fbpx

เอไอเอส & ปตท. ประสานเสียง การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องของทุกคนแม้องค์กรใหญ่ก็ต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ

ตั้งแต่เจอสถานการณ์โควิด ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นแล้วว่า ต่อให้เป็นองค์กรขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้อีกแล้ว แต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจและการลงทุนเพื่อให้พร้อมรับมือกับความท้าทายและอยู่รอด องค์กรใหญ่ระดับแนวหน้าของไทยอย่าง เอไอเอส และ ปตท. ที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากองค์กรขนาดเล็ก ใช้โอกาสนี้พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยนวัตกรรม แน่นอนประสบการณ์จากองค์กรใหญ่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาเสมอ มาดูกันว่าวิกฤตโควิดสร้างโอกาสอะไรให้กับเอไอเอสและปตท.

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม เอไอเอส โควิดไม่ใช่วิกฤตใหญ่ครั้งแรกของเอไอเอส การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีแต่ละครั้งสร้างวิกฤตให้ต้องหาทางรอดเสมอ จากยุคที่คนคุยโทรศัพท์ มานิยมใช้ SMS จนถึงยุคอินเทอร์เน็ต ที่เอไอเอสต้องหาทางรอดตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและผู้บริโภค จนมาถึงยุคอะไรดีต้องหามาให้ลูกค้า แม้กระทั่งการจัดหาคอนเทนต์บันเทิงเข้ามาให้บริการ ปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ปรับตัวเองไปสู่ดิจิทัลเซอร์วิสที่ไม่จำกัดโดยใช้นวัตกรรมด้านโทรคมนาคม ปรับตัวโดยมีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง และพัฒนามาตามแผนในยุคของ Digitalization อย่างต่อเนื่อง กระทั่งองค์กรอนามัยโลกประกาศโควิดแพร่ระบาด และรัฐบาลสั่งล็อคดาวน์

“จากวิกฤต ณ วันนั้นที่ทำให้พนักงานไปทำงานไม่ได้ แต่แค่เพียงข้ามคืนก็ทำให้พนักงานเอไอเอสกลายเป็นพ่อค้าแม่ค้าบนเฟซบุ๊ค การหยุกชะงักเพราะวิกฤตทำให้อยู่ในโหมด ไม่ Do ก็ Die กลายเป็นโอกาสให้คิดและลงมือทำในสิ่งที่อาจจะไม่เคยทำอย่างรวดเร็ว เหมือนที่เราเห็นการปรับตัวของผู้คนเข้าหาดิจิทัลเร็วขึ้นกว่าเดิม 3-4 ปีเพราะมีโควิด รวมถึงกิจกรรมบางอย่างที่ไม่คิดว่าจะเกิดได้ในโลกดิจิทัลก็เกิดขึ้น เช่น ขี่จักรยานทิพย์​ วิ่งทิพย์​ ฯลฯ ซึ่งมีวิจัยของแมคคินซี่บอกไว้ว่า โควิดทำให้ผู้บริโภครับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้เร็วกว่าเดิมถึง 7 ปี”

อราคิน กล่าวว่า การเร่งทำในภาวะวิกฤตแม้จะเอาตัวรอดไปได้ แต่เครื่องมือดิจิทัลที่เกิดขึ้นจะขาดการเชื่อมต่อ ทำให้หลังโควิดสิ่งที่ต้องทำจึงเหมือนการจัดระบบระเบียบเทคโนโลยีที่มีและเกิดขึ้นใหม่ให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้การบริการลูกค้าที่ดีขึ้น โดยAIS มีการใช้ AI.เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และกลายเป็นที่มาของการเริ่มต้นบทใหม่ของ​AISในการประกาศตัวเป็น Cognitive Telco หรือ องค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ ที่จะมี 3 องค์ประกอบสำคัญคือ สร้างการมีส่วนร่วม หรือ Interactive กับลูกค้าตลอดเวลา นั่นคือ บริการใหม่ๆ ของ AIS ที่จะเกิดขึ้นรวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างนวัตกรรมจะต้องมีการ Interactive กับผู้ใช้บริการ สอง-เป็นบริการเฉพาะบุคคล หรือ Personalization ซึ่งเป็นแนวโน้มที่พูดถึงกันมาก แต่ AIS จะทำให้เกิดขึ้นจริงผ่านเครือข่าย AIS 5G และมีความรวดเร็วและตอบสนองแบบ Real Time เพราะโลกเปลี่ยนเร็วธุรกิจต้องเร็วให้ทัน

ขณะที่ ฝั่งปตท. สมนึก จรูญจิตเสถียร ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์นวัตกรรมและบริหารจัดการสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่าโควิดทำให้เจอวิกฤตไม่น้อยกว่าใคร จากธุรกิจที่มีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ อินฟราสตรัคเจอร์ได้ผลกระทบทุกส่วน ต้นน้ำการผลิตเมื่อทุกอย่างหยุดชะงักการใช้น้ำมันน้อยลงต้องลดกำลังการผลิตโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานที่หายไปเลย ไตรมาสแรกปี 2563 ปตท.ถึงกับต้องเจอภาวะรายได้สุทธิขาดทุนเป็นครั้งแรก ต้องมีการสต็อปลอสต์ในกลุ่มปิโตรเคมีราคาสินค้าในคลังลดลงไปสามเท่า

“วิกฤตโควิดปีแรกทำให้ผู้บริหารต้องมาทบทวนกลยุทธ์ใหม่ ปรับมาเป็นกลยุทธ์เอาตัวรอดในทุกวิกฤต โดยใช้หลัก 4 R 1- resilience ต้องยืดหยุ่นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง 2-Restart กลุ่มปตท.มีการรวมกันอย่างหนาแน่นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน 3-Re-imagination เริ่มมองหาธุรกิจใหม่ และ 4-Reform จากองค์กรใหญ่ปรับตัวช้าเพราะโครงสร้างองค์กร ทำให้มีการปรับรูปแบบโครงสร้างการบริหารจัดการ เพื่อนำมาแก้วิกฤตให้มีประสิทธิภาพ ทันท่วงทีมากขึ้น”

สำหรับ กลยุทธ์และนวัตกรรมที่ AISและปตท.นำมาใช้หลังโควิดเพื่อเชื่อมต่อกับการเปิดเมืองนวัตกรรมนั้น อราคิน กล่าวว่า นวัตกรรมที่ดีต้องแก้ไขปัญหา และสร้างประโยชน์ให้ใครสักคน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมมักจะไป​ Disrupt อะไรบางอย่างเสมอ และปัญหาในภาคสังคมเมืองที่ต้องระวังอย่างมากของไทยคือ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัจจุบันไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และเป็นอันดับสี่ของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ นั่นคือสิ่งที่ธุรกิจรวมทั้ง​ AIS​ ตระหนักมาก​ ว่าการรวยคนเดียวแต่สังคมเหลื่อมล้ำธุรกิจจะอยู่ไม่ได้เพราะไม่รู้จะขายใคร การเปิดเมืองนวัตกรรมที่ควรเป็น จึงต้องอยู่บนพื้นฐานว่า ทำอย่างไรให้คนใช้ชีวิตได้ ธุรกิจต้องคิดให้ออกว่าให้ประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร โดยเชื่อว่าธุรกิจจะยั่งยืนได้ต้องมีทั้ง Give and Take

“จะเห็นว่าทุกปัญหาในสังคม โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำและสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งแก้ได้ ฉะนั้น นวัตกรรมต่อไปควรต้องเน้นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมแต่เราทำคนเดียวไม่ได้ต้องอาศัยความร่วมมือ ทุกคนในสังคมควรมีส่วนร่วม”

สมนึก เองก็เห็นด้วยว่า เรื่องของนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ และชี้ให้เห็นว่า เหตุผลหนึ่งที่ให้สังคมไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง ก็เพราะมีนวัตกรรมเติบโตแค่บางพื้นที่ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นนวัตกรรมจึงไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่นวัตกรรมเป็นหน้าที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบ

“ที่สำคัญนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ต้องกล้าที่จะลอง เพราะไม่ลองก็เท่ากับล้มเหลวตั้งแต่ต้น และจะให้ได้ผล ต้องศึกษาผู้บริโภคอย่างลึก ๆ และต้องรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อองค์กรขนาดใหญ่ขยับตัวช้า อย่างปตท.เราก็ปรับมาเซ็ตทีมเล็ก ๆ เป็นทีมเคลื่อนที่เร็วขององค์กร ไม่เอาแค่วิศวะมารวมกันเพราะจะได้มุมมองไม่ครบถ้วน เป็นวิธีการที่เราเปลี่ยนกลยุทธ์หลังโควิด เริ่มจากจุดเล็ก ๆ พอสำเร็จแล้ว ความสำเร็จจะรวมเป็นเรื่องใหญ่ได้เอง และอย่างมองข้ามพาร์ทเนอร์ชิปเพราะนวัตกรรมไม่ต้องสร้างใหม่เสมอไป ถ้ามีนวัตกรรมอยู่แล้วโอกาสโตแบบก้าวกระโดดก็เป็นไปได้ด้วย”

และนั่นคือบทเรียนจากวิกฤต ที่แม้แต่องค์กรใหญ่ก็ต้องปรับเปลี่ยน และไม่ลืมที่จะใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการกลับมาเติบโตและเดินไปข้างหน้า โดยใช้โอกาสการเรียนรู้ที่ได้จากวิกฤตเป็นจุดเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ร่วมพบกับการเชื่อมสู่โลกแห่งนวัตกรรมในงาน “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022” หรือ SITE 2022 จัดโดย NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน”

ครั้งแรกในไทย! ที่คุณสามารถเข้าร่วมงานได้ในแบบไฮบริดทั้งทางออนไลน์ Metaverse เต็มรูปแบบ เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเข้าร่วมงานผ่าน อวาตาร์ (Avatar) หรือไปสัมผัสโลกจริงด้วยตนเอง ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม (ซอยโยธี) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 #เข้าร่วมฟรี ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ