‘Korea Insight: มองเกาหลีใต้แบบไม่มี ‘ดราม่า’
เรื่องโดย: อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์
ในช่วงที่ผ่านมา ใครที่เป็นสายท่องเที่ยวต่างประเทศ น่าจะคุ้นเคยกับแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี บนโลกออนไลน์ อันเกิดจากเหตุการณ์หน่วยตรวจคนเข้าเมืองที่มีมาตรฐานต่อนักท่องเที่ยวประเทศไทยแบบ ‘สองมาตรฐาน’ กันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวนั้น ชวนให้รู้สึกหงุดหงิดและก่อเกิดเป็นคำถามอยู่ไม่น้อยว่า ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะไปทำไม เกาหลีใต้ สู้เอาเงิน เวลา ความรู้สึก ไปเที่ยวประเทศที่เขา ‘ต้อนรับ’ เรากว่านี้ไม่ดีกว่าหรือ
แสำหรับผม ที่เพิ่งกลับมาจากเกาหลีใต้มาได้ 4 วัน ก็มี Insight เกี่ยวกับเกาหลีใต้ในด้านต่างๆ แบบปราศจากอคติมานำเสนอให้กับทุกท่าน เพื่อเป็นทางเลือก และเพื่อที่จะเป็นสิ่งที่จะช่วยชะลออารมณ์ขุ่นเคืองของหลายๆ ท่าน ให้เจือจางเบาบางลงได้
- แรงงาน : เกาหลีใต้นั้นต้องการผีน้อยมากๆ ครับ เพราะแม้ว่าเกาหลีใต้จะพัฒนาไปไกล ไม่ว่าจะเป็น “ ซัมซุง แอลจี ” แต่อุตสาหกรรมดั้งเดิม ยังต้องการใช้แรงงานคนอยู่ และกลุ่มนี้ขาดคนไม่ได้ โดยเฉพาะงานฝีมือ หรือ งานเครื่องจักรขนาดเล็กที่ต้องใช้มนุษย์ทำงานเป็นหลัก สำหรับผมแล้วมองว่าในเชิงระบบนั้น รัฐเองก็เอาหูไปนา เอาตาไปไร่เป็นเรื่องปกติ .. ซึ่งปัญหานี้ญี่ปุ่นก็มี แต่เขาใช้เรื่องการให้โควต้าฝึกงานมาเป็นเครื่องมือบังหน้า เช่นเดียวกับที่อิสราเอลที่ต้องการแรงงานไทยมาทำการเกษตร
- ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลี : ได้ยินมาเยอะจริงๆ ถึงความแปลกๆ และผู้ใหญ่ที่ผมรู้จักหลายคนก็เจอไม่ให้เข้าประเทศ ทั้งๆ ที่ไม่มีปัจจัยที่น่าสงสัยจริงๆ .. ซึ่งก็ไม่รู้เขาคิดหรือใช้ดุลยพินิจอย่างไร .. คนไทยหลายคน จึงไม่คิดจะไปเกาหลีเลยเพราะไม่พร้อมโดนปฏิเสธ
- ผีน้อยจากไทย : มีมากจริงๆ ครับ เท่าที่เคยรู้ เคยเห็น ขอบอกว่า อยู่กันเป็นชุมชนเลย แล้วคนที่นั่นก็รู้ และไม่แตกต่างจากแรงงานเพื่อนบ้านที่มาอยู่ในไทย เพียงแต่ว่าทั้งหมดนั้นสมประโยชน์กันอย่างลงตัวจริงๆ ครับ นอกจากนี้สาวๆ ของบ้านเราที่ไปทำงานนอกประเทศก็ขึ้นชื่อมากๆ ถ้าหากใครนึกไม่ออก ลองผ่านไปต้นออร์ชาร์ทที่สิงคโปร์ แล้วจะรู้ว่างานทำนองนี้ไทยเรามีชื่อมาก ( ไม่ขอแตะเรื่องผิดถูก หรือ เรื่องอาชีพ แต่ขอเขียนในแง่ข้อเท็จจริง ว่าภาพลักษณ์นี้เป็นเรื่องที่ต่างชาติมองคนไทยในมุมนี้จริงๆ )
- คนเกาหลี : โดยพื้นเพเป็นคนไม่ค่อยนุ่มนวลอยู่แล้ว การเดินชนแล้วต่างคนต่างไปไม่ใช่การไม่มีมารยาท แต่ทว่าเป็นเรื่องปกติของคนเกาหลีที่เขามองข้ามกัน และมองความเร่งรีบเป็นหลัก ฉะนั้นที่เห็นในสื่อ จึงเป็นทั้งส่วนที่นำเสนอให้ต่างชาติ และเป็นส่วนที่กล่อมเกลาพฤติกรรมคนในชาติ เหมือนที่เคยดูละครญี่ปุ่นซึ่งสะท้อนถึงวินัยผ่านกีฬาวอลเล่ย์บอล ทำนองนั้น ซึ่งคนไทยต้องมองแบบเข้าใจว่าเขาถูกกระทำมาเยอะจริงๆ และสภาวะสงครามยังคงอยู่ ทำให้ความดิบยังฝังในการแสดงออก
- การบริการ : ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าคนเกาหลีเขาบริการไม่ค่อยดีมากนัก ซึ่งอย่าเอาไปเป็นประเด็นผสมดราม่าเลย แต่ระยะหลังๆ ผมว่าในเมืองเริ่มมีมารยาทขึ้นมาเยอะ ประมาณว่าดีกว่าที่ฮ่องกง มาเก๊า แต่ไม่ถึงญี่ปุ่น ที่ปรับเรื่องการบริการและสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ มานาน
- ไทยและเกาหลี : ก่อนหน้านี้เวลาผมไปงานที่เกาหลีใต้ ( ประมาณก่อนปี 2000 ) รวมถึงการไปทำงานครั้งล่าสุดในเดือนตุลาที่ผ่านมา ซึ่งในงานทางการผู้จัดงานทางเกาหลีก็จะพูดถึงไทยเสมอๆ ว่าประเทศไทย คือ ชาติที่มาช่วยเขารบ เขาสำนึกบุญคุณ แต่เดี๋ยวนี้ ส่วนตัวได้ยินน้อยลง ซึ่งก็คงไม่แปลกนัก เพราะคงไม่ได้ส่งผ่านมาที่คนรุ่นใหม่ และกับไทยเองในมุมมองของการที่เป็นลูกค้า ก็เหมือนกับการที่เขานำสินค้าอีกตลาดมาให้เรา คล้ายๆ สินค้าบางอย่างที่ไทยนำไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ขนมถุงเกรดรองๆ เป็นต้น เรื่องนี้เห็นภาพชัดเจนเรื่องกลุ่มของศิลปินที่เลือกไทยเป็นตลาดในบางกลุ่ม
- ควรไปเที่ยวเกาหลีไหม : ผมมองว่าทุกประเทศเราควรได้ไปเที่ยว ถ้ามีกำลังจ่าย และกับเกาหลีใต้ยังไปเที่ยวได้ เพราะมีแง่มุมแตกต่างที่สามารถเรียนรู้ได้มากมาย แต่ถ้าไม่ชอบ ไม่ถูกจริต ไม่อยากเสี่ยง ก็ขอพูดตรง ๆ ว่า ไม่ต้องไปให้เสียอารมณ์ โดยไม่ต้องไปดราม่า หรือร่วมสงครามออนไลน์ให้ว้าวุ่นใจ และถ้ายังชอบดูซีรีส์ หรือชอบฟังเพลงของเขาก็จัดไปตามรสนิยม ตามความชอบ ไม่ต้องไปแบนเกาหลีหรอกครับ
- การเที่ยวเกาหลีให้สนุก : ผมว่ามีหลายมุม มุมแรก คือ การตามรอยซีรีส์ ตามรอยศิลปินคนไหนที่เราชอบ เราก็สนับสนุน โดยไปตามย่าน ตามร้านสวยๆ ร้านกาแฟเก๋ๆ ผมว่าก็เพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่าไปเทียบบริการแบบญี่ปุ่น เพราะนั่นเขาทำมาก่อน ปรุงแต่งเข้าที่แล้ว
- โบราณสถานเกาหลี : กลุ่มของเก่าอย่างพวกวัด วัง หรือ โบราณสถาน อย่าหวังว่าเก่าจริงๆ และ อย่าไปเทียบกับจีน หรือ ญี่ปุ่น เพราะสองชาตินั้นถ้าย้อนประวัติศาสตร์นั้นเป็นที่มา อย่างที่จีน พระราชวังที่สร้างจากหินเก่ากว่าใหญ่กว่า ยังหลงเหลือเยอะกว่ามากๆ (แต่ว่าวัตถุโบราณลงเรือไปอยู่ที่ไต้หวันเกือบหมด ซึ่งถ้าจะดูก็ต้องไปที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ) ส่วนที่ญี่ปุ่นก็ทำลายไปไม่น้อย แต่เขาทำใหม่ได้ก่อนและเล่าเรื่องได้ไว สำหรับที่เกาหลีไม่มีของพวกนี้ เพราะแทบไม่เหลือ เช่น วัดในโซลมีสองแห่ง วัดต่างจังหวัดอยู่ในป่า ( เพราะคนหนีศึกมาบวช ศาสนาจึงถูกด้อยค่า ) .. ส่วนวังห้าแห่งที่มีหลงเหลืออยู่ ก่อนหน้านี้ก็เหลือแค่หิน ที่เห็นส่วนใหญ่สร้างทีหลัง (จากภาพถ่ายที่มีเหลือ ) อย่างเคียงบกก็มีการสร้างเติมบ่อยๆ
- เกาหลีใต้รอบล่าสุด : สองปีนี้ผมไปเกาหลี 4 ครั้ง งานการท่องเที่ยว งานไอซีที และงานซีรีส์ รวมถึงเที่ยวเองครั้งนึง ตอนแรกๆ ผมก็ยังเทียบญี่ปุ่นบ้าง แต่หลังๆ เริ่มมองมุมใหม่ แบบไม่เทียบ โดยศึกษาการเขียนเรื่องของเขาใหม่ ที่ปัดฝุ่นวัด วัง เล่าเรื่องอย่างมีเทคนิค และจูงใจคนใหม่ โดยเที่ยวตามฤดูกาล พร้อมกับใส่ชุดฮันบก รวมถึงการมีย่านใหม่ๆ เช่น ‘ เมียงดง มีฮงอิก ฮงแด กังนัม ‘ ซึ่งเมื่อก่อนมีแต่ ‘ ดงแกมุน นัมแดมุน ‘
- ลองเที่ยวแบบศึกษา : ที่สามารถตีความไม่ตามกระแส ซึ่งตามตำรา Culture นั้น มี C ตัวใหญ่ในแบบคลาสสิกที่เน้นประวัติศาสตร์จากบนลงล่าง จากเก่ามาใหม่ ตอนนี้ขอชวนให้มอง c ตัวเล็กแบบสร้างใหม่จาก track พื้นๆ ขึ้นมา อย่าง ‘ ราเมง ซูชิ ‘ ญี่ปุ่นใช้ไปแล้ว .. เกาหลีก็มี ‘ มาม่าเกาหลี ซอสแดง ซอสดำ ไก่ทอด ‘ .. คือ ถ้ามาเที่ยวแบบแนวศึกษา ก็อาจจะสนุกไปอีกแบบ
- เกาหลีน่าจับตามาก : แต่สำหรับผม ณ วันนี้ คงไปไม่บ่อยแบบญี่ปุ่นที่ทำเข้าที่แล้ว และ ขอย้ำว่าไม่อยากเทียบกัน โดยมองว่าเกาหลีเหมือนสิงคโปร์ที่สร้างสรรค์ใหม่เกือบหมด แต่น่าเรียนรู้มากๆ เพราะ Scale ใหญ่กว่า ซึ่งสิงคโปร์เป็น Trading Nations โดยขนาดเป็นข้อจำกัด แต่เกาหลีนั่นมีมิติ และเล่นได้มากกว่านั้นเยอะ ซึ่งเขากำลังทำอยู่
ทุกประเทศต่างมีทั้งข้อดีและข้อด้อย เกาหลีใต้เองก็ไม่มียกเว้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้หลายคนไทยเสียความรู้สึกกันไม่น้อย แต่ถ้ายังรู้สึกว่าอยากลองไปสัมผัสเกาหลีใต้สักครั้ง สิ่งที่รอคอยหลังด่านตรวจคนเข้าเมืองนั้น ก็เรียกว่ายังคุ้มค่ากับเวลาและความรู้สึกที่คุณจะทุ่มเทไป อันนี้วัดจากความรู้สึกในรอบสองปีที่ผมไปในเรื่องงานทั้งหมด 4 ครั้งนะครับ นานาจิตตัง แต่สำหรับประเทศนี้ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยล่ะ