‘Kidult: เล่นระลึกวัย ตลาดใหญ่ “ของเล่น”‘

ในชีวิตที่ผันผ่านไปในแต่ละวัน ความเหนื่อยล้าของความเป็นผู้ใหญ่จากความรับผิดชอบ หน้าที่ ภาระ ทับถมสะสมจนเกินใจจะทนไหว จะมีอะไรที่ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจได้เท่ากับ ‘การย้อนเวลากลับไปสู่อดีต’ ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารที่เคยชื่นชอบในวัยเด็ก การรับชมภาพยนตร์อนิเมชันสนุกๆ สักเรื่อง
หรือการ ‘เล่นของเล่น’ ที่ให้เราได้เป็นเด็กอีกครั้ง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม….
และด้วยความทรงจำที่สะสม และความต้องการทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น ตลาดของเล่นแบบ ‘Kidult’ จึงเฟื่องฟูขึ้นมาในรอบหลายปีที่ผ่านมา และเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจมองข้าม เมื่อพิจารณาว่า มูลค่าทางการตลาดสำหรับของเล่นทั้งหลายนั้น เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ ‘Kidult’ หรือ ‘Kid-Adult’ นั้น เป็นปรากฏการณ์ทางการตลาดสำหรับ ‘ตลาดของเล่น’ ที่ถูกซื้อโดย ‘ผู้ใหญ่’ ที่ปรากฏให้เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่บรรดาของเล่นของสะสมทั้งหลาย ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อในวัยผู้ใหญ่
ฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของการตลาด แต่อย่าประมาทกำลังซื้อของ ‘ผู้ใหญ่หัวใจเด็ก’ ทั้งหลาย เพราะตลาด Kidult นั้น กระตุ้นให้ตลาดของเล่นในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึง 37% ในระยะเวลาสองปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อพิจารณาว่า ตลาดของเล่น เคยเป็นตลาด ‘Niche’ หรือเฉพาะกลุ่ม
สำหรับเมืองไทย ตัวเลขจากกรมพัฒนาธุรกิจปี 2566 ระบุว่า ตลาดของเล่นในประเทศไทย สร้างรายได้กว่า 19,677 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงที่ของเล่นอย่าง ‘อาร์ต ทอยส์ (Art Toys)’ หรือของเล่นของสะสมในร้าน ‘Pop Mart’ ได้กลายเป็นกระแสฟีเวอร์ คนต่อแถวเข้าคิวเพื่อที่จะเข้าไปซื้อ และมีหน้าร้านตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ชื่อดัง
กล่าวโดยสรุป ของเล่นอย่างอาร์ต ทอยส์, ลาบูบู้ หรือของเล่นของสะสมอย่างการ์ดสะสม (Trading Card Game) หรือแม้แต่วิดีโอเกมส์ กำลังสร้างมูลค่าทางการตลาดอย่างสูงแม้ในขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่
นักวิเคราะห์ทางการตลาดมองว่า การตลาดแบบโหยหาอดีต (Nostalgic Marketing) สามารถทำงานได้ดีและสร้างมูลค่าทางการตลาด เพราะในส่วนลึกของแต่ละคน ต่างโหยหาวันเวลาในอดีตที่แสนเรียบง่าย ปราศจากปัญหา ภาระ ความรับผิดชอบ และของเล่น ก็เป็นสื่อกลางที่ช่วยให้ผู้คนได้หวนกลับไปสู่ช่วงเวลาดังกล่าวได้ง่ายที่สุด
นั่นทำให้ของเล่นที่ผลิตมาโดยจำกัด กลายเป็น ‘ของหายาก มูลค่าสูง’ ไม่ว่าจะเป็นคอลเลคชันพิเศษของลาบูบู้หรืออาร์ต ทอยส์, หุ่นฟิกเกอร์กันดั้มรุ่นพิเศษที่หาไม่ได้โดยง่าย เว็บไซต์ marketdecipher.com ระบุว่า ฟิกเกอร์ GI Joe ที่เคยขายในปี 1963 ปัจจุบัน มีมูลค่าสูงถึง 200000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแม้แต่เฟอร์บี้จากปี 1998 ก็มีราคาในตลาดของเล่นสหรัฐที่ 700 ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่ามูลค่าตลาดของเล่นสะสมในปี ค.ศ.2032 อาจเติบโตขึ้น 10% จากปี ค.ศ.2021 ดังนั้นของเล่นสำหรับผู้ใหญ่บางคนเลยกลายเป็นทั้งของสะสมและการลงทุนในเวลาเดียวกัน
สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นของเล่น อาจจะมองว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ทางการตลาดขนาดย่อมทั่วไป ไม่ได้บ่งชี้ถึงสิ่งที่น่าสนใจแต่อย่างใด แต่สำหรับผู้ที่โหยหาวันเวลาที่แสนดีในอดีต ของเล่น ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงพลังในการนำพากลับสู่ช่วงเวลาดังกล่าว ที่ได้สะท้อนออกมาจากมูลค่าทางการตลาดที่สูงขึ้น สูงขึ้น และสูงขึ้น อย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นเลยทีเดียว
ข้อมูลประกอบบทความ: https://thematter.co/social/kidults-and-toys/178869
