fbpx

ย้อนเวลา 3 ทศวรรษ สู่จุดกำเนิดเพลง อินดี้เกาหลี

ในยุคที่ศิลปินอินดี้ทั่วโลกก้าวเท้าออกจากประเทศของตัวเองสู่ตลาดเพลงที่เป็นสากล ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้ฟังเพลงเท่ๆ จากทุกมุมโลกมากขึ้นในแบบที่พรมแดนของภาษาค่อยๆ พร่าเลือน ซึ่งเราคงต้องขอยกความดีความชอบให้กับโลกออนไลน์ ที่ทำให้เพลงจากมุมโลกอื่นๆ ได้ไหลผ่านไทม์ไลน์เข้ามาสู่หูของคนรักเสียงเพลงกันแบบง่ายดาย

และที่กำลังก่อตัวเป็นกระแสขึ้นมาในไทยช่วงปีที่ผ่านมา คือผลงานเพลงจากศิลปินอินดี้ฝั่งเกาหลี ที่ได้พิสูจน์ให้หลายคนได้สัมผัสกันมาแล้วว่า วงการเพลงเกาหลีมีดีมากกว่า K-Pop และยังมีศิลปินดีๆ หลากหลายแนวหลากหลายสไตล์ให้ได้ตามค้นหา ทำความรู้จักกับสุ้มเสียง เอกลักษณ์ที่มาจากการตกผลึกทางวัฒนธรรมของวัยรุ่นเกาหลีที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของศิลปะ แฟชั่น และการออกแบบในยุคสมัยใหม่

แต่กว่าที่ทุกอย่างจะเดินทางมาถึงปี 2020 วงการเพลงอินดี้เกาหลีเองก็ได้ผ่านทั้งยุครุ่งเรือง (ถ้าเทียบในไทยก็น่าจะใกล้กันกับยุคที่เราเรียกกันว่า ‘ยุคล้านตลับ’) และยุคยากลำบากที่ผลงานเพลงถูกฉกฉวยผลประโยชน์ไปจากการละเมิดลิขสิทธิ์ สำหรับใครที่กำลังจะอินเข้าไปสู่กระแสเพลงอินดี้จากฝั่งเกาหลี ขอเชิญมานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปสัก 3 ทศวรรษ เพื่อทำความรู้จักกันไปถึงรุ่น 1 ของวงการ ว่าของเขาดีขนาดไหนในรุ่นที่ถูกเรียกว่ายุคบุกเบิกของวงการอินดี้เกาหลี

ย้อนกลับไปยุค 90s ฉากแรกของวงการศิลปินอินดี้เกาหลีเริ่มต้นขึ้นด้วยดนตรีพังก์ร็อคที่สานต่อแนวความคิดของวัยรุ่นในยุคหลังการเคลื่อนไหว เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารในปี 1987 และก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในเกาหลี

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ก่อให้เกิดอิสรภาพทางความคิด การสื่อสาร และทำให้เกิดวงดนตรีพังก์ร็อคที่ได้รับอิทธิพลดนตรีจากฝั่งอเมริกาเกิดขึ้น และหนึ่งในวงที่ประสบความสำเร็จจากยุคแรกคือ Crying Nut และ No Brain ที่ถูกยกให้เป็น 2 วงอินดี้ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคนั้น และเป็นต้นแบบของศิลปินอินดี้ที่ทำงานเพลงด้วยตัวเอง

โปรโมตด้วยวิธีของตัวเอง พร้อมกับนิยามแนวเพลงของพวกเขาว่า ‘โชซอนพังก์’ ที่มีดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าศิลปินอินดี้ตั้งอยู่ที่ย่านฮงแด ใกล้กับมหาวิทยาลัยฮงอิก อันเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม ศิลปะ ดนตรี แฟชั่นของวัยรุ่นมาตั้งแต่ยุค 90s เป็นย่านที่เต็มไปด้วยร้านขายเทป-ซีดีเพลง ไลฟ์เฮาส์ สตูดิโอบันทึกเสียง คลับใต้ดิน

Crying Nut & No Brain

นอกจากเพลงพังก์ร็อคสไตล์อเมริกันที่ได้รับความนิยมแล้ว เพลงในสไตล์อัลเทอร์เนทีฟร็อค กรันจ์ ไปจนถึงสไตล์บริตป็อป ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของศิลปินอินดี้ในเกาหลียุค 90s และมีวงอย่าง Pippi Band ที่มีคาแรคเตอร์สุดโต่งจนพวกเขาถูกแบนจากการออกอากาศทางโทรทัศน์ วง Jaurim วงร็อคที่ก้าวจากการเป็นศิลปินอินดี้สู่การเป็นศิลปินกระแสหลักด้วยสุ้มเสียงเอกลักษณ์ที่คุณต้องลองสัมผัสด้วยหูตัวเอง และวง Deli Spice ที่ทำเพลงออกมาในแบบที่คอเพลงฝั่งอังกฤษยุค 90s ฟังแล้วจะต้องบอกว่า ‘ละลายตายไปเลย’

อินดี้เกาหลียุค 90s ต้องลองฟังเพลง Chau Chau ของวง Deli Spice, Chrysalises ของวง Crying Nut, Youth 98 ของวง No Brain, Broken Hearted ของวง Jaurim และ Strawberry ของวง Pippi Band

แต่แล้วความรุ่งเรืองของวงการเพลงอินดี้ยุค 90s ก็ต้องสะดุดลงด้วยสภาพเศรษฐกิจหลังปี 1997 ตามมาด้วยการระบาดของแผ่นผี และการมาถึงของโลกดิจิทัลจนเริ่มกลายเป็นจุดเสื่อมความนิยมของคลื่นลูกที่ 1 ของวงการเพลงอินดี้เกาหลี

ขณะเดียวกันการเข้ามาของระบบค่ายเพลงที่มีการจัดการในมาตรฐานแบบฝั่งอเมริกาก็เริ่มมีบทบาทต่อวงการเพลงเกาหลีมากขึ้น พร้อมกับการเติบโตของศิลปินไอดอลในช่วงยุค 2000 ที่กลายมาเป็นกระแส Korean Wave ในปัจจุบัน

ถึงวงการอินดี้ร็อคในเกาหลีช่วงยุค 2000 จะซบเซาลง แต่ก็ยังมีศิลปินอินดี้จำนวนไม่น้อยที่แจ้งเกิดขึ้นมาและกลายเป็นวงที่มีชื่อเสียงระดับประเทศไม่ว่าจะเป็น Nell วงอัลเทอร์เนทีฟร็อคที่ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงร็อคฝั่งอังกฤษอย่าง Placebo, Muse หรือ Radiohead
วง Seoul Electric Band วงเครื่องดนตรี 3 ชิ้น เบส กีตาร์ กลอง ที่ทำเพลงคลาสสิกร็อคดิบๆ แบบยุค 60s – 70s แต่งดงามด้วยเมโลดี้และริฟฟ์กีตาร์อันน่าจดจำ เป็นการต่อยอดความนิยมในวงอินดี้ร็อคย่านฮงแดจากช่วงปลายยุค 90s

ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำฮัน ‘ย่านกวานัก’ ละแวกมหาวิทยาลัยโซลก็ได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนที่ชื่นชอบดนตรีแนวทดลองขึ้น และเกิดวงอย่าง Kiha & The Faces ที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลงสไตล์ฮาร์ดร็อคปลายยุค 70s ผสมผสานกับเพลงสไตล์โฟล์คของเกาหลี
บวกกับการเขียนเนื้อเพลงที่พูดถึงความเป็นมนุษย์ด้วยภาษาที่โดดเด่นจนทำให้การแจ้งเกิดของพวกเขากลายเป็นจุดเริ่มต้นกระแสเพลงอินดี้ในเกาหลียุคที่ 2 ที่มีความแปลกใหม่ทางดนตรี

ในขณะเดียวกัน Guckkasten ก็เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีแนวทดลองที่แจ้งเกิดขึ้นมาด้วยสไตล์เพลงไซคีเดลิกร็อคที่ผสมผสานความชอบในดนตรีที่แตกต่างกันของสมาชิกวง ซึ่งการเปิดตัวของพวกเขาได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับวงการเพลงอินดี้ในเกาหลี และได้รับ 2 รางวัลจากเวทีใหญ่อย่าง Korean Music Awards ทั้งรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมและรางวัลเพลงร็อคยอดเยี่ยม จากผลงานในอัลบั้มแรกที่มีชื่อเดียวกับวง

Kiha & The Faces

ในยุคที่ 2 ของวงการอินดี้ยังเริ่มเกิดกระแสของศิลปินที่ทำผลงานออกมาในสไตล์อาร์แอนด์บี – โซล, ดิสโก้ – ฟังก์ ไปจนถึงเพลงสไตล์อะคูสติกป็อป อย่างวง Urban Zakapa ที่เปิดตัวด้วยสมาชิก 9 คนที่มีทั้งนักดนตรีคลาสสิก แจ๊ส และนักร้องประสานเสียงวง Daybreak วงดนตรีป็อปร็อคที่ผสมผสานดนตรีหลากหลายแนว ซึ่งถ้าคุณได้ลองฟังแล้วอาจนึกถึงวงในไทยอย่าง ETC หรือ Jetset’er วง BroccoliYou Too? กับเพลงสไตล์อินดี้ป็อปที่เพลงของพวกเขาถูกนำเสนอออกมาในสีสันที่เต็มไปด้วยความสนุก และกลายเป็นตัวแทนของเพลงที่สื่อถึงเรื่องราวความสุขของช่วงชีวิตวัยรุ่น

อินดี้เกาหลียุค 2000s ต้องลองฟังเพลง Song of A Ghost ของ Nell / I Must See You Now ของ Kiha & The Faces / Mirror ของ Guckkasten / The Cat’s Hometown Song ของ Seoul Electric Band / Us in 2009 ของ Broccoli, You Too? / Cafe Latte ของ Urban Zakapa / Good ของ Daybreak

ก้าวมาสู่ยุค 2010 การมาของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และความง่ายดายของการทำเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเพียงเครื่องเดียว ได้เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการเพลงอินดี้เกาหลีไปไม่น้อย เมื่อเสียงสังเคราะห์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในวงร็อคและทำให้วงซูเปอร์แบนด์ 3rd Line Butterfly ที่รวมตัวศิลปินจากวงอินดี้ยุค 90s อย่าง Pippi Band, Huckleberry Finn และ 99 ได้ให้กำเนิดอัลบั้ม Dreamtalk ในปี 2012 ที่ปัดฝุ่นดนตรีในสไตล์โลไฟ-กรันจ์ให้ออกมาละเมียดละไมยิ่งขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงของดีที่ส่งต่อมาจากยุค 90s

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคู่ดูโอ้ Glen Check ก็ได้เปิดฉากใหม่ของวงการอินดี้เกาหลีให้กับเพลงอิเล็กโทรป็อป ที่ผสมผสานเสียงกีตาร์ อันสะดุดหู เป็นความหลากหลายที่เริ่มก่อตัวขึ้นในกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ ทำให้วงการอินดี้ของเกาหลีเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และด้วยเนื้อเพลงที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดทำให้เพลงของพวกเขาได้รับการจับตามองจากนักเขียนของ Billboard พร้อมกับยกให้เพลง Young Generation เป็นหนึ่งในเพลงยอดเยี่ยมของเกาหลีในปี 2013

Glen Check

แต่ด้วยความนิยมของ K-Pop ที่กลายเป็นกระแสระดับโลกในช่วงเดียวกันนั้นเอง ด้วยเพลง Gangnam Style ของ PSY ทำให้ผลงานของศิลปินอินดี้เกาหลีเริ่มถูกพูดถึงน้อยลง และเหมือนจะถูกกลืนไปเป็นเพียงฉากหลังของวงการเพลงในเกาหลี

จนกระทั่งการมาถึงของผู้ชายที่ชื่อว่า โอฮยอก กับวง Hyukoh ในปี 2014 ที่จุดกระแสเพลงแนวดรีมป็อปให้กลายเป็นเทรนด์ในเกาหลี ด้วยเสียงกีตาร์และเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ และความนิยมของพวกเขาในระดับนานาชาติก็ได้เปิดทางให้กับศิลปินอินดี้ของเกาหลีนำเสนอความหลากหลายทางดนตรีที่ตกผลึกในช่วงปลายยุค 2010 ให้กลายเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ อย่างวง Se So Neon กับเพลงสไตล์ไซคีเดลิกร็อคที่มาพร้อมกับความมหัศจรรย์ของ ฮวังโซยุน มือกีตาร์และนักร้องของวง ที่ฝีไม้ลายมือในโชว์ของเธอจะทำให้คุณต้องทึ่ง

วง ADOY กับเพลงที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของซิตี้ป็อปผสมผสานดนตรีหลากหลายแนว ทั้งดรีมป็อป ไซคีเดลิก และฟังก์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตวัยรุ่น ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่นหัวใจ วง Life and Time วงดนตรี 3 ชิ้นสไตล์ฟังก์ร็อคที่ครบเครื่องด้วยการรวมตัวของ จินชิล มือกีตาร์จากวง Loro’s ซอนบิน มือเบสจากวง The Koxx และ ซังอุค มือกลองสายแจ๊ส ซึ่ง ‘Age’ อัลบั้มล่าสุดของพวกเขาเพิ่งคว้ารางวัลอัลบั้มร็อคยอดเยี่ยมจาก Korean Music Awards ปี 2019 มาหมาดๆ

Hyukoh

อินดี้เกาหลียุค 2010 ต้องลองฟังเพลง In a Dream ของ 3rd Line Butterfly / French Virgin Party ของ Glen Check / Panda Bear ของ Hyukoh / The Wave ของ Se So Neon / Wonder ของ ADOY / Jamsugyo ของ Life and Time

ขณะนี้ทศวรรษ 2020 ได้เริ่มขึ้นแล้วพร้อมกับเทรนด์ของศิลปินอินดี้ฝั่งเกาหลีที่ถูกจับตามองว่าเป็นขาขึ้นสู่ยุคทองของรุ่นที่ 2 ที่จะไปได้ไกลในระดับนานาชาติ คอเพลงอินดี้ในไทยที่มีใจเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางดนตรี และชื่นชอบเพลงดีโดยไม่เกี่ยงเรื่องภาษา

โปรดปักหมุดรอติดตามกันเอาไว้ให้ดี เพราะคอนเสิร์ตของศิลปินเหล่านี้จะหมุนเวียนมาให้ได้เสพเพลงดีกันถึงประเทศไทยแน่นอน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ