fbpx

เส้นทางชีวิตดิบเถื่อน กรุ่นกลิ่นเครื่องเทศ ของซามูไรพเนจร เจ้าของหนังสือ ‘อย่าด่าอินเดีย’

บทสัมภาษณ์นักเขียนหนุ่มอดีตนักหนังสือพิมพ์ดาวรุ่ง ที่ตัดสินใจลาออกเพื่อไปใช้ชีวิตที่ ‘ปูเน่’ เมืองใหญ่อันดับสองรองจากมุมไบที่อยู่ในรัฐมหารัชตะ ของประเทศอินเดีย

Reasons to Read

  • บทสัมภาษณ์นักเขียนหนุ่มอดีตนักหนังสือพิมพ์ดาวรุ่ง ที่ตัดสินใจลาออกเพื่อไปใช้ชีวิตที่ ‘ปูเน่’ เมืองใหญ่อันดับสองรองจากมุมไบที่อยู่ในรัฐมหารัชตะ ของประเทศอินเดีย 
  • จากเรื่องราวสุดลุยของคนหนุ่มผู้เปรียบได้ดั่งกับ ‘ซามูไรพเนจร’ ในดินแดนภารตะ บอกเล่าประสบการณ์ใช้ชีวิตยังแดนไกลผ่านเพจ ‘อย่าด่าอินเดีย’ ซึ่งมีผู้ติดตามนับหมื่นคน สู่พ็อกเก็ตบุ๊กในชื่อเดียวกัน

เดียร์-อินทรชัย พาณิชกุล ชายหนุ่มผู้เปรียบเปรยตัวเองว่าเป็นดั่ง ‘ซามูไรพเนจร’ ที่มีความสุขกับการขึ้นเหนือล่องใต้ไปพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ในฐานะ ‘นักข่าว’ เขาสั่งสมประสบการณ์ในยุทธจักรสื่อมายาวนานเกือบ 14 ปี และในช่วง 3 ปีหลังก็ได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็น ‘ผู้ช่วยบรรณาธิการ’ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในสายอาชีพที่อาจเรียกได้ว่ามาถึงก่อนวัยอันควร

เมื่อเรียกว่า ‘ความก้าวหน้า’ มันก็ควรจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่บทบาทใหม่ที่ได้รับอาจจะไม่เหมาะกับซามูไรพเนจรผู้นี้ทำให้มันไม่เป็นเช่นนั้น

“จากที่เคยมีอิสระเสรีก็ต้องมานั่งอยู่หน้าคอมพ์ คอยตรวจงาน สั่งงาน ตื่นเช้ามาต้องนั่งเช็กข่าว เที่ยงต้องกินข้าวหน้าคอมพ์ กว่าจะลากสังขารกลับบ้านได้ก็ดึกดื่น คุณภาพชีวิตเริ่มแย่ ไม่มีความสุข รู้สึกอึดอัด ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่สไตล์เรา รู้สึกเบื่อมาก” เขาพรั่งพรูความคับข้องใจออกมาในช่วงเริ่มต้นของการสนทนา

สีหน้าท่าทางขณะพูดถึงหน้าที่ในอดีตที่ผ่านมานานนับปี ยังคงมีคราบของความเบื่อหน่าย อึดอัดใจอยู่อย่างชัดเจน จึงไม่แปลกที่วันหนึ่งเขาเลือกที่จะก้าวออกมาจากจุดนั้นและเดินไปตามเส้นทางที่เขากำหนดเอง ด้วยการเลือกไปใช้ชีวิตในดินแดนที่ห่างไกลจากคำว่าสวยหรู สะดวกสบาย อย่าง ‘เมืองปูเน่’ ประเทศอินเดีย

นี่คือบทสัมภาษณ์หลังจากที่ชายผู้นี้ได้ออกไปใช้ชีวิตในดินแดนแห่งนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีเต็ม และเก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับมาพร้อมงานเขียนเล่มแรกในชีวิตที่เขาเรียกว่าเป็น‘บันทึกชีวิตดิบเถื่อนที่เมืองปูเน่’ เขาตั้งชื่อมันง่ายๆ ว่า ‘อย่าด่าอินเดีย’  

GM : ทำไมต้องอินเดีย?

อินทรชัย : ตอนแรกก็ไม่รู้จะลาออกไปทำอะไร คือเราไม่มีความคิดที่อยากจะเรียนต่อ ผมคิดว่าการทำงานที่ได้ออกพื้นที่ไปเจอผู้คน มันเป็นการเรียนรู้ของเราอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าไปเรียนภาษาอังกฤษดีกว่า เพราะเป็นคนมีปมมาตลอด ภาษาอังกฤษไม่ถึงกับแย่มาก แต่เราไม่กล้าพูด ที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือตอนเป็นนักข่าวแล้วถูกเชิญไปทำข่าวต่างประเทศ เราพึ่งล่ามอย่างเดียว พอมองตัวเองเปรียบเทียบกับนักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ เขาสัมภาษณ์ปร๋อเลย เลิกงานก็ไปแฮงเอาต์ คุยกันสนุกสนาน คือมันได้ทั้งคอนเน็กชัน ได้ทั้งงาน แต่เราได้แต่นั่งมองตาปริบๆ

ถ้าไปอเมริกา อังกฤษ ต้องใช้เงินเยอะ อีกอย่างคือไม่อยากไปทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อที่จะได้มีชีวิตอยู่รอดในต่างประเทศ แต่เราอยากไปท่องเที่ยว ไปผจญภัย ไปเรียนภาษาอังกฤษ ลองคำนวณแล้วว่าถ้าลาออกจะมีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก้อนหนึ่ง ประมาณ 400,000 บาท แล้วจะไปไหนดี อเมริกา อังกฤษหมดสิทธิ์ เลยเปลี่ยนมาดูในเอเชีย ฟิลิปปินส์ ตอนนั้นรัฐบาลเขามีนโยบายกวาดล้างยาเสพติด คนตายกันรายวัน มาเลเซียก็ไม่ท้าทาย อยากไปไกลๆ กว่านี้ เลยเลือกอินเดีย เพราะมันเหมาะกับสตางค์ในกระเป๋า และอินเดียมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ นั่นหมายความว่ายังไงก็ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนจะสำเนียงแขก สำเนียงอะไรก็ ‘ช่างแม่ง’ บ้านเราไม่ได้รวย ต้องเลือกประเทศที่มันเหมาะกับเรา และอินเดียเหมาะกับเราที่สุด

GM : ในเพจ ‘อย่าด่าอินเดีย’ ที่คุณเปิดขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตประจำวันระหว่างที่อยู่ที่โน่น เขียนเอาไว้ว่า “ก่อนไปหลายคนว่าไม่น่าอยู่ พอมาดูติดใจไม่อยากกลับ” ที่ว่าไม่น่าอยู่มีอะไรบ้าง?

อินทรชัย : ตอนนั้นยังไม่มีความรู้ก็เลยเข้าใจว่าเมืองปูเน่ คงมีแต่ฝุ่น มีคนนั่งเกวียนวัวควาย มีขอทานมารุมมาล้อม มีแต่ความสกปรก คงมีแต่ความแห้งแล้ง ทุ่งนา บ้านเมืองทรุดโทรม คือคิดอย่างนี้เลยนะ เตรียมใจไว้แล้วว่าชีวิตต้องเผชิญกับความยากลำบากแน่นอน

GM : แล้วพอไปดูติดใจไม่อยากกลับเพราะอะไร

อินทรชัย : สิ่งที่เห็นตอนไปปูเน่ต้องใช้คำว่าทึ่งเลยดีกว่า คือคาดการณ์ผิดไปหมดเลย ปูเน่เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากมุมไบที่อยู่ในรัฐมหารัชตะ สำหรับผมแทบจะไม่ต่างอะไรกับกรุงเทพฯ เลย สนามบินก็พอๆ กับดอนเมืองบ้านเรา มีห้างสรรพสินค้า มีร้านอาหารตั้งแต่ร้านหรูๆ จนถึงสตรีทฟู้ด ผับ บาร์หรูๆ อย่างที่ทองหล่อหรือเอกมัยบ้านเรามี ปูเน่ก็มี ย่านธุรกิจแบบสีลม พระรามเก้า ชิดลม ที่ปูเน่ก็มี และในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ผมคิดว่าเมืองปูเน่เขียวกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ อีกอย่างคือเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของเขาเจริญกว่าไทยอีก ยกตัวอย่างในเรื่องของความเป็นสังคมไร้เงินสด ถ้าไม่นับคนยากคนจน ทุกคนแทบจะทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือหมดแล้ว แผงผักยังมีคิวอาร์โค้ดเลย

GM : เจอเหตุการณ์คัลเจอร์ช็อกบ้างไหม

อินทรชัย : คัลเจอร์ช็อกที่คิดออกตอนนี้เร็วที่สุดแล้วก็ติดตรึงไปจนตายก็คือการจราจรของอินเดีย ตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเท้าออกจากสนามบิน คือแม่งบีบแตรกันยิ่งกว่าเวียดนามอะผมว่า ขอทางก็บีบแตร ไล่ก็บีบแตร เหมือนจะรีบไปไหนกันหมดทุกคนก็ไม่รู้ เดี๋ยวแซงซ้าย ปาดขวา ย้อนศร เดี๋ยวตรงนั้นวัวข้ามถนน คือแม่งโคตรมั่วเลย การจราจรบนท้องถนนอินเดียเขาจะมีคำพูดว่า ‘Good horn’ คือคุณต้องมีแตรที่ดัง และต้องมี ‘Good breaks’ คือขับรถบนท้องถนนอินเดียนี่คือห้ามจ่อตูดเลย ต้องคอยเบรกตลอดเวลาไม่งั้นชนกันเพราะว่ารถมันหนาแน่นมาก ที่สำคัญที่สุดคือ  ‘Good luck’ ก็คือก็ขอให้มึงโชคดี

GM : ห้องน้ำหายากจริงไหม

อินทรชัย : ห้องน้ำสาธารณะมี แต่ ‘กูไม่ใช้’ คือเท่าที่ไปสังเกตการณ์หลายที่คือสกปรกมาก บางที่แทบจะโดนปล่อยทิ้งร้าง บางที่เข้าไปถึงกลิ่นนี่คือผงะ ต้องเดินถอยหลังเลย เราเป็นผู้ชายยังโชคดีหน่อยก็หลับหูหลับตาฉี่ ไปแต่ถ้าขี้นี่หมดสิทธิ์ ทั้งมืดทั้งสกปรก บางทีไม่มีน้ำด้วยไม่รู้ขี้ไปได้ยังไง ห้องน้ำสาธารณะที่อินเดียส่วนใหญ่แล้วค่อนข้างสกปรกมาก ส่วนใหญ่ที่เขาไปใช้กันก็คือในห้าง ร้านอาหาร ซึ่งก็จะมีแต่ชนชั้นกลางที่เข้าไปได้ แต่คนยากคนจนที่เป็นแรงงานตามท้องถนนก็จะถูกกีดกันหน่อย ก็ต้องขับถ่ายกันตามมีตามเกิด เท่าที่ผมเห็นนะ นั่งขี้ข้างถนนยังมีเลย

GM : หนังสือ ‘อย่าด่าอินเดีย’ เป็นสิ่งที่คิดไว้ก่อนไปหรือไปได้แรงบันดาลใจจากที่นั่น

อินทรชัย : ด้วยความที่ทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนมาเกือบ 14 ปี เราก็มีความฝันอยู่แล้วว่าอยากจะมีพ็อกเก็ตบุ๊กเป็นของตัวเองสักเล่ม แต่จะเขียนอะไรก็แล้วแต่จังหวะชีวิตของเรา ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้เขียนเลย ความฝันก็ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักตลอด แต่พอมาที่อินเดียนี่มันเหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ก็เลยคิดกับตัวเองก่อนไปว่าถ้าไม่ได้หนังสือกลับมาสักเล่มนะ มึงแม่งโคตรกระจอกเลย

GM : แต่ก่อนที่จะมีงานรวมเล่มก็เริ่มจากการเปิดเพจชื่อเดียวกับหนังสือ

อินทรชัย : การเปิดเพจมาจากการที่ช่วงแรกที่ไปอินเดีย อะไรก็ดูตื่นเต้น ดูแปลกใหม่ไปเสียหมดเลย ก็เลยเริ่มโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวก่อน แล้วเพื่อนให้ความสนใจมากเลย เข้ามาคอมเมนต์ถล่มทลาย แล้วบางคนก็ยุให้เปิดเพจ ตอนแรกเราก็ลังเลนะว่าจะเปิดดีไหม เพราะเราก็ไม่ได้จะจริงจัง ที่สำคัญคือเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเดีย ถ้าต้องมานั่งค้นคว้าเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ลงลึกถึงรากเหง้าแบบนี้ไม่เอานะ เพราะมันไม่ใช่เป้าหมายของเราไง แต่ถ้าสมมติว่าเราเป็นนักเรียนไทยในอินเดียที่มาเขียนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตให้คนไทยที่ไม่ได้มาอินเดียและฟัง เหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟังแบบนี้โอเค ก็เลยเปิด

GM : เนื้อหาในเพจกับหนังสือต่างกันไหม?

อินทรชัย : ในเพจส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวัน เจออะไรแปลกๆ น่าสนใจมาบ้าง โพสต์สั้นๆ แล้วก็ถ่ายรูปให้ดูว่ามันเป็นยังไง เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากกว่า แต่พอมันมาเป็นหนังสือผมก็เลยให้ความสำคัญกับมันมาก มีการออกแบบ การวางโครงเรื่อง เพราะฉะนั้น เนื้อหาในหนังสือแทบจะเป็นการเขียนขึ้นใหม่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นเนื้อหาจากเพจที่เอามาเรียบเรียงอีก 20 เปอร์เซ็นต์

GM : ทำไมถึงเขียนหนังสือในวันที่สิ่งพิมพ์ไม่ได้รุ่งเรือง

อินทรชัย : ด้วยความที่เคยเป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์ เคยทำนิตยสาร และแม้กระทั่งก่อนที่จะออกจากงานยังได้มีโอกาสทำสื่อออนไลน์ ก็มองว่าตัวเองอยู่ระหว่างกึ่งกลางโลกเก่ากับโลกใหม่ เพราะฉะนั้น ก็จะยังเห็นความแตกต่าง เห็นเสน่ห์บางอย่าง ผมรักหนังสือ รักการอ่าน ยังมีความสุขกับการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ เพราะสำหรับผมการอ่านสเตตัสบนเฟซบุ๊กหรืออ่านบทความขนาดสั้น ดูคลิปต่างๆ ในโซเชียล ค่อนข้างไวและฉาบฉวยกว่า มันไม่ถึงอกถึงใจเหมือนเราอ่านหนังสือซึ่งเราต้องใช้สมาธิ แล้วพอเราใช้สมาธิกับการทำอะไรสักอย่าง มันจะทำให้เราได้อรรถรสแบบเคลือบเคลิ้มเลยแหละ

“คนเกลียดอินเดียก็เหมือนคนเกลียดปลาร้า ไม่อ่านแล้วไม่กินแล้ว
แต่ในขณะเดียวกันถ้าเป็นส้มตำปูปลาร้าที่อร่อยๆ ความเหม็นมันก็คือเสน่ห์”

GM : เปรียบเทียบหนังสือเล่มนี้กับอาหาร

อินทรชัย : เหมือนตำปูปลาร้าแล้วกัน บางคนแค่ดูชื่อเรื่อง ‘อย่าด่าอินเดีย’ คนเกลียดอินเดียก็เหมือนคนเกลียดปลาร้า ไม่อ่านแล้วไม่กินแล้ว แต่ในขณะเดียวกันถ้าเป็นส้มตำปูปลาร้าที่อร่อยๆ ความเหม็นมันก็คือเสน่ห์ ถ้าเป็นอาหารก็เลยเปรียบเหมือนส้มตำปูปลาร้าที่คนรักก็รักฉิบหาย คนเกลียดก็เกลียดฉิบหายเลย

GM : คนไทยในสายตาคนอินเดียเป็นยังไง

อินทรชัย : ผมก็ไม่ได้คลุกคลีกับเพื่อนชาวอินเดียนานขนาดนั้น แต่คนอินเดียส่วนใหญ่ที่ผมได้พบมองว่าคนไทยน่ารัก ยิ้มง่าย เป็นกันเอง นิสัยดี เรียบร้อย และที่สำคัญที่สุดคืออ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ มีคำหนึ่งที่เขาใช้บ่อยมากเลยกับคนไทยคือ ‘Humble’ ที่แปลว่าถ่อมตน แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เพื่อน 99 เปอร์เซ็นต์ พอชวนมาเที่ยวเมืองไทย ก็จะนึกถึงพัทยา พัฒน์พงศ์ ที่ผมกำลังจะบอกคือเมืองไทยมีภาพลักษณ์บางอย่างที่มันไม่สามารถสลัดออกไปได้ อันนี้คือจากประสบการณ์ของผมนะที่เห็นว่าเขามีภาพจำของเมืองไทยเป็นแบบนี้

GM : ทำไมต้อง ‘อย่าด่าอินเดีย’ 

อินทรชัย : คำว่า ‘อย่าด่าอินเดีย’ มันไม่ใช่แบบว่าโลกสวยว่าอินเดียดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ดีทุกอย่างนะ อินเดียก็มีเรื่องเหี้ย ประสบการณ์เหี้ยๆ ผมก็เจอ ซึ่งก็เขียนลงไปในหนังสือ เราไม่ปฏิเสธความจริง แต่ที่ผมต้องการให้หนังสือเล่มนี้มันทำหน้าที่ของมันก็คือ ก่อนที่จะด่าใคร ก่อนที่จะจงเกลียดจงชังใคร คุณรู้จริงหรือยัง คุณไปสัมผัสมาก่อนหรือเปล่า คืออยากจะให้คนเปลี่ยนทัศนคติหรือถ้ายังไม่เปลี่ยน ก่อนที่จะตัดสินใคร ก่อนที่จะด่าใครก็ควรศึกษา ไม่ใช่ว่าฟังต่อๆ เขามา

GM : เคยโดนคนอินเดียด่าไหม?

อินทรชัย : คือส่วนใหญ่คนอินเดียด่าก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องก็เลยไม่ค่อยโกรธ ถ้าเป็นเมืองไทยเราไปร้านอาหารแล้วเราเจอพนักงานชักสีหน้าใส่ เราโกรธนะ แต่พออยู่อินเดีย เขาโวยวายขึ้นมาเป็นภาษาฮินดีเนี่ยเราตกใจมากกว่า คือมันก็เคยมีแหละคนอินเดียด่า ด้วยเพราะเราอาจจะช้า เฟอะฟะ ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ใสๆ เจอเขาตะคอก ตวาดใส่บ้าง แต่เราฟังไม่รู้เรื่องก็เลยไม่โกรธ ถ้ารู้เรื่องก็อาจจะโกรธ

GM : อยากพูดอะไรกับใครก็ตามที่ด่าอินเดีย

อินทรชัย : ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่รู้อะไรเลยเหมือนกันก่อนที่จะไปอินเดีย ก็มีอคติเหมือนทุกคน แต่พอผมเปิดใจ ผมไม่กลัว ผมมีความกล้าที่จะออกไปแสวงหาประสบการณ์อะไรใหม่ๆ มันก็เหมือนเราทำลายกำแพงแล้วก็ได้ไปเจอประสบการณ์สุดวิเศษที่เราไม่คาดคิดมาก่อน คนอินเดียก็เหมือนคนทั่วโลก อย่าใช้คำว่าคนอินเดีย คนไทย คนมาเลย์  คนกัมพูชาเลย ใช้คำว่าเป็นมนุษย์ดีกว่า มันก็มีทั้งดีทั้งเลว อยากให้คนที่ไม่ชอบอินเดีย ด่าอินเดีย และเกลียดอินเดีย ลองเปิดใจ อย่าด่าก่อนถ้าไม่รู้จริง ไม่เคยไปจริง ไม่เคยสัมผัสจริง ฟังต่อๆ กันมา สัมผัสแค่กระผีกเดียว ลองไปดูถ้าไม่ชอบก็อีกเรื่อง

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะแนะนำคือคนที่สนใจอยากจะเรียนภาษาอังกฤษ ถ้าเรียนในเมืองไทยแล้วอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือพูดง่ายๆ ว่าอยากจะโกอินเตอร์ อยากออกไปเดินทางไปใช้ชีวิตด้วย ได้ภาษาอังกฤษด้วย โอเคมันมีประเทศตั้งเยอะ อย่างนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกาอะไรพวกนี้ คือบ้านรวยก็ไป แต่ถ้าสนใจประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ ประเทศที่มันๆ ได้ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วย แล้วงบไม่เยอะ สบายกระเป๋าเลยแหละ อยากให้อินเดียเป็นหนึ่งในตัวเลือกนอกเหนือไปจากตัวเลือกป๊อปปูลาร์ทั้งหลาย ถูกกว่าและดี คือนอกจากคุณได้ภาษาอังกฤษกลับมา ที่สำคัญคือคุณจะได้ประสบการณ์ชีวิตจริงๆ ด้วย

GM : ขออนุญาตถามถึงช่วงที่คุณพ่อป่วยหนักระหว่างที่อยู่อินเดีย และต่อมาก็เสียชีวิต ช่วงนั้นเป็นยังไงบ้าง

อินทรชัย : พ่อผมเป็นมะเร็งมาเกือบแปดปีแล้ว แต่เราก็ไม่คิดว่าจะมาด่วนจากไปแบบนี้ ก่อนขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิยังแซวพ่อเล่นอยู่เลยว่าพ่ออย่าเพิ่งตายนะ รอเรียนจบก่อนจะไปดูแล คือชีวิตมันตลกตรงที่ว่า เราลาออกจากงาน ไปอินเดีย เพิ่งสมัครเรียน เพิ่งเช่าหอได้ ซื้อของเข้าห้องแบบใหญ่โตเพื่อที่จะอยู่เป็นปี ไม่ถึงสองเดือนทุกอย่างกำลังลงตัวเลย น้องโทร.มาบอกพ่อเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ผมกลับเมืองไทยเลย ทิ้งทุกอย่างเลยนะไอ้ที่เพิ่งซื้อทั้งหลาย หมอบอกอยู่ได้ 3-4 เดือน แต่พอกลับไปไม่ถึง 20 วันพ่อก็ตาย โรคมะเร็งมาไวมาก คือผมยังคิดอยู่เลยนะถ้าวันนั้นตัดสินใจลีลา ยึกยัก ผมจะเสียใจไปตลอดชีวิตเลย ผมเป็นคนไม่สนิทกับพ่อ แต่ช่วงเวลา 20 วันสุดท้ายเนี่ยเป็นช่วงที่ผมทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้วในฐานะลูกชายคนหนึ่งของพ่อ คิดถูกมากที่ตัดสินใจกลับ

แล้วโชคชะตาแม่งโคตรสวิงเลย ที่โรงเรียนส่งเมลมาบอกว่ากลับมาเรียนได้นะที่โรงเรียนเข้าใจสถานการณ์เรา ยินดีต้อนรับกลับไปเสมอ สรุปไปเริ่มต้นใหม่ได้ คือชีวิตเรามันโคตรไม่แน่นอนเลย วันหนึ่งลาออกจากงาน วันหนึ่งอยู่อินเดีย วันหนึ่งกลับมาอยู่เมืองไทย อีกวันหนึ่งกลับไปอยู่อินเดียอีกแล้ว

“มันทำให้ผมรู้ต้องปล่อยวางบ้างที่ผ่านมาชีวิตตอนอยู่เมืองไทยมันได้จนเคยตัวพอทำอะไรไม่ได้ดั่งใจมันก็หงุดหงิด แต่พอมาอยู่อินเดียเราทำใจได้กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ค่อนข้างจะแตกต่างอย่างสุดขั้ว”

GM : บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตที่อินเดีย

อินทรชัย : อันดับแรกนะครับ มันทำให้ผมอดทนมากเลย หมายถึงเราไปเจอวัฒนธรรมใหม่ๆ ค่านิยมใหม่ๆ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งหลายอย่างมันขัดอกขัดใจเรามาก หลายอย่างมันไม่สะดวกสบายเท่าบ้านเรา มันทำให้ผมรู้สึกว่าเราต้องปล่อยวางบ้าง เพราะที่ผ่านมาชีวิตเราตอนอยู่เมืองไทยอะไรหลายๆ อย่างมันก็ได้จนเคยตัว พอทำอะไรไม่ได้ดั่งใจมันก็หงุดหงิด แต่พอมาอยู่อินเดียเราทำใจได้กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ค่อนข้างจะแตกต่างอย่างสุดขั้ว ก็เลยทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นคนใจเย็นลง และอีกเรื่องหนึ่งที่ได้คือความกล้า ก่อนลาออกก็กังวลนะ แม่งทำงานที่นี่มา 10 ปี เงินเดือนดี ตำแหน่งหน้าที่ก็ก้าวหน้า ลาออกไปกูจะตกงานไหม มันมีความกลัวไปหมด แต่พอเรากล้าที่จะออกจากคอมฟอร์ตโซน ออกมาจากวิถีชีวิตเดิมๆ ซ้ำซากจำเจที่เราเบื่อ เพื่อที่จะไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ พอมีความกล้ามันก็ทำให้เกิดความมั่นใจ แล้วทีนี้จะทำอะไรมันก็สนุกแล้ว

GM : หลังจากกลับมานอกจากพิมพ์หนังสือเล่มนี้แล้ว ตอนนี้ทำไรอยู่

อินทรชัย : ตอนนี้เป็นนักเขียนสารคดีอิสระ เขียนบทสารคดีให้รายการต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นงานเขียน ได้ลงพื้นที่ ต่างจังหวัดเดินทางไปสัมภาษณ์ผู้คนหลายอาชีพแล้วก็เอามาเขียน เหมือนที่เคยทำสมัยก่อนตอนที่ผมทำแล้วมีความสุข

GM : สุดท้ายแล้ว อยากฝากบอกอะไรเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้

อินทรชัย : ต้องขอออกตัวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกชีวิตและการเดินทางของผู้ชายคนหนึ่งที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาผจญภัยในประเทศที่ใครๆ ก็ ‘อี๋’ อยากมาลองประสบการณ์ใหม่ๆ โดยการมาเรียนภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงประสบการณ์ตรง มุมมองต่างๆ ที่เราได้ไปเจอมาผ่านแว่นของเราที่เราจะมองยังไง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เป็นประสบการณ์ส่วนตัวล้วนๆ ของผู้เขียน เจอจริงอะไรจริงทุกอย่าง คืออย่าคาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการ สาระอัดแน่นอะไรขนาดนั้น อย่างที่เขียนไว้ในคำนำว่าขอเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ก็พอ ขอเป็นแค่นักเขียนคนหนึ่งที่ออกไปบันทึกประสบการณ์ บันทึกชีวิตในอินเดียให้คนอ่านฟัง เจออะไรก็เจอไปด้วยกัน โง่ก็โง่ไปด้วยกัน ก็เหมือนการเดินทางไปด้วยกัน

นักเขียน : สุริยันต์ พาโนมัย
ช่างภาพ : อนุวัฒน์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ