องในฐานะนักกฎหมายและนักการเมืองของสหภาพเพื่อการเคลื่อนไหวของพรรคขบวนการประชาชน ตั้งแต่ปี 2011 และเป็นกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (แทนที่ Dominique Strauss-Kahn กรรมการผู้จัดการคนก่อน) ในฐานะผู้หญิงคนแรกที่เป็นหัวหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ ลาการ์ดเริ่มเห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก นอกจากนี้เธอยังช่วยเหลือกองทุนสนับสนุนการจ้างงานหญิงเพื่อหลีกเลี่ยงความยากจนและความไม่เท่าเทียมอีกด้วย
Park Geun-hye พัก กึน-ฮเย / ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้
‘พัก กึน-ฮเย’ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนที่ 11 และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังเป็นประมุขหญิงของรัฐในภูมิภาคประเทศเอเชียตะวันออก ลำดับที่ 3 ต่อจากมาดามชุคบาตาร์ แห่งมองโกเลีย และ ซ่ง ชิ่งหลิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ความคาดหวังของชาวเกาหลีใต้ต่ออดีตประธานาธิบดีสายอนุรักษนิยมคนนี้ (หลังจากได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2012) คือเธอจะไม่สร้างเหตุการณ์อื้อฉาวเหมือนอย่างบรรพบุรุษ อย่างอดีตประธานาธิบดี พัก ช็อง-ฮี ซึ่งปกครองประเทศแบบเผด็จการในช่วงปี 1961-1979 ซึ่งเป็นปีที่เขาถูกลอบสังหาร
แต่แล้วนางพักกลับถูกถอดถอนเมื่อมีรายงานข่าวว่าเธอยินยอมให้บุคคลใกล้ชิดมีอิทธิพลเบื้องหลังในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสุนทรพจน์ จนถึงใช้สายสัมพันธ์กับทำเนียบรัฐบาล Blue House ของเกาหลีใต้เพื่อถ่ายเททรัพย์สินผ่านมูลนิธิการกุศล
อย่างไรก็ตาม พัก กึน-ฮเย อยู่ในลำดับที่ 11 จากการจัดลำดับสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกของนิตยสารฟอร์บส์ และเป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชียตะวันออก ในปี พ.ศ. 2014 พัก กึน-ฮเย อยู่ในลำดับที่ 46 จากการจัดลำดับบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของฟอร์บส์ ซึ่งเป็นลำดับสูงสุดลำดับที่ 3 ต่อจาก อี คุน-ฮี และอี แจ-ยง
Angela Merkel อังเกลา แมร์เคิล / นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี เจ้าของฉายา ‘หญิงเหล็ก’ โดยก่อนที่จะลงเล่นการเมือง อังเกลาเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์มาก่อน จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำหญิงคนแรกของเยอรมนีในปี 2005 เธอมีบทบาทสำคัญในการออกนโยบายต่างๆ และกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในสหภาพยุโรปทัดเทียมกับผู้นำชายบนเวทีโลก
Carrie Lam แครี่ หล่ำ / ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ผู้นำหญิงฝั่งเอเชียอีกคนที่กำลังจับเคียวเหน็ดเหนื่อยกับการจัดการปัญหาความตึงเครียดในฮ่องกง หลังผู้ชุมนุมนับล้านออกมาชุมนุมบนท้องถนนต่อต้านรัฐบาลและทางการจีน งานนี้ถือเป็นด่านทดสอบสุดโหดของผู้หญิงที่ชื่อ ‘แครี่ หล่ำ’ ในฐานะผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงว่าเธอจะจัดการกับปัญหายืดเยื้อในครั้งนี้อย่างไร