fbpx

วิกฤติการศึกษา เมื่อชื่ออยู่ในระบบ แต่ ‘ต่อไม่ติด’

เปิดรับศักราชใหม่ 2565 มาเป็นสัปดาห์ที่สอง ท่ามกลางชีวิตที่กลับมาสู่รูปแบบ ‘ตามปกติ’ ที่อาจจะไม่ต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก ไม่ว่าจะในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไปจนถึง ‘โรคระบาด’ ที่การแพร่กระจายของเชื้อ COVID สายพันธุ์ Omicron นั้น เพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมากจนถึงระดับที่จะก่อให้เกิดการจัดระเบียบทางสังคมกันอีกวาระ

และคงไม่มีประเด็นไหนที่น่าห่วงกังวลได้เท่ากับ ‘การศึกษา’ ภายใต้สภาวการณ์จำกัดเช่นนี้อีกแล้ว

ในรอบหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา ที่การระบาดของเชื้อ COVID-19 รุนแรงจนทำให้ภาครัฐสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการ และสถานศึกษา การศึกษาทางไกลผ่านระบบออนไลน์ คือทางเลือกที่กระทรวงศึกษานำมาใช้ เพื่อแก้ปัญหา และสร้างระยะห่างอันปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน ตั้งแต่ระดับประถมวัย จนถึงระดับอุดมศึกษา

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ระบบการศึกษาทางไกลออนไลน์ถูกนำมาใช้เพื่อชดเชยกับการขาดหายไปของห้องเรียนและสถานศึกษานั้น ต่างก็เต็มไปด้วยปัญหาไม่จบสิ้น และสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ประสิทธิภาพของการเรียนการสอน และความต่อเนื่องในการติดตามหลักสูตรของผู้เรียน ที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ปัญหาที่พบได้อย่างเบื้องต้น มีตั้งแต่อุปกรณ์ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ตารางการเรียนการสอนที่จัดการได้ไม่เหมาะสม สัญญาณอินเตอร์เนทที่เป็นสื่อกลางไม่ดี ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของลูกโซ่ปัญหาด้านการศึกษาที่จะตามมา เพราะเมื่อบวกรวมกับความไม่ทั่วถึง และจำนวนของผู้เรียนทั่วประเทศแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกลับน่ากลัวยิ่งกว่ากันมากนัก

เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ในสภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น ส่งผลต่อการประกอบวิชาชีพของผู้ปกครอง และความสามารถในการหารายได้อย่างเป็นสำคัญ

รายได้ที่เคยมี ลดลง งานบางประเภทสามารถทำได้น้อยลง จนถึงระดับที่ไม่สามารถทำได้ และเมื่อระบบพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการศึกษาทางไกลอย่างอินเตอร์เนท อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ต่างก็เป็นรายจ่าย ก็แทบไม่ต้องเดาเลยว่า ในพื้นที่ห่างไกล ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จะสร้างช่องว่างทางการศึกษา และการ ‘ตกหล่น’ ไปจากระบบมากเพียงใด

ไม่นับรวมปัญหาทางด้านบุคลากรการสอน ที่แม้จะใช้รูปแบบการเรียนใหม่ แต่ระบบประเมินผลงานยังคงเป็นแบบเดิมเหมือนในตอนที่ยังเปิดห้องเรียนในสภาวะปกติ และนั่นทำให้งานหนัก ตกไปอยู่ที่ครูกับอาจารย์อย่างเกินความจำเป็น สร้างภาระทางสภาพจิตใจไปโดยปริยาย

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงผู้เรียนในสถานที่ห่างไกล แต่ยังรวมถึงในเขตตัวเมือง และกลุ่มรายได้ปานกลาง ที่รายจ่ายเพื่อการศึกษานั้น เริ่มกลายเป็นภาระที่ถูกผลักจากทางภาครัฐให้ทบซ้อนขึ้นไปตามวันและเวลาที่ผ่านเลย

มาในปี 2565 นี้ แม้จำนวนผู้เรียนในระบบจะยังอยู่ แต่เมื่อวัดจากสภาพความเป็นจริง และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว บุคลากรที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา อาจจะต้องเตรียมตัวพร้อมรับกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ที่จะซ้ำแผลเดิมให้หนักหน่วงขึ้นไปอีกเท่าตัว ภายใต้สภาพการณ์ที่ทุกอย่างทำท่าว่าจะดีขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มที่กลับสู่จุดที่เลวร้าย และอาจจะหนักยิ่งกว่า

และถ้าการศึกษา คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมี และพึงได้ และนักเรียนต่างก็เป็นประชาชน ที่สมควรจะเข้าถึงสิทธินั้น ความไม่พร้อมสำหรับงานด้านการศึกษา และความเหลื่อมล้ำจากส่วนกลาง ก็จะยิ่งสร้างปัญหาในระยะยาว ไม่เฉพาะแต่เรื่องคุณภาพของการเรียนการสอน

แต่รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้เรียน ในภายภาคหน้าด้วยเช่นกัน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ