fbpx

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล: ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

เรื่อง: บุญรัตน์ ศักดิ์บูรณพงษา

ขึ้นชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขกันง่ายๆ เพียงเวลาแค่ปีสองปี และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งโลกให้ความสำคัญ เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ก็ต้องยอมรับว่าเผชิญหน้ากับปัญหานี้ไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ 

ยิ่งช่วงเวลา 10 ปีหลังที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ รอบด้านอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน จนทำให้หลายคนหันมาตระหนักแล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด ยิ่งมาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยิ่งเหมือนเคราะห์ซ้ํากรรมซัด จนบางทีมองข้ามปัญหาสิ่งแวดล้อมไป เพราะมุ่งแต่ไปโฟกัสปัญหาปากท้องและปัญหาด้านสุขภาพก่อน แต่ขอบอกเลยว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเรามากกว่านั้น 

GM Club ฉบับนี้ขอพาไปสำรวจสเตตัสสิ่งแวดล้อมไทย ผ่านมุมมอง ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล หรือที่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เรียก ‘อาจารย์โอ’ รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน และอาจารย์ประจำภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการหนุ่มรุ่นใหม่มากประสบการณ์ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมจากหลายบทบาท 

ทั้งการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 5 (ด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม), หัวหน้าโครงการ Sensor for All อุปกรณ์ติดตามข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ และปริมาณฝุ่น PM2.5, วิศวกรสิ่งแวดล้อมและผู้ทรงคุณวุฒิอีกสารพัดโครงการ รวมถึงเป็นผู้ดำเนินรายการด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม Envi insider by ดร.โอ และเจ้าของ Facebook page เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา 

“คนเราจะมีสุขภาพดีได้อย่างไร ถ้าอากาศที่เราหายใจทุกวันมี PM 2.5 นาทีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20 ลิตร แม้กระทั่งน้ำดื่มทุกวันนี้ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคุณภาพน้ำสะอาด ถ้ายังฝังกลบขยะกันแบบเดิมๆ” อาจารย์โอ ชี้ตัวอย่างง่ายๆ ถึงความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ระหว่างคุณภาพสิ่งแวดล้อม VS คุณภาพชีวิตของคน

ในฐานะผู้รู้จริงและขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมมานาน อาจารย์โอ ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนที่เห็นผลแบบทันทีทันใด ชนิดไม่ต้องรออนาคต แต่มันแสดงอานุภาพได้ในวันนี้ เพราะท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมหลากหลายมิติ และเมื่อถามถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยประเด็นไหนในมุมมองของอาจารย์โอ ที่มีความเร่งด่วนมากที่สุด คำตอบที่ได้แบบไม่ลังเลเลยของอาจารย์โอ มีอยู่ 3 เรื่อง 1.คุณภาพอากาศ 2.ขยะมูลฝอย 3.การเชื่อมโยงกระบวนความคิดเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Nexus)

“ผมมองเรื่องคุณภาพอากาศเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ต้องยอมรับว่าภูมิภาคของเรากลายเป็นฮับของมลพิษอากาศไปแล้ว บ่อยครั้งที่มีการวัดคุณภาพอากาศจะด้วยหน่วยงานใด ไทยมักได้คะแนนเรื่องคุณภาพอากาศน้อย ฉะนั้นปัญหา PM 2.5 ควรเป็นวาระแห่งชาติ 

“สำหรับปัญหาใหญ่ของขยะ หนึ่งในนั้นคือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภาคพื้นยุโรปจะถูกส่งคืนกลับไปยังประเทศผู้ผลิต ซึ่งไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศจีน และกลายเป็นว่าประเทศผู้ผลิตแก้ด้วยการผลิตสินค้าเหล่านี้ในประเทศอื่น เช่น ประเทศไทย เป็นต้น และเมื่อจีนมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโดยประกาศไม่รับขยะรีไซเคิลกลับเข้าประเทศแล้ว ขยะจะไม่มีที่ไป จึงกลายเป็นความท้าทายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะต้องเป็นที่รองรับขยะของโลก”

แต่ประเด็นที่อาจารย์โอให้ความสำคัญยิ่งกว่าและเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า 2 ประเด็นแรก คือ เรื่อง Nexus เพราะเรื่องการเชื่อมโยงการจัดการ หากไม่เคลียร์ให้เชื่อมโยงกันได้ จะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอากาศหรือขยะได้อย่างถาวร และกลายเป็นข้อจำกัดในการเดินทางไปสู่ Carbon Neutral (การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์) ด้วย

ความสำคัญของ Nexus นี้ อาจารย์โอ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำแต่ละส่วนจะนำมาใช้อย่างไร? เพื่อการเกษตร? เพื่อการสร้างพลังงาน? หรือนำไปใช้อุปโภคบริโภค?

ในต่างประเทศมีการประเมินออกมาว่า ในบางประเทศ น้ำ 1 ลูกบาศก์เมตรสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า 200-300 เหรียญยูเอส แล้วหันมามองประเทศไทยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำอยู่แค่หลัก 10 เหรียญยูเอสเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต่างกันอย่างมหาศาล ดังนั้นมิติเรื่องน้ำ อาหาร และพลังงาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้เชื่อมโยงกัน 

ทั้งนี้จากการประเมินของ The Asian Development Bank (ADB) ที่มีตัวชี้วัดเรื่องความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security index) ที่มีอยู่ 5 มิติ ประเทศไทยได้คะแนนดี ในมิติที่ 1 และ 2 ได้แก่ หัวข้อการใช้น้ำตามบ้านเรือน และการใช้น้ำเพื่อเศรษฐกิจ แต่กลับสอบตกในอีก 3 มิติ หัวข้อเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เมือง, การจัดการน้ำเสีย และน้ำที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และภัยพิบัติ

“โดยรวมเฉพาะความมั่นคงของน้ำ คะแนนเต็ม 5 ไทยได้ 2 ส่วนเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ไทยก็อยู่อันดับล่างๆ ของโลก เช่นเดียวกับความมั่นคงด้านอาหาร นั่นหมายความว่าถ้าเรายังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ อย่างที่ผ่านมาจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงสักทาง ท้ายสุดจะไปสู่การสร้างขยะและมลพิษทางอากาศ” 

มาถึงบรรทัดนี้คงพอมองเห็นภาพแล้วว่าไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักหน่วงระดับไหน? อย่างน้อยก็ทำให้รู้ตัวแล้วว่าต้องจริงจังกับการลงมือทำ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ด้านที่ 5 ว่าด้วยคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเสมือนเข็มทิศชี้แนวทางให้กับทั้งชาติว่าควรจะเดินข้างหน้าในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำ อาจารย์โอ ย่อยหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ฉบับนี้แบ่งเป็น 5 ประเด็นใหญ่ๆ อย่างง่ายๆ ได้แก่ 

1.Green and Blue : การให้ความสำคัญกับทรัพยากรบนบกและท้องทะเล เน้นไปที่การบริหารจัดการ การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการดูแลรักษา 

“ประเทศไทยมีพื้นที่ติดชายทะเลมากกว่า 3,100 กิโลเมตร นั่นคือ ทรัพยากรมหาศาล แต่ก็ยังทำแบบเดิมๆ อย่างที่เคยทำ คือ ทำประมง จับกุ้งจับปลา และอื่นๆ ทั้งที่จริงๆ สามารถสร้างและหามูลค่าเพิ่มได้มากกว่านั้น และเป็นการหามูลค่าเพิ่มที่ไม่ได้มองแค่วันนี้ แต่มองถึงอนาคตด้วย”

 2. Climate Change : ปัจจุบันทั่วโลกตั้งเป้าเป็น Net Zero (แนวคิดการจัดการให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์เป็นศูนย์) หรือ Carbon Neutral  เช่นเดียวกันประเทศไทยก็ควรเน้นประเด็นนี้ด้วย โดยทำอย่างไรให้ประเทศไทยยังคงเดินหน้าด้านเศรษฐกิจ แต่ใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมได้ทรงประสิทธิภาพ

3.การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ พลังงาน อาหาร : ที่ผ่านมาประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ขับเคลื่อนในประเด็นเหล่านี้ ทุกหน่วยงานมี KPI ของตัวเอง แต่กลายเป็นว่าผลลัพธ์ไม่เชื่อมโยงกัน 

4.Nexus and Polution  : การบริหารพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับของเสียที่เกิดขึ้น 

 5.การปรับกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) : เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องการ การคิดใหม่ทำใหม่ หรือเรียกว่าการปรับกระบวนทัศน์ ปรับการใช้นวัตกรรม เพื่อสร้าง New Thai 

นี่คือหัวใจสำคัญยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องใช้อีก 20 ปี มีหลักอยู่ที่ 3 คำ คือ ‘เติบโต สมดุล ยั่งยืน’ 

“เติบโต สมดุล ยั่งยืน ในที่นี่หมายความว่าอนาคตสังคมต้องเติบโต แต่อีกมุมหนึ่งต้องยั่งยืนด้วย ดังนั้นต้องหาจุดร่วมกัน จึงต้องมีความสมดุล เพื่อเชื่อมสองเรื่องนี้ให้มาอยู่ด้วยกันได้” อาจารย์โอเสริม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จะ ‘เกิดขึ้น’ และ ‘เป็นจริงได้’ คีย์ใหญ่อยู่ที่ ‘การลงมือทำ’ เพราะอย่างที่รู้และเห็นกันว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเรื้อรังที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้กันมานานแล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างตระหนักและใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อม 

แต่ทำไม? ปัญหาเหล่านี้กลับไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น 

ความคาใจนี้อาจารย์โอ วิเคราะห์ไว้ได้อย่างชัดเจนผ่านทฤษฏี 4 Levels of Eengagement หรือเรียกว่า 4 ขั้นตอนในการสร้างการมีส่วนร่วม ได้แก่ 

1. ความตระหนักรู้ 

2. ความรู้

 3. การสร้างทัศนคติผ่านการลงมือทำ 

4. ความเป็นเจ้าของ หรือ Ownership

 ซึ่งประเด็นสิ่งแวดล้อมคนไทยถือว่ามีความตระหนักสูง แต่ยังขาดความรู้ที่ถูกต้อง หรือรู้แบบผิดๆ และสุดท้าย คือ ขาดการลงมือ 

“บางคนมีความรู้ แต่เข้าใจในทางที่ผิด กลายเป็นอนุรักษ์ทุกอย่าง ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าเดิม และถ้าไม่มีการลงมือทำ ผลลัพธ์ก็ไม่เกิด คนมักพูดว่าทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ แต่เพราะไม่มีพื้นที่ให้ทดลอง จะทำให้มองไม่เห็นว่าบางอย่างทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ จึงเกิดแต่นักทฤษฎี”

“สุดท้ายขั้นที่ 4 Ownership การลงมือทำโครงการใดๆ มักเกิดความรู้สึกความเป็นเจ้าของ แต่ว่าในเชิงสิ่งแวดล้อมต้องถามกลับกันว่า ถ้าคนๆ นั้นไม่อยู่ โครงการนี้ยังไปต่อหรือเปล่า? และชุมชนจะสามารถทำต่อได้ไหม? ซึ่งงานสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยชุมชนสานต่อจึงจะเกิดความยั่งยืน”

แต่เชื่อเถอะว่า ต้นตอของปัญหาสไตล์ไทย นอกเหนือตำราและทฤษฏี ไม่พ้นเรื่อง ‘ความไม่มีระเบียบวินัย’

“เรื่องสิ่งแวดล้อมถ้าขาดระเบียบวินัย ทุกอย่างจบเลย นี่จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ชาติเรื่องParadigm Shift ในที่นี้ผมพูดเรื่องแนวคิดการเป็น New Thai เราอยากสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมไทย”

อาจจะเป็นเรื่องยากยิ่งในการฝังรากความมีวินัยในสังคมไทย แต่ถามว่าถ้าไม่เริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลง ยังใช้ชีวิตอยู่แบบเดิมๆ ทำพฤติกรรมที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบเดิมๆ จะเกิดอะไรขึ้นจากนี้ในอีก 10-20 ปี  อนาคตสภาพแวดล้อมจะเจอปัญหาที่หนักหน่วงขนาดไหน?

“ลองนึกภาพว่าถ้าเปรียบโควิด-19 เป็นคลื่นถาโถมใส่มนุษยชาติที่ว่าหนักหนาแล้ว คลื่นที่ 2 ที่ตามมา คือ คลื่นพิษเศรษฐกิจ แต่คลื่นที่ใหญ่กว่า คือ ลูกที่ 3 คือ Climate Change ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ภัยจากโลกร้อน ชนิดที่ว่าคนอยู่ไม่ได้ และถ้าให้พูดถึงประเทศไทยสิ่งที่น่ากังวลใจ เป็นคลื่นที่ใหญ่กว่านั้น คือ คลื่นที่เรียกว่า Biodiversity Loss การสูญสิ้นความสมบูรณ์ทางชีวภาพ”

ช่วงโควิด-19 คนไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เรายังกลับบ้าน ไปปลูกอะไรกินก็ยังขึ้น ยังหาของกินได้ แต่ถ้าเกิดวิกฤตสูญสิ้นความสมบูรณ์ทางชีวภาพ ไทยจะสูญเสียจุดแข็งที่สุดของประเทศ และจะกลายเป็นประเทศที่อยู่ยากมากๆ ในโลกใบนี้” อาจารย์โอ กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้ชวนคิด และกระตุ้นให้รู้ว่าถึงเวลาลงมือเสียตั้งแต่ตอนนี้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ