fbpx

อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์: สังคม และการรู้เท่าทันยุคเปลี่ยนผ่านแห่งข้อมูลข่าวสาร

ในโลกที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ห้วงเวลาแห่งข้อมูลข่าวสารไหลบ่าท่วมท้นอย่างสมบูรณ์แบบ ทุกสิ่งสามารถถูกรับรู้ได้เป็นรายวินาที ที่ๆ การเข้าถึงข้อมูลสามารถเกิดขึ้นได้ก่อนการกลั่นกรอง วิเคราะห์ และสกัดเอาแก่นหลักใจความสำคัญ มันเป็นยุคสมัยที่น่าตื่นตะลึง และน่าหวาดกลัวไปพร้อมกัน เพราะเราไม่อาจจะแน่ใจได้เลยว่า สิ่งที่เราได้รู้หรือได้ยินมา มันมีเค้าความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และอาจจะถึงขั้นที่ทำให้คนในยุคก่อนเปลี่ยนผ่าน ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ต้องเจอกับอาการ Culture Shock กันไป ไม่มากก็น้อย

และท่ามกลางความท่วมท้นจนล้นเหล่านี้ อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ อดีตผู้สื่อข่าว และคนทำข่าวที่คร่ำหวอดในแวดวงมากว่าสองทศวรรษ และรั้งตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร GM Live ยังคงเชื่อมั่นในวิถีแห่งการกลั่นกรองและส่งมอบข้อมูลที่มีคุณภาพ พร้อมความมั่นใจว่า การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารนั้น ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่กังวลกัน หากเรา ‘รู้เท่าทัน’ ในทุกความเป็นไป

และในบทความชิ้นนี้ เราได้เรียบเรียง และแยกประเด็นในแง่มุมต่างๆ ทั้งการรู้เท่าทันโลก การเป็นเจ้าของข่าวสาร การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงกรณีตัวอย่างที่คนรุ่นเก่าได้พลาด ในกระแสธารของการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย ที่เราจำเป็นต้องพึงระวังเอาไว้อย่างยิ่งยวด

และในวรรคถัดจากนี้ คือทัศนะของ อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ ในแง่มุมต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ที่เราพร้อมใจนำเสนอให้คุณได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

“  รู้ไม่เท่า รู้ไม่ทัน ..โลกรู้ทัน

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเร็วเป็นวินาที ในวันที่เทคโนโลยีปรับเปลี่ยนรวดเร็วในแต่ละวัน ยุคนี้ คือ ยุคที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของข้อมูลข่าวสาร หรือ เป็นเจ้าของนวัตกรรมได้อย่างยาวนานเพียงแค่คนเดียว หรือ เก็บเป็นความลับสุดยอดเฉพาะองค์กรของตัวเองได้อีกต่อไปแล้ว เพราะ เมื่อเรารู้ หรือ เราคิดค้นได้  อีกไม่นานคนอื่นก็อาจจะรู้ และ ไม่ได้รู้แต่เพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากรู้แล้ว ก็พร้อมทำตามได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

นวัตกรรมไม่ได้รวมศูนย์

สำหรับโลกแห่งนวัตกรรม ถ้าเราย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ความลับในการผลิตทั้งหลายก็ถูกจำกัดในองค์กรใหญ่ๆ ซึ่งพวกเขามีเทคโนโลยีมากมายที่จะค่อยๆปล่อยออกมา  เพื่อทยอยดูดเงินผู้บริโภคตามจังหวะที่เขากำหนด เช่น กล้องของโซนี่ ทีวีของพานาโซนิค รวมถึงสินค้านวัตกรรมอื่นๆอีกมากมายที่เป็นแบบนี้  แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านก็ชัดเจนแล้วว่า กล้องของบริษัทน้องใหม่หลายๆค่าย ไม่ว่าจะเป็น GoPro หรือ DJI ก็สามารถเข้ามาท้าทายตลาดได้อย่างเหลือเชื่อ โดยที่พวกเขาไม่เคยเป็นเจ้าเทคโนโลยี หรือ เจ้าตลาดมาก่อน ขณะเดียวกันตลาดกล้องเอง ก็ถูกชิงส่วนแบ่งตลาดไปด้วยโทรศัพท์มือถือ ที่แน่นอนว่าส่วนสำคัญ คือ การเข้ามาดิสรัปชั่นการแข่งขันในตลาดกล้องเดิมๆ

ข้อมูลไม่ได้ถูกผูกขาดโดยใคร  

สำหรับวงการสื่อสารมวลชน ยุคก่อนหน้านี้ถ้าใครตามทัน ก็คงจะต้องรอฟัง หรือ ติดตามการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ จากปรมาจารย์รุ่นใหญ่อย่างคุณพิชัย วาสนาส่ง หรือ ยุคร่วมสมัยตอนนี้  ก็คงจะหนีไม่พ้นการรอฟัง คุณสุทธิชัย หยุ่น ทางวิทยุ หรือ โทรทัศน์  ซึ่งทั้งสองท่านที่กล่าวถึงนั้น มีพลานุภาพของการสื่อสาร ที่ทรงพลังอย่างมาก ส่วนสำคัญนั้นมาจากความสามารถในการวิเคราะห์ และ เรียบเรียงได้อย่างน่าสนใจที่หาใครเทียบได้ยาก

แต่การที่ทั้งสองท่าน ผูกขาดความนิยมมาได้อย่างยาวนานนั้นส่วนสำคัญคือ ข่าวสารในสมัยก่อนไม่ได้เปิดกว้างให้ใครก็ได้เข้าถึง ซึ่งมันจำกัดอยู่เฉพาะองค์กรระหว่างประเทศ หรือ องค์กรข่าวเท่านั้น  และ เมื่อทั้งสองท่านนั้นมีโอกาสเข้าถึงมากกว่าจากดาวเทียม โทรสาร โทรพิมพ์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ที่ส่งตรงมาจากต่างประเทศทำให้ทั้งสองท่านเป็นศูนย์รวมของข่าวสารรอบโลกสำหรับคนไทย  

ซึ่งมันแตกต่างจากสภาพแวดล้อมในวันนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะ วันนี้เรียกได้ว่าใครๆก็เข้าถึงข้อมูลได้ เพียงแต่ว่าจะแปล เรียบเรียง หรือ วิเคราะห์ได้ดีกว่ากัน ย้ำว่าข้อมูล และ ข่าวสารในวันนี้จึงไม่ได้ผูกขาดอีกต่อไป

การเรียนรู้ความรู้ใหม่เป็นสิ่งที่สำคัญ

จากเรื่องนวัตกรรมที่กล่าวอ้างมาข้างต้น รวมถึงเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่ไหลเร็วยิ่งกว่าสายน้ำ ผมขอย้ำว่า การเชื่อมั่นว่าตัวเองมี   “ ความรู้มากกว่า ”  มันอาจจะไม่ใช่แล้ว และ การทระนง หรือ มั่นใจในสิ่งที่รู้ มันสามารถกลายเป็นกับดัก จนกลายเป็น ความ “ ไม่รู้ ” ได้โดยง่าย และ มันจะแย่ไปกว่านั้น ถ้ามันเลยไปอยู่ในสถานะที่อาจเรียกได้ว่า “ ไม่รู้ว่า ไม่รู้ “ ซึ่งพลเมืองโลกนั้น จำเป็นต้องมีการปรับตัวโดยที่ต้องไม่ยึดโยงกับ “ ความรู้ในอดีต” ที่ตัวเองคิดว่ามีมากกว่าคนอื่น

กรณีไม่รู้ว่าไม่รู้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ไม่กี่วันที่ผ่านมา : ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วย ถูกเพจที่มีคนตามจำนวนมาก บริภาษว่า #ลอกงานไม่ให้เครดิต หรือ ไม่ขอ โดย ผู้ใหญ่ท่านจั่วหัวแค่ว่า ได้มาจากอินเตอร์เน็ต

เรื่องทำนองนี้หลายคนอาจจะบอกว่าได้เห็น ได้ยินบ่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะรู้ว่ามันไม่ถูก แต่มักจะไม่ฟ้องกัน เพราะ มันคงไม่คุ้ม .. ซึ่งวันนี้การลอกเฉยๆ ไม่ให้เครดิตมีมาก ลอกแล้วปรับคำบ้างก็มีเยอะ หรือ ลอกแล้วให้เครดิตแต่ไม่ขออนุญาตก็กลาดเกลื่อน  .. ซึ่งนักเขียนหลายคน หลายเพจ ก็เจอเพจดังๆ เอาเนื้อหาไปทำใหม่จนโกยเรตติ้ง  แต่ทำให้คนเขียนมือใหม่เศร้าใจกันไปไม่น้อย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา :   มีนายกฯ ท่านหนึ่งบอกประชาชน ไม่เรียนรู้ ไม่ค้นหาจาก Google ส่วนท่านนั้นเรียนรู้จาก Google .. ถามว่าผิดไหม คงไม่ผิด แต่มันจะอ้างอิงได้มากแค่ไหนในโลกออนไลน์  ซึ่งถ้าจะทดสอบโดยการที่มีคนจำนวนหนึ่งป้อนข้อมูลผิดๆเข้าไป นั้นก็ไม่ยากเลยครับ .. เรื่องคล้ายๆกันกับเรื่องนี้เคยมีนักการเมืองอภิปรายในสภาแล้วยกข้อมูลที่บอกว่าน่าเชื่อถือ โดยอ้างว่ามาจาก #วิกิพีเดีย

หลายปีที่ผ่านมา : มีรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีท่านหนึ่ง ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ‘ ในโลกนี้มี #ระบบปฏิบัติการ แค่ 3 ระบบ ประกอบด้วย วินโดว์ส แอนดรอยด์ รวมทั้ง “ไอเอสโอ” ของ “แมคอินทอช” .. ซึ่งในความเป็นจริงมันมีมากกว่านั้นมากมาย  เพียงแต่ว่ามันไม่ได้มีชื่อเสียง และ ที่ท่านพูดว่า ไอเอสโอ จริงๆ มันคือไอโอเอส

เคสสุดท้ายหลายปีไม่มาก : มีสื่อสารมวลชนระดับอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือท่านหนึ่ง ก็เคยพลาดอย่างแรง เพราะท่านตำหนิ นสพ. ออนไลน์ ทำนองว่ามีแต่โฆษณาแนวอนาจาร แบบไม่คำนึงศีลธรรม .. งานนี้พลเมืองชาวเนตออกมาโต้กลับกันมากมายว่า โฆษณาที่ปรากฏบนเครื่องของแต่ละคน มักจะมาจากความสนใจของเจ้าของเครื่องนั้นๆ ที่ระบบมันประมวลมาเพื่อป้อนให้เฉพาะตัว .. ทำให้อาจารย์ท่านถึงกับปฏิญาณเลยว่าจะไม่เล่น #โซเชียลมีเดีย

ในบทบาทนักวิชาชีพที่เน้นการสอบจากประสบการณ์  และ ออกแบบการสอนวิชาการสื่อสาร เน้นโดยกรณีศึกษา .. ขอย้ำว่า failure cases ในแต่ละวันมันเพิ่มขึ้นมากจริงๆ .. มากจนเราต้องระวังไม่ให้พลาด .. เพราะ หลายครั้ง รุ่นใหญ่หลายคนเมื่อพลาดทำให้สิ่งที่เคยสะสมมา มันพังทลายเหมือน ปราสาททรายได้เลยจริงๆ ส่วนถ้ารุ่นใหม่ก็อาจจะดีหน่อย เพราะ ถ้าพลาด ยังพอกล้อมแกล้ม แล้วถือว่าล้มบน Sand box !  ได้อยู่

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ