fbpx

พระไพศาล วิสาโล พระนักคิด นักเขียน

วิพากษ์ยุคสมัยที่เราหยุดแสวงหา เพราะต่างคิดว่าตนได้พบคำตอบ6 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ บนถนนหลวงไปสู่จังหวัดชัยภูมิ และอีก 1 ชั่วโมง บนถนนลูกรังเพื่อต่อไปยังวัดป่ามหาวัน ในอำเภอภูเขียว พวกเราบึ่งตะบึงรถตู้จนหัวสั่นหัวคลอน เพื่อรีบไปพบ พระไพศาล วิสาโล พระนักคิด นักเขียน ผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการนำความสงบสันติกลับมาสู่เรา ในช่วงเวลาที่ผู้คนในบ้านเมืองนี้เต็มไปด้วยความร้อนแรง เมื่อไปถึง พวกเราระดมยิงคำถามสัมภาษณ์ใส่ท่านอย่างเร่งร้อน โดยคาดหวังว่าจะได้รับคำตอบของทุกปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี ฯลฯ ท่านช่วยตอบกลับมาทุกคำถาม อย่างสิ้นข้อสงสัย ก่อนที่จะมอบคำสอนสำคัญให้กับพวกเราประการหนึ่ง ว่าบางครั้ง การหมกมุ่นอยู่กับคำตอบที่เป็นเป้าหมาย อาจจะทำให้เราหลงลืมคุณค่าของการแสวงหา และล้มเลิกการหมั่นตั้งคำถามอยู่เสมอๆ นั่นก็เท่ากับว่าชีวิตของเราจะไม่ได้ถูกตรวจสอบ ความคิดของเราไม่ได้ถูกตรวจทานอีกต่อไป คนที่ยังแสวงหา เปรียบเหมือนคนเดินทางเป็น ย่อมรู้จักชื่นชมสิ่งสวยงามสองข้างทาง การแสวงหาเป็นกระบวนการสำคัญ มันทำให้ใจเปิดกว้าง รับรู้ และยอมรับสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่า GM คิดว่าทุกคำถามในบทสัมภาษณ์นี้ ผู้อ่านแต่ละคนคงมีคำตอบในใจของตนเองรอไว้แล้ว และถ้าในนี้มีปุ่มให้คุณกดคะแนน คุณคงจะแข่งกันกด Like หรือ Dislike ให้กับทุกคำตอบของท่าน ยิ่งถ้ามีช่องเปิดให้ใส่ความคิดเห็นตามแต่ใจ เราทุกคนก็คงนำคำตอบที่มีอยู่แล้วในใจ มาทะเลาะกันอีกเหมือนเดิม อย่างที่เราเคยทะเลาะกันมาหลายปีแล้ว ประเด็นปัญหาในสังคมไทย ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากตรงนี้ ตรงที่เราหยุดแสวงหา ตรงที่เราต่างคิดว่าตนได้พบคำตอบ แล้วก็นำคำตอบนั้นมาห้ำหั่นกัน เมื่อทำงานสัมภาษณ์เสร็จ บนทางเดินกลับจากกุฏิของท่าน ลมหนาวพัดแรงจนใบหน้าพวกเราชา กระดิ่งลม ลิง ค่าง และแม่นกกำลังกลับรัง ส่งเสียงลอยมาแต่ไกล สองข้างทางเดินเต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้ารกรุงรัง ดูงดงามไปตามธรรมชาติของมัน พวกเราเพิ่งเข้าใจ ว่าคำตอบของท่านในบทสัมภาษณ์นี้อาจจะไม่สำคัญ คำตอบในใจของเราก็อาจจะไม่สำคัญ เท่ากับการอ่านบทสัมภาษณ์นี้อย่างเปิดใจ รับฟังคำตอบของคนอื่นอย่างเปิดใจ อ่อนน้อมถ่อมตน และยอมรับว่าเราทุกคนยังคงเป็นผู้แสวงหากันต่อไป

GM : ในปัจจุบัน กิจวัตรของท่านทำอะไรบ้าง

พระไพศาล : ตื่นเช้าขึ้นมาก็ทำวัตรสวดมนต์ ไปบิณฑบาต ฉันเสร็จ ก็เช็กเมลแล้วพักผ่อน จากนั้นก็ฉันเพลแล้วเขียนหนังสือ จนเย็นก็ทำวัตรสวดมนต์

แล้วทำกิจส่วนตัว รวมทั้งสมาธิภาวนาด้วย ถ้ามีกิจต้องออกไปข้างนอก ก็มักเป็นงานบรรยายธรรมะ หรือไม่ก็จัดอบรม โดยเฉพาะการอบรมเรื่องเผชิญความตายอย่างสงบ อาตมาเป็นวิทยากรทุกเดือน เพราะมีผู้สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

GM : ท่านเองก็เป็นคนกรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตในวัดป่าแบบนี้นานๆ ท่านคิดถึงชีวิตที่กรุงเทพฯ บ้างไหม

พระไพศาล : เดี๋ยวนี้ไม่แล้วละ ทุกวันนี้ พอได้กลับมาถึงที่นี่ อาตมาก็รู้สึกว่าเหมือนได้กลับบ้าน สมัยก่อนตอนบวชใหม่ๆ สัก 3 พรรษาแรก ยังคิดถึงชีวิตกรุงเทพฯ อยู่ คิดถึงช่วงวันเสาร์-อาทิตย์สมัยเป็นฆราวาสได้ไปเดินเที่ยวที่นั่นที่นี่ แต่โชคดีที่สมัยยังหนุ่มไม่ค่อยได้เที่ยวอะไรมากมายนัก เลยไม่ติดมันมาก พอหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อาตมาก็ทำงานกิจกรรมเพื่อสังคมโดยตลอด การเที่ยวในยุคนั้นก็คือไปในร้านหนังสือแถวสยามสแควร์ เรียกว่าไปช้อปปิ้งก็ได้ ร้านดวงกมลนั่นแหละคือที่เที่ยวของอาตมา หรือไม่ก็ไปบ้านเพื่อนสังสรรค์เสวนากัน ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไปต่างจังหวัดเลย แต่ไปนานๆ ครั้งนะ

กินเหล้านี่ไม่เคยกิน อีกกิจกรรมที่ทำบ่อยก่อนมาบวชคือไปดูหนัง สมัยนั้นก็ดูที่โรงหนังแถวสยามสแควร์ อย่างสกาล่า ลิโด้ สยาม ปารีส คุณรู้จักไหม? (หัวเราะ) อยู่ตรงแถวๆ สะพานขาว อาตมาบวชเมื่อปี พ.ศ. 2526 ตอนบวชใหม่ๆ ยังจำได้เลยว่านอนฝันอยู่บ่อยๆ ว่าแอบไปดูหนังในโรงหนังทั้งๆ ที่ยังห่มจีวรอยู่นี่แหละ พอหนังจบ เปิดไฟ ก็กลัวว่าจะมีคนเห็นเราว่าเป็นพระแอบมาดูหนัง แล้วก็ตกใจตื่น เหมือนกับว่าจิตใต้สำนึกยังคิดถึงอยู่ ฝันอย่างนั้นหลายครั้งในช่วงพรรษาแรกๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ฝันแบบนั้นแล้ว

GM : ท่านยังจำได้ไหม ว่าหนังเรื่องสุดท้ายที่ท่านดูในโรงคือเรื่องอะไร

พระไพศาล : เรื่อง An American Werewolf in London (1981) เป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์หมาป่า ดูเหมือนจะฉายที่โรงหนังแมคเคนน่า หนังไม่ค่อยดีหรอก เนื้อหาแทบไม่มีอะไรเลย

GM : ถ้าปล่อยให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานกว่านั้น ท่านอาจจะติดการเดินช้อปปิ้ง การดูหนังมากกว่านี้ จะละทางโลกได้ยากกว่านี้

พระไพศาล : ก็เป็นไปได้ สมมุติถ้ามีแฟนแล้วหากอยากจะบวชนานๆ ก็ทำไม่ได้แล้ว ถ้ามีลูกก็ยิ่งยากเข้าไปอีก ตอนนั้นไม่มีแฟน ไม่มีลูกก็เลยบวชได้นาน กัลยาณมิตรหลายคนเป็นรุ่นพี่ที่ออกบวชมาก่อน แล้วยังมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ท่านก็คอยถามว่าเมื่อไรจะบวชสักที เผอิญช่วงนั้นความอิ่มตัว

ในการทำงานก็เริ่มมีมากขึ้น ไม่ได้อิ่มตัวเพราะงานสำเร็จหรอกนะ แต่อิ่มตัวในแง่ความเครียด ตอนนั้นถ้าไม่รู้จักพุทธศาสนา ก็คงทู่ซี้ทำงานไปเรื่อยๆ และก็คงทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนไปเรื่อยๆ แต่พอรู้จักพุทธศาสนา ก็ได้รู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แต่อยู่ที่ตัวเรานั่นแหละ อยู่ตรงที่ใจมันล้า ไม่ได้พัก แต่ก่อนพยายามพักด้วยการไปเที่ยวเตร่อย่างที่ว่าอยู่พักหนึ่ง คิดว่าการเที่ยวจะช่วยได้ แต่ก็พบว่าไปเที่ยวก็ไม่ได้ช่วยให้ใจสงบหรือหายล้าเลย ไปภูเก็ต ไปต่างจังหวัดจะสนุกตอนไป ไปต่างประเทศก็ด้วย แต่กลับมาก็ล้า เหนื่อย เบื่อ เครียดไปเที่ยวกลับมาแล้วก็เหนื่อยนะ เหนื่อยกาย ใจก็ไม่ได้พัก เลยคิดว่าการบวชคงเป็นทางเลือกสุดท้าย และมีความศรัทธาว่าการบวชจะช่วยให้จิตใจเราสงบ ผ่อนคลาย หายล้า จนถึงวันนี้ก็คิดว่าตัดสินใจไม่ผิดเลย แต่การบวชไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ ต้องต่อสู้กับตัวเองอย่างมาก ตอนบวชใหม่ๆ ใจไม่ยอมอยู่นิ่ง คิดอยากออกไปที่โน่นที่นี่ตลอดเวลา แต่ความเป็นพระ ต้องโกนหัว ห่มผ้าเหลือง ทำให้ไปไหนมาไหนลำบาก เทียบกับการเป็นฆราวาส แม้ตั้งใจปฏิบัติธรรม แต่ไม่ได้โกนหัว ไม่ได้ห่มผ้าเหลือง เดี๋ยวก็หาเรื่องออกไปไหนต่อไหนจนได้ ความเป็นพระทำให้ไปไหนมาไหนลำบาก ก็ต้องอยู่สู้กับตัวเอง เผชิญหน้ากับตัวเอง จนกระทั่งพบความสงบ หรือเรียกว่าเป็นมิตรกับตัวเองได้

GM : ธรรมะอีกหัวข้อหนึ่งที่ท่านชอบบรรยายบ่อยๆ นอกจากเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ ก็เป็นเรื่องการเป็นมิตรกับตัวเอง

พระไพศาล : ใช่ เพราะเป็นปัญหาที่หลายคนประสบ รวมทั้งอาตมาก็เคยประสบมาก่อน เลยรู้ดีว่าเป็นอย่างไร และควรแก้อย่างไร

GM : ที่ท่านเล่าว่าทำงานเครียดมากๆ จนทะเลาะกับคนอื่นไปทั่ว นั่นถือว่าเป็นมิตรกับตัวเองหรือเปล่า

พระไพศาล : ไม่ใช่เลย เหตุที่เราทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่น จุดเริ่มต้นก็เพราะเราไม่มีความสุขข้างใน มีความเครียด ว้าวุ่น ก็เลยระบายความทุกข์ออกไปให้คนอื่น ที่ว้าวุ่นก็เพราะไม่สามารถอยู่กับตัวเองได้ ต้องออกไปทำโน่น ทำนี่ ไปหาคนโน้น คนนี้ เสร็จแล้วก็ทะเลาะกับผู้คน เพราะว่าความทุกข์ออกมาจากข้างใน ถ้าเราเป็นมิตรกับตัวเอง มีความสุข มีความมั่นคงในจิตใจ กลับจะทะเลาะกับคนอื่นน้อยลงนะ ทนคนอื่นได้มากขึ้น ใครพูดอะไรไม่ถูกหูก็เฉยๆ เสีย เพราะใจนิ่งแล้ว

GM : จนถึงทุกวันนี้ ท่านมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากมายขนาดนี้ ยังมีใครมาพูดอะไรไม่ถูกหูท่านอยู่อีกหรือ

พระไพศาล : อาตมาไม่ได้เก่งกาจอะไร ก็ย่อมต้องมีบ้างล่ะที่มีคนมาวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดไม่ถูกหู แถมมีเยอะมากเลยช่วงที่มีความขัดแย้งการเมืองเหลือง-แดง อาตมาโดนด่าจากทั้งสองฝ่าย เหลืองก็ว่า แดงก็ว่า ในเฟซบุ๊คก็ยังตามมาว่า เวลาแสดงความเห็นไม่ถูกหูใคร เขาก็เขียนด่ากลับมา เสียดสีกลับมา เจอแบบนี้อยู่เป็นประจำ อาตมาก็เฉยๆ ได้ มองในแง่ดี นี่คือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง เป็นการฝึกใจไม่ให้หวั่นไหวไปกับโลกธรรม ซึ่งก็คือคำสรรเสริญและคำนินทา คำสรรเสริญก็ต้องระวังนะ ถ้าดีใจได้ปลื้มกับคำสรรเสริญ เราก็จะยิ่งหวั่นไหวเมื่อเจอคำนินทา แต่ถ้าไม่ดีใจได้ปลื้มกับคำสรรเสริญเสียก่อน คำนินทาด่าว่าที่ตามมา ก็จะมีผลกับเราน้อยลง ดังนั้น เวลามีคำสรรเสริญ ก็ถือเป็นสิ่งทดสอบใจเรา ว่าจะเคลิ้มคล้อยไปกับมันหรือไม่ ถ้าเคลิ้มคล้อยไป เราก็จะได้รับบทเรียนกลับมา บางทีแค่เขาไม่ชมเรา เราก็ไม่พอใจแล้ว อย่างดาราคนดัง ไปไหนมาไหนก็มีคนทัก แต่ถ้าบางคราวไม่มีใครทักหรือไม่มีคนรู้จัก ก็รู้สึกแย่นะ อย่างไปดอนเมือง ไปสุวรรณภูมิ ขึ้น-ลงเครื่องบินแล้วไม่มีใครทัก ก็รู้สึกเสียใจแล้วนะ (หัวเราะ) มันสะเทือนข้างในแล้ว เพราะเราเสพติดกับคำชม

GM : มีหลายสถาบันที่มอบรางวัลให้ท่าน ท่านรับมือกับคำชมอย่างไร

พระไพศาล : อาตมาคิดว่าส่วนใหญ่ที่เขาชมนั่นเกินจริงนะ ก็ต้องขอบคุณเขาที่ยกย่อง แต่รู้สึกว่าตัวเองยังทำได้ไม่ถึงขั้นที่เขายกย่องสรรเสริญ รางวัลที่ได้รับถือว่าเป็นรางวัลที่ใหญ่กว่าตัว เป็นคำสรรเสริญที่มากเกินไป เพราะอาตมาไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า นั่นคือสิ่งที่เขามอง ซึ่งสิ่งที่เขามอง กับสิ่งที่เป็นจริงๆ บางทีก็มีช่องว่างอยู่ แต่ถึงแม้สิ่งที่เขาสรรเสริญมาเป็นจริงทั้งหมด อาตมาก็เตือนใจตัวเองเสมอว่าของพวกนี้มันไม่เที่ยงหรอก คนเราย่อมมีขึ้นมีลง ถึงเวลาที่เราลงก็ไม่มีใครสนใจ เวลาที่เราขึ้น เขาก็ชม บอกตัวเองเสมอว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องลง ถึงตอนนั้นก็เป็นแค่ Nobody จึงอย่าไปดีใจมากนักเลย อาตมาเคยไปในงานหนึ่ง ตอนที่มาถึงงานเขาก็ออกมาต้อนรับดี แต่พอเสร็จงาน พอแสงไฟสปอตไลท์ดับลง เสร็จงานเขาก็ทิ้งเรา เราก็ต้องเดินออกจากงานนั้นมาคนเดียว แค่นั้นเองฉะนั้น เวลาได้รับการต้อนรับอย่างดี เราก็อย่าเคลิ้ม เพราะถึงเวลาหนึ่ง เราก็ต้องลงจากเวทีคนเดียว อย่าไปหลงใหลได้ปลื้มกับสปอตไลท์ สปอตไลท์ก็มีประโยชน์ของมัน คือทำให้สิ่งที่เราพูดนั้นมีคนฟัง มีคนสนใจ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่หมั่นไส้เรา ไม่เห็นด้วยกับเรา เป็นปฏิปักษ์กับเราก็มี ยามที่สปอตไลท์ส่องมาที่เรา เราอาจกลายเป็นเป้าให้เขาเล่นงานได้เหมือนกัน คนชมก็มี คนด่าก็มี

GM : ที่ท่านบอกว่าบางทีรางวัลที่ได้รับก็ใหญ่เกินตัว จริงๆ ท่านเป็นคนอย่างไร อย่างเวลาอ่านหนังสือของท่าน หลายคนคิดว่าท่านเป็นพหูสูต มีความรู้รอบหลายวิชาการ จะถามอะไรก็ตอบได้หมด

พระไพศาล : อาตมาไม่ได้รู้ทุกเรื่องหรอก ความรู้ในโลกนี้มากมายมหาศาล ไม่มีใครรู้หมดหรอก อันไหนที่พอรู้อยู่บ้าง ก็พูดได้ เขียนได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นพหูสูต แม้กระทั่งการเป็นนักเขียน อาตมาก็ไม่ได้คิดว่าเป็นนักเขียนอาชีพนะ เป็นแค่นักเขียนสมัครเล่น ดังนั้น บางรางวัลที่ได้รับมา จึงรู้สึกว่ามันใหญ่เกินตัว อย่างรางวัลนักเขียนศรีบูรพา หรือรางวัลนักเขียนอมตะ อาตมาไม่ได้เป็นนักเขียนจริงจัง ดังนั้นรางวัลใหญ่ๆ สำหรับนักเขียน น่าจะมอบให้นักเขียนที่อุทิศตนเพื่องานเขียนโดยเฉพาะมากกว่าหรือเปล่า อาตมาคิดในแง่นี้

GM : ท่านคาดหวังอะไรจากการทำงานเขียน ท่านมีความสุขกับการทำงานเขียนหรือไม่ เป็นเหมือนหมอที่ได้เห็นคนไข้หายดี แบบนั้นหรือเปล่า

พระไพศาล : ต้องลองไปถามหมอจริงๆ อาจจะพบว่าเขาไม่มีความสุขกับการทำงานของเขาเท่าไร เพราะคนไข้มาแล้วก็ไป ไม่รู้ว่ารักษาหายหรือเปล่า อาตมาคิดว่าพอเราทำอะไรเป็นงานอาชีพ เป็น Routine ไปหมด เราจะรู้สึกว่ามันจำเจไม่ค่อยมีคุณค่าสักเท่าไร จนกระทั่งได้พบเจอกับบางเหตุการณ์ เช่น ทันตแพทย์ได้รับการ์ดขอบคุณจากคนไข้ ก็จะรู้สึกปลื้มใจในสิ่งที่ตัวเองทำ คุณครูที่สอนหนังสือเด็กเป็นร้อยเป็นพัน บางทีก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า จนวันหนึ่งลูกศิษย์ที่เรียนจบแล้วประสบความสำเร็จ กลับมาเยี่ยมครู ช่วงนั้นแหละครูถึงรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า บางทีอาตมาเขียนหนังสือออกไป ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้สังคม แต่ก็มีบ่อยที่เจอคนที่ได้รับแรงบันดาลใจ หรือได้แง่คิดจากงานเขียน ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ทุ่มเทไปมีผลอยู่บ้าง สมัยนี้เสียงตอบรับจากคนอ่านมาเร็วนะ เราต้องหนักแน่นมากกว่าเดิม ไม่ว่าทำอะไรไป จะมีทั้งคนด่าและคนชมควบคู่กันไป ทุกคำชมจะมีคำด่าตามมาด้วย เหมือนเพื่อนของอาตมาที่ทำงานอยู่ในสถานีไทยพีบีเอส เขาเครียดเหมือนกันนะ เพราะช่วงนี้ความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย พอเอาคนนี้มาออกรายการก็โดนด่า เอาอีกคนมาออก อีกฝ่ายก็ด่า ดังนั้น ไม่ว่าเราทำงานอะไร ก็ทำใจไว้เลย ว่าทุกหนึ่งคำชมจะมีอีกหนึ่งคำด่าเกิดขึ้นด้วย

GM : จนถึงตอนนี้ ท่านเบื่อที่จะพูดเรื่องการเมืองหรือยัง การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป ที่ท่านเป็นกรรมการอยู่ มีความคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง

พระไพศาล : คณะกรรมการปฏิรูปปิดตัวไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ผลงานคือการทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ งานเหล่านี้เป็นการจุดประกายให้คนนำไปทำต่อ แต่ก็ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของสังคมสักเท่าไร เพราะสังคมไทยตอนนี้สนใจแต่ปัญหาระยะสั้น ในเรื่องหวือหวาชั่วครั้งชั่วคราว ไม่มีใครสนใจปัญหาระยะยาว ที่เราเสนอคือเรื่องการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

GM : เวลาพูดถึงคำว่า ‘ปัญหาในระดับโครงสร้าง หรือปัญหาของระบบ’ ฟังดูเป็นเรื่องยาก ถึงแม้จะมีคนรู้จักหรือได้ยินชื่อของคณะกรรมการปฏิรูป แต่พอพูดขึ้นมาปุ๊บ สักพักก็เลิกพูดดีกว่า

พระไพศาล : อาจเป็นเพราะคนเราต้องการอะไรที่ให้ผลเร็วๆ ใช้เวลาไม่นาน ความอดทนไม่ค่อยมี ชีวิตเร่งรีบ อยู่กับข้อมูลข่าวสารที่ฉาบฉวย แม้กระทั่งหนังสือ คนก็อ่านน้อยลง เพราะว่ามันยาวไป เดี๋ยวนี้คนหันไปอ่านหนังสือบนแท็บเล็ตแทนที่จะอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ทนดูอะไรที่ยาวๆ ไม่ค่อยได้ ต้องดูที่เป็นคลิปแค่ 3-4 นาทีจบ

GM : การใช้ชีวิตในวัดป่า ดูเหมือนว่าทุกอย่างรอบตัวช้าลง ทำให้มีเวลาไต่ตรองเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น มากกว่าคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทันสมัย

พระไพศาล : ที่นี่สิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นให้คิดหรือรู้สึกมันน้อยกว่าในเมือง การถูกระดมด้วยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งที่สนใจเอง และที่พุ่งเข้ามาหาก็มีน้อยกว่าด้วย ทำให้ใคร่ครวญได้มากขึ้น และถ้าจะวางก็วางง่าย เดี๋ยวนี้คนเราใคร่ครวญน้อยลง เพราะมีอะไรต่อมิอะไรเข้ามาดึงความสนใจไปตลอดเวลา จนไม่มีสมาธิ แม้กระทั่งเวลาทำงาน มีการทำวิจัยในต่างประเทศ พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนที่ทำงานในสำนักงาน จะมีสิ่งต่างๆ มารบกวนหรือขัดจังหวะการทำงานทุกๆ 15 นาที เช่น อีเมล sms เดี๋ยวนี้เรามีอะไรต่อมิอะไรมาดึงความสนใจของเราไม่ได้หยุดหย่อนเลยใช่ไหม ทั้งอีเมล ข้อความที่ส่งมาทางแบล็คเบอร์รี่หรือโทรศัพท์ นี่ขนาดเรื่องการเรื่องงาน เรายังถูกรบกวนจนไม่ค่อยมีสมาธิกับงาน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นๆ ที่เป็นแค่ความสนใจส่วนตัวหรือเรื่องส่วนตัวก็ยิ่งฉาบฉวยเข้าไปใหญ่ ดังนั้น การใคร่ครวญก็จะมีน้อย จะวางก็วางยาก อยากจะวางแต่วางไม่ได้ เพราะไปที่ไหนหรือแม้แต่อยู่บ้านก็มีแต่เรื่องพวกนี้พุ่งเข้ามาทางตา ทางหู กระตุ้นให้คิดตลอดเวลา เว้นเสียแต่ว่าไม่ต้องเปิดโทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์เลย แต่คนส่วนใหญ่ก็ห้ามใจไม่อยู่ใช่ไหมล่ะ แต่พอเปิดแล้วต้องเจอข้อมูลข่าวสารระดมใส่ ก็เลยเกิดความฟุ้งซ่าน จะปล่อยก็ปล่อยไม่ได้ ครั้นจะคิดก็คิดได้ฉาบฉวย ก็เลยอยู่ในภาวะครึ่งๆ กลางๆ

GM : อาจเป็นเพราะศักยภาพของมนุษย์เรา ที่สามารถเร่งรีบขึ้นไปได้เรื่อยๆ

พระไพศาล : ศักยภาพที่เร่งรีบของมนุษย์ เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีเอื้อให้สามารถเร่งรีบได้มากขึ้น อย่างชาวบ้านที่นี่ (หมู่บ้านตาดรินทอง จังหวัดชัยภูมิ) จะให้เร่งรีบได้อย่างไร เพราะเขาไม่มีรถ สมัยก่อนก็ต้องเดินกันเป็นหลัก ชาวบ้านไม่มีศักยภาพที่จะเร่งรีบได้ อย่างอาตมาอยากจะดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลใหญ่ๆ จากอินเตอร์เน็ตก็โหลดไม่ค่อยได้ ถึงโหลดได้ก็ช้า อยากจะเร่ง ก็เร่งไม่ได้ ต้องทำใจอย่างเดียว จนพบว่าเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบนะ เพราะไม่ต้องไปแข่งกับใคร ไม่เหมือนกับคนกรุงเทพฯ เวลาจะทำอะไรก็รีบๆ ไปเสียหมด เพราะเขาต้องแข่งกัน หรือถึงแม้ไม่แข่งกับใคร ก็แข่งกับเวลา

GM : ก็เห็นในโฆษณาโทรศัพท์มือถือ เขาบอกว่าเราจำเป็นต้องดาวน์โหลดไฟล์ใหญ่ๆ ให้ได้เร็วๆ

พระไพศาล : (หัวเราะ) ไม่จำเป็นหรอก ถามว่าโทรศัพท์มือถือจำเป็นไหม จริงๆ ก็ไม่จำเป็นนะ เห็นในโฆษณาบอกว่าจำเป็น เดี๋ยวนี้มีแต่คนบ่นอยากได้ 3G เมื่อไรจะมี 3G ใช้ทั่วประเทศ เพราะทุกคนคิดว่าจำเป็น อาตมาอยากให้ถามกลับไปว่าจำเป็นสำหรับอะไร จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตไหม จำเป็นต่อความอยู่รอดไหม ถึงไม่มี 3G ชาวบ้านแถวนี้ก็อยู่กันได้ อย่างคุณเองก็เหมือนกัน เวลาคุณไปเที่ยวเขาใหญ่ ไปภูกระดึง หรือไปภูหลวง ถึงไม่มี 3G คุณก็อยู่ได้และมีความสุขด้วย เพราะมันไม่จำเป็นต่อความอยู่รอด ไม่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่สงบเย็น หรือการมีชีวิตที่เจริญงอกงาม เราไม่ค่อยถามต่อไปคือ 3G จำเป็นสำหรับอะไรล่ะ ถ้าจำเป็นสำหรับชีวิตที่ทันสมัย ชีวิตที่ต้องแข่งขันกับคนอื่น ชีวิตที่ดูโก้เก๋ ก็บอกเลยว่าจำเป็น แต่ความทันสมัย ความโก้เก๋ มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราหรือเปล่า การที่เราแข่งกันในเรื่องความทันสมัย รู้ข้อมูลได้เร็วกว่า รู้ข่าวดาราได้เร็วกว่า มันไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นหรือมีความสุขขึ้นเลย

GM : งานของท่านส่วนใหญ่คือการเขียนหนังสือ ไปบรรยายธรรมะที่กรุงเทพฯ ถ้ามีการสื่อสารที่รวดเร็วก็คงช่วยได้มาก

พระไพศาล : ก็ยังไม่จำเป็นมากขนาดนั้น ทุกอย่างรอได้ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เวลาจะส่งบทความไปให้หนังสือพิมพ์ ก่อนอื่นต้องพิมพ์ลงในโปรแกรมเวิร์ดจุฬาฯ แล้วใส่ข้อมูลลงแผ่นดิสเก็ตต์ จากนั้นก็ใส่ซองจดหมาย ส่งให้สำนักพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ผ่านทางไปรษณีย์ ต่อมาพอตำบลท่ามะไฟ-หวาน มีจานรับสัญญาณ ทำให้สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ อาตมาก็ต้องรอสัก 3-4 วันเพื่อเขียนบทความให้ได้หลายๆ ชิ้น แล้วรวบรวมใส่ไว้ในแผ่นดิสก์แผ่นเดียวกัน เพื่อจะนำไปส่งทางอินเตอร์เน็ตที่ในตำบล ใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมง หรือทั้งวันเลยก็มี งานก็สำเร็จลุล่วงได้ อาตมาไม่เคยผิดนัดกับใคร แล้วก็ไม่ต้องเป็นภาระให้ใครมาคอยทวงต้นฉบับด้วย เพราะวางแผนไว้ดี หากมีการวางแผนไว้ แม้เทคโนโลยีที่เรามีอยู่ช้า เราก็ยังตรงเวลาได้ ถ้าเราบริหารเวลา บริหารงานดีๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่างที่บอก อาตมาอยู่ที่นี่ เทคโนโลยีก็เป็นแบบโลว์เทค ก็ยังส่งงานได้ตรงเวลา ไม่เคยผิดนัด ตรงข้าม คนที่มีเทคโนโลยีไฮเทครอบตัว ก็เห็นผิดนัด ทำงานแบบฉุกละหุกเป็นประจำ ที่จริงการมีเทคโนโลยีแบบไม่ทันสมัยมากนักกลับกลายเป็นข้อดี การมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตช้าๆ ทำให้อาตมาโหลดเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจ หรือมีประโยชน์ อย่างอาตมาไม่สามารถโหลดดูคลิปในยูทูบได้มาก ถ้าจะโหลดก็ต้องเลือกก่อนว่าเรื่องไหนน่าสนใจ อย่างคลิป ‘ฮิตเลอร์ซับนรก’ ที่ใครๆ ชอบดูกัน อาตมาไม่โหลด เพราะใช้เวลาเกือบชั่วโมง กว่าจะโหลดเสร็จ แต่ถ้าคุณใช้ Wi-Fi ฮิตเลอร์ซับนรกก็โหลดสบาย โหลดทุกอย่างได้ตามใจ แต่ที่โหลดไปได้ดูหมดหรือเปล่าก็ไม่รู้ โหลดตุนเอาไว้ก่อน แต่มักจะไม่ได้ดูหรอก แต่ถึงดูก็เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะคลิปหรือข้อมูลที่ไม่เป็นสาระก็มีเยอะ การที่ข้อมูลท่วมท้นไม่ใช่ข้อดี มันทำให้เราไม่มีเวลาใคร่ครวญ ยิ่งข้อมูลหาได้ง่าย ก็จะมีปัญหาในการจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรควรดูก่อน อะไรควรดูทีหลัง อะไรควรทิ้งไป

GM : 10 กว่าปีก่อน ท่านเคยแปลหนังสือของ ไมเคิล แชลลิส ท่านเสนอว่าเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ต้องใส่ใจในการใช้งาน พอมาถึงตอนนี้ เทคโนโลยีดูน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ถ้า ไมเคิล แชลลิส เขียนหนังสือขึ้นมาอีกสักเล่ม คงเขียนแต่เรื่องน่ากลัวเต็มไปหมด

พระไพศาล : ก็มีคนเขียนเรื่องแนวนี้ออกมาเรื่อยๆ มีบางคนพูดถึง Slow Lane แทนที่ Fast Lane การใช้ชีวิต Slow Life กินอาหาร Slow Food ที่ไม่ใช่ฟาสต์ฟู้ด ตอนนี้ก็มีคนหันไปทางนี้มากขึ้น อาตมาเพิ่งอ่านเรื่องของผู้หญิงไทยคนหนึ่ง เธอทำงานเยอะมาก กระทั่งวันหนึ่งโครงการใหญ่ที่ดูแลอยู่เกิดล้มเหลวขึ้นมา เธอรู้สึกแย่มากจนอยากจะฆ่าตัวตาย แต่ยังโชคดีที่ยังไม่ได้คิดสั้น วันหนึ่งเธอไปเข้าคอร์สประสบการณ์ชีวิต เธอพบว่าตัวเองมีปัญหาคือชอบทำอะไรเร็วๆ และคอร์สนี้ก็ให้ผู้เข้าร่วมทำโครงงานเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ทำอะไรก็ได้ เธอเลือกที่จะทำโครงงานเคี้ยวข้าวให้ช้าลง เพราะ ที่ผ่านมา เธอกินข้าวไม่ถึง 5 นาทีก็เสร็จ พอเคี้ยวข้าวให้ช้าลง เธอก็เพิ่งรู้ว่าข้าวมีรสหวาน คนสมัยนี้อยากได้รสหวาน ก็จะใส่น้ำตาลลงไปในกับข้าว เยอะๆ ใช่ไหม ทั้งที่ข้าวมีรสหวานอยู่แล้ว พอเคี้ยวข้าวช้าลง เธอเริ่มมีเวลาที่จะพูดคุยกับลูกชายบนโต๊ะอาหารมากขึ้นด้วย ก่อนหน้านี้เธอกับลูกชายห่างเหินกันไป เธอก็เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกชาย ความสัมพันธ์ของเธอกับคนในที่ทำงานก็ดีขึ้นตามไปด้วย เพราะช้าลง ไม่เร่งรีบ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน ต่อมาเธอก็กระจายงานให้ลูกและลูกน้องเพราะไว้ใจเขามากขึ้น ก็เลยมีเวลาไปเยี่ยมพ่อแม่ พาท่านไปเที่ยว ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยทำเพราะไม่มีเวลา นอกจากนั้นเธอยังพบว่าสุขภาพของเธอดีขึ้น โรคปวดท้องและหายใจไม่เต็มท้องซึ่งเป็นมานานนับสิบปี รักษาเท่าไรก็ไม่หาย ก็กลับหายหลังจากเธอกินข้าวช้าลง เรื่องของเธอเป็นตัวอย่างที่ดีมาก อาตมาคิดว่าปัจจุบันคนเราเร่งรีบจนตกเป็นทาสของความเร่งรีบ จึงถูกความเร่งรีบบั่นทอนคุณภาพชีวิต ทั้งร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์กับผู้อื่นแย่ไปหมดเพราะชีวิตที่เร่งรีบ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะมัวแต่ไล่ตามเทคโนโลยี จนเข้ารกเข้าพงไป

GM : ความเร่งรีบวุ่นวายแบบนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวช เมื่อปี พ.ศ. 2526 ใช่ไหม

พระไพศาล : ตอนนั้นเครียดเรื่องงานมาก อาตมาทำงานตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมา 7 ปี ทำมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ใหม่ๆ บ้านเมืองตอนนั้นวุ่นวาย รุนแรง แตกแยก ยิ่งทำงานก็ยิ่งเครียด ทะเลาะกับเพื่อนในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก้าวร้าว มีอะไรมากระทบง่าย เลยเข้าใจนะ ที่เห็นผู้คนสมัยนี้ทะเลาะกันง่ายมาก ใจเราเปราะบางเหลือเกิน แค่คุยเล่นกันในเฟซบุ๊คก็ทะเลาะกันแล้ว เพราะเราเครียด เราถูกกระทบ และพร้อมจะกระแทกกลับไปตลอดเวลา ตอนนั้นคิดว่าอยากเข้าวัดไปปฏิบัติธรรมสัก 3 เดือน ไปพักผ่อนใจ แต่บังเอิญว่าพอปฏิบัติแล้วเห็นผล เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ ก็เลยบวชต่อมาเรื่อยๆ การได้มาอยู่วัดป่าช่วยให้ได้ใคร่ครวญกับชีวิตมากขึ้น จึงรู้สึกว่าการมีชีวิตที่สมดุลกับเรื่องส่วนรวม สมดุลระหว่างงานกับการพักผ่อน สมดุลระหว่างการใช้แรงงานกายกับแรงงานสมอง สมัยก่อน อาตมาอยู่วัดก็มีงานทางกายเยอะนะ ขุดดิน ปลูกต้นไม้ ดับไฟป่า ดูแลป่า ส่วนงานใช้สมองก็ทำ ซึ่งต้องสมดุลกัน เพราะไม่อย่างนั้นแล้วหัวจะโต ตัวลีบ จิตนิดเดียว การปฏิบัติธรรมคือการขยายใจให้กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น

GM : พอได้ยินอย่างนี้ คนส่วนใหญ่อาจจะอยากมาบวชเหมือนท่านบ้าง เพราะตอนนี้เห็นมีคนทะเลาะกันไปทั่วเฟซบุ๊คแล้ว

พระไพศาล : (หัวเราะ) ยิ่งมีความรู้เยอะ ก็ยิ่งทำให้เกิดอารมณ์รุนแรงกับสิ่งต่างๆ มากกว่าเดิม ทำให้ต้องแสดงออกด้วยการวิจารณ์กลับหรือด่าว่ากลับไป เผอิญสมัยก่อนนั้น การโต้ผ่านสื่อทำได้ยาก หากจะด่าใครสักคน ต้องมานั่งเขียนจดหมาย พับใส่ซอง ติดแสตมป์ หย่อนใส่ตู้ไปรษณีย์ กว่าจะถึงตอนนั้นอารมณ์ก็เย็นลง อาจจะเปลี่ยนใจไม่ส่งก็ได้ แต่สมัยนี้เขียนลงเฟซบุ๊คปุ๊บ ก็ด่าเขาได้ดั่งใจทันที แต่พอกลับมานั่งนึกดูอีกที ก็อาจได้คิดว่าเราไม่น่าไปว่าเขาแบบนั้นเลย ก็ต้องตามกลับไปลบข้อความที่ตัวเองโพสต์เอาไว้ มันเร็วไง ความเร็วทำให้เราไม่ค่อยยั้งคิดเท่าไหร่

GM : ในสมัยก่อน ปัญญาชนถกเถียงทางความคิดและเรื่องอุดมการณ์ต่างๆ กันด้วยวิธีไหน

พระไพศาล : สมัยเป็นนักเรียน มีกลุ่มยุวชนสยาม ซึ่งเป็นนักเรียนหัวก้าวหน้าจากโรงเรียนต่างๆ กลุ่มนี้มีคนหลายประเภท ที่เรามารวมกลุ่มกันได้ ก็เพราะมีความคิดตรงกัน คือไม่เห็นด้วยกับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นหลายๆ ด้าน เช่น การเมืองที่ถูกครอบงำด้วยเผด็จการทหาร ผู้คนที่มุ่งไปทางวัตถุนิยม บริโภคนิยม บรรยากาศในมหาวิทยาลัยที่มีแต่เรื่องงานบอล งานเชียร์กีฬา จึงเกิดการรวมกลุ่มขึ้นเป็นกลุ่มยุวชนสยาม โดยมีแนวคิดที่นิยมประชาธิปไตย บางคนหนักไปทางสังคมนิยม บางคนเป็นอนา-ธิปัตย์นิยมเลยก็มี บางคนสนใจปรัชญาอัตถิภาวนิยมของ ฌ็อง ปอล ซาร์ตร์,

อัลแบร์ กามู ซึ่งมีคำพูดประโยคหนึ่งที่นิยมกันมากตอนนั้นคือ ‘เพราะฉันขบถ ฉันจึงมีชีวิตอยู่’ บางคนก็เชื่อในวิถีของเช กูวารา บางคนก็เป็นแนว

เหมาอิสต์ บางคนก็นิยมคานธี มีความหลากหลายมาก แต่กลุ่มนี้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการถกเถียงทางปัญญา เถียงกันแต่ไม่ถึงขั้นแตกหัก เอาเป็นเอาตาย เพราะหลายคนยังอยู่ในช่วงที่เพิ่งเริ่มศึกษาตามทางของตน จึงยังไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความเชื่อ ยังไม่ถึงขั้นเป็นเจ้าทฤษฎีตอนนั้นเป็นยุคแสวงหา พอคนเราแสวงหาก็ต้องค้นคว้าเรื่องต่างๆ นานา แต่พอค้นพบคำตอบแล้ว ก็จะหยุดค้นคว้า พอเลิกค้นคว้า ก็จะหันมาไล่ล่าแทน เช่นการล่าแม่มด เกิดขึ้นเมื่อคุณเชื่อว่าคุณสามารถยึดกุมสัจธรรม อย่างยุโรปยุคกลาง มีการไล่ล่าแม่มดในสเปน โปรตุเกส ต่อมาก็เกิดขึ้นในอเมริกา เพราะเขาเชื่อว่าค้นพบสัจธรรมแล้ว มันไม่ใช่ยุคแสวงหา ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ถ้าเรายึดมั่นในอุดมการณ์แล้ว ใครที่คิดไม่เหมือนตัวก็อาจจะถูกไล่ล่าหรือประณามหยามเหยียด

GM : ยุคแสวงหาของคนในรุ่นท่าน จบลงในปีไหน แล้วพวกท่านแสวงหาเจออะไรกันบ้าง

พระไพศาล : คิดว่าคงเป็นช่วงหลัง 14 ตุลาฯ ไม่นาน พวกเราหลายคนก็คิดว่าตนเองได้พบคำตอบแล้ว มันช่วยให้เรามีความมั่นคงในจิตใจมากขึ้น บางคนมีความรู้สึกว่าเหมือนเกิดใหม่ ชีวิตนี้สิ้นความสงสัย ทุกอย่างแจ่มชัดไปหมด และพร้อมจะต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเชื่อ แง่หนึ่งทำให้เรามองอะไรเป็นดำ

เป็นขาวไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธความคิดในยุคนั้นถ้าจะแทนด้วยหนังสือ ก็คือหนังสือชื่อ ‘เราจะฝ่าข้ามไป’ เป็นรวมบทกวีของ วิสา คัญทัพ คือแสดงว่าพวกเราได้พบคำตอบแล้ว และกำลังต่อสู้เพื่อให้ความฝันเป็นจริง เทียบกับช่วงก่อน 14 ตุลาฯ ตัวแทนของยุคสมัยคือหนังสือ ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ ของ วิทยากร เชียงกูล ยิ่งมาเจอเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ยิ่งทำให้หลายคนเชื่อในคำตอบที่แพร่หลายในหมู่นักศึกษาหัวก้าวหน้าเวลานั้น ก็คือ การจับอาวุธขึ้นปฏิวัติ

GM : สำหรับตัวท่าน ถือว่า ‘สันติวิธี’ คือคำตอบใช่ไหม

พระไพศาล : แม้แต่เรื่องสันติวิธีก็ต้องระวัง เพราะถ้ายึดมั่นกับสันติวิธีมาก ก็จะเห็นคนที่ใช้ความรุนแรงเป็นคนเลวร้ายไปเสียหมด ยิ่งสันติวิธีที่ผูกติดกับศาสนา ใครที่ไม่นับถือศาสนาเหมือนตัว ไม่มีคุณธรรมตามมาตรฐานของตัว ก็จะถูกมองว่าเป็นคนเลวร้ายได้ ไม่ว่าคุณจะยึดถืออุดมการณ์แบบใดก็ตาม สันติวิธี สังคมนิยม ประชาธิปไตย หรือแม้แต่ศาสนาเองก็ตาม ก็อาจจะเห็นผู้อื่นที่คิดต่างจากตัวเองว่าเป็นคนเลวร้ายได้ และเมื่อเขาเป็นคนเลวร้ายก็ต้องถูกกำจัด ถ้าสุดโต่งมากๆ ก็จะเป็นอย่างบิน ลาดิน หรือผู้ก่อการร้ายที่ยึดมั่นในศาสนาอย่างหัวปักหัวปำ อย่างที่เขาเรียกว่าเป็น Fundamentalist พวกคอมมิวนิสต์สมัยก่อนก็เป็นนะ อุดมการณ์ทั้งหลายทั้งปวง รวมทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลืองด้วย พอยึดมั่น ถือมั่น และมองว่านี่คือคำตอบหนึ่งเดียว ถ้ายิ่งมีความคิดโน้มเอียงไปใกล้เคียงกับศาสนาด้วย ก็จะยิ่งใจแคบ มองเห็นคนคิดต่างจากตัวเป็นผู้ร้ายไปเลย

GM : ถ้าสังคมเราทุกวันนี้ยังอยู่ในช่วงแสวงหา เราคงมีความสุขสงบมากกว่านี้

พระไพศาล : แต่ถ้าแสวงหาแล้วไม่เจอคำตอบ ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ใจจะแกว่งได้ง่าย เกิดความทุกข์เพราะเต็มไปด้วยความสงสัย ไม่แน่ใจ เหมือนกับเดินทางไกลแต่ไม่รู้ว่าเดินถูกทางหรือเปล่า ส่วนคนที่คิดว่าเจอคำตอบแล้ว ก็มีปัญหาไปอีกแบบ คือแม้จะมั่นใจว่าเดินถูกทาง แต่ก็กังวลและร้อนใจว่าเมื่อไรจะถึงเป้าหมายสักที แต่ถ้าสำหรับคนที่เดินทางเป็น เขาไม่จดจ่อเรื่องเป้าหมาย ไม่กังวลว่าเมื่อไหร่จะถึง แต่เขาจะรู้จักชื่นชมสิ่งสวยงามสองข้างทางระหว่างที่เดิน แบบนี้ก็โอเค การแสวงหาในแง่หนึ่งก็ทำให้ใจเปิดกว้าง รับรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นส่วนคนที่พบคำตอบ มักจะรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง เข้าถึงสัจธรรม ทำให้เกิดความปีติ อิ่มเอิบใจ ขณะเดียวกัน อัตตาก็ฟูฟ่องเพราะคิดว่าตัวเองเก่งและรู้สึกว่าเหนือกว่าคนอื่นที่ยังไม่พบคำตอบ อาจจะรู้สึกเหยียด-หยามหรือดูถูกเขาด้วย อาตมาคิดว่าแม้กระทั่งคนที่พบคำตอบแล้ว ก็ต้องตั้งคำถามกับคำตอบของตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วย ว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อมันจริงไหม ทางพุทธศาสนาจะเน้นอยู่เสมอในเรื่องของการเตือนตัวเอง อะไรก็ตามที่ยึดมั่น ถือมั่น ก็เป็นโทษได้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเป็นหลักธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยได้พูดกันเท่าไร คือเรื่อง ‘สัจจานุรักษ์’ แปลว่าการคุ้มครองหรือรักษาความจริง หมายความว่า เมื่อเจอคนที่เห็นต่างกับเราก็ อย่าไปคิดว่าเขาผิด คนที่คิดว่าฉันถูก คนอื่นผิด เพราะเขาพูดไม่เหมือนฉัน เห็นไม่เหมือนฉัน แบบนั้นไม่ใช่สัจจานุรักษ์ เราควรเปิดใจกว้างเพื่อรับฟังคนอื่น ไม่ด่วนประณาม ไม่ด่วนตัดสิน ซึ่งอาจทำให้เราได้เห็นว่า ที่เราเชื่อว่าเป็นสัจธรรมอาจผิดพลาดก็ได้

GM : ท่านได้ตรวจสอบความเชื่อเรื่องสันติวิธี อหิงสาธรรม ของท่านอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา เห็นมีแต่ข่าวคนไทยทะเลาะกัน นี่อาจจะแสดงว่าแท้จริงแล้ว ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ ไม่สอดคล้องกับสันติวิธี อหิงสาธรรม ของท่านเลยก็ได้

พระไพศาล : ที่คุณว่านั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไป ยังมีอีกด้านหนึ่ง คนที่เขาแก้ปัญหาโดยที่ไม่ใช้ความรุนแรงก็มีมากมาย

ในชีวิตประจำวันของเรา เราแสดงออกด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมากกว่าการใช้ความรุนแรง คนไทยที่เป็นฆาตกรหรืออาชญากรนั้นมีน้อยมาก

เมื่อเทียบกับคนที่ใช้ชีวิตปกติไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แม้แต่เวลาที่ไม่ปกติอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ก็เห็นคนมากมายช่วยเหลือกัน เป็นจิตอาสา เราได้เห็นสิ่งเหล่านี้บนท้องถนน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่สาธารณะ แม้เราจะบ่นว่ามันน้อยลงๆ แต่อาตมาคิดว่าการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน

หรืออย่างน้อยก็ไม่เบียดเบียนกัน เป็นปรากฏการณ์ทั่วไป การทะเลาะเบาะแว้งหรือใช้ความรุนแรงต่อกันสิ ถือเป็นเรื่องแปลก ที่เป็นข่าวเยอะๆ ก็เพราะมันเป็นเรื่องแปลก ถ้ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็ไม่เป็นข่าวใช่ไหม

GM : เหตุที่เราช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อาจเป็นเพราะเราสมประโยชน์กันอยู่ แต่พอเราขัดประโยชน์กัน เราก็มีวิธีแก้ปัญหาแบบที่ไหลลู่ไปสู่ความรุนแรงเสมอ

พระไพศาล : (หัวเราะ) ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยภายใน คืออารมณ์และทัศนคติของผู้คน กับปัจจัยภายนอก เช่น กฎหมาย ระเบียบ กติกา รวมทั้งผู้คนแวดล้อม ถ้ามีอคติ หรือมีความโกรธเกลียดต่อกันเป็นพื้น มันก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย แต่ถ้าสังคมแวดล้อมไม่นิยมส่งเสริมความรุนแรง รังเกียจคนที่ใช้ความรุนแรง คนที่มีความขัดแย้งกัน ก็จะรู้สึกว่าใช้ความรุนแรงกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ยาก หรือถ้าสังคมนั้นมีกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ที่น่าเชื่อถือ ผู้คนก็จะหันไปพึ่งพากลไกนั้น ทำให้ความขัดแย้งไม่ลงเอยด้วยความรุนแรง แต่ถ้าสังคมนั้นไม่มีกลไกที่ว่า หรือมีแต่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ศาลก็ไม่น่าเชื่อถือ ตำรวจก็ซื้อได้ คนที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ก็หันไปหาความรุนแรง แล้วใช้เงินเป่าคดี เมืองไทยก็กำลังเป็นแบบนี้มากขึ้นอาตมาคิดว่าปัญหาของการใช้สันติวิธี ไม่ได้อยู่ตรงที่ธรรมชาติของมนุษย์ แต่อยู่ตรงกลไกเครื่องมือที่จะเอื้อให้เกิดสันติวิธีมากกว่า เช่น ระบบศาล ระบบยุติธรรม รัฐสภา หรือองค์กรอิสระ ถ้าคนจำนวนมากไม่เชื่อในระบบเหล่านี้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะคิดว่าไม่เป็นกลางอย่างแท้จริง เขาก็จะไม่ใช้กลไกเหล่านี้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่หันไปใช้วิธีนอกระบบ เช่นการประท้วง การประท้วงนั้นยังเป็นสันติวิธีอยู่ แต่ถ้าช่องทางสื่อสารถูกปิด เขาก็อาจทำอะไรที่ปริ่มๆ กฎหมาย หรือบางทีใช้ความรุนแรงก็มี เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือกดดันให้รัฐบาลต้องโอนอ่อนผ่อนตามเขา ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐก็มีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงได้ง่าย หากระบบศาล รัฐสภา องค์กรอิสระเป็นฝ่ายรัฐ หรือภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง ในอเมริกาและยุโรป เขาก็มีการประท้วง แต่ทำไมไม่ค่อยเกิดความรุนแรง ก็เพราะระบบต่างๆ ในสังคมของเขายังทำงานอยู่ ไม่เอื้อให้ทุกฝ่ายใช้ความรุนแรงตามอำเภอใจ อาตมาจึงคิดว่าระบบต่างๆ ในสังคมจะช่วยให้ความขัดแย้งคลี่คลายไปได้ด้วยสันติวิธี ซึ่งตอนนี้ของไทย

เรายังมีปัญหาอยู่มาก จึงเกิดความรุนแรงบ่อยๆ

GM : ระบบและกลไกต่างๆ ในอเมริกา ก็ใช่ว่าจะดี เพราะเราก็เห็นว่าล่าสุดที่มีการประท้วงทุนนิยมเสรีที่สูบกิน เอารัดเอาเปรียบ ของกลุ่มออคคิวพาย วอลล์สตรีท กลายเป็นข่าวออกไปทั่วโลก

พระไพศาล : ระบบเศรษฐกิจของเขามีจุดอ่อนเยอะ ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แถมระบบการเมืองก็ช่วยอะไรไม่ค่อยได้ เพราะยังมีปัญหาแบ่งเป็นขั้วชัดเจน เป็นขวากับซ้าย เป็นรีพับลิกันกับเดโมแครต ตอนนี้มีคนพูดกันมากขึ้นว่า การเมืองอเมริกากำลังแบ่งเป็นขั้วอย่างชัดเจน ฝ่ายที่เป็นกลางทางการเมืองที่ไม่เอาทั้งสองฝ่ายมีน้อยมาก อย่างปกนิตยสาร The Economist ฉบับหนึ่ง เป็นภาพแฮมเบอร์เกอร์ที่มีแต่ขนมปังข้างบนกับข้างล่าง เนื้อตรงกลางหายไป สภาพแบบนี้ทำให้ระบบการเมืองเป็นอัมพาต แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง เพราะติดล็อกไปหมด แต่การเคลื่อนไหวของมวลชนคราวนี้ ไม่ได้ใหญ่โตมากพอที่จะทำให้เกิดความรุนแรง เหมือนอย่างการประท้วงสมัยสงครามเวียดนามพวกออคคิวพาย วอลล์สตรีท เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่กระจัดกระจายไปทั่ว และมีความหลากหลายมาก หลายคนเกิดความงงงวย ว่าตกลงเขาต้องการอะไร เพราะมีหลายกลุ่มมาก ทั้งกลุ่มประท้วงระบบเศรษฐกิจที่เอาเปรียบคนจน กลุ่มประท้วงการทำลายสิ่งแวดล้อม กลุ่มประท้วงเรื่องการตัดสวัสดิการสังคม กลุ่มประท้วงเรื่องการศึกษา ประท้วงเรื่องสงคราม มีกลุ่มต่างๆ มาร่วมประท้วงเยอะมากจนไม่มีข้อเสนออะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เขาถึงบอกว่าเป็นกลุ่มของคน 99 เปอร์เซ็นต์ ที่ประท้วงคน 1 เปอร์เซ็นต์ที่กุมอำนาจ แล้วสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

GM : การประท้วงที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กันในหลายประเทศทั่วโลก ในช่วงปีที่ผ่านมา มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

พระไพศาล : สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นแตกต่างไป ของเรายังเป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่าน คือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ตอนเกิด 14 ตุลาฯ อันนั้นก็เป็นการเปลี่ยนผ่านจากอำนาจที่ผูกขาดอยู่กับเผด็จการทหารมาสู่คนชั้นกลาง แต่คนชั้นกลางที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นนายทุนซึ่งเติบโตมาจากการอิงทหาร อิงข้าราชการ ไม่ใช่คนชั้นกลางที่มีอิสระอย่างแท้จริง กว่าจะผลักดันทหารและข้าราชการออกจากเวทีการเมืองได้ก็หลังจากเกิดพฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535 แต่ทหารและข้าราชการก็ยังมีบทบาทอยู่ข้างหลัง พอมาถึงยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอนนี้เป็นยุคที่นายทุนต้องการเป็นอิสระจากทหารและข้าราชการ เช่น คุณทักษิณต้องการแต่งตั้ง ผบ.ทบ. โดยไม่ต้องมีไฟเขียวจากใคร จะเอางบประชานิยมไปสู่หมู่บ้านก็ไม่ต้องผ่านระบบราชการ อันนี้เป็นความพยายามของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ที่ต้องการมีอำนาจเต็มที่ แต่กลุ่มอำนาจเดิมไม่ยอม จึงเกิดการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกัน จนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือ มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองมากขึ้น คือกลุ่มชาวบ้าน บางคนก็เรียกว่ากลุ่มคนชั้นล่าง และคนชั้นกลางระดับล่าง ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยในช่วง 70-80 ปีที่ผ่านมา มีการช่วงชิงอำนาจสู่กลุ่มคนระดับล่างเป็นทอดๆ จากสถาบันกษัตริย์มาสู่ทหาร จากทหารมาสู่นายทุนและคนชั้นกลาง และตอนนี้ชาวบ้านระดับล่างก็ต้องการมีสิทธิมีเสียงเท่าๆ กับคนชั้นกลางด้วย กลุ่มคนที่กุมอำนาจอยู่แต่เดิมย่อมไม่พอใจ ก็เลยมีการต่อสู้กัน ทหารก็พยายามดึงเอาคนชั้นกลางในเมืองเป็นพันธมิตร ส่วนนายทุนโลกาภิวัตน์ก็พยายามดึงชาวบ้านเป็นฐานสนับสนุน จึงเกิดการขัดแย้งกันอย่างที่เห็นสิ่งสำคัญที่อาตมาสนใจ คือจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปโดยไม่ใช้ความรุนแรง พวกที่ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจก็พยายามดึงเอาคนชั้นกลางมาเป็นพวกโดยชูเรื่องสถาบันกษัตริย์กับเรื่องนักการเมืองโกงกิน ส่วนกลุ่มนายทุนซึ่งต้องการชิงอำนาจจากกลุ่มเก่าก็ดึงเอาชาวบ้านหรือประชาชนระดับล่างมาเป็นฐานสนับสนุนโดยชูเรื่องประชาธิปไตยกับเรื่องอำมาตย์ อาตมาคิดว่าถ้าเทียบกับในอเมริกา ปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายประเทศเขาผ่านเลยไปนานแล้ว แต่ของเรายังไม่ผ่าน ก็ยังต้องต่อสู้กันต่อไป

GM : วิวัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของทุกประเทศ จะต้องมีรูปแบบที่ตายตัวเหมือนกันหมดไหม

พระไพศาล : ก็ไม่จำเป็นนะ พูดได้อย่างกว้างๆ ว่า เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนไปคนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น

แต่เงื่อนไขของแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกัน แต่ละสังคมมีการให้ความสำคัญกับคุณค่าไม่เหมือนกัน เช่น ในสังคมอเมริกาเน้นเรื่องเสรีภาพ แต่ไม่เน้นเรื่องความเป็นธรรม จึงมีความเหลื่อมล้ำเยอะมาก คน 20% ระดับบนสุดกับ 20% ระดับล่างสุด รายได้ห่างกันประมาณ 8 เท่า ของไทยเราห่างกัน 13 เท่านะ ส่วนของยุโรปเช่นสแกนดิเนเวีย ความเหลื่อมล้ำของคนระดับล่างกับระดับบนห่างกัน 4-5 เท่าเท่านั้น เพราะเขาเน้นเรื่องความเป็นธรรมมากกว่าเสรีภาพ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำกันมาก โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจนก็มีมากขึ้นด้วย เทียบกับในญี่ปุ่น มีความแตกต่างกัน 3 เท่าเอง ส่วนในเกาหลีก็มี 4 เท่า เมื่อมีความเหลื่อมล้ำน้อย โอกาสที่คนชั้นล่างจะลุกฮือขึ้นมาก็มีน้อย ดังนั้น จึงสรุปไม่ได้ว่า แต่ละประเทศต้องมีวิวัฒนาการเหมือนกัน แต่แบบแผนใหญ่ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดคือ อำนาจจะกระจายจากบนลงล่างมากขึ้น

GM : ดูเหมือนกับว่าเศรษฐกิจคือตัวกำหนดทุกสิ่ง ถ้ามีความเท่าเทียมกัน ถ้าประชาชนอิ่มท้อง ก็ไม่ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้อง

พระไพศาล : จะสรุปเป็นทฤษฎีแบบนั้นก็คงไม่ได้ เพราะความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยหลายสาเหตุ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็เป็นสาเหตุหนึ่ง เพราะตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ ทีแรกก็ต้องการความอยู่รอด พออยู่รอดแล้วก็ต้องการความสะดวกสบาย พอสะดวกสบายแล้วก็ต้องการสิทธิเสรีภาพ มีลำดับขั้นความต้องการที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ พอเศรษฐกิจดีแล้วประชาธิปไตยก็มักจะตามมา แต่ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง เพราะที่จริงแล้ว ประชาธิปไตยก็มีส่วนกำหนดเศรษฐกิจด้วยเหมือนกัน พอบ้านเมืองมีประชาธิปไตยมากขึ้น โอกาสที่เศรษฐกิจจะเจริญก้าวหน้าก็มีมากขึ้นด้วย อย่างในจีน ถ้าเศรษฐกิจโตระดับหนึ่ง แต่ถ้าประชาธิปไตยไม่มี บ้านเมืองก็จะหยุดชะงัก พรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงมีการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจ เพื่อให้เศรษฐกิจเจริญต่อไปได้อย่างยั่งยืนและกระจายรายได้อย่างทั่วถึง

GM : ทำไมจึงดูเหมือนกับว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นวิวัฒนาการขั้นสูงที่สุด ที่เราจะต้องดำเนินไป เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะตั้งคำถามกับประชาธิปไตยบ้าง ว่าจริงๆ แล้วมันอาจไม่ใช่รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดก็ได้

พระไพศาล : นั่นก็คือข้อเรียกร้องแบบของกลุ่มพันธมิตรไงล่ะ เขาตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยที่อิงการเลือกตั้งอาจจะไม่ใช่คำตอบ เพราะเปิดโอกาสให้นักการเมืองหรือนายทุนซื้อเสียง จนยึดครองอำนาจรัฐได้ เสร็จแล้วพวกนี้ก็คอร์รัปชั่น ในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย ประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งกับการคอร์รัปชั่น กลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว มาจนถึงวันนี้ บางคนไปไกลถึงขั้นว่า ประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง เป็นอันตรายกับสถาบันกษัตริย์ด้วยซ้ำไป ตอนนี้มีคนตั้งคำถามกับประชาธิปไตยมากเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน ตอนนั้นแม้เราจะขัดแย้งกันอย่างไร ก็ยังมีความเห็นร่วมกันว่ายุบสภาแล้วไปเลือกตั้งกันใหม่ ใครชนะการเลือกตั้งก็ได้เป็นรัฐบาล ทุกฝ่ายยอมรับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เช่นนั้น เราไม่มีอะไรที่เป็นจุดร่วมทางการเมืองของคนทั้งประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย หรือแม้แต่สถาบันกษัตริย์

GM : กลายเป็นว่าทุกคนหยุดแสวงหากันแล้ว และทุกคนก็จะประกาศปาวๆ ว่า ฉันพบคำตอบที่ถูกที่สุด ฉันค้นพบแล้ว

พระไพศาล : เป็นยุคที่เราต้องผ่านไปให้ได้ ปัญหาคือเราจะผ่านไปอย่างไร เราจะข้ามศพของเพื่อนร่วมชาติไปหรือเปล่า ประวัติศาสตร์ก็เคยสอนเราไว้ ว่าต้องปฏิรูป ถ้าไม่ยอมปฏิรูป การปฏิวัติก็จะเกิดขึ้นธรรมชาติของคนเราไม่ยอมเสียนิดเสียหน่อย สุดท้ายกลับต้องเสียมาก เหมือนกับคนเล่นหุ้น ตอนหุ้นราคาตกก็ไม่ยอมขาย เพราะมีความหวังว่ามันน่าจะดีขึ้น สุดท้ายหุ้นกลายเป็นขยะไปเลย คนที่กุมอำนาจอยู่ในเวลานี้เขาไม่ยอมเสียอำนาจเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่สถานการณ์รอบตัวแย่ลง แต่เขายังมีความหวังว่าจะกุมอำนาจได้ต่อไป ก็เลยต้องไปจัดการกับคนที่จะมาแย่งอำนาจ คนที่ถูกจัดการก็เลยต้องลุกขึ้นสู้ ถ้าสู้ด้วยสันติวิธีไม่ได้ก็จะใช้ความรุนแรง ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างกลัวซึ่งกันและกัน เช่น กลัวว่าอีกฝ่ายได้คืบก็จะเอาศอก ถ้ายอมให้อีกฝ่ายเท่านี้ ก็กลัวว่าเขาจะได้ใจและต้องการมากขึ้นไปอีก มันเป็นความกลัว ความไม่ไว้ใจกันและกัน

GM : มีนักคณิตศาสตร์ชาวอิสราเอลคนหนึ่ง สร้างโมเดลคณิตศาสตร์ขึ้นมาอธิบายความขัดแย้งระหว่างปาเลสสไตน์กับอิสราเอล เขาพบว่ากลัวกันมีประโยชน์ เพราะต่างไม่กล้าลงมือทำอะไรกัน

พระไพศาล : ก็เป็นไปได้นะ ถ้ามองในแง่ Balance of Power อย่างกรณีของ ซัดดัม ฮุสเซน การที่เขายังอยู่ในอำนาจ ก็ช่วยให้เกิดการถ่วงดุลกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน แต่พอซัดดัมล้มไป ก็เกิดสุญญากาศทางอำนาจ เกิดความไร้เสถียรภาพขึ้นมาในตะวันออกกลาง

GM : ระหว่างอำมาตย์กับไพร่ในตอนนี้ เรามีความกลัวในระดับที่สมดุลกันไหม

พระไพศาล : หลังรัฐประหารฝ่ายอำมาตย์กุมอำนาจที่เป็นทางการได้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไพร่ต้องใช้การต่อสู้นอกระบบ เช่นการประท้วง แบบนี้ก็ไม่ถือว่าสมดุลหรอก และก็ไม่ถือว่าปลอดภัย เพราะอาวุธอยู่ในมือฝ่ายหนึ่ง เขามีอำนาจที่จะบดขยี้อีกฝ่ายได้ ตอนนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่า หากฝ่าย

ที่มีอำนาจ ที่มีอาวุธอยู่ในมือ ยังไม่ตระหนักถึงความจริงที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ยอมคลายอำนาจ แถมใช้ความรุนแรงเพื่อรักษาอำนาจของตัว จะเกิดการโต้กลับที่รุนแรง เสียหายต่อทุกฝ่าย การปฏิรูปจึงมีความสำคัญ เพื่อให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น แต่ผู้มีอำนาจก็ไม่ยอมรับการปฏิรูป อาจจะเพราะกลัวว่าประชาชนได้คืบจะเอาศอก ฝ่ายประชาชนก็กลัวฝ่ายผู้ที่มีอำนาจ ไม่ใช่กลัวอย่างเดียว แถมโกรธและเกลียดเข้าไปด้วย ถ้าสภาวะแบบนี้ดำรงอยู่ การจะประนีประนอม หันหน้ามาเจรจา หรือจะปฏิรูปอะไรกันมันก็ยาก

GM : ขนาดนิตยสารไทม์ยังยกให้ประชาชนผู้ออกมาประท้วงทั่วโลก เป็นบุคคลแห่งปีประจำปีนี้ เห็นแบบนี้แล้วผู้มีอำนาจก็คงยิ่งกลัว

พระไพศาล : ถ้าผู้นำทำตามสัญญาจะไม่เกิดปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างประธานาธิบดี บอสนี มูบารัค ไม่ทำตามสัญญา บิดพลิ้วอยู่เรื่อย เพราะคิดว่าตัวเองยังมีโอกาสที่จะทำให้สถานการณ์กลับมาเหมือนเดิม คือ หนึ่ง, ไม่ยอมเสียอำนาจที่มีอยู่แม้เพียงเล็กน้อย สอง, ยังมีความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นได้ ผู้นำเผด็จการส่วนใหญ่คิดแบบนี้เหมือนกันหมด แต่ปัญหาของบ้านเราตอนนี้ซับซ้อนกว่า อย่างในอียิปต์หรือตูนิเซีย เป็นเรื่องของชนชั้นนำกับประชาชน แต่ในเมืองไทย ชนชั้นนำของทั้งสองฝ่ายนอกจากจะขัดแย้งกัน ไม่ยอมกันแล้ว แต่ละฝ่ายมีมวลชนของตัวเองคอยสนับสนุน เหตุการณ์ในอียิปต์และตูนิเซีย น่าจะเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ของบ้านเรา ซึ่งเราผ่านเหตุการณ์นั้นมานานเกือบ 40 ปีแล้ว แต่เพิ่งเกิดขึ้นที่นั่น

GM : แสดงว่า 14 ตุลาฯ ของเราไม่สำเร็จ แต่ของเขาสำเร็จไปแล้ว

พระไพศาล : 14 ตุลาฯ ของเราก็สำเร็จ แต่พอผ่านไป 3 ปี ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ ก็กลับมาแย่งชิงอำนาจคืนไป แต่ก็แย่งไปได้ชั่วคราว ตอนหลังก็ต้องคืนให้แก่ประชาชน ตอนนี้เราก็ต้องรอดูกันว่าในอียิปต์หรือตูนิเซีย อีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เห็นข่าวล่าสุดตอนนี้ เขาก็ยังประท้วงกันอยู่เลย 14 ตุลาฯ เหมือนเป็นยกแรก ยก 2 คือ 6 ตุลาฯ ยก 3 หรือยก 4 คือพฤษภาทมิฬ 2535 ที่ประชาชนนึกว่าชนะแล้ว แต่ก็แค่ชั่วคราว จนเกิดรัฐประหาร 19 กันยาฯ แถมครั้งนั้นทหารยังมีฐานประชาชนสนับสนุนด้วยซ้ำ ทำไมคนชั้นกลางสนับสนุนให้ทหารปฏิวัติ เพราะกลัวเสียอำนาจ ทนไม่ได้ที่อำนาจจะถูกแบ่งไปให้ชาวบ้าน คนชั้นกลางหวงอำนาจเหมือนกันนะ

GM : สมัยที่ท่านยังหนุ่มๆ ทำงานกิจกรรมเพื่อสังคม เคยวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นกลางไว้มากแค่ไหน

พระไพศาล : สมัยก่อนเราสามัคคีกันจะตาย (หัวเราะ) เพราะมีศัตรูร่วมคือเผด็จการทหาร เราต่างต้องการประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่หลังจากนั้น ใกล้ๆ 6 ตุลาฯ คนชั้นกลางเริ่มไม่เอานักศึกษาแล้ว ส่วนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจาก 6 ตุลาฯ ก็ผิดหวังกับคนชั้นกลางเช่นกัน เพราะเห็นด้วยกับการสังหารโหดในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตอนนั้นคนชั้นกลางได้รับอิทธิพลของฝ่ายขวา แต่ในที่สุด คนชั้นกลางเหล่านี้ก็เห็นผลพวงที่ตามมา เผด็จการที่ตามมาหลังจากปี 2519 แย่มาก จึงต้องมีการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง โดย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พยายามทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม เช่น มีการเลือกตั้ง แต่พอทหารขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งสมัยพลเอกสุจินดา คนชั้นกลางก็กลายเป็นพระเอกเพราะประท้วงพลเอกสุจินดาจนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 ตอนนั้นเรามีความเชื่อว่าคนชั้นกลางจะเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย แต่พอตอนนี้ คนชั้นกลางต้องแบ่งอำนาจให้กับชาวบ้านมากขึ้น เพื่อให้เขามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศอย่างเท่าเทียมกับเรา คนชั้นกลางคงทำใจได้ยาก โดยเฉพาะถ้าชาวบ้านสนับสนุนคนอย่างคุณทักษิณ หรือนักการเมืองที่ถูกมองว่าคอร์รัปชั่น แต่ที่พูดมานี่ อาตมาพูดอย่างเหมารวมกว้างๆ นะ เพราะในความจริง ในรายละเอียดแต่ละคน มีคนชั้นกลางในเมืองที่สนับสนุนคุณทักษิณ สนับสนุนคนเสื้อแดงก็เยอะ

GM : ในปัจจุบัน ท่านมองอย่างไรกับชนชั้นกลาง คิดว่าพวกเขาไร้สาระ ดัดจริตไหม

พระไพศาล : ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าคนชั้นกลางบ้านเราอิงกับอำนาจมาตลอด เติบใหญ่ได้ดีเพราะเผด็จการ การทำมาหากินก็อาศัย

เส้นสาย เมื่อเทียบกับคนชั้นกลางในพม่า ศรีลังกา หรือเวียดนาม คนชั้นกลางของเราไม่ได้ผ่านการต่อสู้กับชนชั้นนำหรือผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริงเหมือนคนในประเทศเหล่านั้น ที่พวกเขาต้องสู้กับเจ้าอาณานิคมมาอย่างหนักหน่วง คนชั้นกลางไทยอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์มานาน แง่หนึ่งต้องการได้รับการอุปถัมภ์จากเบื้องบน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ต้องการให้มีคนอยู่เบื้องล่างหรือเป็นเบี้ยล่างตนเองด้วย ไม่ต้องการให้เขาขึ้นมาเท่าเทียมกับตน

นี่เป็นปัญหาของคนชั้นกลางไทยที่ยังแก้ไม่หาย

GM : จะทำอย่างไรให้ชนชั้นกลางเลิกกลัวชนชั้นล่าง

พระไพศาล : ความกลัวเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย คนชั้นกลางกลัวชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็กลัวคนชั้นกลางเหมือนกัน ตอน 6 ตุลาฯ คนชั้นกลางเห็นว่านักศึกษาชุมนุมประท้วงในธรรมศาสตร์เป็นพวกคอมมิวนิสต์ ไม่มีความจงรักภักดี ถ้าสร้างภาพแบบนี้ขึ้นมา ความกลัวก็เกิดขึ้น ความรุนแรงก็ตามมาได้ง่าย ถ้ายุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เน้นการเผชิญหน้ากันแบบที่ผ่านมา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องเจอแรงต่อต้านจากคนชั้นกลางในเมืองแบบนี้ คือโกรธ เกลียด และกลัว ต่างจากการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน ในแง่หนึ่งสมัชชาคนจนก็เป็นที่รังเกียจของคนชั้นกลางอยู่แล้วใช่ไหม เพราะเขาจน และทำให้จราจรติดขัด แต่สมัชชาคนจนไม่ใช้ยุทธวิธีคุกคามความรู้สึกของคนชั้นกลาง เขาใช้วิธีเช่นการอดข้าวหน้าทำเนียบฯ แต่ก็มีบางยุทธวิธีที่ทำแล้วเกิดปัญหา เช่นการปีนเข้าไปในทำเนียบฯ ปรากฏว่าได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนชั้นกลางอย่างมาก ทั้งๆ ที่การปีนกำแพงนั้นอาจเป็นการปีนแบบสันติวิธีก็ได้

GM : เพราะชนชั้นกลางถือว่ากำแพงคืออาณาเขตการครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคล

พระไพศาล : ใช่ ดังนั้น การเคลื่อนไหวที่จะได้รับการสนับสนุนจากคนทั่วไป จึงต้องใช้วิธีที่ไม่คุกคามความรู้สึกฝ่ายตรงข้าม แต่ที่ผ่านมา การชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำให้เกิดภาพในความรับรู้ของคนชั้นกลางและในสื่อเอง ก็คือพวกเสื้อแดงนิยมความรุนแรง ทำให้คนชั้นกลางหวาดกลัวการที่แกนนำจะตรึงคนจำนวนมากๆ ให้อยู่ร่วมกัน เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น บ่อยครั้งก็ต้องใช้วิธีกระตุ้นให้เกิดความโกรธเกลียดและกลัว หรือสร้างศัตรูร่วมขึ้นมา นี่เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไป นอกจากนั้นบางครั้งก็ต้องมีการขู่เพื่อมิให้อีกฝ่ายใช้ความรุนแรงกับตน เช่น พูดขู่ว่าถ้าถูกปราบปรามจะเผาเมือง การพูดเช่นนี้ก็ทำให้พวกเสื้อแดงดูน่ากลัว ในขณะที่ทหารก็ออกมาบอกว่า ถ้าไม่ชอบก็ให้ไปอยู่ประเทศอื่น นี่ก็เป็นการขู่ให้กลัว แสดงให้เห็นถึงการผูกขาดความรักชาติ เราต้องระมัดระวังการพูดให้มากขึ้น อย่าไปคิดว่าคนที่คิดต่างจากตัวเป็นคนไม่รักชาติ เขาก็รักชาติไม่น้อยกว่าเรา

GM : จะถอนความกลัวออกจากใจได้อย่างไร ความกลัวดูเหมือนว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัยไปแล้ว อย่างในอเมริกา ก็มีคนพูดเรื่อง Culture of Fear ที่รัฐบาลได้สร้างความหวาดกลัวต่อลัทธิการก่อการร้ายให้กับชาวอเมริกัน แล้วก็ออกกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงในประเทศขึ้นมามากมาย

พระไพศาล : นี่คืออันตรายของความกลัว ความกลัวจะปรุงแต่งเหตุผลและความคิดในใจเรา ทำให้เกิดความกลัวมากขึ้น จะว่าคนเราไม่มีเหตุผล

ก็ไม่ได้นะ เราต่างก็มีเหตุผลของเรา แต่ถ้าเหตุผลนั้นมีความกลัวเป็นพื้นฐาน หรือถูกปรุงแต่งด้วยความกลัว ทำให้ยิ่งกลัวหนักขึ้น หากคนเราอยู่ภายใต้การครอบงำของความกลัว เรียกว่ามีภยาคติ ก็จะเกิดโทสาคติตามมา คือความโกรธ ถ้าย้อนไปดูว่าภยาคติเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ก็พบว่ามีอคติอีกตัวหนึ่ง คือโมหาคติ คือความหลง ความหลงเกิดจากการไม่รู้จักอีกฝ่ายเพียงพอ หรือเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น เห็นเขาเป็นตัวเลวร้าย ก็ยิ่งทำให้เราเกลียดกลัวเขา ยิ่งทุกวันนี้เราเห็นแต่ละคนผ่านยี่ห้อที่แปะให้กัน หรือผ่านสีเสื้อ ไม่ได้มองว่าเขาเป็นคน สมัยก่อนก็มองว่าเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง นายทุนบ้าง ถ้าเรามองซึ่งกันและกันแบบนี้ จะไม่เห็นความเป็นคนของเขา จะมีแต่ความเกลียดกลัวและระแวง

GM : ที่ผ่านมา เราเคยชินกับการตัดสินคนด้วยเสื้อผ้าแบรนด์เนมนาฬิการาคาแพง รถหรูๆ มาโดยตลอดอยู่แล้ว

พระไพศาล : การตัดสินคนด้วยสีเสื้ออย่างทุกวันนี้น่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะสินค้าแบรนด์เนมทำให้เรามองว่าเขาดูดีเกินจริง แต่สีเสื้อทำให้เรา

มองเขาเลวลง มองแบบกดลง ดูถูกเหยียดหยาม เช่น มองว่าเป็นชาวบ้านที่ถูกหลอกมาบ้าง ไม่จงรักภักดีบ้าง หรือเป็นสลิ่มที่โง่งมงายบ้าง

GM : ทำไมความโง่ ความฉลาด ถึงเป็นสาระสำคัญที่เรายึดถือกันมากเหลือเกิน

พระไพศาล : ก็เพราะเราต่างคิดว่าเราพบคำตอบแล้ว พบสัจธรรมแล้ว ส่วนอีกฝ่ายยังไม่พบ จึงโง่กว่าเรา ถ้าเรายอมรับว่าโง่ หรือสงสัยว่าโง่ แสดงว่า

ที่ผ่านมาเราอาจจะผิดก็ได้ แล้วใครล่ะ จะยอมรับว่าตัวเองผิด เราถลำลึกมาถึงขั้นนี้ เราทะเลาะกับเมีย ทะเลาะกับผัว ทะเลาะกับพ่อแม่ ทะเลาะกับเพื่อนๆ แค่เรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดงอย่างเอาเป็นเอาตาย แล้วมาวันหนึ่ง คุณพบว่าตัวเองผิดพลาดไป คุณกล้าพูดไหม ว่าผมขอโทษครับ ที่ผ่านมาผมผิดมาตลอดเลย คนส่วนใหญ่ไม่ยอมหรอก เพราะที่ผ่านมาเราทำอะไรไม่ดีต่อกันไว้เยอะแยะ ความรู้สึกคงเหมือนกับนักศึกษาตอนออกมาจากป่า ความเชื่อ อุดมการณ์ การต่อสู้ที่ผ่านมา ที่ใช้ก่อสร้างตัวตนของตน มันพังครืนหมด เสียศูนย์กันหมด หลายคนทำใจได้ยากที่จะยอมรับว่าตัวเองผิดพลาด ตอนนี้ถึงแม้ตัวเราไม่ได้เข้าป่า แต่ใจของเราทุกคนเหมือนอยู่ในป่าของตัวเอง ยังไม่ยอมออกจากป่า ยังอยู่ในค่ายของตัวเอง อาตมาเชื่อว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า หลายคนเมื่อมองย้อนกลับมา ก็จะรู้สึกเสียใจในสิ่งที่ได้ทำไปในช่วง 1-2 ปีนี้ ตอนนี้ยังเหมือนเมาหมัด อาละวาด ทะเลาะกับผู้คนไปทั่ว เราไม่ได้อยากจะอวดฉลาดกันหรอก แต่เราหลงคิดว่าเราเป็นฝ่ายถูก เป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ประสบการณ์เท่านั้นที่จะสอนให้รู้ว่าเราเคยผิดพลาด เคยโง่อย่างไรบ้างคนเราผิดพลาดกันได้ แต่เมื่อรู้ว่าผิดพลาดก็ไม่ควรดื้อรั้นผิดพลาดต่อไป หรือสวิงไปในทางตรงข้าม เรากลับมาตั้งหลักใหม่ได้ สมมุติคุณทำงานล้มเหลว ก็เริ่มใหม่ ทำใหม่ ไม่ใช่กลัวล้มเหลวก็เลยวางมือ ทิ้งงานไปเลย ไม่เอาแล้ว

GM : สมัยนั้น ท่านอ่านหนังสือเล่มไหน หรือสนใจปรัชญาสำนักใด ที่ช่วยให้ท่านเลือกที่จะเป็นกลาง

พระไพศาล : เรียกว่าเป็นกลางก็คงไม่ถูกนัก น่าจะเรียกว่าอยู่บนทางเลือกที่ 3 มากกว่า สมัยหลัง 14 ตุลาฯ อาตมาก็เคยเป็นซ้ายอยู่พักหนึ่ง ซ้ายแบบจีนแดง เป็นเหมาอิสต์ วีรบุรุษของอาตมาคือ เช กูวารา เชื่อในเรื่องการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ ในความคิดของอาตมาตอนนั้น ปัญหาทั้งหมดทั้งปวงของประเทศเรา มีสาเหตุมาจากจักรวรรดินิยมอเมริกัน กลัวผีอเมริกัน (หัวเราะ) ปัญหาทุกอย่างโยงไปที่อเมริกันหมดเลย ตั้งแต่เรื่องการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม อเมริกันเป็นตัวการทั้งนั้น มันเป็นตัวเลวร้าย ต้องขับไล่มัน ต้องปฏิวัติแบบเหมาหรือเชแต่ต่อมา ก็เริ่มตั้งคำถามกับขบวนการฝ่ายซ้าย เพราะรู้สึกว่ามีหลายอย่างที่ทะแม่งๆ เป็นธรรมดาของคนซึ่งพอติดยึดในอุดมการณ์แล้ว ก็ทะเลาะกับคนอื่นหรือทะเลาะกันเอง เหมือนอย่างในแวดวงเสื้อเหลืองเสื้อแดงทุกวันนี้ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าฉันถูก แกผิด สมัยนั้นอาตมาได้เห็นอะไรหลายอย่าง หลายคนที่บอกว่าทำเพื่อมวลชนๆ แต่เห็นแก่ตัวก็มี หรือไม่มีสำนึกทางมนุษยธรรมก็มี ทำให้ตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราเชื่อมั่นนั้นใช่คำตอบที่แท้จริงไหม ต่อมาก็เริ่มหันมาสนใจสันติวิธี เพราะเห็นว่าไม่ใช่วิธีการหน่อมแน้มอย่างที่เข้าใจ แต่สามารถนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สันติวิธีไม่ได้หมายถึงการอยู่เฉยๆ เป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง แต่เป็นการต่อสู้โดยอาศัยฐานความคิดเรื่องอำนาจคนละฐาน ไม่ใช่แบบเหมาที่ว่าอำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืน แต่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่าอำนาจเกิดจากการยอมรับ ถ้าไม่ได้รับการยอมรับ คนนั้นก็จะไม่มีอำนาจ ถ้าพลทหารไม่ยอมรับนายพล นายพลก็ไม่มีอำนาจ สันติวิธีเป็นการต่อสู้เพื่อถอนการยอมรับ ซึ่งทำให้รัฐบาลพังมานักต่อนักแล้วตอนหลังๆ อาตมาได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนา เห็นว่าพระพุทธ-ศาสนาไม่ได้สอนเพื่อเรื่องส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่สอนถึงสังคมอุดมคติได้ด้วย เลยเกิดทางเลือกที่ 3 ขึ้นมา รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากท่านติช นัท ฮันห์ ท่านเป็นคนแรกๆ ที่เป็นผู้นำทางเลือกที่ 3 ในเวียดนาม คือ ไม่ใช่ซ้าย ไม่ใช่ขวา มหาตมะ คานธี ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนที่ต่อสู้ด้วยการนำเสนอทางเลือกที่ 3 คือไม่ยอมจำนน และไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้สันติวิธีเพื่อให้อินเดียเป็นเอกราชจากอังกฤษ อิทธิพลของท่านเหล่านี้ ทำให้หันมาเดินทางนี้

GM : อยากให้ท่านเล่ารายละเอียด ในจังหวะที่ท่านเริ่มตั้งคำถามกับสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ กับแนวทางของนักศึกษาคนอื่น ท่านมีจุดเริ่มต้นอย่างไร

พระไพศาล : จากสิ่งที่ได้เห็นด้วยตัวเอง และจากการได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้นำขบวนการนักศึกษาที่เป็นรุ่นพี่ เช่น คุณประชา หุตานุวัตร ซึ่งเป็นรุ่นพี่ยุวชนสยาม ต่อมาก็ไปเป็นผู้นำนักศึกษาฝ่ายซ้าย แกมีความเชื่อในลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ค้นพบว่า อุดมการณ์นี้ไม่ใช่คำตอบ แกตั้งคำถามกับผู้นำ รวมทั้งวิธีคิดของคนในขบวนการฝ่ายซ้ายหลายอย่าง ตอนหลังก็หันมาสนใจพุทธศาสนา และบวชเป็นพระนานกว่าสิบปี ถือว่าแกมีอิทธิพลกับความคิดความอ่านของอาตมาอย่างมากในช่วงนั้นรวมถึงผลงานของอาจารย์สุลักษณ์ ที่ใกล้ชิดกับผู้นำนักศึกษา อาจารย์สุลักษณ์เขียนบทความชิ้นหนึ่ง พูดถึงชีวิตและผลงานของ จอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งเขียนเรื่อง Animal Farm เขาตั้งคำถามกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในยุโรป ออร์เวลล์เคยไปร่วมรบในสงครามกลางเมืองของสเปน ระหว่างพวกฟาสซิสม์กับคอมมิวนิสต์ แล้วก็เห็นความหน้าไหว้หลังหลอกของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่นั่น เขาเป็นปัญญาชนอิสระที่อยู่บนทางเลือกที่ 3 แต่เขาไม่มีขบวนการของตัวเองนะ เพียงแต่เขาไม่เห็นด้วยกับทุนนิยม ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าคอมมิวนิสต์แบบรัสเซียไม่ใช่คำตอบ งานเขียนของคนอย่าง จอร์จ ออร์เวลล์ ทำให้อาตมาตั้งคำถามเรื่องของแนวทางสังคม ว่าสังคมที่ดีคืออะไร ใช้วิธีการอย่างไร ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสรุปเรื่องสันติวิธีและสังคมนิยมที่มนุษย์มีความเมตตากรุณาต่อกัน ไม่ใช่สังคมนิยมที่อาศัยการกระตุ้นทางชนชั้นเป็นแรงขับเคลื่อน

GM : จะทำอย่างไร เราถึงจะได้ฉุกคิดขึ้นมาแบบท่านบ้าง

พระไพศาล : คนเราถ้าจริงใจกับความเชื่อและอุดมการณ์ของตัวเอง เขาย่อมอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับความเชื่อนั้นๆ ถ้าจริงใจนะ สักวันหนึ่งคุณต้องสงสัย หรือเอะใจขึ้นมา ว่าที่เราทำไปนั้น ทำเพื่ออุดมการณ์ อุดมคติ หรือทำเพื่อตัวเองกันแน่ เช่น เชื่อในอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่เวลาเจอใครที่คิดไม่เหมือนฉัน ทำไมฉันต้องไปด่าเขา ในเมื่อประชาธิปไตยคือการเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นอย่างอิสรเสรี ถ้าคุณเอะใจแบบนี้ขึ้นมา

บ้าง ก็จะพบเหมือนกับที่อาตมาพบ ว่าบ่อยครั้งเลย ที่ไปๆ มาๆ เราทำเพื่อตอบสนองตัวตนของตัวเอง มากกว่าทำเพื่ออุดมการณ์จริงๆ คนที่เชื่อในสถาบันกษัตริย์ ถ้าจริงใจกับสถาบันกษัตริย์ เขาก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าที่ฉันไปกล่าวหาคนที่คิดไม่เหมือนฉันว่า เป็นพวกไม่จงรักภักดี ตกลงฉันทำเพื่อตัวเองหรือทำเพื่อสถาบันกันแน่ ถ้าฉันมั่นใจในความดีของสถาบันเอง ทำไมจึงหวั่นไหวเมื่อคนอื่นเห็นต่างจากฉันอย่างที่มีคนพูดว่า เป็นคาทอลิกมากกว่าโป๊ป คนเหล่านี้ลึกๆ ไม่ได้ทำเพื่อโป๊ป แต่ทำเพื่อตัวเอง โดยที่เขาเองอาจจะไม่รู้ตัว มีบางคนที่ทำเพราะต้องการการยอมรับ ในขบวนการคอมมิวนิสต์สมัยนั้น มีคนจำนวนไม่น้อยต้องแสดงความเป็นคอมมิวนิสต์ให้มาก เคร่งครัดในลัทธิและวินัยอย่างสุดโต่งเพื่อให้ได้การยอมรับจากเพื่อนร่วมขบวนการในป่า เราจะได้ฟังเรื่องราวของคนที่ต้องแดงเข้าไว้ ต้องเคร่งให้มากๆ เพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับ คอมมิวนิสต์ในยุคสตาลินยุคเหมามีคนพวกนี้เยอะ เรียกว่าแดงยิ่งกว่า คาร์ล มาร์กซ์ เสียอีก นี่เป็นวิธีการที่ทำให้พวกนี้ไต่เต้าเป็นใหญ่เป็นโตในขบวนการแม้แต่เรื่องศาสนาก็เช่นกัน ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยมีความคิดว่าต้องเคร่งวินัย เคร่งศีลเข้าไว้ จะได้เป็นที่ยอมรับหรือยกย่องว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม เสร็จแล้วก็มาอวดกันว่าฉันถือศีลมากกว่าคนอื่น แบบนี้เรียกว่าติดดี ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำเพื่อพระธรรมคำสอน เพื่อสิ่งดีงามที่ตนนับถือ แต่เพื่อตัวเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เป็นแบบนี้กันในทุกขบวนการที่มีอุดมการณ์เป็นเครื่องยึดถือ

GM : เวลาเจอใครที่พูดคำใหญ่ๆ อ้างธรรมะบ้าง อ้างอุดมการณ์บ้าง ผมรู้สึกว่าคนพวกนี้น่ากลัว

พระไพศาล : คำใหญ่ๆ พวกนี้ทำให้ตัวคนพูดดูดี อาตมาคิดว่าการตั้งคำถามกับตัวเองจะเกิดขึ้นได้ บางทีเราต้องอาศัยกัลยาณมิตร ไม่อย่างนั้นจะหลงเมาอุดมการณ์โดยไม่รู้ตัว กัลยาณมิตรสำคัญมากในการคอยเตือน คอยชี้แนะ กัลยาณมิตรไม่จำเป็นต้องเป็นคนในขบวนการเดียวกัน เป็นคนนอกขบวนการกันก็ได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การไม่ปฏิเสธตัวเอง อาตมาเห็นด้วยกับบทความของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ที่บอกว่าคนเรามีทั้ง 2 สีอยู่ในตัว คือมีทั้งสีเหลืองสีแดง เราไม่ชอบคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกันก็ไม่ชอบเผด็จการ ทันทีที่บอกว่าฉันเป็นสีเหลือง เรามีแนวโน้มที่จะปฏิเสธความเป็นสีแดงในตัว ทันทีที่ประกาศตัวว่าฉันเป็นสีแดง เราก็จะปฏิเสธความเป็นเหลืองในตัวเรา เราจะกดข่มมันเอาไว้ ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์น้อยลงไปทุกที ไม่ว่าจะเป็น พุทธ-คริสต์ ขวา-ซ้าย เหลือง-แดง อำมาตย์-ไพร่ ก่อนที่เราจะเป็นอะไรพวกนี้ เราเป็นมนุษย์ และความเป็นมนุษย์สำคัญกว่าอะไรทั้งหมดที่กล่าว เมื่อยึดถืออุดมการณ์อะไรก็ตาม เราก็ควรรักษาความเป็นมนุษย์เอาไว้ และพยายามมองเห็นคนอื่นให้เป็นมนุษย์ด้วยอาตมาเคยเขียนบทความเรื่องหนึ่งชื่อว่า ‘ออกจากกรงที่ขังตนเอง’ ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกยุคโลกาภิวัตน์ ก็คือการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างท่วมท้น ซึ่งทำให้คนมีแนวโน้มที่จะมีความคิดสุดโต่งมากขึ้น การมีข้อมูลข่าวสารเยอะขึ้น แทนที่จะช่วยให้คนมีความรู้มากขึ้น หูตากว้างขึ้น กลับกลายเป็นว่าคนมีความคิดที่สุดโต่งมากขึ้น ทำไมล่ะ? ก็เพราะพอมีข้อมูลมากขึ้น เราไม่สามารถตามอ่านตามดูทุกเรื่องได้ ก็ต้องมีการเลือกสรรข้อมูล และส่วนใหญ่ผู้คนก็เลือกข้อมูลที่ถูกใจ ที่สอดคล้องกับความเชื่อ เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีช่วยป้อนข้อมูลที่ถูกใจเราได้ตลอดเวลา คุณสังเกตไหม เวลาเข้าเว็บไซต์อะเมซอน ถ้าเราเลือกหนังสือแนวใดบ่อยๆ เว็บไซต์มันจะรู้โดยอัตโนมัติ และเดาได้เลยว่าเราจะชอบหนังสือเล่มไหนอีก มันจะนำเสนอหนังสือเล่มที่เราชอบหรืออยู่ในความสนใจของเรา กูเกิลก็เช่นกัน ถ้าเราอยู่คนละประเทศ ถึงจะกดเสิร์ชคำเดียวกัน ทั้งๆ ที่กดในเวลาเดียวกัน ผลการค้นหาก็ออกมาแตกต่างกัน เพราะกูเกิลมันฉลาด มันจะให้ผลที่ตรงกับความสนใจของเรา ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องดีเพราะช่วยทุ่นเวลา แต่ในแง่หนึ่งมันก็ตีกรอบการรับรู้เรา ในเฟซบุ๊คก็เหมือนกัน คนที่คิดเหมือนคุณ ที่โต้ตอบกันบ่อยๆ มันจะดันชื่อให้ขึ้นมาอยู่บนๆ ส่วนคนที่ไม่ค่อยสนใจติดต่อด้วย มันก็จะดันไปไว้ท้ายๆ และคนเหล่านั้นใช่ไหมล่ะ ที่เป็นคนที่คิดต่างจากคุณ คำถามคือเราจะหลุดจากกรงขังนี้ไปได้อย่างไร เมื่อเทคโนโลยีมันตีกรอบเรามากมายขนาดนี้ ตอนนี้ทุกคนกำลังมีสิ่งที่เรียกว่า Auto Propaganda คือโฆษณาฝังหัวตัวเอง

GM : ท่านเคยไปช่วยเตือนเพื่อนคนไหนบ้าง

พระไพศาล : ก็มีนะ ต้องอยู่ที่วิธีการด้วย ต้องรอจังหวะ รอโอกาส รอเวลา ไม่ใช่อยากจะเตือนก็เตือนไปเลย ต้องดูว่าเขาพร้อมไหม เขาอยู่กับใครหรือเปล่า เรื่องแบบนี้ถ้าเราไปเตือนต่อหน้าผู้คนหรือธารกำนัลก็ไม่เหมาะ เราต้องช่วยรักษาหน้าเขาด้วย ต้องพูดหรือทำเป็นการส่วนตัว เรื่องเสียหน้า หรือเรื่องตัวตน มีความสำคัญมาก สาเหตุที่เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันมากมายทุกวันนี้ ก็เพราะเรื่องแบบนี้แหละ คนไทยทะเลาะกัน ส่วนหนึ่งก็เกิดจากอัตตารวมหมู่ ไม่ใช่อัตตาเฉพาะคน มันเป็นอัตตาที่ซับซ้อน อิงอุดมการณ์หรือผลประโยชน์ ในทางพุทธศาสนาก็สอนไว้ ว่ามีเหตุปัจจัย 3 ประการที่ทำให้คนเราทะเลาะกัน คือ ตัณหา มานะ และทิฐิ ตัณหาคือความยึดติดในผลประโยชน์ มานะก็คือความถือตัว ความรู้สึกว่ากูแน่ส่วนทิฐิคือการยึดติดในความเชื่อหรืออุดมการณ์ เรื่องพวกนี้สัมพันธ์กับอัตตาแทบทั้งนั้น ถ้าเป็นในระดับกลุ่ม มันจะยิ่งทวีความซับซ้อน

GM : คนเราควรรวมหมู่กันทางความเชื่อ เพื่อให้มีพลัง หรือคนเราควรเป็นปัจเจกที่จะเลือกเชื่อตัวใครตัวมัน

พระไพศาล : ต้องมีทั้ง 2 อย่าง เพื่อให้เกิดความให้สมดุล ดูอย่างคณะสงฆ์ จะเห็นว่าพระต้องอยู่กันเป็นสังฆะ ในเวลาปกติต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม แต่ก็ต้องมีเวลาที่เราจะหลีกเร้น การอยู่เป็นกลุ่มทำให้เรามีกัลยาณมิตร ขณะเดียวกัน เราก็ต้องรักษาความมีอิสรเสรีของตนเอาไว้ให้ได้ เพราะถ้าไม่สามารถรักษาไว้ได้ เราจะกลายเป็นเหมือนกับมดหรือปลวก ที่ไม่มีเจตจำนงเสรี คนเราควรเปรียบเหมือนกับน้ำ ทรวดทรงของน้ำก็ขึ้นอยู่กับภาชนะ แต่ในด้านหนึ่ง น้ำก็มีความเป็นตัวของตัวเอง คืออยู่ที่ไหนก็ยังเป็นน้ำอยู่นั่นแหละ และมันก็มีพลังในแบบของมันเอง สามารถบ่มเพาะและทะลุทะลวงได้ คนเราก็เช่นกัน เมื่ออยู่ที่ไหน ก็ถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อม โดยบริบท ขณะเดียวกันเราก็ควรเป็นตัวของตัวเองด้วย

GM : เมื่อท่านเลือกเส้นทางสันติวิธี ท่านยังมีอะไรให้ยึดถืออยู่อีก ความดี ความจริง ความงาม ของท่านคืออะไร

พระไพศาล : เราต้องมีความยึดมั่นอยู่บ้าง เช่นเรื่องความเป็นธรรม ความถูกต้องในสังคม ถ้ามีการต่อสู้กันระหว่างความเป็นธรรมกับไม่เป็นธรรม แน่นอนว่าเราขอยืนอยู่ข้างที่เป็นธรรม หรือถ้าเป็นการต่อสู้ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย โดยส่วนตัวของอาตมา ก็ต้องอยู่กับฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตย แต่ในการต่อสู้ขับเคี่ยวกัน บางทีสองฝ่ายก็ไม่ถูกต้องทั้งคู่ก็ได้ เหมือนกับพรรค ก. กับพรรค ข. ทะเลาะกัน หลายคนไม่เชียร์พรรคใดพรรคหนึ่งเพราะเห็นว่าแย่ทั้งคู่ ดังนั้น ความเป็นกลางหรือความไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจึงเกิดขึ้นได้

GM : การทำงานกิจกรรมสังคมของท่าน โดยไม่ได้เข้าป่าไป แต่อยู่ในเมือง ทำงานใน ‘กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม’ ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ควรให้คนในยุคนี้ได้นำมาปรับใช้หรือไม่

พระไพศาล : แล้วแต่นะ เพียงแต่อาตมาไม่เชื่อในการใช้กำลังและอาวุธ ไม่ว่าโดยฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา แต่ว่าไม่อยากอยู่เฉยๆ จึงพยายามทำงานตามจุดยืนของตัว คือช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือคนที่ถูกจับโดยไม่มีหลักฐาน แต่โดนข้อหาภัยสังคม หรือพวกที่ถูกจับกรณี 6 ตุลาฯ พวกเราทำงานรณรงค์จนกระทั่งมีการนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาฯ และก็ยกเลิกกฎหมายภัยสังคม จะว่าไปแล้ว กฎหมายภัยสังคมสมัยนั้น เลวร้ายยิ่งกว่ามาตรา 112 ในทุกวันนี้อีกนะ เจ้าหน้าที่สามารถจับคนเข้าคุกได้โดยไม่ต้องมีข้อหา ไม่ต้องขึ้นศาล ขังอย่างไม่มีกำหนด เป็นกฎหมายที่เลวร้ายจนกระทั่งว่า ในที่สุดก็ต้องเลิก เพราะผิดหลักนิติธรรมทุกประการ อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

GM : สำหรับในยุคนี้ ยังมีประเด็นทางสังคมอะไรให้คนหนุ่มสาวอย่างพวกเราได้ต่อสู้อีก

พระไพศาล : มีเยอะแยะมากเลยนะ ถ้าเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้างสังคม เช่นการทำลายสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษาที่เสื่อมถอย การรวมศูนย์อำนาจที่กระจุกอยู่กับรัฐ อยู่กับระบบราชการ

เหล่านี้เป็นประเด็นที่คณะกรรมการปฏิรูป เสนอให้มีการปฏิรูป เรามีข้อเสนอมากมาย เช่นปฏิรูปเกษตรกรรม แรงงาน การศึกษา ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ถ้าเราต้องการนำพาบ้านเมืองไปสู่เส้นทางที่มีอนาคต ต้องมีการปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปเชิงอำนาจ ที่กระจายอำนาจจากรัฐมาสู่ท้องถิ่น และจากชนชั้นนำไปสู่ชาวบ้าน แต่ตอนนี้ไม่มีใครสนใจเพราะว่าส่วนใหญ่สนใจแต่เรื่องเฉพาะหน้าเท่านั้นเอง หนีไม่พ้นเรื่องคุณทักษิณกับกลุ่มอำนาจเก่า เรื่องแบบนี้ดึงความสนใจและพลังงานจากคนไปได้มาก ที่ผ่านมาบังเอิญมีเรื่องน้ำท่วมเข้ามาขัดจังหวะ พอเข้าสู่ภาวะปกติคนก็หันมาสนใจเรื่องเดิมกันต่อ คือเรื่องความขัดแย้งระหว่างคุณทักษิณกับอำมาตย์ โดยมีการเปลี่ยนประเด็นไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมาวิธีแก้ปัญหาก็คือการเกี้ยเซี้ยระหว่างชนชั้นนำ อาตมาเชื่อว่าตอนนี้เขาก็ยังทำกันอยู่ แต่สมัยนี้มันไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว จะให้ชนชั้นนำมาจูบปากกัน กอดกัน อย่างในภาพโฆษณาของ Benetton ก็ไม่ได้ เพราะมวลชนของทั้งสองฝ่ายคงไม่ยอมรับง่ายๆ

GM : งานของท่านดูเหมือนมี 2 ด้านพร้อมๆ กัน คือ หนึ่ง, การทำงานในระดับระบบโครงสร้าง เช่นคณะกรรมการปฏิรูปฯ และสอง, การทำงานบรรยายธรรมะ เขียนหนังสือ เพื่อสอนคนในระดับปัจเจก ท่านคิดว่าเรื่องไหนสำคัญกว่ากัน และงานแต่ละด้านควรดำเนินการอย่างไร

พระไพศาล : ก็ต้องไปด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นทั้งระดับโครงสร้างและระดับจิตสำนึก ถ้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแต่จิตสำนึกไม่เปลี่ยน ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ดูอย่างบ้านเรามีรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับแล้วก็ตาม แต่ก็มีปัญหาเดิมๆ เราจะควบคุมและป้องกันไม่ให้นักการเมืองคอร์รัปชั่นได้อย่างไร เราพยายามสร้างกลไกต่างๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อควบคุมป้องกันนักการเมือง มีการตั้งองค์กรอิสระ มีการตรวจสอบทรัพย์สิน จนถึงขั้นเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองได้ แต่ในที่สุด การคอร์รัปชั่นก็ยังมีอยู่ต่อไป แถมหนักกว่าเดิมด้วย แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง การเปลี่ยนแปลงกติกา ระเบียบ เท่านั้นไม่พอ เราต้องเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกโดยไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะโครงสร้างทุกวันนี้มีปัญหามาก บั่นทอนจิตสำนึกที่ดีงาม จิตสำนึกสัมพันธ์กับโครงสร้าง เช่น ถ้าเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การที่คนให้จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน มันก็ยากใช่ไหม เพราะระบบแบบนี้มันเอื้อให้คนเห็นแก่ตัวอาตมาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แยกไม่ออกจากมิติทางด้านจิตวิญญาณ เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เห็นได้ชัดเลย ไม่ว่าจะออกกฎระเบียบอะไรมา แต่ถ้าจิตสำนึกของคนที่มีต่อธรรมชาติยังไม่เปลี่ยน การทำลายธรรมชาติก็ยังคงมีอยู่ต่อไป แน่นอนว่าเราต้องมีกติกาใหม่ๆ ออกมา มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม มีภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ ก็อาจช่วยลดการทำลายธรรมชาติได้ แต่ว่ามันจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ถ้าหากจิตสำนึกของผู้คนยังไม่เปลี่ยน

GM : บางคนอาจจะเชื่อว่าระบบสำคัญกว่าปัจเจก ถ้าเรามีระบบที่ถูกต้อง และยึดถือร่วมกันไปเรื่อยๆ เราแต่ละคนก็จะดีขึ้นได้เอง

พระไพศาล : เป็นมุมมองที่น่าสนใจ อย่างข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เรื่องหลักนิติธรรม ส่งเสริมประชาธิปไตย ความเป็นธรรมในสังคม อาตมาคิดว่าจำเป็น เพราะถ้าทำตามกติกา ความขัดแย้งของคนในสังคมก็จะมีน้อยลง หรือถึงมีความขัดแย้ง เราก็อาศัยกติกานี้เข้ามาเป็นกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ การทำตามกติกาให้ดี เป็นการช่วยทำให้บ้านเมืองขัดแย้งน้อยลง สามารถคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธีได้มากขึ้น ลดเงื่อนไขแห่งความรุนแรง เมืองไทยน่าจะได้บทเรียนเรื่องนี้มาตั้งแต่ยุคที่สู้กับคอมมิวนิสต์ สาเหตุที่รัฐเป็นฝ่ายชนะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพยายามลดเงื่อนไขแห่งความรุนแรง เช่น ทำให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ความมั่นคงและเสถียรภาพของบ้านเมืองย่อมขึ้นกับประชาชนที่มีศรัทธาร่วมกันในระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา แต่สังคมตอนนี้มีแต่ความระแวง สิ่งที่คณะนิติราษฎร์เสนอมา ก็ถูกระแวงว่าเป็นการช่วยเหลือคุณทักษิณ พอระแวง ก็เลยไม่ยอมรับฟังทั้งหมด นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

GM : ในขณะที่บางคนเชื่อในปัจเจกมากกว่าระบบ จึงหันมาเชิดชูคุณธรรม ศีลธรรม โดยเพิกเฉยต่อข้อเสนอเกี่ยวกับระบบและโครงสร้าง

พระไพศาล : การต่อต้านคอร์รัปชั่น เชิดชูคุณธรรม ไม่ได้หมายความว่าเราต้องต่อต้านประชาธิปไตย หรือต้องไปเห็นด้วยกับการรัฐประหารคุณทักษิณ ถ้าเห็นว่าคุณทักษิณเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย ก็ต้องใช้วิธีการที่เป็นประชาธิปไตยในการจัดการกับเขา วิธีการกับเป้าหมายต้องสอดคล้องกัน อาตมาอยากจะยกตัวอย่าง สมัยที่จอมพล ถนอม กิตติขจร ถูกโค่นล้มเพราะการลุกฮือประท้วงของนักศึกษาและประชาชนจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีคนเสนอนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น คือ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้ใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์จอมพลถนอมเสียเลย มาตรา 17 คือกฎหมายที่ให้นายกฯ มีอำนาจตัดสินใจได้เลย นายกฯ เป็นทั้งศาลและสภา เป็นมาตราเดียวกับที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้สั่งประหารพวกที่วางเพลิง ค้ายาเสพติด โดยไม่ต้องผ่านศาล แต่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็แย้งว่ากฎหมายมาตรานี้ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย ไหนๆ เราจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาแล้ว ทำไมต้องนำเครื่องมือเผด็จการมาใช้ ดังนั้น ถ้าคุณชูธงคุณธรรมก็ไม่ควรจะรังเกียจประชาธิปไตย ถ้าชูธงประชาธิปไตยก็ไม่ควรรังเกียจคุณธรรม

GM : ทำไมคนเราต่างคาดหวังให้ตัวเองและคนอื่น ต้องเป็นอะไรที่แท้จริง หนึ่งเดียว คงที่ตลอดเวลา อย่างที่ท่านพูดไว้ตอนต้น ว่าหลายคนเป็นคาทอลิกยิ่งกว่าโป๊ป เป็นแดงยิ่งกว่ามาร์กซ์

พระไพศาล : คำว่า ‘แท้’ บางทีก็หลอกเรา เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตัวด้วย ว่าสิ่งที่เราคิดและทำ อาจจะยังไม่ดีที่สุด ยังไม่แท้ที่สุด ต้องเปิดใจรับฟัง พร้อมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ การที่จะไปสร้างความทุกข์ให้แก่คนอื่น ไปประณามเขา ไปไล่ล่าเขา ก็จะมีน้อยลง เราจะหันมาเคี่ยวกรำหรือตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเองมากขึ้น แทนที่จะไปเรียกร้องเอาจากคนอื่น

GM : การพยายามนำตัวเองเข้าไปสู่ความจริงแท้บางอย่าง ถือว่าเป็นมิตรกับตัวเองหรือไม่

พระไพศาล : การพยายามเข้าถึงความจริงแท้ เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเรายึดติดถือมั่นว่าความเชื่อของเราเป็นความจริงแท้ เป็นคำตอบหนึ่งเดียว มันจะกลายเป็นโทษแก่ตัวเราเอง ทำให้อัตตาพองโตหรือกิเลสฟูฟ่องได้ง่าย กลับกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาตัวเอง ทำให้เราหลงตัวลืมตน นอกจากสร้างความทุกข์แก่ผู้อื่นแล้ว ยังสร้างความทุกข์แก่ตัวเองด้วย ทางพุทธ-ศาสนามองว่า ถ้าลุ่มหลงในอัตตา เรากำลังเบียดเบียนตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่ว่าไม่เป็นมิตรกับตัวเองเท่านั้นนะ แต่เรากำลังเบียดเบียนตัวเองเลยล่ะ พุทธ-ศาสนาสอนให้เราไม่เบียดเบียนตน และไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตนเอง หมายถึงทั้งในทางกายและทางจิตใจด้วย ซึ่งก็สัมพันธ์กับอัตตา ถ้าคนเราปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับจากผู้อื่น มันอดไม่ได้ที่จะต้องสร้างภาพ หรือพยายามสร้างการยอมรับจากผู้อื่น เท่ากับเป็นการเอาความสุขของตัวเองไปฝากไว้กับผู้อื่น ฝากไว้กับสิ่งอื่นภายนอก ทำให้ไม่เป็นอิสระ เป็นทุกข์ได้ง่าย เมื่อใดก็ตามที่เรามีความสุขได้โดยไม่ปรารถนาการยอมรับจากผู้อื่น เราก็จะเป็นอิสระ จิตปลอดโปร่ง ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งภายนอก

GM : ในเฟซบุ๊คของท่าน เวลามีคนกดไลค์เยอะๆ ความเป็นตัวของตัวเอง จะยิ่งน้อยลงตามไปด้วยหรือไม่

พระไพศาล : (หัวเราะ) ยิ่งมีคนกดไลค์ กดแชร์มากๆ ก็ง่ายมากที่จะเป็นตัวของตัวเองน้อยลง เวลาจะโพสต์อะไร ในใจก็คิดแต่ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้คนกดไลค์ กดแชร์มากๆ คนสมัยนี้เป็นแบบนี้กันใช่ไหม ถ้าวันไหนมีคนกดไลค์ กดแชร์น้อยลง ก็จะกังวลว่าวันนี้เขียนอะไรผิดไปหรือเปล่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เขาฉลาดจริงๆ เขาสร้างสิ่งที่เล่นกับส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ เมื่อก่อนตอนที่เพิ่งเริ่มมีอินเตอร์เน็ตเข้ามา คนส่วนใหญ่นึกว่ามีปัญหาแค่เว็บโป๊ แต่ตอนนี้คนหันมาเล่นกับโซเชียลเน็ตเวิร์กกันแทน ก็มีปัญหาแบบใหม่ เพราะมันพะเน้าพะนออัตตา เป็นกิเลสอีกตัวที่น่ากลัวยิ่งกว่าอีก เว็บโป๊นั้นสนองตัณหา แต่โซเชียลเน็ตเวิร์กมันสนองมานะ มานะนี่เลิกยากที่สุด ต้องเป็นพระอริยะระดับพระอรหันต์ถึงจะละมานะได้ แต่ว่าราคะนั้นง่ายกว่า เป็นพระอนาคามีก็ละราคะได้แล้ว พวกสินค้าแบรนด์เนมก็สนองมานะของคนเหมือนกัน คือให้ความรู้สึกว่าฉันเจ๋งกว่า ฉันดีกว่า เหนือกว่า อย่างวัยรุ่นชอบไปกินแมคโดนัลด์กันใช่ไหม เป็นเพราะว่ามันอร่อย คือสนองตัณหา หรือว่าเพื่อสนองมานะ เพื่อจะได้อวดใครต่อใคร ว่าฉันเป็นคนทันสมัย

GM : สมัยก่อนนักศึกษาเขาต่อสู้เพื่อสังคมกันเข้มข้นกว่านี้ใช่ไหมครับ ไม่ใช่เพียงแค่มานั่งพิมพ์ นั่งคลิก มานั่งพะเน้าพะนอตัวตนกันอยู่หน้าคีย์บอร์ด

พระไพศาล : ที่จริงคนหนุ่มสาวสมัยนี้ก็ดีนะ มีกลุ่มจิตอาสาเกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งก็เพราะอาศัยเฟซบุ๊ค เฟซบุ๊คถือว่ามีคุณประโยชน์ ตรงที่มันเป็นเครื่องมือระดมคนมาร่วมทำกิจกรรมที่มีประโยชน์หลายๆ อย่าง เช่นเมื่อวันก่อนไปที่บรรยายธรรมที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส กรุงเทพฯ ก็มีคนมาร่วมกันเยอะมาก ถามคนดูแลงานว่าเขาประชาสัมพันธ์ข่าวกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้อย่างไร เขาก็บอกว่าใช้เฟซบุ๊ค เพราะข่าวแบบนี้จะไม่มีที่ทางในสื่อกระแสหลักหรอก แต่พอมีเฟซบุ๊ค ก็ทำให้คนรู้ข่าวว่าจะจัดกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วก็มาร่วมกันเยอะจนน่าแปลกใจ

GM : คนไปร่วมงานธรรมะแบบนี้ หรือไปทำงานจิตอาสาอะไรๆ มักจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นคนชั้นกลางดัดจริต เป็นสลิ่ม

พระไพศาล : (หัวเราะ) เหมือนกับสมัยก่อนก็มีคำว่าเจ๊ก ซึ่งมีความหมายกลางๆ แต่พอใช้ไปนานๆ ก็เป็นการเหยียดหยามกัน คำว่าสลิ่มนี่ก็เหมือนกัน ก็เป็นลักษณะของการเหยียด แต่ไม่ทราบว่าเหยียดอย่างไรบ้าง อาจจะเหยียดในแง่ที่ว่าดัดจริต ไม่มีสำนึกทางประชาธิปไตย หน่อมแน้มทางการเมือง เทียบกับสมัยก่อน ขบวนการนักศึกษาเขารู้จักแสวงหาการสนับสนุนจากคนในเมือง พยายามหาแนวร่วมจากคนทั่วไป แต่บางทีก็อดไม่ได้ที่จะต่อว่าคนที่เห็นต่าง เช่นประณามว่าเป็น ‘ไดโนเสาร์เต่าพันปี’ ตอนนั้นยังไม่มีคำว่าสลิ่มนะ อาตมาเอง บางคนที่ไม่รู้จักก็กล่าวหาว่าเป็นพวกซีไอเอเลยก็มี หรือเป็นพวก ‘ปฏิปักษ์ปฏิวัติ’ เพราะเสนอแนวทางสันติวิธี ทำให้คนไม่เชื่อในการใช้กำลังอาวุธลุกขึ้นปฏิวัติ การกล่าวหาคนอื่นนั้นมีมาทุกยุคทุกสมัยถ้าคนเราใจแคบ แต่อาตมาคิดว่าคำว่าสลิ่มไม่ได้รุนแรงอะไร ไม่เหมือนกับการด่าว่าเป็นสัตว์ เป็นอะไรไปเลย นั่นแรงกว่านะ

GM : ในฐานะของพระสงฆ์ และนักเขียนสมัครเล่น ท่านมีหลักการในการทำงานอย่างไร

พระไพศาล : หลักๆ ในตอนนี้ก็คือการเตือนสติ ให้คนหันกลับมาดูใจตนเอง อย่าติดอยู่ในกับดักแห่งความโกรธเกลียด และอย่าลุ่มหลงในบริโภคนิยม ให้รู้จักแสวงหาความสุขจากภายใน ขณะเดียวกันก็พยายามเสนอทางออกทั้งระยะสั้นระยะยาวให้แก่สังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ได้ และต้องอิงกับประชาธิปไตย อาตมาพยายามเตือนให้คนอย่าสร้างความกลัว เกลียด โกรธ ให้แก่กัน ตอนนี้ Hate Speech เกิดขึ้นมาก แต่ไม่ใช่ Hate Speech ที่กระทำกับคนเฉพาะกลุ่ม แต่มุ่งเจาะจงมาที่ตัวบุคคล เดี๋ยวนี้คนสนใจเรื่องความถูกต้องน้อย แต่สนใจเรื่องความถูกใจมากกว่า แสวงหาเรียกร้องแต่สิ่งที่ถูกใจ สะใจ ดูในเฟซบุ๊คสิ มีแต่ปุ่มกด Like หรือ ‘ชอบใจ’ ที่จริงไม่ได้เสียหายอะไรหรอก เพียงแต่ความชอบใจ ความถูกใจมันยังไม่พอ ต้องมีความถูกต้องด้วย ความถูกต้องเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อใช้เหตุผลไตร่ตรอง ตอนนี้สังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เขาจะไม่ถามว่าคุณคิดอะไร แต่จะถามก่อนเลยว่าคุณฝ่ายไหน สิ่งที่คุณพูดไม่สำคัญเท่ากับว่าคุณเป็นฝ่ายไหน

GM : ในทุกวันนี้ ท่านยังมีอะไรที่ติดขัดในชีวิตพระ ยังมีปัญหา หรือมีกิเลสอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง

พระไพศาล : ก็ยังมีอยู่ครบ มีตัณหา มานะ ทิฐิ อาตมามีอยู่เยอะ รวมทั้งโลภะ โทสะ และโมหะด้วย ก็ยังมีอยู่มาก ก็ต้องฝึกฝนลดละไปเรื่อยๆ สิ่งที่ทำให้บวชได้นานจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะคิดว่าการมีชีวิตเป็นฆราวาส มีความทุกข์มากกว่าความสุข อาตมาเคยเป็นฆราวาสมาก่อน พอมาบวชเป็นพระจึงได้รู้ว่าเป็นพระนั้นมีความสุขได้ง่ายกว่าฆราวาส ความสุขของฆราวาสนั้นอิงอาศัยวัตถุหรือความสุขที่เรียกว่ากามสุข เป็นสุขประเดี๋ยวประด๋าว ต้องดิ้นรนแสวงหาอยู่เรื่อยๆ ความสุขจากเซ็กซ์ก็ประเดี๋ยวประด๋าว เสพไปนานๆ ก็เบื่อ ต้องหารสชาติใหม่ๆ หรือไม่ก็เปลี่ยนคู่ไปเลย เหมือนกับฟังเพลงใช่ไหม ฟังทีแรกก็เพราะ พอฟังหลายๆ ครั้งก็ชักเบื่อ ต้องไปหาเพลงใหม่มาฟัง หาแผ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่แผ่นเก่าก็มีเป็นร้อยเป็นพัน ก็ยังไม่หยุดหา อาตมาเห็นโทษของความสุขแบบนี้ แล้วก็ค้นพบว่า สิ่งที่จะช่วยทำให้ไม่ถูกกิเลสพัดพาไปจนต้องสึกหาลาเพศไป ก็คือการมีความสุขภายใน สุขจากสมาธิ ความสุขจากสมาธิประเสริฐกว่าความสุขจากราคะแต่ก็ยอมรับว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือตัวมานะ ความยึดติดในอัตตาตัวตน รู้สึกว่าตัวเองดี เก่ง แน่ การหลงติดในอัตตาทำให้ไม่สามารถรับฟังคำตำหนิด้วยใจที่ปกติ รวมทั้งไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง คิดว่าฉันถูก มานะละได้ยาก แต่ไม่ใช่แปลว่าละไม่ได้เลย และถึงยังละไม่ได้ ก็ทำให้ลดลงได้ ที่ผ่านมารู้สึกว่ามีความก้าวหน้าในส่วนนี้อยู่ ยอมรับฟังคำด่าคำวิจารณ์ได้มากขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้น ทุกวันนี้สามารถหัวเราะเยาะตัวเองได้มากขึ้น ยิ้มให้กับตัวเองได้ เวลาเราเสียหน้า ก็ไม่โกรธคนที่บังเอิญมารู้มาเห็นอาการน่าอับอายของเรา อาตมาก็คาดหวังว่ากิเลสเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ