เปิดไทม์ไลน์พร้อมเผย 10 กิจกรรมสุดฮิตของชาวโซเชียลในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา
เราได้เก็บข้อมูลที่น่าสนใจจาก ZOCIAL EYE ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มาฝากกัน ซึ่งเป็นข้อมูลระหว่างวันที่ 25 ม.ค.- 15 เม.ย. 63 โดยเหตุการณ์ที่มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดคือ วันที่ 16 มี.ค 63 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลประกาศว่าสงกรานต์นี้ (13-15 เม.ย.) ไม่ใช่วันหยุด ถือว่าเป็นปีแรกที่คนไทยไม่ได้หยุดยาวในวันสงกรานต์ ต้องลุกไปทำงานแบบวันปกติ มีเอนเกจเมนต์สูงสูดถึง 38,530,866 เอนเกจเมนต์
ส่วนเอ็นเกจเมนต์ที่รองลงมาคือ วันที่ 13 เม.ย. 63 ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์พอดี ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ ผู้มีชื่อเสียง ดารา นำรูปถ่ายเก่ามาโพสต์ในเทศกาลสงกรานต์ และ มี #สงกรานต์ทิพย์2020 เกิดขึ้น
อาจเป็นเพราะว่าปีนี้สงกรานต์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้คนไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมข้างนอกได้ เพราะต้อง #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ แต่ชาวโซเชียลน่าจะต้องมีกิจกรรมต่างๆ ที่จะสนุกสนานไปกับประเพณีสงกรานต์อย่างแน่นอน ทำให้ทีมงานสนใจที่จะหาอินไซท์จากประเด็นนี้ โดยดึงข้อมูลจาก ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. ซึ่งตรงกับช่วงสงกรานต์ของทุกปีพบว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงก็ได้พบกับเทรนด์ใหม่ของชาวโซเชียลเกิดเป็น #สงกรานทิพย์2020 ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่ถูกใช้มากที่สุดในโซเชียลมีเดีย โดยสงกรานทิพย์เป็นการเล่นสาดน้ำกันภายในบ้าน หรือโพสต์ภาพเก่าในปีก่อนๆ หรือตัดต่อภาพดาราที่เราอยากเล่นน้ำด้วยลงบนโซเชียล พร้อมมโนไปว่า เรากำลังเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานแบบสุดๆ
และในเมื่อรูปแบบสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ชาวโซเชียลทำกิจกรรมอะไรบ้างในวันสงกรานต์ จากข้อมูลพบว่า 10 กิจกรรมสุดฮิตของชาวโซเชียลในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ได้แก่
- อันดับ 1: 27.8% เล่นน้ำ แม้จะออกมาเล่นน้ำไม่ได้ แต่ก็ไม่มีอะไรหยุดยั้งอยากออกมาเล่นน้ำจริงๆ ได้ ปีนี้เลยทดแทนด้วยการโพสต์รูปถ่ายสงกรานต์ปีก่อน และเล่นน้ำแบบสงกรานต์ทิพย์
- อันดับ 2: 25.8% ขอพรกับครอบครัว ถ่ายรูป ขอพร รดน้ำดำหัวกับครอบครัว
- อันดับ 3: 17.9% ทำงาน แม้จะเป็นวันที่ควรจะได้หยุดเเต่ต้องไปทำงาน ซึ่งก็มีทั้งแบบทำที่บ้านเเละต้องเดินทางไปออฟฟิศ
- อันดับ 4: 8.6% นอนพักผ่อน บางคนก็เลือกที่จะนอนพักผ่อนเเบบไม่ทำอะไรเลยถือว่าเป็นการชาร์จพลังตลอดทั้งปี
- อันดับ 5: 7.9% สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน
- อันดับ 6: 5.8% ทำบุญ แม้ว่าจะออกมาใส่บาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมที่วัดไม่ได้ แต่ก็ยังเพิ่มแต้มบุญกันได้ ในรูปแบบทำบุญออนไลน์ หรือบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ส่วนการเดินทางไปทำบุญที่วัดก็มีอยู่บ้างเล็กน้อย
- อันดับ 7: 3.6% ปะแป้ง เป็นการปะเเป้งตัวเองพร้อมถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย เพราะออกไปเล่นน้ำข้างนอกไม่ได้
- อันดับ 8: 1.2% ปาร์ตี้ ชวนเพื่อนมาปาร์ตี้รูปแบบใหม่ผ่าน Video Conference เช่น Zoom, Line, Google Meet
- อันดับ 9: 0.8% เล่นเกม เล่นเกมทั้งแบบออนไลน์ ออฟไลน์ เกมฮิต เกมที่มีสถานการณ์คล้ายโดนกักตัว เช่น Resident Evil
- อันดับ 10: 0.6% ออกไปเที่ยว กลุ่มคนจำนวนหนึ่งเริ่มออกไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ทะเล
นอกจากนี้ข้อมูลวันที่ 13-15 เม.ย. ยังพบว่า มีจำนวนข้อความที่พูดถึงเกี่ยวกับ “สงกรานต์” มากถึง 1.4 ล้านข้อความ ช่องทาง Facebook มีจำนวนมากสุดถึง 620,000 ข้อความ (44%) รองลงมาคือ Twitter จำนวน 560,000 ข้อความ (40%) และอันดับที่สามคือ Instagram จำนวน 220,000 ข้อความ (16%)
ในขณะที่เอนเกจเมนต์รวมสูงถึง 40 ล้านเอนเกจเมนต์ ช่องทางที่มีเอนเกจเมนต์สูงสูดคือ Instagram จำนวน 14.3 ล้านเอนเกจเมนต์ (36%) รองลงมาคือ Twitter 13.7 ล้านเอนเกจเมนต์ (34%) ตามด้วยอันดับสามคือ Facebook 12 ล้านเอนเกจเมนต์ (30%)
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าแม้จะออกไปทำกิจกรรมสงกรานต์ข้างนอกแบบปีก่อนๆไม่ได้แต่คนไทยก็สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วโดยยังคงกิจกรรมและความสนุกสนานไว้ได้เช่นเดิมเพราะสงกรานต์ไม่ใช้เพียงแค่เทศกาลสาดน้ำดับร้อนเพียงอย่างเดียวของคนไทยแต่ยังเป็นประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาเนิ่นนานและจะรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไปเพียงแค่ปีนี้ต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ COVID-19 เท่านั้นเอง