fbpx

สื่อสารมวลชน…สื่อสารอะไร 5 ภาพยนตร์ปลุกพลังคนทำสื่อ

เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์

ก่อนอื่นขอพาคุณย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 18 สมัยที่ยุโรปยังมีการแบ่งฐานันดรศักดิ์ในสังคมออกเป็น 3 ชนชั้น ประกอบด้วย ฐานันดรที่ 1 ใช้เรียกกษัตริย์ ผู้ปกครอง และขุนนาง ฐานันดรที่ 2 ใช้เรียกนักบวช ส่วนฐานันดรที่ 3 ใช้เรียกประชาชนทั่วไป

โดยระหว่างการประชุมรัฐสภาวาระหนึ่ง มีนักการเมืองนาม ‘เอ็ดมันด์ เบอร์ค’ (Edmund Burke) ได้ลุกขึ้นเพื่ออภิปราย และชี้นิ้วไปทางกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ที่กำลังร่วมนั่งฟังการประชุมอยู่ว่า

“ในขณะที่พวกเราซึ่งกำลังประชุมกันอยู่ในรัฐสภาแห่งนี้ ล้วนเป็นหนึ่งในบรรดา 3 ฐานันดร บัดนี้ได้มีฐานันดรที่ 4 กำเนิดขึ้นแล้ว ซึ่งพวกเขากำลังนั่งฟังการประชุมอยู่ด้วย”

นับจากนั้นเป็นต้นมา นักหนังสือพิมพ์จึงกลายเป็นฐานันดรที่ 4 หรือ The Fourth Estate โดยเป็นกลุ่มฐานันดรพิเศษที่มีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอประเด็นทางสังคมและการเมืองต่อสาธารณะ ได้รับอภิสิทธิ์ในการเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลและ นำสิ่งที่เกิดขึ้นไปถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับรู้

ในปัจจุบันฐานันดรที่ 4 ไม่ได้หมายถึงนักหนังสือพิมพ์เพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงบุคลากรอื่นๆ ในแวดวงสื่อสารมวลชน หรือที่เรียกรวมๆ ว่า ‘นักข่าว’ จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นฐานันดรที่ 4 นั้นเกิดขึ้นในสภาอันทรงเกียรติ จึงกล่าวได้ว่าอาชีพนี้เป็นงานเชิงอุดมการณ์ที่มีความสำคัญควบคู่ทุกยุคสมัย เปรียบดั่งผู้ที่ทำหน้าที่ในการลำเลียงสายธารประวัติศาสตร์ผ่านกระดาษและปากกา

ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา เรื่องราวของสื่อมวลชนถูกหยิบยกไปสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคม สะท้อนให้เห็นการทำงานของนักสื่อสารมวลชนในการตรวจสอบสังคมเพื่อเปิดโปงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ชมตระหนักถึงศีลธรรมและจรรยาทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมผ่านการทำงานของผู้ที่ถูกเรียกว่าฐานันดรที่ 4

เนื่องจากทุกวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันนักข่าวไทย หรือ ‘วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ’ เราจึงอยากหยิบจับเรื่องราวการทำงานของสื่อมวลชนที่เคยสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้โลกใบนี้ โดยจะสะท้อนประเด็นจรรยาบรรณผ่านภาพยนตร์ 5 เรื่องต่อไปนี้

1976 Network

การเข้ามามีบทบาทของโทรทัศน์ในช่วงยุค 80s ส่งผลให้รูปแบบการรายงานข่าวแตกต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะสถานีโทรทัศน์ต่างต้องทำทุกวิถีทางเพื่อแข่งขันกันโกยเรตติ้ง แน่นอนว่าการมีเรตติ้งสูงสุดย่อมหมายถึงการมีรายได้โฆษณาที่มากขึ้นตามไปด้วย

แม้หนังเรื่อง Network ออกฉายครั้งแรกเมื่อ 44 ปีก่อน แต่เนื้อหายังคงทันสมัยในยุคปัจจุบัน โดยหนังเล่าเรื่องราวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อเรตติ้ง หลังจาก ‘โฮเวิร์ด บีล’ พิธีกรอ่านข่าวถูกสั่งปลดออกจากรายการเนื่องจากไม่สามารถเรียกเรตติ้งในระดับที่น่าพึงพอใจได้ เขาจึงประกาศจะฆ่าตัวตายออกอากาศ เมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไปก็เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก

หัวหน้าของบีลจึงเรียกไปพูดคุยและให้เขาสัญญาว่าจะไม่ฆ่าตัวตาย บีลรับคำและขอโอกาสในการพูดร่ำลากับผู้ชมผ่านรายการเป็นครั้งสุดท้าย แต่ปรากฏว่ากลับมีผู้ชมชาวอเมริกันจำนวนมากรอชมรายการนี้ ทำให้เรตติ้งเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ งานนี้สถานีโทรทัศน์จึงต้องปรับผังรายการยกใหญ่เพื่อหวังกู้เรตติ้งให้แก่สถานีโทรทัศน์ แม้บางกรณีก็ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมก็ตาม

1976 All the President’s Men

นี่คือหนังนักข่าวอันดับต้นๆ ที่หลายคนต้องนึกถึง สร้างมาจากเรื่องจริงของคดีวอเตอร์เกต (Watergate) อันลือลั่นของสหรัฐอเมริกา การทำงานของสื่อมวลชนตัวเล็กๆ แต่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมสะเทือนทั้งประเทศ อีกทั้งยังส่งผลให้ ‘ริชาร์ด นิกสัน’ อดีตผู้นำสหรัฐอเมริกาต้องลงจากตำแหน่ง

วอเตอร์เกตเป็นชื่อของอาคารวอเตอร์เกตคอมเพล็กซ์ ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต คณะทำงานของอดีตประธานาธิบดีนิกสัน ในเดือนมิถุนายน ปี 1972 เกิดเหตุชายปริศนา 5 คนบุกรุกอาคารดังกล่าวเพื่อโจรกรรมข้อมูล ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เอฟบีไอได้สืบคดีจนพบว่าเส้นทางการเงินของคนร้ายนั้นมีความเชื่อมโยงไปยังกองทุนที่ระดมเงินในศึกเลือกตั้งของสหรัฐฯ

‘คาร์ล เบิร์นสทีน’ และ ‘บ็อบ วู้ดเวิร์ด’ นักข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ พบความไม่ชอบมาพากลของคดีดังกล่าว เมื่อสืบทราบว่าสมุดโน้ตเล่มหนึ่งของคนร้าย เขียนเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลสำคัญประจำทำเนียบขาวไว้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นักข่าวทั้ง 2 คนมุ่งมั่นในการทำคดีนี้

แต่เส้นทางการทำงานไม่ง่ายดายอย่างที่คิด เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายคนไม่ให้ความร่วมมือ การสืบหาข้อมูลในยุคแอนะล็อกจึงต้องขวนขวายทุกวิถีทางทำให้เราได้เห็นวิธีการทำงานของนักข่าวในยุคก่อน โดยเฉพาะจรรยาบรรณในการปกปิดแหล่งข่าวผู้มีนามแฝงว่า ‘Deep Throat’ ซึ่งคอยนำข้อมูลลับมาเปิดเผยแก่นักข่าว แม้ในที่สุดคดีจะปิดลงและผ่านไปหลายสิบปี แต่นักข่าวไม่เคยออกมาเปิดเผยว่าแหล่งข่าวระดับสูงของพวกเขาคือใคร

แม้ในอีกแง่หนึ่งนักข่าวเองก็พยายามที่จะสร้างผลงาน แต่ในหลายแง่มุมก็สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นไม่ยอมลดละในการติดตามคดีแบบกัดไม่ปล่อย ซึ่งทางกองบรรณาธิการของเดอะวอชิงตันโพสต์เองก็มีความเชื่อมั่นในบุคลากรของตนเอง และยินยอมที่จะรับผิดชอบร่วมกันในผลที่ตามมา เพราะทุกคนต่างรู้ว่าการทำงานครั้งนี้ก็คือชักธงรบกับผู้มีอำนาจที่สุดในประเทศ

2005 Good Night, and Good Luck

หนังพาผู้ชมย้อนกลับไปสู่ยุค 50s ท่ามกลางสงครามการเมืองระหว่างโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ เล่าเรื่องราวของ ‘เอ็ดเวิร์ด เมอร์โรว์’ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักข่าวชื่อดังแห่งยุคที่กล้านำเสนอข่าวโจมตี ‘โจเซป แมคคาธีย์’ วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ที่มักกล่าวหาว่าผู้อื่นสนับสนุนคอมมิวนิสต์เพื่อปลดออกจากตำแหน่งโดยไร้หลักฐานเพียงพอ

ชาวอเมริกันในยุคนั้นจึงหวาดกลัวว่าตนเองจะถูกสาดโคลนว่ามีความเชื่อมโยงกับคอมมิวนิสต์ แต่นักข่าวอย่างเมอร์โรว์ลุกขึ้นทำข่าวเรื่องการใช้อำนาจในทางมิชอบของวุฒิสมาชิกคนนี้ ทว่าเขากลับถูกหัวหน้าเรียกไปพบ นำไปสู่สถานการณ์ที่ต้องกลับมานั่งตั้งคำถามต่อวิชาชีพสื่อมวลชนต่อหน้าที่ในการรายงานข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม ‘ความกล้า’ ของเมอร์โรว์ในครั้งนั้น ทำให้วุฒิสมาชิกแมคคาธีย์ถูกไต่สวน ทว่าตัวนักข่าวและทีมงานกลับได้รับผลกระทบจากความกล้าดังกล่าว พวกเขาได้รับผลกระทบในเรื่องอาชีพการงาน โฆษณาเข้ารายการก็ลดน้อยลงไปด้วย

เห็นได้ชัดว่าแม้อาชีพสื่อมวลชนจะเป็นอิสระต่อองค์กรต่างๆ แต่บ่อยครั้งที่มีอิทธิพลและปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกแซง การที่นักข่าวสักคนลุกขึ้นมารายงานความถูกต้องให้สังคมรับรู้ อาจต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงหลายประการ หรือนี่จะเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับคำว่า ‘อุดมการณ์กินไม่ได้’ ซึ่งหนังเรื่องนี้จะชวนคุณไปครุ่นคิดถึงประเด็นนี้

2014 NIGHTCRAWLER

หนังอาชญากรรมแนวสืบสวนที่เสียดสีจรรยาบรรณของเหล่าสื่อมวลชนออกมาได้อย่างเจ็บแสบเหลือเกิน โดยเล่าผ่านชีวิตของ ‘ลูอิส บลูม’ หนุ่มตกงานที่ดิ้นรนหาเงินด้วยการทำอาชีพช่างภาพข่าวอาชญากรรมมือสมัครเล่น โชคดีที่บลูมเป็นคนฉลาดและเรียนรู้ไว เขาดักฟังคลื่นวิทยุของเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามไปยังสถานที่เกิดเหตุ และแอบเข้าไปถ่ายภาพคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญ

เมื่อได้ฟุตเทจภาพเหล่านั้นแล้ว เขานำไปขายให้กับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เขาค่อยๆ เรียนรู้ลักษณะงานแล้วพบว่าการจะทำเงินจากอาชีพอิสระนี้ได้ จะต้องเร็วกว่าคู่แข่ง หรือแม้กระทั่งเร็วกว่านักข่าวด้วยซ้ำ ยิ่งนานวันเขายิ่งถลำลึกจนไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง เหมาะสมหลายครั้งเขาต้องลงมือจัดฉากภาพให้ถึงลูกถึงคน และแน่นอนว่าสถานีโทรทัศน์หลายแห่งต่างก็ต้องการภาพข่าวเพื่อนำไปออกอากาศ

แม้เราจะรู้อยู่เต็มอกว่าวิธีการของบลูมนั้นละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและเพิกเฉยต่อจรรยาบรรณ ทว่าของแบบนี้ไม่มีอุปสงค์ก็ไม่มีอุปทาน ในเมื่อสำนักข่าวก็ต้องการเรตติ้งสูงๆ ด้วยการนำเสนอภาพที่ชัดและสะเทือนขวัญผู้คน อาชีพของบลูมจึงดำรงอยู่ได้ นี่คือความตลกร้ายของสื่อมวลชนในยุคช่วงชิงเรตติ้ง

นอกจากนี้ การถ่ายภาพอาชญากรรม ณ จุดเกิดเหตุย่อมสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการยกกล้อง มือถือขึ้นมาถ่ายเหตุการณ์ต่างๆ และนำไปโพสต์ต่อในโซเชียล โดยหวังความเอ็กซ์คลูซีฟ ยอดไลก์ และยอดแชร์ ก็ไม่ต่างอะไรกับพฤติกรรมที่เราได้เห็นในหนังเรื่องนี้

2016 SPOTLIGHT

หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2016 เรียกว่าเป็นหนังน้ำดีที่จะทำให้สื่อมวลชนได้หันมาทบทวนวิชาชีพของตนเอง ‘สปอตไลท์’ คือทีมสืบสวนของหนังสือพิมพ์บอสตันโกลบของสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเกือบ 20 ปีก่อน

โดยทีมนักข่าวพยายามสืบสวนเพื่อเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้ชายของบาทหลวงในคริสตจักรท้องถิ่น นำไปสู่เรื่องอื้อฉาวระดับโลกที่สั่นสะเทือนคริสตจักร และเกิดคำถามต่อความศรัทธาตามมาอีกมากมาย ในระหว่างการสืบสวน ทีมสปอตไลท์พบว่าคริสตจักรยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลเกินกว่าที่คาดคิด หลักฐานบางชิ้นอาจจะมัดตัวบาทหลวงที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้ชายได้ แต่ยังไม่แข็งแรงพอที่จะตีแผ่ปัญหาที่เกิดขึ้น

หนังสะท้อนให้เห็นการทำงานอย่างอดทนและใจเย็นเพื่อสืบหาหลักฐานชิ้นสำคัญเพื่อหาจังหวะที่เหมาะสมสำหรับการตีพิมพ์ข่าว แม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยพลังตัวอักษรได้ทำหน้าที่ในการตีแผ่และเปิดโปงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยมีโจทก์เป็นสถาบันที่ชาวคริสต์ทั่วโลกให้ความเคารพศรัทธา

โดยระหว่างการสืบสวน นักข่าวต้องเผชิญกับสถานการณ์หลายรูปแบบ เกิดข้อกังขาต่อความศรัทธาที่ตนเองเคยมีต่อคริสตจักร แต่ก็ยังคงหิวกระหายข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของจรรยาบรรณ อุดมการณ์ของวิชาชีพถูกสื่อออกมาผ่านเหตุการณ์ทั้งหมด สื่อต้องสามารถตีแผ่ข้อเท็จจริงได้แม้จะมีข้อจำกัดและปัจจัยที่อาจไม่เอื้ออำนวยก็ตาม

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ