fbpx

สิริยากร พุกกะเวส MY FIELD OF DREAMS

ไม่เป็นชาวนาแล้วหรือ – GM เคยเย้าผู้หญิงคนนี้เมื่อพบกับเธอในการแสดงละครเวทีเรื่อง ‘แมคเบธ’ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อหลายเดือนก่อน

“อุ้มเป็นทั้งชาวนาและชาววังค่ะ” สิริยากร พุกกะเวส ตอบด้วยรอยยิ้ม แต่ในยิ้มนั้นแฝงความเด็ดขาดบางอย่างไว้ด้วยนับตั้งแต่ประกาศว่า ‘ฉันจะเป็นชาวนา’ ในรายการโทรทัศน์ชื่อเดียวกันนี้ ผู้หญิงที่มีชื่อเล่นว่าอุ้มก็ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในแง่บวกและลบ ด้านหนึ่งชื่นชมความพยายามของนักแสดงสาวที่ผันตัวเองไปเรียนรู้ในเรื่องการทำนาปลูกข้าว แต่ในอีกด้านหนึ่ง หลายคนตั้งคำถามว่าผู้หญิงบอบบาง รักสวยรักงามคนนี้จะทำสิ่งที่สมบุกสมบันขนาดนั้นได้จริงๆ หรือGM เฝ้าจับตาดูเธอมาตลอด เราไม่ได้ผลีผลามขอพูดคุยกับเธอตั้งแต่แรก ไม่ใช่เพราะคิดว่าเธอจะทำไม่สำเร็จ แต่เพราะเราอยากให้เธอได้ผ่านฤดูทำนาแรกของชีวิตไปเสียก่อน เพื่อที่บทเรียนของกลิ่โคลน (ไม่มีสาบควาย) และนาข้าวจะได้สอนให้เธอซึมซับมากพอจะ ‘ถอดบทเรียน’ มาบอกต่อกับเราแทบไม่มีใครไม่รู้จัก สิริยากร พุกกะเวส โดยเฉพาะในฐานะ ‘นักแสดง’ และ ‘นางเอก’ ที่สร้างชื่อให้เธอ ไม่ว่า

จะเป็นละครอย่าง ร่มฉัตร, เก้าอี้ขาวในห้องแดง บทแม่พลอยในสี่แผ่นดิน รวมถึงภาพยนตร์อย่างมนต์รักทรานซิสเตอร์ หรือบทบาทพิธีกรในรายการ ‘บ้านอุ้ม’ รวมถึงการทำหนังสือและนิตยสารไลฟ์สไตล์แสนเก๋ชื่อ OOM แต่กระนั้น

ก็เชื่อว่ามีไม่น้อยที่ไม่มองเธอในฐานะนักเขียนหรือนักแปล โดยเฉพาะกับบทบาท ‘นักครุ่นคิด’ กับชีวิตที่จริงจังคนหนึ่งผู้หญิงที่ยืนอยู่ในนาข้าวเบื้องหน้าเราตอนนี้ ใบหน้าของเธอมีฝ้า แต่เธอไม่ได้เดือดร้อนกับมัน บางคราวเธออาจนึกภูมิใจกับผิวที่คร้ามแดดขึ้นเสียด้วยซ้ำ ร่างของเธอบอบบางเพราะกินมังสวิรัติ แต่ร่างนั้นไม่ได้อ่อนแอ เมื่อเธอพาเราย่ำสู่โคลนเพื่อถอนกล้าและดำนาในบ่ายวันนั้น ร้อนลมและเริงแดดบอกเราว่าเธอแข็งแกร่งกว่าภาพภายนอกที่เห็นมากพูดได้ว่า ภาพของหญิงสาวที่กำลังดำนาอยู่ตรงหน้า คือภาพของการ ‘แสวงหา’ ในชีวิต ที่ดำเนินไปพร้อมกันทั้งร่างกายและจิตใจ-ทั้งภายนอก, และภายใน ในบางวูบภาพของเควิน คอสต์เนอร์ กับภาพยนตร์เรื่อง Field of Dreams ก็แวบเข้ามา แม้ว่า ‘ทุ่งฝัน’ ในหนังเรื่องนั้น

จะเป็นทุ่งข้าวโพด แต่นี่เป็นทุ่งนา ทว่าการแสวงหาและการเติบโตภายในนั้นไม่แตกต่างโดยมาก เมื่อพูดว่า ‘การแสวงหาทางจิตวิญญาณ’ หลายคนมักคิดว่ามีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ทำเรื่องเช่นนี้ แต่สิ่งที่ผู้หญิงคนนี้คิดและทำ แสดงให้เราเห็นว่า

ผู้หญิงก็มีมิติของการแสวงหาเดียวกันนั้นด้วย เพราะเอาเข้าจริงเราต่างก็เป็นมนุษย์ที่ต้องปะทะ ต่อสู้ และเผชิญหน้ากับการเติบโตภายในเหมือนๆ กันรายการ ‘ฉันจะเป็นชาวนา’ คือเสี้ยวส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของอุ้ม-ที่ว่าด้วยความพยายามในการปลูกข้าวและพึ่งตนเองของคนเมืองที่เท้าแทบไม่เคยสัมผัสดินคนหนึ่ง ชวนให้สงสัยว่าเธอทำทุกอย่างเองจริงไหม เธอทำนาเองจริงไหม และเธอ ‘เป็นชาวนา’ จริงไหมหรือว่าทั้งหมดนี้, เธอยังคงเป็น ‘นักแสดง’ ที่เก่งกาจดังเดิมแน่นอน, บทสนทนาต่อไปนี้คงพอตอบข้อสงสัยที่ว่าได้

More about Her

นาบ้านอุ้มมีพื้นที่เพียงไร่ครึ่ง อยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี บนถนนเทศบาลท่าเสด็จ ติดกับคลองชลประทาน แยกจากทางหลวงสาย 322 ที่จะมุ่งหน้าไปดอนเจดีย์ไม่ไกลนัก ในที่ดินแห่งนั้นมีบ้านดินที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่หมาดตั้งอยู่ บ้านดินหลังนี้ สิริยากรปั้นดินเองกับมือ ร่วมกับชาวบ้านที่มาช่วยทำงานไม่กี่คน โดยใช้วิธีก่อกองฟางที่แน่นและหนักขึ้นรูปก่อน จากนั้นจึงใช้ดินพอกและปั้น เป็นวิธีสร้างบ้านดินอีกแบบหนึ่งที่ทำให้ได้ผนังที่โปร่งและอากาศถ่ายเทได้ง่ายขึ้น หลังคามุงจาก ทำให้เย็น โดยมีที่นาและต้นไม้รายล้อม

GM : ขอถามย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นก่อนว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณเกิดความรู้สึก ‘อยากเป็นชาวนา’ ขึ้นมา เพราะดูไม่เข้ากันเลยที่นางเอกบอบบางอย่างคุณจะหันมาดำนาเกี่ยวข้าว

สิริยากร : ไม่รู้ตัวหรอกค่ะ (ยิ้ม) มันค่อยๆ สั่งสมมา ถ้าเอาที่เป็นรูปธรรมก็อาจเป็นช่วงที่เล่นหนัง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นอุ้มเข้าฉากที่อยุธยา นั่งอยู่บนเปล ข้างหน้าของเราเป็นทุ่งนา เกิดคิดเล่นๆ ขึ้นมาว่าสักวันอยากมีนาเป็นของเราเอง แต่นั่นเป็นความคิดแบบฝันหวาน ยังไม่ได้ทำอะไรแต่ต่อมามีโอกาสไปใช้ชีวิตที่เมืองพอร์ตแลนด์ ในโอเรกอน

(สหรัฐอเมริกา) แล้วได้ไปเห็นปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่ของเมืองนั้นเริ่มหันกลับมาปลูกพืชที่เป็นอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องของการพยายามออกจากระบบทุนนิยม จริงๆ แล้วทั้งหมดเป็นภาพของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่กว่าการปลูกผักกินเอง เพราะคนที่นั่นเริ่มไม่เชื่อในการซื้อ เริ่มไม่เชื่อในการพึ่งพาผู้อื่นโดยที่ทุกอย่างต้องใช้เงินซื้ออย่างเดียว และกินอาหารที่ไม่รู้ว่านำเข้ามาจากไหน คนที่นั่นเชื่อในการกินอาหารจากละแวกใกล้เคียงที่รู้ว่าผู้ปลูกคือใคร อุ้มเห็นบรรยากาศแบบนั้นจึงลงมือทำบ้าง

ตอนอยู่ที่นั่นได้ปลูกผักเอาไว้กินเองที่แปลงหลังบ้าน ปรากฏว่าปลูกได้เยอะมากจนกินไม่หวาดไม่ไหว ทั้งที่สมัยก่อนเคยบอกใครต่อใครตลอดเวลาว่า เป็นคนที่ปลูกต้นไม้อะไรก็ตาย เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้อุ้มอยากเป็นชาวนา ซึ่งคู่ขนานไปกับการใช้ชีวิตที่พอร์ตแลนด์ คือพอกลับมาจากพอร์ตแลนด์แล้ว อุ้มไปปฏิบัติธรรม นับถึงตอนนี้ก็ 3 ปีแล้วที่ไปวิปัสสนามาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ค้นพบจากการปฏิบัติธรรมคือ ธรรมะกับธรรมชาติเป็นเรื่องเดียวกัน (ยิ้ม) ยิ่งพอเรียนรู้จิตภายในของตัวเองมากขึ้น ก็ยิ่งสัมผัสกับธรรมชาติภายนอกมากขึ้นด้วย ทำให้ค้นพบว่า การทำความเข้าใจตัวเอง คือการต้องเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติให้ได้ เมื่อประกอบกันเข้าหลายๆ อย่าง พอกลับมาเมืองไทย ก็เกิดอะไรบางอย่างดลใจขึ้นมาว่า เฮ้ย! ปลูกข้าวสิ เรากินข้าว เรารู้ว่าการปลูกผักนั้นยาก แต่ข้าวนี่เหมือนเป็นสุดยอดของเกษตรกรรมเลย ปัญหาก็คือเราไม่มีความรู้เลยว่าข้าวปลูกอย่างไร ทั้งที่เรากินข้าวอยู่ทุกวัน เป็นเรื่องที่ใกล้มากแต่ห่างมาก ก็เลยอยากเป็นชาวนา คิดแค่นั้น

GM : ทุกคนคิดว่าการปลูกข้าวไม่ใช่เรื่องง่าย คุณก็คงเช่นเดียวกัน ทำไมถึงอาจหาญทำนาปลูกข้าว ไม่คิดถึงการทำเกษตรแบบอื่นๆ ก่อน เช่น ปลูกผัก ทำสวน

สิริยากร : ไร่อ้อยเหรอคะ (หัวเราะ) ใช่ค่ะ มันเหนื่อย มันใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่อุ้มคิดถึงข้าวเลย ข้าวเท่านั้น อย่างที่บอกไว้ว่าข้าวเป็นสุดยอดของเกษตรกรรม แต่เหตุผลลึกไปกว่านี้ตอบไม่ได้ เหมือนมันอยู่นอกเหนือเหตุผล อุ้มไม่เคยใช้แรงงาน แต่ก่อนเห็นแดดก็ตัวดำแล้ว เป็นคนสำอางมาก ไม่ชอบโดนแดด ไม่ชอบเลอะเทอะ เป็นเหมือนคนเมืองทั่วไป แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมที่อินเดียเป็นเวลานานเดือนกว่า เกิดความรู้สึกว่าถ้าผ่านอินเดียมาได้ อะไรก็ได้แล้วละ

GM : เหมือนการไปอินเดียเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของคุณ คุณไปทำอะไรที่นั่น

สิริยากร : ตอนนั้นอุ้มเพิ่งเริ่มวิปัสสนามาได้ไม่ถึงปี แล้วได้พบกับแฟน (หัวเราะ) เลยชวนกันไปแสวงบุญและปฏิบัติธรรมที่อินเดีย คิดว่าตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของอุ้มเหมือนกัน ก่อนหน้านั้น ทุกคนบอกว่าอุ้มไปอินเดีย ไปไม่ได้หรอก ดูจากลักษณะนิสัยแล้ว เธอไม่ชอบอินเดียแน่นอน แต่ในใจลึกๆ เราอยากไปนะ อยากไปตอนวันวิสาขบูชา ไปเห็นบรรยากาศและอยู่ในแผ่นดินที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ สุดท้ายก็ไปมาหลายเมือง โดยเดินทางไปทางเหนือ เช่น พุทธคยา, เดลี, พาราณสี, สารนาถ และชัยปุระ ช่วงเวลาเดือนกว่าๆ ที่อยู่ในอินเดียมันเปลี่ยนชีวิต เหมือนเป็นการปฏิบัติธรรมครั้งใหญ่ของอุ้มเลย ตอนนั้นปฏิบัติธรรมอยู่ดีๆ ก็ร้องไห้ออกมาเลย เพราะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ประเทศอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีวันหยุดพักผ่อนเลย ปกติเราเหนื่อยแล้วก็หยุดพักได้ แต่ในอินเดียมัน Intense มาก ไม่มีจังหวะให้หยุดพักเลย เป็นเมืองมหัศจรรย์ที่ทั้งนรกและสวรรค์อยู่ตรงหน้า ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้นว่า ตัวเรามีกิเลสตัณหา มีความต้องการในเรื่องต่างๆ มากแค่ไหนได้รู้ว่าเราสร้างเงื่อนไขให้ชีวิตตัวเองมากเพียงใด เหมือนบอกตัวเองและสะกดจิตตัวเองว่าไม่ชอบสิ่งนี้ จนมันไม่ชอบจริงๆ แต่พอได้มาอยู่ในสถานการณ์ที่หนีไปไหนก็ไม่ได้ วันๆ ต้องคอยกระโดดหนีขี้วัว สุดท้ายก็ได้ละการปรุงแต่งไปเยอะ

GM : ทำไมคุณถึงสนใจการปฏิบัติธรรม ภาพของคุณที่คนส่วนใหญ่มองคือนักแสดงหรือคนทำหนังสือที่มีไลฟ์สไตล์เก๋ไก๋ในแบบและเบ้าของ มาร์ธา สจ๊วต ซึ่งไม่น่าจะไปกันได้กับการปฏิบัติธรรม

สิริยากร : ราคะจริตสูงมากเลยใช่ไหมคะ (ยิ้ม) ชอบสวยๆ งามๆ คืออย่างนี้ค่ะ ชีวิตของอุ้มนั้น พูดกันตรงๆ ก็คือ วันหนึ่งพอลืมตาขึ้นมา เราก็เกิดคำถามกับตัวเอง เป็นคำถามที่ใหญ่มากต่อการดำรงอยู่ของเรา-ว่า เฮ้ย! เราทำอะไรอยู่นี่ เงินทองทรัพย์สินก็มีมากพอสมควรแล้ว ชื่อเสียงก็มีแล้ว สิ่งต่างๆ ที่ทำก็ประสบความสำเร็จและเป็นที่น่าพอใจ ใช้ชีวิตมาตามครรลองที่คนบอกว่าทำอย่างนี้แล้วดี เช่น เรียนหนังสือให้เก่งๆ สอบให้ได้ที่หนึ่ง เอนทรานซ์ให้ติดคณะอันดับหนึ่ง เรียนให้ได้เกียรตินิยม จบออกมาทำงานหาเงินให้ได้เยอะๆ มีความมั่นคงในชีวิต มีชื่อเสียงและเงินทอง เราก็มีครบหมดในช่วงที่อายุใกล้จะ 30 ปีแล้ว คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ‘แล้วอย่างไรต่อล่ะ’ ในช่วงชีวิตวัย 20-30 ปี ทุกอย่างหมุนเร็วจี๋เลย ในขณะที่คนอื่นค่อยๆ สร้าง เหมือนอุ้มทำเยอะและได้มาเยอะในช่วงเวลานั้น ใกล้ๆ อายุ

ตอนแรกคิดจะทำนาเองโดยไม่ให้ใครรู้ แต่ด้วยสัญชาตญาณความเป็นสื่อสารมวลชน เลยคิดว่าอย่าทำแล้วรู้เองคนเดียวสิ ต้องถ่ายทำรายการเพื่อให้คนอื่นได้เรียนรู้

การทำนาไปกับเราด้วย เลยนำไอเดียไปเสนอ Thai PBS

30 ปี เหมือนมีทุกอย่างในชีวิตพอแล้ว ทำให้เริ่มตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของตัวเอง เรื่องอื่นหยุดพักไว้ก่อน เกิดคำถามว่า เราเกิดมาทำไม ต่อจากนี้จะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต จะเอาอะไรอีก คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากอุ้มอาบน้ำเสร็จนะคะ (ยิ้ม) ไม่ได้เป็นโมเมนต์ที่สูงส่งอะไร คงเป็นเพราะตอนนั้นเกิดภาวะจิตว่างจากการปรุงแต่ง อุ้มจะเป็นคนที่อาบน้ำเสร็จแล้วชอบคิดอะไรได้มาก ตอนนั้นเป็นช่วงที่เปิดบริษัทบ้านอุ้มมาได้ 3-4 ปีแล้ว ทำแมกกาซีน OOM (โอโอเอ็ม) มาได้พักหนึ่ง ตอนนั้นรายการบ้านอุ้มก็จบไปแล้ว ในใจคิดว่า บริษัทก็ตั้งแล้วไง ลูกน้องก็มีหลายคน แล้วเราจะทำอะไรอย่างไรต่อไปตอนนั้นก็มีทั้งทุกข์ๆ สุขๆ ปนกันไป ยังต้องไปขายงานลูกค้า ต้องหาเงินมาทำธุรกิจไปเรื่อยๆ ตามวิถีของธุรกิจปกติ เมื่อแมกกาซีนจบลงเล่มหนึ่งก็ต้องเปิดเล่มใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อุ้มพยายามบอกตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่มันดีและมีคุณค่า แต่ทำไมมันไม่อิ่มเต็มข้างในงานจบไปครั้งหนึ่งก็เริ่มครั้งใหม่ไปเรื่อยๆ ทำเพื่อสนองอะไรก็ไม่รู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น แต่ข้างในของเราคืออะไร ข้างในที่ทำให้เราคิด พูด ทำ คืออะไร อยากรู้จักตัวเอง

GM : หลายคนเรียกภาวะแบบนี้ว่า Coming of Age

สิริยากร : ใช่ค่ะ ชีวิตต้องผ่านเรื่องนั้นๆ ไปก่อน หรือเกิดประสบการณ์ตรงกับตัวเองเสียก่อน ถึงจะรับรู้สภาวะนั้นได้ว่าเป็นอย่างไร อาศัยการอ่านและการฟังเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ พอชีวิตถึงพร้อมในจุดหนึ่ง ต้นทุนเดิมคงส่งผลให้เรามองเห็นสิ่งที่เหมาะสมกับเรา ทั้งเรื่องการทำนาและเรื่องการปฏิบัติธรรม จริงๆ แล้วอุ้มสนใจปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่า

ตอน ป.4 โรงเรียนสอนให้นั่งสมาธิ พบว่าตัวเองมีความสุขกับการทำสมาธิ พอโตขึ้นแล้วย้อนกลับไปนึกถึงตอนเด็กที่เรานั่งสมาธิ มันช่วยให้เราปฏิบัติธรรมได้ง่ายขึ้น

GM : คนจำนวนมากหันหน้าเข้าหาธรรมะเพราะเกิดความทุกข์ แต่คุณหันเข้าสู่ธรรมะเพราะประสบความสำเร็จในชีวิต หรือจะเรียกว่าหันเข้าหาธรรมะเพราะสุขก็ได้ ไม่คิดว่าแปลกหรือ

สิริยากร : จริงๆ แล้วสุขและทุกข์มันเหมือนกันนะคะ (ยิ้ม) จะสุขที่สุดหรือทุกข์ที่สุดก็เป็นอารมณ์เหมือนกัน สาเหตุหลักที่ไปปฏิบัติธรรมเพราะอยากหาคำตอบ อยากรู้จักตัวเองให้มากขึ้น ไม่ได้มีเรื่องทุกข์ร้อนเรื่องใดที่หมกมุ่นเป็นพิเศษจนต้องหันหน้าเข้าวัด คือก็มีทุกข์อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ทุกข์แบบโดนโกงไป 100 ล้าน แล้วต้องนั่งหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเดียว ก็มีเรื่องโน้น

เรื่องนี้เหมือนคนทั่วไป คอร์สปฏิบัติธรรมคอร์สแรกที่เข้าร่วม รู้สึกว่ายากมาก แต่พอไปหลายๆ คอร์สก็เกิดความรู้สึกว่า ดีใจจังเลย เจอแล้ว ได้พบการปฏิบัติที่เหมาะสมกับเราแล้ว

GM : คุณบอกว่าการไปใช้ชีวิตที่เมืองพอร์ตแลนด์เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สนใจเรื่องผืนดิน ธรรมชาติ และการเกษตร วิถีชีวิตของคนในพอร์ตแลนด์เป็นอย่างไรถึงได้มีอิทธิพลขนาดนี้

สิริยากร : คนที่นั่นสนใจเรื่องเกษตร-กรรมอย่างจริงจัง ทุกคนพูด ทำ และเคลื่อนไหวในเรื่องเหล่านี้ ทุกคนเห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกัน เช่นถ้าไปบอกว่าเราเป็นนักแสดง จะไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรู้สึกว่ามีอะไรพิเศษ แต่ถ้าบอกว่าบ้านนี้เลี้ยงไก่ คนกลับสนใจอยากรู้กันยกใหญ่ ในพอร์ตแลนด์จะให้ความสำคัญกับความเป็น Local เช่น กินของในพื้นถิ่น การใช้จักรยาน และอาหารมังสวิรัติ ที่นั่นมีร้านมังสวิรัติเยอะมาก เป็นเมืองขบถหน่อยๆ พอไปอยู่ที่พอร์ตแลนด์ ได้ค้นพบว่าเรามีความคิดหลายอย่างคล้ายกับคนในเมืองนี้ จะพูดว่าพอร์ตแลนด์เป็นสังคมแสวงหาในรูปลักษณ์ใหม่ก็ได้ พอรวมสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน มันเกิดการสั่งสม ทำให้อุ้มอยากเป็นชาวนา ทั้งการได้ไปใช้ชีวิตที่พอร์ตแลนด์และการปฏิบัติธรรม

GM : ทำไมคุณถึงไม่อยากเป็นชาวนาเงียบๆ ตามลำพัง ต้องทำออกมาเป็นรายการโทรทัศน์

สิริยากร : ตอนแรกคิดจะทำนาเองโดยไม่ให้ใครรู้ แต่ด้วยสัญชาตญาณความเป็นสื่อสารมวลชน เลยคิดว่าอย่าทำแล้วรู้เองคนเดียวสิ ต้องถ่ายทำรายการเพื่อให้คนอื่นได้เรียนรู้การทำนาไปกับเราด้วย เลยนำไอเดียไปเสนอกับ Thai PBS ว่าจะทำรายการ ‘ฉันจะเป็นชาวนา’ เพื่อนำเสนอขั้นตอนทุกอย่างในการทำนาตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงได้ข้าวออกมาเป็นเมล็ด ทาง Thai PBS ก็แนะนำให้ไปที่มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเรียนรู้เรื่องการทำนา ตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีมูลนิธิอย่างนี้อยู่ในโลกด้วย (หัวเราะ) เขาแนะนำให้มาพบอาจารย์เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ก็ขับรถมา เจออาจารย์เดชาครั้งแรกก็นั่งคุยกันยาวเลย ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าอาจารย์ฯ กำลังสัมภาษณ์เราอยู่ แกมาเล่าให้ฟังทีหลัง เพราะแกอยากรู้ว่าเราจะทำนาจริงจังไหม

GM : สัมภาษณ์อย่างไรบ้าง

สิริยากร : คุยกันหลายเรื่องค่ะ อาจารย์เดชาก็ถามเรื่องทั่วๆ ไปว่าเป็นใครมาจากไหน ทำอะไรอยู่ รู้เรื่องข้าวมากน้อยแค่ไหน ทีแรกอาจารย์ไม่แน่ใจว่าอุ้มมาหาข้อมูลเพื่อทำนาจริง หรือมาเพื่อหวังอะไร แต่อาจารย์บอกว่าเห็นแววตาของเรา (หัวเราะ) อาจารย์บอกว่าแววตาเอาเรื่องนะ เลยรับเป็นลูกศิษย์เพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้และให้ความช่วยเหลือ ตอนนั้นเดือนตุลาคม ปี 2553 ต่อมาคนในมูลนิธิฯ ก็แนะนำให้ไปดูที่ดินสำหรับใช้เป็นที่นาปลูกข้าว ซึ่งต้องตระเวนไปหลายแห่งมาก ใช้เวลา 3 เดือน ดูไม่รู้กี่แปลงต่อกี่แปลง ใหญ่ไปบ้าง ไม่มีน้ำบ้าง ลักษณะไม่สวยบ้าง ไม่ได้ที่ที่เหมาะสมเสียที ตอนนั้นเครียดมาก เพราะรายการใกล้ออกอากาศแล้วแต่ยังไม่ได้ที่นาเลย แต่อยู่ๆ ก็มีคนแนะนำให้มาดูที่นาผืนปัจจุบันนี้ พอมาดู

อย่างแรกต้องยอมรับก่อนเลยว่าเราไม่รู้อะไรเลย จึงต้องก้มหัวหรือใช้ความนอบน้อมเข้าไปขอความรู้จากผู้รู้ ผู้คนก็จะเมตตา ช่วยบอกหรือสอน ถ้าไปด้วยทัศนคติที่ว่า ฉันมีเงินเสียอย่าง จะจ้างใครให้มาช่วยก็ได้-มันไม่ได้

อาจารย์เดชาบอกว่ามีขนาดกำลังพอดี ไม่ใหญ่จนเกินไป มีน้ำ รูปร่างดี จัดการง่าย ดินได้พัก เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรเลย จึงปลอดสารเคมีแน่นอน พอครูใหญ่มาดูแล้วบอกว่าได้ เราก็สบายใจ ตัดสินใจว่าจะซื้อที่ดิน แล้วไปทำเรื่องโอนเลยทันที

GM : การเลือกที่นาต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายอย่างขนาดนั้น ?

สิริยากร : บางทีก็เลือกไม่ได้นะว่าที่ดินที่ได้มาจะสมบูรณ์มากแค่ไหน อุ้มโชคดีมากที่ได้นาผืนนี้มา เพราะ 3 ปีแล้วที่เจ้าของนาคนเก่าไม่ได้ทำอะไรกับนาของเขา ทำให้หน้าดินมีหญ้าปกคลุมไว้หมด ดินจึงได้พักตัว พอเอาดินไปตรวจ ปรากฏว่าดินสมบูรณ์มาก ไม่มีสารตกค้าง เหมาะกับการทำเกษตรอินทรีย์ สถานที่ตั้งก็ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วย ทำให้ทีมงานเดินทางมาถ่ายทำรายการได้สะดวก และอยู่ใกล้มูลนิธิข้าวขวัญด้วย ลงตัวทุกอย่าง เลยตัดสินใจซื้อวันแรกที่ได้นาผืนนี้มา อุ้มขับรถจากกรุงเทพฯ มายืนอยู่ตรงหน้าท้องนา ในใจก็คิดว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับที่นาไร่ครึ่งผืนนี้ดี ชาวบ้านคนอื่นอาจหัวเราะ และคิดว่าที่นาไร่ครึ่งเล็กกระจิ๋วหลิวมาก จะทำอะไรได้ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันใหญ่มากเมื่อเปรียบเทียบกับความรู้เรื่องการทำนาของเราที่เป็นศูนย์ เพราะฉะนั้น การมีพี่เลี้ยงจึงสำคัญมากสำหรับการเริ่มต้นทำนา การทำนาของอุ้มเหมือนการแข่งขันในรายการเรียลิตี้ ที่แต่ละอาทิตย์จะได้โจทย์เพลงต่างๆ มา แต่โจทย์ของอุ้มคือที่นาผืนหนึ่ง

ต้องอาศัยการจัดการและวางแผนว่าจะทำอะไรกับที่นาตรงนี้บ้าง สร้างบ้านตรงบริเวณไหน ทำนาตรงไหน ขุดบ่อล่ะ ต้องคำนวณดูด้วยว่า ไร่หนึ่งได้ข้าวพอกินไหม เป็นเรื่องของการจัดการและการวางแผนเยอะมาก ความที่ทักษะการทำนาของเรามีน้อย การวางแผนจึงสำคัญ และต้องไปดูตัวอย่างจากชาวนาในหลายๆ ที่ เพื่อนำทักษะเหล่านั้นมาใช้กับการทำนาของตัวเอง ช่วงแรกๆ ในการทำนาก็ต้องไปขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการทำนาหลายๆ ท่าน

GM : อะไรคือสิ่งแรกที่คุณลงมือทำในการเป็นชาวนา

สิริยากร : อย่างแรกต้องยอมรับก่อนเลยว่าเราไม่รู้อะไรเลย (ยิ้ม) จึงต้องศึกษา ปรึกษา และขอความช่วยเหลือจากผู้รู้ สิ่งแรกคือต้องก้มหัวหรือใช้ความนอบน้อมเข้าไปขอความรู้จากผู้รู้ พอปฏิบัติเช่นนี้ ผู้คนก็จะเมตตา ช่วยบอกหรือสอน ถ้าไปด้วยทัศนคติที่ว่า ฉันมีเงินเสียอย่าง จะจ้างใครให้มาช่วยก็ได้-มันไม่ได้ โจทย์ข้อแรกที่อุ้มตั้งไว้คือจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง

ทุกอย่างจึงเป็นครูหมด ไปขอความรู้ ไปขอความช่วยเหลือ ผู้คนจะบอก สอน และช่วยในทุกเรื่อง ถัดจากนั้นก็ดูว่าเราต้องการทำอะไร เพื่ออะไร โจทย์ของอุ้มคือจะปลูกข้าวและพึ่งตัวเอง แต่การพึ่งตัวเองตามมาทีหลัง ต้องปลูกข้าวและปลูกบ้านให้ได้ก่อน ก่อนหน้านั้นเขียน Proposal ของรายการ

ฉันจะเป็นชาวนาไว้เยอะมาก ว่าในรายการทั้ง 13 ตอนจะทำหลายอย่าง ทั้งปลูกข้าว ปลูกบ้าน ปลูกสมุนไพร ทอผ้า และปั้นหม้อ แต่พอลงมือทำจริงๆ ทำได้แค่งานหลักๆ คือปลูกข้าวและปลูกบ้านเท่านั้น เฉพาะงานสองอย่างนี้ก็มีรายละเอียดเยอะมากแล้ว อย่างอื่นตัดทิ้งไปก่อนเพราะจำเป็นน้อยกว่า ขอแค่มีข้าวกินและมีบ้านอยู่ก่อน เสื้อผ้าใส่ของเก่าก็ได้ ยังไม่ป่วยก็ไม่เป็นไร ตัดเรื่องปลูกสมุนไพรทิ้งไปก่อน งานสองอย่างนี้ทำให้อุ้มปวดหัวมากเหมือนกัน โชคดีที่ได้ตำราโบราณชื่อ โสฬสปุรัม ซึ่งอาจารย์เดชาได้มาจากหนังสืองานศพ ตำราเล่มนี้

บอกเรื่องการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินเป็น 16 ช่อง แต่ละช่องคือตำแหน่งต่างๆ ที่เหมาะกับการสร้างเป็นอะไร และมีผลดีผลเสียต่างกันไป เช่นตรงนี้ควรทำเป็นแปลงนา ปลูกบ้าน ปลูกต้นไม้ หรือขุดบ่อ เป็นตำราที่ได้ผลมาก อุ้มทำตามตำรานี้ ว่านอนสอนง่าย เลือกครูให้ดี และเชื่อฟังไป

ต่อมาคือการถมที่ ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าอยากใช้ดินที่มีอยู่เท่านั้น จะไม่ใช้ดินจากที่อื่นเด็ดขาด แต่ที่นาที่อุ้มได้มามันลุ่มมาก พอตัดหญ้าออกไปจนหมด พื้นที่ยิ่งต่ำมาก เพราะที่ข้างๆ เขาถมดินหมด และที่บริเวณอื่นที่ทำการเกษตร มันจะมีอินทรียวัตถุทับถมกันไปจนสูงขึ้นเรื่อยๆ ของเราเลยต้องถมดินไปประมาณ 100 คันรถได้ อย่างที่ดินตรงบริเวณที่ใช้สร้างบ้านก็ถมดินไป 50 กว่าคันรถเพื่อให้เกิดเป็นเนินดินขึ้นมา จากที่ดินรกๆถมดินเสร็จก็เกิดเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นจนจำแทบไม่ได้ บางคนคิดว่าเอาดินจากแหล่งอื่นมาจะไม่สมบูรณ์ แต่ไม่ต้องกลัวเลยค่ะ เพราะครูสอนว่าสามารถปรุงดินให้มีแร่ธาตุขึ้นมาได้ ก็เอาขี้หมูใส่ เอาจุลินทรีย์มาหมักดินไว้ ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 เดือน ระหว่างนั้นอุ้มก็ไปศึกษาพันธุ์ข้าว ก่อนที่จะกลับมาตกกล้าและทำขั้นตอนอื่นต่อไป การมาที่มูลนิธิฯ เหมือนได้มาเข้าโรงเรียนเขียน ก. ข. เขาแทบจะจับมือทำนาเลย

GM : ถามจริงๆ คุณทำนาเองกับมือหมดทุกขั้นตอนเลยหรือ

สิริยากร : ค่ะ (พยักหน้ารับ) ทำเองกับมือ แต่บางขั้นตอนที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรก็ใช้ เช่น เรียกรถไถมาไถ ส่วนใหญ่ขั้นตอนไหนทำเองได้ก็ทำ เช่นเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์เอง หมักจุลินทรีย์เอง ตกกล้าหรือถอนกล้าก็ทำเอง ที่นาหนึ่งไร่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย ทำคนเดียวได้ ไม่ต้องให้ใครมาช่วยหรอก แต่ก็สงสัยว่า ถ้ามีที่ดิน 50 ไร่ เขาจะทำอย่างไรกันนะ มันเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งด้วย ค่อยๆ เรียนรู้ไป ความรู้ก็เพิ่มไปพร้อมๆ กับความมั่นใจ แรกๆ ไม่มั่นใจเลยว่าจะทำได้ พูดในรายการตั้งแต่แรกด้วยซ้ำว่า จบรายการแล้วอาจไม่ได้ข้าวก็ได้นะ ต้องทำใจ (ยิ้ม) ถือเป็นการเรียนรู้เฉยๆ อุ้มว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าจะได้ข้าวมากน้อยแค่ไหน แต่ขั้นตอนระหว่างทางต่างหากที่สำคัญ เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือเป็นผู้เป็นคนขึ้นมากขนาดไหนหลังได้ลงมือทำนาแล้ว

GM : ความรู้สึกแรกของคุณเมื่อดำนาหรือสัมผัสดินโคลนในท้องนา เป็นอย่างไร ขยะแขยง รังเกียจ หรือรู้สึกว่าคิดผิดไหม

สิริยากร : (นิ่งคิดนาน) เหมือนเป็นการประกาศอิสรภาพมากกว่าว่าเราทำได้แล้ว ฟังดูอาจโอเวอร์นะ (ยิ้ม) ที่จริงตอนนั้นแดดเปรี้ยงเลยนะ แต่ดินโคลนข้างล่างที่อยู่ในนาเย็นมาก โคลนมันดูดสารพิษจากตัวเราไปด้วย เท้าต้องโดนโคลน ไม่ได้เกิดความรู้สึกว่าสกปรกหรือน่าขยะแขยงเลย ในใจไม่ได้คิดอย่างนั้น อาจเพราะเป็นที่ดินของตัวเอง อุ้มจึงไม่รู้สึกแบบนั้นก็ได้ ตอนเดินลงไปอาจมีบ้างที่รู้สึกสงสัยว่าสิ่งที่ดิ้นดุ๊กดิ๊กๆ ตรงเท้ามันคือไส้เดือนหรือตัวอะไร พยาธิหรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะในดินโคลนมีหนอนแดงหรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อยู่ วันแรกๆ ที่ลงไปในนาจะเดินไม่ค่อยคล่อง ตอนแรกๆที่ลงไปในนาจะใส่อุปกรณ์เยอะมาก ถุงเท้า รองเท้า ถุงมือ ปลอกแขน และหมวก ใส่หมดเลย วันต่อมาอุปกรณ์ก็ค่อยๆ น้อยลง

GM : การทำนาต้องตากแดดตากลมเป็นเวลานานๆ คุณไม่ห่วงความสวยเลยหรือ

สิริยากร : ไม่ค่อยนะคะ ตอนนั้นไม่กลัวด้วยว่าตัวจะดำหรือเปล่า เมื่อก่อนจะกลัวดำมาก ที่กลัวดำเพราะเกิดจากสาเหตุที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ทีวีต่างโหมกระหน่ำโฆษณาเรื่องความขาวใส ทุกคนก็บอกว่าอวัยวะทุกส่วนของผู้หญิงต้องขาว ทั้งๆ ที่บ้านเราแดดแรงจะตาย (หัวเราะ) จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเมื่อก่อนอุ้มจึงกลัวดำ

GM : แต่ว่ากันว่า ถ้าเป็นฝ้าจะรักษาไม่หายไม่ใช่หรือ คุณคิดว่าฝ้าที่ได้จากการทำนาเป็นริ้วรอยของคำสาป หรือเป็นรางวัลของชีวิต

สิริยากร : ไม่เป็นอะไรทั้งนั้นค่ะ (ตอบทันที) ฝ้าเป็นแค่ธรรมชาติของชีวิต และเป็นบทเรียนให้รู้ว่า คนเรามักจะมองในจุดที่ไม่สมบูรณ์ ชอบมองส่วนน้อยแล้วนึกรังเกียจ อยากให้ฝ้าตรงนี้หายจังเลย (เธอชี้ไปที่ฝ้าบนหน้า) แต่ไม่มีใครบอกว่าอยากให้ส่วนที่เหลือบนหน้าดำเหมือนฝ้าบ้างจังเลย ถ้าไม่ยอมรับก็เกิดความทุกข์เพราะอยากให้ฝ้าหายไป แต่ก็ไม่ยอมหายเสียที แต่ถ้าเราอยู่กับมันได้ก็จะมีความสุข หน้าจะดำหรือขาวก็เป็นของมันไป เหมือนกับว่าอุ้มสบายๆ ขึ้นเยอะมากกับชีวิต การคิดอย่างนี้มันเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปนะคะ ไม่ได้พลิกชีวิตแบบชั่วข้ามคืน ตอนนี้มาทำนายังไม่ถึงปีเลย แต่ความคิดและชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป เหมือนมีความจริงในชีวิตอีกด้านหนึ่งเพิ่มขึ้นมา ถ้าเรามีชีวิตแบบเดียว เราก็จะมีความจริงด้านเดียว แต่ปัญญาที่แท้จริงคือการเห็นความจริงของชีวิตในทุกแง่มุม และจะเห็นความจริงของชีวิตได้ ก็ควรมีชีวิตที่หลากหลาย อุ้มไม่ได้บอกว่าต้องทิ้งชีวิตด้านใดด้านหนึ่งเพื่อจะได้เห็นความจริงอีกด้าน เรายังสามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้ด้วย

GM : คุณพูดราวกับจะบอกว่าเป็นนักแสดงไม่ได้แปลว่าจะเป็นชาวนาไม่ได้

สิริยากร : เราไม่ต้องไปจำกัดชีวิตขนาดนั้น จริงๆ ข้างในของเราก็ยังเหมือนเดิม ถึงจะทำนา ก็เป็นนาแบบ ‘บ้านอุ้ม’ นะคะ (ยิ้ม) วิธีทำนา

ก็อาจจะประดิดประดอยกว่าคนอื่นเขา เพราะมันเป็นจริตของเรา ซึ่งชาวนาคนอื่นอาจไม่ทำในลักษณะนี้ ทุกอย่างเป็นการตีความของเรา อุ้มจะปลูกข้าว ทำหนังสือ เล่นละคร หรือปฏิบัติธรรม มันคือการใช้ชีวิตของเราในรูปแบบต่างๆ อย่างซื่อสัตย์ เราต้องซื่อสัตย์กับชีวิต ทำอะไรก็ทำให้จริง ไม่ใช่คิดว่างานนี้ทำแค่เล่นๆ ส่วนงานนี้ทำจริงจัง ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะ

ทุกอย่างจริงหมดสำหรับอุ้ม ไม่ว่าจะเป็นอะไร

GM : ในรายการ ‘ฉันจะเป็นชาวนา’ คุณพูดถึงหนังสือ ‘ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว’ ของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ฟูกูโอกะใช้วิธีการปลูกพืชแบบธรรมชาติจนดูเหมือนคนขี้เกียจ คือปล่อยให้พืชพรรณเติบโตเอง แต่เมื่อได้มาทำนาจริงๆ คุณค้นพบอะไรบ้างจากหนังสือเล่มนั้น

สิริยากร : เอาเข้าจริง สิ่งเดียวที่ติดอยู่จากหนังสือเล่มนั้น คือประโยคที่บอกว่า ‘เกษตรกรรมไม่ใช่เพียงแค่การเพาะปลูก แต่เป็นการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์’ อุ้มว่านั่นเป็นแก่นของหนังสือ ไม่ใช่เทคนิควิธีอะไร อุ้มแทบจะจำวิธีการเพาะปลูกที่เขียนไว้ในหนังสือไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เขาปั้นกระสุนแล้วทำอย่างไรต่อ หว่านหรือไถไปตรงไหน อาจารย์เดชาก็บอกด้วยว่า จะใช้วิธีทั้งหมดของฟูกูโอกะกับการเพาะปลูกในบ้านเราไม่ได้ เพราะบ้านเขากับบ้านเรามีองค์ประกอบไม่เหมือนกัน เช่น ภูมิอากาศไม่เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องของความเชื่อหรือการเข้าถึง

ความจริงโดยเกษตรกรรมที่เขียนไว้ในหนังสือต่างหาก ที่เป็นเรื่องที่ส่งอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก ซึ่งแต่ละคนก็นำความรู้ที่ได้ไปหาวิธีการของตัวเอง อิทธิพลของฟูกูโอกะอยู่ที่ทำให้คนคิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตหรือเริ่มต้นทำอะไรบางอย่าง อยู่ที่การกระตุ้นความสนใจใคร่รู้เพื่อให้แต่ละคนค้นพบความจริงของตนเอง อย่าง เจสัน สก็อตต์ ลี ลูกศิษย์คนหนึ่งของฟูกูโอกะ ก็ไปทำไร่เผือกอยู่ที่ฮาวาย เขาใช้วิธีการปลูกพืชที่ไม่เหมือนกับของฟูกูโอกะทีเดียว เพราะฟูกูโอกะไม่เคยทำไร่เผือก (ยิ้ม) และจริงๆ แล้ว วิธีปลูกพืชของฟูกูโอกะที่บอกว่าหว่านทิ้งไว้เพื่อให้เติบโตขึ้นมาเองนั้น ไม่ใช่เรื่องขี้เกียจเลย แต่เป็นการทำงานที่หนักมากเพราะแม้ดูเหมือนไม่ทำอะไร หรือ Do Nothing แต่จริงๆ แล้วต้องทำงานเยอะมาก เพียงแต่ไม่ไปรบกวนธรรมชาติเท่านั้น

GM : งานที่คุณว่าคืออะไรบ้าง

สิริยากร : ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติ เพื่อที่จะทำงานให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และหนักมาก แล้วต่อมาธรรมชาติก็จะบอกเองว่าให้ทำอะไร

ต่อไป แต่วิธีนี้จะไม่เหนื่อยเพราะไม่ฝืนธรรมชาติ เกษตรกรรมที่ทำกันอยู่ในบ้านเรามันหนัก มันยาก เพราะเป็นการทำที่ฝืนธรรมชาติ เช่นใช้สารเคมี ปลูกพืชนอกฤดูกาล หรือฝืนศักยภาพแท้ของธรรมชาติ เช่น อยากให้ได้ผลผลิตเยอะกว่าธรรมชาติของพืชชนิดนั้น ไม่ให้พืชกินและนอนตามเวลาจริงของโลก

GM : คุณคิดว่าทำไมชาวนาจำนวนมาก-ซึ่งต้องเป็นชาวนาเพราะเลือกไม่ได้, ไม่เหมือนคุณซึ่งเป็นชาวนาที่เลือกได้-ยังต้องใช้วิธีการเพาะปลูกที่ฝืนธรรมชาติอยู่

สิริยากร : เรื่องนี้อธิบายยากนะคะ อุ้มคิดว่ามันเริ่มมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เลย เป็นการทำอย่างเป็นระบบที่ทำให้ทั้งหมดเป็นแบบนี้ ซึ่งเราจะไปโทษชาวนาว่า ทุกวันนี้ทำไมยังใช้ปุ๋ยและใช้ยาฆ่าแมลงกันอยู่นั้นไม่ได้ เพราะเราทำการตลาดในเรื่องแบบนี้มาตั้งกี่สิบปีแล้ว และสุดท้ายก็ไม่เหลือพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอยู่ มีการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่มาขายให้ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้องใช้ปุ๋ยและใช้ยา แล้วก็ขายปุ๋ยขายยาให้ด้วย ทุกคนได้ผลประโยชน์หมด ยกเว้นชาวนา เป็นการกระทำทุกวิถีทาง ทำให้สุดท้ายแล้วกลไกไปบังคับให้ชาวนาต้องทำอย่างนั้น แถมรัฐบาลก็ทำตัวเป็นนายหน้าขายข้าวอีก แต่เราอย่าไปพูดถึงการเมืองเลยค่ะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าไปมองแค่ปลายเหตุ เพราะเรื่องนี้เป็นปลายเหตุมากๆ ของกระบวนการนี้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะไปโทษชาวนาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มีต้นตอที่ลึกซึ้งกว่านั้น ชาวนาถูกกระทำให้เป็นแค่ปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เลย ชาวนาเป็นผู้ปลูกอาหาร มีศักดิ์ศรีและมีค่า เราควรต้องขอบคุณเขา พอได้มาปลูกข้าวเองแล้ว ถึงตอนที่ต้องขายยังคิดเลยว่า คนซื้อเขาจะเห็นค่าหรือเปล่า อยากขายให้เฉพาะคนที่เห็นค่าของข้าวนี้เท่านั้นนะ เพราะมันปลูกยากนะเฟ้ย (หัวเราะ)

การคิดมันเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้พลิกชีวิตแบบชั่วข้ามคืน ตอนนี้มาทำนายังไม่ถึงปีเลย แต่ความคิดและชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป เหมือนมีความจริงในชีวิตอีกด้านหนึ่งเพิ่มขึ้นมา ถ้าเรามีชีวิตแบบเดียว เราก็จะมีความจริงด้านเดียว

GM : ตอนนี้กระแสเกษตรอินทรีย์กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และว่ากันว่าได้ผลผลิตดี ราคาก็ดี อยากถามคุณในฐานะชาวนาว่า ถ้าดีจริง ทำไมชาวนาจำนวนมากจึงยังไม่เปลี่ยนมาใช้วิถีนี้

สิริยากร : ต้องยอมรับอย่างหนึ่งก่อนว่า ถ้าทำนาแบบเคมีแล้วเปลี่ยนมาทำแบบอินทรีย์ ผลผลิตในช่วงแรกจะยังไม่ดี แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ ผลผลิตจะดีขึ้นโดยที่ต้นทุนต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่การทำแบบเคมี แม้จะให้ผลผลิตสูง ต้นทุนก็สูงตามไปด้วย แต่จากนั้นแม้จะเพิ่มปัจจัยการผลิตแค่ไหน ผลผลิตไม่มีทางเพิ่ม แถมยังจะลดลงด้วย ถ้าอยู่ในช่วงที่ใส่ปุ๋ยใส่ยาแล้วมันตอบสนอง ก็จะให้ผลผลิตที่ดี แต่เมื่อขึ้นไปถึงจุดหนึ่งแล้วมันให้ไปต่อไม่ได้ เรารู้ว่าการเพาะปลูกโดยใช้สารเคมีแบบเดิมมันไม่ถูก แต่จะให้เปลี่ยนมาใช้วิธีแบบอินทรีย์ มันไม่มีอะไรมารองรับควรจะมีพี่เลี้ยง

เพราะถ้าจะให้ชาวนาเปลี่ยนไปใช้วิธีแบบออร์แกนิก ต้องยอมรับว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ไม่รู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ในขณะที่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป

ครอบครัวยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ มีอะไรมาการันตีได้หรือเปล่าว่าถ้าชาวนาเปลี่ยนไปใช้วิธีออร์แกนิกซึ่งไม่เคยทำมาก่อน จะยังมีรายได้พอสำหรับค่าใช้จ่ายในครอบครัวไปตลอดระยะเวลาหลายปีที่จะมาถึงก่อนที่เกษตรอินทรีย์จะให้ผล ใครๆ ก็กลัวทั้งนั้นกับการเปลี่ยนมาทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นอุ้มก็กลัวนะ

ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องการปลูกข้าวแบบอินทรีย์อย่างจริงจัง ไม่ใช่ไปทำเรื่องนโยบายประกันราคาข้าวเกวียนละ 15,000 บาท แต่ต้องมาช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนสนับสนุนและเรื่องความรู้ให้กับเกษตรกรที่จะทำเกษตรอินทรีย์ ค่อยๆ ประคับประคองกันไปเพื่อให้เกษตรกรยังคงมีรายได้ที่ไม่น้อยลงไปกว่าเดิม เขาถึงจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยตอนแรกต้องมีทั้งพี่เลี้ยงและเงินทุนสนับสนุน

GM : คนเมืองมักมองภาพเกษตรกรหรือชนบทในสองลักษณะ อย่างแรกคือเห็นว่าชีวิตชนบทนั้นโรแมนติก น่ารัก อบอุ่น เป็นชุมชนน่าอยู่ ส่วนอีกแบบมองว่าเป็นชาวบ้านเร่อร่าไม่มีความรู้ คุณคิดอย่างไร

สิริยากร : ไม่มีขาวกับดำหรอกค่ะ (ตอบทันที) ทุกที่จะมีทั้งสิ่งที่น่ารักและไม่น่ารัก จริงใจมากน้อยต่างกัน ไม่มีอะไรที่ดีหรือไม่ดีกว่ากัน ไม่เสมอไปหรอกที่ชนบทจะดีกว่าเมือง หรือเมืองดีกว่าชนบท อยู่ที่แต่ละคนมากกว่าว่ามีความสุขกับอะไร การมาใช้ชีวิตที่สุพรรณฯ ทำให้อุ้มคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ

GM : มองว่าตัวเองเป็นชาวบ้านเหมือนคนอื่นๆ ไหม

สิริยากร : ก็เป็นนะคะ วันก่อนทำบ้านอยู่ คนมาดูแล้วถามว่า เจ้าของบ้านไม่อยู่เหรอ ตอนนั้นอุ้มมอมแมมมาก เขาคงจำไม่ได้ แม้ตอนนี้ชาวบ้านอาจจะไม่ได้มองว่าอุ้มเป็นชาวบ้านธรรมดาเหมือนกับพวกเขามากเท่าไหร่ เพราะเรามาจากที่อื่น เขาอาจมองว่ามาทำไม มาทำอะไร ยังเป็นที่จับตามองอยู่ ก็ต้องใช้เวลาเพื่อให้เขายอมรับเรามากขึ้น

GM : ขอถามลึกลงไปในเรื่องการทำนาว่า คุณปลูกข้าวพันธุ์อะไร

สิริยากร : ข้าวปทุมเทพ อาจารย์เดชาเป็นคนเลือกให้ นาแรกที่ทำในช่วงแรกเป็นนาปรัง ข้าวพันธุ์นี้เดิมเรียกว่าข้าวหอมปทุมซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกโดยใช้สารเคมี แต่มูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาให้ปลูกแบบอินทรีย์ได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา ต่อให้ใส่ปุ๋ยใส่ยาก็จะได้ผลผลิตเท่าเดิม ใส่ไม่ใส่มีค่าเท่ากัน เป็นข้าวพันธุ์ที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงคัดจากข้าวกล้อง 1 เมล็ด แล้วมูลนิธิฯ นำไปขยายพันธุ์ต่อ จึงเรียกว่าข้าวพันธุ์ปทุมเทพ มีลักษณะเด่นคือทนทาน ปลูกค่อนข้างง่าย หุงสุกแล้วมีกลิ่นหอม กินอร่อย เนื้อนุ่ม

GM : การทำนาครั้งแรกของคุณได้ผลผลิตดีไหม

สิริยากร : ก็ดีนะคะ ปลูกทั้งหมด 1 ไร่ ได้ข้าวเปลือก 35 ถัง (350 กิโลกรัม) สีไปแล้วเหลือ 200 กว่ากิโลกรัม ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับชาวนาคนอื่น (หัวเราะ) ในพื้นที่เท่ากัน ชาวนาคนอื่นอาจปลูกได้เป็นเกวียน (1,000 กิโลกรัม) นกกินไปเยอะเหมือนกัน แต่ลองคำนวณดูแล้ว อุ้มกับคุณแม่กินข้าวปีหนึ่งไม่เกิน 50 กิโลกรัม ยังเหลือตั้ง 300 กิโลกรัม ก็เอาไปแจก เอาให้มูลนิธิข้าวขวัญไปทำพันธุ์ ตอนนี้เหลือ 7 กระสอบ จะเอาไปสีแล้วให้เลมอนฟาร์มเอาไปขาย เพื่อนำเงินมาเป็นทุนในการทำนาครั้งต่อๆ ไป ตอนแรกไม่คิดว่าจะขาย จะทำไว้กินเองและให้

คนอื่นได้กินด้วย ทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำออกทีวีเล่นๆ แล้วก็จบไป ในอนาคตอุ้มตั้งใจทำที่นาแห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย ก็อาจจะนำเงินจากการขายข้าวไปทำป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการทำบ้านดิน เพื่อให้ความรู้กับคนทั่วไปก็ได้

GM : คุณใช้ต้นทุนในการทำนาเท่าไหร่

สิริยากร : ประมาณ 4 พันกว่าบาท ไม่รวมค่าดินที่ใช้ถมที่นะ ซึ่งค่าใช้จ่ายเท่านี้ถือว่าสูง ต้องใช้เป็นค่าไถนา ค่าจ้างคนมาดำนา ค่าขี้หมูที่ใส่เป็นปุ๋ยก็ 1,000 บาทแล้ว ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว 10 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ใช้จริงแค่ 4 กิโลกรัมเอง ตกกล้าไปแล้วยังเหลืออีกเยอะมาก (หัวเราะ) เป็นนิสัยคนเมืองไง ชอบเยอะๆ ไว้ก่อน เพราะกลัวไม่พอ โลภ

GM : หลังจากทำนาเสร็จไปหนึ่งฤดู ระดับความอยากเป็นชาวนาของคุณเพิ่มขึ้นหรือลดลง

สิริยากร : ไม่ได้คิดเรื่องนั้นค่ะ ตอนนี้มีแต่ความคิดอยากปรับปรุงวิธีการทำนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร ค้นพบแล้วว่า ความกลัวเกิดจากความไม่รู้ กลัวสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ อุ้มจะสร้างสถิติให้ตัวเองรู้ ทำนาครั้งต่อไปจะนับด้วยว่าข้าว 1 กิโลกรัมมีกี่เม็ด จะนับต้นกล้าที่ปลูกว่าได้กี่ต้น เพื่อจะได้รู้ว่าเวลาตกกล้าจะใช้กล้ากี่กิโลกรัม ซึ่งทั้งหมดสามารถทำออกมาเป็นสถิติได้

น้องบางคนบอกว่า ตายแล้ว พี่อุ้มมาทำนานี่ดีนะ เก๋ๆ แต่อยากบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องเก๋ๆ หรอกนะคะ การทำนาเป็นแฟชั่นไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำจริงจังก็อยู่

ไม่ได้ แต่อุ้มคิดว่า ถ้าได้ทำจริง ธรรมชาติจะสอนสิ่งต่างๆ ให้เยอะมาก

การคำนวณอย่างเป็นระบบจะทำให้การทำนามีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากอุ้มทำนาในปริมาณน้อยจึงต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องคิดว่าที่นาไร่ครึ่งจะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิ-ภาพมากกว่านี้ เพราะตอนนี้มีที่ว่างเหลือเยอะ ผักก็ยังไม่ได้ปลูก ต้นไม้ใหญ่ก็ยังไม่ได้ปลูกเพิ่ม ตอนนี้จะทำนาในพื้นที่หนึ่งไร่ไปก่อน อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนตัวแปร ทดลองทำหลายๆ วิธีกับพื้นที่หนึ่งไร่นี้ ตอนนี้ตั้งใจว่าจะทำนาไปเรื่อยๆส่วนจะซื้อที่นาเพิ่มหรือไม่ ยังบอกไม่ได้เพราะยังไม่มั่นใจว่าถ้าซื้อที่เพิ่ม จะสามารถปลูกข้าวได้ในพื้นที่ทั้งหมดไหวหรือเปล่า ต้องรอให้ผ่านไป 3 ฤดูทำนาประมาณปีครึ่ง ค่อยมาดูกันใหม่ว่าจะเอาอย่างไรต่อ อุ้มอาจไปศึกษาเพิ่มเติมว่าคนที่ทำนาอินทรีย์ 10 ไร่เขาทำกันอย่างไรด้วย อย่างในการทำนาครั้งหน้า อุ้มคิดว่าจะใช้วิธีเพิ่มผลผลิตข้าวแบบ SRI (System of Rice Intensification) ซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างนาดำของอุ้มใช้ข้าวเปลือก 4 กิโลกรัมต่อไร่ แต่วิธี SRI ใช้ข้าวเปลือกแค่ 1 กิโลกรัม เรียกว่าประณีตขึ้นกว่าวิธีเดิมที่เคยใช้ และทุ่นแรงด้วย เพราะข้อจำกัดของอุ้มคือเรื่องแรงงานส่วนการทำนาครั้งที่ 3 จะเปลี่ยนวิธีการไปอีกแบบ โดยจะทดลองปลูกข้าวพันธุ์ใหม่คือ พันธุ์ขาวตาเคลือบ และพันธุ์เหลืองอ่อน ที่Food Bank (ธนาคารอาหารชุมชน) มีพันธุ์ข้าวแปลกๆ เยอะมากตั้ง 2 หมื่นพันธุ์ อุ้มอยากลองเอาข้าวหลายๆ พันธุ์มาปลูกดู มีเรื่องให้เล่นสนุกเยอะเลย (ยิ้ม)

GM : ยังอยากปลูกสมุนไพร หรือปั้นหม้อเหมือนที่คิดวางแผนไว้ในตอนแรกอยู่ไหม

สิริยากร : ก็อยากอยู่นะ ไม่แน่ ต่อไปอุ้มอาจมีเตาเผาถ่าน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า ทำระบบกรองน้ำ และปลูกไม้ใหญ่ไว้เป็นบำนาญ เช่น สะเดา, ยางนา หรือกระถินเทพา คนเมืองจะฝากเงินกับธนาคารเพื่อให้ได้ดอกเบี้ย ซื้อกองทุนรวมหรือซื้อหุ้นเพื่อให้มูลค่ามันเพิ่มขึ้น ถ้าลองเปรียบเทียบกับการซื้อหน่วยลงทุน 10 บาท อุ้มก็ไปซื้อกล้าต้นไม้

ในราคา 10 บาทเหมือนกัน เพื่อนำมาปลูก เวลาผ่านไป 10-20 ปี ต้นไม้โตขึ้น สามารถตัดขายได้ ต้นไม้ต้นหนึ่งราคาอาจขึ้นไปสูงถึง 500 บาท

ถ้าเทียบกับหน่วยลงทุนจาก 10 บาท ราคาขึ้นไปเป็น 500 บาท ผลประกอบการอาจจะดีกว่ากองทุนรวมอีกนะ ปราชญ์ชาวบ้านจึงบอกว่าให้ปลูกต้นไม้ไว้เป็นบำนาญ ซึ่งมันจับต้องได้ เว้นแต่น้ำท่วมตายไป ซึ่งคล้ายกับแนวคิดของธนาคารต้นไม้ ที่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย อุ้มอยากให้คนเมืองคิดว่าถ้าอุ้มทำนาได้ เขาก็คงทำได้เหมือนกัน เพราะมีพื้นฐานชีวิตคล้ายๆ กัน และเราก็นำเสนอขั้นตอนในการเป็นชาวนาผ่านรายการ ทำอย่างเป็นขั้นตอนมาก จาก 1 ไป 2 ไป 3

GM : ดูเหมือนเมื่อหลายคนเห็นคุณมาเป็นชาวนา ก็เกิดกระแสแห่กันออกมาทำนาจนเป็นเทรนด์หรือแฟชั่นไป มีคนดังๆประกาศออกมาทำนามากขึ้น จนหลายคนเกรงว่าถ้าคนเมือง

ทำแบบนี้กันหมด ที่ดินจะราคาสูงขึ้นจนต่อไปชาวบ้านจริงๆ ไม่มีที่ดินทำนา คุณคิดอย่างไร

สิริยากร : อย่าไปมองอย่างนั้นเลยค่ะ อุ้มคุยกับอาจารย์เดชาตั้งแต่ตอนแรกๆ แล้วว่าที่มาทำนาเพราะตั้งใจอยากสืบทอดการทำนา ตอนนี้ลูกหลานชาวนาก็มักจะไม่ทำนา ที่นาจึงหลุดไปอยู่ในมือนายทุนซึ่งนำไปพัฒนาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น หรือเอาไปทำนาที่ไม่ใช่แบบอินทรีย์ ถ้าคนที่มีกระบวนทัศน์ใหม่ๆ มีทัศนคติที่ดีในการทำนาได้มาทำนากันเยอะๆ อาจารย์เดชาบอกว่าไม่ต้องห่วงหรอก เพราะอาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่มีจำกัด ไม่ใช่ว่าพอคนใหม่มาทำคนเก่าก็ต้องออกไป อาชีพเกษตรกรขยายตัวได้อีกมาก ที่ดินทิ้งร้างในประเทศไทยก็มีอยู่มากด้วย ถ้าคนเมืองมาทำนา ขออย่างเดียวว่าอย่าซื้อที่นาเยอะ อย่าเกิน 10 ไร่ยิ่งถ้าเริ่มทำใหม่ๆ กำลังน้อย แค่ 1-2 ไร่ก็พออยู่พอกินแล้ว แต่ที่สร้างปัญหาเพราะคนเมืองมักมองว่าที่ดินเป็นทุน จึงกว้านซื้อ อย่างที่วังน้ำเขียว200 ไร่ ปราจีนฯ 600 ไร่ ทำให้ที่ดินไปกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกิดการสะสมที่ดินไปเรื่อยๆ

ตอนนี้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยคือ 56 ปี ซึ่งถือว่าสูงมาก ถ้าเป็นคนวัยทำงานใกล้จะเกษียณอยู่มะรอมมะร่อแล้ว ถ้าคนเจเนอเรชั่นนี้หมดแรงแล้วทำนาไม่ไหว และไม่มีคนใหม่เข้าไปแทน ชาวนาจะหายไปหมดเลยนะ อุ้มมองว่าการที่คนเมืองหันมาทำเกษตรเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีทุน มีความรู้ และมีทัศนคติที่ดี จำนวนเกษตรกรลดลงไม่เป็นไร แต่คุณภาพของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้น อุ้มคุยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เขาบอกว่า คนชอบพูดกันว่าเกษตรกรลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง แต่ลืมไปว่ามีคนจากภาคส่วนอื่นเข้ามาทำเกษตรเยอะมากทีเดียว อุ้มดูจากแฟนเพจของรายการมีความหลากหลายมากนะคะมีน้องบางคนบอกว่า ตายแล้ว พี่อุ้มมาทำนานี่ดีนะ เก๋ๆ แต่อยากบอกว่าน้องคะ มันไม่ใช่เรื่องเก๋ๆ หรอกนะคะ การทำนาเป็นแฟชั่นไม่ได้

หรอกค่ะ เพราะการทำนาถ้าไม่ทำจริงจังก็อยู่ไม่ได้ แต่อุ้มคิดว่า ถ้าได้ลงมือทำจริง ธรรมชาติจะสอนสิ่งต่างๆ ให้เยอะมากจนคนที่อาจคิดจะทำนาตามแฟชั่น เปลี่ยนความคิดหันมาทำนาจริงจังมากกว่าทำเล่นๆ ก็ได้

GM : ในฐานะที่เป็นชาวนา คุณมีความเห็นต่อนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลชุดนี้อย่างไร เช่นนโยบายจำนำข้าว ซึ่งมีข่าวว่าจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น รวมถึงบัตรเครดิตเกษตรกรด้วย

สิริยากร : อุ้มคิดว่านโยบายเหล่านี้เป็นเพียงการใช้ชาวนาเป็นทางผ่าน ดูเหมือนชาวนาได้เงินช่วยเหลือจากรัฐเยอะขึ้น แต่พอเงินมาถึงชาวนา มันจะอยู่กับชาวนาแป๊บเดียวแล้วก็ไป เป็นข้ออ้างในการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะทุกวันนี้ชาวนามีค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ไม่ใช่แค่เรื่องจำนำข้าว แต่รวมไปถึงการประกันราคาข้าวตันละ 15,000 บาทด้วย เมื่อเช้านั่งรถมายังคิดเลยว่าจะเดือดร้อนกันหมด เพราะอุ้มไม่คิดว่าเรื่องพวกนี้จะช่วยให้ชาวนารวยขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มปริมาณแต่ไม่เพิ่มคุณภาพ เพิ่มแต่ตัวเลข แต่ละเลยในด้านการเพิ่มความสามารถของชาวนา หรือการให้ความรู้กับชาวนา ละเลยเรื่องคุณภาพหรือคุณภาพชีวิตของชาวนา วิธีคิดนี้เหมือนการทำธุรกิจที่ทุกปีต้องเพิ่มบิลลิ่งให้มากขึ้น แล้วจะเอาเงินมาจากไหนล่ะ

ในธุรกิจ ทุกบริษัทต้องหาเงินเพิ่มมากขึ้นเหมือนกันหมด ทั้งที่ทรัพยากรมีจำกัดอยู่เท่านี้ ทั้งหมดนั้นคุณทำเพียงแค่เพิ่มมูลค่า เพิ่มตัวเลข ทำให้ตัวเองเหนื่อยกันมากขึ้น ชาวนาที่เก่งๆ อย่าง ชัยพร พรหมพันธุ์

ลูกศิษย์มูลนิธิข้าวขวัญที่เคยออกรายการคนค้นฅน เคยบอกว่า แทนที่รัฐบาลจะคิดถึงแต่เฉพาะนโยบายเหล่านี้ ทำไมไม่คิดเรื่องการลดต้นทุนในการทำนาให้ชาวนา ส่วนเรื่องจะแจกบัตรเครดิตให้กับเกษตรกร หา! จะบ้าหรือเปล่า อันนั้นยิ่งเป็นตัวเร่งเลยนะ อย่างที่บอกว่าเงินมันผ่านเข้ามา กลัวมันอยู่นาน เลยเอาตัวเร่งมาให้ด้วย เป็นการเร่งให้ใช้เยอะขึ้น ยิ่งถ้าบางคนวินัยเดิมไม่มีอยู่แล้ว คราวนี้ก็บรรลัยล่ะสิคะ เพราะสุดท้ายเงินก็จะเทไปเข้ากระเป๋านายทุนเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มเม็ดเงินในระบบ เหมือนการเพิ่มน้ำในคลองชลประทาน แต่ชาวนามีท่อขนาดเล็ก ก็สูบเข้านาตัวเองได้ไม่มาก นายทุนมีท่อขนาดใหญ่กว่าก็ยิ่งสูบเข้าที่ของตัวเองได้มากขึ้น อุ้มถึงบอกว่ามันไม่แก้ปัญหาอะไร

GM : อีกเรื่องหนึ่งที่คนพูดกันมากก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก เมื่อคุณมาทำนา คุณน่าจะใกล้ชิดกับเรื่องนี้มาก ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างไหม

สิริยากร : เห็นมากเลยค่ะ (ตอบทันที) เพราะความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศมีผลต่อการทำนามาก อย่างข้าวนาแรกของอุ้มนั้น ตกกล้าตอนอากาศหนาว อยู่ดีๆ อากาศก็ร้อนขึ้นมา ทำให้น้ำค้างลง ต้นกล้าอาจเป็นโรคเชื้อราได้ แต่โชคดีว่ารอดมาได้ แต่พอรอดมาถึงต้นปี เกิดฝนตกผิดฤดูกาลอาทิตย์หนึ่งเต็มๆ ตามด้วยอากาศร้อนจัดอีก ในหนึ่งเดือนมี 3-4 ฤดู อากาศแปรปรวนมาก พิลึกกึกกือ อุ้มก็กลัวว่าข้าวที่ปลูกจะเป็นอะไรหรือเปล่า แล้วช่วงที่อากาศเปลี่ยน แมลงก็จะเยอะขึ้นด้วย เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็ลงไปกัดกินข้าว สร้างความเสียหายให้กับนาชาวนาบางส่วน แต่ของอุ้มไม่ได้รับความเสียหาย อุ้มปล่อยให้ธรรมชาติดูแลกันเองในนา ต้นข้าวเผชิญกับทุกสภาพอากาศมาตั้งแต่ตอนปลูกใหม่ๆ แล้ว ก็เลยอยู่ได้ แข็งแรง

GM : ใช้ตัวห้ำและตัวเบียนช่วย ?

สิริยากร : ใช่ค่ะ แต่แมลงพวกนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้จับมาปล่อยนะ เราต้องเข้าใจกลไกของธรรมชาติว่าเริ่มแรกแมลงไม่ดีจะมากัดกินต้นข้าวก่อน เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จากนั้นแมลงดีเช่นตัวห้ำและตัวเบียน ก็จะตามมากินแมลงที่ไม่ดีเหล่านั้นเป็นอาหาร แม้แมลงในนาจะมีมาก แต่แมลงเหล่านี้จะควบคุมกันเองเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ถ้าแมลงไม่ดีมีน้อย แมลงที่ดีก็จะไม่มีอาหารกินไปด้วย เราจึงต้องปล่อยให้แมลงอยู่ไป แต่ต้องใช้พันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่มีความแข็งแรงกว่าข้าวทั่วไปที่ต้องคอยป้อนสารเคมีให้ นี่แหละคือวิธีของฟูกูโอกะ

ที่บอกว่า Do Nothing มีบางคนบอกเหมือนกันว่าให้เอาสมุนไพรไปฉีดต้นข้าว เช่นสมุนไพรจากสะเดาอะไรพวกนี้ เหมือนกลัวป่วยก็กินยากันไว้ก่อน แต่ก็อาจส่งผลไม่ดีได้ เพราะแมลงดีก็ไม่ชอบ จะหนีไปอีก เพราะฉะนั้นหลักการของฟูกูโอกะก็คือ ถ้าอะไรไม่จำเป็น-อย่าทำ

GM : ฟังดูเหมือนการทำนาต้องมีโชคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ชาวนาจำนวนหนึ่งเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเช่นเรื่องพระแม่โพสพที่คอยคุ้มครองนา คนเมืองที่กลายมาเป็นชาวนาอย่างคุณเชื่อเรื่องนี้ด้วยไหม

สิริยากร : เชื่อมากๆ เลยค่ะ (ยิ้ม) อุ้มรู้ว่าพระแม่โพสพมีตัวตนอยู่ในบ้าน ท่านเป็นพลังงานธรรมชาติที่คอยดูแลเรา ก็ไหว้ท่าน ช่วงที่ไปปฏิบัติธรรมก็ฝากนาไว้กับท่าน บอกท่านว่าหนูฝากข้าวด้วยนะคะคือถ้าเราจะมาทำนา อย่าคิดว่าเป็นคนสมัยใหม่แล้วจะใช้แค่วิทยาศาสตร์และวิทยาการเพียงอย่างเดียว บางอย่างที่มองไม่เห็นไม่ใช่ว่าไม่มี ถ้าจะทำนาต้องเคารพพระแม่โพสพ พระแม่ธรณี และพระแม่คงคา เพราะข้าวมีพลังงานชีวิตที่ถ้าเราใส่พลังงานอะไรลงไปก็จะงอกงามออกมาเป็นพลังงานนั้น ข้าวอุ้มมีความรักอยู่ในนั้น กินแล้วจะดี (หัวเราะ)

GM : สรุปว่านี่คือชีวิตที่ใช่สำหรับคุณ

สิริยากร : ก็มีความสุข แล้วก็จะมีคนเมืองมาช่วยอุ้มทำนาด้วย มีคนดูรายการฯ เยอะ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพอสมควร ซึ่งทั้งหมดก็ประกอบกันนะคะ ชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดสั่งสมความรู้ในเรื่องสื่อ เช่น เรียนนิเทศศาสตร์ เรียนโฆษณา ชอบการตลาด ทำให้เราสื่อสารได้ว่าข้าวของเรามีเรื่องเล่านะ ทำให้ข้าวมีวิธีขาย แล้วคนที่เป็นวิศวกรหรือคนที่เรียนวิศวะอยู่ดูรายการของอุ้มเยอะมาก ตอนทำแบบสอบถามมีตั้ง 300 กว่าคน ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ไม่น่าจะใช่แฟนละคร เพราะวิศวกรน่าจะไม่ดูละคร (หัวเราะ)

GM : คุณจัดสรรเวลาการใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ กับการมาดูแลที่นาที่สุพรรณฯ อย่างไร

สิริยากร : ส่วนใหญ่จะอยู่กรุงเทพฯ ตอนนี้งานหลักที่ทำอยู่คือทำหนังสือ 2-3 เล่มซึ่งจะวางแผงปีหน้า ปีนี้สำนักพิมพ์เราไม่มีหนังสือออก เท่มากเลย (หัวเราะ) กำลังคิดวางแผนเรื่องที่จะทำรายการโทรทัศน์ต่อค่ะ อุ้มจะมาสุพรรณฯ เมื่อมีงานที่ต้องทำ เช่น มาตกกล้าทิ้งไว้แล้วก็ไปปฏิบัติธรรม 2 อาทิตย์ แต่ถ้าสร้างบ้านเสร็จ อาจมาอยู่ที่นี่นานขึ้นก็ได้ อุ้มทำนา

มาหนึ่งฤดู ยังไม่มีบ้านอยู่ เพราะต้องรีบทำให้ทันกับรายการ ตอนนี้กำลังปลูกบ้านดินอยู่ ใกล้จะเสร็จแล้วค่ะ ถ้าเสร็จก็คงมาอยู่ที่นี่มากขึ้น เพราะบ้านดินนี่อากาศเย็นสบาย แล้วอุ้มคิดว่าจะไม่ติดแอร์ เพราะถ้าติดแอร์ไฟคงไม่พอ คืออุ้มคิดว่าจะใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์ด้วย (หัวเราะ)

GM : ดูเหมือนชีวิตของคุณเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว เมื่อก่อนเคยเห็นคุณขับรถมินิ แต่รถที่คุณขับมาวันนี้เป็นรถเช่า คุณเลิกใช้รถแล้วหรือ

สิริยากร : ค่ะ คืออุ้มขายรถทั้ง 2 คันตอนก่อนไปพอร์ตแลนด์ เมื่อก่อนมีรถ 2 คัน เป็นมินิอะไรแบบนั้น แต่พอกลับมาเมืองไทย อุ้มไม่รู้สึกว่าอยากมีรถ เลยไปเช่ารถมาใช้ ปรากฏว่าสบายกว่ามีรถส่วนตัวเสียอีก ไม่มีภาระผูกมัดอะไรด้วย ถ้ารถเสียหรือมีอุบัติเหตุก็มีคนเอารถมาเปลี่ยนให้ได้เลย แล้วไม่แน่ว่าอุ้มอาจต้องเดินทางไปอเมริกาอีก เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายดูแล้ว การเช่ารถอาจจะถูกกว่าซื้อรถอีกนะคะ เพราะอุ้มเช่าเป็นเดือนๆ ก็ตกวันละ 700 บาท แต่เราเลือกยี่ห้อรถไม่ได้เท่านั้นเอง ซึ่งก็ไม่เป็นไร ตอนนี้อุ้มขับรถยี่ห้อไหนก็ได้ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องนั่งรถเมล์ไปไหนมาไหนนะ (ยิ้ม)

คนเรามีแนวโน้มจะอคติกันเยอะ เวลาเห็นคนอื่นทำอะไร เรามักตั้งข้อสงสัย และเกิดความคิดในแง่ลบ มากกว่าจะอนุโมทนากับเขา ทางที่ดี ใครทำอะไรก็ดูเขาไปก่อน อย่าเพิ่งไปตัดสินดูตัวเองดีกว่า

ความเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นในตัวอุ้มที่เห็นได้ชัดๆ เลย คือรู้สึกว่าบ้าวัตถุน้อยลง ข้าวไม่ต้องมียี่ห้ออะไร และอุ้มพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ตีโพยตีพายน้อยลงมาก ตอนทำนาใหม่ๆ สติแทบแตก เพราะกังวลกับทุกเรื่องพอผ่านมาแล้วก็คิดได้ว่าไม่เป็นไร ทำใจสบายๆ แต่ที่คิดได้อย่างนี้ ไม่ใช่มาจากการทำนาทั้งหมด การปฏิบัติธรรมก็ทำให้เราคิดได้เช่นนี้ด้วย

GM : สมัยก่อนชาวนามีความบันเทิงคือวิทยุทรานซิสเตอร์เหมือนในหนังเรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ ในฐานะที่คุณเคยเป็นคนในวงการบันเทิงมาก่อน เมื่อเปลี่ยนตัวเองมาอยู่ท้องนาอย่างนี้ ความบันเทิงในชีวิตของคุณคืออะไร

สิริยากร : แทบไม่มีเลยค่ะ (ตอบทันที)ทีวีก็ไม่ดู ในหัวคิดแต่เรื่องงาน เช่น จะปลูกข้าวพันธุ์อะไรดี จะเอาต้นไม้อะไรมาปลูกในนา คิดว่าจะทำหนังสือเรื่องอะไรต่อไป อุ้มไม่ชอบทำอะไรที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอย ขนาดจะไปดูหนังยังคิดว่าต้องไปนั่งตั้ง 2 ชั่วโมง ขออยู่บ้านเขียนหนังสือดีกว่า ไปเที่ยวยังต้องไปปฏิบัติธรรมด้วยเพื่อไม่ให้เวลาสูญเปล่า การไปปฏิบัติธรรมของอุ้มคือ

การไปพักและผ่อน เวลาปฏิบัติธรรมคนมองว่าทำไมตั้งใจปฏิบัติจังเลย แต่อุ้มคิดว่าชีวิตคนเราสั้นมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่มีอยู่ก็ต้องใช้ให้คุ้ม

GM : แล้วคิดเห็นอย่างไรที่มีคนมองว่าการปฏิบัติธรรมของคนสมัยนี้เป็นเพียงแค่แฟชั่น

สิริยากร : จริงๆ แล้วการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นคงไม่เป็นแฟชั่นที่ฉาบฉวยหรอกค่ะ กว่าเราจะจัดสรรเวลาเพื่อไปปฏิบัติธรรมได้ก็ยากพอแล้ว พอลงมือปฏิบัติธรรมจริงๆ การจะอยู่กับตัวเองให้ได้นานเป็นสิบวันโดยไม่พูดกับใครยิ่งเป็นเรื่องยากมากขึ้นไปอีก อุ้มคิดว่าถ้าคนจะออกไปปฏิบัติธรรมก็ไปเถอะ ไปกันเยอะๆ เสร็จแล้วต้องได้อะไรกลับมาบ้างสิน่า ความเพียรในทางธรรมไม่เคยสูญเปล่าอยู่แล้ว เพราะคนยุคนี้ทุกข์มากจึงต้องแสวงหาอุ้มคิดว่าคนเรามีแนวโน้มจะอคติกันเยอะ เวลาเห็นคนอื่นทำอะไร

เรามักตั้งข้อสงสัย และเกิดความคิดในแง่ลบขึ้นมากกว่าจะอนุโมทนากับเขา แต่อุ้มว่าทางที่ดี ใครทำอะไรก็ดูเขาไปก่อน อย่าเพิ่งไปตัดสิน ดูตัวเองดีกว่า การใช้เวลาในชีวิตซึ่งมีอยู่สั้นมากไปกับการนั่งใคร่ครวญคิดถึงคนอื่น หรือบางคนก็ใช้เวลาเขียนบทความเพื่อว่าผู้อื่นนั้น อุ้มว่ามันเสียเวลามาก คนไปอ่านก็เสียเวลามาก สู้ใช้เวลาให้มีค่ากับชีวิตตัวเองดีกว่า

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ