ไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียวทำความเข้าใจ 3 เรื่อง ที่หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์
‘เชอร์โนบิล’ ถูกพูดถึงอีกครั้งหลังจากที่ทาง HBO ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาถ่ายทอดในรูปแบบซีรีส์ และทำให้พลังงานนิวเคลียร์กลับมาเป็นที่สนใจของคนจำนวนมากอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะพูดถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่เชื่อว่าคนส่วนมากยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอยู่
Reasons to Read
- ‘เชอร์โนบิล’ ถูกพูดถึงอีกครั้งหลังจากที่ทาง HBO ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาถ่ายทอดในรูปแบบซีรีส์ และทำให้พลังงานนิวเคลียร์กลับมาเป็นที่สนใจของคนจำนวนมากอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะพูดถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่เชื่อว่าคนส่วนมากยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอยู่
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1989 ที่เมืองพริปยัตของยูเครน เผชิญกับภัยพิบัติทางนิวเคลียร์เมื่อแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nuclear Power Plant) เกิดระเบิดขึ้น และทำให้เกิดขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ ปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ทางการยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรมากกว่า 336,431 คน ออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน และทำให้เมืองพริปยัตกลายเป็นเมืองร้างมาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันรัฐบาลยูเครนได้สร้างอาคารกักกันขนาดใหญ่ขึ้นมาครอบซากปรักหักพังของโรงไฟฟ้าเดิมที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีความเข้มข้นสูงเพื่อป้องกันการรั่วไหล แต่ก็จะสามารถป้องกันได้ในระยะ 100 ปีเท่านั้น
และเมื่อไม่นานมานี้ชื่อของ ‘เชอร์โนบิล’ ถูกพูดถึงอีกครั้งหลังจากที่ทางสถานีโทรทัศน์ HBO ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาถ่ายทอดในรูปแบบซีรีส์ โดยออกอากาศต่อจากซีรีส์ดังอย่าง Game of Thrones และได้รับคำชมจากทั้งคนดูและนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม เห็นได้จากคะแนนในเว็บไซต์ IMDB และ Rotten Tomatoes ที่สูงลิ่วนำหน้าซีรีส์ยอดนิยมหลายๆ เรื่อง
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือการทำให้พลังงานนิวเคลียร์กลับมาเป็นที่สนใจของคนจำนวนมากอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีในการที่จะพูดถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่เชื่อว่าคนส่วนมากยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอยู่ และนี่คือ 3 เรื่องที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเมื่อพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์
1. นิวเคลียร์เป็นสิ่งอันตราย
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พลังงานนิวเคลียร์จะดูเป็นอันตรายในความคิดของใครหลายๆ คน เพราะหลายครั้งที่เกิดอุบัติภัยทางนิวเคลียร์นั้นมีความรุนแรง เช่น เหตุการณ์สถานีผลิตพลังงานนิวเคลียร์เกาะทรีไมล์ รัฐเพนซิลเวเนีย ของสหรัฐ ในปี 1979 เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในปี 1989 และเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ เมืองโอคุมะ จังหวัดฟูกูชิมะ ในปี 2011
แต่การตรวจสอบด้วยเหตุและผลอย่างเต็มรูปแบบจากประวัติศาสตร์การดำเนินการทางนิวเคลียร์ ก็ได้ปัดให้ความเชื่อข้อนี้เป็นเรื่องเท็จไป เพราะจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า พลังงานนิวเคลียร์ปลอดภัยกว่าแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และมีหลักฐานสนับสนุนเป็นผลการศึกษาขององค์การนาซาในปี 2013 ที่รายงานว่า พลังงานนิวเคลียร์ป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 1.8 ล้านคนทั่วโลก ระหว่างปี 1971-2009 โดยการเข้ามาแทนที่สถานีพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อาจเกิดขึ้นได้กับจากการขุดเหมือง คนงาน และประชาชนทั่วไป และเมื่อตัดความจำเป็นในการขุดเหมืองออกไป ก็อาจพูดได้ว่านิวเคลียร์ปลอดภัยกว่าแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและแสงอาทิตย์ด้วย
นอกจากนี้ พลังงานนิวเคลียร์ยังเป็นพลังงานที่ปราศจากการปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศ เช่น ก๊าซเรือนกระจก และมีส่วนช่วยลดมลพิษทั่วโลกมานานนับทศวรรษแล้ว
2. กากกัมมันตรังสีเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้
พลังงานนิวเคลียร์ส่งผลให้เกิดกากกัมมันตรังสีในรูปของแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นข้อเสียที่สำคัญที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่าโรงงานถ่านหินเองก็ผลิตของเสียที่มีกัมมันตรังสีจำนวนมากเช่นกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันกากกัมมันตรังสีมากกว่า 90,000 ตัน (ปริมาณนี้สามารถถมสนามฟุตบอลที่มีความลึก 20 เมตรได้) จะถูกเก็บไว้ตามพื้นที่ต่างๆ มากกว่าร้อยแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ด้วยครึ่งชีวิตที่ยาวนานถึง 24,000 ปี ขยะนิวเคลียร์อาจดูเหมือนเป็นปัญหาที่จะอยู่ไปอย่างถาวร แต่ก็ไม่มีอะไรที่ไม่สามารถจัดการได้ เพราะขณะนี้มีนักธุรกิจสตาร์ตอัพพร้อมผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘บิล เกตส์’ (Bill Gates) กำลังพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์รูปแบบใหม่ที่สามารถรีไซเคิลของเสียได้จริง และด้วยเหตุผลทางเทคนิคไม่มีข้อไหนเลยที่บอกว่าพวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ
3. นิวเคลียร์มีราคาแพง
ตามข่าวที่คุณอาจจะเคยได้ยินหรือได้อ่านมาบ้างเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปิดตัวลงหรือถูกยกเลิกการก่อสร้างเนื่องจากราคาที่สูงเกินไปนั้น แม้จะเป็นความจริง เพราะต้องนำทุนจำนวนมากไปใช้ในการก่อสร้างวัสดุอุปกรณ์ ระบบควบคุมและระบบการเก็บของเสียจากโรงไฟฟ้าทั้งในกรณีดำเนินการปกติและในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ทำให้ในบางพื้นที่การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็อาจไม่มีกำไร แต่ในสถานที่ส่วนใหญ่การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ก็เป็นไปได้ด้วยดี และเมื่อเปรียบเทียบพิจารณาข้อดีและข้อเสียของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เทียบกับโรงไฟฟ้าชนิดอื่นๆ ทั้งในด้านปริมาณ แหล่งเชื้อเพลิง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็จะพบว่าเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีราคาไม่แพง ทั้งยังสามารถผลิตพลังงานจำนวนมากจากปริมาณเชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อย