fbpx

‘แล้วมันจะผ่านไป’ ปรัชญาที่กำกับในหัวใจของ นริศ สามพายวรกิจ

จากวันนั้น… ที่ผมทิ้งแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจ และชีวิตที่ประเทศออสเตรเลีย กลับมาตามล่าความฝันที่ประเทศไทยในการเป็นนักร้อง จากโอกาสที่ โก้ มิสเตอร์แซกแมน หยิบยื่นให้ จนสามารถมีผลงานเพลงของตัวเองที่ทั้งแต่งเอง ร้องเองออกมาถึง 2 อัลบั้ม และช่วงเวลา 5 ปีนั้น นับเป็นช่วงที่ผมได้ทำในสิ่งที่ผมรักมากที่สุด และมีโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิตมากมาย

แต่วันหนึ่ง ก็เกิดหนทางที่ต้องเลือกอีกครั้ง ระหว่าง การอยู่เมืองไทยเพื่อทำในสิ่งที่รักต่อไป หรือ กลับไปสานต่ออนาคตในการยื่นสมัครสัญชาติออสเตรเลี่ยน ที่ประเทศออสเตรเลีย

ถือเป็นการตัดสินใจที่มีเวลาไม่มากนัก แต่การตัดสินใจในครั้งนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะจะต้องเลือกอะไรสักอย่าง และต้องยอมทำใจว่า อาจจะต้องทิ้งอีกอย่างไปโดยอาจจะไม่มีโอกาสได้มันกลับคืนมาอีกเลย

ในวันนั้น จากหลายเหตุผลและการยอมรับความเสี่ยงของผม การเลือกที่จะกลับมาประเทศออสเตรเลีย คือคำตอบสุดท้าย เพียงคิดแค่ว่า ถ้าทิ้งโอกาสในการรับสัญชาติออสเตรเลี่ยน ก็คงไม่สามารถได้โอกาสนี้กลับคืนมาอีกแน่นอน แต่กับการร้องเพลง ยังพอเห็นโอกาสว่าจะกลับมาสร้างฝันใหม่ได้ในอนาคต

ผมกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งในมหานครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยที่ต้องเริ่มปรับตัวใหม่ แต่ต้องมองหาโอกาสในการทำงานใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมใช้เวลากว่า 3 เดือนในการเดินเข้าออกร้านขายสินค้าไทย ร้านขายของเอเชี่ยน เพื่อหาไอเดียในการสร้างธุรกิจอะไรบางอย่างที่นี่

ผมมาสะดุดที่ หมูยอ และนึกไปถึงช่วงเวลาที่ผมเพิ่งมาอยู่ซิดนีย์ใหม่ๆ ที่อยากกินหมูยอ แล้วต้องซื้อหมูยอที่ขายอยู่ในร้านขายของชำ ที่แสนจะไม่อร่อยถูกปากอีกทั้งแป้งก็เยอะ ทั้งแข็ง ทั้งมีกลิ่น แต่ต้องทนกินไป เพราะไม่มีตัวเลือกอะไรมากนักในตลาด จึงจุดประกายความคิดได้ว่า ตัวผมเองเกิดในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องหมูยอ ครอบครัวผมก็มีสูตรหมูยอ ผมน่าจะปั้นหมูยออุบลฯ เป็นสินค้าแจ้งเกิดในซิดนีย์ได้

หลังจากที่คิดได้ว่า สนใจสินค้าตัวไหน ผมก็เริ่มสอบถามสูตรหมูยอจากแม่และน้าสาว ที่มีสูตรหมูยออยู่แล้ว แต่ก็มาติดตรงที่เรื่องส่วนผสม และตัวเนื้อหมูของที่ไทยและที่ออสเตรเลียซึ่งค่อนข้างต่างกัน จึงใช้เวลาทดลองสูตรอีกเกือบ 3 เดือน ในห้องพักกับหม้อนึ่งเล็กๆ และเครื่องปั่นเล็กๆ คู่ใจ ลองผิดลองถูกจนเกิดเป็นหมูยอที่มีรสชาติและความนุ่มเด้งเหมือนหมูยออุบลฯ มากที่สุด ผ่านการทดลองชิมของเพื่อนร่วมห้อง จนวันหนึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อร่อย ผมจึงเกิดความมั่นใจว่า หมูยออุบลฯ พร้อมออกสู่ตลาดแล้ว ในนามของ หมูยออุบลฯ ยี่ห้อ ดวงดาว

ผมเริ่มวางตลาดตั้งแต่ไม่กี่ชิ้น และค่อยๆ เริ่มขยายร้าน และเพิ่มจำนวนการส่งธุรกิจผลิตหมูยออุบลฯ ของผมก็เติบโตขึ้นทุกปี เริ่มมีการส่งไปวางขายตามรัฐต่างๆ และมีการขยับขยายที่ผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ จนมาถึงปี 2563 ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจได้รับผลประทบอย่างหนักโดยไม่ทันตั้งตัว เพราะมีมาตรการล็อคดาวน์เป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังเป็นไปอย่างรวดเร็วในวงกว้าง และเมื่อรัฐบาลออสเตรเลียมีมาตรการปิดประเทศ เพื่อป้องกันการเข้ามาของเชื้อไวรัสตัวนี้ผ่านคนเดินทางเข้าประเทศ ส่วนคนไทยที่ถือเป็นลูกค้าหลักของธุรกิจ ก็เริ่มทยอยเดินทางกลับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนักเรียนต่างชาติจำนวนมากที่ต้องกลับประเทศตัวเองเพราะไม่สามารถเรียนและทำงานในประเทศออสเตรเลียได้ในช่วงล็อคดาวน์ นี่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจของที่นี่

ธุรกิจของผมต้องเผชิญกับจุดต่ำสุด เมื่อไม่สามารถสร้างรายได้ได้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆแทบจะเท่าเดิม แม้จะมีมาตรการเยียวยาจากรัฐบาลก็ตาม

ในวันหนึ่ง… วันที่เหลือเงินในบัญชีธุรกิจเพียง $2.44 สิ่งที่ผมคิดได้ในตอนนั้นคือ ต้องตั้งสติ และค่อยๆ คิดหาทางในการกอบกู้สถานะการเงินของธุรกิจขึ้นมา ผมเชื่อว่า คำว่า ท้อ ไม่สามารถช่วยประคับประคองสถานการณ์นี้ได้ ผมมีทางเลือกไม่เยอะเลยสำหรับเกมนี้ ผมเลือกที่จะสู้ วางขายในร้านไม่ได้ ผมก็เริ่มวางแผนการส่งของถึงบ้าน หรือขับรถไปส่งด้วยตัวเอง ลงโฆษณาบ่อยๆ และขยันโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ในขณะเดียวกัน ผมก็ออกสินค้าตัวใหม่ ที่เอื้อกับสถานการณ์ เช่น ผลิตเซ็ทก๋วยเตี่ยวเรือพร้อมปรุงสำเร็จรูป มาพร้อมเส้น ตัวซอส และแคบหมู ซึ่งตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องอยู่บ้านในช่วงล็อคดาวน์ได้อย่างดี

และในที่สุด เซ็ทก๋วยเตี๋ยวเรือ สินค้าใหม่ของผม ก็กลายเป็นฮีโร่ในช่วงเวลาคับขัน เพราะมีลูกค้าและร้านค้าสั่งสินค้าเข้ามาจำนวนมากในช่วงเวลานั้น แถมยังพ่วงสินค้าเดิมที่มีอยู่แล้วไปอีกด้วย ถือว่าสามารถแก้เกมผ่านไปได้ด้วยดี ยอดขายเริ่มพุ่งสูงขึ้น เงินในบัญชีธุรกิจเริ่มมากขึ้น ผมจึงสามารถประคับประคองธุรกิจได้อีกครั้ง

วิกฤติไม่ได้เกิดเพียงแค่หนเดียว การล็อคดาวน์ 2 เดือนในช่วงปี 2563 ที่เคยว่าแย่ และผมก็เคยคิดว่า คงไม่มีอะไรแย่ไปกว่าวิกฤติในครั้งนั้น แต่ผมกลับคิดผิด เพราะการล็อคดาวน์ครั้งที่ 2 เกิดจากไวรัสโควิด-19สายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงกว่าครั้งก่อน และระบาดไปอย่างรวดเร็วจนทุกคนแทบตั้งตัวไม่ติด ครั้งนี้รัฐบาลออกมาตรการเข้มข้น สั่งห้ามออกจากบ้าน ยกเว้นเหตุจำเป็น และยอดตัวเลขคนติดและคนตายพุ่งสูงขึ้นกว่าการระบาดรอบแรกหลายเท่าตัว ธุรกิจร้านค้าระวังตัวมากขึ้นในรอบนี้ เพราะการระบาดเริ่มเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นทุกที ทุกพื้นที่มีการระบาดไปทั่วทั้งรัฐ จนแทบจะเป็นเมืองร้าง หลายธุรกิจต้องจำใจปิดตัวไปในครั้งนี้ หลังจากบอบช้ำมาจากครั้งก่อนและยังไม่ฟื้นตัวดี สำหรับประชาชนยังโชคดีที่รัฐให้การช่วยเหลือเยียวยาได้ทันท่วงนี้และทั่วถึง จึงทำให้การล็อคดาวน์ครั้งที่ 2 ที่ยาวนานกว่า 3 เดือนบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง  แต่สำหรับธุรกิจต่างๆ รวมถึง ผม เหมือนได้กลับมาที่จุดเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง และก็ยังไม่สามารถตอบได้เต็มปากว่า จะไม่เกิดการล็อคดาวน์อีกครั้งในอนาคต แต่อย่างน้อย ธุรกิจผมก็ยังไม่ถึงกับต้องล้ม ด้วยความไม่ประมาทจากประสบการณ์ผ่านวิกฤติครั้งก่อน ผมได้เร่งสร้างรากฐานของธุรกิจไว้ให้แน่น คุมต้นทุนการผลิตไว้ให้มั่น และที่ทำให้ผมผ่านมาได้ ก็เพราะ ผมพร้อมลงมือทำงานเองในทุกขั้นตอนในช่วงล็อคดาวน์ ซึ่งทุกธุรกิจจะขาดแคลนแรงงาน แต่ผมกลับมองว่า ดีเสียอีก เพราะมันคือการลดต้นทุนในการผลิตได้เยอะมากๆ ในช่วงที่ทุกคนต้องประหยัดและประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด โดยผมจะวางสเกลของธุรกิจไว้ให้เล็กที่สุด แต่ผลิตขายให้ได้มากที่สุด ซึ่งกลยุทธ์นี้ ทำให้ผมผ่านวิกฤติมาได้อีกรอบ

แต่ถึงอย่างไร ผมก็เชื่อเสมอว่า ทุกปัญหาย่อมมีทางออก และทางออกที่ดีจะเกิดจากสติที่ดี ในโลกของการเปลี่ยนแปลงและปัญหารุมเร้า คนที่แข็งแรงที่สุดต่างหากที่จะเป็นคนยืนหยัดได้ในทุกสถานการณ์ และคำว่าแข็งแรงอาจไม่ใช่เพียงแค่ร่างกาย แต่รวมถึงหัวใจ ที่ต้องแข็งแกร่งมากพอ ที่จะเผชิญกับทุกปัญหา ไม่ว่าร้ายหรือดี

ผมมีประโยคเดียวที่ยึดมั่นมาตลอดคือ แล้วมันจะผ่านไป

และกว่า 5 ปีที่ผมกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งในออสเตรเลีย ผมไม่เคยรู้สึกเสียใจเลยกับการตัดสินใจในครั้งนั้น แม้จะต้องเริ่มต้นที่ศูนย์อีกครั้งในวัยที่ควรจะมีอะไรเป็นหลักเป็นแหล่งแล้ว แต่สิ่งที่ได้กลับมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือการได้เรียนรู้ในการทำธุรกิจอย่างจริงจัง ผิดกับตอนที่คลุกคลีกับวงการเพลงที่ล้วนเป็นงานศิลปะและการพบปะผู้คน ผมเข้มแข็งมากขึ้นในทุกๆวัน ผ่านทั้งปัญหามามากมาย รวมถึงช่วงวิกฤติโควิด แต่ความทะเยอทะยานที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในต่างประเทศไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย

ยิ่งผมได้พบกับนักธุรกิจหลายท่านที่ล้วนแบ่งปันประสบการณ์ตั้งแต่ต้นจนมีธุรกิจมายืนบนจุดที่มั่นคงและประสบความสำเร็จ ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผมเป็นอย่างมาก และนั่นทำให้ผมค้นพบว่า เราควรเดินออกจากเซฟโซนของตัวเองบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองค้นหาความท้าทายให้กับชีวิต ซึ่งเราอาจจะพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของเราก็เป็นได้ อย่างเช่นผม ที่ได้บทสรุปให้กับตัวเองแล้วว่า ชอบและหลงใหลในการทำธุรกิจอาหารเป็นอย่างมาก และพร้อมที่จะเดินตามความฝันอีกครั้ง กับการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอนาคต หลังจากที่เคยทำมันสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งในการเป็นนักร้อง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ