fbpx

พีระ อุดมกิจสกุล : 138 ปีไปรษณีย์ไทย ก้าวไกลสู่หนทางใหม่แห่ง ‘Distribution’

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า  ‘การไปรษณีย์’  คือหัวใจหลักสำคัญประการหนึ่ง ที่บ่งชี้ถึงความเจริญก้าวหน้าของสยามประเทศ จากพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ 138 ปีที่แล้ว ทำให้ทุกที่ของประเทศ สามารถติดต่อเชื่อมโยงถึงกัน ไม่ว่าจะในรูปแบบการส่งจดหมาย จนถึงพัศดุสินค้า องค์กรอย่างกรมไปรษณีย์ไทย ได้ฟันฝ่าคลื่นลม และทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงประเทศให้เดินหน้าไปมาโดยตลอด

หากแต่ในวิกฤติครั้งใหญ่อย่าง COVID-19 และการ ‘Disrupt’ ของระบบ Marketplace หรือ ‘ตลาดออนไลน์’ หลากหลายเจ้า ที่มาพร้อมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กรมไปรษณีย์ไทยในวันนี้ จะรับมืออย่างไร? พวกเขาได้สร้างและขับเคลื่อนสิ่งใดอยู่เบื้องหลัง? และสิ่งนั้นจะนำไปสู่เป้าหมายใด นี่คือคำถามที่น่าสนใจ

 GM Magazine ได้รับเกียรติจาก คุณพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท Thailand Post Distribution Co,, Ltd. บริษัทลูกน้องใหม่ในเครือกรมไปรษณีย์ไทย ที่มาพูดคุย บอกเล่า และฉายให้เห็นภาพ ‘ย่างก้าวใหม่’ ที่ไปรษณีย์ไทยจะก้าวต่อไป ที่ทันสมัย และยังคงหัวใจแห่งความเป็น ‘เส้นเลือดใหญ่’ ของการขนส่งของประเทศเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

GM : ในปัจจุบัน นอกเหนือจากฟังก์ชันปกติ (รับส่งจดหมาย, พัศดุ) แล้ว การไปรษณีย์ไทยในวันนี้ ได้ทำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง?

พีระ อุดมกิจสกุล  : คงต้องย้อนกลับไปในแรกเริ่มการก่อตั้งไปรษณีย์ไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  นะครับ สมัยนั้นมีการใช้ไปรษณียากรหรือ ‘แสตมป์’ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เป็นการส่งจดหมาย แล้วค่อยมาขยายเป็นธุรกิจการส่งพัศดุหรือ EMS ซึ่งไปตอบโจทย์กับ e-Commerce ในปัจจุบัน โดยในตอนนี้มีเอกชนหลายรายที่พร้อมเข้ามาให้บริการก็ถือว่าเป็นการแข่งขันสำคัญสำหรับการไปรษณีย์ไทย

แต่ในวันนี้ มีการเพิ่มรูปแบบของการทำธุรกิจใหม่นั่นคือการทำ ‘คลังสินค้า’ เข้ามาด้วย ซึ่งเป็นลักษณะคลังแบบ Fulfill คือ รับฝากของที่จะส่ง ให้บริการหีบห่อจ่าหน้าเสร็จสรรพ และพร้อมส่งได้ในทันทีให้กับบริการขนส่งเจ้าต่างๆ ว่ากันง่ายๆ เราไม่ได้กระโดดเข้าไปแข่ง แต่ทำหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ ที่พร้อมจะจัดการส่วนที่ยุ่งยาก แล้วกระจายสินค้าเป็นแบบแพ็คเกจ ครบวงจร ซึ่งผู้ใช้บริการก็ได้รับความสะดวกสบาย เพราะไม่ต้องมานั่งแพ็คของ      จ่าหน้าเอง ผู้ให้บริการขนส่งก็ชื่นชอบ เพราะไม่ต้องสร้างคลังสินค้าจัดเก็บขนาดใหญ่ซึ่งจะวุ่นวายมากๆ

GM : บริการของไปรษณีย์ไทยที่ทำหน้าที่เป็น ‘Hub’ ในการเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการขนส่งแบบนี้ เริ่มต้นมาได้กี่ปีแล้ว?

พีระ อุดมกิจสกุล  : จริงๆ ธุรกิจ ‘คลัง’ ของไปรษณีย์ไทยนั้นมีมานานแล้วครับ แต่การที่นำมาทำอย่างเต็มระบบช่วงที่มี Marketplace ทั้งหลาย  พร้อมบริการจัดหีบห่อจ่าหน้าจัดส่ง ที่ดูเป็นรูปธรรมก็ประมาณ 6-7 ปีเห็นจะได้แล้ว

GM : แสดงว่าการไปรษณีย์ไม่ได้วาง Position ของตัวเองไว้ว่าจะเป็นคู่แข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ?

พีระ อุดมกิจสกุล  : กรมไปรษณีย์ได้วางตำแหน่งเอาไว้ว่าเป็น ‘ผู้ขนส่ง’ หรือ ‘Third-Party Logistic’ แต่ในตอนหลัง ธุรกิจ Marketplace เริ่มมีแพร่หลายมากขึ้น เลยตัดสินใจจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อจัดการเรื่อง Fulfill ดังที่กล่าวไปในข้างต้นครับ

GM : Model ธุรกิจแบบนี้ มีตัวอย่างในต่างประเทศหรือไม่?

พีระ อุดมกิจสกุล  : ถ้าเป็นของต่างประเทศ จะมีบริษัท Logistics เป็นบริษัทลูกที่ทำการ Support ให้บริษัทหลัก ไม่ว่าจะ DSL หรือ Kerry และทำการส่งจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ซึ่งในส่วนของ ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น นั้นมีรถที่วิ่งงานอยู่ประมาณ  500 กว่าคันในขณะนี้  เก็บของตามไปรษณีย์ต่างๆ เพื่อนำไปรวมที่ศูนย์ไปรษณีย์กลาง คัดแยก แล้วนำไปสู่ไปรษณีย์ปลายทาง ซึ่งถ้าให้มองว่ารายอื่นเป็นอย่างไร ผมว่าก็ไม่น่าจะต่างไปจากนี้ครับ

GM :  ผลตอบรับจากการให้บริการแบบแพ็คเกจครบวงจรนั้น เป็นอย่างไรบ้าง?

พีระ อุดมกิจสกุล  :  ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นก่อตั้งมา 6 ปี ช่วงระยะ 2-3 ปีแรกต้องบอกว่าขาดทุนตลอดนะ และเยอะมาก ซึ่งเกิดจากการเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำและการวางยุทธศาสตร์ในการหาลูกค้า รวมถึงการเตรียมความพร้อม ซึ่งพอผมเข้าไปดูแล สิ่งแรกที่ทำเลยคือการ ‘Lean’ หรือการกระชับองค์กร ลดส่วนเกินที่ไม่จำเป็น จนกระทั่งตอนนี้ตัวเลขก็เริ่มดีขึ้นมาทางบวก และขณะเดียวกันผมก็เริ่มคิดถึงสิ่งถัดไป คือเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจการส่งยาและเวชภัณฑ์ถึงบ้านผู้ป่วย ที่เป็นธุรกิจหลักสายหนึ่งของบริษัท

GM :  ธุรกิจการส่งยาและเวชภัณฑ์นี้ เริ่มมาตั้งแต่ช่วงไหน?

พีระ อุดมกิจสกุล  : เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2557 แล้วครับ ที่จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ถึงบ้านของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตประกันบัตรทอง ซึ่งต้องฟอกไตที่บ้าน มีอยู่ราวๆ 30,000 คน ซึ่งไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นเป็นหน่วยงานที่เก็บน้ำยาล้างไตสำหรับผู้ป่วย ที่ในหนึ่งวันจะต้องล้างไตทั้งหมดสี่รอบ หนึ่งเดือนตกประมาณ 120 ถุง 20 ถัง น้ำหนัก 200 กว่ากิโลกรัม ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับผู้ป่วยในการที่จะขนกลับมาบ้าน สิ่งที่ทำคือ ประสานกับหมอและพยาบาล เกี่ยวกับรายละเอียดของผู้ป่วยแต่ละราย ว่าต้องใช้น้ำยาฟอกไตความเข้มข้นแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ปริมาณเท่าไหร่ ผ่านระบบ Order Management System ซึ่งเชื่อมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สบสช. ตามโรงพยาบาลต่างๆ สามารถสั่ง Order ได้ และไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นเจะทำหน้าที่ไปจัดยา ณ จุดเก็บ เดือนนึงใช้ประมาณ 1.5 ล้านถุง จัดตามรายละเอียดของโรงพยาบาลต่างๆ ที่สั่งเข้ามา และส่งให้ถึงบ้านผู้ป่วยด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ พร้อมจัดการดูแลเรื่องการจัดยา เป็นกึ่งๆ ผู้ช่วยแพทย์ ก่อนให้ผู้ป่วยเซ็นรับมอบยา โดยสถานะการรับมอบจะไปปรากฏในฐานข้อมูลระบบ ซึ่งทางโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบได้ ว่าผู้ป่วยได้ยาครบหรือไม่ มียาเหลือเท่าไหร่ เดือนถัดไปจะได้สั่งตามปริมาณที่เหมาะสม

GM :  Infrastructure ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ต้องละเอียดพอสมควร ใช้เวลาปรับปรุงโครงสร้างระบบนานแค่ไหน?

พีระ อุดมกิจสกุล  : ต้องเรียนว่าไม่นานครับ เพราะกรมไปรษณีย์มีพื้นฐานทางด้านการขนส่งหรือ Logistics อยู่เป็นทุนเดิมแล้ว เพียงแต่อุปกรณ์ต่างๆ นั้น ต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐานที่เป็นสากลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และประหยัดมากขึ้น เช่น คลังที่ต้องได้มาตรฐาน GSP (Good Storage Practice) ซึ่งเป็นมาตรฐานการเก็บยา หรือในส่วนคลังสินค้า ก็ต้องสะอาดปลอดภัย และรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิต้องได้มาตรฐาน  ล่าสุดก็รับการรับรองมาตรฐานการขนส่งจากกรมขนส่งทางบกหรือ Qmark

GM : ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ตั้งเป็นบริษัทลูกมา 6 ปี วางแผนการในอนาคตไว้อย่างไรบ้าง?

พีระ อุดมกิจสกุล  : เบื้องต้น คือต้องการเป็นHealth Logistics อันดับหนึ่งของประเทศ เพราะมียาอีกมากที่ควรจะสนับสนุนโรงพยาบาลของภาครัฐให้มากขึ้น เช่น ล่าสุดการส่งหน้ากากอนามัย 300 ล้านชิ้น ที่ทางกรมไปรษณีย์ให้ผมไปคุยกับทางภาครัฐ เพื่อให้กรมไปรษณีย์เป็นคู่สัญญา และผมจัดการระบบหลังบ้านเพื่อรองรับทุกสิ่งเหล่านี้เอาไว้ ก็จะรู้ในทุกขั้นตอนกับกระบวนการว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ส่งไปที่ไหน ส่งไปเท่าไหร่ เรียกว่าของมาถึงคืนนี้ วันรุ่งขึ้นต้องถึงแล้ว ทำแบบนี้เป็นเวลาอยู่เกือบ 6 เดือน

GM :  นอกเหนือจากเวชภัณฑ์และยา มีสินค้าประเภทอื่นที่ไปรษณีย์ไทยและบริษัทลูกอย่างไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ได้ดำเนินการในส่วน Logistics อีกหรือไม่?

พีระ อุดมกิจสกุล  มีครับ อย่างเช่น สินค้าการเกษตรที่ดูแลการจัดส่งผลผลิตจากแหล่งผลิต ส่งให้ตามแหล่งจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นตลาดขนาดต่างๆ หรือตลาดสะดวกซื้อ  ครอบคลุมสินค้าเกษตรทั่วประเทศ แต่ในจุดนี้ทำเป็นชุดใหญ่นะครับ ไม่ได้ส่งให้เป็นรายย่อย เรียกว่าเป็นกึ่งๆ Solution ให้กับรายใหญ่

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา Application พร้อมสั่งสำหรับร้านอาหาร Street Food ที่ช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากลง โดยให้ร้านต่างๆ เข้ามาเป็นสมาชิก พออยากได้วัตถุดิบ ก็สั่งผ่าน Application ตัวนี้ บริษัทจัดจำหน่ายที่ร่วมในโครงการพอเห็นรายการสั่ง ก็จะทำการจัดส่ง โดยผ่านระบบ Logistics ของไปรษณีย์ ซึ่งระบบต้องมีประสิทธิภาพมาก คือสินค้าต้องมาถึงไม่เกินห้าทุ่ม ไปรษณีย์มีเวลาจัดของตั้งแต่ห้าทุ่มถึงตีสาม ตีห้าต้องล้อหมุนสินค้าถึงมือแล้ว งานนี้เป็นโครงการใหม่ทำมาได้ประมาณ 3 เดือน แต่ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ มียอดผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Application เพิ่มขึ้น และปริมาณการจัดส่งก็มากขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะที่เกิด COVID-19 ในปัจจุบัน

GM : เป็นแนวทางที่ค่อนข้างแตกต่างจากทั่วไปพอสมควร เพราะส่วนมาก จะจัด Solution สำหรับรายใหญ่เป็นหลัก?

พีระ อุดมกิจสกุล  : ใช่ครับ แต่อย่าลืมว่ารายย่อยทั้งหลาย ถ้ารวมจำนวนแล้วก็ต้องถือว่ามีไม่น้อย รวมถึงบรรดาผู้จัดจำหน่ายที่จำหน่ายอาหารสดต่างๆ อีก ซึ่งทั้งหมดมารวมกันโดยมีไปรษณีย์ไทยเป็นตัวกลางในการจัดส่ง ซึ่งหน่วยงานผมมีข้อได้เปรียบทางด้าน Logistics และพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างที่เรียนไปก่อนหน้านั้นด้วย

GM : การทำหน้าที่เป็น ‘Hub’ ในการจัดส่งให้บรรดา Marketplace ทั้งหลาย ซึ่งในแต่ละรายก็มีระบบที่แตกต่างกัน จุดนี้รับมือกับความต่างของระบบอย่างไร?

พีระ อุดมกิจสกุล  : ต้องบอกว่า แต่ละราย จะใช้ API สำหรับพัฒนาโปรแกรมเพื่อเชื่อมโยงกับกรมไปรษณีย์ไทยเป็นชุดเดียวกันครับ คือหน้าร้านอาจจะต่างกัน แต่ระบบการจัดส่งหลังบ้านจะเป็นตัวเดียวกัน เป็น Template เดียวกัน ซึ่งเรียกได้ว่า ไม่เป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคใดๆ ในการพัฒนาระบบดังกล่าวครับ

GM : แล้วมีหรือไม่ที่ผู้ให้บริการธุระกิจนี้ไม่ใช้บริการไปรษณีย์ไทย?

 พีระ อุดมกิจสกุล  : จริงๆ ผู้ให้บริการทุกรายเริ่มต้นจากทำเองหมดนะครับ ที่เห็นนั่งแพ็คของกัน จนกระทั่งถึงที่สุด มีต้นทุนที่ต้องใช้ทั้งเรื่องการจัดเก็บ เรื่องแรงงานคน สารพัดอย่าง สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า จ่ายให้ไปรษณีย์ไทยช่วยดูแลเป็นรายเดือนคุ้มค่ากว่า เหลือไว้แค่หน้าที่หาของมาขาย และทำการตลาดของตัวเองไปก็พอ ซึ่งง่ายกว่ามาก

GM :  คุณดูแลเฉพาะไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น หรือเกี่ยวข้องกับไปรษณีย์ไทยมากน้อยแค่ไหน?

 พีระ อุดมกิจสกุล  : ต้ออธิบายว่า ไปรษณีย์ไทยมีหน้าร้าน ก็คือกรมไปรษณีย์ที่เห็นๆ กันอยู่ แต่เวลาไปขาย Solution หรือการให้บริการจะขายในภาพรวม ซึ่งกรมไปรษณีย์ไทยจะใช้ API แบบเดียวกับบรรดา Marketplace เพื่อทำการจัดส่งสินค้า ‘ขนาดใหญ่’ หรือ Logist Post อย่าง ตู้ โต๊ะ เตียง รถมอเตอร์ไซค์  ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างทำงานอย่าง Seamless ไร้รอยต่อ โดยลูกค้าจะไม่เห็นกระบวนการหลังบ้านเลย กล่าวคือ ถ้าสินค้าขนาดเล็กหรือกลาง ไม่ใหญ่มาก ก็จัดไปที่บริษัทแม่ แต่ถ้าสินค้าขนาดใหญ่ หรือมาเป็นแพ็คเกจจำนวนมากๆ ก็เป็นหน้าทีบริษัทลูกซึ่งผมดูแลเป็นคนจัดการ โดยทั้งหมดเป็นการบริหารจัดการภายใน

GM :  ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานหรือวิสัยทัศน์ของกรมไปรษณีย์ไทยมากน้อยแค่ไหน?

 พีระ อุดมกิจสกุล  : ผมมองว่าเป็นผลเชิงบวกนะครับ เพราะคนออกนอกบ้านน้อยลง การขนส่งสินค้าก็ย่อมมีมากขึ้น โดยเฉพาะ Marketplace แบบออนไลน์ ที่คนเริ่มใช้งานกันมากขึ้น ปีที่แล้วกรมไปรษณีย์ไทยจัดส่งสินค้าตกเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 400-500 ล้านชิ้น และช่วงปีที่แล้วมีข้อดีอยู่อย่างคือ ผลิตทางการเกษตรที่โดยปกติจะส่งออกไป 100% แต่ส่งออกไม่ได้ คนไทยก็มีโอกาสได้หาซื้อรับประทานกันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนเพราะได้ทำหน้าที่ดูแลการขนส่งสินค้าเกษตรอย่างที่กล่าวไป

GM : มีมาตรการป้องกันความปลอดภัยในส่วนของการติดเชื้อท่ามกลางสภาวะ COVID-19 เอาไว้อย่างไรบ้าง?

 พีระ อุดมกิจสกุล  : เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เลยครับ อย่างการส่งน้ำยาและเวชภัณฑ์ไปที่บ้านผู้ป่วย ผู้ขนส่งต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องใส่ชุดป้องกันเชื้อ PPE เลย เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตนั้น สภาพร่างกายจะอ่อนแอและติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องระวังในจุดนี้อย่างมาก

GM : เข้ามารับหน้าที่ดูแลไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น  ภายใต้สภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะวิกฤติที่ไม่ปกติธรรมดาอย่าง COVID-19 มีวิธีรับมือกับความกดดันและปัญหาที่เข้ามาอย่างไร?

 พีระ อุดมกิจสกุล  : ผมมองว่าวิกฤติที่เข้ามา ช่วยให้ Focus ในสิ่งที่ตั้งเป้าว่าจะทำชัดเจนขึ้นครับ ซึ่งก็คือการเน้นไปที่เรื่องของสุขภาพและการเป็น Health Logistics ที่สมบูรณ์แบบ คอยเติมเต็มความต้องการของโรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งอาจจะต่อยอดไปถึงขั้นที่โรงพยาบาลสามารถสั่งยาได้โดยตรงจากหน่วยงานของเรา และทางหน่วยงานของเราก็สามารถจัดหามาให้ได้, การลงไปในตลาด Street Food เกี่ยวกับอาหารและสินค้าเกษตร, การขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ว่ากันง่ายๆ ผมเองก็พยายามที่จะก้าวเข้าไปในตลาดที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ไป และทำอย่างไรที่จะเข้าไปเติมเต็มในจุดนั้น พร้อมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงในตลาดที่มีผู้เล่นอยู่ก่อนแล้ว สงครามราคาหั่น ลด แลก แจก แถม แบบนี้คือไม่เลย

GM : การเข้ามารับตำแหน่งในหน่วยงานที่ก่อตั้งแยกจากองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม มีความกดดันมากน้อยแค่ไหน และรับมืออย่างไร?

 พีระ อุดมกิจสกุล  : ค่อนข้างกดดันนะครับ เพราะเหตุผลหนึ่งที่ผมถูกมอบหมายตำแหน่งนี้เพื่อ ‘ล้างการขาดทุน’ ของกรมไปรษณีย์ไทย นั่นทำให้สิ่งแรกที่ผมทำคือการ Lean อย่างที่เรียนให้ทราบก่อนหน้า แต่จุดนี้ดีอยู่ตรงที่ผมโตมากับสาย Logistics ซึ่งทำให้รู้กระบวนการทำงานและขั้นตอนต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร จุดไหนที่ลดคนได้ จุดไหนที่สามารถลดต้นทุนได้ ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อเสียของระบบราชการไทยคือ ไม่มีการเอาคนออกถ้าไม่เกิดเหตุร้ายแรงจริงๆ อย่างมากคือย้ายไปจุดอื่น ซึ่งสำหรับคนที่ทำงานแบบเดียวซ้ำๆ มาเป็นเวลานาน การถูกโยกย้ายมาทำงานใหม่นั้นเป็นภาระทั้งตัวเขาและคนที่เขาต้องทำงานด้วยซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งระบบ สิ่งที่ผมต้องทำก็คือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุด และพยายามหา Solution ที่จะสร้างรายได้กลับมาให้มีประสิทธิภาพที่สุด และยั่งยืนที่สุดครับ

GM : หลังจากเข้ามาบริหารงาน ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นมีความเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรภายในองค์กรมากน้อยเพียงใด?

 พีระ อุดมกิจสกุล  : ผมมองว่าคนในองค์กรพัฒนาขึ้นนะครับ เพราะทุกคนรู้สึกว่านี่เป็นองค์กรที่ยั่งยืน  จากบรรยากาศในวันแรกๆ ที่ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่สุงสิง ไม่พูดจา ทำงานไปเรื่อยๆ มาในตอนนี้เริ่มกระฉับกระเฉงขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น และลงแรงกันมากขึ้น เพราะทุกคนไม่อยากเปลี่ยนงาน ทุกคนรู้ว่าตอนนี้อยู่ในองค์กรที่ดี ที่สามารถเลี้ยงชีวิตได้ และพัฒนาต่อไปได้ ผมมองว่านั่นเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีอยู่ไม่น้อยครับ

GM : ในตอนนี้จัดการในส่วนขนส่ง Local หรือในประเทศ ในอนาคตจะเป็น Global หรือระดับสากลหรือไม่?

 พีระ อุดมกิจสกุล  : นั่นเป็นเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ