ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล: หน้ากากอนามัย…ขยะติดเชื้อที่กำลังล้นโลก
ในห้วงเวลาที่วิกฤติ COVID-19 ได้แพร่ระบาด นับตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบันนั้น นอกเหนือไปจากเจลแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ที่ถูกใช้ตามสถานพยาบาล ‘หน้ากากอนามัย’ ก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนที่อยู่คู่กับประชาชนจนแทบไม่อาจแยกขาดจากกันได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด การป้องกันการเข้ามาของเชื้อร้าย ทั้งตัวเรา และป้องกันจากสภาวะแวดล้อมรอบด้าน ก็เป็นด่านหน้าสำคัญเบื้องต้นที่สามารถทำได้ และสร้างความสบายใจได้ในระดับพื้นฐาน
แต่ก็เช่นเดียวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัยไม่ใช่ของที่จะสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ มันเป็นอุปกรณ์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Used) และกลายเป็น ‘ขยะติดเชื้อ (Infectious Waste)’ ที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งในแง่ปริมาณ และในแง่ของขั้นตอนการกำจัด ที่ไม่สามารถทำได้อย่างขยะประเภทอื่นทั่วไป

GM Live Thought ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ทักษิณา โพธิใหญ่ นักวิจัยหลังปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมาอธิบายถึงสถานการณ์ของขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น และแนวทางที่ควรจะเดินหน้าต่อไป ในการรับมือกับการกำจัดขยะประเภทนี้ ที่เราอาจจะต้องใส่ใจ และอาจจะต้องอยู่กับมันไปอีกระยะใหญ่ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สถานการณ์ของขยะติดเชื้อ (Infectious Waste) ในปัจจุบัน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ในประเทศไทย ได้กินระยะเวลายาวนานมานับตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนในปี 2563 (27.35 ล้านตัน) ลดลงจากปี 2562 มากกว่า 1 ล้านตัน เนื่องจากภาครัฐได้ออกมาตรการควบคุมการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย การทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือการล๊อคดาวน์ (Lockdown) ในหลาย ๆ พื้นที่
แต่ในขณะที่ปริมาณขยะมูลฝอยโดยรวมลดลง มีสิ่งที่น่าเป็นกังวลซึ่งมาพร้อมกับโรคระบาดในครั้งนี้ นั่นก็คือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณขยะติดเชื้อ (Infectious waste) ซึ่งจะต้องถูกจัดการโดยการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545
กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่ง ศบค.ที่ 1/2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาพร้อมกับปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล ในช่วงปกติกรุงเทพมหานครมีขยะติดเชื้อเกิดขึ้นประมาณ 43 ตันต่อวัน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีขยะติดเชื้อเกิดขึ้นเฉลี่ย 63 ตันต่อวัน โดย 46 ตันเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไปจากสถานพยาบาลต่าง ๆ และอีก 17 ตันเป็นมูลฝอยติดเชื้อโควิด ซึ่งส่วนมากเกิดจากโรงพยาบาล (2.85 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน) โรงพยาบาลสนาม (1.82 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน) และการกักตัวที่บ้าน (1.32 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน) นอกจากนี้ ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2564 ในช่วงที่มีผู้ติดเชื้อทะลุ 2 หมื่นรายต่อวัน ได้ทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อในวันดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นเป็น 126.7 ตัน
กระบวนการและขั้นตอนกำจัดขยะติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร และข้อจำกัดในปัจจุบัน
ขยะติดเชื้อในกรุงเทพมหานครมีบริษัทกรุงเทพธนาคมเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บขนและกาจัดด้วยการเผาที่อุณหภูมิสูง 2 ขั้น ได้แก่
1) เผากำจัดเชื้อโรคที่ 760°C
2) เผากำจัดก๊าซพิษที่ 1,000°C
พร้อมกับมีระบบบำบัดมลพิษอากาศให้ได้ตามมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ แต่ข้อจำกัดที่เกิดขึ้น คือ ระบบเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่กำลังดาเนินการอยู่ ณ ศูนย์กำจัดขยะหนองแขมและอ่อนนุช มีขีดความสามารถการเผาสูงสุดเพียงแค่ 70 ตันต่อวันเท่านั้น ในขณะเดียวกัน พื้นที่อื่น ๆ ของประเทศก็เริ่มมีปริมาณขยะติดเชื้อต่อวันสูงเกินกว่าศักยภาพของระบบเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่มีอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วยเตาเผาของท้องถิ่นและเอกชนประมาณ 14 แห่ง และเตาเผาของโรงพยาบาลต่าง ๆ อีกจำนวน 170 แห่ง
นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องหาแนวทางหรือมาตรการที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของประเทศ มิเช่นนั้น ขยะติดเชื้อเหล่านี้จะไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและนาไปสู่การตกค้างสะสมของขยะติดเชื้อในพื้นที่หลายแห่งของประเทศไทย ซึ่งมีการคาดการณ์แล้วว่าในเดือนสิงหาคม 2564 จะมีขยะติดเชื้อตกค้างทั่วประเทศมากกว่า 50 ตันต่อวัน
ทำไมจึงต้องใส่ใจกับขยะติดเชื้อมากเป็นพิเศษ
หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable mask) เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment หรือ PPE) ที่คนไทยใช้มากถึง 1.5 – 2 ล้านชิ้นต่อวัน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 หน้ากากอนามัยเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นและต้องถูกจัดการด้วยการเผาเช่นเดียวกับขยะติดเชื้อประเภทอื่น ๆ
หน้ากากอนามัยชนิดนี้ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์หรือพอลิเมอร์ (Polymer) ซึ่งส่วนมากหน้ากากชั้นนอกจะผลิตจากพลาสติกพอลิโพรพิลีน (Polypropylene หรือ PP) และหน้ากากชั้นในจะผลิตจากพลาสติกพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene หรือ HDPE) โดยมีผลการวิจัยออกมายืนยันว่าเชื้อไวรัส COVID-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนหน้ากากอนามัยที่ผลิตจากพลาสติกได้นานถึง 7 วัน
นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งยังสามารถสลายตัวเกิดเป็นไมโครพลาสติก (Microplastic) และปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารได้ ดังนั้น หากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไม่ได้ถูกทิ้งและจัดการอย่างเหมาะสม ขยะติดเชื้อเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค แต่ยังเป็นผู้ร้ายที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาวโดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งมีผลคาดการณ์ในปี 2563 ว่าหน้ากากอนามัยใช้แล้วเกือบ 1.6 พันล้านชิ้นได้หลุดลอดลงสู่ทะเลและมหาสมุทร
แนวทางในการจัดการกับขยะติดเชื้อสำหรับภาครัฐ เอกชน และประชาชน
เพื่อให้การบริหารจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อของประเทศเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เขียนขอเสนอแนวทางสำหรับภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ดังต่อไปนี้

ภาคประชาชน
1. การเลือกใช้หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า
การสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยและช่วยลดความเสี่ยงของประชาชนที่จะรับเอาเชื้อ COVID-19 เข้าสู่ร่างกาย หน้ากากสองชนิดที่เรารู้จักกันดี คือ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Medical mask หรือ Surgical mask) ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผ่านการทดสอบด้วยเกณฑ์มาตรฐาน เช่น ASTM F2100 ของสหรัฐอเมริกา หน้ากากชนิดนี้มีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ย 6-8 ชั่วโมง และเป็นหน้ากากแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หน้ากากชนิดที่สองคือ หน้ากากผ้า (Fabric mask) ซึ่งอาจทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าสาลูเนื้อแน่น มีการเย็บซ้อนกันอย่างน้อย 3 ชั้น และสามารถซักเพื่อใส่ซ้ำได้หลายครั้ง
บุคคลทั่วไปอาจเลือกใส่หน้ากากผ้าในชีวิตประจำวันหรือเมื่อไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ทั้งนี้เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรคและช่วยลดอัตราการเพิ่มขึ้นของขยะติดเชื้อที่เกิดจากหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยจะต้องเลือกใช้แค่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานเท่านั้น จึงจะสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ หากผู้ป่วยมีการไอหรือจาม
แต่อย่างไรก็ตาม การใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเพียงชั้นเดียวจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้เพียง 44% – 55% ดังนั้น หากเรามีความจำเป็นต้องเข้าไปบริเวณพื้นที่เสี่ยง การใส่หน้ากาก 2 ชั้นอาจทำให้การป้องกันเชื้อมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีผลการวิจัยยืนยันแล้วว่าการใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทับกัน 2 ชั้นสามารถป้องกันเชื้อให้ผู้สวมใส่ได้มากขึ้นประมาณ 10%
2. การทิ้งหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า
ประชาชนควรแยกหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะมูลฝอยประเภทอื่น เช่น ขยะอาหารและขยะรีไซเคิล ซึ่งเป็นการช่วยลดความชื้นและลดปริมาตรของขยะติดเชื้อที่จะต้องนำเข้าสู่ระบบเตาเผา อีกทั้งยังทำให้การเผามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากนั้นนำหน้ากากอนามัยที่แยกออกมาใส่ลงในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเขียนกำกับหน้าภาชนะให้ชัดเจนว่าเป็น “ขยะติดเชื้อ” หรือ “หน้ากากอนามัย”
•บุคคลทั่วไป
สามารถทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วลงในถุงที่ปิดมิดชิดพร้อมทั้งมัดปากถุงให้สนิท จากนั้นนำไปทิ้งตามจุดต่าง ๆ เช่น
– รถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขตหรือจุดเก็บรวบรวมขยะในชุมชน
– ถังขยะสีแดงที่จัดเตรียมไว้สำหรับขยะติดเชื้อ
– ถังขยะสีส้มที่จัดเตรียมไว้สำหรับใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้วโดยเฉพาะ (พื้นที่กรุงเทพมหานคร)
•กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยยืนยันที่กักตัวที่บ้าน (Home isolation)
จะต้องนำขยะติดเชื้อหรือหน้ากากอนามัยใช้แล้วใส่ถุงสีแดงสองชั้น โดยถุงชั้นในจะต้องมีการราดน้ำยาฆ่าเชื้อ (เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ 0.5% หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70%) ก่อนมัดถุงให้แน่นแล้วพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่บริเวณปากถุง จากนั้นนำถุงที่ผ่านการฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้วใส่ลงในถุงอีกชั้นหนึ่งที่ปิดมิดชิด มัดปากถุงให้สนิท และฉีดพ่นบริเวณถุงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วรอให้เจ้าหน้าที่เฉพาะกิจมารับขยะติดเชื้อที่บ้านเพื่อนำไปจัดการต่อ

ภาครัฐ/ภาคเอกชน
1.เพิ่มจุดวางถังขยะติดเชื้อให้มีความคลอบคลุมพื้นที่ยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถนำหน้ากากอนามัยใช้แล้วหรือขยะติดเชื้อประเภทอื่น ๆ มาทิ้งได้สะดวก และให้เจ้าหน้าที่สามารถเก็บขนมูลฝอยไปบริหารจัดการต่อได้ง่ายขึ้น
2.จัดตั้งศูนย์กลางรวบรวมขยะติดเชื้อในชุมชนเพื่อรอนำไปกำจัด เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลในพื้นที่
3.สร้างศูนย์การจัดการมูลฝอยท้องถิ่นเพื่อรองรับการกำจัดขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะโดยพิจารณาจากศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและความเหมาะสมของพื้นที่
4.ภาคเอกชนให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น
-การติดตั้งเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำหรือความร้อน (Thermal sterilization) ตามศูนย์รวบรวมขยะติดเชื้อในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ขยะติดเชื้อที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้วสามารถถูกฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary landfill) ร่วมกับขยะทั่วไปหรือสามารถถูกเผาร่วมกับกากอุตสาหรรมและขยะชุมชนได้ เป็นการช่วยลดภาระของเตาเผามูลฝอยติดเชื้อและช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อตกค้างได้
-ส่งเสริมเทคโนโลยีการรับส่งและติดตามตรวจสอบข้อมูล (Data sharing and tracking system) โดยอำนวยความสะดวกให้ศูนย์รวบรวมขยะติดเชื้อชุมชนทุกแห่งสามารถส่งข้อมูลปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่รับมาในแต่ละวันเข้าสู่ส่วนกลาง เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและการจัดเก็บข้อมูลทางสถิติด้านปริมาณมูลฝอยติดเชื้อของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
5.เพิ่มจำนวนรถเก็บขนขยะพร้อมทั้งติดตั้งจุดพักขยะชั่วคราวในพื้นที่ที่มีมูลฝอยติดเชื้อตกค้างสะสมปริมาณมาก โดยรถเก็บขนและจุดพักสำหรับขยะติดเชื้อจะต้องมีความมิดชิดและมีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 4°C ถึง 10°C เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 และขยะติดเชื้อที่พักไว้จะต้องถูกกำจัดภายใน 2 – 7 วัน
ในขณะที่โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่นี้ หน้ากากอนามัยที่เราใช้แล้วทิ้งรวมไปถึงขยะติดเชื้อประเภทอื่น ๆ ก็เปรียบเสมือนภัยเงียบที่กำลังคุกคามและค่อย ๆ ส่งผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาดังกล่าวต้องการความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน ที่นับว่ามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้การบริหารจัดการขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อที่อาจมีการตกค้างสะสมและนำไปสู่วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมระยะยาวในอนาคตได้อีกด้วย
อ้างอิง:
-กรมควบคุมมลพิษ. สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2563. เข้าถึงได้จาก https://www.pcd.go.th/pcd_news/11873/
-ผู้จัดการสุดสัปดาห์. ขยะ “แมสก์” ล้นเมือง อยากจะทิ้งก็ทิ้งก็ได้เหรอ!?. เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/daily/detail/9640000038405
-สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร. กทม.บริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อโควิดกว่า 46 ตัน/วัน เน้นย้ำแยกขยะติดเชื้อ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี.
http://www.prbangkok.com/th/board/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQwMzQ1Mg==
-ข่าวไทยพีบีเอส. น่าห่วง! ขยะติดเชื้อเพิ่ม 294 ตันต่อวันเกินศักยภาพกำจัด. เข้าถึงได้จาก https://news.thaipbs.or.th/content/306905
-Thailand Environment Institute (TEI). Solid Waste During COVID-19. เข้าถึงได้จาก http://www.tei.or.th/en/blog_detail.php?blog_id=49
-Das, A. K., Islam, M. N., Billah, M. M., & Sarker, A. (2021). COVID-19 pandemic and healthcare solid waste management strategy – A mini-review. Science of The Total Environment, 778, 146220. https://doi.org/10.1016/j.scitotenv.2021.146220
-De-la-Torre, G. E., & Aragaw, T. A. (2021). What we need to know about PPE associated with the COVID-19 pandemic in the marine environment. Marine Pollution Bulletin, 163, 111879. https://doi.org/10.1016/j.marpolbul.2020.111879
-Dybas, C.L. (2021). Surgical masks on the beach: COVID-19 and marine plastic pollution. Oceanography 34(1):12–14. https://doi.org/10.5670/oceanog.2021.105
-Sangkham, S. (2020). Face mask and medical waste disposal during the novel COVID-19 pandemic in Asia. Case Studies in Chemical and Environmental Engineering, 2, 100052. https://doi.org/10.1016/j.cscee.2020.100052
-บีบีซี. โควิดกับขยะติดเชื้อ 5 เรื่องของการจัดการโดย กทม. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-58114065
-กรุงเทพธุรกิจ. สถิติโควิด ‘นิวไฮ’ จุดพีค ‘ขยะติดเชื้อ’. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/953585
-กรมอนามัย. 2654. คำแนะนำการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19). เข้าถึงได้จาก https://covid19.anamai.moph.go.th/web-upload/2xdccaaf3d7f6ae30ba6ae1459eaf3dd66/m_document/6734/35232/file_download/280733736b49c7eb9f1f6f2d02b475c6.pdf
-Steinbrook R. Filtration Efficiency of Face Masks Used by the Public During the COVID-19 Pandemic. JAMA Intern Med. 2021;181(4):470. doi:10.1001/jamainternmed.2020.8234
-Sickbert-Bennett EE, Samet JM, Prince SE, et al. Fitted Filtration Efficiency of Double Masking During the COVID-19 Pandemic. JAMA Intern Med. 2021;181(8):1126–1128. doi:10.1001/jamainternmed.2021.2033
-CDC. 2021. Improve the Fit and Filtration of Your Mask to Reduce the Spread of COVID-19. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prevent-getting-sick/mask-fit-and-filtration.html
-Brooks et al. (2021). Maximizing Fit for Cloth and Medical Procedure Masks to Improve Performance and Reduce SARS-CoV-2 Transmission and Exposure, 2021. MMWR Morb Mortal Wkly Rep, 70(7):254–257. DOI: http://dx.doi.org/10.15585/mmwr.mm7007e1
