fbpx

On the Talk about City Plan :  “ผังเมือง” เรื่องต้องรู้ กับรองศาสตราจารย์พนิต ภู่จินดา

เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘เมือง’ หรือ City นั้น แน่นอนว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่อันประกอบขึ้นจากตึกรามบ้านช่อง หรือสถาปัตยกรรมที่ตั้งเรียงราย หากแต่เป็นการผสานรวมวิถีชีวิต วัฒนธรรม กิจกรรม และผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย มารวมอยู่ในพื้นที่หนึ่ง นั่นทำให้ศาสตร์แห่งงานเมืองคือความท้าทาย ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุม หรือบริบทใดก็ตาม

และงานด้าน ‘ผังเมือง’ ก็เป็นส่วนประกอบที่ไม่อาจขาดไปได้ ในการขับเคลื่อนการพัฒนารอบด้่าน แน่นอนว่ายังส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเอื้อต่อประโยชน์สูงสุด ทั้งในส่วนสุขอนามัย ความปลอดภัยด้านสาธารณะ การปันส่วนของสาธารณูปโภคอย่างน้ำประปา ไฟฟ้า โทรมนาคม และการขนส่ง รวมถึงการอนุรักษ์ย่านสำคัญที่ไม่ได้ส่งผลในเชิงธุรกิจแต่มีมูลค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

คำว่า “ผังเมือง” จึงมีความหมายและมิติที่ลึกซึ้ง เกินกว่าแค่การขีดเส้น ลากสี และเขียนกำกับว่าพื้นที่ไหน ใช้ทำอะไร เชื่อว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลือนหรือไม่รู้ถึงบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานทีรับผิดชอบด้านนี้โดยตรง

และครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ทางทีมกองบรรณาธิการ GM Magazine ได้รับเกียร์4ติจาก รองศาสตราจารย์ พนิต ภู่จินดา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองแห่งประเทศไทย ผู้มีประสบการณ์ในงานด้านผังเมืองมาอย่างยาวนานกว่าสองทศวรรษ ได้อธิบายเพื่อความเข้าใจและเห็นถึงภาพความสำคัญของ “ผังเมือง” อย่างรอบด้านทั้งในส่วนนิยาม ความสำคัญเกี่ยวกับเนื้องาน ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะกรณีโรงงานกิ่งแก้ว จนถึงแนวทางที่จะเกิดขึ้น ‘และ’ ที่ควรจะเป็น ของศาสตร์ด้านนี้ ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกแบบด้านอื่นเลย

GM : หน้าที่หลักในฐานะนักวิชาการด้านผังเมือง คืออะไร

รองศาสตราจารย์ พนิต : งานหลัก คือการดูแลด้านผังเมืองและโครงการพัฒนาเมือง แต่มีส่วนอื่นที่ต้องคิดเพิ่มเติม เช่น การพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility), การเปิดประมูลโครงการภาครัฐ ไปจนถึงเครื่องมือในการสนับสนุนกระบวนการนั้นๆ เช่น การขอ BOI ซี่งชัดเจนว่า ทุกสิ่ง จะไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่จะต้องคิดในภาพรวมทั้งหมด ที่จะทำให้งานวางผังเมืองและพัฒนาเมือง กลายเป็นขั้นตอนที่จบในแพ็คเกจเดียว

 GM : เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกศึกษาต่อด้านงานผังเมือง หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

รองศาสตราจารย์ พนิต : ช่วงเวลาที่ผมเรียนจบ คณะสถาปัตย์ฯ มีแค่สามภาควิชาหลักๆ คือ สถาปัตย์อุตสาหกรรม สถาปัตยกรรมหลัก และภูมิสถาปัตย์ แต่สำหรับการวางผังเมืองเป็นส่วนที่ถูกแทรกอยู่ในทั้งสามภาควิชาทั้งสิ้น  ทำให้คนส่วนใหญ่ เลือกเรียนต่อในด้านต่างๆ เพราะคิดว่า งานผังเมือง ‘คือส่วนหนึ่ง’ ของสถาปัตยกรรม เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มีกระทรวง MLIT หรือ ‘Ministry of Land, Infrastructure and Tourism’ เป็นต้น หรือแม้แต่ภาควิชาการวางผังเมืองแห่งแรก ซึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัย Harvard University สหรัฐอเมริกา แต่ด้วยแนวคิดที่แตกต่างกัน ทำให้วิชาด้านผังเมือง ถูกกระจายออกไปอยู่ในหลากหลายวิชา บางแห่งอยู่กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ บางแห่งก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐประศาสนศาสตร์ บางแห่งก็อยู่กับภูมิศาสตร์

GM : การศึกษาต่อด้านผังเมืองได้คิดไว้หรือไม่ ว่าต้องการจะพัฒนาสิ่งใดในงานด้านดังกล่าว

รองศาสตราจารย์ พนิต : ต้องบอกให้เห็นภาพก่อนครับว่า คนที่เรียนสถาปัตย์โดยส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบ ‘คิดจากภายนอกเข้าไปภายใน’ คือ ได้ที่ดินหนึ่งแปลง จะออกแบบอาคารอย่างไรให้เหมาะสมและพอดีกับพื้นที่นั้น แต่การเรียนผังเมืองเป็นแนวคิดแบบ ‘คิดจากภายในออกมาภายนอก’ คือ ต้องพิจารณาจากบริบทแวดล้อม ซึ่งคนที่เรียนปริญญาตรีสถาปัตย์ จะมีปัญหามากเมื่อไปเรียนผังเมือง เพราะจะรู้สึกว่า ข้อจำกัดทั้งหลายนั้นมากมายเหลือเกิน นั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้

แต่ในความเป็นจริง เมื่อออกไปสู่การทำงาน สุดท้ายก็จะไม่ได้มีโจทย์แค่เรื่องของพื้นที่เพียงอย่างเดียว เพราะจะเห็นความเกี่ยวเนื่องที่แวดล้อมกับสิ่งก่อสร้างและอาคาร ซึ่งการคิดจากข้างในออกมาสามารถตอบสนองกับแง่มุมต่างๆ ได้ดีกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ อาคารสมัยใหม่ที่พยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมภายนอกมากขึ้น

GM : กฎหมายด้านผังเมือง มีอำนาจครอบคลุมแค่ไหนในการกำหนดและวางแนวทางต่อการพัฒนาประเทศ

รองศาสตราจารย์ พนิต : ตามหลักสากลทั่วไปแล้วกฎหมายผังเมือง ‘จริงๆ’ นั้น อยู่รองลงมาจากรัฐธรรมนูญ นั่นคือ รัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดสิทธิของประชาชนที่พึงมีและพึงได้ ‘ยกเว้น’ ความมั่นคงของประเทศ และ กฎหมายคุ้มครองและสวัสดิภาพของผู้เยาว์ รวมถึงงานด้านผังเมืองนั้นสามารถเอาสิทธิออกจากคุณได้ในทางกฎหมาย

ตัวอย่างคือ ผังสีของกรุงเทพมหานครที่กำหนดพื้นที่การใช้งาน สามารถเอาสิทธิออกจากคุณได้ ‘โดยไม่จ่ายคืน’  เนื่องจากวางบนหลักสามข้อคือ ความปลอดภัยสาธารณะ ความเหมาะสมในการอยู่อาศัยสาธารณะ และด้านสุขอนามัยสาธารณะ แน่นอนว่า การจะลิดรอนสิทธิจากพื้นที่นั้น ในงานด้านผังเมืองต้องตอบให้ได้ว่า เข้ากฏเกณฑ์ข้อใดในสามข้อดังกล่าว เช่น พื้นที่สีเหลือง ห้ามสร้างที่อยู่อาศัยหนาแน่น หรือตลาดเกิน 1000 ตารางเมตร ถ้าสร้างแล้วขัดกับสุขอนามัยสาธารณะสามารถลิดรอนกลับคืนได้ หรือพื้นที่กลางเมือง แต่ต้องการสร้างโรงงานผลิตวัตถุระเบิด ขัดกับความปลอดภัยสาธารณะ ก็ลิดรอนสิทธิได้ แม้จะเป็นที่ดินซึ่งเจ้าของซื้อมาก็ไม่เกี่ยวกัน ถ้าขัดกับสามข้อหลักใหญ่ รัฐมีสิทธิลิดรอนกลับคืนได้

GM : ในมุมมองของอาจารย์  นิยามคำว่า ‘ผังเมือง’ คือสิ่งใด

รองศาสตราจารย์ พนิต : คำๆ นี้ หากให้นิยาม อาจต้องบอกว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยอยู่จุดหนึ่ง เพราะถ้าพูดถึงการวางผังเมืองรวม อันเป็นรูปแบบที่ทุกคนคุ้นเคย ซึ่งแบ่งโซนออกเป็นสีตามการใช้งานนั้น ต้องบอกว่านั่นเป็นเพียงหนึ่งในสามของศาสตร์การวางผังเมืองเท่านั้น ยังมีอีกสองประเภทที่เหลือคือ ผังระดับนโยบาย เพื่อใช้วางแนวทางโครงสร้างการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่เมืองแต่ละเมือง พื้นที่แต่ละพื้นที่ สำหรับการ เตรียมสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน และอื่นๆ  ผังแบบนี้จะใช้ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินเป็นตัวกำหนดความเหมาะสมรวมถึงบังคับใช้  แต่ในทางกฎหมายจะยังไม่มีการลิดรอนสิทธิ ที่ดินของบุคคลหรือนิติบุคคลก็ยังคงเป็นอยู่เช่นนั้น และที่ดินจะเป็นอะไรก็ได้ ขึ้นกับเจ้าของที่ดินเป็นหลัก 

และสอง ซึ่งเป็นผังเมืองเฉพาะ คล้ายกับผังเมืองรวม ที่เป็นลักษณะไม่เกี่ยวข้องกับผังเมืองที่กล่าวไป เช่น ถนนราชดำเนิน แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ซึ่งสามารถสร้างที่อยู่อาศัยหรืออาคารเพื่อการพาณิชย์ได้โดยไม่ผิดกฎ แต่เป็นพื้นที่อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ตึกแถวทั้งหลายต้องได้รับการอนุรักษ์ ขัดกับผังเมืองแต่ไม่ใช่ความจำเป็นยิ่งยวด ในกรณีนี้ประชาชนในพื้นที่ ต้องหยั่งเสียง และรวบรวมเงิน เพื่อจ่ายให้กับเจ้าของที่ดินในการ ‘อนุรักษ์’ และชดเชยส่วนต่างที่เสียไป

GM :  ปัญหางานด้านผังเมืองของประเทศไทย เกิดขึ้นจากในแง่มุมใด

รองศาสตราจารย์ พนิต : ปัญหาเกิดขึ้น เพราะเรามีผังเมืองรวม และผังเมืองนโยบายหลายต่อหลายฉบับ แต่ไม่เคยมีผังเมืองเฉพาะเลย นั่นทำให้เกิดการบังคับใช้พื้นที่อย่างไม่เป็นธรรม ตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นปัญหาค้างคาอยู่คือ พื้นที่บางกระเจ้า เพราะพื้นที่นั้น ถูกจัดสรรให้สามารถจัดสรรที่อยู่อาศัยไม่เล็กกว่า 120 ตารางวา เพราะเป็นพื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการ

ทีนี้ ประชาชนก็ออกมาคัดค้านว่าโครงการบ้านจัดสรรได้เข้าไปกว้านซื้อที่ดิน จนไม่เหลือพื้นที่สีเขียว แต่ในอีกทางหนึ่ง เจ้าของที่ดินก็ค้านว่า นี่คือที่ดินของเขา ซึ่งเขามีสิทธิขายให้ผู้พัฒนาโครงการ ไม่ได้ทำผิดกฎหมายจัดสรรที่ดินและผังเมือง และเงินที่ได้ ก็มากกว่าปล่อยให้เป็นไร่เป็นสวน หรือพื้นที่เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง ถูกวางไว้ในผังเมืองรวมว่าเป็นพื้นที่ทางน้ำผ่าน ห้ามจัดสรรที่ดิน ห้ามพัฒนา ซึ่งเจ้าของที่ดินก็คงต้องถามด้วยคำถามเดียวกันกับบางกระเจ้า  แบะนี่เป็นตัวอย่างของการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองรวม แต่ไม่มีกฎหมายในรูปแบบเฉพาะ 

GM : เช่นนั้นแล้ว ที่ดินแต่ละผืนจะเกิดการทับซ้อนในข้อกฎหมายผังเมืองรวมทั้งสามหรือไม่

รองศาสตราจารย์ พนิต : ไม่ครับ ตามหลักแล้ว ที่ดินแต่ละผืน แต่ละพื้นที่ ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและบังคับใช้ของผังเมือง ‘เพียงหนึ่งผัง’ เท่านั้น ในรูปแบบสากล ผังเมืองรวมจะเป็นตัวกำหนดชัดเจนว่า พื้นที่ไหนจะใช้ผังเมืองรวม หรือผังเมืองเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติ ผังเมืองเฉพาะ ไม่เคยมีและไม่เคยถูกบังคับใช้ ย้อนกลับไปถึงกฎหมายผังเมืองฉบับแรกปี พ.ศ.2495 มาจนถึงปัจจุบันซึ่งผ่านการปรับปรุงแก้ไข ก็ไม่มีข้อกำหนดหรือกฎหมายผังเมืองเฉพาะ 

GM : เช่นนั้นแล้วกฎหมายผังเมืองเฉพาะคือกลไกเพื่อชดเชยให้กับกรณีที่เป็นปัญหาอย่างเหมาะสมหรือไม่

รองศาสตราจารย์ พนิต : เรียกว่า ความเป็นธรรมในการเสียสละเพื่อส่วนรวม จะเห็นภาพชัดเจนกว่า แต่ต้องเป็นกรณีที่ ‘ส่วนรวม’ เห็นภาพร่วมกันจริงๆ ไม่ได้ยกอุปมาหรืออนุมานกันไปเอง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องมีการชดเชยให้เหมาะสม เพราะหลักการเหล่านี้ คือ ‘Zero-Sum Game’ ใครที่ได้ประโยชน์มากเกินไป ก็ต้องชดเชยให้กับผู้ที่ต้องเสียผลประโยชน์เกินไป บางกระเจ้าจะเป็นปอดคนกรุงเทพฯ ก็ต้องเก็บเงินที่คนกรุงเทพฯ หรือถนนราชดำเนินจะเป็นถนนเส้นประวัติศาสตร์ของคนทั้งประเทศ ก็ต้องเก็บเงินภาษีจากคนในประเทศ ซึ่งต้องเป็นเช่นนั้น

GM : ปัญหาจากกรณีโรงงานหมิงตี้ ซึ่งเป็นประเด็นด้านความปลอดภัยและผังเมืองนั้น เกิดจากอะไร

รองศาสตราจารย์ พนิต : กรณีหมิงตี้ เจ้าของโรงงานตั้งโรงงานในพื้นที่นั้นมาก่อน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ก่อนจะมีกฎหมายผังเมืองรวมของจังหวัดสมุทรปราการ ปี พ.ศ.2537  ซึ่งโรงงานตั้งอยู่อย่างถูกกฎหมายในช่วงเวลาที่เริ่มก่อตั้ง แต่ผิดเมื่อมีกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ โดยพระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ.2562 มาตรา 37 มีอยู่ สี่วรรคสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือ ถ้ามีผังเมือง ต้องทำตาม ห้ามทำผิด วรรคสอง แต่ถ้าอยู่มาก่อนที่จะมีผังเมือง ให้ถือว่าไม่ผิด อยู่ต่อไปได้  โดยส่วนใหญ่จะอ่านแล้วจบแค่นั้น  ซึ่งวรรคถัดมาต่างหาก ที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ ถ้าอยู่มาก่อน แม้จะไม่ผิดในช่วงเวลาที่เริ่มก่อตั้ง แต่ในปัจจุบัน ขัดกับหลักสาธารณะทั้งสาม ความปลอดภัย การอยู่อาศัย สุขอนามัย คณะกรรมการผังเมืองจะมีอำนาจในการสั่งการเพื่อให้เกิดการปรับปรุง แก้ไข หรือระงับการใช้งาน ‘โดยมีค่าตอบแทน’ ทีนี้ล่ะ ปัญหาถึงเกิด เพราะถ้าว่าตามหลักการแล้ว หมู่บ้านจัดสรรนั้น ‘เข้าไปอยู่ทีหลัง’ โรงงานหมิงตี้ ที่ก่อตั้งมาก่อนเป็นสิบกว่าปี ถ้าตัวโรงงานมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของโครงการ ผู้พัฒนาโครงการเป็นผู้ที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับโรงงานเพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย เพราะกฎหมายบอกไว้เช่นนั้น แต่ถ้าว่าตามความรู้สึกแล้ว ก็จะคิดกันว่า ทำไมต้องจ่าย ในเมื่อไม่ได้เป็นต้นตอของปัญหา และถ้าถามว่าทำไมโครงการหมู่บ้านจัดสรรถึงไปตั้งอยู่บริเวณนั้น ก็จะกลับไปที่ผังเมืองรวมแบบกรณีบางกระเจ้า ลาดกระบัง เจ้าของที่ดินอยากขาย ผู้พัฒนาอยากได้ ไม่ผิดกฎหมาย ก็เป็นแบบนี้ หรือกรณีที่ใหญ่จริงๆ อย่าง ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ นะครับ ตามผังเมืองฉบับปี พ.ศ.2503 ที่กำหนดโดยนักวางผังเมืองชาวต่างชาติ จะเห็นว่า ถูกวางไว้ตั้งแต่แรกเป็นพื้นที่สีขาว ไม่มีจัดสรรทำอย่างอื่น เพื่อเป็นสนามบิน แล้วการขยายตัวของเมืองที่ตามไปออก ถามว่าสุวรรณภูมิที่ถูกวางเอาไว้แต่แรก ผิดอะไรในแง่กฎหมาย ถ้าพูดกันแบบตรงๆ คือไม่ผิดนะครับ 

GM : แล้วกรณีหมิงตี้ ถ้าไม่นับเรื่องที่โครงการจัดสรรโดยรอบไม่พร้อมจ่าย ตัวโรงงานเองก็น่าจะเห็นถึงความเสี่ยงในจุดนี้หรือไม่

รองศาสตราจารย์ พนิต : ลองจินตนาการตัวคุณเองเป็นเจ้าของโรงงานนะครับ ถ้าสมมติว่ามีสำนักผังเมือง หรือแม้แต่เจ้าของโครงการเข้าไปบอกว่า คุณปรับปรุงเถอะ หรือคุณย้ายออกไปเถอะ มันอันตรายอาจจะเกิดอุบัติภัยได้นะ เป็นคุณจะตอบกลับมาว่าอะไร? คำตอบง่ายมากครับ ‘ผมอยู่มาสามสิบกว่าปี มันไม่เคย ‘ระเบิด’’ สักครั้ง หรือถ้าไปบอกกับชาวบ้านในละแวกรอบๆ ว่า โรงงานอันตรายนะ มีความเสี่ยงนะ ต้องรณรงค์ คำตอบที่ได้ก็ไม่ต่างกันครับ ‘อยู่มายี่สิบกว่าปี ไม่เคยเกิด ไม่เคยระเบิด’ และนี่ไม่ใช่แค่โรงงานหมิงตี้ แต่เป็นความลำบากใจในฐานะนักวางผังเมือง เพราะตามหลัก มีเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาอยู่สี่ข้อด้วยกันคือ หนึ่ง ระบบคมนาคมขนส่งไม่พอ สอง สาธารณูปโภคไม่พอ สาม กิจการปกติที่ทำ รบกวนหลักสาธารณะสามข้อ ซึ่งสามข้อที่ว่ามา คนทั่วไปอาจจะพอรับฟังนะครับ เพราะเป็นสิ่งที่เห็นกันได้บ่อยๆ แต่ข้อสี่นี่ล่ะ ที่พูดให้ตาย ก็โดนคัดค้านทุกรอบ นั่นคือ ‘เมื่อเกิดอุบัติภัยแล้ว ผลกระทบที่ตามมา ร้ายแรงเกินกว่าที่จะรับได้’ แน่นอน พูดไป คนก็ไม่รับ เหตุผลก็ที่กล่าวไปก่อนหน้านั้น หรือถ้าเป็นโรงงาน ก็หน้าที่กรมโรงงานต้องจัดการมาตรฐานความปลอดภัยสิ ในฐานะนักวางผังเมือง สี่ข้อนี้สำคัญ โดยเฉพาะข้อที่สี่ เพราะพวกเราจะต้องคิดในกรณี Worst Case Scenario ที่เลวร้ายที่สุดไว้ก่อน เพราะไม่ว่าจะป้องกันหรือควบคุมดีแค่ไหน ก็มีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติ ใครจะไปคิดว่าตึกแฝด World Trade Center ที่มั่นคงแข็งแรง จะถล่มเพราะผู้ก่อการร้าย ใครจะไปนึกว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะจะระเบิด ทั้งที่มีระบบป้องกันภัยที่ดีเยี่ยม แต่ด้วยคำว่า ‘อาจจะเกิด’ นี่ล่ะ ที่ทำให้คนรู้สึกว่า แค่อาจจะ มันไม่เกิดหรอก แต่พอเกิด ก็สายเกินแก้แล้ว ซึ่งที่ผมพูดไป คือมาตรฐานปกติที่ทั่วโลกทำกัน แต่ประเทศไทยไม่ทำ ถึงได้เกิดปัญหาอยู่ตอนนี้

GM  : สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีหมิงตี้ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดหรืองานด้านผังเมืองมากน้อยแค่ไหน

รองศาสตราจารย์ พนิต : ไม่ครับ ไม่มี ผมยกกรณีตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นชัดเจนเลย คือปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ นี่ล่ะ ทุกครั้งที่มีคนถามผมว่าจะแก้ปัญหาจราจรโดยใช้วิชาผังเมืองอย่างไร ผมตอบทุกคน ทุกรัฐบาล ในฐานะที่ปรึกษา ทุกครั้งว่า ตัดถนนเพิ่มครับ และไม่ใช่การตอบแบบขอไปที เพราะนี่คือความจริง กรุงเทพฯ มีถนนไม่เพียงพอต่อจำนวนยานยนต์ และอาจจะเรียกว่าน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล,าก เพราะมาตรฐานจะอยู่ที่ 25% แต่ของกรุงเทพฯ มีเพียงแค่ 7% เท่านั้น

มีครั้งหนึ่ง อาจารย์ที่ปรึกษาสมัยผมเรียนอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งท่านเป็นคนออกแบบระบบจราจรให้งาน World Expo ปี 2000 และงานโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ท่านมาที่เมืองไทย เราสองคนไปทานข้าวที่โรงแรมแลนด์มาร์ค สุขุมวิท กินไปดูรถติดไป พอถึงเวลาแยกย้าย อาจารย์จับมือผมแล้วบอก โชคดีนะพนิต ปัญหาจราจรกรุงเทพฯ ผมแก้ไม่ได้จริงๆ นี่ขนาดมือหนึ่งของโลกยังยอมแพ้ ถ้าไม่ตัดถนน ต่อให้เป็นเทวดาก็ทำไม่ได้หรอกครับ        ทีนี้ กรณีโรงงานหมิงตี้ หลังเกิดเหตุทุกฝ่ายต่างเรียกร้องพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องแก้ไขนะ ต้องปรับปรุงนะ แต่พอกางแผน ดูต้นตอปัญหาจริงๆ แล้วพบว่า ต้องจ่าย ต้องทำตามกฎ เงียบกันหมด สมมติว่าตีกลมๆ ในกรณีถ้าจะย้ายโรงงานหมิงตี้ไปไกลๆ เลย ใช้เงิน 1,000 ล้านบาท (หนึ่งพันล้านบาท) พื้นที่แถวนั้นมีหมู่บ้าน ตีไว้ที่ 20 หมู่บ้าน คำนวณแล้ว หมู่บ้านละ 20 ล้าน จ่ายมั้ย? หรือจะไปเอาเงินภาษีของประเทศ แต่คนเสียภาษีที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้มาเกี่ยวอะไรกับด้านกิ่งแก้วด้วยเขาจะยอมหรือ? นี่ล่ะครับ ก็โยนกันไปกันมาแบบนี้

GM : มีแนวทางใดในการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดความติดขัดในงานด้านผังเมืองอย่างจริงจังได้บ้าง

รองศาสตราจารย์ พนิต : ถ้าผมพูดออกไป คนจะมองว่ายกหางตัวเองหรือเปล่าผมไม่แน่ใจนะ แต่โครงสร้างด้านผังเมือง ‘ต้อง’ อยู่เหนือโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และมีแผนแม่บทร่วมกัน เรียกว่ามีคนเป็นประธาน และมีแนวทางที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ไปในทางเดียวกัน เพราะไม่ว่าจะด้านคมนาคม สาธารณูปโภค ความปลอดภัยสาธารณะ สุขอนามัย หรือการพัฒนาอื่นๆ ต้องถูกวางไว้บนฐานของการวางผังเมือง ที่กำหนดว่า พื้นที่นี้ต้องมีที่อยู่อาศัยมากแค่ไหน พื้นที่นี้ต้องเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ ใช้น้ำประปา-ไฟฟ้าเท่าใด ไม่ว่าจะผังเมืองรวม ผังเมืองนโยบาย หรือผังเมืองเฉพาะ ต้องได้รับการเห็นพ้อง และพัฒนาไปในแนวทางนั้น  แต่ในประเทศไทย เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถูกแยกส่วนขาดจากกัน ไฟฟ้า ประปา คมนาคม กลายเป็นว่า ต่างคนต่างให้ ต่างคนต่างดำเนินการ ไม่มีใครทำตามผังเมืองเลย อย่างเช่นล่าสุด ที่สงขลา มีข่าวว่า มีคนไปพัฒนาชุมชนนอกเขตผังเมือง แล้วผมก็ถูกบ่นถูกต่อว่า ผมก็ถามกลับไปว่าตามผังเมืองแล้ว พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้ถูกจัดสรรให้เกิดชุมชน แล้วไปอยู่กันได้ยังไง? คำตอบก็คือ ไฟฟ้า ประปา ถนน เขาตัดผ่านไปตรงนั้น ซึ่งตามหลักแล้วมันไม่ใช่

ที่ผมพูดเกี่ยวกับผังเมืองไม่ได้ยกขึ้นมาเอง เพราะนี่คือมาตรฐานสากลนะครับ ในประเทศต่างๆ จะใช้ผังเมืองเป็นแม่บท สำหรับผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภค เป็นกฏเกณฑ์ตายตัวเลย ว่าจุดไหนสามารถทำได้ จุดไหนทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้อยู่ในผัง ให้ไม่ได้ ไม่อนุมัติ แล้วประเทศไทย ก็อาจเป็นประเทศเดียวในโลกด้วย ที่ผังเมือง ‘หมดอายุ’ เพราะในประเทศอื่นๆ การหมดอายุของผังเมืองจะหมายถึง การที่หน่วยงานนั้นๆ ไม่สามารถทำเรื่องของงบประมาณเพื่อบริหารและจัดสรรการให้บริการได้ การไม่มีผังเมืองจะเดินนโยบายยังไง?                            เขาถึงไม่ปล่อยให้หายไป ถ้าไปของบประมาณ ก็จะถูกถามกลับมาว่าเอางบประมาณไปทำอะไร ผังเมืองของปีงบประมาณนี้เป็นแบบไหน? นี่คือกลไกปกติที่ทั่วโลกทำกันนะครับ

GM : แบบนี้จำเป็นหรือไม่ที่งานผังเมืองของไทย ต้องมีการปรับและเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีและระบบการทำงานของไทย

รองศาสตราจารย์ พนิต : ถ้าคิดแบบนี้ ผมคงบอกได้ว่า ปัญหาทั้งหลายจะไม่จบนะครับ เพราะแนวทางที่ผมกล่าวไป คือแนวทางที่ทุกประเทศ ไม่เกี่ยวว่าจะสากลหรือไม่สากล ยุโรป เอเชีย อเมริกา ใช้กัน นี่คืองานผังเมืองและพัฒนาชีวิตเมือง สาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา คมนาคม ไม่ต่างจากที่อื่น ต้องใช้วิธีแบบเดียวกับทั่วไปสิครับ เพราะนี่คือธรรมชาติเมืองทั่วไปเลย

แต่ที่ของไทยเราเป็นปัญหา ก็อย่างที่กล่าวไปครับ เพราะหน่วยงานกระจัดกระจายและทับซ้อนกัน จะดำเนินนโยบายข้ามสายงานก็ไม่ได้อีก ไม่มีแนวทางกลางที่ชัดเจนในการปฏิบัติร่วมกัน ผลลัพธ์ที่ได้เลยสับสนและทางใครทางมัน หรือที่เศร้าสุดๆ คือ แม้แต่หน่วยงานที่อยู่ร่วมกระทรวงกับผังเมืองด้วยกันยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทำตามเลยครับ  

GM : คิดว่ามีทางแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลุล่วงไปหรือไม่

รองศาสตราจารย์ พนิต : ไม่มีครับ อาจจะกำปั้นทุบดินนะ แต่ผมก็ยังย้ำ และย้ำว่า ถ้าไม่มีแนวทางกลางที่ยอมรับและปฏิบัติร่วมกัน ยังไงก็ไม่มีทางแก้ แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียดคือ แนวทางพัฒนาของประเทศไทยเป็นลักษณะแยกขาด คมนาคมอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม น้ำประปา – ไฟฟ้าอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ระบบสารสนเทศอยู่ภายใต้กระทรวงไอซีที สุขอนามัยอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข การศึกษาอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ  แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ต้องมีจุดร่วมที่ทุกคนสามารถชี้แล้วบอกว่า จะพัฒนาในแนวทางนี้นะ แต่ในเมื่อไม่ทำตามแล้วจะให้แก้อะไรล่ะครับ?

และถ้าถามว่าบังคับใช้ เริ่มต้นได้เลยหรือเปล่า ในเมื่อภาพออกชัดเจนขนาดนี้สำหรับการแก้ปัญหา ก็ต้องมามองที่แต่ละหน่วยงานอีก ที่มีลักษณะกับแนวทางแยกขาด มีนโยบายทางใครทางมัน ส่วนผมที่เรียนผังเมืองซึ่งใช้โดยประเทศอื่นๆ ทั่วไป แต่หน่วยงานอื่นไม่ร่วมด้วย ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นหรอกครับ

GM : ในบทบาทที่ต้องดูแลการจัดการผังของอาคาร จุดนี้เพื่อผลักดันไปสู่ภาพใหญ่ด้วยหรือไม่

รองศาสตราจารย์ พนิต : ในการดูแลและจัดการผังอาคาร จะคล้ายกับการจัดการผังเมืองเฉพาะ แต่จุดที่ทำให้ง่ายกว่าคือ การทำความเข้าใจกับเจ้าของโครงการ  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่มาก และทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันในแนวทางร่วม แต่ถามว่าทั้งหมด สามารถต่อยอดให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาพใหญ่ในเชิงโครงสร้างหรือตัวระบบนั้น ต้องบอกว่าไม่ได้ไปถึงขั้นนั้นครับ 

GM : จะทำอย่างไร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามามีส่วนกับแผนแม่บทผังเมืองมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ พนิต : ไม่ต้องถึงกับเป็นตัวบทกฎหมายหรอกครับ เอาแค่แต่ละหน่วยงานรู้ว่าหน้าที่และบทบาทของตนเองคืออะไร ก็จบแล้วครับ เพราะรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติเอาไว้ ไม่ว่าจะสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง การประกอบอาชีพ การอยู่อาศัย จะละเมิดมิได้ แต่ยกเว้นผังเมือง จุดนี้มีเขียนเอาไว้นะครับ กฎหมายผังเมืองมีไว้เพื่อกำกับและดูแล

GM : คำว่า ‘สุขภาวะ’ ที่ได้ยินอยู่บ่อยในปัจจุบัน มีส่วนสำคัญต่องานด้านผังเมืองอย่างไร

รองศาสตราจารย์ พนิต : งานหลักที่ผมทำมีสองหน่วยงานใหญ่คือ สสส. เพื่อสร้างพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะ จากตัวเลขผลสำรวจก่อนช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 พบว่า คนที่อยู่อาศัยในเมือง เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคมะเร็ง เบาหวาน โรคเครียด ฯลฯ เป็นจำนวนมาก เป็นตัวสะท้อนว่า ชีวิตเมือง ขัดกับหลักชีววิทยาของมนุษย์  ทีนี้ จากผลสำรวจขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ในเมืองจะต้องมีพื้นที่สีเขียวที่ 9 ตารางเมตร/หนึ่งหน่วยประชากร ปัญหาที่ตามมาคือ โดยมากแล้ว จะเป็นโครงการสวนขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้กับพื้นที่อยู่อาศัย ไม่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ใครที่จะไปใช้คือต้อง ‘ตั้งใจ’ จะไปจริงๆ เช่น สวนพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนเบญจกิตติ

สิ่งที่ทำคือในกรณีนี้ต้องหาพื้นที่ของรัฐและเอกชนที่ไม่ได้ถูกใช้งานตลอดทั้งวัน มาทำการขีดสีตีเส้นตามผังเมืองอย่างง่ายๆ เช่น ลานจอดรถของที่ว่าการอำเภอสระบุรี  พื้นที่ของ กศน. ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น จึงเกิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใกล้ จัดสรรได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ตลอดเวลา                                              

 ส่วนที่สอง คืองานที่ทำร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA นั่นคือการสร้างพื้นที่ซึ่งก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยย่านที่ว่านั้นก็เช่นเดียวกับพื้นที่สาธารณะ ไม่จำเป็นต้องมีอย่างถาวร พื้นที่ Co-Working Space หรือ Co-Knowledge สามารถเกิดขึ้นได้ และพื้นที่แรกที่ทำคือ พื้นที่นวัตกรรมการแพทย์ บริเวณซอยโยธีฯ ซึ่งล้อมรอบด้วยโรงพยาบาลต่างๆ กว่ายี่สิบแห่ง ก็ทำการแบ่งสรรพื้นที่ ให้เกิดการแชร์ทรัพยากร บุคลากร และองค์ความรู้ร่วมกัน จนสามารถขอ BOI เป็นย่านพิเศษได้

จากทั้งสองกรณี สะท้อนให้เห็นว่า รูปแบบเหล่านี้ ไม่ต่างอะไรกับผังเมืองเฉพาะ ที่ควรจะต้องมี เพื่อให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบที่แตกต่างกัน และจูงใจให้เกิดการพัฒนาสิ่งนั้นๆ ตามมา

GM : ในกรณีของ ‘Smart City’ กับงานด้านผังเมือง เกี่ยวข้องและสอดคล้องกันอย่างไร

รองศาสตราจารย์ พนิต : นี่เป็นแนวคิดที่แปลก แต่คนเอเชียนิยาม Smart City ค่อนข้างจะกลับหัวกลับหางพอสมควรเลยล่ะครับ ก่อนอื่นต้องมาดูหลักการของ Smart City ซึ่งก็คือ การใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ประหยัดทั้งเงิน เวลา แรงงาน จนสามารถนำเอาเวลาที่เหลือ ไปพัฒนาชีวิตในด้านต่างๆ นี่คือหลักการในฝั่งตะวันตก                                                                                                  แล้วในส่วนของเอเชีย? ทุกอย่างเหมือนกันครับ จนกระทั่งมาถึงคำว่าเวลาเหลือนี่แหละ ที่ถูกแปลงใหม่เป็น ‘งานได้มากขึ้น ประสิทธิภาพดีขึ้น เวลาเหลือ ไปทำงานเพิ่ม!’ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นอะไรที่งงพอสมควรนะครับ อย่างไรก็ตาม Smart City ในอนาคต คือ ‘สิ่งที่ต้องมี’ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่เพียง City แต่รวมถึง Nation และ World  โดยเป็นความ Smart ที่แตกต่างกันไปตามบริบทและแวดล้อมของพื้นที่ ไม่ว่าจะฉลาดในด้านเกษตร ฉลาดในด้านการผลิตและอุตสาหกรรม ฯลฯ และไม่ได้จำกัดแค่เพียงว่า เมืองนั้นๆ มีสัญญาณ WiFi ฟรีตามจุดต่างๆ ทั่วเมืองหรอกครับ                                                                                                                       

 ตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการไปสู่ความเป็น Smart City ที่เคยเจอมาและน่าสนใจก็ เช่น เกาหลีใต้ที่มีเซนเซอร์คอยตรวจจับอัตราการใช้น้ำ ใช้ไฟ ว่า ‘น้อย’ กว่าค่าปกติหรือไม่ เพราะเป็นสังคมเดี่ยว มีผู้สูงอายุเสียชีวิตโดยไม่มีใครรู้อยู่มาก เทคโนโลยีนี้จะคอยเตือนว่า บ้านนี้ใช้น้อยผิดปกตินะ เกิดอะไรขึ้น ไปตรวจสอบหน่อย หรือเครื่องมือวัดอุณหภาคอากาศและเสียง จากกระดิ่งจักรยาน ของเมืองอูเทรค ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ไม่ต้องส่งสัญญาณตลอด แต่จับข้อมูลจากบริเวณที่มีสัญญาณ WiFi เป็นต้น

และเหนือสิ่งอื่นใด เหนือกว่า Smart City คือ Smart People’ ซึ่งตัวผมเรียนจบจากประเทศเยอรมนี  ประเทศนี้แทบไม่เคยพูดถึง Smart City เลยนะครับ แต่เขามองว่า จะทำอย่างไรที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีสุขภาวะ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีก็ได้ หรือถ้าต้องมี ก็มีเฉพาะส่วนที่จำเป็น ผมมองว่า ถ้ามี Smart People แล้ว เมืองฉลาดหรือ Smart City จะตามมาเอง ครับ

GM :  อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้งานผังเมืองของไทยยังไม่มีความคืบหน้า

รองศาสตราจารย์ พนิต : ที่จริงไม่ต้องว่ากันด้วยเรื่องผลประโยชน์ใดๆ อย่างที่บอกไปในกรณีศึกษาที่ยกมานะครับ งานด้านผังเมือง หลายครั้ง เป็น Zero-Sum Game’ เป็นเรื่องของการเฉือนเนื้อ เพื่อแก้ไขปัญหาเมือง และแน่นอนการแก้ปัญหาที่ต้องมีคนเจ็บ ในทางการเมืองเป็นสิ่งที่เรียกว่าไม่อาจยอมรับได้ ลองคิดดูว่า ถ้าคุณเป็นรัฐบาล และต้องแก้ไขปัญหาเมือง แต่ทำให้ประชาชนต้องเสียผลประโยชน์ ถูดลิดรอนสิทธิ แม้จะถูกกฎหมาย แต่เลือกตั้งสมัยหน้าก็บอกลาได้เลย  อย่างง่ายๆ นะครับ จะพัฒนาพื้นที่เมือง การตัดถนน ถ้าจะให้ได้จำนวนตามมาตรฐานที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านั้น ประชาชนก็เสียพื้นที่ไปกว่า 30% แล้ว ยอมแลกรึเปล่า?  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง สมมติว่าถ้าได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล มีนโยบายหาเสียงไว้กับประชาชน แต่พอกางแผนยุทธศาสตร์ชาติออกมาดู งบประมาณและแผนที่วางไว้จากสมัยที่แล้วยังอยู่ เปลี่ยนกลางทางไม่ได้อีก ยุ่งละ คนละทางกับที่หาเสียงไว้ เรียกสำนักงบประมาณมาคุย ต้องใช้เงินเท่าไรจึงจะทำตามนโยบายที่คิดไว้ได้ สุดท้าย ไม่ได้ งบประมาณอนุมัติสองปีแล้ว จบ ถึงกลายเป็นปัญหาอยู่แบบนี้นั่นล่ะครับ 

GM :  คิดอย่างไรกับกระแส ‘Metaverse’

รองศาสตราจารย์ พนิต : ในช่วงที่กระแสมาใหม่ๆ เสียงก็แตกพอสมควรนะครับ ฝั่งหนึ่งก็มองว่าดับแน่ อีกฝั่งก็มองว่าย้ายถิ่นไปโลกเสมือนหมดแน่ แต่สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า Metaverse  แท้จริงคืออะไร และสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ มีกิจกรรมหรือกิจการบางประเภท ที่เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนแล้วเกิดประสิทธิภาพมากกว่าโลกจริงหรือไม่                                                                                                           

ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าจะเริ่มต้น ต้องพัฒนาและเตรียมความพร้อมได้แล้ว ตัวอย่างง่ายๆ แรงงานภาคการท่องเที่ยวและกิจกรรมกลางคืน ที่ตกงานในสภาวะการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งเยียวยาประทังกันไป แต่ไม่ได้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆ เพราะคิดว่า พอโรคระบาดผ่านพ้นไป อะไรๆ ก็จะกลับมา ...ไม่ครับ สิ่งเดิมๆ ที่เคยมี จะไม่กลับมาอีกแล้ว การไม่เตรียมตัว เมื่อเวลาของความเปลี่ยนแปลงเข้ามา ก็จะไม่สามารถรับมือหรือใช้ประโยชน์ใดๆ ได้เลย

GM : สิ่งที่คาดหวัง กับงานด้านผังเมืองในเวลาข้างหน้า รองศาสตราจารย์ พนิต : คือไม่ขออะไรมากนะครับ ไม่ต้องรวมศูนย์อะไรหรอก แค่มีสักคนเป็นเจ้าภาพ และกำหนดทิศทางการพัฒนาที่จะมุ่งหน้าไปพร้อมกัน ชัดเจน มีเป้าหมาย และมีความเชื่อมโยง รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง จะมาตัวใครตัวมัน อยากทำอะไรก็ทำแบบเดิม ไม่ได้แล้ว และอาจจะต้องกำหนดเอาไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพียงเท่านี้ก็พอแล้วครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ