Metaverse: เมื่อพื้นที่โลกเสมือน จะถูกเลือนด้วยเทคโนโลยีในก้าวถัดไป
ในความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วิทยาการทางด้าน ‘การติดต่อสื่อสาร’ จัดได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะในทุกครั้งที่ขีดความสามารถของมนุษย์ได้รับการยกระดับให้เพิ่มขึ้น โอกาสและรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ๆ ก็จะเกิดตามมา จากยุคโบราณกาลที่ใช้นกพิราบสื่อสาร สู่ระบบไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ มาถึงยุค Information Age กับ ‘อินเตอร์เนท’ ที่ย่นย่อโลกให้เหลือเพียงไม่กี่คลิกของเมาส์ และอุปกรณ์บนหน้าจอ และหดสั้นเหลือเพียง Social Media ที่ทุกอย่างสามารถกระทำได้อย่างสมบูรณ์แบบผ่านจอโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว
จะเห็นว่า การปฏิวัติการสื่อสาร เป็นปัจจัยหนุนส่งการพัฒนาขีดความสามารถในตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้…
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการพัฒนาที่ดูราวกับจะไปถึงจุดสูงสุด อีกขอบเขตใหม่แห่งความเป็นไปได้ก็เริ่มต้นอีกครั้ง พื้นที่เสมือน (Virtual Space) ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี ที่แม้จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริง และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อวิถีชีวิต กำลังจะได้รับการสำรวจและท้าทายอีกครั้ง เมื่อ Facebook บริษัทผู้ให้บริการ Social Media ชั้นนำ และ Mark Zuckerberg ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ได้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘META’ และพร้อมจะผลักดันโลกแห่งการสื่อสารไปสู่พื้น ‘Metaverse’ ที่ไม่ใช่แค่เพียงการพูดคุยเห็นหน้า แต่จะเป็นการ ‘ปฏิวัติ’ อีกครั้งของโลกสื่อสารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
อะไรคือ Metaverse
ถ้าจะกล่าวถึงนิยามของสิ่งที่เรียกว่า Metaverse นั้น อาจจะเรียกได้ว่ายังเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนมากนัก แต่พอจะสรุปได้คร่าวๆ คือ Metaverse เป็น ‘พื้นที่เสมือน’ ที่สามารถยืนหยัดได้โดยสมบูรณ์ในตัว มีระบบสังคม การติดต่อสื่อสาร และเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งพาตนเองได้
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ทำให้ Metaverse น่าจะทำให้เกิดความสับสน ทั้งกับผู้ที่อยู่ในแวดวง IT รวมถึงผู้ใช้งานทั่วไปนั่นคือ มันไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพื้นที่ ‘ที่ต้องออนไลน์’ แต่เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ ถ้าเป็นพื้นที่ในโลกความเป็นจริง ที่ถูกเสริมด้วยเทคโนโลยีกึ่งเสมือนจริง (Augmented Reality) ผ่านอุปกรณ์ Internet of Things ก็สามารถเข้าข่ายความเป็น Metaverse ได้ด้วย
เช่น หากมีอุปกรณ์อย่างแว่น Augmented Reality หรือหมวก Virtual Reality ที่สามารถใส่ แล้วเห็นข้อมูลดิจิตอลที่ถูกบันทึกเป็น Footprints บนสิ่งหนึ่งสิ่งใดบนสิ่งของ (อาจจะเป็นสถานที่ วัตถุ ฯลฯ) ก็สามารถเป็น Metaverse ได้ หรืออย่างเกม Pokemon Go! ก็อาจจะเรียกว่าเป็นเกมแบบ Metaverse ได้ในบางระดับ เป็นต้น
Metaverse จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ในสมัยที่อินเตอร์เนทเพิ่งถูกนำเสนอให้แก่โลกช่วงแรก ถ้าใครในช่วงเวลานั้นบอกว่า อินเตอร์เนทคือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ถ้าไม่ถูกมองว่าเพ้อฝัน ก็คงจะกลายเป็นคนบ้าไปโดยปริยาย ไม่มีใครคาดคิดว่าในเวลาอีกสามสิบปีข้างหน้า มันจะสามารถวิวัฒนาการจนทุกอย่างสามารถเสร็จสมบูรณ์ได้ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงหนึ่งเครื่อง ขนาดเท่าฝ่ามือ แต่มีกำลังการคำนวณมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของ NASA ในยุคส่งไปดวงจันทร์หลายร้อยหลายพันเท่า
แต่มันก็เกิดขึ้นจริงแล้ว และมันอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งกับการมาถึงของ Metaverse
ในเวลานี้ เราอาจจะยังนึกภาพกันไม่ออกว่า Metaverse จะสามารถนำเสนอสิ่งใดให้กับชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนได้ กับโลกเสมือนอันไร้พรมแดน ความเป็นไปได้แบบใดที่รอคอยอยู่ข้างหน้า แต่ศักยภาพของมันในแวดวงต่างๆ นั้น มีอยู่อย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะโลกแห่งการพาณิชย์ ที่ระบบการค้า จะสามารถนำเสนอตัวอย่างสินค้าและบริการได้ในลักษณะที่จับต้องได้ งานด้านอุตสาหกรรม ที่จะผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ากับโลกเสมือน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือโลกแห่งการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ที่การทดลองในสภาพแวดล้อมที่เคยยากในทางปฏิบัติ จะสามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีสื่อสารทางไกลและโลกเสมือน
แน่นอน มันอาจจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ภาคธุรกิจเองก็ออกมาขานรับกับความเคลื่อนไหวของ Facebook ที่เดินเกมรุกในตลาด Metaverse First เพราะ Nike ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การกีฬา ก็เริ่มจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์พื้นที่เสมือน รวมถึงสิทธิบัตร CryptoKicks อันเป็น NFT หรือ Non-Fungible Token ของตนเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเจ้าต้นๆ ของโลกที่เริ่มดำเนินการก่อนใคร
และเชื่อว่า ในระยะเวลาอีกหนึ่งถึงสองปีถัดจากนี้ ความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจและบริการ จะตอบสนองต่อทิศทางของ Metaverse อย่างมีนัยสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว
Metaverse: เหล้าเก่า ฉลากใหม่ และการใส่ตะกร้าล้างน้ำของ Facebook
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคนมองความเคลื่อนไหวของ Mark Zuckerberg ที่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta และเริ่มนำร่องเทคโนโลยี Metaverse เอาไว้ในมุมมองที่ไม่สู้ดีนัก โดยกล่าวว่า ในระยะเวลากว่า 17 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน นโยบายการดำเนินงานของ Facebook เผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งเรื่องของความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน การเน้นด้านธุรกิจมากกว่าการสร้างความปลอดภัยและกลุ่มสังคมที่ดี
(จากกรณีล่าสุดที่ ฟรานเซส เฮาเกน อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัท ได้เปิดเผยด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลผ่านสื่อเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา)
ยังไม่นับรวมภาพลักษณ์ของ Facebook ในฟากฝั่งตะวันตกที่กลายเป็น ‘ของเชย ตกยุค และเป็นพื้นที่ของคนโบราณ’ ในสายตากลุ่มผู้ใช้งานวัยรุ่น ที่เริ่มหันมาสู่ Social Media อื่นอย่าง TikTok หรือ Twitch ที่กำลังมาแรง และมียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป
อีกทั้งไอเดียของ Metaverse เองก็ไม่ใช่ของใหม่ มันคือสิ่งที่มีผู้พยายามจะสร้างให้เกิดขึ้น และได้เกิดขึ้นไปแล้ว แม้จะไม่ใช่ในแบบที่สามารถ ‘สัมผัสได้’ ดังที่ Zuckerberg ทำนายพยากรณ์เอาไว้ เกมออนไลน์ผู้เล่นจำนวนมากหรือ ‘MMORPG’ คือตัวอย่างที่ดีของการนำเอาคอนเซปต์ Metaverse มาปรับใช้ในระยะแรก ซึ่งตรงกับนิยามคร่าวๆ ที่กล่าวไปก่อนหน้านั้น
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ทาง Facebook เองก็ได้เล็งในการมาถึงของ Metaverse และโลกเสมือนเอาไว้ล่วงหน้า ทั้งการทุ่มเงินเข้าสู่บริษัท Oculus ผู้ผลิตแว่น VR ด้วยจำนวนเงินที่สูงถึง 2000 ล้านดอลลาร์ในปี 2014 และการก่อตั้ง Facebook Reality Labs เพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยี Metaverse อย่างเต็มกำลัง
Metaverse กับทิศทางแห่งโลกเสมือนในอนาคต
ถึงจุดนี้ มันอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าที่ดอกผลของ Metaverse ที่ Mark Zuckerberg และ ‘Meta’ จะเริ่มผลิบานและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง และมันมีอยู่สองสิ่งที่ชัดเจนมาก เมื่อเวลานั้นมาถึง นั่นคือ
- -Metaverse อาจจะกลายเป็นสิ่งที่แพร่หลาย แต่ Meta ของ Zuckerberg จะไม่สามารถครอบครองส่วนแบ่งการตลาดได้แต่เพียงผู้เดียว นั่นเพราะมันคือพื้นที่ที่เป็นอนันต์ เช่นเดียวกับอินเตอร์เนท ที่ไม่มีใครได้เป็นเจ้าของอย่างถาวร
- -ไม่ใช่ทุกคนและทุกประเทศจะสามารถเข้าถึง หรือพร้อม ‘กระโจน’ เข้าสู่โลกเสมือนเต็มตัว การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแบบ คนต่อคน ยังเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น และมันต้องเกิดขึ้น ซึ่งโลก Metaverse จะไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้
และการที่ Zuckerberg เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta พร้อมทั้งสนับสนุนในการมาถึงของ Metaverse อย่างเต็มกำลัง ก็ไม่ได้หมายถึงความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เหนือไปกว่าคู่แข่งในตลาด เพราะเทคโนโลยีโลกเสมือนนั้น ยังมีความเป็นไปได้ พื้นที่ และโอกาสอีกมาก ซึ่งอาจจะต้องคอยติดตามในระยะเวลาข้างหน้ากันให้ดีๆ ในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
แต่อย่างน้อยที่สุด … มันก็เริ่มออกสตาร์ท
และในระยะยาว เราอาจจะหันกลับมามองวันนี้ และรู้สึกตกใจ ว่าโลกแห่งการสื่อสารนั้น มาได้ไกล ไม่ต่างกับเวลาปัจจุบัน เมื่อมองย้อนกลับไปยังยุคเริ่มต้นของอินเตอร์เนทเมื่อสามสิบปีก่อนก็เป็นได้