อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย มองบวกเศรษฐกิจปี 67 ฟื้น เตรียมรุกจัดหนัก 15 งานแสดงสินค้าครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ วางเป้า 1,180 ล้านบาท
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป – ประเทศไทย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เผยมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 67 ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อโลกที่ผ่อนคลายลง สัญญาณการส่งออกที่ดีขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศที่ให้ความสนใจประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาและการเปลี่ยนของเทคโนโลยีในหลายอุตสาหกรรมทำให้เกิดการลงทุนเครื่องจักรและเครื่องมือในการผลิตใหม่ๆ รวมถึงนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่พร้อมให้การสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้สูงในกลุ่มไมซ์ (MICE)
จากมุมมองที่เป็นบวกดังกล่าวทำให้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย วางเป้าหมายรายได้รวมในปีนี้น่าจะสูงแตะ 1,180 ล้านบาท จากการเตรียมจัดงานแสดงสินค้าไว้มากถึง 15 งาน ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและบรรจุภัณฑ์ (ProPak Asia) กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม (ASEAN Sustainable Energy Week) กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร (Food & Hospitality Thailand) กลุ่มเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต (INTERMACH, MTA Asia) กลุ่มเครื่องประดับ (Jewellery & Gems ASEAN Bangkok) กลุ่มเครื่องสำอางและอาหารเสริม (Cosmoprof CBE ASEAN) ฯลฯ
ส่วนอีกกลุ่มที่มีศักยภาพสูง คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (Health and Wellness) เนื่องจากอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้กลายเป็นกระแสหลักของโลกอย่างชัดเจนขึ้นตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ที่เป็นตัวเร่งให้การดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของคนทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์มีการเติบโตอย่างสูง โดยข้อมูลจาก Global Wellness Institute รายงานว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าตั้งแต่ปี 2022 – 2024 มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นได้อีกประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์
ด้านการจัดงานในกลุ่มนี้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย มีทั้งหมด 4 งาน ประกอบด้วย CPHI South East Asia, Medlab Asia, Vitafoods Asia และ Fi Asia (Food Ingredients Asia) ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งส่วนประกอบอาหารสุขภาพ ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมจัดแสดงานและผู้เข้าร่วมชมงานเป็นอย่างดี
ด้านนางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน และ ผู้จัดการทั่วไป – ฟิลิปปินส์ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้บริหารการจัดงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพทั้งประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพว่า งานในกลุ่มนี้มีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจเรื่องสุขภาพ ความต้องการมีสุขภาพที่ดี การมีอายุที่ยืนยาวขึ้น และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศ ในส่วนของ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย งานในกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 10-15% แต่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเสริมอาหารยังสามารถเติบโตได้ถึง 100% ทั้งในส่วนของผู้ร่วมจัดแสดงงาน (Exhibitor) และผู้เข้าร่วมชมงาน (Visitor) พื้นที่การจัดแสดงงาน และมูลค่าการค้าการเจรจาธุรกิจ
ในปี 2024 อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ได้มีการเตรียมจัดงานใหญ่ในกลุ่มนี้ไว้ถึง 3 งานคือ
- CPHI South East Asia งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมการประชุมด้านวัตถุดิบ ส่วนผสม บรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องในการผลิตยา
- Medlab Asia งานแสดงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
- Vitafoods Asia งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมส่วนผสมสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
ทั้ง 3 งานครอบคลุมทุกส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมนโยบายภาครัฐที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Medical Hub) และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourist) แล้ว ในส่วนของภาคธุรกิจยังช่วยพัฒนาศักยภาพและการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ของไทย เนื่องจากภายในงานฯ มีทั้งการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยตลอดทั้งกระบวนการผลิต การแปรรูปวัตถุดิบ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากบริษัทชั้นนำของโลก การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้ประกอบการ พร้อมมีส่วนในการสร้างโอกาสและแสดงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยให้ผู้ร่วมจัดแสดงงานและผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลกได้เห็น ด้านภาคสังคมนั้น คนไทยจะได้ประโยชน์จากการจัดแสดงงานสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อผู้ประกอบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศมีความสามารถในการผลิต การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เองแล้ว ก็จะช่วยทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้การเข้าถึงการรักษาและบริการทางการแพทย์ง่ายและดียิ่งขึ้นด้วย