ชีวิตติด ‘วิ่ง’ และบทเรียนจากเส้นทางมาราธอนของ ตุลย์- ตุลยเทพ เอื้อวิทยา
มุมมอง แนวคิด
ชีวิตในปัจจุบันของมนุษย์นั้น มีความสะดวกสบายในด้านต่างๆ อย่างมาก และก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การใช้ ‘เรี่ยวแรง’ ขยับตัวนั้น ก็ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการไม่ได้ออกเรี่ยวแรงนั้นย่อมส่งผลอย่างยิ่งกับสภาพร่างกายและจิตใจ ก่อให้เกิดความป่วยไข้ ความเครียดที่สะสมอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้ ‘การออกกำลังกาย’ ไม่ได้เป็นแค่สิ่งจำเป็น หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้สุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขครบถ้วนรอบด้าน
และหากเอ่ยถึงเรื่องของการออกกำลังกายGM Live เชื่อว่าสำหรับผู้ชายที่ชื่อ ตุลย์– ตุลยเทพ เอื้อวิทยา นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ที่ควบตำแหน่งกัปตันทีม Adidas Runner Bangkok แล้วนั้น เป็นผู้หนึ่งที่เห็นความสำคัญ และชื่นชอบกับการออกกำลังกายมาอย่างยาวนานหลายสิบปี หรือเรียกได้่ว่าเกือบทั้งชีวิตก็ไม่ผิดนัก แม้จะเริ่มต้นด้วยการว่ายน้ำ แต่นั้นก็ไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย เพราะมีอีกหลากหลายแขนงของการออกกำลังกายที่หนุ่มคนนี้สนใจและไม่พลาดที่จะทดลอง
ทั้งนี้ GM Live เลยขอถือโอกาส เบียดแทรกเวลาจากตารางอันวุ่นวาย เพื่อพูดคุยถึงมุมมอง ความคิด ของเขาที่เกี่ยวข้องกับความสนใจด้านกีฬา ไม่ว่าจุดเริ่มต้น จนมาสู่ ‘ชีวิตติด ‘วิ่ง’ และบทเรียนจากเส้นทางมาราธอนของที่เขาได้ร่วมเข้าแข็งขัน ความภาคภูมิใจ ความรู้สึกของการเป็นกัปตันทีม Adidas Runner Bangkok และมุมมองที่เขามีต่อการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของการสนใจและเล่นกีฬา
ผมเริ่มสนใจตั้งแต่เด็ก เพราะมีเหตุผลที่ทำให้ต้องเล่นกีฬา คือ ตอนเด็กๆ ผมเป็นหอบหืดชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นหนักมาก ไปโรงพยาบาลบ่อยสุดๆ บ่อยมากจนคุณหมอบอกว่าให้ลองไปว่ายน้ำดูเผื่อจะทำให้ปอดแข็งแรง ก็เลยได้ไปว่ายน้ำกับพี่สาว
ซึ่งพอเริ่มว่ายน้ำก็ทำได้ดี จนคุณครูเห็นแววเลยให้ไปเป็นนักกีฬาของสโมสร ทีนี้พอเป็นนักกีฬาก็ต้องมีโปรแกรมซ้อมเช้า-เย็น แบบนักกีฬาเลย ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นกีฬา
แต่พอย้ายไปเรียนที่ดรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็หันมาสนใจการเตะบอล เรียกว่าไปโรงเรียน เช้าเตะบอล เรียนเสร็จเตะบอล แต่ก็มีเล่นบาสเก็ตบอลบ้าง ช่วงนั้นผมทิ้งการว่ายน้ำไปเลย
หลังจากนั้น ยังว่ายน้ำอยู่หรือไม่ หรือว่าเล่นกีฬาอื่นเพิ่มเติม
เรียนอยู่ที่สวนกุหลาบจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทางบ้านก็ส่งไปเรียนต่อที่อเมริกา ซึ่งพอไปถึงที่นั่น ก็ไม่ได้อยากว่ายน้ำนะครับ แต่เพื่อนไปบอกโค้ชว่าเราว่ายน้ำได้ ก็เลยได้กลับไปว่ายน้ำอีกครั้งในฐานะนักกีฬา เพราะที่อเมริกาหาคนมาเป็นนักกีฬาว่ายน้ำค่อนข้างยากก็เลยได้ว่ายน้ำอยู่สามปี แต่เท่านั้นยังไม่พอนะเพราะโค้ชบอกว่ายน้ำได้ก้เล่นโปโลน้ำไปด้วยเลยละกัน (หัวเราะ) ซึ่งตอนนั้นก็มีกีฬาอย่างอื่นที่ผมสนใจเช่นกอล์ฟ พยายามสมัครทีมแต่ก็ยังไม่ได้ เทนนิสก็เล่นที่นั่น และก็มีสโนว์บอร์ดบ้าง
สำหรับการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ไปได้ไกลสุดถึงขั้นไหน
สำหรับผมการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำนี้ จริงๆ ช่วงที่พีคสุดน่าจะอยู่ประมาณอายุ 7-9 ขวบ เพราะเกือบจะได้ไปคัดตัวทีมชาติ ซึ่งตลอดช่วงเวลาที่เป็นนักกีฬาว่ายน้ำก็ชนะได้เหรียญอยู่บ้าง ที่สามบ้าง ที่สองบ้าง
หันมาสนใจเรื่องวิ่งช่วงไหน
ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยอยู่อเมริกาครับ ตอนเรียนไฮสคูล เช้าเรียน เย็นเล่นกีฬา แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มีใครบังคับแล้ว ก็แทบไม่ได้เล่นกีฬาเลย ซึ่งพอกลับมาเมืองไทย เรียนต่อปริญญาโท พอเรียนจบทำงาน ก็แทบไม่ได้แตะเรื่องกีฬาอีกเช่นกัน ก็จะมีเพื่อนชวนเล่นเทนนิสบ้างนิดหน่อย เข้าฟิตเนสบ้าง รู้สึกว่าชีวิตทำงาน กิน เที่ยว น้ำหนักขึ้น สุขภาพไม่ค่อยดี ก็เลยตัดสินใจว่าต้องหาอะไรทำ พอมาปี 2016 เป็นช่วงที่ไตรกีฬาของไทยกำลังบูม ผมก็สนใจคิดว่ามีกีฬาแบบนี้ด้วยเหรอ ว่ายน้ำเราได้ จักรยานเราขี่เป็น พอมาถึงเรื่องวิ่ง ก็คิดว่า น่าจะวิ่งเหมือนวิ่งเตะบอลเล่นบาสอะไรแบบนี้ เลยตัดสินใจลองลงสมัครแข่งไตรกีฬาที่จังหวัดปทุมธานี
ครั้งแรกกับไตรกีฬาเป็นอย่างไร
ว่ายน้ำผมขึ้นมาได้ที่สาม พอจักรยานทุกคนแซงหมด พอมาถึงวิ่งตะคริวขึ้นเสียดท้อง วิ่งไม่ไหวใช้เดินเอา (หัวเราะ) ทำให้รู้สึกว่าก็พอทำได้นะ แต่ถ้าทำให้ได้ดีต้องมีการซ้อมอย่างจริงจัง ผมก็เลยเริ่มศึกษา หาข้อมูลจากอินเตอร์เนท ตั้งทีมกับเพื่อนสมัยสวนกุหลาบ เป็นทีม OSK Triteam Thailand มีงานวิ่งที่ไหนก็ไป ช่วงนั้นมีแข่งเกือบทุกเดือน พัทยา หัวหิน ก็แข่งเรื่อยมา เริ่มพฤษภาคม พอเดือนตุลาคม ก็ไปแข่ง Iron Man เลย
ครั้งแรกกับ Iron Man เป็นอย่างไร
ผมแข่งมาแค่ห้าครั้งก่อนไปสมัครลงแข่ง Iron Man เลยเป็นอะไรที่ผมตั้งใจอย่างมาก ทำเวลาได้ดีที่สุด เพราะผมไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไร ก็เลยตั้งใจซ้อม ตลอดระยะเวลาห้าถึงหกเดือน แบ่งตารางซ้อมชัดเจน วันนี้วิ่ง วันนี้ว่ายน้ำ วันนี้จักรยาน จริงๆ ตอนแข่งก้ไม่ได้ยากนะครับ แต่ยากสุดคือช่วงที่ซ้อม เป็นระยะทางอันยาวนานก่อนจะไปถึงวันแข่งจริง ระยะเวลาแข่งแค่สิบสองชั่วโมง แต่ตอนซ้อมนี่ นับเป็นหลักร้อยชั่วโมงได้ คืออาทิตย์หนึ่งต้องมีสิบชั่วโมงอย่างต่ำๆ นะครับ
อะไรคือเหตุผลที่จริงจังกับการแข่ง Iron Man ครั้งนั้น
เรียกว่าเป็นความท้าทายครับ ไตรกีฬาสนุกตรงที่ว่า คุณเริ่มที่ระยะสั้นที่สุดก็เปิดมาเป็น Sprint ไประยะ Standard, Half Iron Man, Iron Man เป็นสเต็ปๆ ไป เป็นความท้าทายตัวเองที่แค่ไม่ใช่พิชิตได้ แต่อยากทำเวลาเท่านั้นเท่านี้ จะสามารถทำได้ไหม
การแข่ง Iron Man ต้องใช้ทักษะที่จำเป็นอะไรบ้าง
ทักษะจริงๆ คือพื้นฐานกีฬาสามอย่างได้แก่ ว่ายน้ำได้ วิ่งได้ ปั่นจักรยานได้ แต่จะยากตรงที่ต้องใช้ร่างกายหนักตลอด ผมต้องพิจารณาและคำนวณดีๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะเหลือแรงสำหรับการแข่งอื่นๆ เช่น ปั่นจักรยานมา 180 กิโลเมตรแล้วต้องลงมาวิ่งต่อ ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำได้ ก็จะมีโปรแกรมซ้อมคือ ปั่นจักรยานก่อนแล้ววิ่งต่อ ทำให้กล้ามเนื้อชินกับการแข่งขัน
เคยท้อบ้างหรือไม่
ท้อในการซ้อมครับ (หัวเราะ) เป็นอะไรที่ทรมานมาก คือวันเสาร์ต้องปั่นจักรยานยาว ปั่นหกชั่วโมง หกโมงตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง ไปปั่นที่สนามปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต ตรงสุวรรณภูมิ วันอาทิตย์วิ่งยาวเลย วิ่งสองถึงสี่ชั่วโมง เรียกว่าใช้ร่างกายหนักหน่วงเลย
ดูแลร่างกายอย่างไรในช่วงซ้อม
ต้องจัดเวลาให้เหมาะสม การพักผ่อนก็สำคัญครับ ต้องกำหนดวันพัก เรื่องการกินต้องกินให้พอ กินโปรตีนให้เหมาะสม ต้องคุมอาหาร ซึ่งเป็นช่วงที่ผมสนใจเรื่องนี้จนต้องไปลงเรียนเรื่อง Primal Health และได้รับใบ Certificate เป็นหลักสูตรการใช้ชีวิตแบบคนยุคหิน ทานอาหารที่ไม่ Process ลดของทอด แป้ง กินเนื้อ กินผัก เป็นหลักการกินแบบ Intermittent Fasting ไปในตัว คือคนยุคหิน หาเช้ากินค่ำ ออกไปหาอาหารแค่ครั้งเดียว กินครั้งเดียว ไม่มีวิธีถนอมอาหาร ไม่ได้กินตลอดเวลาแบบคนยุคปัจจุบัน ทำให้มีช่วงที่ต้องหยุด อดกิน จนกว่าจะถึงช่วงที่ออกไปหาอาหารอีกครั้ง
จุดเริ่มต้นที่ได้มาเป็นกัปตันทีม Adidas Runner Bangkok
ก็ต่อเนื่องมาจากไตรกีฬาครับ ตอนนั้นปี 2016 ปลายเดือนธันวาคม ทาง Adidas ได้ Direction จากต่างประเทศว่า อยากตั้ง Adidas Runner ซึ่งต่อเนื่องมาจากที่เบอร์ลิน ปารีส แล้วมีนโยบายขยายมายังเอเชีย ทางเอเจนซีที่รับงานก็มีเป้าหมายว่า จะต้องฟอร์มทีมและมีกัปตัน มีโค้ช และมีครู วันหนึ่งผมได้รับโทรศัพท์จาก ทางเอเจนซีว่ามีโปรเจ็กต์จะทำ Adidas Runner Bangkok ผมก็สนใจ ไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็รับทราบรายละเอียดว่าเป็น Community นักวิ่งที่ Holistic คือครบถ้วนทั้งนักวิ่ง โค้ช รวมทั้งหมดในที่เดียว และอยากหาคนมาเป็นกัปตัน เหตุที่ผมสนใจเพราะว่ามีโค้ชวิ่ง เรื่องวิ่งเป็นจุดอ่อนของผมตั้งแต่การแข่งไตรกีฬา วิ่งสู้คนอื่นไม่ได้ เลยคิดว่า “ถ้ามีโค้ช ก็คงทำให้เราวิ่งได้ดีขึ้น” เลยตอบตกลงไป ผมเป็นกัปตันชาย ส่วนกัปตันหญิงคือคุณโย ยศวดี
หน้าที่ของกัปตันทีม Adidas Runner Bangkok
หน้าที่หลักคือดูภาพรวมทั้งหมด ก็จะทำงานใกล้ชิดกับ Adidas และเอเจนซี เมื่อได้ Direction จากต่างประเทศ ก็ต้องมาซอยย่อยเป็นการบ้านว่าจะจัดกิจกรรมทำอะไรบ้าง จัดงานอะไรที่เข้ากับประเทศ ดูความเหมาะสม เรียกว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ กึ่งๆ เป็นพรีเซนเตอร์ของทาง Adidas เลยก็ว่าได้ แต่ต้องลงมาคลุกคลี พอมีกิจกรรม ผมก็เหมือนเป็น Inspiration ให้กับคนที่สนใจ
หลังตอบตกลงเป็นกัปตัน เวลาไปแข็งไตรกีฬาไปในนาม Adidas หรือไม่
ไปแบบส่วนตัวครับ เพราะ Adidas ไม่มีพาร์ทของไตรกีฬา แต่ว่าถ้าไปงานวิ่ง ก็ไปในนาม Adidas อย่างปี 2018 ก็ไปวิ่งงาน Berlin Marathon
ความแตกต่างในแนวทางของ Adidas ทางภูมิภาคเอเชียและยุโรป
ความแตกต่างคือ ที่ต่างประเทศ ถ้านัดกันไปวิ่งวันอาทิตย์ ก็พอจะไปวิ่งได้เพราะถนนหนทางของเขาค่อนข้างโอเค แต่ถ้าเป็นบ้านเรา ก็ต้องมาดูกันว่าจะไปที่ไหนอย่างไรจึงจะเหมาะสม ไม่เป็นอันตราย และต้องวิ่งก่อนที่รถจะหนาแน่น
ร่วมงานกับ Adidas กี่ปีแล้ว
เริ่มต้นปี 2017 มาจนถึงตอนนี้ ก็ประมาณเจ็ดปีจะขึ้นปีที่แปดครับ ส่วนสัญญานั้นต่อกันเป็นปีต่อปี
เจ็ดปีที่ได้ร่วมงานกับ Adidas ได้อะไรกลับมาบ้าง
ได้อะไร.. ช่วงเวลาเจ็ดปี ผมวิ่งมาราธอน World Major Marathon ครบหกสนามทั่วโลก เบอร์ลิน นิวยอร์ค บอสตัน ชิคาโก โตเกียว ลอนดอน และก็ได้เหรียญครบทุกสนาม และอีกอย่างหนึ่งที่ดีมากๆ คือ จากเดิมที่ไม่ชอบวิ่ง ไม่เคยคิดจะวิ่งมาราธอน ก็ได้มาวิ่ง สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจมากๆ คือตอนไปวิ่งที่เบอร์ลิน ผมเหนื่อยมาก ตะคริวกินขาหนีบ ก็เลยเดิน แต่เพราะผมติดป้ายเป็นกัปตัน คนเชียร์รอบข้างก็ตะโกนว่า “วิ่งนะ วิ่ง เป็นกัปตันต้องวิ่ง เดินไม่ได้นะ “ (หัวเราะ)
อีกอย่างที่ได้จากการวิ่งมาราธอน คือความต้องการที่จะทำเวลาให้ดีขึ้น ผมอยากวิ่งให้ได้ระยะเวลาต่ำกว่าสี่ชั่วโมง ประมาณ Pace 5 ความเร็ว 11-12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตอนนั้นผมมีเป้าเอาไว้แล้ว พอวิ่งมาราธอนครั้งแรก 2017 ไปวิ่งจอมบึงเดือนมกราคม สนามนี้ง่าย แต่พอวิ่งมาจนถึงระยะสามสิบกว่ากิโลเมตร เหนื่อยมาก วิ่งไม่ได้เลย จบที่ 4 ชั่วโมง 19 นาที เลยรู้สึกคาใจนะ ต้องทำให้ได้ ก็พยายามซ้อมมาตลอด แต่ไม่เคยได้เลย วิ่งมา 5 สนามไม่เคยทำได้ จนมาถึงปี 2022 ที่ชิคาโก อาจจะด้วยเทคโนโลยีรองเท้าที่ดีขึ้น มีการปรับเรื่องการกิน ทุกอย่างครบถ้วน การซ้อม การกิน ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้น จบที่ 3 ชั่วโมง 45 นาที
พอจบที่ชิคาโก ในเดือนมีนาคม 2023 ไปวิ่งที่โตเกียว โชคดีที่ผมซ้อมต่อยอดอีกนิดหน่อยแล้วจึงไปวิ่ง จบที่ 3 ชั่วโมง 30 นาที ทำให้รู้สึกว่าผมทำได้นะ และทำให้ผมคิดได้ว่า ถ้าซ้อม ถ้ากินอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ร่างกายก็น่าจะปรับตัว และน่าจะวิ่งได้ดีขึ้นครับ
เจ็ดปี กับการวิ่งมาราธอน ไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้หรือไม่
จริงๆ เป้าหมายของการวิ่งนี่เยอะมากนะครับ ส่วนตัวตั้งเป้าอะไรบ้าง ถ้าถามนักวิ่งส่วนมาก จะมองว่า สนาม Boston Marathon คือสนามเก่าแก่ที่สุด ขลังที่สุด นักวิ่งที่จะไปวิ่งได้ ต้อง Timing Qualify คือทำเวลาตามเกณฑ์ได้เท่านั้นเท่านี้ ใครที่วิ่งต่ำกว่านั้น ส่งเวลาเข้าไป เขาจะคัดเลือก คนที่ Timing Qualify ผ่าน หากเวลาเกินกว่าจำนวนเกณฑ์ ก็ไม่ได้ไปวิ่ง เป็นเป้าหมายที่นักวิ่งอยากไปให้ได้ อย่างรุ่นผม ต้องวิ่งให้ได้ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง 10 นาที ถึงจะสามารถไปได้ ส่วนตัวผมตอนนี้ กลับมาตั้งเป้าที่จะวิ่ง 10 กิโลเมตรให้ดีขึ้น เร็วขึ้น เพราะคิดว่าถ้าผมทำเวลาในระยะนี้ได้ดีขึ้น ภาพรวมก็น่าจะดีขึ้นด้วย
คำแนะนำสำหรับคนเริ่มต้นที่จะวิ่ง
ต้องหารองเท้าดีๆ อย่างรองเท้า Adidas (หัวเราะ) …จริงๆ การวิ่งนี่ง่ายครับ แค่มีรองเท้าก็วิ่งได้แล้ว แต่ไม่ใช่ว่ารองเท้าอะไรก็วิ่งได้ รองเท้านั้นมีผลจริงๆ ต่อการวิ่ง การป้องกันการบาดเจ็บ ซัพพอร์ทกล้ามเนื้อสำหรับคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อน หลังจากซื้อรองเท้าวิ่งแล้ว ก็มาเริ่มด้วยการเดินสลับวิ่ง ไม่ต้องเต็มที่ เริ่ม Jogging แบบวิ่ง 100 เมตรเดิน 100 เมตร จากนั้นค่อยเพิ่มระยะทางจนสามารถวิ่งได้ต่อเนื่อง
ผมเชื่อว่าทุกคนวิ่งได้นะ มนุษย์เกิดมาเพื่อวิ่ง คนสมัยก่อนใช้ชีวิต Active มาก เทียบกับคนสมัยนี้ ถ้าใส่นาฬิกานับก้าวจะรู้เลยว่า ใช้ชีวิตวันนี้ ไม่เกิน 2,000 ก้าวด้วยซ้ำ เราเดินกันน้อยมากในหนึ่งวัน เทียบกับจำนวนก้าวเฉลี่ยที่ควรจะได้ 10,000 ก้าว
คิดว่าตัวเองจะหยุดวิ่งหรือไม่
อืม คิดว่าคงไม่นะครับ เพราะผมมีช่วงหยุดหลังวิ่งมาราธอน พัก นอน กิน แล้วพบว่าน้ำหนักขึ้นเร็วมาก คนที่เล่นกีฬาจะเข้าใจว่าสภาพแบบนั้นมันค่อนข้างจะไม่คุ้นชิน สุดท้ายก็ต้องกลับไปวิ่ง อย่างตอนนี้แม้จะไม่มีตารางไปแข่งขันมาราธอนที่ไหน ผมก็จะพยายามวิ่งให้ได้วันละ 5 กิโลเมตร ให้ร่างกายอยู่ตัว
แบ่งตารางชีวิตอย่างไร
ผมพยายามจะออกกำลังกายตอนเช้าเป็นสิ่งแรก หกโมงออกไปวิ่ง แปดโมงเสร็จ ก็ใช้ชีวิตทั้งวันตามปกติได้แล้ว แต่ถ้าวันไหนเช้าไม่ได้วิ่ง ผมก็จะมาชดเชยเอาช่วงเย็น แต่ส่วนตัวชอบออกกำลังกายตอนเช้ามากกว่า ตอนเย็นเราล้าๆ ก็อยากจะพักผ่อน
เหตุการณ์การวิ่งที่ประทับใจ
ประทับใจที่สุดน่าจะสนามที่ลอนดอน ผมประทับใจที่บรรยากาศการวิ่งซึ่งดีมากๆ ออกไปสตาร์ทนอกเมือง วิ่งผ่านแต่ละเขตของลอนดอน แล้วจบที่พระราชวังบัคกิงแฮม มีคนเชียร์แน่นตลอด เดินไม่ได้เลย (หัวเราะ) แล้วผมพาหญิง (หญิง รฐา) ไปวิ่งด้วย ชวนไปวิ่ง อยากให้เขามาวิ่งด้วยกัน แล้ววิ่งจับมือกันเข้าเส้นชัย เป็นอะไรที่ประทับใจมาก
เทรนด์การวิ่งของประเทศไทยในมุมมองของคุณ
ช่วงก่อนโควิดแพร่ระบาด การวิ่งของบ้านเราบูมมาก งานวิ่งจัดอาทิตย์หนึ่งสี่งานซ้อนกัน จนมาเกิดวิกฤตโควิดก็หายไป พอหมดช่วงของการแพร่ระบาด ก็เหมือนจะกลับมา แต่ก็ไม่ใช่จุดเดิมอย่างที่เคยเป็น มีงานวิ่งเรื่อยๆ เหลืองานใหญ่ๆ ที่จัดโดยภาครัฐบ้าง งานใหญ่ที่เคยจัดบ้าง แต่ก็ไม่เท่ากับสมัยก่อน
มีกีฬาประเภทไหนที่อยากลองเล่นบ้างหรือไม่
อยากกลับมาเล่นกอล์ฟอีกครั้งครับ เป็นหนึ่งในกีฬาที่ผมชอบ เป็นกีฬาที่ท้าทายมากนะ ต้องใช้สมาธิ ทักษะ การวางแผน ทุกช็อตที่ตีไปไม่เหมือนกันเลย ต้องทำคะแนนให้ดีที่สุด ซึ่งตอนช่วงแรกที่ผมเริ่มเมื่อหลายปีก่อน ผมไม่ได้เล่นจริงจัง พอกลับมาตีอีกที ต้องให้โปรมาสอนจับไม้ สอนวงสวิงใหม่ ซึ่งผมน่าจะทำได้ดีขึ้น
หากเปรียบกีฬาเป็นอวัยวะในร่างกายของคุณคือส่วนไหน
ถามว่าขาดได้หรือไม่ ก็คงได้ แต่เอาจริงๆ ก็ไม่อยากขาดนะครับ จึงคิดว่าน่าจะเป็นแขน เพราะหากเป็นอวัยวะภายในคงไม่ได้นะครับ ขาดไปแล้วอยู่ไม่ได้เลย (หัวเราะ)
กีฬาเป็นส่วนเติมเต็มให้กับชีวิตหรือไม่ อย่างไร
เรียกว่าเป็นส่วนสำคัญสำหรับชีวิตเลยก็ได้ครับ ผมย้อนกลับไปคนสมัยก่อน การออกไปหาอาหาร การล่าสัตว์ ก็ถือว่าเป็นการออกแรงแล้ว แต่กับคนสมัยปัจจุบัน ถ้าไม่เล่นกีฬา ก็แทบไม่ได้ทำอะไรเลย การเล่นกีฬาก็ช่วยให้เราได้คงฟังก์ชันของการใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นบ้าง
มีกีฬาชนิดไหนที่ไม่เคยเล่นแล้วอยากลองบ้าง
ส่วนใหญ่ก็เล่นเกือบหมดแล้วนะครับ แต่ล่าสุดที่ดูโอลิมปิค มี ‘ปัญจกีฬา’ ที่ทั้งยิงปืน ขี่ม้า ดูคล้ายๆ ไตรกีฬา แต่เป็นแบบใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อย แต่มาถึงจุดนี้ ผมต้องขอบคุณคุณแม่ที่บังคับให้ว่ายน้ำสมัยเด็กนะครับ เพราะสำหรับคนเล่นไตรกีฬา แล้วไม่มีพื้นฐานวิ่ง ยังพอฝึกได้ ไม่มีพื้นฐานจักรยาน ยังพอซ้อมได้ แต่ถ้าไม่มีพื้นฐานว่ายน้ำนี่หนักเลยนะ ต้องไปซ้อมเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้นเลย
กีฬาอะไรที่ ‘ไม่อยากลอง’
อืม จริงๆ ก็อยากลองหมดนะครับ แล้วก็ได้ลองไปเยอะแล้ว แต่ถ้าให้เลือก คงเป็นยิมนาสติก เพราะเป็นกีฬาที่ไม่ได้คิดอยากจะลองเลย ผมว่าดูเหนื่อย ดูหนักมาก ใช้กล้ามเนื้อเยอะมาก เรียกว่าทุกกีฬาอยากลองหมดนะ ยกเว้นยิมนาสติกนี่แหละที่ ไม่ลองก็ได้ครับ (หัวเราะ)
การออกกำลังกาย ให้อะไรกับคุณบ้าง
ที่ชัดเจนเลยคือเล่นกีฬาแล้วได้ความสุขครับ พอเหนื่อยจากการเล่นกีฬา ร่างกายหลั่งโดปามีน ก็จะรู้สึกเป็นสุข มีความสุข และชีวิตในปัจจุบัน ก็ค่อนข้างเครียดอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ออกเรี่ยวแรงอะไร ก็จะมีผลกับร่างกายได้ง่าย การได้ออกกำลังกายระบายความเครียดก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้ แล้วก็มีผลดีที่ร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย
หากไม่ได้เป็นกัปตันทีม Adidas Runner Bangkok ยังจริงจังกับการวิ่งหรือไม่
ก็คงจะยังวิ่ง ยังออกกำลังกายเหมือนเดิมครับ คือ การออกกำลังกายนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เรียกว่า ถ้าไม่ได้ทำธุรกิจส่วนตัว ก็คงทำงานอะไรที่เกี่ยวข้องกับกีฬา อาจจะเป็นนักกีฬา เป็นเซลส์ขายอุปกรณ์กีฬา อะไรแบบนั้น (หัวเราะ)
คิดเห็นอย่างไรกับคนที่จริงจังเรื่องกีฬามากๆ จนกลายเป็นความเครียด
ผมคิดว่าสำหรับบางคน เขาสนุกกับกระบวนการนะครับ สนุกกับการได้ทำตามเป้า ยกตัวอย่างผม ที่มีโปรแกรมที่โค้ชเขียนมาให้ว่า ต้องทำได้เท่านั้นเท่านี้ การที่ผมได้ทำตามเป้า ก็เป็นความรู้สึกที่ดีอย่างหนึ่ง กับการที่ได้ทำตามกระบวนการ ทำตามกิจวัตรของเรา