fbpx

ตะวันวาด วนวิทย์ ผ่านบทเรียน โฟโต้ 101

เรื่อง : สุชา ภาพ : ตะวันวาด วนวิทย์

กล้องถ่ายรูป เป็นอุปกรณ์บันทึกแสงที่สะท้อนจากวัตถุผ่านเลนส์ในลักษณะจำลองการทำงานออกมาจากดวงตาของมนุษย์ รูปถ่ายที่เราเห็นจึงเปรียบเสมือนภาพที่นัยน์ตาคนเราบันทึกไว้ในความทรงจำ ที่สำคัญมันคือการวาดภาพขึ้นจากแสง

‘ตะวันวาด’ กับอาวุธรักของเขาคือ ‘กล้องถ่ายรูป’ ช่างสอดคล้องเหมือนถูกกำหนดไว้เนิ่นนานเท่าอายุของเจ้าตัวคือ 28 ปีผ่าน

GM รู้จัก ตั้ง-ตะวันวาด วนวิทย์ ผ่านงานเขียนเรื่องท่องเที่ยวของคุณแม่-วดีลดา เพียงศิริ หรือพี่อุ๋มอิ๋ม ของแวดวงคนเขียนหนังสือ บ่อยครั้งเธอชอบหนีลูกออกไปท่องเที่ยว กับบ่อยหนมักจะหนีบลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนนี้ไปทำหน้าที่ช่างภาพส่วนตัว และไม่หนีบเปล่า ยังแอบเม้าธ์ถึงตากล้องผ่านงานเขียนให้พวกเราอมยิ้ม นึกภาพตามทริปดีๆ ที่สะท้อนสายใยความรักและผูกพันระหว่างแม่กับลูก

“แม่ชอบเอาลูกไปขายครับ ในงาน” หนุ่มตั้งหัวเราะเมื่อถูกตั้งคำถามเรื่องที่เขาตกเป็นเหยื่อให้แม่เอาไปเม้าธ์สนุกในงานเขียนเรื่องท่องเที่ยว

แต่จะว่าไปก็เพราะแม่นี่แหละครับ มีส่วนส่งเสริมให้เขาได้พบเจอกับ ‘อาวุธรัก’ ที่รักมากที่สุด และวันนี้มันแทบจะกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของชายหนุ่ม เพราะเขาพกกล้องถ่ายรูปติดตัวตลอดเวลา แม้ยามนอน

“ใช่ครับ, มันอยู่ข้างตัวผมตลอด เพราะไม่รู้เลยจริงๆ ว่าภาพที่อยากกดชัตเตอร์มันจะมาตอนไหน บางทีอยู่ในห้องนอน แล้วมีอะไรตรงหน้าต่างที่ผมอยากถ่ายเก็บไว้ ดังนั้น กล้องจึงต้องสแตนด์บายพร้อมตลอดเวลา สำหรับผม กล้องถ่ายภาพที่ดีคือกล้องที่ไปกับเราได้ทุกที่”

ย้อนกลับไปสมัยเรียนมัธยมฯ หนุ่มตั้งได้กล้องถ่ายรูปตัวแรกจากการร้องขอแม่ “จะไปเที่ยวกับเพื่อน บอกแม่ว่าอยากได้กล้องมาถ่ายรูป อยากถ่ายรูปเพื่อน แม่เลยพาไปซื้อ เดินเข้าไปในร้าน แม่บอกว่าเอาตัวที่พังยากที่สุด เพราะรู้ว่าผมใช้ของพังง่ายมาก ก็เลยได้กล้อง โอลิมปัส ทอช เป็นกล้องคอมแพคตัวหนึ่งมา คุณภาพไม่ดีเลยแต่พังยาก เพราะคุณสมบัติของมันคือกันกระแทก กันน้ำ กันลม กันฝน แต่วันนี้ไม่อยู่แล้วครับ เพราะผมทำมันพังจนได้ (หัวเราะ)

“ผมเริ่มถ่ายภาพมาเรื่อยๆ แต่ไม่รู้ตัวว่าชอบ ตอนนั้นเริ่มจากถ่ายภาพเพื่อนกระโดด ให้กระโดดท่าแปลกๆ ผมชอบที่เราหยุดภาพกลางอากาศไว้ได้”

กับที่เราคุ้นเคยผลงานของตั้ง คือการถ่ายภาพสตรีทอาร์ตล่าสุดเขาเพิ่งได้รับรางวัล Emerging Talent 2019 จากเวที Street Art Miami Milano ที่มิลาน และชนะเลิศอันดับ 2 จากงาน London Street Photo Festival กรุงลอนดอน “งานแรกเหมือนเขาให้ส่งพอร์ตโฟลิโอของเราไป และคัดเลือกจากทั้งพอร์ตฯ ส่วนอีกอันเป็นรางวัลภาพเดี่ยว

“มุมมองและคอนเซปต์การถ่ายภาพของผมมันเปลี่ยนไปนิดหนึ่งนะครับ ก่อนหน้านี้คือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมจะถ่ายภาพสตรีทอย่างเดียว ชอบถ่ายรูปคนแปลกหน้าเท่านั้น เรียกว่าคลั่งมากเลยละ คิดแต่เรื่องถ่ายภาพสตรีทอาร์ตตลอดเวลา

“เวลาไปไหนไม่ค่อยได้อยู่กับคนตรงหน้า แต่จะมองหาคนแปลกหน้ารอบๆ ตัว แต่มาช่วงหลังเริ่มทดลองเรื่องแสง เพราะได้เข้าไปถ่ายหนัง ชอบจัดไฟ ก็เลยชอบทดลองเรื่องแสง เริ่มจากใช้แฟลช เริ่มเซตภาพถ่ายบ้าง ถ่ายตัวเอง ถ่ายเพื่อน ช่วงนี้ก็เลยอินกับงานทดลอง” เราเดาเอาว่าจากกล้องคอมแพคดิจิทัล อึดและทนตัวแรก คงนำพาตั้งไปสู่การเรียนเอกภาพยนตร์ใช่หรือไม่

“ไม่ใช่ครับ” ชายหนุ่มตอบทันที “ผมอยากเรียนเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ แต่ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี และจริงๆ ก็มีความติดผู้หญิงนิดหนึ่ง ไปเข้ามหิดลเพราะมีความตามผู้หญิงไป โดยที่ไม่ได้รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร จึงเข้าไปเรียนคณะสังคมวิทยา แต่พอเข้าไปได้เดือนเดียวก็เลิกกับผู้หญิง (หัวเราะสนุก)

“แถมลงคณะผิดด้วย ไม่ชอบเรียนนี่หว่า ก็เลยย้ายไปเรียนคณะภาพยนตร์แทน พอเริ่มเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ เกี่ยวกับกล้องก็รู้สึกอิน ไม่ทำอะไรแล้วตอนนี้ เลิกกินเหล้า เลิกทุกอย่าง เพราะอินกับกล้องมาก

“ที่รู้สึกหลงรักมันก็เพราะวิชาโฟโต้ 101 ตอนนั้นไปเรียนช้า ยังไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ ครูเลยให้กล้องฟิล์มสภาพย่ำแย่ นิคอน เอฟเอ็ม ทู ออกไปถ่ายรูป กล้องตัวนั้นเครื่องวัดแสงเสีย ชัตเตอร์สปีดเสีย ครูให้โจทย์ว่าไปถ่ายอะไรมาสักอย่าง ผมก็ออกไปถ่าย โดยคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ผลปรากฏเอาภาพมานำเสนอ ครูบอกว่าภาพยูโค-ตรห่วยเลยว่ะ…ห่วยเลยเหรอ ผมเสียเซลฟ์มาก

“ครูบอก ไม่รู้ละ ไปทำโปรเจกต์อันหนึ่งมาสิ ผมไม่รู้จะทำอะไร เผอิญเดินผ่านไซต์งานก่อสร้างแล้วรู้สึกสนใจ ก็เลยไปฝังตัวอยู่ที่ไซต์ก่อสร้างนั้นเลย นานเป็นเดือนนะครับ เหมือนมันเริ่มมีจุดละลายพฤติกรรมนิดหนึ่ง จากแต่ก่อนเคยถ่ายไปอย่างนั้น ในหัวยังคิดถึงเรื่องอื่น เช่น เดี๋ยวข้าวเย็นจะกินอะไร เดี๋ยวไปหาแฟนจะทำอะไรดี (แฟนคนใหม่) แต่พอทำโปรเจกต์ถ่ายคนงานก่อสร้าง ผมไปอยู่ที่นั่นเลย ตั้งแต่เช้าจรดเย็น อยู่จนถึงดึก

“เริ่มจะอยู่กับโมเมนต์ ณ ตอนถ่ายภาพจริงๆ นี่เป็นจุดเทิร์นนิ่ง คือการทำโปรเจกต์ภาพไซต์ก่อสร้างออกมาเป็นพิคทอเรียล”

จากคลาสเรียนโฟโต้ 101 ทำให้เขาเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นช่างภาพอาชีพตั้งแต่เรียนชั้นปีที่ 2
“ผมทุ่มเทกับการถ่ายภาพมากๆ จากที่ครูบอกงานยูห่วย ก็ได้รับคำชมและแนะนำให้ไปเป็นช่างภาพให้กับรายการทีวีชื่อแสงเด็ก ออกอากาศทางช่องอมรินทร์ทีวี

“ได้เงินก้อนแรกจากการทำงานมา 4,000 บาท บอกแม่ว่าหาตังค์ได้แล้วเด้อ แม่บอก…อ้อ หาเงินได้แล้วเหรอ งั้นไม่ให้เงินเดือนแล้วนะ ยังไงละทีนี้ (หัวเราะ) ถ้าลำบากจริงๆ ค่อยมาขอละกัน แล้วก็ไม่ให้เงินเดือนผมจริงๆ จ่ายแต่ค่าเทอมกับค่าที่พัก ค่ากินไม่ให้ จะให้เฉพาะเวลาที่ผมไม่มีจริงๆ ซึ่งทำให้ผมต้องทำรายการทีวีเป็นตากล้องมาเรื่อยๆ

“ประกอบกับยังคงถ่ายภาพสตรีทอาร์ต จนมีผู้กำกับฯ ของฟีโนมีน่า (บริษัทโปรดักชั่นเฮาส์) สนใจ ชื่อพี่โจ้ เขาเอาผมไปลองถ่าย และหลังจากนั้นก็ยาวเลยครับ งานส่วนใหญ่จะเป็นของผู้กำกับฯ ฟิโนมีน่า”

ระหว่างและหลังจากเรียนจบ ตั้งมีงานถ่ายภาพยนตร์โฆษณา และล่าสุดเขามีโอกาสได้เป็นตากล้องหลักของภาพยนตร์เรื่องดัง ‘ตุ๊ดซี่ แอนด์ เดอะ เฟค’ ที่ทำรายได้ถล่มทลายไปเมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมา
“โปรเจกต์นั้นของ GDH พี่เก้ง-จิระ โทรฯ มาชวน เขารู้จักผมผ่านพี่ย้ง-ทรงยศ​ เพราะพี่ย้งเคยเอาผมไปถ่ายโฆษณา

“พอทำจริงคือสนุกมากๆ เลยครับ ความยากของมันคือนักแสดงมีเยอะมาก ด้วยความที่เป็นหนัง Talking Head (พูดกับกล้อง) ประมาณหนึ่งด้วยละ พอนักแสดงเยอะ จึงมีการรับช็อตที่ค่อนข้างเยอะ แต่ว่าสนุกมากและอินมาก”

ตั้งเล่าให้ฟังต่อว่าขณะสัมผัสกล้องถ่ายภาพยนตร์ ท่วงทำนองของมันคือเพลงคลาสสิก แต่เป็นเพลงคลาสสิกบีโทเฟ่นขณะเดือดพล่าน “อารมณ์จะค่อยๆ ไปของมันเองหลังจากทำทีละอย่าง พอจับกล้องภาพยนตร์ปุ๊บ หนึ่ง วางเฟรม เฟรมจะเป็นยังไง เห็นอะไรบ้าง แพนแค่นี้เห็นอะไร โอเค เห็นตรงนี้ถึงตรงนี้ เสร็จแล้วปุ๊บ สอง, กล้องจะขยับยังไง จากตรงนี้ถึงตรงนี้ สาม, มันต้องโฟกัสจากตรงไหนถึงตรงไหน เพราะมันเป็นภาพเคลื่อนไหวครับ เคลื่อนจากตรงนี้ถึงตรงนี้

“ผมต้องกระจายงานให้ทีม ความสูงเท่านี้ มันจะไกล กล้องเท่านี้ๆ และแสงจะเป็นอย่างนี้ นักแสดงหันหน้ามาทางนี้ เพราะฉะนั้นแสงต้องรับตรงนี้ถึงตรงนี้ได้ มีความเป็นระบบสูงในวิธีคิด ขณะที่ถ่ายภาพนิ่งผมอาศัยสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว”

นอกจากนี้ GM รู้ว่าเขายังเป็นเจ้าของบทเพลง ‘เปรตป่ะ’ ที่ยอดวิวยูทูบถล่มทลาย และกลายเป็นเพลงฮิตของวัยรุ่นในโลกออนไลน์ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับชายหนุ่มคนนี้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ