Recent News: สรุปข่าวประจำวันที่ 22 มกราคม 2024
ยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เปิดตัวบัตรเครดิตยูโอบี คริสฟลายเออร์ บัตรเครดิตเพื่อนักเดินทาง
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เปิดตัวบัตรเครดิตยูโอบี คริส ฟลายเออร์ เวิลด์ และ เวิลด์ อิลีท บัตรเครดิตโคแบรนด์ใหม่นี้เป็นการขยายความร่วมมือของกลุ่มธนาคารยูโอบี กับ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ต่อยอดความสำเร็จจากบัตรเครดิตและเดบิตคริสฟลายเออร์ ของยูโอบีในสิงคโปร์
ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของธนาคารยูโอบี และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ในการมอบสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ด้วยสิทธิประโยชน์ด้านการเดินทางและไลฟ์สไตล์ที่อัดแน่น ผู้ถือบัตรเครดิตยูโอบี คริส ฟลายเออร์ ทั้ง 2 ประเภทสามารถแปลงค่าใช้จ่ายเป็นไมล์ได้โดยตรงกับสายการบิน พร้อมเพลิดเพลินกับสิทธิประโยชน์มากมาย
นายธีรวัฒน์ ตรีรัตน์ดิลกกุล กรรมการผู้จัดการ Head of Card Payment and Unsecured Products ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เราเห็นถึงยอดการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากปี 2565 ธนาคารยูโอบีมีการนำข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ให้ตรงตามความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า เรามีความยินดีที่จะขยายความร่วมมือด้านสายการบินกับหนึ่งในแบรนด์สายการบินที่ดีที่สุดในโลก บัตรเครดิตยูโอบี คริสฟลายเออร์ ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นเลิศแก่ลูกค้า และการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน จะทำให้เราสามารถเติมเต็มความต้องการด้านไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในภูมิภาคได้”
นายไรอัน ปัว รองประธานฝ่าย Loyalty Marketing สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส กล่าวว่า “ด้วยเครือข่ายชั้นนำในเอเชียและ ในไทยของธนาคารยูโอบี เรามีความยินดีที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับยูโอบีเพื่อดูแลและยกระดับสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ถือบัตรชาวไทย ด้วยบัตรเครดิตยูโอบี คริสฟลายเออร์ เวิลด์ และ เวิลด์ อิลีทใหม่นี้ เรายังคงยืนยันคำมั่นสัญญาของแบรนด์คริสฟลายเออร์ ที่จะมอบคุณค่าที่ยอดเยี่ยมและทำให้การเดินทางสะดวกสบาย เพลิดเพลิน และคุ้มค่ายิ่งขึ้นสําหรับสมาชิกของเรา”
เพลิดเพลินกับสิทธิประโยชน์ด้านการเดินทางที่มากขึ้นในกลุ่มบริษัทสิงคโปร์แอร์ไลน์ส
นอกจากสมาชิกบัตรเครดิตยูโอบี คริสฟลายเออร์ เวิลด์ อิลีท จะได้รับ 1 ไมล์คริสฟลายเออร์จากทุก 12.50 บาท ที่ใช้จ่ายในรายการที่เกี่ยวข้องในกลุ่มบริษัทสิงคโปร์แอร์ไลน์ส และทุกๆ 20 บาท ใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ สมาชิกยังจะได้รับไมล์คริสฟลายเออร์จํานวน 20,000 ไมล์ เป็นโบนัสต้อนรับเมื่อใช้จ่ายครบ 50,000 บาท ภายใน 60 วัน นับจากวันที่บัตรเครดิตได้รับการอนุมัติ นอกเหนือจากนี้ สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ บริการรถลีมูซีนรับส่งสนามบินทั่วโลก 3 ครั้ง และบริการห้องรับรองในสนามบินนานาชาติ Dragon Pass Lounges ทั่วโลกสูงสุด 6 ครั้งต่อปีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ผู้ถือบัตรเครดิตยูโอบี คริสฟลายเออร์ เวิลด์ จะได้รับ 1 ไมล์คริสฟลายเออร์จากทุก 15 บาท ที่ใช้จ่ายในรายการที่เกี่ยวข้องในกลุ่มบริษัทสิงคโปร์แอร์ไลน์ส และทุกๆ 20 บาท ใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ สมาชิกยังจะได้รับไมล์ คริสฟลายเออร์จํานวน 5,000 ไมล์ เป็นโบนัสต้อนรับเมื่อใช้จ่ายครบ 20,000 บาท ภายใน 60 วัน นับจากวันที่บัตรเครดิตได้รับการอนุมัติ นอกเหนือจากนี้ สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ บริการลีมูซีน รับหรือส่ง ณ สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อสํารองบัตรโดยสาร ผ่าน Flying Orange และและบริการห้องรับรอง Miracle Lounge ที่สนามบินสุวรรณภูมิสูงสุด 2 ครั้ง เมื่อมียอดใช้จ่ายครบ 100,000 บาทต่อไตรมาส
นอกจากการได้รับไมล์คริสฟลายเออร์ที่เร็วขึ้นแล้ว ผู้ถือบัตรยังจะได้รับสิทธิพิเศษเมื่อบินกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์สและสกู๊ต อาทิ การอัปเกรดสถานะสมาชิกภาพคริสฟลายเออร์ที่เร็วขึ้น เมื่อลูกค้าใช้จ่ายในกลุ่มบริษัทสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส รวมถึงสิทธิประโยชน์การเดินทางของสกู๊ต เช่น การเช็คอินและการขึ้นเครื่องก่อน ได้รับน้ำหนักสัมภาระเพิ่มขึ้น และการเลือกที่นั่งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยส่วนหนึ่งจากการเฉลิมฉลองการเปิดตัว ผู้ที่ถือบัตรใหม่ที่ได้รับการอนุมัติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 ยังสามารถลุ้นรับบัตรโดยสารชั้นธุรกิจของสิงคโปร์แอร์ ไลน์สไปยังลอนดอนหรือเมลเบิร์น เมื่อใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตยูโอบี คริสฟลายเออร์
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัตรเครดิตยูโอบี คริสฟลายเออร์ ได้ที่เว็บไซต์บัตรเครดิตยูโอบี คริสฟลายเออร์ เวิร์ล อิลีท และบัตรเครดิตยูโอบี คริสฟลายเออร์ เวิร์ล
ทีเอ็มบีธนชาต รายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 พร้อมเดินหน้าตามแผนธุรกิจในปี 2567 เน้นการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ควบคู่กับการสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพให้กับผู้ถือหุ้น
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2566 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ 4,866 ล้านบาท และกำไรสุทธิรอบ 12 เดือน ปี 2566 จำนวน 18,462 ล้านบาท ภาพรวมผลการดำเนินงานทำได้ตามเป้าหมาย ยังคงเน้นดูแลคุณภาพสินทรัพย์และเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินในทุกด้าน
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า สำหรับปี 2566 ในภาพรวมถือว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเรายังคงเดินหน้าตามแผนการรับรู้ประโยชน์จากการรวมกิจการเพื่อหนุนด้านรายได้และการบริหารค่าใช้จ่าย ที่สำคัญ คือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการรองรับความเสี่ยง สภาพคล่อง และฐานเงินกองทุน
จากเป้าหมายดังกล่าว กลยุทธ์ที่ทีทีบีมุ่งเน้นในปี 2566 จึงเป็นเรื่องของบริหารจัดการทุกองค์ประกอบของงบดุลให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสินเชื่อ ธนาคารยังคงใช้กลยุทธ์การเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างรอบคอบ เน้นฐานลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญ เข้าใจทั้งความต้องการและความเสี่ยงเป็นอย่างดี
อีกประการสำคัญ คือการดูแลลูกค้าสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการรวบหนี้ หรือการทำ Debt Consolidation เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยและช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
โดยในปี 2566 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังต้องการรับความช่วยเหลือต่อเนื่องมาจากช่วงโควิด-19 คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 11% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และสำหรับโครงการรวบหนี้ได้เปิดกว้างสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ธนาคารสามารถช่วยลูกค้ารวบหนี้ไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นราย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถประหยัดดอกเบี้ยไปได้ราว 1.2 พันล้านบาท
ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว พอร์ตสินเชื่อของธนาคารจึงมีคุณภาพ ประกอบกับการบริหารจัดการหนี้เสียในเชิงรุก สถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์จึงเป็นไปตามเป้าหมาย สามารถลดระดับหนี้เสียลงมาได้อย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดในช่วงโควิด-19 ที่ 2.98% มาอยู่ที่ 2.62% ณ สิ้นปี 2566
ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงถัดไปยังคงมีปัจจัยกดดันรอบด้าน จึงดำเนินการตั้งสำรองฯ พิเศษในไตรมาส 4 เป็นจำนวน 4.9 พันล้านบาท เพื่อยกระดับอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL Coverage Ratio ให้ขึ้นมาอยู่ที่ 155% เมื่อเทียบกับ 138% ในปี 2565 และ 120% ก่อนรวมกิจการ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งขึ้นมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ธนาคารก็ยังได้เตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่อง โดยการขยายฐานเงินฝากเพิ่มเติมในไตรมาส 4 เพื่อรองรับแผนธุรกิจและการแข่งขันด้านเงินฝากที่อาจเกิดขึ้น ในปี 2567 ส่งผลให้อัตราส่วนสภาพคล่อง LCR เพิ่มขึ้นจาก 175% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 199% โดยประมาณ เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท. ที่ 100%
ด้านฐานเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 ณ สิ้นปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.7% และ 17.0% ซึ่งสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นในทุกมิติ เปรียบได้กับการมีกันชนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในทุกด้าน ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบในยามที่ต้องเผชิญความไม่แน่นอนในรูปแบบ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ สภาพคล่อง หรือเงินกองทุน ได้อย่างมั่นคง โดยไม่ส่งผลต่อการดำเนินงานตามแผนธุรกิจปกติ รวมถึงไม่ลดทอนความสามารถในการให้ความช่วยเหลือลูกค้า และการสร้างมูลค่าด้านเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของธนาคาร
สำหรับผลการดำเนินงานรายการหลักๆ ในปี 2566 มีดังนี้
สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2566 อยู่ที่ 1,328 พันล้านบาท ชะลอลง 2.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 3.5% จากสิ้นปี 2565 เป็นไปตามแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบและแผนการปรับโครงสร้างสินเชื่อ โดยมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ทำให้สินเชื่อรายย่อยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.1% จากปีที่แล้ว นำโดยสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ด้านสินเชื่อลูกค้าธุรกิจลดลง 11.6% จากปีก่อน เป็นผลจากการชำระหนี้คืนของลูกค้าและการนำสภาพคล่องส่วนเกินจากการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจไปหมุนเวียนปล่อยสินเชื่อรายย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินทุน
ในด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,387 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามแผนการเตรียมสภาพคล่อง แต่ชะลอลงเล็กน้อย หรือราว 0.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนของธนาคารให้การบริหารสินเชื่อและเงินฝากให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ เงินฝากเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ เงินฝากประจำ ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ด้านการออมดอกเบี้ยสูง และเงินฝาก ทีทีบี ออลล์ฟรี ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการทำธุรกรรมและประกันอุบัติเหตุฟรี สามารถเติบโตได้ตามแผน
ภาพรวมด้านรายได้ยังคงได้รับแรงหนุนจากการรับรู้ประโยชน์จากการรวมกิจการ ทั้งจากประโยชน์ด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) ผ่านการปรับโครงสร้างสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อ Consumer Loan และประโยชน์ด้านรายได้ (Revenue Synergy) จากการนำเสนอโซลูชันทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นหลังการรวมกิจการ ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70,961 ล้านบาท เทียบกับ 65,852 ล้านบาท ในปี 2565
ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 31,280 ล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 29,952 ล้านบาท ในปี 2565 เป็นผลจากกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและแผนการลงทุนทั้งด้านพนักงานและด้านดิจิทัล โดยธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่อยู่ที่ 43.6% ลดลงจาก 45.1% ในปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงิน ธนาคารได้ดำเนินการตั้งสำรองฯ พิเศษ เพิ่มเติมจากระดับปกติ รวมทั้งปีตั้งสำรองฯ ไปทั้งสิ้น 22,199 ล้านบาท หลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารจึงมีกำไรสุทธิในปี 2566 ที่ 18,462 ล้านบาท เทียบกับ 14,195 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า
นายปิติ สรุปในตอนท้ายว่า “ผลการดำเนินงานในปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของทีทีบีในการก้าวสู่ปี 2567 โดยเรายังคงตั้งเป้าที่จะสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพให้กับผู้ถือหุ้น พร้อมกับสนับสนุนแนวทางการลดหนี้ครัวเรือน รวมถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย Financial Well-being ของทีทีบีในการช่วยลูกค้าให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
การท่องเที่ยวฮ่องกงแต่งตั้งผู้อำนวยการการท่องเที่ยวฮ่องกงประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนใหม่
การท่องเที่ยวฮ่องกง (Hong Kong Tourism Board: HKTB) ประกาศแต่งตั้ง คุณเหลียว เชียน เจีย (Ms Liew Chian Jia) ขึ้นเป็นผู้อำนวยการการท่องเที่ยวฮ่องกงประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยคุณเหลียวจะทำหน้าที่กำกับดูแลการพัฒนาและปรับใช้กลยุทธ์การตลาดของการท่องเที่ยวฮ่องกงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายเดน เฉิง (Mr Dane Cheng) ผู้อำนวยการบริหารการท่องเที่ยวฮ่องกง (Executive Director of the Hong Kong Tourism Board) กล่าวแสดงความเชื่อมั่นในการรับบทบาทหน้าที่ใหม่ของคุณเหลียวว่า “ด้วยประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่กว้างขวาง และเครือข่ายด้านการค้าระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งของคุณเหลียว ผมเชื่อมั่นว่าเธอจะสามารถนำทีมให้ก้าวหน้าไปอีกระดับ พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวฮ่องกงในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี” คุณเหลียวเริ่มต้นทำงานกับการท่องเที่ยวฮ่องกงในปี 2560 และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการค้ากับคู่ค้าและการตลาดในฮ่องกง สู่การค้าการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเคยได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการการตลาดการค้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนรับตำแหน่งปัจจุบันต่อจากนายมาร์ติน เว่ย (Mr Martin Gwee)