สัญญาณอันตรายของคนวัยทำงาน กับสภาวะ ‘Burnout Syndrome’
ในชีวิตของคนวัยทำงาน แน่นอนว่าต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะทั้งทางกาย หรือทางใจ ความรุมเร้าของปัญหาที่ประดังเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน และแทบจะทุกวันในระยะเวลากว่า 8 ชั่วโมง/วัน (หรือมากกว่า….) สามารถทำให้พลังใจที่เคยมีอย่างท่วมท้นในช่วงเริ่มต้น ค่อยๆ มอดหมดไป จนอาจจะถึงระยะที่กลายเป็น ‘ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome)’ อันเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการทางใจที่ไม่อาจมองข้าม
ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome คือ ภาวะมลพิษทางอารมณ์ที่เกิดจากการสะสมความเครียดจากการทำงานมาในระยะหนึ่ง จนถึงที่สุดแล้ว ก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าต่อกายและใจ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขึ้นทะเบียนรองรับกลุ่มอาการดังกล่าว เป็นโรคใหม่ของคนยุคสมัยปัจจุบัน
สาเหตุหลักของการหมดไฟและหมดใจ อาจจะสรุปเป็นกลุ่มสาเหตุได้ดังต่อไปนี้
- ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และรู้สึกหมดใจในการทำงาน (Emotional Exhaustion) เป็นอาการของความรู้สึกที่หมดซึ่งพลัง สูญเสียพลังงานทางบวก อ่อนล้า อ่อนเพลีย อาจจะหนักถึงขั้นหมดแรงเมื่อต้องทำงาน
- ความรู้สึกแปลกแยกจากบุคคลอื่น (Depersonalization) สังคมที่รวดเร็ว เร่งรัด และบ่อยครั้ง ตื้นเขินทางความสัมพันธ์ระหว่างกัน ก่อให้เกิดความห่างเหินกับคนในที่ทำงาน หรือคนที่จำเป็นจะต้องติดต่อสื่อสารสำหรับงานนั้นๆ ไม่เกิดความผูกพัน ไม่ว่าจะทั้งกับคน หรือองค์กรที่ทำอยู่
- ความนับถือในตนเองต่ำ รู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถ ความเชื่อมั่นหดหาย (Low Self-Esteem) ความรู้สึกแง่ลบกับงานที่ทำ รุ้สึกว่าตนเองทำได้ไม่ดีเพียงพอ ไร้ความสาสมารถ หมดซึ่งแรงจูงใจจะเดินหน้าต่อ มองไม่เห็นซึ่งผลลัพธ์ปลายทางความสำเร็จ
เราสามารถสังเกตสภาวะของการหมดไฟได้จากอาการหลักๆ ที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะความเหนื่อยล้าอ่อนแรง ไม่สดชื่น ไม่ตื่นตัวในการทำงาน เศร้าหดหู่ ท้อแท้ มีทัศนคติแง่ลบกับทั้งตนเองและคนที่อยู่รอบๆ ตัว และในระดับที่หนักหน่วงนั้น อาจจะถึงขั้นปลีกตัว หวาดระแวง อารมณ์แปรปรวน ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ปราศจากความสามารถในการบริหารจัดการ เป็นต้น
อนึ่ง แม้ภาวะหมดไฟจะเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นทางใจ แต่ก็สามารถลุกลามส่งผลเสียต่อสุขภาพกายในระยะยาว และเป็นต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อหลายชนิด ไม่ว่าจะทั้งการนอนที่ผิดปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดอย่างมีนัยสำคัญ ความเครียด ความดัน อาการเสพติดแอลกอฮอล์และสารเสพติด และร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคหัวใจตามมาได้
การแก้ไขและบรรเทาสภาวะหมดไฟหรือ Burnout Syndrome นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำอย่างตั้งใจ ในทางเลือกคร่าวๆ ดังต่อไปนี้
- ประเมินทางเลือกในการแก้ปัญหา พิจารณาตัวช่วยที่หลากหลาย เช่น ปรึกษาคุยกับหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน เพื่อหาทางออกในกระบวนการทำงานที่ช่วยลดความตึงเครียด และลำดับความสำคัญของงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย
- ขอความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์หรือนักบำบัด เพื่อหาทางออกสำหรับปัญหา ในกรณีที่ไม่สามารถพูดคุยกับคนในที่ทำงานได้
- เปลี่ยนกิจวัตรประจำวันให้มีความ Active มากขึ้น เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำสมาธิ โยคะ เพื่อช่วยจัดลำดับความคิดและลดความเครียด ให้ร่างกายได้ตื่นตัวมีความแข็งแรง รวมถึงการจัดเวลานอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ
กระนั้นแล้ว สำหรับคนที่มีอาการสภาวะหมดไฟ หรืออยู่ในระยะเริ่มต้นของการหมดไฟ ขอให้ทำความเข้าใจถึงความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ชีวิตนั้น มีทางเลือก มีทางไป และไม่จำเป็นจะต้องประสบความสำเร็จตามเบ้าแบบของสังคมไปเสียทั้งหมด การเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา หรือการ ‘ถอยออกมา’ จากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อใจ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้
และหลายครั้ง การกดดันตัวเองเพื่อให้สำเร็จตามค่านิยมของสังคม ก็ไม่ใช่สิ่งที่ประกันว่า เราจะรู้สึกดีขึ้นในปลายทาง จำไว้ว่า สุขภาพจิตและความรู้สึกของคุณ คือสิ่งสำคัญที่สุดเสมอ