fbpx

โลกพร้อมหรือยัง?เมื่อโลกาภิวัตน์มีวันหมดอายุและเราต้องจัดระเบียบสังคมโลกใหม่

หลายคนคงนึกไม่ถึงหรือไม่ได้ตระหนักว่าโลกาภิวัตน์ก็มีวันหมดอายุเหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ ไมเคิล โอซัลลิแวน (Michael O’Sullivan) เจ้าของหนังสือ ‘The Leveling: What Next After Globalization’

Reason to Read

  • หลายคนคงนึกไม่ถึงหรือไม่ได้ตระหนักว่าโลกาภิวัตน์ก็มีวันหมดอายุเหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ ไมเคิล โอซัลลิแวน (Michael O’Sullivan) เจ้าของหนังสือ ‘The Leveling: What Next After Globalization’
  • ไมเคิลเชื่อว่าในอนาคตโลกของเราจะแบ่งออกเป็นสองขั้ว ได้แก่ ‘เลเวลเลอร์’ และ ‘เลวีอาธาน’ และจะถูกครอบงำโดยพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างน้อยสามแห่ง ได้แก่ อเมริกา สหภาพยุโรป และเอเชีย (ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง) ซึ่งจะมีแนวทางที่แตกต่างกันมากขึ้นในนโยบายเศรษฐกิจ เสรีภาพ สงคราม เทคโนโลยี และสังคม

หลายทศวรรษมานี้เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘โลกาภิวัตน์’ (Globalization) หรือ โลกไร้พรมแดนที่ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปทั่วโลก ประชาคมโลกสามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ

คำนี้ถูกนำมาใช้โดยนักเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) และเริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายช่วงหลัง พ.ศ. 2538 (ค.ศ.1995) เป็นต้นมา ทว่าหลายคนคงนึกไม่ถึงหรือไม่ได้ตระหนักว่าโลกาภิวัตน์ก็มีวันหมดอายุเหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ ไมเคิล โอซัลลิแวน (Michael O’Sullivan) ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยพรินซตัน เจ้าของหนังสือ ‘The Leveling: What Next After Globalization’

หนังสือเล่มนี้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับโลกหลังยุคโลกาภิวัตน์สิ้นสุดลง โดยผู้เขียนได้มองเห็นโลกที่มีหลายขั้วกำลังก่อตัวขึ้น แต่สถาบันระหว่างประเทศไม่ได้เตรียมตัวไว้สำหรับเรื่องนี้ ซึ่งจุดที่น่าสนใจที่สุดคือการเปรียบเทียบโลก ณ วันนี้ กับการอภิปรายของพัตนีย์ในศตวรรษที่ 17 ของอังกฤษ ในยุคนั้นมีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า เลเวลเลอร์ (The Levellers) คือกลุ่มคนที่เข้าร่วมการอภิปรายเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนหนึ่งของกรุงลอนดอนที่เรียกว่า พัตนีย์ (Putney) ความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ก็คือการสร้าง ‘ข้อตกลงของประชาชน’ ที่เป็นแนวคิดต้นแบบของประชาธิปไตย

แนวทางของกลุ่มเลเวลเลอร์นั้นมีความสร้างสรรค์และใช้งานได้จริง มีความน่าสนใจอยู่สองประการด้วยกัน ประการแรกคือบริบทของเวลา โดยข้อตกลงของกลุ่มเลเวลเลอร์จะอธิบายสิ่งที่ผู้คนต้องการจากผู้ที่ปกครองพวกเขาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น พวกเขาเสนอข้อจำกัดด้านระยะเวลาสำหรับตำแหน่งทางการเมืองและเสนอให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นหนี้ถูกนำมาใช้อย่างเท่าเทียมกันกับคนรวยและคนจน ซึ่งเป็นแนวคิดต้นแบบของประชาธิปไตยอย่างทุกวันนี้ดังที่ได้กล่าวไป

ประการที่สองคือวิธีที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มเลเวลเลอร์เคยถูกยกเลิกและดับฝันไปโดยผู้นำของกองทัพ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) และกลุ่มแกรนดีส์ (ชนชั้นสูงในยุคนั้น) ทำให้กลุ่มเลเวลเลอร์ล้มเหลวเช่นเดียวกับการเริ่มต้นทางการเมืองในอุดมคติจำนวนมาก ซึ่งไมเคิลมองว่าสิ่งนี้ควรเป็นการส่งเสริมให้พรรคการเมืองน้องใหม่ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น พรรค Change UK ของอังกฤษ ที่เพิ่งก่อตั้งในปีนี้ ได้รู้ว่าพวกเขาเข้าใกล้กระบวนการปฏิรูปการเมืองและการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหนแล้ว

กลับมาที่ประเด็น ‘โลกหลายขั้ว’ ที่กำลังก่อตัวขึ้น ไมเคิลเชื่อว่าในอนาคตโลกของเราจะแบ่งออกเป็นสองขั้ว ได้แก่ ‘เลเวลเลอร์’ ซึ่งจะเป็นประเทศที่ปฏิบัติตามหลักสิทธิและเสรีภาพ และ ‘เลวีอาธาน’ (Leviathans) ที่มีเสรีภาพน้อยกว่า และโลกที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้จะถูกครอบงำโดยพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างน้อยสามแห่ง ได้แก่ อเมริกา สหภาพยุโรป และเอเชีย (ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง) ซึ่งพื้นที่ทั้งสามแห่งนี้จะมีแนวทางที่แตกต่างกันมากขึ้นในนโยบายเศรษฐกิจ เสรีภาพ สงคราม เทคโนโลยี และสังคม

ประเทศขนาดกลาง เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น จะต้องดิ้นรนเพื่อหาที่อยู่ในโลก ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรใหม่จะถือกำเนิดขึ้น เช่น สันนิบาตฮันซา 2.0 (Hanseatic League 2.0) ในรัฐเล็กๆ ที่มีความเจริญก้าวหน้า เช่น สแกนดิเนเวียและบอลติก ส่วนสถาบันชั้นนำแห่งศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และองค์การการค้าโลก มีท่าทีที่จะปิดกิจการอย่างสูง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้โลกาภิวัตน์สิ้นสุดลงนั้น ไมเคิลอธิบายด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรกคือการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกได้ชะลอตัวลง และส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจถูกแปลงให้เป็นเรื่องการเงินไปหมด มีหนี้เพิ่มขึ้น และมีการเคลื่อนไหวทางการเงินมากขึ้น นั่นคือธนาคารกลางสูบเงินเข้าสู่เศรษฐกิจโดยการซื้อสินทรัพย์ เช่น พันธบัตร หรือแม้แต่หุ้นในบางกรณี เพื่อรักษาการขยายตัวระหว่างประเทศ

ประการที่สองคือผลข้างเคียงหรือการรับรู้ผลข้างเคียงของโลกาภิวัตน์มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่ง การครอบงำของบริษัทข้ามชาติและการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ซึ่งกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรง ซึ่งทั้งสองประการเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากไม่มีหน่วยงานกลางหรือผู้มีอำนาจในการกำหนดรูปแบบของโลกาภิวัตน์

และในขณะที่โลกวิวัฒนาการไปตามแนวทางของสังคมแบบเลเวลเลอร์และเลวีอาธาน ก็เป็นไปได้ว่าในบางประเทศ เช่น รัสเซีย ที่มีแนวทางสังคมคล้ายเลวีอาธานจะเป็นวิถีชีวิตที่เป็นที่ยอมรับ ส่วนประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจที่สุดคือจีน เมื่อเศรษฐกิจสูญเสียโมเมนตัมและวิวัฒนาการ อาจมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่มที่มีมุมมองแบบเลวีอาธานและเลเวลเลอร์ โดยบทบาทและมุมมองของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย เช่น สังคมเกย์จะเป็นจุดสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ไมเคิลอธิบายเพิ่มเติมว่าการเกิดขึ้นของระเบียบโลกใหม่ในแนวทางการปกครองของเลเวลเลอร์และเลวีอาธานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้จะมาพร้อมความท้าทาย โดยประเทศที่มีแนวทางแบบเลวีอาธาน เช่น จีน จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้การว่างงานที่เพิ่มขึ้นทำลาย ‘สัญญาของเลวีอาธาน’ ได้ เป็นต้น พอๆ กับความท้าทายในประเทศเลเวลเลอร์ คือ การรักษาสังคมที่มีความเปิดกว้างและมีความเป็นพี่เป็นน้องกันท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ